Edward Stone นักวิทยาศาสตร์ผู้อยู่กับโครงการ Voyager 50 ปี

ในวันหนึ่งชีวิตของคนเราย่อมต้องจบลงเป็นธรรมดา เราหลายคนเพิ่งทราบการเสียชีวิตของ Dr.Edward C. Stone นักวิทยาศาสตร์และอดีตผู้อำนวยการของ Jet Propulsion Laboratory ผู้มีบทบาทสำคัญในโครงการวอยเอเจอร์และโครงการสำรวจอวกาศอื่น ๆ อีกมากมาย ชีวิตของท่านนั้นมีคุณูปการกับวงการวิทยาศาสตร์และอวกาศอย่างมากมาย ในบทความนี้จะชวนทุกท่านหวนรำลึกถึงท่าน กับการผจญภัยของเขาร่วมกับโครงการสำรวจอวกาศตลอดชีวิตของท่าน

Edward Carroll Stone เกิดในปี 1936 ที่ไอโอวา เขาเกิดในยุคที่เรื่องราวการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ยังเป็นเพียงเรื่องนิทาน และตำราเรียนก็คาดเดาเกี่ยวกับดาวศุกร์และอังคารที่ปกคลุมไปด้วยป่าดงดิบ เขาเติบโตในบ้านที่แสนเรียบง่ายในเมืองเบอร์ลิงตัน (Burlington, Iowa) ซึ่งพ่อของเขาทำธุรกิจก่อสร้างเล็กๆ ส่วนแม่ของเขาทำธุรกิจเกี่ยวกับหนังสือ ชีวิตของเขาในวัยเด็กที่เขาเติบโตเป็นช่วงเวลา Atomic age ทำให้มีหนังสือวิทยาศาสตร์ให้ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กมากมายผุดขึ้นในช่วงเวลานั้น และอีกหนึ่งความบันเทิงในวัยเด็กของเขาคือการที่เขาแยกชิ้นส่วนวิทยุทรานซิสเตอร์ในบ้านเล่นก่อนที่จะทดลองประกอบมันกลับเข้าไปใหม่ ทำแบบนี้ซ้ำวนไปวนมาเรื่อย ๆ

Ed Stone กับแบบจำลองยาน Voyager ในห้องประชุมของ JPL ที่มา – NASA/JPL-Caltech

เขาเป็นเด็กที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง ในปี 1957 ช่วงที่เขายังเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรีด้านฟิสิกส์อวกาศที่มหาวิทยาลัยชิคาโก มันคือช่วงเวลาเดียวกันกับที่สหภาพโซเวียตได้ปล่อยดาวเทียมสปุกนิกขึ้นไปนอกอวกาศ สิ่งนี้จุดประกายความฝันของเขาที่มีกับอวกาศและมันนำพาเขามาสู่งานการศึกษาปริญญาเอกที่ตัวเขาได้ส่งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพื่อตรวจวัดลมสุริยะขึ้นไปกับดาวเทียม Discoverer ของกองทัพอากาศในปี 1961 และหลังจากเรียนจบในฐานะของ Ph.D แล้ว เขาเข้าทำงานที่ Caltech ในฐานะของนักวิทยาศาสตร์และอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์

50 ปีกับโครงการที่น่าภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต

Ed Stone เข้าร่วมโครงการวอยเอเจอร์ในปี 1972 ตั้งแต่ที่มันยังไม่ได้ใช้ชื่อโครงการวอยเอเจอร์ แต่ใช้ชื่อว่าโครงการ Mariner Jupiter-Saturn โครงการยานฝาแฝดที่มีภารกิจหลักในการสำรวจดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดวงจันทร์ไททัน และภารกิจรองกับการเดินทางสำรวจดาวเคราะห์วงนอกครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กับเส้นทาง Planetary Grand Tour ที่ยานอวกาศเพียงลำเดียวสามารถเดินทางไปสำรวจยังดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ขนาดใหญ่ทั้งสี่ดวง แน่นอนว่าภารกิจนี้คือภารกิจใหญ่ที่สุดภารกิจหนึ่งของ NASA เป็นรองแค่โครงการไวกิ้ง ณ ขณะนั้น และเป็นโอกาสสำคัญที่จะมีการส่งยานสำรวจไปยังดาวเคราะห์วงนอกของระบบสุริยะ ความคาดหวังมหาศาลของทั้งผู้บริหารโครงการและเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการผลการทดลองจึงมาตกที่นักวิทยาศาสตร์ผู้บริหารโครงการอย่างเขา

