ผู้เขียนเป็นคนนึงที่ไม่ได้ชอบเดิน Museum ขนาดนั้น แต่เท่าที่ฟังจากเพื่อน ๆ สาย Museum หลายคน การเดิน Museum นั้น ไม่ใช่แค่การเดินชมวัตถุ แต่เป็นการฟังเรื่องราวและวิธีคิด ที่ผู้จัดหรืออกแบบจัดวางมันขึ้นมา เหมือนกับการดูหนังเรื่องหนึ่งหรือการอ่านหนังสือเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ว่าวัตถุหรือเรื่องราวตรงนั้น ปรากฎอยู่ตรงหน้าเรา
กลางเดือนมีนาคม 2019 ปลายฤดูหนาว ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเยือน MIT Media Lab ที่เมือง Cambridge ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้ใช้โอกาสช่วง Weekend บินจากบอสตันมา Wahsington DC เมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อชม Museum แทบจะทุกแนว ซึ่ง DC นั้นเป็นเมืองแห่ง Museum เลยก็ว่าได้ ถ้าเรากางแผนผังของเมืองมาดูออก เราจะเห็นบริเวณสวนตรงกลางที่ใหญ่มาก ๆ เราเรียกตรงนั้นว่า National mall ซึ่งก็จะรายล้อมไปด้วย Museum ต่าง ๆ และสถานที่สำคัญ ๆ เช่น White House หรืออาคาร Capital Building ของสหรัฐฯ
แต่ Museum ที่เราไม่สามารถพลาดได้ในฐานะที่เป็นแฟนพันธุ์แท้อวกาศ ก็คือ National Air and Space Museum ซึ่งก็ตั้งอยู่กลาง National mall เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ใครที่มาถึง DC แล้ว ต้องมาดูซักครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะชอบหรือไม่ชอบเรื่องอวกาศก็ตาม
สำหรับการเดินทางครั้งนี้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไปเยี่ยมชม MIT Space Week ซึ่งสนับสนุนโดย สถานทูตสหรัฐอเมริกา และเว็บไซต์ Dek-D ที่ต้องการสนับสนุนคอนเทนต์ดี ๆ และเรื่องราวที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กไทย
วันที่เราไปนั้น น่าเสียดายนิดนึง ตรงที่บางโซนนั้นปิดปรับปรุง เพื่อจัดนิทรรศการใหม่ในธีมครบรอบ 50 ปีการลงจอดดวงจันทร์ (เราชอบ Museum ที่มีการปรับปรุงเพื่อให้ทันต่อกระแสในตอนนั้นเสมอ ๆ) แต่เราก็ได้เดินชมแทบจะ 80% ของบริเวณทั้งหมด และได้พบกับอะไรหลาย ๆ อย่างที่น่าสนใจมาก
เดินเข้าไป เราก็จะอยู่ในห้องโถงขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วน Reception แต่บริเวณนี้ก็มีการจัดแสดงแล้ว มองขึ้นไปเราจะเห็นยานอวกาศต่าง ๆ ในรูปหลัก ๆ 3 อันก็ได้แก่ยาน Voyager ยานสำรวจที่ถูกส่งไปนอกระบบสุริยะ ยาน Mariner ที่สำรวจดาวศุกร์ และยาน Space Ship One ของ Virgin Galactic
หันมาอีกมุมก็จะเจอกับเครื่อง X-15 ที่ถ้าใครดูหนังเรื่อง First Man มา มันคือเครื่องบินที่ Niel Armstrong บินตอนต้นเรื่อง ซึ่งเป็นเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงที่ใช้เครื่องยนต์จรวด พามันไปบินแตะขอบอวกาศ ซึ่งลำที่จัดแสดงอยู่นี้ Official บอกว่า เป็น X-15 ลำแรกที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วย กราบซิลูก
