ช่วงเวลาประมาณ 3 ทุ่มของวันที่ 30 มีนาคม 2018 SpaceX ได้ทำการปล่อยดาวเทียม Iridium จำนวน 10 ดวง ซึ่งทั้ง 10 ดวงเป็นดาวเทียมในโครงการ Iridium NEXT หรือการสร้างโครงข่ายสื่อสารบน Low Earth Orbit เพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่ทำการปล่อยขึ้นไปแล้ว 4 ครั้งตลอดเวลาประมาณ 1 ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา
Iridium NEXT นั้นเป็นการสร้างโครงข่ายสื่อสารอีกครั้งของอดีตผู้ให้บริการโทรศัพท์และสัญญาณดาวเทียม Iridium ที่ต้องการจะสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณดาวเทียมให้กับทั้งลูกค้าทั่วไปและลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม อากาศยาน และเรือเดินสมุทร โดยในครั้งนี้ SpaceX ได้เป็นส่วนสำคัญในการทำให้ Iridium NEXT เกิดขึ้นจริงด้วยสัญญาการปล่อยดาวเทียมให้กับ Iridium ซึ่งนับจนถึงตอนนี้ทำการปล่อยขึ้นไปแล้ว 50 ดวง (ครั้งละ 10 ดวง)
จรวด Falcon 9 พุ่งขึ้นจากฐานปล่อยที่ฐานทัพอากาศเวนเดนเบิร์ก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นฐานปล่อยฝั่งตะวันออกของสหรัฐในชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เหตุผลที่ทำการปล่อยจากที่นี่ก็เพราะว่า Iridium จำเป็นต้องใช้ดาวเทียมแบบ Polar Orbit หรือโคจรตัดผ่านขั้วโลกเหนือและใต้ ซึ่งไม่สามารถปล่อยได้จากแหลมเคอเนเวอรัล
การปล่อยในครั้งนี้ SpaceX ได้ใช้จรวด Falcon 9 ลำที่ผ่านการปล่อยในภารกิจ Iridium 3 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งมันได้ทำการลงจอดบน DroneShip ได้สำเร็จ การนำจรวดกลับมาใช้นี้จึงเป็นการลดต้นทุนอย่างมหาศาล และสำหรับ Iridium นั้น SpaceX ได้นำจรวด Reuse มาให้ใช้แล้วถึง 2 ครั้ง ทำให้ต้นทุนในสัญญานั้นถูกลงไปอีก
ในรอบนี้ จรวด Falcon 9 ไม่มีการเก็บกู้เนื่องจากเป็น Falcon 9 รุ่นเก่าที่ SpaceX ต้องการกำจัดทิ้งเพื่อรอการมาของ Falcon 9 รุ่นใหม่คือ Falcon 9 Block 5 ที่มีการอัพเกรดให้แรงขึ้นและทนทานต่อการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและลงจอดมากขึ้น โดยหวังใช้งานสูงถึง 100 ครั้ง ต่อจรวด 1 ลำ และมีความพร้อมในการขึ้นบิน Flight ถัดไปภายใน 24 ชั่วโมง
แม้จะไม่มีการเก็บกู้จรวด แต่ SpaceX ก็ยังทำการสั่งโปรแกรมบังคับ Falcon 9 ให้พยายามเข้าสู่ชั้นบรรยากาศอยู่ดีเพื่อเก็บข้อมูลมาทำการวิเคราะห์และใช้ในการ Train โปรแกรมที่ใช้เทคนิค Machine Learning ให้โปรแกรมการลงจอดของ Falcon 9 แม่นยำขึ้นในครั้งถัดไป
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับภารกิจนี้คือ SpaceX ประกาศว่าจะทำการทดสอบเก็บกู้ Payload Fairing หรือฝาครอบดาวเทียมที่จะดีดออกหลังจากจรวดออกจากชั้นบรรยากาศไปเรียบร้อยแล้ว ฝานี้ทำจากวัสดุคอมโพไซส์ คาร์บอนไฟเบอร์ และอลูมิเนียม มีราคาสูงถึงข้างละ 7 ล้านบาท หากสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็จะประหยัดไปอีก
SpaceX ได้ทำการออกแบบเรือชื่อ Mr.Steven ที่มีตาข่ายขนาดใหญ่รอรับ Fairing ที่จะตกกลับมาสู่ชั้นบรรยากาศ แต่หลังจากที่ SpaceX ประกาศผ่านทาง Twitter ว่าภารกิจเสร็จสิ้นเรียบร้อยและดาวเทียมทั้ง 10 ดวงได้ถูกดีดออกจากตัวจรวดเพื่อเริ่มต้นการจัดเรียงตามแนวโคจรที่ออกแบบไว้ ตัว Fairing ของจรวดนั้นเกิดความผิดพลาด Elon Musk ได้ออกมาทวีตบอกว่า ร่มชูชีพไม่กางอย่างถูกต้อง เนื่องจากกระแสอากาศทีไหลผ่าน Fairing ดันไปพลิกตัวร่มชูชีพให้กลับด้าน และทำให้ตัว Fairing ตกกระแทกน้ำและเสียหายไป ทำให้การทดสอบเก็บกู้ครั้งนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ Elon Musk บอกว่าในอาทิตย์หน้าจะมีการทดสอบ Droptest จากเครื่องบิน เพื่อศึกษาผลที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาปรับปรุง
สถิติที่น่าสนใจของการปล่อยครั้งนี้
- เที่ยวบินที่ 51 ของ Falcon 9
- การนำจรวด Falcon 9 กลับมาใช้ใหม่ครั้งที่ 10 (ลำนี้ผ่านการใช้งานแล้ว 1 ครั้ง)
- การปล่อยครั้งที่ 9 จาก SLC-4E ณ ฐานทัพอากาศเวนเดนเบิร์ก
- Iridium กลายมาเป็นลูกค้าอันดับ 2 ของ SpaceX รองจาก NASA
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO