เดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์กับไอเดียและไอซี กับบทสนทนาของเด็กบ้าอวกาศ

เป็นเรื่องปกติที่คนที่ชอบอะไรเหมือน ๆ กันจะมาเจอกัน ทีมงาน SPACETH.CO ได้พบเพื่อนใหม่สองคนนี้ในงาน TSEF ที่จัดขึ้นโดย GISTDA เมื่อช่วงต้นปี 2018 ที่ผ่านมา อาจารย์นำชัย ได้แนะนำให้เรารู้จักกับไอเดียและไอซี สองพี่น้องที่ชื่นชอบด้านอวกาศ เธอสองคนมีผลงานในการส่งแนวคิดการทดลองขึ้นไปผ่านหน่วยงานอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว 2 สองครั้ง

เราพูดคุยกันรู้เรื่องในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยความชอบในด้านอวกาศและวิธีการคิดที่สร้างสรรค์ บทสนทนาจริงจังของเรา เริ่มต้นเมื่อวันหนึ่ง เรานัดไอเดียและไอซีมาเที่ยวในสถานที่สุดเนิร์ดอย่าง National Science Museum ที่คลอง 5 หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักกันในชื่อของตึกลูกเต๋า

เราใช้เวลาครึ่งเช้าในการเดินเยี่ยมชมบริเวณต่าง ๆ เชื่อว่าสภาพแวดล้อมนี้จะช่วยกระตุ้นให้บทสนทนาของเรามีรสชาติยิ่งขึ้น  National Science Museum นับว่าเป็น Museum วิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีของเล่นให้เล่นเยอะพอสมควร

วันนั้นบทสนทนาของเราประกอบด้วย ไอเดีย ไอซี สองคนที่เรามาคุยกันในวันนี้ และเติ้ล กับอิงค์ ทีมบรรณาธิการเว็บไซต์ ที่อายุอยู่ในวัยเดียวกัน (เป็นบทสนทนาของเยาชนโดยแท้จริง ทุกคนอายุไม่เกิน 20 ปี) น้องสาวคนเล็กไอซี หรือวริศา ใจดี ศึกษาอยู่ชั้น ม.5 โรงเรียนสาธิต มศว. ปทุมวัน ส่วนพี่สาวของเธอ ไอเดีย ศวัสมน ใจดี ตอนนี้เรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เปิดประเด็น ทำไมถึงชอบหรือสนใจเรื่องอวกาศ

ไอซี : ตอนเด็กเด็กชอบไปพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์บ่อย ๆ ก็คือไปกับพี่ คุณพ่อคุณแม่พาไปบ้าง โรงเรียนพาไปบ้าง แล้วส่วนที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์เนี่ยจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่น่าค้นหาแล้วมันก็สวยมาก ๆ ส่วนมากจะมีคลิปวิดีโอให้ดูมีแบบจำลองยานอวกาศเราก็เลยดับสนใจเรื่องนี้ขึ้นมามันมีน้อยอยู่นะแต่ว่ามันก็น่าค้นหามาก ๆ ก็เลยเริ่มศึกษา แล้วพี่ (ไอเดีย) โตกว่า เรียนเรื่องดาราศาสตร์ก่อนโดยที่หนูยังไม่ได้เรียน พี่ก็จะกลับมาเม้าให้ฟัง

ไอเดีย : ตอนเด็กเด็กแม่เคยซื้อหนังสือดาราศาสตร์ให้ พอเราอ่านเราก็ชอบมากมันจะมีเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ หลุมดำ อะไรพรุ่ง นี้แต่ไม่ได้เป็นฟิสิกส์นะ จะเป็นหนังสือเด็ก ๆ ตอนนั้นซัก ป.2 – ป.3 เราสนใจแต่ว่าที่โรงเรียนยังไม่มีสอนดาราศาสตร์ พอขึ้น ป.4 เพิ่งมีเรียนก็เลยเริ่มชอบมาตั้งแต่ตอนนั้น ก็ดูหนังดาราศาสตร์มาได้เรื่อย ๆ สนุกดี

