การลาออกของจิม บริเดนสไตน์ ผู้อำนวยการ NASA เล่าอะไรถึงการเมืองสหรัฐอเมริกาและอนาคตของการสำรวจอวกาศ

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จิม บริเดนสไตน์ ผู้อำนวยการคนที่ 13 และคนล่าสุดของนาซ่า ได้แถลงว่าจะลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการของหน่วยงานเมื่อโจ ไบเดนขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 20 มกราคม 2021 โดยสตีฟ เยิร์คชิค รองผู้อำนวยการของนาซ่าจะดำรงดำแหน่งรักษาการณ์แทนจนกว่าจะได้ผู้อำนวยการคนใหม่

บริเดนสไตน์ได้สะท้อนเรื่องราวที่น่าสนใจไว้หลายเรื่องตั้งแต่การเข้ามามีบทบาทในหน่วยงานเมื่อเกือบสามปีที่แล้ว การดำเนินโครงการตามแนวทางที่ดูแปลกใหม่ในระหว่างการอยู่นาซ่า ไปจนถึงการลาออกของบริเดนสไตน์ในตอนนี้ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่เห็นชัดของการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าภายหลังการลงจากตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์

จุดเริ่มต้นของบริเดนสไตน์ในการเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการของนาซ่าเกิดขึ้นด้วยแรงขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างเข้มข้น ในช่วงรอยต่อก่อนการสิ้นสุดของตำแหน่งสมาชิกผู้แทนราษฎรเขตหนึ่งของรัฐโอกลาโฮมาวาระปี 2016 ในปี 2018 หลังจากที่เขาดำรงตำแหน่งมา 3 วาระติดต่อกัน นับเป็นเวลา 6 ปีตั้งแต่ในปี 2012 ด้วยความที่เขาได้แสดงออกท่าทีเกี่ยวกับเรื่องอวกาศมาตั้งแต่สมัยทำงานเป็นสส. (ขนาดถึงเคยได้รับการสนับสนุนจาก Northrop Grumman ในการลงเลือกตั้ง) เขาได้ถูกคาดการณ์ตำแหน่งที่จะถูกแต่งตั้งภายใต้รัฐบาลของทรัมป์ (ที่ได้รับการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2016) ไว้สองกรณีคือ 1. เป็นผู้อำนวยการของนาซ่าหรือ 2. เป็นเลขาธิการกองทัพอากาศ

สส. จิม บริเดนสไตน์ในวันประกาศเสนอชื่อผู้อำนวยการนาซ่าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2017 – ที่มา NASA/Joel Kowsky

โดนัลด์ ทรัมป์ได้เสนอชื่อของบริเดนสไตน์เป็นผู้อำนวยการของนาซ่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2017 ซึ่งก็ได้สร้างข้อวิพากษ์อย่างกว้างขวางในทันที ในแง่ของการเลือกนักการเมืองจ๋า ๆ ที่มีประสบการณ์ด้านอวกาศเชิงลึกไม่มาก มากกว่าการเลือกคนที่มาจากสายวิทยาศาสตร์โดยตรง ประกอบกับการที่เขาได้ไม่เชื่อเรื่อง Climate Change และวิพากษ์นาซ่าการใช้เงินไปกับวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศไปมาก ซึ่งก็ดูเหมาะเจาะกับทรัมป์ที่เป็นคนไม่เชื่อเรื่อง Climate Change เช่นกัน (อย่างไรก็ตามบริเดนสไตน์ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังจากได้รับตำแหน่งว่าแนวคิดของเขาเรื่องการวิจัยวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศได้เปลี่ยนไปหลังจากที่ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญหลายต่อหลายคนและอ่านหนังสือจำนวนมาก เขาจะไม่ปฏิเสธฉันทามติและเชื่ออย่างสุดซึ้งในเรื่อง Climate Change)

พายุกำลังเข้าสหรัฐ และทรัมป์เสนอชื่อคนไม่เชื่อโลกร้อนเป็น ผ.อ. นาซ่า
เชื่อแล้ว! ผู้บริหารนาซ่าบอกเองว่ามนุษย์ทำให้โลกร้อน

