เชื่อว่าหลายคนที่ติดตามการปล่อยจรวด หรือข่าวสารในวงการอวกาศ เราน่าจะเคยเห็นภาพจรวดบินขึ้นในระยะใกล้ ซึ่งดูจากมุมกล้องแล้วเราจะพบว่าภาพนั้นถูกถ่ายจากระยะเพียงแค่ไม่กี่เมตรจากฐานปล่อยเพียงเท่านั้น ภาพเหล่านี้อาจจะไม่ได้ดูแปลกใหม่ เพราะเราก็เห็นผ่านตากันเป็นเรื่องปกติ แต่เคยสงสัยหรือเปล่าว่า ใครเป็นคนถ่ายภาพเหล่านี้ หรือกล้องที่ใช้ในการถ่ายภาพเหล่านี้เป็นกล้องแบบไหนกันแน่ เหมือนกับกล้องถ่ายภาพที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันหรือเปล่า
คำตอบแรกก็คือ การถ่ายภาพเหล่านี้ ไม่ได้มีช่างภาพมาคอยกดชัตเตอร์เหมือนกับการถ่ายภาพแบบปกติ เนื่องจากระยะใกล้ขนาดนี้เสี่ยงต่ออันตรายจากทั้งเสียงแรงขับจากเครื่องยนต์จรวดมาก แต่จะใช้เทคนิคที่เรียกว่าการทำ “Remote Camera” หรือการถ่ายภาพระยะไกลแทน ส่วนคำตอบที่สองก็คือ กล้องที่ใช้ถ่ายภาพเหล่านี้ก็คือกล้อง DSLR หรือ Mirrorless ธรรมดาทั่วไปแบบที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนี่แหละ แล้วแต่ความถนัดของช่างภาพแต่ละคน
คำถามก็คือแล้วเทคนิคการทำ Remote Camera ที่ว่านี้เขาทำกันอย่างไร และอะไรคือความลับเบื้องหลังที่น้อยคนที่จะรู้ในการถ่ายภาพเหล่านี้ บทความนี้ทีมงานจะมาเล่าให้ฟังกัน
เราถ่ายภาพจรวดระยะใกล้ได้อย่างไร
ในการปล่อยจรวดนั้น จะต้องมีการกันคนออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัยและถึงแม้การปล่อยจรวดแบบปกติอาจจะไม่สามารถฆ่าเราได้แม้เราจะยืนอยู่ในระยะใกล้ แต่หากเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น จรวดระเบิดทั้งบนฐานปล่อยหรือกลางอากาศยังไงก็ตายแน่ ๆ ดังนั้นหากจรวดเริ่มกระบวนการเติมเชื้อเพลิงแล้วทุกคนจะต้องออกจากบริเวณฐานปล่อยหมด (ส่วนในภารกิจที่มีลูกเรือ ลูกเรือและผู้ช่วยจะได้รับการซักซ้อมการอพยพฉุกเฉิน อ่านได้ในบทความ – Emergency Egress แผนการอพยพออกจากฐานปล่อยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน) การกันพื้นที่ในการปล่อยนั้น อาจอยู่ที่ระยะ 5-7 กิโลเมตรเลยทีเดียว ดังนั้นหากต้องการถ่ายภาพในระยะใกล้ทางที่เราจะทำได้ก็คือการตั้งกล้องทิ้งเอาไว้
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า Remote Camera ไม่ได้หมายความว่าการสั่งการกล้องระยะไกล เนื่องจากบริเวณฐานปล่อยจรวดนั้นจะเป็นพื้นที่หวงห้ามพิเศษ ช่างภาพจากสำนักต่าง ๆ รวมถึงนักข่าว จะไม่ได้รับอนุญาตให้วางหรือติดตั้งอุปกรณ์ใด ๆ ที่ส่งสัญญาณวิทยุ หรือคลื่นความถี่ในรูปแบบใด หนึ่งคือป้องกันการรบกวนกับการทำงานของจรวด (หลักการเดียวกับที่เรามักจะถูกบอกให้ปิดโทรศัพท์ขณะเครื่องบินขึ้นหรือลง) และสองคือป้องกันไม่ให้มีการถ่ายทอดสดการปล่อยจากบริเวณฐานปล่อยออกมา
