Grand Tack Hypothesis การขยับห่างจากดวงอาทิตย์ของดาวพฤหัสในอดีตที่กุมความลับกำเนิดระบบสุริยะ

ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์แก๊สที่ไม่มีพื้นผิวที่แท้จริง มันมีขนาดและมวลมากที่สุดในระบบสุริยะของเราและเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 5 จากดวงอาทิตย์ ซึ่งในอดีตนักดาราศาสตร์ต่างคิดว่าดาวเคราะห์ทั้งหมดที่รวมไปถึงดาวพฤหัสฯ ต่างเกิดขึ้นมาแล้วอยู่ในตำแหน่งเดิมและวงโคจรคงที่มาโดยตลอดจนกระทั่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เริ่มมีการค้นพบดาวเคราะห์ต่างระบบหรือ Exoplanet เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดาวเคราะห์แก๊สขนาดยักษ์ที่อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ นักดาราศาสตร์จึงเรียกประเภทดาวเคราะห์เหล่านี้ว่า Hot Jupiter

ซึ่งการค้นพบ Exoplanet ประเภท Hot Jupiter จำนวนมากทำให้นักดาราศาสตร์ต่างประหลาดใจต่อการมีอยู่ของมันเพราะว่าดาวเคราะห์ประเภท Hot Jupiter นั้นไม่สามารถก่อตัวในระยะใกล้ดาวฤกษ์ได้เนื่องจากวัตถุจำนวนพวกแก๊สที่หลงเหลือจากการก่อตัวของดาวฤกษ์นั้นไม่เพียงพอที่จะรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์แก๊ส เพราะฉะนั้นดาวเคราะห์ประเภท Hot Jupiter จะต้องก่อตัวในวงโคจรที่ไกลออกไปแล้วค่อยย้ายตำแหน่งมาใกล้ดาวฤกษ์ในภายหลัง

ภาพจำลองของ Hot Jupiter ดวงแรกที่ค้นพบเมื่อปี 1995 ชื่อว่า 51 Pegasi B ที่มา NASA/Goddard

และถ้าเรื่องการโยกย้ายตำแหน่งของดาวเคราะห์แก๊สขนาดยักษ์เป็นเรื่องที่ปกติในระบบสุริยะอื่น ๆ แล้วทำไมระบบสุริยะของเราถึงไม่มีดาวเคราะห์แก๊สขนาดยักษ์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์บ้าง ส่งผลให้ต่อมาเกิดการศึกษาเหตุการณ์ที่เรียกว่า การอพยพของดาวเคราะห์ หรือ Planetary Migration ขึ้นมา เพื่อสร้างโมเดลจำลองของระบบสุริยะยุคเริ่มแรกที่อาจช่วยตอบคำถามอื่น ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบสุริยะอาทิ ทำไมดาวอังคารจึงมีขนาดเล็ก หรือทำไมแถบดาวเคราะห์น้อยจึงมีปริมาณของน้ำแข็งอยู่มาก โดยนักดาราศาสตร์ได้ศึกษาวิจัยจากข้อมูล 3 แหล่งนี้

  • การสังเกตการณ์ค่าข้อมูลจากระบบดาวอื่น
  • ข้อมูลจากการสำรวจภายในระบบสุริยะของเรา
  • โปรแกรมจำลองในคอมพิวเตอร์

เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ประกอบกับโมเดลการกำเนิดระบบสุริยะก่อนหน้า (Nice Model) ที่เคยอธิบายว่าระบบสุริยะไม่ได้คงที่แต่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ได้ผลวิจัยที่น่าตกใจออกมาในปี 2011 และกลายเป็นทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันมากที่สุด ว่าดาวพฤหัสฯ เคยเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ของเราในระยะวงโคจรของดาวอังคาร ก่อนที่มันจะถอยกลับออกไปในตำแหน่งปัจจุบัน

ภาพดวงจันทร์ IO กับดาวพฤหัสฯ ที่มา NASA/JPL

นักดาราศาสตร์เรียกทฤษฎีนี้ว่า Grand Tack Hypothesis หรือสมมติฐานการเปลี่ยนทิศครั้งใหญ่ของดาวพฤหัสฯ ที่ได้พลิกโฉมประวัติศาสตร์ของระบบสุริยะเราไปตลอดกาล ในบทความนี้เราจะมาลงลึกถึงประวัติศาสตร์การเดินทางของดาวพฤหัสฯ กัน