จนกระทั่งวันที่ 19 เมษายน 2018 บริเดนสไตน์ได้รับเลือกขึ้นเป็นผู้อำนวยการคนที่ 13 ของนาซ่าจากการโหวตของวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียง 50 ต่อ 49 เห็นด้วยต่อไม่เห็นด้วย และได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งที่สำนักงานใหญ่ของนาซ่าในวอชิงตัน ดีซีต่อไมค์ เพนส์ รองประธานาธิบดี ใน 4 วันให้หลัง (23 เมษายน) ทำให้เขาเป็นอดีตสมาชิกสภาคองเกรสคนแรกที่รับตำแหน่งนี้ นอกเหนือจากความการเมืองจ๋ากับประเด็นเรื่อง Climate Change ของเขาแล้ว การเข้ารับตำแหน่งของบริเดนสไตน์ยังได้รับความสนใจจากฝ่ายต่าง ๆ ในแง่ของท่าทีที่อาจเปลี่ยนไปของนาซ่าวงการสำรวจอวกาศโดยรวม

การสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของบริเดนสไตน์ที่สำนักงานใหญ่ของนาซ่าในวอชิงตัน ดีซี – ที่มา NASA/Bill Ingalls

บริเดนสไตน์ได้แสดงตัวสนับสนุนการพัฒนาของวงการอวกาศจากฝั่งของบริษัทเอกชนมาตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งท่าทีของเขาเมื่อได้รับตำแหน่งก็ไม่ต่างจากที่เคยแสดงออกมาก่อนหน้านี้เท่าไหร่ ในช่วงเกือบ 3 ปีที่เขาดำรงตำแหน่ง จะเห็นได้ว่า โครงการที่เกี่ยวข้องกับเอกชน (ซึ่งถึงแม้บางอันจะเกิดขึ้นในรัฐบาลก่อน ๆ ) ได้เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก เช่น Commercial Resupply Services (CRS) หรือบริการขนของขึ้น ISS Commercial Crew Program (CCP) ที่ทำให้ได้มีเดินทางขึ้นสู่อวกาศอีกครั้งในรอบเกือบทศวรรษนับจากการสิ้นสุดของโครงการ Space Shuttle ในปี 2011 หรือ Commercial Lunar Payload Services (CLPS) ที่จะว่าจ้างเอกชนในการส่งของไปดวงจันทร์ในอนาคต

นอกจากนี้ จากท่าทีของทรัมป์ที่พยายามจะรีบดันให้อเมริกากลับไปดวงจันทร์ได้อีกครั้ง ทำให้บริเดนสไตน์ต้องดันให้นาซ่ากลับมาเรื่องนี้ให้ได้อย่างรวดเร็ว โครงการ Artemis ที่จะพาผู้หญิงคนแรกและชายคนต่อไปกลับไปดวงจันทร์และโครงการสร้าง Space Launch System (SLS) ที่จะเป็นจรวดทรงพลังขนาดมหึมารุ่นใหม่ที่จะถูกใช้พามนุษย์ไปที่นั่นได้ถูกประกาศในปี 2019 และดำเนินต่อจนถึงปัจจุบัน

(เรียงจากซ้ายไปขวา) จิม บริเดนสไตน์ – โดนัลด์ ทรัมป์ – ไมค์ เพนซ์และแคเรน เพนซ์ ในวันปล่อยยาน Crew Demo-2 – ที่มา NASA/Bill Ingalls

จนกระทั่งในวันหลังการประกาศผลการชนะการเลือกตั้งของไบเดนในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2020 ในวันที่ 8 พฤศจิกายนบริเดนสไตน์ได้ประกาศแผนที่จะลาออกจากตำแหน่งในวันสิ้นสุดวาระของโดนัลด์ ทรัมป์

“คำถามที่แท้จริงคือ อะไรคือเรื่องที่ดีที่สุดสำหรับนาซ่าในฐานะหน่วยงานอวกาศ และอะไรคือเรื่องที่สำคัญที่ดีที่สุดสำหรับโครงการสำรวจอวกาศของอเมริกา”

บริเดนสไตน์ให้สัมภาษณ์ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020

จิม บริเดนสไตน์ได้เปิดเผยแนวคิดว่าเขาเชื่อว่านาซ่าจะเดินหน้าไปได้ดีกว่าถ้าผู้ที่เป็นผู้อำนวยการของหน่วยงานเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตัวประธานาธิบดี (ไบเดน) ได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานรอบข้างรวมถึงสำนักงบประมาณและการจัดการ สภาอวกาศแห่งชาติ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเขาเชื่อว่าเขาไม่ใช่คนที่เข้ากับคุณสมบัตินี้ในรัฐบาลชุดใหม่