ดังนั้นกล้องที่ตั้งทิ้งไว้จะต้องรู้ว่า มันจะต้องลั่นชัตเตอร์ตอนไหน เพื่อบันทึกภาพในวินาทีที่จรวดบินขึ้นจากฐานปล่อย และอะไรที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่ามันจะต้องลั่นชัตเตอร์ตอนนี้ คำตอบก็คือ “เสียง” นั่นเอง
เสียงจากการปล่อยจรวดนั้นดังมาก ๆ อยู่แล้ว นี่คือตัวแปรสำคัญที่บ่งบอกว่าจรวดได้ถูกปล่อยขึ้นแล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเราไม่ตั้งเวลาถ่ายเอา คำตอบก็คือในบางครั้งการปล่อยจรวดอาจถูกเลื่อนออกไปได้ และช่างภาพก็คงไม่ได้รับอนุญาติให้เข้าไปรีเซ็ตกล้องหากการปล่อยถูกเลื่อนออกไปในหลักนาทีหรือชั่วโมง การลั่นชัตเตอร์ผ่านเสียงจึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดนั่นเอง
อุปกรณ์สำหรับสั่งกล้องให้ลั่นชัตเตอร์ผ่านเสียง
คำถามต่อมาคือกล้องถ่ายภาพปกติทั่ว ๆ ไป จะรู้ได้อย่างไรว่าต้องบันทึกภาพแล้ว นี่จึงเป็นที่มาของอุปกรณ์ที่ชื่อว่า MIOPS Smart+ Camera Trigger อุปกรณ์ตัวนี้เป็นกล่องอเนกประสงค์ที่เชื่อมต่อเข้ากับกล้องถ่ายภาพของเราผ่านช่อง “ต่อสายลั่นชัตเตอร์” ซึ่งถ้าใครเป็นสายถ่ายภาพแบบ Long Exposure ก็คงจะคุ้นชินกับการสั่งถ่ายภาพด้วยการกดจากรีโมตเป็นอย่างดี หลักการทำงานของ MIOPS Smart+ ก็คือ มันจะมีเซ็นเซอร์หลากหลายรูปแบบ ทั้งเสียง แสง หรือการตั้งเวลา ที่จะช่วยให้เราบันทึกภาพในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ อย่างกรณีการถ่ายภาพจรวด เราจะตั้งให้ MIOPS นั้น ถ่ายภาพหากได้ยินเสียงดังขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมในตอนนั้น และตัว MIOPS จะสั่งการตัวกล้องให้ถ่ายภาพผ่านสายที่เชื่อมต่อเข้ากับตัวกล้องผ่านช่องต่อสายลั่นชัตเตอร์นั่นเอง
MIOPS Smart+ นั้นมีราคาตลาดอยู่ที่ 259 เหรียญ สหรัฐฯ หรือประมาณ 8,700 บาท ถือว่าค่อนข้างแพงเลยทีเดียว แต่ก็เป็นไอเทมชิ้นสำคัญที่คนถ่ายภาพจรวดด้วยเทคนิค Remote Camera จำเป็นจะต้องมี และนี่ก็เป็นวิธีการที่ง่ายและน่าเชื่อถือที่สุดด้วย ในบางครั้งช่างภาพสายถ่ายจรวดจำเป็นต้องมี MIOPS Smart+ ไว้ในครอบครองหลายตัว เพื่อใช้ถ่ายภาพในจุดที่แตกต่างกันออกไป หรือสำรองกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความรวยของแต่ละท่าน
สำหรับวิธีการตั้งค่าและข้อจำกัดในการถ่ายต่าง ๆ เราจะพูดถึงในหัวข้อถัดไป เมื่อเราลองลงสนามจริงเพื่อบันทึกภาพจรวดกัน
สรุปทุกเรื่องที่ควรรู้ในการตั้งกล้องถ่ายภาพจรวด
ต้องบอกก่อนว่า ไม่ใช่ว่าใครอยู่ดี ๆ ก็จะเข้าไปตั้งกล้องเพื่อถ่ายจรวดได้ แต่จำเป็นต้องเป็นสื่อ หรือช่างภาพที่ได้รับการทำ Media Accreditation จาก NASA (หรือผู้ให้บริการปล่อยจรวด เช่น SpaceX หรือ United Launch Alliance) ที่จะสามารถเข้าไปได้ ซึ่งทีมงานเองก็ได้เป็น Accredited Media ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2024 ทำให้มีสิทธิ์เข้าไปถ่ายภาพ ณ ฐานปล่อยได้ (อธิบายกระบวนการไว้ในบทความ เล่าประสบการณ์การทำข่าวปล่อย Falcon 9 ในฐานะสื่อของ NASA)
