กล้องโทรทรรศน์อวกาศภารกิจ NEOWISE นักล่าอุกกาบาตใกล้โลก ได้รับการต่ออายุภารกิจไปถึงปี 2023

NEOWISE หรือ Near-Earth Object Wide-field Survey Explorer เดิมชื่อว่า WISE ซึ่งทำหน้าที่ค้นหาอุกกาบาตและดาวเคราะห์ขนาดเล็กใกล้โลก ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อ ธันวาคม 2009 นับเป็นเวลากว่าทศวรรษมาแล้วที่ NEOWISE ช่วยมนุษย์ในการศึกษาวัตถุขนาดเล็กใกล้โลก รวมถึงเฝ้าระวังวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก ตอนนี้ NASA ได้ยืดอายุของ WISE และภารกิจ NEOWISE ออกไปอีก 2 ปี จนถึง กรกฎาคม 2023

NEOWISE คือภารกิจอะไร

WISE (Wide-field Infrared Survey Explorer) เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Infrared มุมกว้าง ถูกปล่อยเดือน ธันวาคม 2009 มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจหาอุกกาบาต ดาวที่มีแสงน้อย และกาแล็กซีแสงน้อยในอวกาศลึกที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน ทั้งในและนอกระบบสุริยะ

WISE บรรลุภารกิจเดิมของมันในเดือน กุมภาพันธ์ 2011 เมื่อน้ำยาหล่อเย็นของตัวกล้องโทรทรรศน์หมด แต่เนื่องจากมันยังสามารถใช้งานอุปกรณ์หลาย ๆ อย่างของมันโดยไม่ต้องใช้น้ำยาหล่อเย็นได้อยู่ จึงทำให้ NASA ตัดสินใจที่จะให้ WISE เข้าสู่โหมดจำศีล (Hibernation Mode) ไว้ชั่วคร่าวเพื่อรอการปลุก (Reactivate) ต่อไป

กล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดต้องใช้น้ำยาหล่อเย็น เพราะถ้าไม่หล่อเย็น ตัวกล้องจะร้อนจนถ่ายติด Noise (เหมือนกับกล้องถ่ายรูปของเรานั่นแหละ) ทำอายุการใช้งานของกล้องในย่านอินฟราเรดนั้นไม่ยาวนานเท่าในย่านคลื่นอื่น ๆ อ่าน – วาระสุดท้ายของกล้อง Spitzer Space Telescope ที่ความตายอบอุ่นกว่าชีวิต

ภาพจำลองกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Wide-field Infrared Survey Explorer (WISE) – ที่มา NASA/JPL-Caltech

ในเดือน ธันวาคม 2013 WISE ถูก Reactivate อีกครั้ง ด้วยภารกิจใหม่ชื่อว่า “NEOWISE” มอบหมายโดย Planetary Science Division ของ NASA เพื่อให้มันเบนการสำรวจมายังวัตถุใกล้โลก เช่น ดาวหางหรืออุกกาบาตที่มีวิถีโคจรใกล้กับโลก อาศัยการตรวจจับด้วยการวัดรังสี Infrared แผ่โดยวัตถุอย่างอุกกาบาตเมื่อโดนความร้อนจากแสงอาทิตย์เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลปัจจัยอื่น ๆ จากกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นเพื่อระบุขนาดและคุณสมบัติต่าง ๆ ของวัตถุ

ปัจจุบัน NEOWISE ตรวจพบว่าวัตถุใกล้โลก (Near-Earth Object: NEO) กว่า 1,850 ชิ้น และในเดือน มีนาคม 2021 NEOWISE ยืนยันการค้นพบจากการสำรวจในช่วงคลื่นแสง Infrared กว่า 1,130,000 การค้นพบจากวัตถุกว่า 39,100 ชิ้นในระบบสุริยะนับตั้งแต่การ Reactivate เมื่อปี 2013 โดยข้อมูลทั้งหมดจาก NEOWISE เป็นข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ฟรีให้กับนักวิทยาศาสตร์ ผ่าน IPAC/Caltech-led Archive ซึ่งนำไปสู่เปเปอร์วิจัยอย่างน้อย 1,600 ชิ้น

อ่าน – สรุปดาวเคราะห์น้อย ดาวตก และอุกกาบาต รู้ไว้จะได้ไม่ต้องกลัว

แอนิเมชันแสดงข้อมูลการตรวจพบวัตถุใกล้โลก (NEO) จาก NEOWISE ระหว่าง ธันวาคม 2013 ถึง ธันวาคม 2017 โดยจุดสีน้ำตาล คือ อุกกาบาต จุดสีเหลือง คือ ดาวหาง และจุดสีขาว คือ อุกกาบาตใน Line of Sight ของ NEOWISE – ที่มา NASA/JPL-Caltech

หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดของภารกิจ NEOWISE คือ การตรวจพบดาวหาง NEOWISE (C/2020 F3) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2020 ซึ่งนำไปสู่การสังเกตการณ์โดยนักดาราศาสตร์ทั่วโลกรวมถึงคนทั่วไปอย่างกว้างขวางเนื่องจาก NEOWISE (C/2020 F3) เคลื่อนเข้าใกล้โลกจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ภาพของดาวหาง NEOWISE (C/2020 F3) ถ่ายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2020 ใน Tucson – ที่มา Vishnu Reddy

ภารกิจที่จะมาแทน NEOWISE ในอนาคต คือ NEO Surveyor ซึ่งจะถูกปล่อยมาแทนที่ NEOWISE ในช่วงปี 2026 ไม่แน่เราอาจจะได้เห็น NEOWISE ทำงานจนถึงปี 2026 เพื่อรอภารกิจแทนที่อย่าง NEO Surveyor ก็เป็นได้

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

Asteroid-Hunting Space Telescope Gets Two-Year Mission Extension

The Near-Earth Object Wide-field Infrared Survey Explorer at IPAC

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.