อ่านเรื่องราวของดาวเคราะห์ต่างระบบหรือ Exoplanet เพิ่มเติมได้ที่นี่ – ในเวลาไม่ถึง 10 ปี กล้องเคปเลอร์ได้เปลี่ยนความเข้าใจในจักรวาลไปอย่างไร

การอพยพของดาวพฤหัสฯ

การที่จะเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ของดาวพฤหัสฯ นั้นเราต้องเริ่มจากการเดินทางย้อนเวลาไปเมื่อประมาณ 5,000 ล้านปีก่อน ขณะที่ปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นของดวงอาทิตย์ยังไม่ถือกำเนิดขึ้น แก๊สจำนวนมหาศาลหมุนวนเป็นลักษณะของแผ่นดิสก์ (Protoplanetary disk) รอบดวงอาทิตย์ยุคแรกเริ่มตามกฎของโมเมนตัมเชิงมุม และในกลุ่มแก๊สนั้นเองที่ระยะห่างประมาณ 3.5 AU (AU คือ หน่วยดาราศาสตร์และ 1 AU มีค่าเท่ากับระยะทางจากดวงอาทิตย์ถึงโลกซึ่งมีระยะห่างราว 150 ล้านกิโลเมตร) จากดวงอาทิตย์ ดาวพฤหัสฯเริ่มก่อตัวขึ้นจากก้อนกลุ่มแก๊สที่มีความผันผวนและหนาแน่นกว่าจุดอื่น ทำให้ต่อมากลุ่มแก๊สเหล่านั้นมีสนามโน้มถ่วงที่มากขึ้นและเริ่มก่อตัวเป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์

Protoplanetary Disk หมุนวนรอบดาวฤกษ์เกิดใหม่ MWC 758 (ขวา) และโมเดลระบบสุริยะแรกเริ่มจากโปรแกรมจำลอง (ซ้าย) ที่มา NASA,ESA,ESO

จนกระทั่งปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นภายในแกนกลางของดวงอาทิตย์เริ่มทำงาน ปลดปล่อยพลังงานแสงและความร้อนออกมาส่องสว่างทั่วกลุ่มแก๊สหมุนวนนั้น เผยให้เห็นถึงดาวพฤหัสฯยุคแรกเริ่ม ดาวเคราะห์ดวงแรกในระบบสุริยะที่กำลังเคลื่อนที่เข้ามายังระบบสุริยะชั้นใน ซึ่งการเคลื่อนที่ของดาวพฤหัสฯสามารถอธิบายได้ด้วยสมการความเร็วหลุดพ้นแบบง่าย ๆ ซึ่งเป็นสมการเดียวกับสมการที่ใช้คำนวณความเร็วหลุดพ้นของจรวดนั่นเอง กล่าวคือความเร็วหลุดพ้นคือความเร็วที่จะพาวัตถุไปได้ไกลจนพ้นจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของวัตถุใดวัตถุหนึ่งได้พอดี ซึ่งมวลของวัตถุนั้นแปรผันกับพลังงานจลน์ในการหลุดพ้น อย่างเช่น ถ้าจรวดมีมวลมากขึ้นก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้น หากพลังงานไม่เพียงพอจรวดก็จะหล่นกลับสู่โลก

แต่ที่นี้จรวดของเราคือดาวพฤหัสฯและดวงอาทิตย์นั้นคือโลก ในตอนยุคแรกเริ่มนั้นดาวพฤหัสมีความเร็วหรือในที่นี้คือพลังงานที่สมดุลกับความเร็วหลุดพ้นของดวงอาทิตย์ทำให้ดาวพฤหัสฯสามารถโคจรรอบดวงอาทิตย์ได้ในระยะห่างที่คงที่ เหมือนกับที่ดาวเทียมโคจรรอบโลก แต่ทว่าตอนนั้นเส้นทางการโคจรก็ไม่เป็นเส้นทางโล่ง ๆ แต่เป็นกลุ่มก้อนแก๊สและวัตถุต่าง ๆ มากมายระหว่างทาง สนามโน้มถ่วงของดาวพฤหัสฯที่ทรงพลังจึงดึงให้สสารต่าง ๆ เหล่านั้นเข้ามารวมเป็นส่วนหนึ่งของดาวพฤหัสฯ ดาวพฤหัสฯจึงยิ่งพอกพูนมวลมากขึ้นไปอีกจนส่งผลให้พลังงานที่ใช้ในการคงวงโคจรรอบดวงอาทิตย์มีมากขึ้น

อีกทั้งยังมีการหมุนวนของวัตถุต่าง ๆ ที่เข้ามาโคจรตัดผ่านดาวพฤหัสฯยิ่งทำให้ดาวสูญเสียพลังงานลงไป กระบวนการนี้นั้นจะเหมือนกับการที่ยานอวกาศใช้ Gravity Assist หรือแรงเหวี่ยงของดาวต่าง ๆ ในการเร่งความเร็วให้กับยาน ซึ่งวัตถุที่มวลน้อยกว่าจะได้รับพลังงานไป ส่วนวัตถุที่มีมวลมากกว่าจะสูญเสียพลังงานไป สำหรับดาวพฤหัสฯแล้วปัจจัยทั้ง 2 อย่างนี้ทำให้พลังงานของดาวพฤหัสฯนั้นน้อยเกินไปกว่าที่วงโคจรจะคงที่อยู่ในตำแหน่งเดิมได้ สนามโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์จึงส่งผลต่อดาวพฤหัสฯโดยตรง ทำให้เกิดความเยื้องศูนย์กลางของวงโคจรมากขึ้น ดาวพฤหัสจึงเริ่มการเดินทางเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นในเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างแรงทั้งสองขึ้น

การใช้ Gravity Assist ของยานวอยเอเจอร์ 1 ที่มา NASA

อธิบายแบบเร็ว ๆ ก็คือ ในช่วงแรกเริ่มของระบบสุริยะนั้นมีความปั่นป่วนสูงมาก เพราะอย่าลืมว่าวัตถุแต่ละก้อนหมุนรอบดวงอาทิตย์อันเป็นศูนย์กลางก็จริง แต่วัตถุแต่ละอย่างก็มีมวลในตัวมันเอง พอมันมีมวลในตัวมันเองมันก็จะดึงดูดกับสิ่งที่มีมวลเหมือนกัน ซึ่งพอมันไปเจอวัตถุอื่น ๆ วิถีโคจรของมันก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งระบบสุริยะก็มีพฤติกรรมแบบนี้มาเรื่อย ๆ จนมาถึงปัจจุบันที่เริ่มคงตัว ไม่มีวงโคจรของดาวใดเปลี่ยนแปลงไปมาก

ผลกระทบต่อระบบสุริยะ

ด้วยผลของแรงจากที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้ดาวพฤหัสฯเคลื่อนตัวเข้ามาในระยะประมาณ 1.5 AU หรือราววงโคจรของดาวอังคาร ซึ่งสามารถอธิบายถึงสาเหตุที่ดาวอังคารมีขนาดเล็กกว่าที่ควรจะเป็นได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นที่แน่นอนว่าอวกาศในพื้นที่ของดาวอังคารมีวัตถุปริมาณวัตถุดิบในการก่อตัวมากกว่าดาวศุกร์หรือโลกของเราแต่กลับมีขนาดเล็กเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของโลก และดาวพฤหัสฯนี้เองที่ได้เคลื่อนที่เข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน

หากอ้างอิงตาม Grand Tack Hypothesis แล้วในตอนนั้น สนามโน้มถ่วงที่ทรงพลังของดาวพฤหัสฯได้ปรับเปลี่ยนวงโครจรของวัตถุดิบต่าง ๆ ที่จะก่อกำเนิดเป็นดาวเคราะห์ได้ในช่วงระยะโคจรห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 1 AU อิทธิพลสนามโน้มถ่วงของดาวพฤหัสฯบ้างก็ดีดวัตถุเหล่านั้นพุ่งสู่ดวงอาทิตย์ บ้างก็ดีดออกไปนอกระบบสุริยะจนกลายเป็นวัตถุในอวกาศระหว่างดวงดาวไป ทั้งดาวศุกร์ โลกและดาวอังคารจึงไม่ได้มีขนาดใหญ่อย่างที่ควรจะเป็น

