Payload Computer บน Hubble Space Telescope ล่ม อาจเกิดจากหน่วยความจำล้มเหลว

น้องใกล้สู่ขิตเต็มทีแล้วแต่ JWST ก็ยังไม่มาสักทีเลื่อนอยู่นั่นแหละ

วันที่ 13 มิถุนายน 2021 เวลา 03:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ระบบ Payload Computer บน Hubble Space Telescope ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดและระบบกล้องโทรทรรศน์เองเกิดล่มและหยุดการทำงานส่งผลให้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดบน HST ล้มเหลวตามไปด้วยแต่ Main Computer ที่คอยควบคุมการตัว HST ยังทำงานอยู่ตามปกติ

Hubble space Telescope ขณะกำลังถูกปล่อยออกจากกระสวยอวกาศ Discovery เมื่อวันที่ 25 เมษายน 1990 – ที่มา NASA/Smithsonian Institution/Lockheed Corporation

ระบบ Payload Computer บน Hubble คือ NASA Standard Spacecraft Computer-1 (NSSC-1) ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Goddard Space Flight Center (GSFC) ในปี 1974 มีระบบหน่วยความจำแบบ Magnetic-core memory จำนวน 18 bits ซึ่งอาศัยหลักการถักลวดที่มีคุณสมบัติทางแม่เหล็กมาร้อยสร้างเป็นหน่วยความจำ โดย NSSC-1 นั้นถือเป็นคอมพิวเตอร์ยุคแรกเริ่มมาก ๆ และกากมาก ๆ เช่นเดียวกันเพราะมันคำนวณ Floating Point (พวกทศนิยมหรือเลขเยอะ ๆ) ไม่ได้ด้วยซ้ำ

Magnetic-core memory แบบ 32 x 32 สำหรับเก็บข้อมูล 1024 bits (128 bytes) – ที่มา Konstantin Lanzet

NSSC-1 ถูกใช้ใน Hubble สำหรับการควบคุมและการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บน Hubble โดยตัวคอมพิวเตอร์ NSSC-1 ซึ่งเป็น Payload Computer จะคอยสื่อสารกับคอมพิวเตอร์หลัก (Main Computer) คือ DF-224 อีกทีที่มีหน่วยความจำมากกว่าและถึกกว่าซึ่งใช้สำหรับการควบคุมทิศทาง การประมวลผลภาพ และอื่น ๆ แต่ก็ยังกากอยู่ดีเพราะมันพัฒนามาเมื่อช่วงปี 1970 และมี Clock Speed เร็วสุดแค่ 1.25 MHz เท่านั้น (ช้ากว่า CPU ในปัจจุบันอย่างต่ำเป็นพัน ๆ เท่า) จนกระทั่ง NASA ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ตัวใหม่เข้าไปเพิ่มด้วยชิป Intel i486 เพิ่ม Clock Speed ขึ้นมาเป็น 25 MHz

ปกติแล้ว Payload Computer จะคอยส่งสัญญาณบอก Main Computer ว่า “เห้ย กูยังอยู่นะเว้ย” หรือที่เรียกว่า “Keep Alive Signal” ให้ Main Computer รู้ว่ามันยังอยู่ดี แต่ถ้าอยู่ ๆ สัญญาณหายไป Main Computer ก็จะสงสัยไว้ก่อนละว่า “ไอ้นี้แม่งตาย” แล้วก็จะเปลี่ยนโหมดของอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดเป็น Safe Mode เพื่อรอคำสั่งจากโลก ในวันที่ 14 มิถุนายน 2021 NASA ได้ส่งคำสั่งให้ Restart ระบบคอมพิวเตอร์ไปแต่มันก็ยังล่มอยู่ดี

คอมพิวเตอร์ DF-224 ซึ่งเป็น Main Computer ของ Hubble Space Telescope – ที่มา NASA

ทีมวิศวกรของ NASA กำลังวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวล่มซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ที่เสื่อมสภาพและทำงานผิดปกติส่งผลให้ Payload Computer ไม่สามารถทำงานได้อย่างที่มันควรจะเป็นและล่มในที่สุด

เพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ทีมวิศวกรของ Hubble จะสลับไปใช้หน่วยความจำสำรองก่อนในวันที่ 16 มิถุนายน 2021 และ Reboot ระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ แล้วไปให้มันทำงานไปอย่างน้อย 1 วันเพื่อดูว่าคอมพิวเตอร์ยังสามารถทำงานได้หรือไม่ด้วยหน่วยความจำสำรอง ถ้าได้แสดงว่าหน่วยความจำหลักเจ๊งไปแล้ว แต่ถ้าไม่ได้แสดงว่าคอมพิวเตอร์เจ๊งเอง เมื่อคอมพิวเตอร์กลับมาเป็นปกติแล้วมันจึงจะ Restart อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ให้กลับมาเป็นปกติเพื่อทำการสำรวจต่อไป

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

Operations Underway to Restore Payload Computer on NASA’s Hubble Space Telescope

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.