อะไรจะเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศได้มากกว่าการเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งในปี 2014 ทางรัสเซียได้ถูกเลือให้เป็นเจ้าภาพการจัดโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งนับว่าเป็นการจัดโอลิมปิกครั้งแรกในฐานะสหพันธรัฐรัสเซีย เพราะก่อนหน้านี้สหภาพโซเวียตได้ถูกเลือกให้เป็นเจ้าภาพมาแล้วในโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1980 ซึ่งการจัดครั้งนั้นหลายประเทศได้ทำการคว่ำบาตรสหภาพโซเวียตโดยการไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วยเหตุผลที่สหภาพโซเวียตเป็นชาติคอมมิวนิสต์
แม้ภายหลังรัสเซียจะถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสในการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ต้องยอมรับว่าในครั้งนี้รัสเซียเล่นใหญ่สมกะเป็นรัสเซียจริง ๆ โดยเฉพาะในด้านของอวกาศซึ่งเราจะพูดถึงกันในบทความนี้ แต่ผู้เขียนก็ยืนยันว่าเรื่องราวการจัดโอลิมปิกครั้งนี้น่าสนใจจริง ๆ เพราะออกมาอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้โอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 ที่จีนเป็นเจ้าภาพเลย อาจจะเพราะทั้งสองชาติเป็นชาติที่มีความยิ่งใหญ่เป็นผู้บุกเบิกในหลาย ๆ ด้านแต่โดนภาพลักษณ์ในด้านของเผด็จการกดทับไว้ไม่ให้สามารถแสดงศักยภาพบนเวทีโลกออกมาได้เต็มที่ แม้ว่าช่วงหลัง ๆ นี้จะไม่ได้เป็นเผด็จการแล้วก็ตาม แต่ภาพในอดีตก็ยังคงเป็นที่ติดตาของชาวโลก
เป็นที่ทราบกันดีว่ารัสเซียคืออันดับหนึ่งในด้านอวกาศมาตั้งแต่ในสมัยสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นการส่งดาวเทียมดวงแรก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตัวแรก นักบินอวกาศชายคนแรก และนักบินอวกาศหญิงคนแรก ของโลก ยังไม่รวมถึงตำนานของการบุกเบิกการสำรวจอวกาศในด้านวิทยาการการโคจร กลศาสตร์วงโคจร วิศวกรรมจรวด และการบริหารจัดการที่อาจจะดูโหดสัสรัสเซียไปบ้าง แต่ก็ทำให้รัสเซียกลายเป็นอันดับหนึ่งในด้านอวกาศและยังคงเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้
ในการจัดการแข่งขันครั้งนั้นรัสเซียได้ทำสิ่งที่ไม่เคยมีชาติใดในโลกทำมาก่อนในประวัติศาสตร์ และจะไม่มีชาติใดสามารถทำได้ไปอีกนาน คือการส่งคบเพลิงโอลิมปิกขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ และนำมันออกสู่อวกาศ พร้อมกับนักบินอวกาศรัสเซีย ด้วยจรวดโซยุส จรวดหนึ่งเดียวในโลก ณ ตอนนี้ที่สามารถใช้ในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนาชาติได้ ก่อนที่นักบินอวกาศรัสเซียจะนำคบเพลิงออกไปทำ Space Walk หรือออกไปนอกยานพร้อมชูมันบนจุดที่สูงที่สุดเกินกว่าที่มันเคยอยู่ในประวัติศาสตร์ของการจัดแข่งขันโอลิมปิกโดยชาติใด ๆ
การเดินทางของคบเพลิงสู่อวกาศเริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคมปี 2013 ด้วยการวิ่งคบเพลิงจากมอสโคว เมืองหลวงของรัสเซียไปสู่เมืองโซชิ ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของรัสเซียติดกับทะเลดำ ด้วยจำนวนผู้วิ่งกว่า 14,000 คน
หนึ่งในนั้นคือคุณ วาเลนตินา ติเรียสโควา (ผู้หญิงในภาพ) นักบินอวกาศหญิงคนแรกของโลก ซึ่งเธอในวัย 77 ปี ในขณะนั้น ยังคงมีสุขภาพแข็งแรงและเป็นผู้ที่นักบินอวกาศทั้งหลายต่างต้องเคารพในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกการเดินทางสู่อวกาศ ก็ได้ร่วมทำการวิ่งคบเพลิงครั้งนี้ด้วยในเมืองยาโรสลาฟล์
