สถานีอวกาศนานาชาติ ที่อยู่หนึ่งเดียวในอวกาศ ประวัติศาสตร์บทบาทหน้าที่

400 กิโลเมตรเหนือขึ้นไปจากพื้นดินที่เรายืนอยู่ มีผู้คนอย่างน้อย 3 คนกำลังประจำการอยู่บนห้องปฏิบัติการลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุด และแพงที่สุดเท่าที่เราเคยมีมา นี่คือสถานีอวกาศนานาชาติ ห้องทดลองนอกโลกเพื่อทุกคนบนโลก

สถานีอวกาศนานาชาติในปี 2019 ที่มา – NASA

สถานีอวกาศนานาชาตินั้นเรียกได้อย่างย่อ ๆ ว่า ISS และเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอวกาศยักษ์ใหญ่อย่าง NASA ของสหรัฐ Roscosmos ของรัสเซีย และ ESA ของยุโรปเป็นหลัก รวมทั้งพาร์ทเนอร์อย่าง JAXA ของญี่ปุ่นและ CSA ของแคนาดา โดย ISS ได้ทำการต้อนรับผู้มาเยือนแล้วทั้งสิ้น 232 คนจาก 18 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กันยายน 2018) โดยประเทศที่มีประชากรของตนเองเคยเดินทางขึ้นไปสู่ ISS นั้นมีเช่นมาเลเซีย เกาหลีใต้ บราซิล และแอฟริกาใต้เป็นต้น

การก่อสร้างสถานีอวกาศ

เนื่องจาก ISS นั้นจะมีความยาวถึง 100 เมตร และพื้นที่ใช้สอยพอ ๆ กับพื้นที่โดยสารบนเครื่องบินโบอิ้ง 747 ดังนั้นตัวสถานีจึงไม่สามารถถูกส่งขึ้นไปในการปล่อยจรวดครั้งเดียวได้ นั่นจึงทำให้การก่อสร้าง ISS นั้นต้องแยกสร้างแต่ละโมดูลขึ้นมาบนโลก ยัดใส่จรวด ปล่อยขึ้นสู่วงโคจร และนำไปประกอบร่างกันในอวกาศ

Module Zarya และ Unity เชื่อมต่อกันครั้งแรกในอวกาศ ที่มา – NASA

ชิ้นส่วนแรกของ ISS ที่เดินทางขึ้นสู่อวกาศนั้นคือโมดูล Zarya ที่เป็นของอเมริกา แต่ดันมีชื่อที่รัสเซียมาก ๆ (แปลว่ารุ่งอรุณในภาษารัสเซีย) แถมยังสร้างและปล่อยโดยรัสเซียอีกด้วย ซึ่งมันได้เดินทางสู่อวกาศในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1998 สองอาทิตย์ให้หลังจากการปล่อย กระสวยอวกาศในภารกิจ STS-88 ได้นำโมดูล Unity/Node 1 มาเชื่อมต่อกับ Zarya และภารกิจหลัง ๆ ก็ได้นำพาชิ้นส่วนสำคัญมาประกอบเข้าหากันในอวกาศ ทั้งโครงสร้าง แผงโซล่าร์เซลล์ แขนกล และโมดูลต่าง ๆ โดยสามารถดูคลิปการก่อสร้างแบบเต็มได้ที่วีดีโอข้างล่างนี้

การก่อสร้างหลักนั้นสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี 2011 พร้อมกับการสิ้นสุดของโครงการกระสวยอวกาศไปพร้อม ๆ กัน ในทุกวันนี้ก็ยังมีการต่อเติมและซ่อมแซมตัวสถานีอยู่เป็นระยะ

บริการขนส่ง โลก-ISS-อื่น ๆ

การเดินทางของมนุษย์จากโลกไปยัง ISS สำหรับในปัจจุบันนั้นต้องใช้ยาน Soyuz ของรัสเซียในการเดินทางไปเท่านั้น เพราะกระสวยอวกาศปลดประจำการไปเมื่อปี 2011 

Soyuz นั้นสามารถรองรับลูกเรือได้ 3 คนในการเดินทางไปและกลับจากสถานี โดยใช้เวลาตั้งแต่ 3 ชั่วโมงครึ่ง – 2 วันในการเดินทาง ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและเทคนิคที่สามารถใช้ได้ในตอนนั้น และนอกเหนือจาก Soyuz แล้ว ก็ยังมียานขนส่งเสบียงอีกมากมายที่เดินทางมาเยือน ISS เช่น ATV ของยุโรป H-II ของญี่ปุ่นและ Dragon ของ SpaceX เป็นต้น

ยาน Soyuz และ Progress ที่กำลังเชื่อมกับ ISS – ที่มา NASA

อีกเรื่องก็คือ ISS นั้นเคยถูกวางไว้ให้เป็นเหมือนปั๊มแวะข้างทางสำหรับยานอวกาศที่จะเดินทางไปดวงจันทร์ ดาวเคราะห์น้อย และดาวอังคาร แต่ด้วยปัญหาต่าง ๆ ก็ทำให้โครงการเหล่านั้นถูกพับเก็บไปในที่สุด

ชีวิตใน ISS ที่เดียวนอกโลกที่สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับบนโลกที่สุด

ในตอนแรกนั้นจำนวนลูกเรือบน ISS มีเพียงแค่ 3 คน และลดเหลือ 2 คนในช่วงหลังจากสูญเสียกระสวยอวกาศโคลัมเบีย ก่อนที่สถานีจะได้รับการต่อเติมและรองรับลูกเรือได้ 6 คนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 สถานีอวกาศนานาชาติ กับลูกเรือจากนานาชาติ – ที่มา CSA