วีดีโอโปรแกรมจำลองผลกระทบจากการเคลื่อนที่ของดาวพฤหัสฯในอดีต ที่มา
California Academy of Sciences

แต่ทว่าสำหรับดาวอังคารแล้วนี่อาจเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สุด เพราะขนาดที่เล็กของดาวอังคารทำให้เวลาต่อมาดาวอังคารไม่สามารถรักษาสนามแม่เหล็กของตนไว้ได้เนื่องจากสสารภายในดาวนั้นเย็นค่อนข้างตัวเร็ว ดาวอังคารจึงสูญเสียชั้นบรรยากาศไปกับลมสุริยะ และเมื่อดาวอังคารไร้ซึ่งชั้นบรรยากาศแล้ว แม่น้ำลำธารที่เคยไหลรินบนดวอังคารก็ได้เหือดแห้งลง ถ้าหากว่าดาวพฤหัสฯ ไม่ได้อพยพเข้ามา ในช่วงเวลาปัจจุบันดาวอังคารอาจจะยังคงมีชั้นบรรยากาศและน้ำอยู่ก็ได้

อ่าน – สรุปเราจะค้นพบน้ำเหลว ๆ บนดาวอังคารได้จริง ๆ ซะทีหรือยัง

นอกจากนี้ผลกระทบที่มีต่อดาวอังคารแล้ว การอพยพของดาวพฤหัสฯยังช่วยอธิบายการกำเนิดของแถบดาวเคราะห์น้อยและองค์ประกอบของน้ำแข็งในนั้นอีกด้วย เพราะในขณะที่ดาวพฤหัสเคลื่อนที่เข้ามาในแถบดาวเคราะห์น้อยอิทธิพลจากสนามโน้มถ่วงของดาวพฤหัสฯได้ยับยั้งการก่อตัวของดาวเคราะห์ในแถบนั้นและรบกวนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ ทำให้วัตถุส่วนใหญ่กระเด็นออกไป จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงมีดาวเคราะห์หินเพียงแค่ 4 ดวง ในขณะที่ระบบดาวอื่นอย่าง TRAPPIST-1 นั้นมีดาวเคราะห์หินกว่า 7 ดวง ทำให้ในปัจจุบันแถบดาวเคราะห์น้อยนั้นมีมวลโดยรวมที่น้อยมาก แถมวัตถุที่อยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยนั้นมีระยะห่างกันเฉลี่ย 1 ล้านกิโลเมตร ไม่ได้เต็มไปด้วยเศษหินแน่นขนัดอย่างที่เราเข้าใจ

Ceres วัตถุที่ใหญ่ที่สุดในแถบดาวเคราะห์น้อยซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่พัฒนาล้มเหลว ที่มา NASA

จนเมื่อดาวพฤหัสฯหยุดการเคลื่อนที่ไปยังดวงอาทิตย์และเริ่มที่จะถอยหลังกลับไปในระบบสุริยะชั้นนอกสู่ตำแหน่งปัจจุบันที่ระยะ 5.2 AU ซึ่งเป็นเขตแดนที่วัตถุจำพวกน้ำแข็งสามารถก่อตัวได้ อิทธิพลสนามโน้มถ่วงของดาวพฤหัสฯที่เข้ามาจึงส่งผลให้วัตถุน้ำแข็งเหล่านี้เคลื่อนตัวเข้าไปในระบบสุริยะชั้นในบริเวณที่แถบดาวเคราะห์น้อยอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการสลับที่กันก็ไม่ผิด การอพยพของดาวพฤหัสฯจึงเป็นการอธิบายที่ดีว่าทำไมดาวเคราะห์น้อยจึงมีวัตถุที่มีองค์ประกอบที่เป็นน้ำแข็งอยู่ด้วยทั้งที่ สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิในบริเวณนั้นไม่เอื้อให้ก่อการเกิดขึ้นของน้ำแข็ง

