สรุปสิ่งที่ Gwynne Shotwell คุณแม่ใหญ่แห่ง SpaceX พูดใน TED 2018

จบไปแล้วกับเทศกาลสร้างแรงบันดาลใจของ TED ในปี 2018 ที่จัดที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี แม้ว่าทีมงาน SPACETH.CO จะยังไม่มีโอกาสเดินทางไปร่วมด้วยตัวเองแต่ก็ได้คุณ เกวลิน ธนสารสมบัติ คอยนำประสบการณ์ต่าง ๆ มาบอกเล่า นำบรรยากาศมาฝากกันวันต่อวัน รวมถึงนำเรื่องราวของ SPACETH.CO ไปเล่าให้กับบุคคลสำคัญ ๆ ในวงการอวกาศรวมถึงนักบินอวกาศ คุณ Christ Hadfield ด้วย

ท่ามกลางการบรรยายเจ๋ง ๆ มากมาย หนึ่งใน Session ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดโดยเฉพาะในวงการอวกาศก็แน่นอนว่าคงต้องเป็นการพูดคุยกันระหว่างคุณ Gwynne Shotwell กับคุณ Chris Anderson ในหัวข้อ SpaceX ซึ่งคุณ Shotwell ก็ได้นำเรื่องราวต่าง ๆ มาอัพเดทให้เราฟังกันว่าที่ผ่านมา SpaceX ได้ทำอะไรไปบ้าง และในปีนี้จะทำอะไร รวมถึงแผนการต่อไปของการพามนุษย์เดินทางไปยังดาวอังคารคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

รู้จักกับ Gwynne Shotwell ผู้ทำงานร่วมกับ Elon Musk มากว่า 16 ปี

คุณ Gwynne Shotwell อายุ 54 ปีนั้นปัจจุบันเป็น President และ Chief Operating Officer เธอคือหญิงผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ไอเดียแสนล้านของ Elon Musk กลายมาเป็นความจริง ตั้งแต่การได้รับทุนจาก NASA เพื่อทำการส่งยาน Dragon ส่งเสบียงให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ การพูดคุยกับบริษัทดาวเทียมต่าง ๆ ให้มาเป็นลูกค้าของ SpaceX รวมถึงแผนการในอนาคตอย่างการเดินทางไปยังดาวอังคาร และโครงการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ SpaceX

Host Chris Anderson speaks และ Gwynne Shotwell บนเวที TED2018 ที่มา – Bret Hartman / TED

Gwynne เล่าว่าเธอเริ่มต้นความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก เธอถามแม่ว่ารถวิ่งได้ยังไง ก่อนที่แม่ของเธอจะให้หนังสือเกี่ยวกับวิศวกรรมยานยนต์มา จนท้ายที่สุดงานแรกของเธอก็คือเป็นวิศวกรกับ Chrysler Motors แต่เธอก็บอกว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำให้เธออยากเป็นวิศวกรไม่ใช่เพราะอ่านหนังสือ แต่เพราะว่าไปงานรวมตัวของวิศวกรหญิงแล้วเกิดตกหลุมรักในความเท่ของสาววิศวกร และอยากแต่งตัวแบบนั้นบ้าง 

คุณ Gwynne นั้นมาทำงานกับ SpaceX ตั่งแต่ในช่วงแรกที่ SpaceX ก่อตั้ง นั่นทำให้เธอมีประสบการณ์ในการทำงานกับ Elon Musk มามากกว่า 16 ปี เธอบอกว่าเธอคงไม่โง่พอที่จะทำงานที่ตัวเองไม่ชอบมาถึง 16 ปี (ฮา) เธอบอกว่าการทำงานกับ Musk เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ เขา (Musk) เป็นคนตลก และพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ทีมบรรลุเป้าหมายไปได้ โดยที่ Musk ไม่ต้องเอ่ยปากด้วยซ้ำ

ถ้ายังไม่มีของให้ขายก็ต้องขายทีม ขายความสามารถ และตัว CEO

แน่นอนว่า SpaceX นั้นเป็นบริษัทที่เน้นขายไอเดียที่ภายหลังถึงจะถูกนำมาทำให้เกิดขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่การเซ็นสัญญากับ NASA ทั้ง ๆ ที่จรวดยังไม่พร้อม หรือการที่มีบริษัทจองเที่ยวบินกับ Falcon 9 และ Falcon Heavy ยาวเหยียด ตั้งแต่จรวดยังสร้างไม่เสร็จ ยังไม่นับรวมโครงการต่าง ๆ ในอนาคต อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ SpaceX ได้รับความเชื่อมั่นมากขนาดนี้