ทำไมอยู่ดี ๆ ถึงได้มาทำโครงงานอวกาศ สึ่งขึ้นไป ISS ได้

ไอเดีย : ตอนแรกประมาณช่วง ม.2 ทำโครงงานของ JAXA เหมือนกัน เป็นของห้องทดลอง Kibo ของสถานีอวกาศนานาชาติ ตอนนั้นจะเป็นการปลูกถั่วบนพื้นโลก ควบคู่ไปกับกับอวกาศ ซึ่งเราต้องควบคุมเรื่องอุณหภูมิเรื่องความเย็นก็คือเอาไว้ในห้องแอร์ที่โรงเรียนนั่นแหละ แล้วก็เอาไว้นานมาก จนกว่ามันจะโต แล้วก็เทียบบนโลกกลับบนสถานีอวกาศ ทุกอย่างเหมือนกันหมดโดยที่มีแรงโน้มถ่วง เสร็จแล้วพอมีโครงการ JAXA มันก็เลยต่อกันมาเรื่อย ๆ เขาก็ส่งจดหมายมา แต่คราวนี้ความคิดเราจะได้ไปอวกาศ

เติ้ล : ก็คือโครงการแรกยังไม่ได้ไปอวกาศจริง ๆ ?

ไอเดีย : ใช่ ๆ ทดลองบนโลกเฉย ๆ

ไอซี : ตอนนั้นยังไม่ได้ไป แค่เราทดลองบนโลกให้เขาเฉย ๆ เห็นพี่เดียปลูกถั่วอยู่ แล้วต่อมาหลังจากที่พี่เดียเขาเข้าไปทางนั้นแล้ว ก็เริ่มมีข่าวส่งมาเรื่อย ๆ ได้รู้จักโครงการ Asian Try Zero-G ของ JAXA แล้วตอนนั้นก็ได้รับเลือกด้วย คือเรื่อง ..

ไอเดีย : Zero-G Painting! นอนหงายระบายสีน้ำ คือเราสองคนชอบวาดสีน้ำเป็นงานอดิเรก เราก็เลยคิดขึ้นมาว่าถ้าเราระบายสีน้ำบนอวกาศมันจะเกิดอะไรขึ้น คือน้ำมันเป็นของเหลวแล้วถ้าอยู่บนสภาวะไร้น้ำหนักมันก็จะลอยไปลอยมา ตามคลิปที่นักบินอวกาศสาธิตกินนู่นกินนี่ เราก็เลยสังเกตว่าถ้าเราลองทำดูจะเป็นยังไง

ไอซี : ส่วนปีนี้จะเป็นสลิงกี้ ที่เป็นของเล่นเด็ก ใส่ลูกบอลเข้าไป ใส่ลูกบอลเข้าไปแล้วก็ยืด ๆ ถ้าบนโลกของมันก็จะร่วงแต่บนอวกาศอ่ะอยากรู้มันจะไปทิศทางไหน มันจะลอยขึ้นหรือว่าลอยลง จะออกมาข้างนอกไหม

ไอเดีย : พอเราส่งไปปีนี้เราก็ได้ไปญี่ปุ่น เพื่อไปดูผลการทดลองแบบ Live สด ไปคุยกับนักบินอวกาศด้วย

ไปญี่ปุ่นตอนนั้นทำอะไรบ้าง สนุกไหม

ไอเดีย : เยอะเยะเลย ได้ไปลอง EVA Training เป็นการฝึกนักบินอวกาศ หลักสูตรจริง ๆ คือฝึก 8 ชั่วโมง

ไอซี : ฝึกจริงเขาฝึกยาวเลย แต่เขาให้เราไปทดลองเล่นกัน

ไอเดีย : คือมันจะเป็นสถานที่เป็น Tank น้ำใหญ่ ๆ ให้นักบินอวกาศเข้าไปทดสอบจะได้ชินกับสภาพไร้นำหนักเวลาไปอยู่นอกโลก แต่ก่อนหน้านั้นมันเกิดแผ่นดินไหว แล้วส่วน Tank น้ำ มันพังไป ก็เลยได้เดินลงไปข้างล่างเฉย ๆ แค่นั้น ซึ่งคนที่ยกมือทันแล้วได้ลองเป็นนักบินอวกาศก็คือ ไอซี แต่ไอเดียจะคอยจดเวลาอยู่บนฐาน