อีกทั้งการเคลื่อนที่กลับไปของดาวพฤหัสนั้นยังส่งผลให้จุดลากรองจ์ (La grange) หรือจุดที่สนามโน้มถ่วงของดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ของมันเกิดความสมดุลขึ้น ที่ตำแหน่ง L4 และ L5 ของดาวพฤหัสฯจึงเต็มไปด้วยดาวเคราะห์น้อยที่ติดร่างแหสนามโน้มถ่วงของดาวพฤหัสฯกลับมาด้วย ซึ่งนักดาราศาสตร์เรียกกลุ่มดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ว่า Trojan โดยภายในปี 2021 นี้ NASA มีแผนส่งยานอวกาศ Lucy ภารกิจที่ยาวนาน 12 ปีในสำรวจ Trojan ของดาวพฤหัสฯเพื่อค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมที่อาจบ่งบอกถึงรูปแบบการก่อตัวของดาวเคราะห์และประวัติศาสตร์ความเป็นมาของระบบสุริยะของเรา

อ่านเรื่องราวของจุดลากรองจ์เพิ่มเติมได้ ที่นี่ Lagrangian Point คืออะไร ทำไมยานอวกาศถึงต้องไปอยู่ตรงนั้น

แอนิเมชั่นแสดงถึงการเคลื่อนที่ของ Trojan ของดาวพฤหัสฯ ที่มา NASA

การถอยกลับของดาวพฤหัสฯ

หลังจากที่ทราบผลกระทบของการอพยพของดาวพฤหัสฯไปยังระบบสุริยะชั้นในแล้ว ดูเหมือนว่าชะตากรรมของดาวพฤหัสฯที่จะไปลงเอยในวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์ได้พลิกผันไป จู่ ๆ ดาวพฤหัสฯก็ได้เคลื่อนตัวกลับไปยังระบบสุริยะชั้นนอก ไกลกว่าตำแหน่งที่มันได้ก่อตัวขึ้นราว 1.7 AU แทนที่จะกลายเป็น Hot Jupiter เหมือนที่เราสังเกตเห็นในระบบสุริยะอื่น ซึ่ง Grand Tack Hypothesis ได้อธิบายสาเหตุของการเคลื่อนตัวถอยหลังกลับของดาวพฤหัสฯ ว่าสาเหตุเกิดมาจากดาวเสาร์ ดาวแก๊สยักษ์ใหญ่อีกดวงหนึ่งในระบบสุริยะของเรา

ในตอนนั้นดาวเสาร์ก็เป็นดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่ได้อพยพเข้าไปยังระบบสุริยะชั้นในเฉกเช่นเดียวกับดาวพฤหัสฯ แต่ด้วยมวลที่เบากว่าดาวพฤหัสฯหลายเท่า ทำให้ความเร็วในการเคลื่อนที่ของดาวเสาร์เข้ามาหาดวงอาทิตย์นั้นสูงกว่าดาวพฤหัสฯกว่ามาก ท้ายที่สุดการเดินทางของดาวเสาร์ก็ได้มาบรรจบกับดาวพฤหัสฯ ในวงโคจรที่สั่นพ้องกัน (Orbital Resonance) ในรูปแบบ 2:3 ซึ่งหมายความว่าทุก ๆ ครั้งที่ดาวพฤหัสฯโคจรรอบดวงอาทิตย์ 2 ครั้ง ดาวเสาร์จะใช้เวลาโคจร 3 ครั้ง การสั่นพ้องของวงโคจรนี้เองจะเพิ่มพูนแรงโน้มถ่วงระหว่างดาวทั้งสอง โดยทั่วไปแล้วปรากฏการณ์นี้จะทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่เสถียร ทำให้วัตถุมีการแลกเปลี่ยนโมเมนตัมและเปลี่ยนวงโคจรไปจนกระทั่งการสั่นพ้องนั้นหายไป

การสั่นพ้องของดาวพฤหัสฯและดาวเสาร์สร้างปฏิกริยาที่ไม่เสถียรไปทั่วระบบสุริยะตาม Nice Model