ถ้าเทียบ ISS เป็นบ้านแล้ว มันก็จะเป็นบ้านที่มี 6 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ จุดชมวิวโลก มียิมส่วนตัว ห้องแล็บสุดล้ำ แถมยังสามารถออกไปทำงานนอกบ้านเป็นครั้งคราได้อีกด้วย (ก็ยังต้องอยู่ในชุดอวกาศนะ)

นักบินอวกาศกำลังทำ Space Walk เพื่อซ่อมแซมสถานีอวกกาศนานาชาติ ที่มา – NASA

สำหรับตารางชีวิตของลูกเรือบนสถานีนั้นพวกเขาจะตื่นนอนตอนหกโมงเช้า ตามเวลามาตรฐาน GMT+0 (ช้ากว่าไทย 7 ชั่วโมง) ต่อด้วยประชุมกับทีมงานภาคพื้นและเตรียมตัวเข้าทำงาน ซึ่งตารางแต่ละคนในแต่ละวันนั้นจะไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปกับการทดลอง ซ่อมบำรุงสถานี รวมทั้ง 2-3 ชั่วโมงแยกออกมาเพื่อออกกำลังกายโดยเฉพาะ และก็อาจมีออกไปทำ Spacewalk นอกตัวยาน สอนหนังสือ เล่านิทาน อัพทวิต ถ่ายภาพ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรี เล่นกีฬา วิ่งคบเพลิง และอื่น ๆ อีกมากมาย ก่อนจะเข้านอนในเวลาสามทุ่มครึ่งของวัน

สภาพภายในโมดูล Tranquility ของ ISS ที่รกมาก ๆ ที่มา – NASA

ISS นั้นยังเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญที่เราจะเรียนรู้ผลกระทบของอวกาศที่มีต่อร่างกายมนุษย์ ก่อนที่จะเดินทางไปสำรวจวัตถุอื่น ๆ ในระบบสุริยะที่ไกลออกไปจากโลกอย่างดาวอังคารเป็นต้น โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถส่งผลต่อลูกเรือได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจกับมันในตอนนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับก้าวแรกบนดาวอังคารในอนาคตอันใกล้

เรื่องที่เราอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับสถานีอวกาศนานาชาติ

เนื่องจากเรื่องราวของ ISS นั้นมีอยู่อย่างมากมาย เราจึงได้คัดบางเรื่องที่น่าสนใจแต่ยังไม่ได้ถูกเล่ามาให้ได้รับรู้กัน ได้แก่

  • ISS เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 7.5 กิโลเมตรต่อวินาที และลูกเรือจะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตก 16 ครั้งต่อวัน
  • ใช้งบไปทั้งสิ้น 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็นโครงการที่แพงที่สุดที่มนุษย์เคยสร้างมา
  • ฉี่ของนักบินอวกาศจะถูกนำกลับมากรองและกลับมาใช้ในสถานีอวกาศใหม่อีกครั้ง
  • คอมพิวเตอร์บนนั้นเคยโดนไวรัสมาแล้ว แต่มันเป็นไวรัสที่คอยขโมยรหัสเกม จึงไม่ใช่ปัญหาอะไรมากมาย
  • มีลูกเรืออาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2000 แล้ว (ก่อนผู้เขียนเกิดอีก)
  • ที่ไม่มีจีนร่วมด้วยเพราะสหรัฐแบนจีนอยู่ จนจีนไปทำสถานีอวกาศของตัวเอง
  • สว่างเป็นอันดับที่ 3 บนท้องฟ้ายามค่ำคืน รองจากดวงจันทร์และดาวศุกร์ (ดูเวลาที่สถานีจะเคลื่อนผ่านได้ที่นี่)

สุดท้ายนี้อนาคตของสถานีอวกาศนานาชาตินั้นก็จะไม่ต่างจากสถานีอวกาศอื่น ๆ นั่นก็คือการจบภารกิจด้วยการตกกลับเข้าสู่โลก โดยคาดการณ์กันว่า ISS จะอยู่ได้ถึงปี 2024 ก่อนจะจบภารกิจ ปิดตำนานบทหนึ่งในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศของเผ่าพันธุ์มนุษย์ และส่งไม้ต่อไปยังบทใหม่ที่กำลังตามมา ทั้งสถานีอวกาศที่โคจรรอบดวงจันทร์ และ แผนการไปดาวอังคารของ SpaceX ซึ่งจะเป็นอะไรที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากในอีกไม่ถึง 10 ปีต่อจากนี้

ตัวอย่างภาพที่เราจะเห็น ISS อยู่บนท้องฟ้าในยามค่ำคืน – ที่มา NASA/Bill Ingalls

อย่างไรก็ตาม ในบางคราที่เราแหงนขึ้นไปมองท้องฟ้ายามตะวันลาลับไป นอกจากจะเห็นดวงดาวส่องสว่างอยู่บนนั้นแล้ว เราก็อาจจะเห็นดาวที่แฝงตัวมาเคลื่อนที่ผ่านบนท้องฟ้า ซึ่งบนนั้นมีมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อเหมือนกับพวกเราทุกคน กำลังทำการทดลองอยู่บนนั้น เพื่อพวกเราทุกคนที่อยู่บนนี้ ดั่งคำที่ว่า Off the Earth, for the Earth…

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138