เมื่อ 3 เดือนก่อน ผู้เขียนได้คุยกับอาจารย์เดวิด รัฟโฟโล อาจารย์ท่านคือผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งสถานีตรวจวัดนิวตรอนบนดอยอินทนนท์ มีคำหนึ่งที่ผู้เขียนไม่เคยได้ยินมาก่อน คำนั้นคือคำว่า ดาราศาสตร์พหุพาหะ ซึ่งนับว่าเป็นคำไทยที่สวยทีเดียว เมื่อได้ยินครั้งแรกก็พอเดาออกมาว่ามากคำว่า Multi-massenger Astronomy ซึ่งเป็นแนวคิดอย่างนึงของการสำรวจอวกาศ
เคยมีคนเปรียบเทียบการค้นหาสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเป็นเหมือน “ตาบอดคลำช้าง” เราได้สัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของมัน แต่ไม่อาจมองเห็นภาพรวมที่แท้จริงของมันทั้งหมด ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริง ในการศึกษาดาราศาสตร์นั้นไม่ได้เกิดจากการศึกษาสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเราจะสามารถค้นหาความลับและที่มาของมันได้ แต่ต้องอาศัยการเชื่อมต่อข้อมูลมหาศาลเข้าด้วยกันและทำการวิเคราะห์ ซึ่งพูดแบบนี้อาจจะไม่เห็นภาพเท่าไหร่ แต่วันนี้เราจะมารู้จักกับคำว่า ดาราศาสตร์พหุพาหะกันเพื่อเข้าใจว่านักวิทยาศาสตร์นั้นกว่าจะได้ข้อมูลบางอย่างมามันช่างแสนยากเย็นแค่ไหน
คำว่าพาหะ หมายความว่าตัวนำพา ซึ่งก็หมายถึงผู้ส่งสาส์น ในเดือนกรกฏาคม 2018 เครื่องตรวจจับอนุภาคนิวตริโน่ Ice Cube ที่อยู่ที่ขั้วโลกได้ได้ทำการศึกษาถึงแหล่งกำเนิดของอนุภาคนิวตริโน่ที่ตรวจจับได้ ที่เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์นำไปสู่ที่มาของมันว่ามาจาก “Blazar” วัตถุชื่อยากที่เราอาจไม่คุ้นเคย Blazar คือหลุมดำมวลยวดยิ่งที่หมุนวนอย่างบ้าคลั่ง มันคือแหล่งกำเนิดของอนุภาคพลังงานสูงต่าง ๆ
โลกทั้งใบคือเครื่องมือ
เมื่อปีก่อน นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ได้ตรวจจับ Cosmic Rays กลุ่มนึงเดินทางมาจากห้วงอวกาศที่ห่างไกล ทิศทางของมันมาจากกลุ่มดาว Orion หลังจากที่การศึกษาพบว่า แหล่งกำเนิดของมันมาจาก นิวเคลียสดาราจักรกัมมันต์ (nucleus ของกาแล็กซี่) ที่แก่นกลางของมันคือหลุมดำมวลยวดยิ่ง Blazar มีชื่อว่า TXS 0506+056
เนื่องจากอนุภาคนิวตริโน่มีขนาดเล็กมากและมีมวลน้อยมากเราจึงไม่สามารถจับมันแบบตรง ๆ ได้จำเป็นต้องให้มันวิ่งชนกับอนุภาคที่ใหญ่กว่า แล้วปล่อยอนุภาคอื่น ๆ เช่น อิเล็กตรอน หรือ มิวออน Ice Cube เป็นอุปกรณ์ตรวจจับนิวตริโน่ที่ออกแบบการทดลองได้อย่างน่าทึ่งที่สุดในโลก พวกเขาวางแนว Detector เป็น Arrays อยู่ใต้ชั้นน้ำแข็งของขั้วโลกใต้ ที่ชื่อว่า Antarctic Muon And Neutrino Detector Array หรือ Amanda โดยใช้หลักการการเกิด Cherenkov Radiation ที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่าเราสามารถจับอนุภาคพลังงานสูงได้
