สัมผัสแรกของมนุษย์บนสถานที่ห่างไกลที่สุด การลงจอดของไฮเกนส์บนดวงจันทร์ของดาวเสาร์

หนึ่งพันสี่ร้อยล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ สิบเท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ดาวดวงนี้เห็นดาวฤกษ์ที่เคยสว่างเป็นตัวแทนของกลางวันบนโลกเหลือแค่เพียงจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งเท่านั้น ไททัน คือดวงจันทร์บริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์และมีชั้นบรรยากาศหนาแน่นมากที่สุด มองภายนอกไททันสะท้อนแสงอาทิตย์ออกมาเป็นส้มนวลเหมือนก้อนแก๊สก้อนนึง

สถานที่แห่งนี้คือสถานที่อันแสนไกล แต่สุดท้ายมันคือดินแดนที่ถูกสัมผัสแล้วโดยมนุษย์ แม้มนุษย์จะไม่ได้เดินทางไปด้วยตัวเอง แต่ประดิษฐกรรม ที่ฝากเอาความหวัง ความฝัน และตัวแทนองค์ความรู้ของมนุษยชาติเปรียบเสมือนเอื้อมมือที่ไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ ในอดีตเราอาจทำได้แค่มองดวงดาว ทุกวันนี้ดาวก็อยู่ที่เดิม เราต่างหากที่เดินทางขึ้นไปหามัน

ภายใต้ชั้นบรรยากาศส้มนวลนั้น ดำลึกลงไปใต้หมอกเมฆหนาคือพื้นดินสีส้มที่ซ่อนอยู่ สภาพบนดวงจันทร์ไททันนั้นเย็นเยือก ปริมาณของแสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นผิวเพียง 1% เมื่อเทียบกับที่โลกได้รับ หยาดน้ำฟ้าและสายธารบนดวงดาวที่เกิดจากมีเทนและอีเทนทำให้มันมีวัฏจักรน้ำคล้ายกับบนโลก

หากแต่ท้องฟ้าของมันไม่ได้เป็นสีฟ้าเหมือนบนโลก แต่เป็นสีส้มที่เกิดจากการกระเจิงของแสงจากธาตุองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศที่แตกต่าง ในปี 2014 นักวิทยาศาสตร์ พยายามจำลองอากาศบนไททัน พวกเขาพอเดาได้ว่ากลิ่นของมันจะคล้ายกับน้ำมันก๊าด ไม่น่าจะมีใครที่สามารถทนความฉุนของชั้นบรรยากาศในดาวสีส้มนี้ได้

NA

ดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ ที่มา – NASA/JPL

ข้อมูลจากยานแคสสินีที่ทำการบินโฉบเข้าใกล้สุดที่ระยะ 880 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว ทำให้เราเข้าใจองค์ประกอบของดวงจันทร์ดวงนี้อย่างละเอียด ข้อมูลส่วนหนึ่งบอกว่ามันเป็นวัตถุที่สองในระบบสุริยะที่อนุญาตให้เกิดรุ้ง รุ้งหลังจากฝนอีเทนสร้างความมีชีวิตชีวาให้ดาวดวงนี้ หยาดน้ำฟ้าตกลงสู่ร่องตามพื้นดิน ไหลรวมกันเกิดเป็นสายธาร แม่น้ำ ตามลำดับ สุดท้ายไหลลงสู่ทะเลสาบ

ในค่ำคืนของวันคริตส์มาส คืนที่ทั่วโลกกำลังรอคอยของขวัญจากเพื่อนและคนในครอบครัว ยานแคสสินีที่กำลังบินโฉบไททันได้ปล่อยยานสำรวจลำเล็กชื่อไฮเกนส์ ไฮเกนส์คือน้องชายที่เดินทางติดมากับแคสสินีตลอดระยะเวลา 7 เพื่อส่งมอบมันเป็นของขวัญให้กับไททัน

ไฮเกนส์เป็นยานอวกาศรูปร่างคล้ายชามหงาย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.3 เมตร ถูกบรรจุไว้ในแคปซูลทรงถ้วยคว่ำที่ห่อด้วยวัสดุสีทองสะท้อนแสงจากการเคลือบด้วยอลูมิเนียมและคริปทอนเพื่อปกป้องมันขณะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศทำให้ขนาดที่แท้จริงของมันใหญ่เกือบ 3 เมตร พอ ๆ กับรถยนต์ 1 คัน

ขนาดของชุดทำการลงจอดเมื่อเทียบกับวิศวกร ที่มา – NASA/JPL

ไฮเกนส์ค่อย ๆ เคลื่อนที่ลงสู่ชั้นบรรยากาศ ฝ่าเมฆหนาลงสู่พื้นดินเบื้องล่างด้วยความเร็วเท่ากับลูกกระสุนปืน ขนาดที่ใหญ่เทอะทะของมันทำให้ความเร็วของมันถูกทำให้ชะลอลงด้วยชั้นบรรยากาศ แต่นั่นก็ไม่พอที่จะทำให้มันลงจอดได้อย่างนิ่มนวลพอที่ไม่เกิดความเสียหาย นักวิทยาศาสตร์เลือกใช้ร่มชูชีพ 2 ตัวด้วยกัน