ไอซี : คือเขาจะให้แบ่งเป็นตำแหน่ง ๆ ต่าง ๆ เหมือนทำงานจริง ๆ แล้วก็ได้ Co กับเด็กประเทศอื่น ได้ลองใส่ชุด Flight Suit ชุดแบบนักบินสีส้ม ๆ ลงไปทำภารกิจก็คือซ่อมยาน แล้วก็ใช้ Walkie-Talkie คุยกัน ระหว่างฐานควบคุมกับสถานที่ที่เราไปปฏิบัติงาน พอทำเสร็จเขาก็ให้ไปเข้าห้องประชุม พูดเกี่ยวกับการทดลองของแต่ละประเทศ

เติ้ล : สนุกแค่ไหน

ไอเดีย ไอซี ตอบพร้อมกัน : สนุกมาก ได้เพื่อนเยอะด้วย ชอบชุด ได้ใส่ชุดนักบินอวกาศ เท่มาก

เด็กวิทย์ ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นเด็กเรียน ลองหากิจกรรมในแบบวิทย์ทำ

เติ้ล : เท่าที่ฟังมาเหมือนกับว่า โอเคเราเป็นเด็กวิทย์กันแหละ แต่จะไม่เหมือนคนอื่น ๆ ภาพของเด็กวิทย์ที่หลายคนมองคือเด็กเรียน สอบอย่างเดียว ติวอย่างเดียวไม่ทำกิจกรรม แต่เราหากิจกรรมให้ตัวเองทำ แล้วได้ไปเรียนรู้จริง ๆ ซึ่งน้อยคนนะที่จะได้สัมผัส อันนี้อยากรู้ว่าทำยังไง ถึงได้ใกล้ชิดกับสิ่งที่เราชอบขนาดนี้ มีเทคนิคอะไรไหม

ไอเดีย : เดียชอบวาดรูป ขอบเขียนหนังสือ ชอบภาษาอังกฤษด้วย แต่ว่าเรียนสายวิทย์ เทคนิคไม่มีไรมาก ก็แค่ทำที่ตัวเองชอบนั่นแหละ ทำไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ เช่น การเรียนในห้องไม่ให้คะแนนมันน่าเกลียดเกินไป (หัวเราะ) ถ้ารับผิดชอบได้แล้วเราก็สามารถทำกิจกรรมที่เราอยากทำได้ โดยไม่ต้องกังวลอะไรมาก

ไอซี : ของซีชอบคล้าย ๆ ของพี่เดีย ก็คือชวน ๆ ไปทำกิจกรรมด้วยกันนี่แหละ แต่ว่าซีคิดว่าที่สำคัญคือการแบ่งเวลา เรียนอย่างเดียวก็ไม่ดี เล่นมากไปก็ไม่ดี ควรแบ่งให้มันพอดีกัน เราก็จะเรียนไปด้วยมีความสุขไปด้วย

เติ้ล : แล้วเรียนในห้องอย่างเดียวพอไหม

ไอเดีย : มันไม่พอ … สำหรับคนที่สนใจในด้านนั้นจริง ๆ แล้วก็ถ้าเราสนใจด้านนั้นจริง ๆ เราจะไม่คิดว่ามันพอหรอก (ไอซี : ใช่ ๆ) อย่างเรียนศิลปะในห้องมันก็ไม่พอ ต้องออกมาวาดข้างนอกต่อ หรือว่าการเรียนวิทย์ในห้อง มันยังดีที่สมัยนี้มีอินเทอร์เน็ตให้เราได้ค้นคว้า อย่างไอเดียชอบชีวะ ไอเดียก็จะดูมด ส่องปลา หอยทาก อะไรพวกนี้ได้ด้วยการเรียนรู้นอกห้อง ซึ่งมันต่างกับในห้อง ในห้องจะเน้นทฤษฏี แต่ในห้องมันก็จำเป็นสำหรับการสอบแน่ ๆ มันก็ต้องใช้เหมือนกัน แต่ประสบการณ์มันก็จะได้จากสิ่งที่เราทำเองหรือเรียนรู้เอง