ภาพถ่ายทีมวิทยาศาสตร์ยุคแรกของโครงการ Voyager ในปี 1977 ที่มา – NASA/JPL-Caltech

ในเวลานั้นเขาแค่คิดว่าอยากทำงานกับ NASA ในเวลาว่างหลังจากการสอนที่ Caltech แต่หน้าที่ของเขาในเวลานั้นคือการเป็นหัวหน้าคนที่ต้องคอยตัดสินใจบอกว่า ใช่ หรือ ไม่ เนื่องจากเขาอยู่ในตำแหน่งของหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของโครงการนี้ หน้าที่ของเขาคือการตัดสินใจว่าอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ถูกเสนอมานั้นควรที่จะถูกติดตั้งบนยานอวกาศหรือไม่ เนื่องจากนี่คือโอกาสอันดีที่จะได้มีการส่งยานอวกาศไปยังดาวเคราะห์ที่ห่างไกลอย่างดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และสำรวจดวงจันทร์ไททัน นักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงเร่งส่ง Proposal เข้ามาเพื่อหวังว่าจะได้ติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของตัวเองกับยานอวกาศ แต่ยานอวกาศนั้นมีพื้นที่ที่จำกัด หน้าที่ของเขาจึงเป็นการคัดกรองอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านี้สอดคล้องกับที่ตัวโครงการที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา

ในเวลานั้นโครงการ Mariner Jupiter-Saturn มีแนวคิดหนึ่งคือการพัฒนาขีดความสามารถของข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ถูกส่งกลับมาให้มีคุณภาพที่สูงกว่าในยุคสมัยที่ได้รับจากยาน Pioneer 10 และ 11 ดังนั้นข้อมูลที่จะได้รับจากยานอวกาศ Mariner Jupiter-Saturn ควรจะได้ข้อมูลที่ดีและมีคุณภาพสูงกว่ายานอวกาศในยุคก่อนหน้า Ed Stone ก็คือหนึ่งในคนที่สนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะนอกจากคุณภาพข้อมูลที่ดีกับวงการวิทยาศาสตร์แล้ว ข้อมูลที่ส่งกลับมาควรเป็นข้อมูลที่ง่ายต่อการเข้าถึงของบุคคลภายนอก หรือพูดง่าย ๆ คือภาพถ่ายที่ได้มานั้นสวยกว่าสมัยของยาน Pioneer 10 และ 11

งานนอกเวลาจากการสอนที่ Caltech ของเขาไม่ใช่งานที่ง่ายเนื่องจากในช่วงเวลาหลังจากที่ยานวอยเอเจอร์ทั้งสองลำเดินทางออกจากโลกไปแล้ว หน้าที่ของเขาคือการดูแลคณะนักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนร่วมกับโครงการวอยเอเจอร์ทั้งหมด 11 ทีม ที่มีกันมากกว่า 200 ชีวิต ด้วยหน้าที่ที่เขาเป็นหัวหน้าซึ่งดูแลงานด้านวิทยาศาสตร์ อีกหนึ่งงานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการกลายเป็นโฆษกของโครงการวอยเอเจอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยานวอยเอเจอร์เดินทางโฉบผ่านดาวเคราะห์เป้าหมาย เช่น ในช่วงที่ยานวอยเอเจอร์ 1 โฉบผ่านดาวพฤหัสบดี เขาเลือกที่จะเร่งให้ทำการวิเคราะห์ผลของข้อมูลแบบทั้งวันทั้งคืน ร่วมถึงนอกเวลางานเพื่อทำการเตรียมการนำเสนอของข่าวในเช้าวันรุ่งขึ้น เพราะมวลชนย่อมสนใจกับข่าวการเดินทางเยือนเป้าหมายแรกของยานวอยเอเจอร์ 1 อย่างแน่นอน และที่สำคัญเขาต้องเร่งงานแบบนี้กับคณะนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 11 ทีมให้ทำงานเร่งในช่วงเวลาที่กระชั้นชิด

