หลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี Joe Biden และรองประธานาธิบดี Kamala Harris รวมถึงการลาออกของ Jim Bridenstine อดีตผู้อำนวยการของ NASA (NASA Administrator) ในช่วงการบริหารงานของรัฐบาล Donald Trump นั้น NASA ก็ได้ผ่านการแปลงโฉมในระดับบริหารใหม่ด้วยการแต่งตั้ง Bill Nelson เป็น ผอ. คนที่ 14 ของ NASA
Bill เป็นนักบินอวกาศและ Payload Specialist ของ NASA ในยุคของกระสวยอวกาศ ขึ้นสู่อวกาศกับเที่ยวบิน STS-61-C ซึ่งเป็นเที่ยวบินก่อนโศกนาฏกรรม Challenger (STS-51-L) เพียงเที่ยวบินเดียวเท่านั้น นอกจากนี้เขายังเป็นสมาชิกคองเกรสคนที่สอง (และคนแรกของสภาผู้แทนฯ) ที่ได้ไปอวกาศอีกด้วย
Jim Bridenstine เป็นใคร
Jim Bridenstine เป็นอดีต สส. ของสภาผู้แทนฯ รัฐ Oklahoma พรรค Republican และอดีตผู้อำนวยการคนที่ 13 ของ NASA แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี Donald Trump
Jim Bridenstine เองนั้นในช่วงแรกของการเข้ารับตำแหน่ง Jim เป็นผู้ที่ไม่เชื่อว่าโลกร้อนเพราะมนุษย์และไม่เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ (Climate Change) ตัวเขาเองก็ถูก Trump เสนอชื่อมาเพื่อจุดประสงค์ที่จะถ่วงดุลอำนาจในการต่อรองทางการเมืองโดยใช้ประโยชน์จากการสำรวจของ NASA มาเป็นตัวต่อรองนั่นเอง
Jim เองก็เป็นทหารและเป็นอดีต สส. พรรค Republican จึงเรียกได้ว่าเป็นนักการเมืองจ๋า แต่มานั่งตำแหน่งผู้บริหารหน่วยงานวิทยาศาสตร์ (อารมณ์เหมือนเอาประวิทย์มานั่งคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาตินั่นแหละ)
พายุกำลังเข้าสหรัฐ และทรัมป์เสนอชื่อคนไม่เชื่อโลกร้อนเป็น ผ.อ. นาซ่า
แต่หลังจากที่ Jim เข้ามารับตำแหน่งไประยะหนึ่งได้มานาน แนวคิดหลาย ๆ อย่างของเขาก็เปลี่ยนไปและเขาไม่ได้เห็น NASA เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกต่อไป (Trump ตั้งมาอวยตัวเอง แต่ดันไปเครดิต Democrat ที่ทำไว้ดีงี้) นอกจากนี้เขายังเชื่อเรื่อง Climate Change จากที่ก่อนหน้านี้เขายอมรับว่าไม่เชื่อ แต่หลังจากการรับฟังและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ คน สุดท้ายเขาก็ตระหนักอย่างลึกซึ้งว่า “มนุษย์” เป็นสาเหตุของ Climate Change อย่างแท้จริง
ช่วงที่ Jim ดำรงตำแหน่ง ผอ. ของ NASA นั้น เขาได้สร้างผลงานไว้หลาย ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็น Commercial Crew Program (CCP) และ Commercial Resupply Services (CRS) ที่นำไปสู่การกลับสู่อวกาศอีกครั้งจากแผ่นดินสหรัฐฯ ในเที่ยวบิน Crew Dragon Demo-2 และ Main หลักของ NASA อย่างโครงการ Artemis
นอกจากนี้ Jim ยังคอยดันความตระหนักรู้ในเรื่อง Climate Change ด้วยการดันโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับการสำรวจโลกอย่าง Earth Observing System (EOS) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากข่าวเป็นจำนวนมากที่เผยแพร่ออกมาจาก NASA ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน น้ำแข็งละลาย หรือโอโซนทะลุ เช่น
- NASA พบการปลดปล่อย CFC-11 จากบริเวณจีนตะวันออก อย่างมีนัยสำคัญ
- นักวิจัย NASA พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นกำลังเร่งการละลายของธารน้ำแข็งบริเวณ Greenland
- ข้อมูลจาก NOAA ระบุว่าปี 2020 เป็นปีที่ร้อนที่สุด เทียบเท่าสถิติโลกครั้งก่อนในปี 2016
- NOAA พบรูโหว่โอโซนขนาดใหญ่ที่เกิดจาก Polar Vortex ในแอนตาร์กติกา
- ดาวเทียมเผยกลุ่มควันไฟป่าแคลิฟอร์เนียถูกพัดไปทางมหาสมุทรแปซิฟิก เพิ่มปริมาณฝุ่นมหาศาล
- NOAA ตรวจพบฝุ่นทรายจากแถบแอฟริกาตะวันตกจำนวนมาก นำไปสู่การค้นพบไฟป่าขนาดใหญ่ในแถบแอฟริกาใต้
- เจาะลึกไฟไหม้ป่า Amazon สถานที่ที่เปรียบเสมือนปอดของโลก มุมมองจากอวกาศ
แต่ก็ไปได้ไม่ไกลมากเนื่องจากว่า Trump เป็นคนที่ไม่เชื่อ Climate Change และเขาก็ตั้ง Jim เป็น ผอ. NASA เพราะว่า Jim ตอนนั้นก็ไม่เชื่อเรื่อง Climate Change เหมือน Trump เช่นกัน เรียกได้ว่ามี Mindset ด้านอวกาศคล้าย ๆ กัน แต่ Jim ดันมาตาสว่างทีหลัง แต่สุดท้ายก็คอยโดนขัดขาอยู่ดี
เมื่อ Trump หมดอำนาจ Jim ก็ลาออกหลังจากที่ Biden ชนะการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาคิดว่ามันคงจะดีกว่าหาก ผอ. ของ NASA เป็นคนที่ถูกไว้เนื้อเชื่อใจโดยรัฐบาลของ Biden จึงเป็นเหตุให้เขาลาออกนั่นเอง
อ่านบทความวิเคราะห์เกี่ยวกับการลาออกของ Jim Bridenstine แบบเจาะลึกได้ที่นี่ – การลาออกของจิม บริเดนสไตน์ ผู้อำนวยการ NASA เล่าอะไรถึงการเมืองสหรัฐอเมริกาและอนาคตของการสำรวจอวกาศ
NASA ในยุคของ Biden และ Bill Nelson
NASA ภายใต้การนำของ Bill Nelson ในรัฐบาลของ Biden นั้นมีท่าทีในหลาย ๆ เรื่องเปลี่ยนไป เนื่องจากคราวนี้ Biden เลือก Candidate ที่มาจากฝั่งวิทยาศาสตร์มาเป็น ผอ. ของ NASA (ตำแหน่งรอง ผอ. NASA ยังว่างหลังจาก Steve Jurczyk ลาออกไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2021) และเรื่องแรก ๆ ที่ Bill รวมถึงรัฐบาลของ Biden-Harris จะทำก็คือการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ครั้งนี้ NASA ไม่ถูกขัดขาในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอีกต่อไป
ทรัพยากรในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหา Climate Change ของ NASA ในตอนนี้หลัก ๆ อยู่ที่ระบบ EOS (Earth Observing System) รวมถึง EOSDIS (Earth Observing System Data and Information System) ซึ่งเป็นโครงการสำรวจโลกที่ประกอบไปด้วยดาวเทียมหลายสิบดวงที่เน้นดานการสำรวจโลกโดยเฉพาะ โดยเป็นโครงการที่มีมาตั้งแต่ปี 1997
จนถึงตอนนี้ ปี 2021 ระบบ EOS เหลือดาวเทียมที่ยังใช้งานอยู่ (Active) เพียงแค่ 10 ดวงเท่านั้น จาก 30 ดวง ซึ่งแต่ละดวงที่เหลืออยู่นั้นเรียกได้ว่าเกินอายุภารกิจไปแทบจะหมดแล้วที่ยังใช้อยู่ก็คือการยืดอายุภารกิจเท่านั้น อย่างดวงล่าสุดของระบบ EOS คือ ICESat-2 ของ NASA ที่ปล่อยเมื่อเดือน กันยายน ปี 2018 ตอนนี้เหลืออายุภารกิจอีกเพียงแค่ 3 เดือนเศษเท่านั้น และอาจต้องต่ออายุภารกิจเพื่อยืดอายุระบบ EOS ให้ยังใช้ได้อยู่เพราะเป็นเพียงระบบเดียวที่ใช้ในการสำรวจและเฝ้าระวังโลกในตอนนี้
อ้างอิงจาก Press Release 21-070 NASA ภายใต้การนำของ Bill Nelson จึงมีแผนที่จะพัฒนาระบบดาวเทียมสำรวจโลกใหม่ชื่อว่า “Earth System Observatory (ESO)” ที่จะถูกสร้างมาเพื่อการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไฟป่า และการพัฒนาพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะ โดยดาวเทียมในเครือข่าย ESO ทุกดวงจะถูกสร้างมาเพื่อให้พวกมันช่วยกันทำงาน ไม่ใช่ทำใครทำมันเหมือน EOS ในตอนนี้