สำนักงานใหญ่ของ SpaceX ในแคลิฟอร์เนีย ที่ตั้งอยู่คือจรวด Falcon 9 ที่ลงจอดสำเร็จเป็นครั้งแรกและด้านหลังคือร่องรอยการปล่อยจรวด Falcon 9 ในภารกิจ Iridium-4 ที่มา – SpaceX

เธอบอกว่างานของเธอ พูดง่าย ๆ คือการเป็นเซลล์ขายจรวดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นอะไรที่ต้องพึ่งพาความสัมพันธ์กับลูกค้า เธอพูดถึงจรวด Falcon 9 และ Falcon Heavy ที่กำลังเป็นรายได้หลักของ SpaceX ณ ตอนนี้ แต่สำหรับโครงการในอนาคตนั้น คุณ Gwynne บอกว่าถ้าเราไม่มีจรวดจะขาย (เพราะยังสร้างไม่เสร็จ) ก็ให้ขายทีม ขายความเทพของ CEO ซึ่งเธอบอกว่าตอนนี้ไม่ใช่เรื่องยาก (แน่นอนละ ขึ้นชื่อว่า Elon Musk) และแน่นอนที่สุดก็คือต้องสร้างความมั่นใจและความเชื่อใจ

พูดถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของ SpaceX

การพูดเริ่มต้นด้วยการโชว์บรรยากาศของการปล่อยจรวด Falcon Heavy ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลกให้กับวงการอวกาศ ด้วยการขึ้นบินของจรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลกในปัจจุบัน โดยที่จรวดขนาบข้างทั้ง 2 ตัวสามารถกลับมาลงจอดยังโลกได้อย่างประสบความสำเร็จ คุณ Gwynne บอกว่าในปลายปีนี้จะมีการปล่อย Falcon Heavy อีก 2-3 ครั้ง

จรวด Falcon Heavy กลับมาทำการลงจอด ที่มา – SpaceX

ปัจจุบันการแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดในวงการอวกาศก็คือการแข่งขันพัฒนายานอวกาศคนนั่งให้กับ NASA ที่จะใช้ในการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และ NASA ก็เคร่งกับเรื่องนี้มาก คุณ Gwynne ได้นำคลิปการทดสอบ Launch Eascape System ในปี 2015 มาแสดง

การทดสอบ Launch Escape System ของยาน Dragon ในปี 2015 ที่มา – SpaceX

ระบบ Lauch Escape System นั้นเป็นการใช้เครื่องยนต์ Decro Engine ทั้ง 4 ตัวบนยาน Dragon 2 (ยานอวกาศที่ SpaceX พัฒนาเพื่อให้คนนั่งได้) จุดเครื่องยนต์แล้วดีดยานออกไปจากตัวจรวดในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น จรวดระเบิด จากที่คุณ Gwynne บอก เหตุผลที่ SpaceX ออกแบบ Launch Escape System ให้ติดอยู่กับตัว Dragon เลยนั้น เป็นเหตุผลด้านการลดความซับซ้อนและขั้นตอน ปกติแล้วยานอวกาศทั่วไปจะมีตัว Escape Tower เป็นแท่งติดอยู่บนตัวยาน ใช้การดึงตัวยานออกมา สุดท้ายแล้ว ตัวแท่งนี้แหละที่จะทำให้เกิดปัญหาถ้ามันไม่สามารถสลัดออกจากตัวยานได้หลังจากดีดตัวออกมาแล้ว

บนบ่าของยักษ์ใหญ่

ประโยคเด็ดของ Issac Newton ได้ถูกนำมาพูดโดยคุณ Gwynne เธอบอกว่าที่ SpaceX มาไกลขนาดนี้ก็เพราะว่ามรดกตกทอดจากอุตสหาหกรรมจรวดและยานอวกาศที่ผ่านมา ทำให้ SpaecX  สามารถรู้ได้ว่าอะไรที่ควรทำและอะไรไม่ควรทำ กรณีบางอย่างที่ทำให้ SpaceX กลายเป็นสุดยอดเทคโนโลยีจรวดนั้นก็ยกตัวอย่างเช่นการออกแบบถังเชื้อเพลิงในตัวจรวด โดยมีถังน้ำมันกับถังออกซิเจนเหลว ซ้อนต่อกันเหมือนเอากระป๋องเบียร์มาซ้อนกัน ซึ่งก็ไม่ใช่การออกแบบที่แปลกใหม่อะไร แต่สิ่งที่ SpaceX คิดต่อก็คือจะทำยังไงให้เติมเชื้อเพลิงเข้าไปได้เยอะ ๆ ด้วยขนาดถังเท่าเดิม

 

SpaceX ก็ใช้วิธีการลดอุณหภูมิเพิ่มความดันในถังทำให้สามารถเติมออกซิเจนเหลวเข้าไปได้เยอะ ๆ ทำให้จรวดของ SpaceX มีพลังมากขึ้น โดยเรียกเทคนิคนี้ว่า Super Chilled Liquid Oxidiser