คุณคิดว่าการเป็นช่างภาพถ่ายจรวด หรือนักข่าวสายอวกาศ จะต้องมีทักษะอะไรบ้าง ทักษะการรอคอยหากการปล่อยจรวดถูกเลื่อน ทักษะการเขียนข่าวอย่างรวดเร็ว หรืออื่น ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่นักข่าวสายอวกาศพูดตรงกันว่าระทึกเร้าใจ ก็คือการตั้งกล้อง Remote Camera นี่แหละ Loren Grush อดีตนักข่าวอวกาศแห่ง The Verge ที่ปัจจุบันเขียนอยู่ที่ Bloomberg ได้เคยเล่าประสบการณ์ถ่ายภาพจรวดในบทความ The technology, sweat, and anxiety that goes into shooting a Falcon Heavy rocket launch บอกว่ามันคือประสบการณ์ที่น่ากระวนกระวายมากว่ากล้องจะสามารถถ่ายภาพได้หรือไม่ และนี่คือเหตุผลว่าทำไม
- อย่างแรกคือเรื่องเวลา ปกติ NASA จะอนุญาตให้ช่างภาพเข้าไปตั้งกล้องที่ประมาณ 24 ชั่วโมง จนถึง 3-4 ชั่วโมงก่อนการปล่อย แล้วแต่ภารกิจ ดังนั้นจงมั่นใจว่าแบตเตอร์รีของกล้องคุณจะไม่หมดเสียก่อน ซึ่งสบายใจได้ ปกติกล้องถ่ายภาพหากเปิดไว้ในโหมด Standby แบตควรจะอยู่ได้นานหลายวัน แต่ถ้าจรวดเลื่อนปล่อย ก็ตัวใครตัวมัน แต่ไม่ต้องกังวลไป หากจรวดเลื่อนปล่อยนาน เราจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปเปลี่ยนแบตกล้อง หรือรีเซ็ตอุปกรณ์ ทั้งนี้แล้วแต่กรณีไป
- เลือกมุมที่จะถ่ายให้ดี ปกติ NASA จะบอกล่วงหน้าว่าจะมีจุดตั้งกล้องกี่จุด ตรงไหนบ้าง และในการไปตั้งกล้องทุกคนจะไปพร้อมกัน และมีเวลาแต่ละจุดเพียงแค่ประมาณ 10-15 นาทีเท่านั้น
- ขาตั้งกล้อง ควรยึดให้มั่นคง บางทีลม ณ ฐานปล่อยอาจแรงมาก ๆ หรือหากตั้งกล้องระยะใกล้อาจได้รับผลกระทบจากแรงขับของเครื่องยนต์จรวด ดังนั้นให้หาอะไรถ่วงขาไว้ หรือบางคนเลือกที่จะยึดสมอบกไว้กับพื้นเลยทีเดียว
- ควรใช้ถุงพลาสติกคลุมกล้องเพื่อป้องกันฝน น้ำค้าง หรือเศษดิน เศษฝุ่น อะไรก็แล้วแต่ที่อาจทำอันตรายต่อกล้อง ช่างภาพสายถ่ายจรวดมืออาชีพบางคน อาจเลือกใช้กล่องโลหะที่ทำขึ้นพิเศษเพื่องานนี้โดยเฉพาะเช่นกัน
และที่สำคัญ เทคนิคการถ่ายภาพของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นมุมกล้อง การใช้ Settings ของกล้อง หรือแม้กระทั่งการตั้งค่า Sensitivty ของ MIOPS เป็นสิ่งที่ต้องลองผิดลองถูก ซึ่งในบทความนี้ทีมงานอาจจะแชร์ในมุมมองของตัวเอง แต่ก็อยากให้ลองศึกษาจากช่างภาพคนอื่น ๆ ด้วย เพราะของพวกนี้เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ไม่มีผิดถูก
ถ้าพร้อมแล้วก็ติดตามทีมงานมาเตรียมถ่ายภาพจรวด้วยกันได้เลย
ถ่ายภาพจรวด Atlas V บินขึ้นจากฐานปล่อย SLC-41
ภารกิจแรกที่เราจะมาลุยกัน ก็คือการถ่ายภาพการบินขึ้นของจรวด Atlas V และยาน Starliner ในเที่ยวบิน Crew Flight Test ซึ่งวันที่เราเข้าไปถ่ายเป็นความพยายามการปล่อยยาน Starliner ครั้งแรก ที่หลายคนรู้ผลกันแล้วว่าการปล่อยถูกเลื่อนออกไป แต่ที่เราจะพูดถึงการปล่อยในครั้งนี้กัน เพราะมันมีจุดที่น่าสนใจหลายจุดเลยทีเดียว
