โมดูลใหม่ Prichal กับยานอวกาศหัวโตน่าเกลียด และอนาคตของรัสเซียกับ ISS

26 พฤศจิกายน ยานอวกาศ Progress M-UM รุ่นพิเศษ ได้นำเอาโมดูลใหม่ขนาดกว้าง 3 เมตร สูง 5 เมตร ขึ้นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยเชื่อมต่อกับโมดูล Nauka ที่รัสเซียส่งขึ้นไปก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2021 โมดูลใหม่นี้มีชื่อว่า Причал (อ่านว่า ปริฉาล) แปลว่าท่าเทียบ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Berth ซึ่งมีรากศัพท์มาจากการเดินเรือ ในปัจจุบันในอวกาศมีความหมายเดียวกับคำว่า Dock เมื่อเป็นคำกริยาเราจะคุ้นชินกับคำว่า Bearthing หรือ Docking กันเป็นประจำ

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารัสเซียประกาศถอนตัวจากโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ หลังจากการประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะเข้าร่วมทำโครงการสำรวจดวงจันทร์กับจีน (อ่าน – CNSA และ Roscosmos ร่วมมือ ประกาศสร้าง International Lunar Research Station บนดวงจันทร์ ) นอกจากนี้ รัสเซียยังประกาศที่จะสร้างสถานีอวกาศของตัวเองใหม่อีกหนึ่งแห่ง ที่ชื่อว่า Russsian Orbital Service Station (ROSS) แต่แผนทั้งหมดก็ยังคงไม่ปรากฎแน่ชัด

รัสเซียกับอนาคตของสถานีอวกาศ

ก่อนอื่นเราต้องย้อนกลับมามองส่วนของรัสเซียบนสถานีอวกาศนานาชาติปัจจุบันเสียก่อน รัสเซียนับว่าเป็นชาติแรกที่ส่งโมดูลของสถานีอวกาศนานาชาติขึ้นไป นั่นก็คือ Zarya (ซาเรีย) ตั้งแต่ปี 1998 จากนั้นฝั่งสหรัฐฯ ก็ส่งโมดูล Unity ขึ้นไป Dock ในขณะที่รัสเซียเองก็ส่งโมดูลขนาดใหญ่อีกตัวขึ้นไปต่อ ชื่อว่า Zvesda นอกจากนั้นก็เป็นโมดูลจิ๋ว ๆ เล็ก ๆ เท่านั้น ทำให้ถ้าพูดกันตรง ๆ รัสเซียมีโมดูลหลัก ๆ บนสถานีอวกาศนานาชาติเพียงแค่ 2 โมดูล คือ Zarya และ Zvesda

หน้าตาของสถานีอวกาศนานาชาติปัจจุบัน ที่มา – NASA/Roskosmos

หลังจากนั้นรัสเซียก็มีแผนที่ชื่อว่า Orbital Piloted Assembly and Experiment Complex หรือ OPSEK ซึ่งเป็นแผนการก่อสร้างส่วนของรัสเซียบนสถานีอวกาศนานาชาติเรื่อย ๆ โดยมีความเป็นไปได้ว่ารัสเซียจะแยกส่วนของตัวเองออกมาจากสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อเป็นสถานีอวกาศแห่งใหม่ แต่รัสเซียก็ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะมีการแยกตัวออกมา และแม้ว่าแผน OPSEK จะถูกบอกว่ายกเลิกโครงการแล้วในปี 2017 แต่โครงการการก่อสร้างต่อเติมสถานีอวกาศในส่วนของรัสเซียก็ยังคงดำเนินต่อมา

อย่างที่เราทราบกันดีว่าในปี 2021 รัสเซียสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ด้วยการต่อเติมโมดูลใหม่ขนาดใหญ่ให้กับ ISS ในส่วนของรัสเซียในรอบเกือบ 20 ปี ด้วยการส่งโมดูล Nauka ขึ้นไปเชื่อมต่อ (อ่าน – Nauka จากรัสเซีย โมดูลสุดท้ายของสถานีอวกาศนานาชาติ ในปีที่ 23) ซึ่งทั้ง Nauka และ Prichal ก็นับว่าเป็นโมดูลในแผนสำคัญของโครงการ OPSEK

แต่!! สิ่งนี้เองก็นำมาซึ่งคำถาม ถ้าเราไล่เรียง Timeline กัน ดี ๆ เราจะเห็นอะไรหลาย ๆ อย่าง