อุปกรณ์ตรวจจับที่ร้อยเรียงเป็นทางยาวบนสายดิ่ง 86 เส้น ดิ่งลงไปที่ความลึกใต้ผิวน้ำแข็งถึง 2.5 กิโลเมตร จำนวนเส้นละ 60 ตัว รวม 5,160 จะส่งสัญญาณเตือนว่าอนุภาคที่ชื่อนิวตริโน่ได้ถูกจับได้แล้ว เมื่อผ่านการคำนวณ เราจะสามารถบอกถึงพลังงานและมวลของมันได้อย่างแม่นยำ
เหตุผลที่ในครั้งนี้เราสามารถตรวจจับอนุภาคพลังงานสูงจำนวนมหาศาลได้ก็เพราะว่า Blazar นี้มันพ่นลำ Jet อนุภาคพลังงานสูง หรือที่เรียกว่า cosmic ionizing radiation มาทางโลกพอดี เราจึงสามารถตรวจจับได้ หลังจากที่มันเดินทางมาเป็นระยะทางกว่า 4 พันล้านปีแสง
ไม่แน่ใจว่าอธิบายแบบนี้ทำให้เห็นภาพกันหรือเปล่าแต่นี่คือสิ่งที่เรียกว่า multi-massenger astronomy หรือ ดาราศาสตร์พหุพาหะ เราใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการศึกษาโดยที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการศึกษาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงเดียว, ศึกษาอนุภาคกลุ่มเดียว แต่จากการนำข้อมูลต่าง ๆ ที่เรารับรู้ได้ด้วยวิธีต่างกันมาร่วมกัน ก็สามารถสร้างการค้นพบที่แม่นยำได้
การค้นพบนี้ไม่ได้เกิดจาก IceCube อย่างเดียว แต่มาจากความร่วมมือหลายภาคส่วนมาก ตั้งแต่ใต้ดิน บนดิน ไปจนถึงยานอวกาศ เช่น ยาน INTEGRAL ของ ESA หรือ Major Atmospheric Gamma Imaging Cherenkov Telescope หรือ MAGIC ของ NASA ก็เป็นสักขีพยานในการค้นพบครั้งนี้ด้วย
ได้ยิน ได้เห็น และได้สัมผัส
ถ้ายังจำกันได้ มีเหตุการณ์ในแนว ๆ นี้เกิดขึ้นเช่นกันเมื่อปี 2017 ในตอนนั้นมีการตรวจจับการชนกันของดาวนิวตรอนเป็นครั้งแรก (https://spaceth.co/ligo-neutron-star/) ซึ่งสิ่งแรกที่เกิดหลังจากการชนกันในครั้งนั้นก็คือ Gravitational Wave หรือคลื่นความโน้มถ่วง แน่นอนว่าวัตถุขนาดใหญ่เช่นนั้นย่อมส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมสู่สนามโน้มถ่วงแน่นอน คลื่นดังกล่าวเดินทางด้วยความเร็วเท่าแสงมายังโลก เครื่องตรวจจับ LIGO และ VIRGO ทำการตรวจจับมันได้พร้อมกัน พวกเขายืนยันได้อย่างแน่นอนว่ามันคือ Gravitational Wave
แต่เพียงแค่ 2 วินาทีหลังจากนั้น แสงวาบบนท้องฟ้าอันไกลโพ้นก็เดินทางมาถึงยานอวกาศ 2 ลำของ NASA ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Fermi ของ NASA และ INTEGRAL ของ ESA มันทั่งสองตรวจพบ กลุ่มรังสีแกมม่า (gamma-ray burst) พุ่งเข้ามายังตัวตรวจรับ เมื่อทำการ Mapping แล้วพบว่าทุก Event ที่ตรวจจับได้มาจากจุดเดียวกันบนท้องฟ้า
