เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จ ส่งจรวด Nuri ของตัวเองสำเร็จเป็นครั้งแรก

เกาหลีประสบความสำเร็จในการส่งจรวดรุ่นใหม่ในเที่ยวบินแรก เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2021 เวลาประมาณ 16 นาฬิกาตามเวลาประเทศไทย ทาง Korea Aerospace Research Institute (KARI) ได้ทดสอบส่งจรวดรุ่นใหม่อย่าง KSLV-II (Nuri) ขึ้นสู่วงโคจร Sun-Synchronus Orbit ณ ฐานส่ง Launch Complex 2 ศูนย์อวกาศ Naro สำหรับจรวด Nuri หรือ KSLV-II นี้เป็นจรวดระดับ Light-Lift Launch Vehicle (จริง ๆ ก็อาจนับว่าอยู่ในระดับ Medium ก็ได้) ที่มีความสามารถในการส่ง Payload หนัก 2,600 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจรที่สูง 300 กิโลเมตรและ 1,500 กิโลกรัมสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 600 ถึง 800 กิโลเมตรเทียบกับระดับน้ำทะเล

KSLV-II ขณะถูกนำมายังฐานปล่อย ที่มา – KARI

โดยจรวดรุ่นนี้เป็นจรวดที่รับช่วงต่อจากจรวดรุ่นก่อนอย่าง Naro หรือ KSLV ที่ถูกใช้งานเพียงสามครั้งในช่วงปี 2009 จนถึง 2013 และสองในสามเที่ยวบินนั้นไม่ประสบความสำเร็จในการขึ้นสู่วงโคจร ทางเกาหลีเลยต้องเลือกพัฒนาจรวดขึ้นใหม่ทั้งลำเองทีมีประสิทธิภาพและความสามารถในการส่ง payload ที่มากขึ้นอย่าง KSLV-II

การทดสอบเครื่องยนต์จรวด KRE-075 ที่มา – KARI

ส่วน KSLV-II นี้มีด้วยกันทั้งหมดสามท่อนที่ทุกท่อนล้วนแล้วใช้เชื้อเพลิงออกซิเจนเหลวร่วมกับ Jet A ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจจริงที่เป็นจรวดหนึ่งในไม่กี่รุ่นที่ใช้เชื้อเพลิงที่นิยมใช้ในอากาศยานเชิงพาณิชย์ (ในกลุ่มที่ใช้ระบบเครื่องยนต์ Gas-Turbine) ในปัจจุบัน แต่ด้วยความที่เชื้อเพลิง Jet A นั้นมีราคาต่อหน่วยที่ถูกกว่าน้ำมันก๊าดเกรดจรวดอย่าง RP-1 ที่ค่อนข้ามาก เลยอาจเป็นเหตุผลที่ทางเกาหลีใช้เชื้อเพลิงตัวนี้

เครื่องยนต์ KRE-075 ของจรวด KSLV-II ที่มา – KARI

เท่ากับว่าในตอนนี้เราจะเห็นประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และจีนมีระบบและการส่งจรวดเป็นของตัวเองกันแล้วไม่ว่าจะเป็นฐานส่ง ตัวจรวดเอง หรือแม้แต่งานที่เกี่ยวข้องกับด้านอวกาศ ซึ่งทั้งสามประเทศเองก็ล้วนแล้วมีความต้องการในการส่งของของตัวเองขึ้นสู่อวกาศเลยเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกถ้าทั้งสามประเทศจะมีระบบการส่งเป็นของตัวเอง

แต่ถ้าถามว่าในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประเทศไหนกำลังพัฒนาระบบขนส่งขึ้นสู่อวกาศอยู่บ้าง หนึ่งในความเป็นไปได้ที่มีโอกาสมากที่สุดในตอนนี้คือประเทศอินโดนีเซียที่มี road map ในการพัฒนาระบบขนส่งเป็นของตัวเองออกมาแล้ว ส่วนประเทศที่เหลือก็คงอาจต้องรออีกนานหรืออาจไม่มีความเป็นไปได้เลยก็ได้ (ฮา) และในส่วนของทางเมียนมาร์เองก็มีการพัฒนาชิ้นส่วนที่ใช้ในเครื่องยนต์จรวดเช่นกัน แต่เป็นที่น่าเศร้าที่ของพวกนั้นถูกเอามาใช้ในอาวุธสงครามแทนที่จะนำมาใช้ในทางสันติที่สร้างประโยชน์มากกว่า

อัพเดท: ภายหลังมีการระบุว่า ดาวเทียมจำลองนั้นไม่ถูกส่งไปถึงวงโคจรที่กำหนดไว้ เนื่องมาจาก Stage สุดท้ายของจรวด เครื่องยนต์ดับลงเร็วกว่าที่ออกแบบไว้ อย่างไรก็ตาม การทำงานของจรวดท่อนอื่น ๆ เป็นไปได้ด้วยดี

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

19 y/o Just mechanical engineering student, hobbyist illustrator, amateur writer who wanted to be a rocket propulsion engineer.