Stone กำลังให้สัมภาษณ์กับสื่อ ในการบินโฉบดาวพฤหัสบดีของยาน Voyager 1 ที่มา – NASA/JPL-Caltech

มันอาจจะดูไม่น่าพอใจสำหรับนักวิทยาศาสตร์ แต่การกระทำของเขานั้นน่ายกย่องมาก เพราะการที่เขามองเห็นความสนใจของมวลชนที่มีต่อตัวโครงการอวกาศแล้วใช้มันอย่างถูกวิธี ทำให้โครงการวอยเอเจอร์กลายเป็นโครงการที่อยู่ในความทรงจำเกี่ยวกับอวกาศของใครหลาย ๆ คน แล้วเจ้าสิ่งนี้คือสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชนที่ติดตามข่าววิทยาศาสตร์อยู่จากทางจอโทรทัศน์และหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ และถึงแม้ข่าวมันจะออกไปแล้ว Stone ก็ไม่ได้หยุดแค่หลังจากที่ข่าวออกไปแล้ว เขายังทำการรีวิวว่าข่าวที่เขานำเสนอไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง สำนักข่าวไปเล่าข่าวของเขาเป็นอย่างไรบ้าง แล้วเขาควรพัฒนาการนำเสนอหรือหัวข้อที่หยิบยกมาพูดต่อหน้านักข่าวเป็นเรื่องที่น่าสนใจแบบไหน เขาจะเอาสิ่งที่ได้รับมาจากการรีวิวมาใช้ในการพัฒนาวิธีการนำเสนอของเขาในเย็นวันนั้นเพื่อเตรียมตัวสำหรับการนำเสนอในวันรุ่งขึ้นต่อไป

ไม่รู้ว่าจะกล่าวว่าโชคดีดีหรือไม่ เพราะช่วงเวลาที่เขาทำงานอยู่กับวอยเอเจอร์ เป็นช่วงเวลาที่นักคิด นักเขียนคนสำคัญอย่าง คาร์ล เซแกน ยังมีชีวิตอยู่และเป็นช่วงเวลาที่เขาป๊อปปูล่ามากที่สุดด้วย เขาเข้ามามีบทบาทในหลาย ๆ การโฉบครั้งสำคัญของยานวอยเอเจอร์ เช่น การโฉบดาวพฤหัสบดีของยานวอยเอเจอร์ 1 ซึ่งยิ่งทำให้สื่อที่ออกมาจากฝั่งของยานวอยเอเจอร์น่าสนใจและติดเข้าไปในจากของผู้คนได้ไม่ยาก

ครั้งหนึ่งตอนที่เซแกนกล่าวว่าเขาอยากติดแผ่นเสียงทองคำไปกับยานวอยเอเจอร์ให้มันเดินทางออกไปยังอวกาศด้านนอก เพื่อเป็นสารจากชาวโลกไปยังชาวอนารยชนจากภายนอกได้รับรู้การมีอยู่ของเรา Stone ก็ชอบในแนวคิดนี้ ไม่ใช่เพราะว่า Stone คิดว่าจะมีเอเลี่ยนมาเจอกับยานวอยเอเจอร์ แต่เป็นเพราะว่าการที่ยานอวกาศจากโลกเดินทางออกไปสู่ข้างนอกระบบสุริยะแล้ว การที่จะติดอะไรบางอย่างเพื่อบ่งบอกถึงการมีตัวตนอยู่ของอารยธรรมและความก้าวหน้าของเราเป็นแนวคิดที่ยอดเยี่ยม แต่เขาก็กล่าวทิ้งท้ายว่าในเวลาที่เซแกนเสนอมันขึ้นมา เขาก็ยังคงโฟกัสกับเป้าหมายงานวิทยาศาสตร์ที่จะทำการสำรวจที่ดาวเสาร์มากกว่าอยู่ดี

แผ่นเสียงทองคำหรือ Golden Record ที่เดินทางไปกับ Voyager ที่มา – NASA/JPL-Caltech

เพราะการออกแบบการดำเนินการเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเขาทำให้ยานวอยเอเจอร์เป็นหนึ่งในยานอวกาศที่เก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญกลับมาได้มากมาย ซึ่งกลายเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับวงการวิทยาศาสตร์และอวกาศในโลกเป็นอย่างมาก และเหมาะสมแล้วที่เขาควรจะได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมายในวงการวิทยาศาสตร์อย่าง National Medal of Science

ช่วงเวลาหลังจากที่ยานวอยเอเจอร์ 2 สิ้นสุดการเดินทางในเป้าหมายหลักของมัน Stone ก็ได้รับการเข้าทำงานในตำแหน่งของผอ. JPL สถานที่ทำงานของเขากับยานวอยเอเจอร์ เขาทำหน้าที่ดูแลภาพรวมใหญ่ของ JPL และภารกิจอย่าง Mars Pathfinder, Mars Global Surveyor ซึ่งเป็นยานอวกาศของ JPL ในช่วงที่ต้องเผชิญกับความกดดันจากการถูกตัดงบประมาณจาก NASA และคองเกรส แต่เขาก็นำพา JPL ข้ามผ่านปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นได้

อ่าน – Faster, Better, Cheaper ถอดบทเรียนสำคัญของ NASA จากนโยบายยัดเยียดเพื่อเป็นให้ได้ทุกอย่าง

เขาดำรงอยู่ในตำแหน่งของผอ. JPL ตั้งแต่ปี 1991 ถึง 2001 เป็นช่วงเวลาที่เขาทำงานในสถานที่เดิม ๆ และยังวนเวียนอยู่กับยานอวกาศลำเดิมที่เขาได้ปั้นมันมากับมือ แม้ในวันที่ตัวเขาไม่ได้ดำรงในตำแหน่งของผอ. JPL อีกต่อไปแล้วเขาก็ยังวนเวียนอยู่กับโครงการยานสำรวจอวกาศใหม่ ๆ เสมอ จนทำให้เขากลายเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในยานอวกาศที่เดินทางไปไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุดและยานอวกาศที่เดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด (Praker solar probe)

แม้ในวันที่ยานวอยเอเจอร์ 1 เดินทางออกไปจนสุดขอบของระบบสุริยะในช่วงปี 2011 เขาก็ยังมีส่วนร่วมในการตัดสินใจผลการวิเคราะห์ข้อมูลและการออกแบบการตรวจวัด เนื่องจากในจุดที่เป็น Heliopause นักวิทยาศาสตร์หลายคนมีแนวคิดเรื่องของการเป็นจุดที่สนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์สิ้นสุด จึงคาดหวังข้อมูลที่จะได้จากเครื่องมือวัดสนามแม่เหล็กในยานวอยเอเจอร์ แต่ข้อมูลที่ได้จากวอยเอเจอร์กลับไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อเครื่องมือวัดสนามแม่เหล็กไม่ได้ตอบสนองอะไรกลับมาให้เห็นถึงสัญญาณที่น่าตื่นเต้น หลายคนจึงคอตกกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่สำหรับ Stone เขาไม่ได้คิดเช่นนั้นเพราะเขารอคอยข้อมูลจากอุปกรณ์วัดพลาสม่าที่ติดอยู่ในยานวอยเอเจอร์ส่งข้อมูลกลับมา ที่แสดงให้เห็นถึงสัญญาณพลาสม่าที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างที่ยานวอยเอเจอร์เดินทางผ่าน Heliopause และเป็นการแสดงให้เห็นว่าบางครั้งการศึกษาบางอย่างไม่ได้มีรูปแบบวิธีการเดียวในทำการศึกษา

เขากลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในโครงการวอยเอเจอร์นานที่สุดถึง 50 ปี ตั้งแต่ 1972-2022 เขาเพิ่งมาเกษียณออกจากงานวิทยาศาสตร์ของยานวอยเอเจอร์เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมานี้เอง และตลอดช่วงอายุของเขา เขาก็มักจะพูดติดตลกว่า “ตัวเขาหรือยานวอยเอเจอร์ใครจะไปก่อนกัน” เสมอ แต่คำตอบกลับเป็นตัวเขาที่จากไปก่อนที่ยานวอยเอเจอร์จะไม่สามารถติดต่อกลับมาได้