โดย ESO มีแผนที่จะขยาย Scope การสำรวจโลกด้วยการสร้างแผนที่ข้อมูลในด้านต่าง ๆ ด้วยการแผนที่ 3 มิติ ซึ่งมีความสามารถที่จะแมพข้อมูลตั้งแต่ชั้นใต้ดินของโลกมาจนถึงชั้นบนสุดของชั้นบรรยากาศของโลกได้ ซึ่งการสร้าง ESO นั้นเป็นการทำตามคำแนะนำของผลการสำรวจด้านวิทยาศาสตร์โลกประจำทศวรรษเมื่อปี 2017 (2017 Earth Science Decadal Survey) โดย National Academics of Sciences, Engineering and Medicine (แต่แน่ละ 2017 มันช่วง Trump ทำอะไรไม่ได้ ฮา)
โดย ESO จะเน้นการสำรวจไปที่ 5 ด้านด้วยการ ดังนี้
- อากาศ (Aerosol): แก๊สต่าง ๆ มีผลอย่างไรต่อสมดุลพลังงานของโลกและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก รวมถึงการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อ่านบทความเกี่ยวกับสมดุลพลังงานได้ที่นี่ – รู้จักกับ Radiative Forcing เมื่อโลกเสียสมดุลทางพลังงานจากการแผ่รังสี
- เมฆ: การพาความร้อนภายในเมฆ การเกิดฝน การพยากรณ์อากาศ คุณภาพอากาศ และการเฝ้าระวังพายุรุนแรง (ระดับ Category 4 และ 5)
- การพยากรณ์: การพยากรณ์หน้าแล้งสำหรับการวางแผนการใช้น้าในการเกษตรรวมถึงการเฝ้าระวังภัยพิบัติทางธรรมชาติ
- ชีววิทยาพื้นผิวและธรณีวิทยา (Surface Biology and Geology): การเพิ่มความเข้าใจด้านผลกระทบของ Climate Change กับเกษตรกรรมอาหาร การจำศีลของสัตว์ต่าง ๆ และทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษาการเปลี่ยนผ่านพลังงานและมวลสารต่าง ๆ ระหว่างระบบนิเวศ
- การเปลี่ยนแปลงของพื้นผิว (Surface Deformation and Change): การสร้างโมเดลสำหรับการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโลกที่เกิดจาก Climate Change และการเฝ้าระวังภัยธรรมชาติจากการเกิดธรณีแปรสัณฐาน เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ ดินถล่ม แผ่นน้ำแข็งถล่ม และอื่น ๆ
ซึ่งจุดหลัก ๆ ของ ESO คือการเฝ้าระวังทางด้านธรณีวิทยาด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างเช่น Synthetic Aperture Radar (SAR) ซึ่งสามารถตรวจจับการเคลื่อนตัวของแผ่นธรณีภาคได้ในระดับมิลลิเมตร นำมาทำเป็นโมเดลนำร่องสำหรับการเฝ้าระวังภัยพิบัติที่มนุษย์ไม่เคยพยากรณ์ได้มาก่อน ซึ่งก็คือ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และดินถล่ม โดยร่วมมือกับ ISRO (Indian Space Research Organisation) หน่วยงานด้านอวกาศของอินเดีย เพื่อสร้างดาวเทียม NISAR หรือ NASA-ISRO Synthetic Aperture Radar สำหรับระบบดาวเทียม ESO โดยเฉพาะ
อ่านบทความเจาะลึกเกี่ยวกับ Synthetic Aperture Radar และ NISAR ได้ที่นี่ – เจาะลึก InSAR เทคโนโลยีการเตือนแผ่นดินไหวจากอวกาศ
หลังจากนี้เราคงได้เห็นท่าที่การจัดการกับภาวะโลกร้อนของ NASA ที่ชัดเจนและดียิ่งขึ้นกับระบบ Earth System Observatory (ESO)
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง
New NASA Earth System Observatory to Help Address, Mitigate Climate Change