อย่างแรก โดยปกตินักข่าวต่างประเทศ (Forign National) จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ของกองทัพอวกาศฯ และการปล่อยรอบนี้เป็นการปล่อยจากฐานที่ตั้งอยู่ในฝั่งกองทัพฯ ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปตั้งกล้องที่ฐานปล่อยได้ แต่ NASA ก็หาวิธีเลี่ยงกฎดังกล่าว และให้เราเข้าไปตั้งกล้อง ณ จุดที่เรียกว่า Universal Camera Site 3 (UCS-3) ซึ่งอยู่ห่างจากฐานปล่อยไปประมาณ 1,200 เมตร โดยจุดนี้เป็นหนึ่งในจุดที่ NASA จะตั้งกล้องถ่ายตัวจรวดเพื่อการถ่ายทอดสด (จุด UCS จะกระจายอยู่ทั่วบริเวณฐานปล่อย)
ในรอบนี้ ทีมงานใช้กล้อง Sony A6400 และเลนส์ FE 50mm F1.8 และคลุมกล้องด้วยถุงพลาสติก แต่จะเอาตัว MIOPS ไว้ด้านนอกถุงเนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่อาจมีฝนตก และไม่ต้องการให้ MIOPS สั่งลั่นชัตเตอร์จากเสียงฝนตกลงในถุงพลาสติก ซึ่งจะทำให้เม็มของกล้องเต็มอย่างรวดเร็ว และใช้งานแบตเตอร์รี่ของกล้องเกิดความจำเป็น ทีมงานมักจะเลือกใช้ขาตั้งกล้องขนาดเล็ก อย่างในภาพจะเป็นขาตั้ง Small Rig รุ่น VT-20 ซึ่งง่ายต่อการพกพาขึ้นเครื่องบิน
และเทคนิคของทีมงานที่ใช้ตลอดก็คือ ตั้งค่าระยะโฟกัสเป็นแบบ Manual เสมอ แต่ใช้โหมดถ่ายภาพเป็นโหมด Auto เพื่อให้กล้องเลือกปรับค่าแสงและความสว่างเอง (เราแค่จะบันทึกภาพเฉย ๆ ยังไม่ได้ถ่ายแบบ Long Exposure จึงเป็นการตั้งค่าที่ปลอดภัยที่สุดก่อน) ตั้งการถ่ายภาพให้เป็นแบบต่อเนื่อง Continuous Shooting (ถ่ายแบบรัวไปหลาย ๆ ภาพ) และที่สำคัญ อย่าลืมตั้งให้ถ่ายภาพแบบไฟล์ RAW เสมอ เพื่อปรับแก้แสงในภายหลัง Sensitivity ของ MIOPS ถูกตั้งไว้อยู่ที่ 45
เราจะเห็นว่ามุมที่ทีมงานเล็งนั้นจะเหลือส่วนหัวด้านบนไว้เยอะหน่อย เนื่องจากเสียงกว่าจะใช้เวลาเดินทางมายังกล้อง จรวดก็อาจบินขึ้นจากฐานปล่อยแล้ว ทำให้เราเหลือเผื่อ Crop ดีกว่าถ่ายภาพจรวดหัวขาด
แต่อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่าในรอบนี้การปล่อยถูกเลื่อนออกไป ทำให้เราไม่ได้บันทึกภาพ Atlas V บินขึ้น แต่เราก็ได้ผ่านบทพิสูจน์แล้วว่ากล้องของเราใช้งานได้ เนื่องจากในวันเดียวกันนั้น มีการปล่อยจรวด Falcon 9 จากฐานปล่อย SLC-40 ข้าง ๆ และกล้องของเราก็สามารถบันทึกภาพตรงกับเวลาดังกล่าว แม้จะไม่ได้เห็น Falcon 9 บินขึ้นเพราะไม่ได้หันกล้องไปทางนั้น แต่ก็ถือว่าทำให้การตั้งกล้อง Remote Camera ครั้งแรกนั้นเป็นเหมือนกับการซ้อมไปในตัว
ถ่ายภาพจรวด Falcon Heavy จากมุมมหาชนของ SpaceX