จากการวิเคราะห์ของรอยเตอร์ นโยบายด้านอวกาศของไบเดนจะมีความแตกต่างจากของทรัมป์อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนท่าทีของนาซ่าอย่างแน่นอน อาจเรียกได้ว่า ท่าทีของไบเดน (อาจกล่าวว่ารวมถึงประธานาธิบดีจากเดโมแครตในช่วงหลัง ๆ ) จะมีความ “ดุดัน” ในด้านอวกาศที่น้อยกว่าทรัมป์ (และรีพับลิกัน)

ทรัมป์เซ็น Space Policy Directive 1 ในเดือนธันวาคม ปี 2017 เขียนถึงแนวทางการเดินทางกลับไปดวงจันทร์ของมนุษย์และการสำรวจดาวอังคาร ซึ่งเป็นหมุดสำคัญหมุดแรกในการกระตุ้นการสำรวจอวกาศในยุคของทรัมป์ – ที่มา NASA/Aubrey Gemignani

จะเห็นได้ว่าในทรัมป์ได้ใช้โครงการอวกาศเป็นกลยุทธทางการเมืองในการสร้างความ patriotic มาตลอด ซึ่งนับว่าคล้ายกับ Agenda ของ Moon Race ในยุคสงครามเย็นอย่างมาก (อ่านเพิ่มเติม: ทำไมการเมืองถึงพามนุษย์ไปดวงจันทร์​: We came in peace for all mankind?) การตั้งเป้าหมายการไปอวกาศภายในปี 2024 ซึ่งนับว่าจะอยู่ในวาระ 8 ปี (หากเขาได้รับเลือกตั้งในสมัยที่ 2) เรียกได้ว่าจะเพิ่มคะแนนความนิยมจากกลุ่ม patriot ได้อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งนับเป็นผลดีกับรีพับลิกันในระยะยาว

ในขณะที่ท่าทีของไบเดน (และเดโมแครตยุคหลัง) จะใช้ประโยชน์จากการสำรวจอวกาศน้อยกว่า โดยรอยเตอร์ได้สังเกตว่าเขาและพรรคมีแนวโน้มที่จะหน่วงเดดไลน์เวลาของโครงการ Artemis ออกไปอีกสักพักหนึ่ง (ซึ่งจริง ๆ สังเกตได้ตั้งแต่เมื่อก่อนหน้านี้จากท่าทีของฝั่งสภาที่อนุมัติงบเพียงประมาณ 1 ใน 4 จากที่นาซ่าขอไว้สำหรับ Human Landing System (HLS) ที่จะใช้ในการลงจอดมนุษย์ในบนดวงจันทร์ในปีฟิสคัลนี้)

จิม บริเดนสไตน์ในการพูดคุยถึงการของบประจำปีฟิสคัล 2021 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่ Stennis Space Center – NASA/Joel Kowsky

การหน่วงเดดไลน์ครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบทางตรงกับนาซ่า ยังจะส่งผลกระทบกับหน่วยงานเอกชนด้านอวกาศอย่างแน่นอน เป็นไปได้ที่บริษัทอวกาศใหม่ ๆ จะสามารถตามทันและมีส่วนร่วมใน Artemis ได้มากยิ่งขึ้น ไปจนถึงอาจทำให้บริษัทเอกชนอาจก้าวนำหน้านาซ่าในการไปสำรวจดวงจันทร์ครั้งใหม่ นอกจากนี้แล้วแนวทางการบริหารหน่วยงานและหน่วยวิจัยด้านอื่น ๆ ของนาซ่าในยุคต่อไปก็เป็นเรื่องที่ควรนำมาพูดถึง จากที่ในบางครั้งบางคราวก็ถูกลดทอนความสำคัญลงหรือถูกปล่อยเบลอในยุคของบริเดนสไตน์จากการโฟกัสเรื่องสำรวจอวกาศอย่างหนักหน่วย

ก็เป็นที่น่าสนใจว่าท่าทีของนาซ่าในยุคของ Space Democratization ที่นับวันยิ่งชัดเจนและเป็นรูปร่างมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการคนใหม่ที่ไบเดนเลือกอีกด้วย ถึงแม้แผนงานด้านอวกาศของไบเดนยังไม่ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการมากนัก แต่ท่าทีของเขาที่จะลดความดุดันของการสำรวจอวกาศก็ชัดเจนพอสมควร

และท่าทีของบริเดนสไตน์ก็ชัดเจนว่าจะลาออกอย่างแน่นอน

จิม บริเดนสไตน์และอีลอน มัสก์ในการทดสอบจรวด Falcon 9 สำหรับใช้ในโครงการ Commercial Crew Program ในเดือนมกราคมปี 2020 ณ Kennedy Space Center – ที่มา NASA/Kim Shiflett

