มีอะไรน่าสนใจในการจับคลื่นความโน้มถ่วง จากดาวนิวตรอนชนกันครั้งที่สองของ LIGO

LIGO ได้ออกมาประกาศการตรวจจับ Gravitational Wave ได้อีกแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 LIGO ได้ยืนยันการตรวจจับ Gravitational Wave ครั้งแรก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นข่าวใหญ่ แม้ว่าข่าวล่าสุดนี้จะไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าเพราะหลังจากในปี 2016 ทาง LIGO ก็ได้ตรวจจับ Gravitaional Wave ได้อีกครั้งในปี 2017 ทำให้การตรวจจับ Gravitational Wave กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว (เป็นเรื่องที่ดี) แต่ในการตรวจจับครั้งนี้นั้นในทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

การตรวจจับในครั้งนี้ ได้ถูกเขียนเป็น Paper ที่มีชื่อว่า GW190425: Observation of a compact binary coalescence with total mass ∼3.4 Msun เล่าถึงการตรวจจับการชนกันของดาวนิวตรอนคู่ ที่มีมวลรวมกันเท่ากับ 3.4 เท่าของดวงอาทิตย์เรา และอยู่ห่างออกไปราวห้าร้อยล้านปีแสง การชนกันในครั้งนี้ถูกตั้งชื่อ Event ว่า GW190425 เป็นการตรวจจับโดย Interferometer ของ LIGO ที่ Livingston ซึ่งในตอนนั้น อีกเครื่องหนึ่งที่ Hanford อยู่ระหว่างการปิด ทำให้ในการตรวจจับครั้งนี้นั้นเป็นผลงานเดี่ยว ๆ ของทีม Livingston ส่วนเครื่องตรวจจับ Virgo ของสหภาพยุโรปนั้น ไม่สามารถตรวจจับ Event นี้ได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านความ Sensitive

แผนที่ท้องฟ้าแสดงบริเวณที่ตรวจจับคลื่นความโน่มถ่วงได้ของ GW190425 เมื่อเทียบกับ GW170817 ที่ตรวจจับได้เมื่อปี 2017 ที่มา – LIGO DDC

หนึ่งในสาเหตุที่ต้องมี Interferometer สองตัวทั้งที่ Hanford และที่ Livingston ก็เพื่อทำการเช็คกันว่าตรวจได้เหมือนกัน มาจากทิศทางเดียวกัน ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของอุปกรณ์ ซึ่งในครั้งแรกที่ทาง LIGO ตรวจจับ Gravitational Wave ได้นั้นก็เกิดจากการวิเคราะห์ของทีม Hanford และใช้ทีม Livingston เป็นตัวเช็ค (กรณีเช่นนี้จะคล้ายกับ LHC ของ CERN ที่มีเครื่องตรวจจับอนุภาคอเนกประสงค์สองตัว ได้แก่ CMS และ ATLAS)

ดังนั้นสิ่งที่ทำให้การตรวจจับครั้งนี้น่าสนใจเลยก็คือ เป็นการตรวจจับโดยใช้อุปกรณ์ Interferometer เพียงตัวเดียวครั้งแรกในประวัติศาสตร์นั่นเอง

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าหยิบยกมาพูดเลยก็คือ ในการตรวจจับเมื่อปี 2017 นั้นเราได้รู้จักกับคำว่าพหุพาหะดาราศาสตร์ ซึ่งเราเคยเขียนสรุปไว้ในบทความ รู้จักดาราศาสตร์พหุพาหะ เปิดตามอง เปิดหูฟังเสียง และยื่นมือสัมผัสจักรวาล ซึ่งเล่าคร่าว ๆ ก็คือในตอนนั้น LIGO ได้ตรวจจับ Gravitational Wave ได้ในขณะที่ยาน INTEGRAL ขององค์การอวกาศยุโรป และกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นโลกสามารถจับแสงวาบได้หลังการกระเพื่อมของคลื่นความโน้มถ่วง (เพราะแสดงเดินทางได้ช้ากว่าเนื่องจากในอวกาศมีตัวกลางคือฝุ่นที่ทำให้แสงไม่ได้เคลื่อนที่ตามค่าคงตัว c เป๊ะ ๆ)

Event GW190425 นั้น ถูกนำมาวิเคราะห์โดยทีมนักฟิสิกส์และอัลกอริทึม เพื่อให้แน่ใจว่า Event นี้เกิดจากการชนกันของดาวนิวตรอนจริง ๆ จนมั่นใจ จึงถูกเผยแพร่ออกมาในวันที่ 7 มกราคม 2020 เป็นหนึ่งในข่าวใหญ่ที่เริ่มต้นทศวรรษใหม่ ที่หลังจากนี้การตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงอาจจะกลายเป็นเรื่องปกติที่เราเจอกันได้บ่อย ๆ และยิ่งเรารู้จักกับ Event ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้ามากเท่าใด เราก็ยิ่งสามารถทำความเข้าใจและนำไปสู่คำถามต่อไปถึงที่มาและโครงสร้างของเอกภพได้

อ่านเพิ่มเติม – เทียนฉิน ของจีนกับ LISA ของยุโรป ใครจะจับคลื่นความโน้มถ่วงในอวกาศได้ก่อนกัน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.