ในเดือนมิถุนายน 2024 ทีมงานก็ได้มีโอกาสเดินทางไปยัง NASA Kennedy Space Center เพื่อบันทึกภาพการปล่อยจรวด Falcon Heavy ในภารกิจ GOES-U ซึ่งในรอบนี้ นอกจากจะได้รับการสนับสนุนเป็นคอนเทนต์ร่วมกับทาง BT Beartai แล้วก็เรียกได้ว่าน่าตื่นเต้นมาก ๆ เพราะจรวด Falcon Heavy เป็นจรวดหนักของ SpaceX ที่ในหนึ่งปีจะมีการปล่อยไม่กี่ครั้ง ทำให้รอบนี้ไม่พลาดที่จะตั้ง Remote Camera เพื่อบันทึกวินาทีที่จรวดบินขึ้น
และแน่นอนว่า จรวด Falcon Heavy นั้นจะบินขึ้นจากฐานปล่อย LC-39A ใน NASA Kennedy Space Center ทำให้ไม่ติดข้อจำกัดเหมือนกับจากในฐานทัพอวกาศฯ ทีมงานจึงสามารถตั้งกล้อง ณ จุดไหนก็ได้ของฐานปล่อย ซึ่ง NASA ได้วางจุดตั้งกล้องเอาไว้ 3 จุดได้แก่
- บริเวณ Beach Road ซึ่งเป็นถนนริมชายหาดบนถนนรอบนอกฐานปล่อย ห่างจากฐานปล่อยประมาณ 600 เมตร จุดนี้เราจะเห็นตัวจรวดชัดเจนสวยงาม
- บริเวณวงนอกของถนนรอบฐานปล่อย Perimeter Road ห่างจากฐานปล่อยประมาณ 700 เมตร มุมนี้เราจะเห็นเครื่องยนต์จรวดโดยไม่มีอะไรบัง
- บริเวณ Crawler Way ซึ่งมุมนี้เราจะเห็นจรวดบินขึ้นโดยมีโรงเก็บจรวดของ SpaceX อยู่เบื้องหน้า ทีมงานเรียกมุมนี้ว่ามุมมหาชน เนื่องจากเรามักจะเห็นกันในภาพ Official ต่าง ๆ ของ SpaceX ห่างจากฐานปล่อยประมาณ 700 เมตร
แต่ก่อนจะขึ้นรถไปยังจุดต่าง ๆ เนื่องจากบริเวณเหล่านี้อยู่ใกล้ฐานปล่อยมาก NASA จึงจำเป็นต้องมีการตรวจอุปกรณ์อย่างละเอียด โดยจะมีสุนัขตำรวจ K-9 มาดมหาวัตถุระเบิดที่อาจซุกซ่อนมากับอุปกรณ์กล้องของเราได้ ช่างภาพทุกคนจะต้องเอาอุปกรณ์มาวางกองรวมกันเป็นแถว แล้วให้สุนัข K-9 ดมทีละชุด ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ขึ้นรถได้
สำหรับการปล่อย Falcon Heavy ภารกิจนี้จะเกิดขึ้นเวลาประมาณ 5 โมงเย็น แต่ทาง NASA ให้เราเข้ามาตั้งกล้องช่วงประมาณตี 5 จนถึง 7 โมงเช้าของวันปล่อย ทำให้กล้องของเราจะต้องอยู่ด้วยตัวเองเป็นเวลากว่า 12 ชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งก็ถือว่าโชคดีมาก ๆ เพราะแบตเตอร์รี่กล้องยังไงก็เหลือ ๆ สำหรับกรณีนี้
ในรอบนี้ก็เช่นเคย เราเลือกที่จะคลุมอุปกรณ์กล้องเต็มรูปแบบด้วยถุงพลาสติก และเอาอุปกรณ์ MIOPS ของเรามัดไว้กับบริเวณขาตั้งแทนการใส่ไว้ที่จุด Cold Shoe บนหัวกล้องเพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ถูกสั่งถ่ายจากเสียงฝนหากเกิดฝนตก ซึ่งในรอบ
สำหรับอุปกรณ์ที่ทีมงานเลือกใช้ในภารกิจนี้นั้นก็ได้แก่ กล้อง Sony A6400 เช่นเดิม กับเลนส์ FE 24-105mm F4 G OSS ใช้ขาตั้งตัวเดิม ใช้ Settings ของกล้องเหมือนเดิมทุกประการ ได้แก่บันทึกไฟล์แบบ RAW และใช้โหมดโฟกัสแบบ Manual และการถ่ายภาพแบบ Continuous Shooting และใช้ระยะซูมอยู่ที่ 57 mm และ Sensitivity ของ MIOPS ถูกตั้งไว้อยู่ที่ 45
และนี่ก็คือภาพที่ทีมงานสามารถถ่ายได้จากภารกิจ Falcon Heavy ปล่อยดาวเทียม GOES-U ในรอบนี้ ผ่านมุมมหาชนที่เหมือนภาพถ่าย Official มาก ๆ
