เช้ามืดของวันที่ 29 กันยายน 2024 SpaceX กำหนดใช้จรวด Falcon 9 พาเอาลูกเรือสองคนได้แก่ Nick Hague และ Aleksandr Gorbunov เดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ เป็นการนำลูกเรือกลุ่ม Expedition 72 ขึ้นไปเติมให้กับสถานีฯ หลังจากที่ในวันที่ 11 กันยายน 2024 รัสเซียได้ส่งยานอวกาศ Soyuz พาเอาลูกเรือ 3 คนเดินทางสู่สถานีฯ ในฐานะ Expedition 72 เช่นเดียวกัน เป็นฤดูกาลส่งไม้ต่อสถานีฯ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ 6-8 เดือน
หากมองในตัวภารกิจแล้ว ภารกิจ SpaceX Crew-9 ก็น่าจะเป็นภารกิจการผลัดเปลี่ยนลูกเรือบนสถานีอวกาศนานาชาติปกติทั่ว ๆ ไป ที่ NASA เองก็เลือกใช้บริการ SpaceX มาเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว หลังจากที่โครงการ Commercial Crew ได้ปั้นให้ SpaceX กลายเป็นบริษัทอวกาศเอกชนรายแรกและรายเดียว ที่สามารถพาลูกเรือเดินทางขึ้น “และกลับ” จากสถานีอวกาศนานาชาติได้ พอพูดแบบนี้แล้ว แน่นอนว่าอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันไป ก็คือการทดสอบยานอวกาศ Starliner ของ Boeing ซึ่งเหตุการณ์นี้นั่นเองก็ได้ส่งผลกระทบต่อ Crew-9 ในหลาย ๆ ด้าน
ในบทความนี้เราจะมาไล่เรียงความ “แปลกใหม่” ที่ทำให้ ภารกิจ Crew-9 น่าจะมีความโดดเด่นและเป็นที่จดจำในด้านต่าง ๆ ที่เรานั้นน่าจะต้องจดจำกันไปอีกหลายปี
สถานีอวกาศนานาชาติ มีขั้นตอนการผลัดเปลี่ยนลูกเรืออย่างไร รู้จัก Direct และ Indirect Handover
ผลกระทบจากการทดสอบ Boeing Starliner ทำให้ภารกิจช้าไปเดือนกว่า
ข่าวใหญ่ประจำปีนี้ของ Boeing และ NASA ก็คงหนีไม่พ้นกรณียาน Starliner ประสบปัญหาและไม่สามารถพาลูกเรือทดสอบ Butch Wilmore และ Suni Williams เดินทางกลับโลกได้ จนทำให้ NASA ต้องสร้าง “ทางเลือก” ของความเป็นไปได้ Starliner เดินทางสู่อวกาศในวันที่ 5 มิถุนายน 2024 พาเอาสองนักบินทดสอบขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี กำหนดการณ์กลับบ้านของ Butch และ Suni ถูกเลื่อนมาเรื่อย ๆ เนื่องจากวิศวกรต้องการทำความเข้าใจปัญหาแก๊สฮีเลียมรั่วไหลในส่วน Service Module ของตัวยาน และเริ่มเกิดคำถามถึงความปลอดภัยของสองลูกเรือ จากเดิมที่ Butch และ Suni จะต้องอยู่บนสถานีฯ เป็นเวลาแค่ราวหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น
แต่การรอคอยนั้นก็มีปลายทางเหมือนกัน ในขณะที่ Boeing กำลังแก้ปัญหากับยาน Starliner นั้น ฤดูกาลผลัดเปลี่ยนลูกเรือก็ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ ในตอนนั้น ภารกิจ Crew-9 มีกำหนดพาลูกเรือเดินทางสู่สถานีอวกาศฯ ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2024 โดยลูกเรือที่จะเดินทาง ได้แก่ ผู้บัญชาการ Zena Cardman, นักบินผู้ช่วย Nick Hague, ผู้เชี่ยวชาญภารกิจ (Mission Specialist) Stephanie Wilson และลูกเรือแลกเปลี่ยนจากรัสเซีย Aleksandr Gorbunov ผู้เป็นผู้เชี่ยวชาญภารกิจอีกราย รวมทั้งสิ้น 4 คน ตามจำนวนที่นั่งที่ SpaceX ให้บริการกับ NASA