เมื่อแรงโน้มถ่วงระหว่างดาวเคราะห์ทั้งสองดวงไม่เสถียรจึงเกิดสภาวะการแลกเปลี่ยนแก๊สซึ่งกันและกัน (ในตอนนั้นดาวพฤหัสฯและดาวเสาร์ยังคงมีกลุ่มแก๊สหมุนวนโดยรอบไม่ได้เป็นทรงกลมเรียบเนียนเหมือนในปัจจุบันจึงเกิดการแลกเปลี่ยนกันได้ง่าย) กระบวนการแลกเปลี่ยนโมเมนตัมเชิงมุมผ่านแก๊สนี้จึงรบกวนแรงที่ผลักดาวเคราะห์ทั้งสองเข้าไปยังระบบสุริยะชั้นใน เมื่อพลังงานสุทธิของดาวเคราะห์ทั้งสองนั้นเพิ่มขึ้น การเคลื่อนที่จึงหยุดชะงักลงและพลังงานที่เกิดขึ้นจากการถ่ายเทแรงของดาวเสาร์ทำให้วงโคจรของดาวเคราะห์แก๊สทั้งสองดวงยืดออกคล้ายกับการควงแป้งพิซซ่า ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ย้อนกลับขึ้น

ดาวพฤหัสฯและดาวเสาร์จึงเริ่มเคลื่อนตัวกลับไปยังระบบสุริยะชั้นนอก จนกระทั่งพลังงานนั้นเข้าสู่สภาวะสมดุลกับดวงอาทิตย์ การเคลื่อนที่จึงหยุดลงแล้วดาวพฤหัสฯกับดาวเสาร์ก็ได้คงวงโคจรอยู่ในระยะที่ดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ปัจจุบัน

แผนภาพการเคลื่อนตัวของดาวพฤหัสฯในประวัติศาสตร์ ที่มา Black Alley Astronomer

บทสรุป

หากกว่ากันตาม Grand Tack Hypothesis นี้แล้วดาวพฤหัสฯนั้นได้สร้างผลกระทบไม่น้อยต่อระบบสุริยะของเรา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมันอาจทำให้ดาวอังคารมีขนาดเล็กกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่ดาวอังคารมีศักยภาพที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตว่าถ้าหากดาวอังคารมีขนาดใหญ่กว่านี้ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่อย่างไรเราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในขณะที่ดาวพฤหัสฯเป็นผู้ทำลาย การมีอยู่ของดาวพฤหัสฯก็อาจช่วยให้สิ่งมีชีวิตบนโลกพัฒนาได้อย่างอยู่รอดปลอดภัยเช่นกัน

เพราะว่าด้วยแรงโน้มถ่วงมหาศาลของดาวพฤหัสฯ นี้เองที่มักคอยดึงดูดให้ดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางที่มีทิศทางมุ่งหน้าไปยังระบบสุริยะชั้นในพุ่งสู่ชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสฯแทน อาทิ ในปี 1994 ดาวหาง Shoemaker Levy 9 ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 กิโลเมตร ได้พุ่งชนดาวพฤหัสฯเข้าอย่างจัง ซึ่งในขณะนั้นนักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างจับตามองเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิดจนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

ร่องรอยการชนของดาวหาง Shoemaker Levy 9 บนชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสฯในปี 1994 ที่มา NASA

เหตุการณ์ในลักษณะนี้อาจเป็นหนึ่งตัวอย่างที่สนามโน้มถ่วงของดาวพฤหัสฯที่ได้จับวัตถุต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกเป็นเวลาหลายปี จนทำให้สิ่งชีวิตบนโลกอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าดาวพฤหัสฯเป็นดาวเคราะห์ที่มีอิทธิพลและได้พลิกโฉมระบบสุริยะของเรามากที่สุด หากทว่าระบบสุริยะของเราไม่มีดาวพฤหัสฯกำเนิดขึ้นมา ก็คงยากที่จะจินตนาการว่าประวัติศาสตร์ของระบบสุริยะที่เราอยู่จะเดินทางไปไหนทิศทางไหนกันแน่

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

อ้างอิง

Jupiter’s “Grand Tack” Reshaped the Solar System

A low mass for Mars from Jupiter’s early gas-driven migration

Mostly being a space-nerd who dreamt to work at NASA, but now a 21 years old Film Student dedicating to generalize space communication.