กล้องฮับเบิลถูกส่งเข้า Safe Mode ระหว่างแก้ปัญหาไจโรสโคปบนยาน

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลถูกส่งเข้าสู่ Safe Mode เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับไจโรสโคปบนยาน แม้ว่าทีมงานของภารกิจจะคาดการไว้แล้วว่าต้องเกิดปัญหานี้ขึ้น และตัวกล้องก็น่าจะกลับมาทำงานต่อได้ตามปกติ แต่ชะตากรรมและอนาคตของมันก็ยังคงเป็นปัญหาที่อธิบายได้ยากอยู่

บนกล้องฮับเบิลนั้นมีไจโรสโคปอยู่สามชุด ซึ่งแต่ละชุดจะประกอบด้วยไจโรสโคปหลักและไจโรสโคปสำรอง และในภารกิจสุดท้ายที่นาซาได้ส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปซ่อมบำรุงกล้องฮับเบิลนั้น พวกเขาได้นำไจโรสโคปรุ่นใหม่จำนวน 3 อันขึ้นไปติดตั้งแทน เนื่องจากมันได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพ และสามารถใช้งานได้ยาวนานกว่าถึง 5 เท่าด้วยกัน

หนึ่งในห้าภารกิจซ่อมบำรุงกล้องฮับเบิล – ที่มา NASA

กล้องฮับเบิลนั้นสามารถปฏิบัติการได้โดยใช้เพียงไจโรสโคป 3 อันเท่านั้น แต่ก่อนหน้านี้ฮับเบิลได้เสียไจโรสโคปรุ่นเก่าไป 2 อันแล้ว และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาไจโรสโคปรุ่นเก่าอันสุดท้ายก็ได้พังไป ทำให้ยานเหลือเพียงแค่ไจโรสโคปรุ่นใหม่เท่านั้น

แต่หนึ่งในสามอันที่เหลืออยู่นั้นกลับไม่สามารถปฏิบัติการณ์ได้ในระดับที่ยานต้องการ ทำให้ในตอนนี้กล้องฮับเบิลมีไจโรสโคปที่พร้อมใช้งานได้เพียง 2 อันเท่านั้น ในขณะที่ทีมงานของภารกิจกำลังพยายามกู้ไจโรสโคปที่มีปัญหาอันนั้นอยู่

หากไม่สามารถแก้ได้ ฮับเบิลอาจต้องปฏิบัติงานด้วยไจโรสโคปเพียงหนึ่งอัน และเก็บอีกอันไว้เป็นสำรองเพื่อยืดอายุของยานออกไปให้นานที่สุด ซึ่งนี่จะจำกัดพื้นที่บนท้องฟ้าที่กล้องฮับเบิลสามารถสำรวจได้ แต่นาซาได้บอกว่าวิธีนี้จะส่งผลต่อการสำรวจของยานน้อยที่สุดแล้ว

ทำไม Gyroscope ถึงเป็นอุปกรณ์สำคัญ

ใครที่เคยเรียนฟิสิกส์มา หรือรู้เรื่องของเทคโนโลยี คงรู้จักฟังก์ชั่นการทำงานของตัวไจโรสโคปแล้ว ซึ่งปัจจุบันเราก็พบมันได้ทั่ว ๆ ไปตั้งแต่บน Drone ไปจนถึงบน iPhone ของเรา อุปกรณ์ตัวนี้ใช้วงล้อการหมุนที่เมื่อหมุนแล้ว มันจะรักษา Orientation ของมันแบบนั้น มันจถึงถูกใช้เป็น Reference Point หรือจุดอ้างอิงในรวมถึงใช้ในการหันทิศทางของยานอวกาศ ซึ่ง กล้อง Hubble ก็ใช้หลักการนี้เช่นกัน

โดยเฉพาะ Hubble นั้นเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ต้องอาศัยความแม่นยำและการหันไปมาเพื่อถ่ายรูปบริเวณต่าง ๆ ทำให้ไจโรสโคปเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ยานจะขาดไม่ได้ ถ้าขาดไปก็เหมือนกับผู้ที่มีสายตาดีแต่ไม่สามารถขยับร่างกายได้

ฮับเบิลนั้นถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในเดือนเมษายน ปี 1990 และมันได้สำรวจตั้งแต่ดาวอังคาร ออกไปจนพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แถมล่าสุดยังพบ หลักฐานสำคัญที่อาจสนับสนุนการมีอยู่ของดวงจันทร์นอกระบบสุริยะ อีกด้วย และตัวแทนตัวตายของฮับเบิลอย่างกล้องเจมส์เว็บก็ยังถูก เลื่อนวันปล่อย ออกไปเป็นเดือนมีนาคม 2021 ซึ่งถึงแม้มันจะมาทดแทนกล้องฮับเบิลด้วยประสิทธิภาพที่ดีกว่าแต่ความสามารถในการถ่ายภาพอันแสนสวยงามของฮับเบิลนั้นก็ยังไม่สามารถถูกแทนที่ได้

ภาพตัดไปที่กล้องเจมส์เว็บ ที่ยังคงอยู่บนโลก (แถมยังไม่ได้ประกอบร่างเลยด้วย) – ที่มา NASA

ในปัจจุบันนาซาไม่มียานอวกาศที่มีความสามรถพอไปซ่อมกล้องฮับเบิลได้ เนื่องจากมันต้องใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน ต้องการยานที่มี Airlock เพื่อให้นักบินอวกาศออกไปซ่อมแซมกล้องได้ และยังต้องมีแขนกลเพื่อยึดกล้องฮับเบิลเอาไว้ ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดนี้คือกระสวยอวกาศ ที่ขึ้นบินครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2011 และในตอนนี้ก็ไปประจำการที่พิพิธภัณฑ์หมดแล้ว

เนื่องจากกล้องฮับเบิลโคจรรอบโลกในวงโคจร Low Earth Orbit ที่ระยะประมาณ 540 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล และมันก็จะค่อย ๆ ลดระดับวงโคจรลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากแรงต้าน ซึ่งหากไม่ได้รับการจุดจรวดเพื่อปรับระดับวงโคจรแล้วนั้น ฮับเบิลจะตกกลับลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกในระหว่างปี 2030-2040 นี้ โดยนาซาได้ยืดการใช้งานของฮับเบิลออกไปอย่างน้อยถึงเดือนมิถุนายน 2021 ซึ่งคาดว่าในตอนนั้นกล้องเจมส์เว็บจะถูกส่งขึ้นไปประจำการแล้วนั่นเอง

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

HubbleSite

ArsTechnica

Dr. Rachel Osten’s Tweet

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138