เดินต่อมาเราจะเห็นกับ Lunar Module หรือส่วนที่เดินทางไปลงจอดดวงจันทร์ในภารกิจ Apollo ต่าง ๆ ซึ่งตัวที่จัดแสดงอยู่นี้คือ LM-2 เป็นโมดูลจริง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบเพื่อใช้ทดสอบ ดังนั้นที่ไม่ใช่โมเดลหลอกเด็ก แต่เป็นงานวิศวกรรมอวกาศของจริง
จะเริ่มเห็นแล้วว่า วัตถุต่าง ๆ ใน National Air and Space Museum นั้นมีเรื่องราวและที่มาจริง ๆ ดังนั้น ถ้าใครจะไปเยี่ยมชมให้ละเอียดอาจจะต้องใช้เวลาประมาณครึ่งวันไปเลย และทำ Research ก่อนไปดูเยอะ ๆ จะทำให้เราตื่นเต้นมากขึ้น
หันไปทางซ้ายของโถง เราจะเห็นโซนจัดแสดง ICBM หรือขีปนาวุธข้ามทวีป ซึ่งอันนี้ก็เป็นของจริงเหมือนกัน ส่งมาให้จากสหภาพโซเวียต (แบบค่อย ๆ ส่ง ไม่ได้ยิงใส่) เลขที่ปรากฎด้านข้างนี้ไม่ใช่ลายเพื่อความสวยงามแต่อย่างใด แต่เป็นหมายเลขของแผ่นกระเบื้อง Fiberglass สำหรับอ้างอิงในกระบวนการผลิต ตัวนี้ชื่อว่า Pioneer สูง 16.5 เมตร
ในปี 1962 นักบินอวกาศชาวอเมริกัน John Glenn เดินทางโคจรรอบโลกครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านั้น Alan Shapperd นักบินอวกาศคนแรกของสหรัฐอเมริกาได้ขึ้นสู่อวกาศในเที่ยวบินแบบ Sub-orbital คือการขึ้นสู่อวกาศแต่ไม่ได้โคจรรอบโลก ทำให้ยานที่ชื่อว่า Mercury Friendship 7 กลายเป็นยานอวกาศลำแรกที่พาชาวอเมริกันเดินทางรอบโลก ซึ่งยานอวกาศลำนี้ก็ได้ถูกจัดแสดงไว้ใน Air and Space Museum เช่นกัน
อย่าลืมว่าตรงนี้แล้วยังไม่จบในห้องโถงแรกกันเลย แค่นี้ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวและวัตถุประวัติศาสตร์แล้ว
เดินลึกเข้ามาหน่อยกจะเจออีก 1 วัตถุสำคัญ สิ่งนั้นก็คือดาวเทียม Telstar ซึ่งดวงนี้ คือดาวเทียมที่ถูกสร้างขึ้นมาแบบเดียวกับ Telstar 1 และ 2 เป๊ะ ๆ เนื่องจากถูกใช้เป็นดวง Backup ทำให้ที่เห็นอยู่ตรงหน้าเราคือดาวเทียมจริง ๆ
ทีมงานเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับ Telstar ไว้ในบทความ Adidas Telstar ที่มาของลูกบอลลายยอดฮิต จริง ๆ แล้วมาจากอวกาศ
ในบริเวณที่เราเดินต่อมา เหมาะสำหรับการเดินไปแล้วอ่านบทความเรื่อง ประวัติศาสตร์จรวด อาวุธสังหารสู่สะพานเชื่อมดวงดาว ไปมาก ๆ เนื่องจากบริเวณนี้ มีการจัดแสดงจรวดประวัติศาสตร์ต่าง ๆ รวมถึง V2 จรวดที่นำมาสู่การพัฒนาด้านอวกาศปัจจุบัน ซึ่งลำที่จัดแสดงอยู่นี้ และ Viking จรวดที่สร้างขึ้นมาจากการศึกษา V2
บริเวณนี้มีชื่อว่า Space Race Exhibition ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวการแข่งขันกันสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ดังนั้นเราจะเห็นจรวดรุ่นต่าง ๆ จัดแสดงอยู่