จากนั้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน ปี 2013 คบเพลิง Sochi 2014 ก็ได้เดินทางสู่อวกาศจริง ๆ ในภารกิจการเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ด้วยยาน Soyuz TMA-11M พร้อมกับนักบินอวกาศ โคอิชิ วากาตะ จากญี่ปุ่น ริชชาร์ด มาสตราสชิโอ จากสหรัฐ และ มิคาอิล ตูอูริน จากสหพันธรัฐรัสเซีย โดยได้มีการโชว์คบเพลิงนี้ในการแถลงข่าวด้วย
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการส่งคบเพลิงโอลิมปิกไปในอวกาศแล้วในปี 2000 ด้วยกระสวยอวกาศ Atlantis ที่ได้นำคบเพลิงของโอลิมปิกปี 2000 ซึ่งถูกจัดที่นคร Sydney ประเทศออสเตรเลีย แต่ในครั้งนั้นคบเพลิงได้ถูกส่งขึ้นในในฐานะสัมภาระธรรมดาทั่วไป ไม่ได้รับการให้ความสำคัญขนาดนี้ แถมคบเพลิงที่ส่งไปเป็นเพียงแบบจำลองเท่านั้น
ในครั้งนี้รัสเซียยังได้เล่นใหญ่เข้าไปอีกด้วยการลงทุนเพ้นท์ลายจรวดโซยุสให้เป็นไปตามธีมของภาพกราฟิกโปรโมตการแข่งขัน ซึ่งนี่นับเป็นครั้งแรกเช่นกันที่มีการเพ้นท์ลายของจรวดเพื่อใช้ในเชิงประชาสัมพันธ์ จากเดิมที่เคยมีแต่การเพ้นท์เครื่องบินเท่านั้น โดยลายที่ออกมานับว่ามีความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ และแสดงให้เห็นถึงศิลปะจากรัสเซียแท้ ๆ เลยทีเดียว
สำหรับความหมายของลายนี้ซึ่งเป็นธีมของการแข่งขันแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของรัสเซียที่มีหลายพื้นที่การปกครอง ซึ่งแทนที่ด้วยสีสันต่าง ๆ และที่สำคัญคือความหมายในเชิงความเท่าเทียมทางเพศของ LGBT เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าในรัสเซียนั้นมีการเหยียดและดูถูกต่อเพศ LGBT อย่างมาก ไปจนถึงขั้นด่าทอและทำร้ายร่างกาย ทำให้ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ออกแคมเปญสนับสนุน และเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศด้วย ซึ่งในช่วงพิธีเปิดและการแข่งขัน Google ก็ได้เปลี่ยนภาพบนหน้าเว็บ search ให้เป็นสีรุ้งของ LGBT เช่นกัน
ยาน Soyuz พุ่งขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน และเดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน หลังจากที่ทั้งลูกเรือและคบเพลิงเดินทางถึงสถานีเรียบร้อยแล้ว ประตูของโมดูล Pirs ก็ถูกเปิดออก เพื่อให้นักบินอวกาศชาวรัสเซีย 2 คนคือ Oleg Kotov และ Sergey Ryazanskiy ได้นำเอาคบเพลิง Olympic Sochi 2014 นี้ออกไปนอกสถานี
พวกเขาได้ชูคบเพลิงบนสถานีอวกาศที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 7.6 กิโลเมตรต่อวินาที ผ่านทางตอนเหนือและตอนกลางของแผ่นดินรัสเซีย ในขณะที่นักบินอวกาศคนอื่น ๆ คอยถ่ายภาพพวกเขาจากโมดูล Cupola ในสถานีอวกาศ
หลังจากเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้คบเพลิงได้ถูกนำกลับเข้ามาในสถานีและบรรจุลงในยาน Soyuz TMA-09M ซึ่งจะเดินทางกลับโลกพร้อมกับสมาชิกในภารกิจ Expendition 37 คือนักบินอวกาศ Fyodor Yurchikhin จากรัสเซีย Karen Nyberg จาก NASA และ Luca Parmitano จาก ESA ทำให้ยาน Soyuz TMA-09M เป็นยานอวกาศลำที่สามในประวัติศาสตร์ ที่ได้นำคบเพลิงโอลิมปิกขึ้นสู่อวกาศ จากลำแรกคือกระสวยอวกาศ ลำที่ 2 คือ Soyuz TMA-11M และลำที่สามนี้ก็คือ TMA-09M
TMA-09M ได้ปลดตัวเองออกจากโมดูล nadir ในวันที่ 10 พฤศจิกายน และเดินทางกลับสู่โลกพร้อมกับคบเพลิง เสร็จสิ้นการเดินทางนาน 3 วัน จากแผ่นดินแม่สู่อวกาศ และจากอวกาศกลับลงสู่แผ่นดินแม่
อ้างอิง
www.nasa.gov/content/olympic-torch-highlights-station-spacewalk