ในเดือนมีนาคม ในบทความ Starliner กับปัญหาแก๊สรั่วบนสถานีอวกาศ ทำไมยังไม่กลับบ้าน เราได้รายงานว่า NASA จำเป็นต้องรีบตัดสินใจว่าจะเอายังไงต่อกับ Starliner เพราะหาก Starliner ไม่กลับบ้านซักที Crew-9 ที่จะปล่อยในช่วงเดือนสิงหาคมฯ จะไม่มีจุดสำหรับเชื่อมต่อ เนื่องจากยาน Dragon และ Starliner ใช้การเชื่อมต่อด้วย International Docking Adapter ที่ปัจจุบัน มีติดตั้งอยู่เพียง 2 จุดบนสถานีฯ และอีกจุดหนึ่งก็ถูกใช้โดยยาน Dragon ในภารกิจ Crew-8 ไปแล้ว แล้ว Crew-8 ก็จะยังถอนตัวออกจากสถานีฯ ไม่ได้ หาก Crew-9 ยังไม่มาถึง ทำให้ยังไง Starliner ก็จะต้องรีบถอนออกจากสถานีฯ
จนกระทั่งสุดท้ายในต้นเดือนสิงหาคม NASA ก็ได้ออกมาประกาศว่าได้มีการ วางแผน พาลูกเรือ Starliner กลับโลกด้วยยาน Dragon ในภารกิจ Crew-9 เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ในกรณีที่ Starliner นั้นไม่ปลอดภัยมากพอ และสุดท้ายแผนนี้ก็ได้ถูกอนุมัติมาใช้งาน และต้องเลื่อนกำหนดการณ์ปล่อย Crew-9 มาเป็นช่วงปลายเดือนกันยายนแทน (เป็นการเลื่อนระลอกที่หนึ่ง) และวันที่ 7 กันยายน 2024 ยาน Starliner ก็ได้ยกธงขาว ถอนตัวออกจากสถานีฯ กลับโลก โดยไม่ได้พา Butch และ Suni กลับมาด้วย ทำให้ Butch และ Suni กลายเป็นลูกเรือกลุ่ม Expedition 72 ไปโดยปริยาย
อ่าน – ย้อนอดีตกว่าจะเป็น CFT-1 เที่ยวบินมีลูกเรือครั้งแรกของ Boeing CST-100 Starliner
ส่วน SpaceX ที่เตรียมจรวดใหม่แกะกล่อง หมายเลข B1085 มาให้ NASA ใช้ในเที่ยว Crew-9 ก็ต้องเอา Falcon 9 ลำดังกล่าวไปปล่อย Starlink รอไปพลาง ๆ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2024 ภารกิจประสบความสำเร็จไปด้วยดี (แล้วก็ค่อยเอามาให้บริการต่อในเที่ยว Crew-9 เหมือนเดิมนี่แหละ – ประหยัดไปอีก)
ส่วนยาน Dragon ลำที่ใช้ก็เป็นยานหมายเลข C212 “Freedom” ที่เคยผ่านการใช้งานในภารกิจ Crew-4, Axiom-2 และ Axiom-3 ตามลำดับ
แต่การโยนให้ Butch และ Suni กลับกับภารกิจ Crew-9 นั้น ก็ทำให้ต้องมีการ “ลดจำนวนลูกเรือ” จากเดิม 4 คน เหลือ 2 คนในขาไป ทั้งที่จริง ๆ แล้ว Dragon สามารถนั่งได้ถึง 7 คน แต่ SpaceX เองก็ยังไม่เคยทำภารกิจลูกเรือ 7 คนมาก่อน และ NASA เองก็ไม่ใช่ว่าจะให้อยู่ดี ๆ มีการปรับรูปแบบจำนวนลูกเรือได้ง่าย ๆ ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดก็คือการตัดลูกเรือออก
NASA ไม่ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า เหตุใดจึงตัด Zena Cardman และ Stephanie Wilson ออก แต่ก็น่าสนใจตรงที่ลูกเรือจากโครงการแลกเปลี่ยน ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียอย่าง Gorbunov ยังอยู่ในแผนการเดินทาง (โดยมีคู่แลกเปลี่ยนคือ Don Pettit ที่ไปบินกับ Soyuz MS-26) ทำให้ในรอบนี้สหรัฐฯ มีลูกเรือของตัวเองเพียงแค่ 1 คนเท่านั้นก็คือ Nick Hague
เหตุการณ์นี้ทำให้นี่จะเป็นการบินยาน Dragon พร้อมลูกเรือ 2 คน “ครั้งที่สองในประวัติศาสตร์” เพราะครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นในเที่ยวบิน Crew Demo-2 ที่ Doug Hurley และ Bob Behnken เป็นนักบินทดสอบ ในปี 2020 เป็นเที่ยวบินที่ทำให้ SpaceX ได้รับอนุญาตนำยาน Dragon มาให้บริการในเที่ยวบินแรกคือ Crew-1 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2024 เปิดฉากภารกิจ Commercial Crew จากฝั่ง SpaceX
