ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2011 กระสวยอวกาศ Atlantis ได้บินขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย และก็ได้กลายเป็นเที่ยวบินอำลาของกระสวยอวกาศทั้งปวง ในตอนที่ยานบินขึ้นนั้น เสียงของ Rob Navias ผู้บรรยายภารกิจที่คุ้นเคยของ NASA ได้พูดบทบรรยายไว้ว่า “On the shoulders of the Space Shuttle, America will continue the dream.” หลังจากที่กระสวยอวกาศ ได้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกเบื้องล่าง และท้องฟ้าเบื้องบนมาเป็นเวลากว่า 30 ปี และได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญของการก่อสร้างสถานีอวกาศนานชาติ
นโยบายการปลดระวางกระสวยอวกาศนั้น เกิดขึ้นเมื่อสหรัฐฯ ได้มีการเปลี่ยนแผนการสำรวจอวกาศ หันมาสนับสนุนบริษัทเอกชน และการเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศ หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญก็คือการยกเลิกโครงการ Constellation ในปี 2010 ซึ่งเป็นแผนการพัฒนายานอวกาศแห่งอนาคตสำหรับการกลับไปยังดวงจันทร์ และเดินหน้าสู่ดาวอังคาร และหันมาว่าจ้างบริษัทเอกชนให้พัฒนยานอวกาศแทน (อย่างไรก็ดี ยานอวกาศลำสำคัญในโครงการ Constellation ที่ยังคงตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบันก็คือยาน Orion)
ในปีเดียวกันกับการยกเลิกโครงการ Constellation นั้น NASA ได้มีการอนุมัติงบประมาณหลายพันล้านเหรียญ เพิ่มให้กับการสนับสนุนบริษัทเอกชนในการพัฒนายานอวกาศ ที่เรียกว่า Commercial Crew Development บริษัทอวกาศมากมายในสหรัฐฯ ต่างเข้ามานำเสนอแนวคิดด้านการพัฒนายานอวกาศ เพื่อมาแทน “กระสวยอวกาศ” เดิม ในขณะที่สหรัฐฯ ต้องเปลี่ยนแผนการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติไปเป็นการว่าจ้างรัสเซีย และฝากนักบินเดินทางไปกับยานอวกาศ Soyuz จากแผ่นดินคาซักสถาน
ในปี 2014 ได้มีการประกาศรายชื่อสองบริษัทที่ได้รับทุนในการพัฒนยานอวกาศ ได้แก่บริษัทอวกาศหน้าใหม่ในตอนนั้น คือ SpaceX ที่ได้รับงบประมาณไปทั้งสิ้นสองพันหกร้อยล้านเหรียญ และบริษัทเจ้าเก่าเจ้าเดิมอย่าง Boeing ที่ได้รับงบประมาณสูงกว่า SpaceX ถึงสองเท่าอยู่ที่สี่พันสองร้อยล้านเหรียญ
โจทย์ของทั้ง SpaceX และ Boeing คือการพัฒนายานอวกาศที่สามารถส่งนักบินอวกาศ เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติได้อย่างปลอดภัย แนวคิดของ SpaceX นั้นคือการพัฒนายานอวกาศที่ชื่อว่า Dragon 2 ซึ่งพัฒนาต่อจากยานอวกาศ Dragon รุ่นแรก ที่เพิ่งได้รับสัญญาในการนำส่งเสบียงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ที่เรียกว่า Commercial Resupply Service และได้เริ่มปฏิบัติภารกิจมาตั้งแต่ปี 2012 ในขณะที่ Boeing นั้น จะออกแบบและพัฒนายานอวกาศที่ชื่อ CST-100 “Starliner”