โดยค่าที่ระบบอัตโนมัติของกล้องเลือกถ่ายให้เรานั้นก็ได้แก่ ISO 100 ƒ4.5 ความเร็วชัตเตอร์ 1/3200s โดยกล้องของเราได้บันทึกภาพออกมา 26 ภาพด้วยกัน และภาพที่เราเห็นด้านบนก็คือเฟรมแรกที่กล้องบันทึกไว้ได้ เนื่องจากเราอยู่ห่างจากฐานปล่อย 700 เมตร ทำให้เสียงใช้เวลาเดินทางพอสมควร จริง ๆ ก็แอบฉิวเฉียดมากที่จะเกือบได้ภาพจรวดหัวขาด
ก็เรียกได้ว่าในรอบนี้ เราได้ภาพจรวดก็จริง แต่ก็ได้มาเพียงแค่ภาพเดียวเท่านั้น โชคดีที่เราเลือกใช้ระยะการซูมอยู่ที่ 57 มิลลิเมตร ทำให้ภาพออกมาค่อนข้างกว้างและยังคงเก็บรายละเอียดทั้งหมดได้อย่างสวยงาม
ทั้งหมดนี้ที่เล่ามาจะสังเกตว่ายิ่งช่วงเวลาตั้งกล้องอยู่ใกล้กับเวลาปล่อยจรวดมากแค่ไหน ก็อุปสรรคหรือตัวแปรต่าง ๆ ก็จะยิ่งง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องเจอกับสภาพอากาศ ฝนตก นกบินชนกล้อง หรืออะไรก็ตามแต่ที่จะทำให้เราพลาดช็อตสำคัญไปนั่นเอง
ถ่ายภาพ Falcon Heavy อีกครั้งจากระยะใกล้ที่สุด
ตุลาคม 2024 NASA และ SpaceX มีแผนส่งยานอวกาศ Europa Clipper เดินทางสู่ดาวพฤหัสบดีฯ ด้วยจรวด Falcon Heavy ทำให้เราได้เดินทางกลับมายัง NASA Kennedy Space Center อีกครั้ง และในรอบนี้เราก็ได้วางแผนการถ่ายภาพในมุมที่ต่างออกไปจากครั้งก่อน
ครั้งนี้โชคดีมาก ๆ เมื่อ NASA ให้เราตั้งกล้องเวลา 7 โมงเช้า เพื่อถ่ายภาพจรวดบินขึ้นตอนเที่ยงตรง 12 นาฬิกา ทำให้มีเวลาจากการตั้งกล้องจนถึงได้ถ่ายแค่ 5 ชั่วโมงเท่านั้นเป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุดที่เราเจอมา ที่สำคัญท้องฟ้าปลอดโปร่ง ไม่มีแววของเมฆฝนเนื่องจากพายุเฮอริเคนเพิ่งพัดผ่านไปแค่ไม่กี่วันก่อน ทำให้อาจเรียกได้ว่าเป็น Perfect Condition ของการทำ Camera Remote เลยก็ว่าได้
สำหรับมุมการถ่าย รอบนี้ก็จะใกล้เคียงกว่ารอบก่อน เว้นแต่ว่าในบริเวณที่เป็น Perimeter Road นั้น NASA อนุญาตให้เราตั้งกล้องติดกับรั้วของฐานปล่อย ทำให้เรามีระยะห่างระหว่างกล้องกับตัวจรวดเพียงแค่ 400 เมตรเท่านั้น เป็นระยะที่ดีมาก ๆ สำหรับการถ่ายภาพจรวดขณะที่ยังบินขึ้นจากฐานไม่สูงมากนัก แน่นอนว่าเราเลือกตั้งกล่องในจุดนี้
และด้วยสถานการณ์ที่ Perfect ขนาดนี้ ทีมงานเลือกที่จะ “ไม่คลุมกล้อง” ด้วยซ้ำ เนื่องจากไม่มีโอกาสฝนตก และเป็นการถ่ายภาพในช่วงกลางวันจึงไม่อยากให้กล้องนั้น Overheat จากความร้อน และก็ถือว่าเป็นการลองของไปในตัวว่าถ้าเราไม่คลุมกล้องจะเกิดอะไรขึ้น
อุปกรณ์ในรอบนี้เราใช้เป็น Sony A6400 เช่นเดิม (น่าจะพอเดาทางออกแล้วว่าเลือกใช้กล้องตัวถูก ถ้าพังจะได้ไม่เสียดายมากนัก) เลนส์เป็น FE 28-70mm F3.5-5.6 OSS และถูกตั้งระยะไว้อยู่ที่ 42 mm และแน่นอน Sensitivity ของ MIOPS ถูกตั้งไว้อยู่ที่ 45 ทุกอย่างคล้ายเดิม ถ่ายด้วยโหมด Continuous Shooting และนี่คือภาพที่เราได้
ไอเดียของการถ่ายภาพรอบนี้คืออยากให้เห็นเบื้องหลังการทำงานของทีมช่างภาพจากสื่อแต่ละสำนัก จึงมีการตั้งกล้องวางเอาไว้หลังกล้องของสำนักอื่น ๆ อีกที