อาจจะส่งสัยว่าในเมื่อคลื่นความโน้มถ่วงและแสงควรจะเดินทางด้วยอัตราเร็วในสุญญากาศเท่ากัน แต่ทำไม เราถึงตรวจจับ Gravitation Wave ได้ก่อนการ Burst เหตุผลก็คือความเร็วในการเดินทางของแสงนั้นขึ้นอยู่กับตัวกลาง ตรงนี้ผู้เขียนได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาถาม ว่าเกี่ยวกับสัมพัทธภาพหรือเปล่า อ.เดวิด อาจารย์บอกว่า ไม่เกี่ยว เนื่องจากสัมพัธภาพไม่ได้ทำให้แสงเดินทางช้าลง แต่มันจะถูกยืดออก (เป็น doppler effect) แต่เหตุผลที่ทำให้แสงเดินทางช้ากว่าเพราะว่าอวกาศนั้นไม่ได้เป็นสุญญากาศทั้งหมด บางทีมันก็ต้องเดินทางผ่านกลุ่มแก๊สต่าง ๆ กลุ่มฝุ่นผงและละอองแก๊สในอวกาศ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ทำให้แสงเดินทางได้ช้าลง ในขณะที่คลื่นความโน้มถ่วงไม่ได้รับอิทธิพลจากพวกนี้ แสงจึงเดินทางมาถึงเราช้ากว่าบนโลกเล็กน้อย
ไม่นานหลังจากนั้น กล้องโทรทรรศน์ทรงประสิทธิภาพอีกหลายตัวบนโลก ถูกหันไปทางที่มาของแสงวาบจากฟากฟ้านั้นในทันที รวมถึงกล้อง Pan-STARRS และ Subaru บนหอดูดาวที่ฮาวาย
และที่น่าทึ่งไปกว่านั้น NASA, ESA, ESO ได้รับการยืนยันจากพันธมิตรทั่วโลก และกลุ่มหอสังเกตการณ์ฟากฟ้าอีกกว่า 70 แห่งทั่วโลกว่าพวกเขากำลังเห็นสิ่งเดียวกัน ในครั้งนั้นนับว่าเป็นการตรวจจับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าจดจำมากที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อเราได้เห็นความร่วมมือจากทั่วโลก
นี่จึงเป็นเรื่องราวเท่ ๆ ที่ถูกนำมานิยามว่าเป็น Multi-massenger Astronomy หรือดาราศาสตร์พหุพาหะ ที่สุดท้ายมันได้สอนเราว่าในการศึกษาอะไรบางอย่าง เราอาจจะไม่ได้สัมผัสกับมันได้โดยตรง เราอาจจะไม่ได้ดึงมันเข้ามาใกล้ แต่ด้วยวิธีการคิดที่ซับซ้อน และความสงสัยใคร่รู้ แม้กระทั่งดวงดาวที่บรรพบุรุษของเราเฝ้ามองมาเป็นเวลานับพันนับหมื่นปี ทุกวันนี้มันก็ยังอยู่ของมันที่เดิม แต่มนุษย์มีความพยายามที่จะศึกษาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะได้เรียนรู้ ต่อยอด จากการสังเกตและคาดเดา เป็นการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่รัดกุม ตลอดจนพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ตังแต่กล้องโทรทรรศน์, เครื่องตรวจจับอนุภาค, Interferometer หรือแม้กระทั่งการใช้โลกทั้่งใบเป็นเครื่องมือในการตรวจวัดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
ท้องฟ้ามันก็อยู่ของมันเหมือนเดิม ดวงดาวยังคงส่องแสง แต่ใจของมนุษย์เท่านั้น ที่ทำให้ดวงดาวเหล่านี้เข้ามาใกล้เราอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน น่าแปลกที่เราเกิดจากเศษผงของดาวดาวและก็กำลังศึกษาที่มาของธรรมชาติที่สร้างเราขึ้นมาเช่นกัน
อ้างอิง