จากงานเขียนของ Ars Technica ผู้เขียนได้วิเคราะห์แยกมาในสองกรณีคือทั้งการชนะของทรัมป์และไบเดน การลาออกของบริเดนสไตน์ในกรณีไบเดนชนะเป็นที่ประจักษ์แล้วตามในปัจจุบัน ผู้เขียนได้ให้ความเห็นว่าอย่างไรก็ตาม ถึงบริเดนสไตน์จะไม่ลาออก ทางฝั่งของไบเดนก็อาจแต่งตั้งผู้อำนวยการคนใหม่อยู่ดี จากที่แนวคิดด้านการพัฒนาการสำรวจอวกาศของทั้งสองฝั่งไม่ได้ลงรอยกันขนาดนั้น

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ได้มีการตั้งแง่มุมว่าถึงแม้ทรัมป์จะชนะในสมัยที่สอง บริเดนสไตน์ก็อาจลาออกเช่นเดิมเพราะเขาก็ไม่ได้ทำตัวเป็นลูกมือที่ดีของทรัมป์ขนาดนั้น เช่รจากวิธีที่เขาได้ดันโครงการเอกชนซึ่งก็ได้ให้เครดิตรัฐบาลก่อนหน้า (โอบามา – ฝั่งเดโมแครต) ไประดับหนึ่งต่างจากที่ฝั่งทรัมป์ต้องการให้แสดงความล้มเหลวของยุคก่อนหน้า หรือข้อคิดเห็นที่ว่าเขาน่าจะต้องการเวลาอยู่กับครอบครัวที่โอกลาโฮมามากกว่าการทำงานที่ห่างไกลจากบ้านของตัวเองอย่างที่นาซ่า

ท้ายที่สุดแล้วถึงแม้การเข้ามาของบริเดนสไตน์จะเริ่มต้นด้วยความไม่เห็นด้วยอย่างล้นหลาม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ถึงแม้จะมีปัญหาหรือข้อวิพากษ์ในหลายเรื่องทั้งในด้านการบริหารจัดการองค์การหรือในเรื่องมายเซ็ตส่วนตัว (บ้าง) ก็ต้องเป็นที่ยอมรับว่าบริเดนสไตน์สามารถรับมือกับการเข้ามาของยุค Space Democratization รวมถึงสามารถต่อยอดและหาผลประโยชน์จากมันได้เป็นอย่างดี เขาได้ทำให้นาซ่าและอวกาศเริ่มกลับเข้ามาอยู่ในความสนใจของประชาชนและมีบทบาทที่มีชีวิตชีวามากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้บริเดนสไตน์เป็นผู้อำนวยการคนแรกที่เกิดไม่ทันการไปดวงจันทร์ครั้งสุดท้ายของมนุษย์ใน Apollo 17 ในปี 1972 แต่เขาก็จะเป็นผู้อำนวยการที่สร้างรากฐานในการสำรวจดวงดาวครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษย์ในยุคถัดไป

“ผู้คนอันมหัศจรรย์ทั้งหลายที่นาซ่า พวกคุณจะไม่สามารถถูกทดแทนได้ พวกคุณคือที่สุด ผมปลื้มปิติมากกับประสบการณ์ที่ดี เวลาที่ยากลำบาก และความสำเร็จทั้งหลายที่เราผ่านมันมาด้วยกัน และผมคงขอกล่าวคำอำลา

ผมรับรองว่าเมื่อใดที่ทีมงานใหม่เข้ามา ผมจะขอสนับสนุนพวกเขาอย่างเต็มที่ เพราะพวกเขาต้องการมันและพวกเขาสมควรได้รับมัน สิ่งที่เรากำลังทำไม่ได้แค่ต้องเดินทางผ่านหน่วยงานมากมาย แต่ต้องเดินทางผ่านคนจากหลายยุคหลายสมัย เพราะฉะนั้นอีกครั้งหนึ่งพวกเขาจะได้รับการสนับสนุนจากผม และผมก็หวังว่าพวกเขาจะได้แรงสนับสนุนจากคุณเช่นกัน

ขอให้นาซ่าสู้ต่อไปนะ Ad Astra (สู่ดวงดาว)”

บริเดนสไตน์กล่าวทิ้งท้ายในฐานะผู้อำนวยการคนที่ 13 ของนาซ่า

แมว วาราบิโมจิ ปิศาจสปาเกตตี้บินได้