และนี่ก็ถือว่าเป็นภารกิจ “กู้ภัย” ในอวกาศภารกิจที่สองของทศวรรษ 2020 เพราะเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์ Soyuz MS-23 ภารกิจส่งยานเปล่ารับนักบินอวกาศที่ยานเสียหาย ไปสด ๆ ร้อน ๆ
แน่นอนว่า NASA เลือกที่จะใช้โอกาสในการส่งลูกเรือผลัดเปลี่ยนในการรับ Butch และ Suni กลับมา ทำให้จริง ๆ แล้ว NASA ไม่ได้เสียจำนวนลูกเรือบนสถานีไปแม้แต่คนเดียว เพราะ Butch กับ Suni ก็จะรับบทบาทของ Wilson และ Cardman เพียงแต่ว่าทั้งสองถูกส่งไปก่อนหน้า Crew-9 นั่นเอง และยังไง Butch กับ Suni ก็จะกลับโลกพร้อมกับลูกเรือ Crew-9 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 อยู่แล้ว
ภารกิจ Starliner จึงทำให้เราได้เห็นความ “ครีเอทีฟ” ของการดัดแปลกภารกิจ ให้เหมาะสมกับตารางปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศฯ และหลังจากที่ Crew-9 ได้เชื่อมเข้ากับสถานีฯ ลูกเรือ Crew-8 ได้แก่ Matthew Dominick, Michael Barratt, Jeanette Epps และ Alexander Grebenkin ก็จะเดินทางกลับบ้านได้ในที่สุด
ภัยจากเฮอร์ริเคนเฮเลนพัดถล่ม
การเลื่อนจากเหตุ Starliner นั้นเป็นการเลื่อนจากเดือนสิงหาคมมาเป็นเดือนกันยายน แต่อย่างไรก็ดี กำหนดการณ์เดิมที่จะปล่อยวันที่ 26 กันยายน ซึ่งลูกเรือทั้งสอง Nick Hague และ Aleksandr Gorbunov ได้เดินทางมาถึงแหลมคะเนอเวอรัล และแถลงข่าวไปในวันที่ 21 กันยายนเรียบร้อย ส่วนจรวด Falcon 9 ก็ได้ถูกนำมาตั้งเตรียมไว้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน อย่างไรก็ดีช่วงนั้นพายุเฮอร์ริเคนเฮเลนกำลังพัดถล่มรัฐฟลอริดา ทำให้มีการเลื่อนการปล่อยไป 2 วัน และ Falcon 9 ก็ต้องถูกลากกลับเข้ามาในโรงเก็บอีกครั้งเพื่อความปลอดภัย
ในงานแถลงข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 28 กันยายนตามเวลาประเทศไทย ทางกองทัพอวกาศ ได้ประเมินความเหมาะสมของสภาพอากาศในการปล่อยอยู่ที่ 50% ซึ่งก็ถือว่าเป็นพายุที่มาเร็วไปเร็วมากเลยทีเดียว ไม่ต้องรอนาน และนี่ก็คือการเลื่อนระลอกที่สองของภารกิจ Crew-9
ประเดิมภารกิจมีลูกเรือ ณ ฐานปล่อย SLC-40
สิ่งที่สำคัญต่อมาก็คือ การปล่อยภารกิจ Crew-9 นั้น เป็นการปล่อยยาน Crew Dragon แบบมีลูกเรือออกจากฐานปล่อย Space Launch Complex 40 ณ Cape Canaveral Space Force Station เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าใครอ่านบทความ ประวัติศาสตร์ที่ดินของแหลมคะเนอเวอรัล และทำไม NASA ต้องปล่อยจรวดที่นั่น จะทราบว่า ฐานปล่อยตั้งแต่หมายเลข 1 เป็นต้นมา จะตั้งอยู่บนพื้นที่ของกองทัพฯ ในขณะที่ NASA เพิ่งมาสร้างฐานปล่อย LC-39 เพื่อใช้กับ Saturn V และถูกใช้งานต่อมาในยุคกระสวยอวกาศ มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ NASA จริง ๆ มีฐานปล่อย ณ แหลมคะเนอเวอรัลแค่สองฐาน ได้แก่ LC-39A และ LC-39B ที่เหลือเป็นของกองทัพอากาศ และถูกเปลี่ยนมาเป็นกองทัพอวกาศปัจจุบัน