หากเปรียบเทียบระหว่าง Dargon 2 และ Starliner นั้น อาจมองได้ว่า Dragon 2 เป็นยานอวกาศที่มาพร้อมกับแนวคิดแบบใหม่หมด ทั้งสถาปัตยกรรมการออกแบบ ตำแหน่งของเครื่องยนต์ ที่ทั้งถังเชื้อเพลิงและส่วนควบคุม อยู่ในแคปซูลส่วนเดียวกับที่นักบินอวกาศนั่งอยู่ และวิธีการร่อนลงจอด ที่ในตอนแรก SpaceX ตั้งใจไว้ว่าจะให้ยาน Dragon 2 ลงจอดแบบ Propulsive Landing หรือใช้เครื่องยนต์ในการช่วยพยุงตัวยานให้ลงจอดบนพื้นด้วยความแม่นยำระดับเฮลิคอปเตอร์ ในขณะที่ยาน Starliner ของ Boeing นั้น ใช้การออกแบบที่ใกล้เคียงกับสถาปัตยกรรมยานอวกาศเดิม มีการลงจอดด้วยร่มชูชีพ และมีส่วน Service Module แยกออกจากตัวแคปซูล คล้ายกับการออกแบบยาน Apollo ในช่วงทศวรรษที่ 60 และยาน Orion ของ NASA
แต่อย่างที่ทุกคนน่าจะทราบกันดีว่า ณ ปัจจุบัน ปี 2024 เราได้เห็นยาน Crew Dragon ซึ่งมีการพัฒนาต่อมาจาก Dragon 2 แบบเดิม บินรับส่งนักบินอวกาศระหว่างโลกกับสถานีอวกาศนานชาติอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2021 แต่เรากลับยังไม่ได้เห็น Boeing CST-100 Starliner พาเอานักบินอวกาศคนใดขึ้นจากพื้นโลกเลย จนกระทั่งเที่ยวบินทดสอบในวันที่ 6 พฤษภาคม 2024 ซึ่งจะเป็นเที่ยวบินแรกที่มีมนุษย์โดยสารไปกับ Starliner เกิดอะไรขึ้นกับ Boeing กันแน่ ทำไมถึงได้ตามหลังบริษัทเอกชนหน้าใหม่อย่าง SpaceX อยู่ถึง 4 ปีเต็ม
ช่วงเวลาของการพัฒนยาน CST-100 Starliner
America will continue the dream เป็นคำที่ Boeing หยิบยกมาเป็นคำสำหรับให้ขวัญและกำลังใจในการพัฒนา CST-100 Starliner ในตอนที่ NASA มอบเงินทุนในการพัฒนาให้กับ Boeing มีการตั้งเป้าไว้ว่า Starliner จะต้องขึ้นบินในช่วงปี 2017 โดยการทดสอบจะต้องมีนักบินอวกาศของ NASA ขึ้นบินไปกับตัวยานอย่างน้อย 1 คน หากสำเร็จ Boeing จะได้รับการว่าจ้างจาก NASA ให้บินรับส่งนักบินอวกาศระหว่างโลกกับสถานีอวกาศนานาชาติ
ในปี 2016 Boeing ประกาศว่าการทดสอบปล่อยยานจะถูกเลื่อนออกไปจากปี 2017 เป็น 2018 ก่อนที่จะมีการเลื่อนออกไปอีกหนึ่งปีเป็นปี 2019 ซึ่งก็ได้มีการปล่อยจริงในวันที่ 20 ธันวาคม 2019 CST-100 Starliner ยานอวกาศลำใหม่ความหวังของ Boeing และโลกทุนนิยม ในเที่ยวบินแรก
อย่างไรก็ตาม การทดสอบยาน Starliner ในปี 2019 นั้น ไม่ประสบความสำเร็จ เดิม Starliner จะต้องเดินทางไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ แต่ระบบคอมพิวเตอร์บนยาน กลับทำตัวยานหลงทางในอวกาศ และเพื่อความปลอดภัยกับตัวสถานีฯ ได้มีการยกเลิกภารกิจบังคับเอายาน Starliner กลับมาลงจอด เพียงแค่ประมาณ 48 ชั่วโมงหลังจากมันถูกปล่อยขึ้น
หลังการตรวจสอบพบว่า ระบบคอมพิวเตอร์และการนำทางที่สับสน ทำให้ส่งผลต่อเคร่องยนต์ Orbital Maneuvering Thrusters (OMT) ซึ่งใช้ในการควบคุมการเดินทางในอวกาศ ทำให้ตัวเครื่องยนต์ติดมั่ว ๆ และเผาผลาญเชื้อเพลิงไปอย่างไร้ประโยชน์ ทำให้ตัวยานไม่สามารถที่จะเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานชาติได้ จนกระทั่ง Boeing แทบจะต้องมีการปรับรื้อระบบครั้งใหม่ และตั้งเป้าการทดสอบครั้งต่อไป