ไอเดีย : มันสำคัญคนละด้าน เราก็เลยต้องทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป มันสนับสนุนกัน

โตขึ้นอยากเป็นอะไรกัน

ไอซี : จริง ๆ มันก็เปลี่ยนมาเรื่อย แต่ว่าอาชีพหนึ่งที่อยากเป็นคือคุณครู อยากเป็นคุณครูสอนวิทยาศาสตร์ คือชอบทำงานกับเด็ก แล้วเราก็ชอบพูดชอบเล่าให้คนอื่นฟังก็เลยคิดว่าถ้าเป็นคุณครูก็น่าจะเป็นอาชีพที่ได้ทำในสิ่งที่เราชอบ

ไอเดีย : อยากเป็นหมอ! เพราะชอบชีวะด้วยก็เลยอยากเป็นหมอ แต่คิดว่าที่เราชอบดาราศาสตร์ก็เอามารวมกันกลายเป็นหมอได้ เพราะในอนาคตคนจะไปอยู่บนอวกาศมากขึ้น คนบนอวกาศก็ต้องการหมอเหมือนกับคนบนโลก ถ้าได้เป็นมอบนอวกาศก็น่าจะตื่นเต้นดี

ในฐานะคนชอบวิทยาศาสตร์ ถ้าอยากเดินทางไปซักที่อยากไปไหน

ไอซี : เฉพาะบนโลกเหรอ นอกโลกได้ป่ะ (เติ้ลรีบแก้คำถามบอกว่า อ่ะ ๆ นอกโลกก็ได้)

ไอซี : ถ้าเกิดนอกโลกได้อ่ะ ซีอยากไป ISS (สถานีอวกาศนานาชาติ) เพราะมันเหมือนรวมทุกอย่างแล้วที่เกี่ยวกับอวกาศ (ไอเดียรีบหันมาเสริมว่า – ไอซีเขาอยากไปลอยนอกโลก)

ไอซี : คือตอนที่ไปญี่ปุ่นแล้วได้คุยกับนักบินอวกาศ เราเห็นนักบินคนอื่นลอยผ่านประตูไป เราอยากไปลอยแบบนั้นบ้าง

ไอเดีย : อยากไปขั้วโลก (ทุกคนร้องอ๋อ) อยากไปเห็นออรอโรร่า มันสวยมาก น่าจะเกี่ยวกับดาราศาสตร์นะ หนาวแต่อยากไปมาก

อวกาศสำคัญตรงไหน ทำไมต้องมาสนใจด้านอวกาศ

ไอเดีย : มันเป็นสถานที่ที่นึง (หัวเราะ) เพราะว่าอันนี้อาจจะดูหนังมากไป แต่มันเป็นที่ที่มนุษย์สามารถขึ้นไปอยู่ได้ ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับโลกเรา ซึ่งเราก็รู้สึกว่าโลกเรามันค่อนข้างจะ .. มีสิทธิจะโดนทำลายอะไรแบบนี้ได้ง่าย ๆ (ไอซี: แต่ก็อีกหลายปีเลยนะ) ยังไงดีอ่ะ Climate Change แล้วก็ปัญหาทั้งหลาย ถ้ามีอุกกาบาตมาลูกนึง ตู้ม! ตายหมดเลย อะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้นอวกาศก็จะเป็นทางเลือกอีกทางนึงที่ให้เราไปอยู่ได้