Ed Stone จากเราไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนยาน 2024 ด้วยอายุรวม 88 ปี เกินครึ่งหนึ่งของชีวิตเขานั้นได้อยู่ร่วมกับยานอวกาศที่เขารักและได้ปลุกปั้นมันขึ้นมากับมือ ถึงแม้ว่าเขาจะจากเราไปแล้ว และอีกไม่นานยานอวกาศทั้งสองลำก็จะต้องหยุดทำงานลงไปด้วยเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งตัวเขาและยานอวกาศได้มอบให้กับเราคือการทำให้เราได้รู้จักการส่งต่อความรู้

Ed Stone ทุ่มเทพลังในการทำงานของเขาไม่ใช่กับแค่งานวิทยาศาสตร์ แต่เขายังทุ่มเทให้กับการสื่อสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ออกไปให้กับสาธารณะชนด้วย และนั้นทำให้ยานวอยเอเจอร์กลายเป็นหนึ่งในยานที่เป็นยานที่โดดเด่นและอยู่ในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน

Ed Stone ในงานแถลงข่าวภารกิจ New Horizons ในปี 2014 ที่มา – NASA/Aubrey Gemignani

ภาพถ่ายดาวยูเรนัสกับเนปจูนที่ยานวอยเอเจอร์ถ่าย ในทุกวันนี้ก็ยังเป็นภาพถ่ายที่ยังคงใช้ในสื่อการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ในการสอนเกี่ยวกับระบบสุริยะของเรา และยานวอยเอเจอร์ก็ยังเป็นย่อหน้าเนื้อหาเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศในหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์มาตลอด ดังนั้นไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งยานวอยเอเจอร์มันก็จะเข้ามาบรรจบพบเจอกับเราแบบที่เราไม่รู้ตัว

อ่าน – ยาน New Horizons ถ่ายรูปตำแหน่งของ Voyager 1 จาก Kuiper Belt

สิ่งที่ Ed Stone พยายามทำมันไม่ใช่แค่พยายามสื่อสารออกไปให้ได้ดี แต่มันคือการส่งต่อความรู้ให้กับคนรุ่นถัดไป เหมือนกับยานวอยเอเจอร์ที่เขาทำงานร่วมด้วย ถึงมันจะเป็นเพียงยานที่เดินทางโฉบดาวเคราะห์ดวงต่าง ๆ ไม่ได้ปักหลักโคจรรอบดาวดวงใดดวงหนึ่ง แต่การเดินทางโฉบก็สร้างองค์ความรู้ใหม่มากมายให้กับมนุษยชาติและเป็นแหล่งเป้าหมายสำหรับยานอวกาศในรุ่นหลังจากนั้นที่จะไปสำรวจ เช่น ยานแคสซินี-ฮอยเกนต์ ก็ใช้องค์ความรู้เรื่องบรรยากาศของดวงจันทร์ไททันนำมาออกแบบระบบสร้างภาพจาก radar เพื่อสร้างภาพพื้นผิวของดวงจันทร์ และออกแบบรูปร่างของโล่ชะลอความเร็วของยานฮอยเกนต์เพื่อให้เหมาะสมกับการลงจอดในชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์ไททัน

อ่าน – JPL วางแผนแก้ปัญหาคราบเชื้อเพลิงตันบนยาน Voyager ต่ออายุการใช้งาน

ในบางครั้งงานที่เราเริ่มต้นขึ้นมันอาจจะไม่ได้จบลงที่รุ่นของเราเพียงรุ่นเดียว การเรียนรู้ที่จะส่งต่อองค์ความรู้และงานเพื่อให้คนในรุ่นถัดไปสานต่อก็คืองานที่สำคัญที่สุดงานหนึ่ง เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม เราไม่ได้อยู่เพียงตัวคนเดียว

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Jirasin Aswakool | Researcher Assistant | นักวิจัยอยากผันตัวกลับมาทำงานสื่อสารวิทยาศาสตร์