ตัดมาที่ฝั่งของ SpaceX ซึ่งในตอนนั้น เพิ่งประสบความสำเร็จในการทดสอบยานอวกาศ Crew Dragon ในเที่ยวบิน Crew Dragon Demo-1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2019 และกำลังจะวางแผนทดสอบ In-Flight Abort Test (ต้นปี 2020) และ Crew Dragon Demo-2 (กลางปี 2020) ก็ยิ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า Boeing อาจกำลังตามหลัง SpaceX อยู่ในด้านการพัฒนาตัวยาน Starliner
ความสำเร็จของ SpaceX Dragon Demo-2 เปิดทางสู่ยุคใหม่ของการสำรวจอวกาศอย่างไร
และก็ออกมาชัดเจนในที่สุดว่า ในวันที่ 2 สิงหาคม 2020 SpaceX ประสบความสำเร็จและสามารถส่งนักบินอวกาศ Douglas Hurley และ Robert Behnken ในเที่ยวบิน Demo-2 ได้สำเร็จ ก่อนที่ในวันที่ 16 พฤศจิกายนปีเดียวกัน ก็ได้เริ่มเปิดฉาก ภารกิจส่งนักบินอวกาศเชิงการค้าครั้งแรกในเที่ยวบิน Crew-1 พานักบินอวกาศ 4 คนเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานชาติ
ในช่วงที่ SpaceX กำลังไปได้สวยนั้น Boeing ก็กำลังวุ่นวายอยู่กับการปรับแก้ระบบของยาน Starliner จนกระทั่งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2022 Boeing ก็ทำการทดสอบยานอวกาศ Starliner อีกครั้ง โชคดีที่ในรอบนี้ Boeing ประสบความสำเร็จในการนำเอายาน Starliner ไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ แม้จะมีการเลื่อนการปล่อยมาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในรอบนั้น เราได้วิเคราะห์ไว้ในบทความ OTF-2 ภารกิจทดสอบ CST-100 Starliner ของแมวเก้าชีวิตอย่าง Boeing ว่า Starliner น่าจะมีกำหนดบินส่งนักบินอวกาศได้จริง ๆ ในช่วงปี 2023 และ Boeing กับอวกาศเป็นสิ่งที่ตัดกันไปขาด เรียกได้ว่า ต่อให้ Boeing ทำอะไรออกมาแล้วพลาด แต่ด้วยความที่ Boeing เป็น Boeing เปรียบเหมือนแมวเก้าชี้วิตแห่งวงการอวกาศที่ยังไงก็ฆ่าไม่ตาย ก็น่าจะทำให้เราได้เห็นอะไรออกมาอีก แม้การทดสอบต่าง ๆ จะไม่ค่อยราบรื่นมากนักก็ตาม
เที่ยวบิน Crew Flight Test กับการนำส่งนักบินอวกาศครั้งแรก
การทดสอบ CFT-1 หรือ Crew Flight Test 1 นั้น เดิมทีวางแผนไว้ในช่วงปี 2023 แต่ถูกเลื่อนออกมาเป็นกลางเดือนเมษายน 2024 และเลื่อนอีกครั้งเป็นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เนื่องจาก NASA ต้องการปรับตารางบินให้เหมาะสมสำหรับเที่ยวบินการเข้าและออกสถานีอวกาศนานชาติ
NASA ได้เริ่มส่งจดหมายเชิญสื่อให้เข้าไปร่วมชมการปล่อยตั้งแต่ในช่วงต้นเดือนเมษายน (ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย) โดยการปล่อยยาน Starliner ในเที่ยวบิน CFT-1 นั้น ถูกกำหนดเป็นวันที่ 6 พฤษภาคม 2024
โดยในการบิน จะมีลูกเรือทดสอบสองคนได้แก่ Barry Wilmore และ Sunita Williams โดยมี Michael Fincke เป็นนักบิน Backup ซึ่งทั้งสามเป็นนักบินอวกาศมากประสบการณ์จาก NASA ซึ่ง NASA นั้นคัดเลือกเอาไว้สำหรับการบินทดสอบยานอวกาศตระกูล Commercial Crew โดยเฉพาะ คล้ายกับ Douglas Hurley และ Robert Behnken จากเที่ยวบิน Crew-Demo 1 ของ SpaceX