เราจะเห็นว่าในรอบนี้ เราสามารถถ่ายภาพจรวดบินขึ้นจากฐานได้ไม่สูงมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราสามารถเล่นกับการ Crop ภาพได้เยอะ ในรอบนี้กล้องเราถ่ายภาพได้ทั้งหมด 46 เฟรมด้วยกัน ถือว่ามากที่สุดเท่าที่ลองถ่ายมา ซึ่งเราสามารถหยิบแต่ละเฟรมที่ได้มาลอง Crop เพื่อเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันไปได้
เห็นได้ชัดว่า ยิ่งถ่ายใกล้เราจะยิ่งเก็บเรื่องราวมาเล่าได้เยอะกว่าการถ่ายจากระยะไกล และหากเรานำเอาภาพทั้งหมดที่ถ่ายได้ มารวมกับเป็นภาพเคลื่อนไหวเหมือนกับการถ่ายภาพครั้งก่อน ๆ ภาพที่ได้ก็จะประมาณนี้
เราจะสังเกตว่าที่เราลองถ่ายกันมา 3 รอบนั้น จะมีกระบวนการ วิธีคิด ต่าง ๆ ที่ค่อนข้างคล้ายกัน ดังนั้นยิ่งเราทำหลายรอบเราก็จะยิ่งมีประสบการณ์และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีขึ้น แต่ก็ต้องบอกว่าทั้งสามรอบที่เราเจอมานั้น “ค่อนข้างง่าย” ทีมงานเองก็ยังไม่เคยต้องถ่ายภาพในช่วงกลางคืน หรือตั้งกล้องไว้ในช่วงฝนตก ก็คงต้องรอโอกาสถัด ๆ ไปว่าเราจะเจอโจทย์ยากกันอีกในเที่ยวบินไหน
สรุปองค์ความรู้ที่ควรมีสำหรับการถ่ายภาพ Remote Camera
สิ่งสำคัญในการถ่ายภาพปล่อยจรวดนั้นก็อาจจะไม่ได้ต่างจากการถ่ายภาพอย่างอื่นมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการ ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม เพื่อให้เวลาลงหน้างานจริงพลาดน้อยที่สุด แล้วเราจะซ้อมอย่างไร เพราะแถวบ้านเราก็ไม่ได้มีการปล่อยจรวด คำว่าซ้อมในที่นี้หมายถึงการใช้งานกล้องและอุปกรณ์ใช้ชินมือ รวมถึงการถอดประกอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ขาตั้งกล้อง การถอดเปลี่ยนเลนส์ หรือการคลุมกล้อง ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องพื้นฐานแต่พอเราไปอยู่หน้างานจริง ที่มีเวลาจำกัด มันจะต้องมีอะไรบางอย่างพลาดเสมอ ดังนั้นสิ่งสำคัญเลยคือสติ ถามตัวเองบ่อย ๆ Manual Focus หรือยัง ตั้งค่าแบบที่ตัวเองต้องการหรือยัง หรือที่สำคัญ “ลืมเปิดกล้อง” “ลืมเปิด MIOPS หรือเปล่า” ถ้าไม่มั่นใจ ตอนอยู่หน้างานแล้วยังมีเวลาให้รีบวิ่งไปเช็ค อย่าเชื่อใจตัวเองขนาดนั้น
Scott Schilke ช่างภาพสายถ่ายจรวดที่ช่วยเหลือผมในการถ่ายครั้งแรกสอนผมไว้ว่า เวลาอยู่หน้างานแล้วเจออะไรผิดพลาด “ให้ขอความช่วยเหลือคนอื่นเสมอ” เป็นเรื่องปกติที่ช่างภาพสายถ่ายจรวดทุกคนจะช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เสียหาย ลืมของสำคัญ (เช่น แบตเตอร์รีกล้อง เมมโมรีการ์ด เป็นต้น) แต่ให้ขอความช่วยเหลือตอนที่เขา Setup อุปกรณ์เสร็จแล้ว และเริ่มทำอย่างอื่นเช่น หยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูป เพราะบางทีคนอื่นเขาก็อาจจะกำลังฉิบหายเหมือนกับเราอยู่เหมือนกัน (ฮา)