  • 1998 รัสเซียเริ่มต้นเป็นหัวสำคัญในการก่อสร้าง ISS และร่วมก่อสร้างส่วนประกอบสำคัญ ๆ มาตลอด
  • 2009 รัสเซียเริ่มต้นโครงการ OPSEK ซึ่งโมดูล Nauka และ Prichal ก็เหมือนว่าจะถูกวางแผนให้ส่งไปช่วงนั้น
  • 2017 และ 2018 รัสเซียประกาศยกเลิกโครงการ OPSEK ประกาศถอนตัวจากโครงการ Artemis และเริ่มมีข่าวว่าอาจจะร่วมมือกับจีนในการสำรวจอวกาศ
  • 2020 และ 2021 รัสเซียประกาศร่วมมือสำรวจอวกาศกับจีนอย่างเป็นทางการ ประกาศถอนตัวจากโครงการ ISS ภายในปี 2024 (ซึ่งตรงกับ Artemis พอดี) รวมถึงประกาศสร้างสถานีอวกาศใหม่ของตัวเองชื่อ ROSS
  • 2021 รัสเซียส่งโมดูล Nauka และ Prichal ขึ้นไปเทียบกับสถานีอวกาศนานาชาติ ตามแผนของ OPSEK เป๊ะ ๆ

คำถามก็คือ ถ้ารัสเซียจะสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ ROSS ขึ้นมาแต่เดิมโดยไม่ใช้โมดูลจากโครงการ OPSEK มีเหตุผลอะไรที่รัสเซียจะต้องส่ง Nauka และ Prichal ขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติอีก?

จริงอยู่ที่ว่ารัสเซียสร้าง Nauka และ Prichal เสร็จแล้วดังนั้นปล่อย ๆ ขึ้นไปมันก็ไม่เสียหายอะไร แต่ ทำไมรัสเซียไม่เก็บทั้ง Nauka และ Prichal ไว้เป็น Core Module ของ ROSS ทำไมต้องมาทำตามแผน OPSEK ทั้ง ๆ ที่รัสเซียจะอยู่กับสถานีอวกาศนานาชาติอีกแค่ 2 ปี เท่านั้น

ภาพ Render ของสถานีอวกาศแห่งใหม่ของรัสเซีย ที่ประกอบด้วยโมดูล Nauka และ Prichal ที่มา – Anatoly Zak

เป็นไปได้หรือไม่ที่แม้ว่ารัสเซียจะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีแผนจะแยกโมดูลของ ISS ออกไปเป็นสถานีอวกาศของตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วรัสเซียกำลังคิดสิ่งนั้นอยู่ เมื่อดูจากท่าทีของรัสเซียตอนนี้ ซึ่งก็นำมาที่คำถามว่า แล้วแยกออกไปเยอะแค่ไหน?

ถ้าเอาแบบสมเหตุสมผลมากที่สุดก็น่าจะตอบได้ว่า ก็น่าจะแยกเฉพาะ Nauka และ Prichal เท่านั้นแหละ เพราะโมดูลฝั่งรัสเซียอื่น ๆ รวมถึง Zvesda และ Zarya นั้นนับว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 20 ปี รวมถึงโมดูลเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น ๆ เช่น Rasvett และ Poisk ก็ไม่ได้น่าเก็บไว้ขนาดนั้น

แล้วก็อย่าลืมว่า Prichal นั้นมันคือสิ่งที่เรียกว่า Node Module คือแกนกลางของตัวสถานีในการต่อกับโมดูลอื่น ๆ ทำให้มันมี Port เชื่อมต่อถึง 6 Port ในทุกทิศทาง ซึ่งพอมันถูกเอาไปเชื่อมต่อกับ Nauka ก็ทำให้มันคือ Core Module ของสถานีอวกาศดี ๆ นี่เอง เพราะ Port ที่เหลืออีก 5 Port รัสเซียคงไม่ได้ต้องการที่จะเอา Soyuz, Progress ไป Dock กันขนาดนั้น กับเวลาอีกแค่ 2 ปีกับ ISS

นี่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามว่ารัสเซียจะเอายังไงกันแน่ และ ROSS (ซึ่งก็ยังไม่มีใครเคยเห็นหน้าตาของมัน) จะเป็นยังไง และถ้ารัสเซียจะถอนตัวจาก ISS 2 ปี รัสเซียจะทำ Core Module ของ ROSS ทันเหรอถ้าไม่ใช่ใช้ส่วนที่แยกออกมาจาก ISS ตามแผน OPSEK เดิม

เบื้องหลังการเชื่อมต่อโมดูล Prichal ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

พักเรื่องการเมืองกันซักครู่ เราจะมาดูสิ่งที่น่าสนใจในการเชื่อมต่อของโมดูล Prichal บ้าง เราจะเห็นว่าการต่อ Nauka เข้ากับ ISS นั้น เริ่มต้นด้วยการปลดโมดูล Pirs ทิ้ง แล้วส่ง Nauka บินดุ่ย ๆ เข้าไปต่อเลยไม่ต้องใช้กระสวยอวกาศ หรืออะไรขนไป เพราะ Nauka มันสามารถเดินทางได้เอง มีระบบควบคุม และเครื่องยนต์ เหมือนกับ Zvesda และ Zarya