ในการทดสอบ Wilmore และ Williams จะเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานชาติ ใช้เวลา 6 วันบนสถานี ก่อนที่จะกลับลงมาและลงจอด ณ บริเวณ White Sands Missile Range
ยาน Starliner นั้น ใช้จรวด Atlas V และใช้ Configuration แบบ N22 ในการบินขึ้น (N คือไม่มีการติดตั้งฝาครอบ Fairing, 2 ได้แก่จำนวนของ Booster ที่ใช้ และ 2 คือจำนวนของเครื่องยนต์ในจรวดท่อนที่สอง หรือ Centaur Upper Stage) ซึ่งจะนับว่าเป็นการปล่อยยานอวกาศที่มีคนโดยสารครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจรวด Atlas V ด้วย โดยการปล่อยก็จะเกิดขึ้นที่ฐานปล่อย Space Luanch Complex 41 ณ ฐานทัพอวกาศ Canaveral Space Force Station ของบริษัท United Launch Alliance
15 เมษายน 2024 Boeing และ NASA ได้เริ่มนำยาน Starliner มาติดตั้งบนจรวด Atlasv V ณ ฐานปล่อย LC-41 เป็นที่เรียบร้อย ยานอวกาศที่ใช้ในภารกิจ CFT-1 นั้นก็ได้แก่ Starliner ลำที่มีชื่อว่า Calypso ซึ่งเป็นลำเดียวกับที่ใช้ในการทดสอบ OFT-1 ในปี 2019 (ยาน Starliner ออกแบบมาให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้)
หากการทดสอบรอบนี้ของ Boeing ประสบความสำเร็จ Boeing จะได้รับ Certificate สำหรับการนำส่งนักบินอวกาสไปยังสถานีอวกาศนานชาติ และจะเริ่มมีการวางเที่ยวบิน (Post Certification Mission) ตลอดระยะเวลาสัญญา ทำให้ Boeing จะกลายเป็นบริษัทอวกาศที่ 2 ของโลกที่สามารถพัฒนยานอวกาศสำหรับคนนั่งจากเอกชน ส่งไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ โดยเที่ยวบินเชิงการค้าแรกของ Boeing น่าจะอยู่ในช่วงปี 2025
โดยรายชื่อของนักบินอวกาศที่จะเดินทางกับ Boeing ในเที่ยวบิน Starliner 1 ก็ได้แก่ Scott Tingle, Michael Fincke จาก NASA, Joshua Kutryk จาก Canadian Space Agency และ Kimiya Yui จาก JAXA
เราอาจเห็นกันได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยสวยงามของ Boeing มากเท่าไหร่ จากกรณีดราม่าทั้ง 737 Max-8 และกรณีของ 787 Dreamliner ทำให้หลายคนสูญเสียความเชื่อมั่นในตัว Boeing ไป แม้ฝ่ายของ Boeing ที่ดูแลเรื่องอากาศยาน กับ Boeing ที่ทำในส่วนอวกาศจะมีการทำงานแยกกัน แต่ชื่อของ Boeing ก็นับว่าเป็นชื่อสำคัญที่คนทั่วโลกต่างจับตามอง ความสำเร็จของเที่ยวบิน CFT-1 นั้นก็อาจจะเป็นตัวที่ดึงเอาความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง
และก็หวังว่า เราจะได้เห็น Boeing กลายเป็นบริษัทเอกชนรายที่สองที่ประสบความสำเร็จในการส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ต่อจากบริษัทเอกชนหน้าใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักในช่วงต้นทศวรรษที่ 2010 อย่าง SpaceX
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co