และเมื่อเราฝึกฝนไปเรื่อย ๆ เราก็จะสามารถเล่นกับเทคนิคต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างเทคนิคที่ยากขึ้นมาก็เช่น การถ่ายภาพแบบใกล้ ๆ ด้วยเลนส์แบบ Tele ซึ่งจะทำให้เราซูมเข้าไปเป็นรายละเอียดของเครื่องยนต์จรวดและเปลวไฟที่กำลังพุ่งออกมา ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้นั้นก็คงต้องถ่ายมุมกว้างให้รอดก่อน
หรือแม้กระทั่งการนำเอาเทคนิคการถ่ายแบบ Long Exposure หรือการเปิดชัตเตอร์ไว้นานหลายวินาที ซึ่งปกติจะถ่ายภาพจรวดให้เป็นเส้นจากระยะไกล มาถ่ายในระยะใกล้ดูบ้างก็จะทำให้เราได้ภาพที่สวยงามออกมาดังเช่นตัวอย่างด้านล่างนี้ ซึ่งเราก็จะต้องวางแผนว่าเวลาที่ใช้จะกี่วินาที Settings ที่ใช้จะต้องเป็นแบบไหน ต้องใส่ Filter หรือไม่มีค่า ND อยู่ที่เท่าไหร่
และอีกสิ่งหนึ่งที่ทีมงานใช้ในการฝึกก็คือ ใช้การ “อ่าน” ภาพถ่ายของคนอื่นที่มีประสบการณ์มากกว่าเรา ว่าเขาใช้เทคนิคแบบไหน ตั้งกล้องมุมไหน แบบไหน แล้วพยายามทำความเข้าใจว่าถ้าเราจะถ่ายภาพแบบนี้บ้างเราต้องรู้อะไร ตั้ง Settings แบบไหน หรือใช้อุปกรณ์แบบใด ยิ่งเราเห็นภาพตัวอย่างเยอะ เราก็จะยิ่งเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ และที่สำคัญเลยก็คืออย่ากลัวที่จะถามเพื่อน ๆ ช่างภาพที่มีประสบการณ์มากกว่าเรา เพราะจริง ๆ ในโลกนี้ ช่างภาพสายถ่ายจรวดมันก็มีไม่เยอะมากนัก แล้วหลาย ๆ คนก็แทบจะรู้จักกันหมด
และที่สำคัญที่ทีมงานทำบทความนี้ขึ้นก็เพื่ออยากจะสร้างแรงบันดาลใจ และบอกถึงความเป็นไปได้ว่าการอยากเป็นช่างภาพสายถ่ายจรวด เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และถ้าเราทำงานมากพอ มีเป้าหมายชัดเจน เราก็จะได้มาอยู่ในแวดวงของนักข่าวสายอวกาศระดับโลกได้ และได้กลายเป็น Accredited Media ที่สามารถเดินเข้ามาตั้งกล้อง ณ ฐานปล่อยได้แบบที่ทีมงานสเปซทีเอชกลายเป็นสื่อไทยเจ้าแรกที่ได้เข้ามาทำสิ่งนี้
เนื้อหาแถม รู้หรือไม่ Bill Ingalls ช่างภาพของ NASA เคยลงภาพกล้อง Cannon ของเขาละลายขณะที่ถ่ายจรวด Falcon 9 ทำภารกิจ Iridium Next โดยบินขึ้นจากฐานปล่อยในฐานทัพอวกาศ Vandanberg ในรัฐแคลิฟอร์เนีย หลายคนอาจจะเข้าใจว่ากล้องของเขานั้นละลายจากความร้อนของเครื่องยนต์จรวด แต่ที่จริงแล้ว กล้องของเขานั้นละลายจากไฟที่เกิดจากเครื่องยนต์ที่ไหม้หญ้าแล้วลามมาที่กล้องของเขาต่างหาก
จากระยะปกติที่เราตั้ง Remote Camera กันแล้ว ที่อยู่ประมาณ 200-700 เมตร ระยะห่างนี้ไม่สามารถทำให้กล้องละลายได้ แต่กล้องอาจเสียหายจากปัจจัยแวดล้อม ทำให้โอกาสที่กล้องจะเสียหายจากการตั้ง Remote Camera นั้นอาจขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ท่านทำมา
หวังว่าบทความนี้จะแชร์ความรู้ให้กับทุกท่านได้ไม่มากก็น้อย
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co