อ่านเพิ่มเติม – ประกอบโมดูลใหม่ ISS อย่างไร ในยุคที่ไร้กระสวยอวกาศ เบื้องหลังการต่อ Nauka เข้ากับ ISS

ในห้องประกอบโมดูล จะเห็นว่า Prichal (สีขาว) ถูกนำขึ้นไปแทนที่ส่วนบรรทุกด้านหน้าของยาน Progress ที่มา – Roskosmos

แต่โมดูลอย่าง Pirs, Rasvett, Poisk นั้น มันคือก้อนกลม ๆ ขนาดเล็ก ซึ่งไม่สามารถบินไปต่อเองได้ ปกติรัสเซียจะใช้วิธีเอาโมดูลพวกนี้เสียบไว้กับหัวของยาน Progress แล้วส่งขึ้นไป ซึ่งสำหรับโมดูล Prichal นี้ก็เช่นกัน มันถูกเอาไปต่อแทนที่หัวของยาน Progress ที่ปกติใช้ส่งเสบียงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ

จากนั้นก็ใช้วิธีการเหมือนกับส่งยาน Progress ปกติ คือจุดจรวดบินขึ้นไป แล้วยาน Progress ที่ตรงหัวมี Prichal เสียบอยู่ก็จะไปเชื่อมต่อกับโมดูล Nauka ที่เพิ่งถูกส่งขึ้นไป โดย Progress M-UM ในภารกิจนี้ถูกส่งขึ้นไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2021 หน้าตาตอนปล่อยก็เหมือนกับการส่ง Progress ปกติ แต่พอดีดฝาครอบออกมาเท่านั้นแหละ แม่ง Progress หัวโต

ภาพการส่งยาน Progress M-UM ที่มา – Roskosmos

และหลังจากนั้น Progress หัวโตน่าเกลียด ก็จะบินไปเชื่อมต่อกับ Nauka ในส่วนของ Port ฝั่งหัวหน้าเข้าหาโลก (ที่เรียกว่า Nadir) ตามปกติทุกประกาศ โดยการเชื่อมต่อก็เกิดขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2021 โดยรอบนี้เรียบร้อยไม่มีปัญหาใด ๆ

Progress ของน้องน่าเกลียดมาก ฉีดวัคซีนให้มันครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ น้องต้องหมั่นฉีดวัคซีนให้ยานอวกาศนะ ไม่งั้นอาจเป็นภาระของสังคมได้

และหลังจากนั้น Prichal ก็จะเข้าไปเสียบกับ Port ฝั่งไต้ของ Nauka ซึ่งได้มีการถอดเอา Docking Adapter ชั่วคราวออกไปทิ้งพร้อมกับยาน Progress ลำก่อนหน้าเรียบร้อย และหลังจากการเชื่อมต่อของ Prichal ก็จะมีการปลด Progress ที่มีแต่ตัวไม่มีหัวทิ้งไป

และนี่ก็จะทำให้ Nauka มีพื้นที่เพิ่มขึ้นเยอะมากด้วย ที่สำคัญคือ Port การเชื่อมต่ออีก 5 Port ที่เหลือนี่เรียกได้ว่า เอา Soyuz, Progress มาต่อกัน 5 ลำได้เลย (แต่รัสเซียไม่ทำหรอกจะย้ายอยู่แล้ว)

สรุแปผนการเดินทางจากโลกสู่สถานีอวกาศของยาน Progress M-UM และ Prichal

ก็คงต้องรอดูต่อไปว่ารัสเซียจะเอาอย่างไรกับโครงการสถานีอวกาศใหม่ของตัวเอง ซึ่งถ้ารัสเซียเลือกที่จะ Undock Nauka ออกไปจากสถานีอวกาศนานาชาติพร้อมกับ Prichal ก็เรียกได้ว่าแกงสมาชิกโครงการสถานีอวกาศนานาชาติเลย แต่ถ้ารัสเซียเลือกที่จะส่ง Nauka และ Prichal ขึ้นไปบนสถานีและใช้งานมันเพียงแค่ 2-3 ปี ก็นับว่าไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงไปอีก

ทั้งนี้การแยกตัวโมดูลต่าง ๆ หนีจาก ISS ก่อนที่มันจะถูกปลดประจำการ (และอาจถูก De-orbit ลงโลก) ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แม้กระทั่งในฝั่งสหรัฐฯ โครงการอย่าง Axiom ก็เลือกที่จะขอ Host อยู่กับสถานีอวกาศนานาชาติก่อนที่จะแยกตัวออกมาอยู่เดี่ยว ๆ เช่นกัน

อ่าน – Axiom แบบสถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกสำหรับนักท่องเที่ยว ที่พร้อมก่อสร้างปี 2024 นี้

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spcaeth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.