ภาพที่ถูก Process จากกล้องถ่ายภาพบนยานไฮเกนส์ขณะลดความเร็วเพื่อลงจอด 70 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว ที่มา – NASA/JPL/ESA โดย The Planetary Society

180 กิโลเมตรจากผิวดาว ร่มนำร่องที่มีขนาดเล็กกว่าถูกระตุกให้กางออกด้วยระบบอัตโนมัติ ขนาดของมันเมื่อกางออกอยู่ที่ 2.6 เมตรเท่านั้น วัตถุประสงค์ของมันไม่ใช่เพื่อลดความเร็ว แต่เพื่อใช้แรงดันมหาศาลจากชั้นบรรยากาศกระตุกร่มหลักขนาด 8.3 เมตรให้กางออก สุดท้ายแล้วไฮเกนส์จะลงจอดด้วยร่มอีกชุดนึงขนาด 3 เมตร

ย้อนกลับไปตอนที่ยานไฮเกนส์ถูกออกแบบ นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ว่ามันจะไปลงจอดบนพื้นผิวแบบไหน พวกเขาจึงเลือกใช้การออกแบบทรงจานหงาย ทำให้มันสามารถลงจอดได้บนทั้งบริเวณที่เป็น เป็นเนินทราย, ผิวยวบยุบตัว, หินแข็ง หรือแม้กระทั่งบนของเหลว การออกแบบที่เรียบง่ายนี้ทำให้พวกเขาไม่ต้องเป็นกังวล สิ่งเดียวที่น่ากังวลคือการส่งสัญญาณ

ท่ามกลางเนินเขาสีเขียวสลับซับซ้อนนมลรัฐเวสเวอร์จิเนีย บนที่ราบระหว่างเขาเป็นที่ตั้งของ Robert C. Byrd Green Bank Radio Telescope กล้องโทรทัศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถปรับหันให้หมุนไปยังทิศทางที่ต้องการได้ เวลารุ่งสางก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ตัวจานได้รับสัญญาณจากยานแคสสินี ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวทบทวนสัญญาณให้กับยานไฮเกนส์ เป็นการบ่งบอกว่ามันได้เดินทางถึงแผ่นดินอันแสนไกลนั้นแล้ว

ROBERT C. BYRD GREEN BANK TELESCOPE ที่มา – NRAO / AUI / NSF

ยานไฮเกนส์ลงจอดบนพื้นดินแข็ง อุณหภูมิ ณ ตอนนั้นเย็นยะเยือกอยู่ที่ −180 องศาเซลเซียส เย็นกว่าสถานที่ที่เย็นที่สุดบนโลกที่เคยบันทึกได้ พื้นดินที่เย็นจัดดูดความอบอุ่นออกไปจากตัวยานอย่างรวดเร็วเดาได้ว่ามันลงจอดบนพื้นดินที่เปียกแฉะ

ภาพที่มันส่งกลับมายังโลก ใกล้เคียงกับภาพที่นักวิทยาศาสตร์คิดไว้ในใจอย่างไม่ผิดเพี้ยน เป็นภาพถ่ายจากพื้นของดินแดนที่ไกลที่สุด ก้อนหินขนาดกลางกระจัดกระจายอย่างไร้ระเบียบ มันดูเงียบสงบ ปราศจากการเคลื่อนไหว มองออกไปไกลเห็นเส้นขอบฟ้าที่พื้นดินสีส้มจรดกับท้องฟ้าสีส้มที่อ่อนกว่าเล็กน้อย เป็นภาพที่ไม่คุ้นชิน

“จูบอำลา” ภาพถ่ายสุดท้ายของยานแคสสินี ในเดือนเมษายน 2017 ที่มา – NASA/JPL

ไฮเกนส์เป็นความสำเร็จในทางวิทยาศาสตร์ แต่หากพูดในเชิงมนุษย์แล้ว มันคือตัวแทนของการเดินทางไปยังสถานที่ที่ห่างไกล ความเป็นนักสำรวจคือสิ่งที่ฝังอยู่ใน DNA ของมนุษย์

บนดวงจันทร์สีส้มนวลที่โคจรรอบดาวแก๊สขนาดยักษ์ที่มีวงแหวนสวยงามล้อมรอบ ดาวเคราะห์ลำดับที่ 6 แห่งระบบสุริยะจักรวาล ตัวแทนของมนุษย์ได้เดินทางไปถึงแล้ว แม้ปัจจุบันยานไฮเกนส์จะสงบเงียบมากว่า 13 ปี  ไร้การติดต่อกลับมาอีก แต่มันก็ยังอยู่บนนั้น เป็นตัวแทนของนักสำรวจที่ฝากไว้ในสถานที่ที่ห่างไกล

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

NASA – Experiments Recreate Aromatic flavours of Titan

New Scientist – Cassini-Huygens: Mission to Saturn

ESA – Cassini – Huygens Timeline

 

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.