หลังจากที่ NASA มีฐาน LC-39 เราก็ไม่ได้เห็นการปล่อยลูกเรือจากฐานในฝั่งกองทัพฯ อีกเลย ภารกิจสุดท้ายที่เกิดขึ้นนั้นได้แก่ Apollo 7 ในปี 1968 ณ ฐานปล่อย LC-34 (สถานที่เดียวกับที่ลูกเรือ Apollo 1 เสียชีวิต) หลังจากนั้น Apollo 8 เป็นต้นมา จนถึงยุคกระสวยอวกาศ และยาน Dragon ทั้งหมดก็ปล่อยจากฐานปล่อย LC-39A (และ B ในยุคกระสวย) เท่านั้น จนกระทั่งภารกิจ Starliner Crew Flight Test นี่แหละ ที่ Butch และ Suni บินออกจากฐาน SLC-41 ของ United Launch Alliance อันเป็นฐานปล่อยของจรวด Atlas V นั่นเอง
ส่วนฐานปล่อย SLC-40 นั้น SpaceX ได้เข้ามาเช่าใช้พื้นที่ตั้งแต่ปี 2007 เป็นฐานปล่อย “ฐานแรก” ของจรวด Falcon 9 ก่อนที่ต่อมา SpaceX จะไปเช่าฐานปล่อยในฝั่งแปซิฟิกได้แก่ SLC-4E ใน Vandanberg Space Force Station และฐานปล่อยแห่งที่สองในฝั่งแอตแลนติกก็คือ LC-39A ต่อจาก NASA และภารกิจ Crew Demo-2 ที่เป็นการพาลูกเรือเดินทางสู่อวกาศครั้งแรกของ SpaceX ในปี 2020 ก็ได้ปล่อยจากฐาน LC-39A ในฝั่ง NASA Kennedy Space Center
ในขณะที่ SLC-40 นั้น ก็ใช้คู่กันไปกับ LC-39A แต่ไม่เคยถูกใช้ปล่อยลูกเรือ เนื่องจากไม่ได้มีโครงสร้างที่เป็น Crew Acess Tower ที่ให้ลูกเรือขึ้นลิฟท์ไปยังยานอวกาศได้ แต่ในปี 2024 ทาง SpaceX ก็ได้ปรับปรุงฐานปล่อย SLC-40 ของตัวเองให้มีศักยภาพในการปล่อยลูกเรือ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้ง Crew Acess Tower และที่สำคัญคือ ระบบอพยกฉุกเฉิน ที่เราได้เล่าไปในบทความ Emergency Egress แผนการอพยพออกจากฐานปล่อยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
จริง ๆ แล้ว Crew-9 ไม่ได้จะสร้างประวัติศาสตร์นี้แต่อย่างใด แต่เนื่องจากการเลื่อนการปล่อยระลอก Starliner ทำให้ ตารางการปล่อยของ Crew-9 มาชิดกับการปล่อยยาน Europa Clipper ที่จะต้องถูกปล่อยด้วย Falcon Heavy และฐาน LC-39A จนเกินไป เพื่อป้องกันปัญหาคอขวด SpaceX จึงตัดสินใจประเดิมใช้ฐานปล่อย SLC-40 กับ Crew-9 ไปเลย
การส่งทหารอวกาศ จากฐานทัพอวกาศครั้งแรกในประวัติศาสตร์
และเนื่องจากเป็นการปล่อยจาก Cape Canaveral Space Force Station แล้วทำให้เกิดเรื่องน่าสนใจอีกประเด็นก็คือตำแหน่งของ Nick Hague หรือจะให้เต็มยศต้องเรียกว่า พันเอก Nick Hague แห่งกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ซึ่งเขาคือ “ทหารอวกาศ”
เหมือนที่บอกไปก่อนหน้าว่า ภารกิจสุดท้ายที่ปล่อยในฝั่งกองทัพ (อากาศในตอนนั้น) คือ Apollo 7 ที่ปล่อยจากฐาน LC-34 ในปี 1968 หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้เห็นนักบินอวกาศบินขึ้นจากฝั่งกองทัพอีกเลย ภายหลัง Cape Canvaveral Air Force Station (CCAFS) ก็ได้เปลี่ยนมาเป็น Space Force Station หรือ CCSFS (จากกองทัพอากาศ เป็นกองทัพอวกาศ) ตามดำริของ Donald Trump ทีนี้อาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมไม่นับ Suni Williams กับ Butch Wilmore เพราะทั้งคู่ก็เป็นทหารทั้งคู่ คำตอบก็คือ ทั้ง Butch และ Suni นั้นเคยเป็น “ทหารเรือ” ไม่ใช่ทหารอากาศ หรือทหารอวกาศ