ไอซี : ซีก็คิดเหมือนกัน ซีคิดว่าถ้าเราอยู่ที่ไหนเราก็จะสนใจสิ่งรอบบ้าน บ้านข้าง ๆ เราอยู่บนโลก โลกก็อยู่ในอวกาศ (ไอเดียเสริมว่า – ถ้าเราอยู่ในห้องห้องนึงเป็นโลก อวกาศก็เหมือนเป็นคฤหาสน์ทั้งหลัง) ดังนั้นเราก็ควรจะศึกษาเอาไว้ มันมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ มันเลยเป็นห้องข้อที่น่าสนใจ ที่จะลงลึกกับมัน แล้วยิ่งเทคโนโลยีเพิ่มมากแค่ไหนเราก็ยิ่งสงสัยมากขึ้นเท่านั้น … มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์

สุดท้ายแล้วเราจะไปจบกันที่ไหน มองอนาคตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของตัวไว้ว่าไง

ไอเดีย : ถ้ายิ่งใหญ่ที่สุดนะ สำหรับไอเดีย ไม่รู้จะไหวไหม ตอนเด็กอยากเป็นนักบินอวกาศ แต่ตอนนี้เรียนหมอ ดังนั้นเราเอามารวมกัน คืออยากเป็นหมอนักบินอวกาศ (ไอเดียซีรีบแทรก – ไปรักษาเอเลี่ยนเหรอ ?) ไม่ใช่รักษาเอเลี่ยนสิ ขึ้นไปบนอวกาศแล้วก็รักษาคน คือมีการบอกว่าเทคนิคการรักษาบางอย่างมันจะดีกว่าถ้าได้ขึ้นไปทำบนอวกาศ เช่น การผ่าตัดกระดูกสันหลัง, การเคลื่อนย้ายต่าง ๆ ถ้าอยู่ในอวกาศมันจะง่ายกว่า ดังนั้นการเป็นหมอในอวกาศน่าจะเป็นความฝันสูงสุดที่คิดเอาไว้

ไอซี : สำหรับซีคือ อย่างที่บอก เปลี่ยนอาชีพมาเรื่อย ๆ อยากเป็น ช่างภาพ, อยากเป็นเจ้าของฟาร์ม อยากเป็นนักบินอวกาศด้วย อยากเป็นวิทยาศาสตร์ อยากเป็นนักวาดรูป อยากเป็นครู เยอะมาก ๆ ถ้าเกิดรวมกันเลยคือ ตอนนี้ไอซีเขียนบทความให้กับ สาระวิทย์ ของ สวทช. อยู่ แล้วก็เวลาไปเที่ยวที่ไหนได้ความรู้ใหม่ ๆ มา ซีก็จะถ่ายรูปเอาลงมาเขียนถ่ายทอดให้คนอื่นอ่าน ซีก็คิดว่า เป็นคุณครูเสร็จแล้วเราก็เขียนเรื่องราวเล่าออกมา จะเผาเด็กก็ได้ บอกว่าเด็กคนนี้ทำไมคิดแปลก (ฮา) แล้วก็ถ่ายรูปเขียนเป็นหนังสือหรือบทความ ถ่ายทอดความรู้

เติ้ล : SPACETH ยินดีต้อนรับครับ (ทุกคนหัวเราะ)

นับว่าเป็นการพูดคุยที่สนุกมาก ๆ เมื่อคนที่ชอบเรื่องอวกาศได้มาพูดคุยกัน แม้ว่าแต่ละคนจะมีความฝัน มีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป แต่สุดท้ายอะไรบางอย่างก็ทำให้เราได้มาเจอกัน นอกจากแรงโน้มถ่วง หรือแรงทั้ง 4 ที่ทำให้เอกภพก่อกำเนิดขึ้นมา อีกแรงนึงที่ทรงพลังมากที่สุด และช่วยให้เราทุกคนมาถึงจุดจุดนี้ได้ก็คือแรงใจหรือ power of will ของมนุษย์ และทำให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่างจากสัตว์อื่น คือเราสามารถมีองค์ความรู้ร่วมกัน (cognitive) ได้

ความรู้และพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนหนึ่งคน สองคน หรือสามคน แต่เกิดขึ้นมาจากมนุษย์ทุกคนที่ร่วมมือกันในการส่งต่อความรู้และเป้าหมายร่วมในการไขความลับของจักรวาล

เรียบเรียงโดย – ทีมงาน SPACETH.CO 

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.