4 Paper คนไทยงาน IAC 2021 ที่ดูไบ THEOS 2, Lunar Simulant, และความร่วมมือภูมิภาคอาเซียน

ปกติแล้วในทุก ๆ วงการก็จะมีงานใหญ่ประจำปี สำหรับในสายอวกาศหนึ่งในงานที่ใหญ่ที่สุดก็คืองาน IAC หรือ International Astronautical Congress ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดย International Astronautical Federation (IAF) และในปีนี้ก็ได้มีเจ้าภาพเป็นประเทศที่มาแรงมาก ๆ ทางด้านอวกาศอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเจ้าภาพ และจัดขึ้นที่นครดูไบ ภายใต้การดูแลของ Mohammed bin Rashid Space Centre (MBRSC) เจ้าของผลงานยาน Hope ที่เดินทางไปสำรวจดาวอังคารสำเร็จในปีที่ผ่านมา

หลังจากที่ปีก่อน COVID-19 ทำให้งาน IAC 2020 บึ้มไปกลายเป็นงานออนไลน์แทน ในปีนี้ IAC ก็กลับมาจัดได้ซักที โดยมีกำหนดในวันที่ 25-29 ตุลาคม 2021 ที่นครดูไบ ซึ่งแน่นอนว่านอกจาก MBRSC จะได้ใช้โอกาสนี้ขิงโครงการอวกาศของตัวเองแล้ว (ฮา) ก็มีนักวิจัยจากหลายกหลายประเทศทั่วโลกเข้ามานำเสนอผลงานของตัวเอง โดยปีนี้ ซึ่งโดยปกติแล้ว เนื้อหาของ IAC ก็จะเน้นไปทางการสำรวจอวกาศเป็นหลัก (ไม่ได้เน้นฟิสิกส์ดาราศาสตร์) ดังนั้นพวก Paper หรือ Talk Session ก็จะเป็นแนว ๆ ยานอวกาศ ดาวเทียม หรือในมิติความร่วมมือทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมต่าง ๆ

4 งานวิจัยน่าสนใจของคนไทยใน IAC 2021

ในปีนี้ ก็ได้มีถึง 4 Paper ของคนไทยได้รับคัดเลือกให้ไปนำเสนอในงาน IAC 2021 นี้ ซึ่งก็ได้แก่ งาน Development and Mechanical properties of the first Thailand lunar regolith simulant (TLS-01) หรือการพัฒนาหินดวงจันทร์เทียม สำหรับ Application ในเชิงการศึกษา ISRU (อ่าน – แผนการบริหารทรัพยากร In-Situ Resource Utilization) ของบริษัท Space Zab

Lunar Simulant จะเปิดทางงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ในราคาที่เข้าถึงได้ ที่มา – Space Zab

งาน Building Comprehensive Thailand Space Capacity through THEOS-2 SmallSAT ของนักวิจัย GISTDA ซึ่งพูดถึงการพัฒนาดาวเทียม THEOS-2 SmallSat ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ทำควบคู่ไปในโครงการซื้อดาวเทียม THEOS-2 จาก Airbus และการทำ Capacity Building

วิศวกรไทยที่ประเทศอังกฤษ ที่เดินทางไปศึกษาการทำดาวเทียม THEOS-2 SmallSat ที่มา – GISTDA

งานศึกษา ASEAN Multination Collaboration Project: Crafting Indigenous Space Programme in Malaysia พูดถึงเรื่องการสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ภายใต้ความร่วมมือของชาติอาเซียน (ดาวเทียม UiTMSAT-1 ของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ BIRDS-2 ที่ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในการสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก โดยอีกสองประเทศคือ ภูฏาน, และฟิลิปิน) ซึ่งหนึ่งในทีมก็คือ ดร.พงศธร สายสุจริต จาก INSTED ซึ่ง ในระหว่างการพัฒนา UiTMSAT-1 นั้น KMUTNB ก็ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์จากการทำ KnackSat (2017) ดาวเทียมที่คนไทยผลิตขึ้นเองดวงแรก

ดร.พงศธร นั้นอยู่ในทีมพัฒนาโครงการ Thai Space Consortium และอยู่เบื้องหลังโครงการ BCC-Sat ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนด้วย

และอีกหนึ่งงานก็คืองาน Review and Recommendations on Regional Collaboration Development to Build the ASEAN Space Economy ซึ่งเป็นการศึกษาพูดถึงการพัฒนา Space Economy ในประเทศแถบภูมิภาคอาเซียน โดยผู้ร่วมเขียน Paper ก็ได้แก่ น้องบุ๊ค ชวัลวัฒน์ มาตรคำจันทร์ จากโครงการ University Space Engineering Consortium ซึ่งบุ๊คเป็นหนึ่งในทีม BCC Sat เช่นกัน

ทั้งหมดนี้จะสังเกตเป็น Pattern ที่น่าสนใจของ Trend งานวิจัยด้านอวกาศของไทย ใน IAC ปีนี้ ซึ่งมองหลัก ๆ ได้ออกเป็น 2-3 หัวข้อ ได้แก่ การพัฒนาและสร้างความร่วมมือ ผ่านการทำโครงการอวกาศ เช่น สร้างดาวเทียม และการศึกษาความเป็นไปได้ของ Space Economy ในระดับภูมิภาค (ถ้านึกภาพไม่ออก ลองดูความสัมพันธ์ระหว่าง ESA กับบริษัทต่าง ๆ ในยุโรป) แต่ของ ASEAN เรา ยังไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่ (ซึ่งก็น่าจะมาจากความเหลื่อมล้ำ – แต่ก็อย่าลืมว่างานพวกโครงการอวกาศนี่แหละที่จะเข้ามาช่วยได้) ในขณะที่ GISTDA พูดเน้นไปที่ THEOS-2 SmallSat และ Space Zab ก็ทำเรื่อง ISRU และ Deep Space Exploration (ล้อไปกับโครงการ Artemis และ Lunar Gateway และ Trend การสำรวจดวงจันทร์โลก) ซึ่งน่าสนใจว่าต่างคณะ ก็ต่างนิยาม “อวกาศ” ในมุมที่ต่างออกไป

งาน IAC ปีหน้านั้นมีกำหนดจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งก็เป็นที่ตั้งสำคัญของ IAF ด้วย สำหรับใครที่จะส่งผลงานไป IAF ปีหน้าก็อาจจะต้องรีบ ๆ ปั่นกันแล้วช่วงนี้

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.