และที่สำคัญ Aleksandr Gorbunov ก็จะเป็นชาวต่างชาติคนแรก ที่ถูกปล่อยจากฐานปล่อยในกองทัพอากาศและกองทัพอวกาศด้วย
การเก็บกู้ยาน Dragon ที่จะเกิดขึ้นที่ฝั่งแปซิฟิก
และสุดท้ายก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเก็บกู้ยาน ซึ่งเราเคยเล่าไปในบทความ SpaceX ย้ายฐานปฏิบัติการเก็บกู้ยาน Dragon ไปฝั่งแปซิฟิก หลับพบว่า Trunk เผาไหม้ไม่หมด อธิบายสั้น ๆ ก็คือ ตอนนี้ SpaceX กำลังประสบปัญหาพบว่าส่วน Truck ของตัวยาน Dragon ซึ่งเป็นส่วนที่มีแผง Solar Arrays ติดตั้งและใช้ในการบรรทุกสัมภาระขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถใส่ไว้ในห้องโดยสารได้ ดันเผาไหม้ไม่หมดในชั้นบรรยากาศขณะมันถูกสลัดออกเพื่อให้ส่วนตัวยานลงจอด
โดยปกติตัวยาน Dragon จะลงจอดในชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นนอกชายฝั่งฟรอลิดา หรือในอ่าวเม็กซิโก เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายลูกเรือและสัมภาระกลับมายังแหลมคะเนอเวอรัลได้อย่างรวดเร็ว รวมถึง SpaceX และ NASA ก็มีบริการ นำ Payload จากอวกาศกลับถึงมือนักวิจัยใน 4 ชั่วโมง แต่เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมาเราได้เห็นชิ้นส่วน Truck ตกกระจัดกระจายไปทั่ว เนื่องจากตอนที่ Dragon ปลดตัว Trunk ออก มันยังไม่ได้ลดความเร็วเพื่อปรับวงโคจรในการกลับสู่โลก Truck ของยานก็เลยลอยไปเรื่อย ๆ จะตกที่ไหนก็ไม่รู้ตามยถากรรม ดังนั้นเราจึงแก้ด้วยการบังคับให้ Trunk นั้นตกในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยการลดความเร็วก่อน ให้วงโคจรมีทิศกลับโลกแล้วค่อยปลดตัว Trunk ออก ซึ่งก็จะทำให้ตัว Trunk ตกในบริเวณไม่ห่างจากจุดลงจอดมากนักไปในทางทิศตะวันตก แต่ถ้าเอามาลงฟลอริดา Trunk ก็น่าจะตกลงประมาณเท็กซัส ซึ่งไม่ดีแน่ SpaceX เลยต้องย้ายฐานการเก็บกู้มาเป็นฝั่งแปซิฟิกแทน โดยตัว Trunk จะตกลงกลางมหาสมุทรแปซิฟิกพอดี
และภารกิจ Crew-9 ก็จะเป็นภารกิจแรกที่ SpaceX จะรับนักบินอวกาศกลับบ้านด้วยกองเรือฝั่งแปซิฟิก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2025
เราจะเห็นว่าแม้ Crew-9 จะเป็นภารกิจตระกูล Crew Rotation ทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจาก Starliner, ปัญหาจากพายุ ไปจนถึงปัญหาของยาน Dragon เอง ก็ได้ทำให้เราได้เห็นอะไรใหม่ ๆ กับภารกิจนี้เยอะมาก ดังนั้นถามว่า พอยาน Dragon มาให้บริการในภารกิจตระกูล Commercial Crew ทุกอย่างจะเป็นเหมือนเดิมเป๊ะ ๆ น่าเบื่อไหม คำตอบก็คือไม่ เราจะยังคงได้เห็นการแก้ปัญหา เหมือนกับที่ในยุคกระสวยอวกาศก็ไม่ใช่ว่าทุกภารกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งก็น่าตื่นเต้นมาก ๆ ว่าอนาคตวงการสำรวจอวกาศโดยมนุษย์จะพาเราไปถึงตรงไหน
และเมื่อ Starliner พร้อมมาให้บริการ เราก็น่าจะได้เห็นอะไรคล้าย ๆ กันอีก เป็นสีสันของวงการอวกาศยุคใหม่ที่เกิดขึ้นได้จากโครงการ Commercial Crew
เรียบเรียงโดยะ ทีมงาน Spaceth.co