ประเด็นเรื่องทฤษฏีเวลาของ Elon

ปกติแล้ว Elon Musk จะมีประเด็นที่ชอบถูกพูดถึงคือในเรื่องของการบอกเวลา เช่น ถ้า Elon บอกว่าจะลงจอด Falcon 9 ครั้งแรกในปี 2012 ก็ให้คิดไว้เลยว่าไม่ใช้ปี 2012 แน่ ๆ ซึ่งที่ผ่านมามันก็เป็นแบบนั้น Falcon Heavy มีแผนจะบินครั้งแรกในปี 2014 แต่ก็ได้บินจริงในปี 2018 ประเด็นนี้ก็ถูกยกขึ้นมาถามคุณ Gwynne ในฐานะที่เธอทำงานร่วมกับ Elon Musk

Elon Musk ขณะทำการเปิดตัวยาน Dragon 2 ในปี 2014 ที่มา – SpaceX

คุณ Gwynne บอกว่าจริง ๆ แล้วที่ Elon Musk ชอบพูดอะไรแบบนั้นก็เป็นเหมือนกับสร้างแรงกดดัน ในการทำอะไรที่เหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เธอบอกว่าเวลา Elon พูดอะไรที่เหมือนเวอร์ ๆ ห้ามไปบอกว่า “เป็นไปไม่ได้หรอกค่ะ” อะไรแบบนี้ แต่ให้เงียบแล้วคิดว่า จะทำยังไง จะใช้วิธียังไงให้มันเป็นไปได้

ซึ่งพอคิดได้แบบนี้แล้วการทำงานในสภาพกดดันก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกแย่ขนาดนั้น แต่กลับทำให้เธอชอบงานของตัวเองมากขึ้นอีกไปอีก แต่สุดท้านแล้ว เธอก็ไม่ได้บอกว่าสรุปแล้วเวลาของ Elon กับเวลาของเรามันเท่ากันหรือเปล่า (ใครจะกล้าตอบ)

อนาคตของ SpaceX อินเทอร์เน็ต โลก และดาวอังคาร

แน่นอนว่าในอนาคตนั้นแผนเด็ด 3 แผนที่ SpaceX จะทำในอนาคตอันใกล้นี้ได้แก่

  • ดาวเทียมให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรอบโลก
  • จรวด BFR ที่จะพาดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร จนไปถึงพามนุษย์เดินทางข้ามทวีปไวกว่าเครื่องบิน
  • การพามนุษย์ไปเหยียบดาวอังคาร

เริ่มต้นจากโครงการดาวเทียมให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้น คุณ Gwynne บอกว่าสิ่งที่ยากและท้าทายสำหรับ SpaceX ตอนนี้ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นการทำเงินจากโครงการมากกว่า (ซึ่งเห็นด้วยมาก ๆ) ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่า SpaceX จะมีการวางโมเดลการหารายได้จากการทำดาวเทียมอินเทอร์เน็ตนี้ยังไง ให้คุ้มค่ากับมูลค่าโครงการพันล้านเหรียญนี้ แต่อย่างไรก็ตามเธอเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะต้องเปลี่ยนโลกแน่นอน

ส่วนความคืบหน้าของจรวด BFR นั้น หลายแหล่งข่าวบอกว่า SpaceX กำลังพยายามเปลี่ยนผ่านอะไรบางอย่างเพื่อทำให้ BFR กลายเป็น Product หลักของ SpaceX ซึ่งคุณ Gwynne ก็บอกว่า SpaceX นั้นจะยังไม่เปลี่ยนผ่านอะไรโดยทันที ก่อนที่ลูกค้าจะรู้สึกว่าอยากหันมาใช้ BFR และ SpaceX ก็ยังจะคงให้บริการ Falcon 9 และ Falcon Heavy อยู่จนกว่าจะถึงจุดที่รู้สึกว่าจะต้องมาใช้ BFR

BFR ขณะทำการปล่อยดาวเทียม ที่มา – SpaceX

BFR นั้นเป็นจรวดขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถบรรทุก Payload เส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 8 เมตรได้สบาย ๆ ดังนั้นสุดท้ายแล้ว BFR จะช่วยเพิ่มขีดจำกัดในด้านการส่งดาวเทียมอยู่ดี คุณ Gwynne ยกตัวอย่างว่าลองนึกดูว่าถ้าเราส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นใหม่ ๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก ๆ ด้วย BFR จะทำให้เราเพิ่มความสามารถในการศึกษาจักรวาลได้มากแค่ไหน

