งานประชุมใหญ่ด้านอวกาศ IAC 2022 จัดที่ปารีส ฝรั่งเศส ปีนี้คนไทยขึ้นหลายเวทีอีกเช่นเคย

งาน IAC หรือ  International Astronautical Congress  เป็นงานใหญ่สำหรับคนในสายอวกาศที่ถูกจัดขึ้นทุกปีที่ีมีประวัติศาสตร์การจัดอย่างยาวนานมาตั้งแต่ปี 1950 โดยประวัติศาสตร์สำคัญคือบทบาทในช่วงหลังสงครามเย็น เมื่อมีการก่อตั้ง International Astronautical Federation หรือ IAF เพื่อเข้ามาผสานระหว่างยุโรปตะวันตกและตะวันออก ให้ร่วมมือกันสำรวจอวกาศ และงาน IAC เอง ก็เป็นประวัติศาสตร์สำคัญที่ทำให้โลกทั้งใบเชื่อมกันด้วยกิจกรรมการสำรวจอวกาศ

สำหรับในปีนี้ งาน International Astronautical Congress 2022 หรือ IAC 2022 ถูกจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรังเศส ซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะได้เจ้าบ้านเป็น CNES หรือ National Centre for Space Studies หน่วยงานอวกาศประเทศฝรั่งเศส ร่วมกับ IAF เช่นเคย โดยงานจะถูกจัดระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2022 ณ Paris Convention Center นครปารีส ประเทศฝรังเศส

ไฮไลต์สำคัญประจำปี

ในปีที่แล้ว เราเคยเล่ากรณีของ 4 Paper คนไทยงาน IAC 2021 ที่ดูไบ THEOS 2, Lunar Simulant, และความร่วมมือภูมิภาคอาเซียน กันไปแล้ว ซึ่งปี 2021 นั้น จัดที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เรียกได้ว่าเป็นการฉลองการส่งยาน HOPE ไปสำรวจดาวอังคารสำเร็จ ปีนี้ไฮไลต์ไม่แพ้กัน เพราะฝรั่งเศส เป็นประเทศที่เรียกว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่มีกิจกรรมอวกาศในประเทศ โดยเฉพาะเฉพาะการเป็นบ้านให้กับบริษัท Airbus, Arianespace และอื่น ๆ รวมถึงการเป็น “บ้าน” หรือสำนักงานใหญ่ของ European Space Agency (ESA) ด้วย การจัดงาน IAC ที่ปารีส จึงเป็นการรวมญาติคนสายอวกาศที่ศูนย์กลางของอวกาศยุโรปอย่างแท้จริง

และในปี 2022 นี้ สิ่งที่น่าจับตาก็คือ การมาอวดโฉมโครงการภายใต้ความร่วมมือนานาชาติ Artemis Program ที่ได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการแล้ว แล้วก็มีทั้งหน่วยงานรัฐฯ เอกชน บริษัทต่าง ๆ มาแสดงผลงานของตัวเอง ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Artemis ด้วยเช่นกัน

และธีมในงานนี้ก็คือ “Space For All” หมายความว่าเป็นการช่วยกระตุ้นให้อวกาศนั้นเข้าถึงได้สำหรับทุกคน (Space Democratization) อีกด้วย และในงานนี้ ทาง Spaceth ก็ได้เป็นหนึ่งใน Partner หลักของงานในฝั่ง Media เช่นกัน เพื่อเป็นการนำเอาคอนเทนต์ระดับโลกมาให้คนไทยได้รับชม

งานวิจัยคนไทยที่จะได้ไปนำเสนอในงาน IAC 2022

เรียกได้ว่า พองานนี้จัดที่ Paris ก็มีแต่คนอยากไป IAC ปีนี้ เป็นปีที่มีผู้ส่ง Abstract หรือ Paper เพื่อเข้ามานำเสนอผลงานมากถึง 4,800 หัวข้อ มากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่แน่นอนว่าให้นำเสนอขนาดนั้นจะจัดจริง ๆ ก็คงสามเดือน ดังนั้นจึงต้องมีการคัดเลือกหัวข้อนำเสนอที่เด่นจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งในรอบนี้ นักวิจัยจากไทยของเราก็ได้ส่งผลงานไปนำเสนอ และถูกคัดเลือกมากมายหลายราย แม้ทาง IAC ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เราก็ได้รับการกระซิบมาจากหลายคนว่า Paper ของคนไทยได้รับการตอบรับอยู่เยอะพอสมควร

โดยเฉพาะกรณีของโครงการ THEOS-2 และ Thai Space Consortium ที่เป็นโครงการอวกาศหลัก ๆ ที่ต้องจับตามองในไทยตอนนี้ และกลุ่มเยาวชนอย่าง UNISEC-Thailand ด้วยเช่นกัน

สรุปรายชื่อ Paper ของคนไทยที่จะนำเสนอ (ที่ได้รับยืนยันมาตอนนี้ 13 กรกฎาคม 2022) ก็ได้แก่

  • Secure Before Launch: Satellite security Guidelines Vulnerabilities concerns for space missions โดยกลุ่ม UNISEC-Thailand (กลุ่มเยาวชนไทย นามิน วิชญาดา ชำนาญศิลป์, มาย สุชัญญา คนใหญ่, มีน พัชรพล แสงแก้ว , บูม ชโณทัย กระแจ่ม, บุ๊ค ชวัลวัฒน์ มาตรคำจันทร์)
  • Entrepreneurship in Emerging Space Nations for Asia Pacific Region ที่มีบุ๊ค ชวัลวัฒน์ มาตรคำจันทร์ เป็นผู้เขียนร่วมกับทีม Asia Pacific Oceania Space Association-APOSA
  • เนื้อหาจากทีม Thai Space Consortium ประมาณ 5 หัวข้อ ครอบคลุมเรื่อง โครงสร้าง, ระบบ Embedded System, การจัดการพลังงาน และ Attitude Control (โดยทีมจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และหน่วยงานพันธมิตร)
  • เนื้อหาจากทีม THEOS-2

โดยรายชื่อเหล่านี้ จะได้รับการอัพเดทเรื่อย ๆ เมื่อมีการยืนยัน

เข้าร่วมงาน IAC 2022

ยิ่งใกล้โครงการ Artemis เราก็จะยิ่งเห็นประเด็นเกี่ยวกับการสำรวจดวงจันทร์มากขึ้น และด้วยหัวข้อในปีนี้คือ Space For All เราก็จะเห็นเรื่องราวของการทำให้อวกาศเป็นที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน ซึ่งเป็น Trend สำคัญที่มาแรงมาก ๆ และต้องจับตามอง ซึ่งงาน International Astronautical Congress ประจำปีนี้ เรียกได้ว่า จัดเต็มจากหัวข้อน่าสนใจ แถมยังจัดขึ้นในบ้านของประเทศมหาอำนาจด้านอวกาศในยุโรป และเป็นบ้านของ ESA อีก จึงน่าจะได้เห็นอะไรสนุก ๆ

โดยสำหรับใครที่อยากเข้าร่วมงาน IAC 2022 นี้ ก็สามารถเข้าร่วมได้หลากหลายรูปแบบ สามารถดูรายละเอียได้ทางหน้าเว็บ IAC 2022 Registration

และแน่นอนว่า เราเองก็จะนำเอาบรรยากาศในงานครั้งนี้มาฝากทุกคนด้วยเช่นกัน พบกันที่ปารีส

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.