อีกหนึ่งการใช้งานของ BFR นั้นสามารถใช้เป็นพาหนะที่พาเราเดินทางข้ามทวีปในเวลาไม่กี่สิบนาทีได้ด้วย ซึ่งแม้ว่าการปล่อยจรวดจะมีต้นทุนสูงกว่าเครื่องบินก็จริง แต่ในแง่ของความถี่ในการให้บริการนั้น ใน 1 วันจรวดของ SpaceX สามารถพาคนเดินทางในเที่ยวเดียวกับที่สายการบินให้บริการได้เป็นสิบ ๆ รอบ ในขณะที่สายการบินทำได้แค่เที่ยวเดียว

จรวด BFR ของ SpaceX ที่บินขึ่นจากฐานปล่อยในเมืองเซี่ยงไฮ้ ที่มา – SpaceX

จะมีอีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนมองว่าน่าห่วงก็คือ รัฐบาลแต่ละประเทศจะยอมไหมที่ให้มีอะไรคล้าย ๆ ขีปนาวุธบินผ่านโฉบไปมา ซึ่งคุณ Gwynne ได้บอกในส่วนนี้ว่า ความท้าทายนี้ SpaceX ได้ก้าวข้ามไปแล้วด้วยการขอทำการลงจอด Falcon 9 ซึ่งเอาจริง ๆ ก็คือขีปนาวุธข้ามทวีปดี ๆ นี่เองลงในพื้นที่ของของทัพอากาศเอง (ฮา) ดังนั้นก็เป็นหน้าที่ของ SpaceX ที่ต้องต่อรองกับประเทศต่าง ๆ และอธิบายให้แต่ละประเทศเปิดโอกาสให้ธุรกิจนี้เป็นไปได้

ประเด็นสุดท้ายที่หลายคนพูดถึงก็คือการเดินทางไปยังดาวอังคาร ตามเวลาของคุณ Gwynne (ไม่ใช่ของ Elon นะ) เธอบอกว่า SpaceX จะต้องสามารถส่งคนไปดาวอังคารได้ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน รวมถึงความฝันของเธอ ก็ไม่ใช่แค่ดาวอังคาร แต่เธอยังเชื่อมันว่าซักวันเราจะเดินทางไปไกลว่านั้น ไม่ใช่แค่ดาวอื่นแต่เป็นระบบสุริยะอื่น

เราไม่ได้ทิ้งโลก แต่เรากำลังสิ่งที่เราทำได้

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้การพูดคุยครั้งนี้ทิ้งท้ายอะไรดี ๆ ไว้ให้กับผู้ชมทุกคนก็คงจะเป็นตอนที่คุณ​ Chris Anderson ถามว่า “ในเมื่อคุณเป็นผู้ครองเทคโนโลยีแล้วมีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นบนโลกมากมายที่เราต้องแก้ไข ทำไมคุณถึงเลือกที่จะทิ้งโลกนี้ไป” ก่อนที่จะตามมาด้วยเสียงปรบมือจากผู้ชม หลังจากเสียงปรบมือสิ้นสุดคุณ Gwynne ก็ตอบว่า

“แน่นอนว่ามีอีกหลายสิ่งที่เราต้องแก้ไขบนโลก แต่หลายบริษัทก็กำลังทำสิ่งนั้นอยู่เช่นกัน เรากำลังทำสิ่งทำคัญอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำได้ คือการหาดาวดวงอื่นให้กับมนุษย์ ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับโลกจริง ๆ ยังไงเราก็ต้องหาที่อยู่อื่นให้กับมนุษย์” คำพูดนี้เรียกเสียงปรบมือขึ้นอีกคร้ัง

ภาพจำลองยานของ SpaceX ขณะเดินทางถึงดาวอังคาร ที่มา – SpaceX

“นี่เป็นการลดความเสี่ยงของมนุษย์ในการสูญพันธุ์ นี่ไม่ใช่การมาตั้งคำถามว่างานของเราคือการทำให้โลกนี้ดีขึ้นหรือไม่ แต่นี่การสร้างทางเลือกให้แก่เรา ทางเลือกที่จะอยู่รอด อย่าเพิ่งพูดว่าคนบนโลกจะตายหมดเราเลยจะหนีไปอยู่ดาวอังคาร ไม่ใช่ นั่นเป็นสิ่งที่แย่ แต่เหตุผลที่เราจะไปดาวอังคารก็เพราะว่า มันคือการเดินทาง การสำรวจ นั่นคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่น ความอยากที่จะสำรวจและเรียนรู้สิ่งใหม่ของเรา”

แน่นอนว่าคำพูดนี้ถ่ายทอดความเป็น SpaceX ออกมาได้อย่างดี สุดท้ายแล้ว SpaceX จะยังคงทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปในฐานะ กัปตันที่กำลังจะพาเราเดินทางสู่ดาวอังคารในอนาคตอันใกล้

อ้างอิง TED – SpaceX’s plan to fly you across the globe in 30 minutes

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

 

 

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.