เดินมาอีกก็จะเห็นหนึ่งในวัตถุอวกาศที่คนจำได้ง่ายที่สุดก็คือกล้อง Hubble ซึ่งตัวนี้ ไม่ใช่ของจริง (แน่นอนแหละ) แต่เป็น full-scale mockup สำหรับใช้ทดสอบต่าง ๆ เช่น การขนย้าย หรือการ Mount เข้ากับตัวกระสวยอวกาศ ซึ่งตัวที่จัดแสดงอยู่นี้ เรียกว่า Dynamic Test Vehicle (SDTV)
และถ้ายัง Exclusive ไม่พอ สิ่งที่ปรากฎตรงหน้าเราตรงนี้คือ Wide Field Planetary Camera II หรือ WFPC 2 ซึ่งตัวนี้อธิบายง่าย ๆ มันคือส่วนของ Sensor ของ Hubble ที่ถูกส่งไปเปลี่ยนในปี 1993 ในภารกิจการซ่อม Hubble ครั้งแรก และในปี 2009 มันถูกถอดและนำกลับลงมาที่โลกในภารกิจการซ่อมแซมกล้อง Hubble คือภารกิจ STS-125 ดังนั้น WFPC ตัวนี้ผ่านภารกิจมาแล้วจริง ๆ
นั่นทำให้เราพูดได้ว่า ภาพประวัติศาสตร์หลาย ๆ ภาพที่เราเห็นกันนั้นถ่ายด้วยอุปกรณ์ตรงหน้านี้ รวมถึงภาพประวัติศาสตร์ “Hubble Deep Field” ในปี 1995 ด้วย ยังไม่รวมภาพถ่ายประวัติศาสตร์ต่าง ๆ
จริง ๆ แล้วตรงบริเวณ Hubble นั้นมีอะไรแสดงอยู่หลายอย่างมาก ถ่ายมาให้ดูไม่หมด รวมถึงมีกระจก Backup ของ Hubble ด้วย แต่อันนั้นไม่ได้น่าตื่นเต้นมาก เพราะเราเคยพาไปดูกระจกของกล้อง Thailand National Telescope บนดอยอินทนนท์มาแล้ว ซึ่งก็เป็นกระจกแบบ 2.4 เมตรเหมือนกัน
ยังอยู่ในโซน Space Race ยาน Soyuz ที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้เป็น Soyuz ในภารกิจ TM-11 ที่นำนักบินอวกาศ Gennadi Manakov และ Gennadi Strekalov รวมถึงคุณ Toyohiro Akiyama “นักข่าว” ชาวญี่ปุ่นคนแรกที่เดินทางไปในอวกาศ ในปี 1990 ทำให้ยานลำนี้เก่าแก่อายุเกือบ 30 ปี
เมื่อพูดถึง Space Race แล้ว นอกจากการแข่งกันส่งดาวเทียม การแข่งกันส่งคนไปโคจรรอบโลก อีกการแข่งขันหนึ่งก็คือการแข่งขันไปยังดวงจันทร์ ซึ่งเรารู้ว่าอเมริกาประสบความสำเร็จในปี 1969 ส่วนสหภาพโซเวียตนั้น ไม่เคยไปถึงดวงจันทร์ด้วยมนุษย์เลย (แม้ว่าตัวเองจะลงจอดบนดวงจันทร์ได้ก่อน) ทำให้ชุดที่ไม่มีโอกาสได้ใช้นี้มีความพิเศษและแสดงถึงเรื่องราวการเดินทางที่ไม่ถึงเป้าหมายของนักบินอวกาศโซเวียต
วางอยู่ข้าง ๆ กันคือตัวแทนของความสำเร็จ ชุดของนักบินอวกาศ David Scott ที่เขาเคยใส่เดินบนดวงจันทร์ในภารกิจ Apollo 15 ในปี 1970 เพียงแค่ 1 ปีหลังจากการลงจอดของ Apollo 11 และหลังจากการเฉียดตายของ Apollo 13
สิ่งที่น่าจดจำอีกอย่างนึงของชุดนี้ก็คือ David Scott ได้นำ “Fallen Astronaut” ไปวางไว้บนดวงจันทร์เพื่อแสดงความเคารพแก่นักบินอวกาศผู้ล่วงลับทั้งหลาย ทั้งทางฝั่งอเมริกาและฝั่งโซเวียต เพื่อบอกว่า แม้เราจะแข่งขันกัน แต่เราคือเพื่อนกัน เพื่อนนักสำรวจอวกาศ
และย้อนกลับไปอีก ความสำเร็จทั้งหลาย จะไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้าเราไม่มีผู้กล้าสองคนที่ชื่อ Yuri Gagarin และ John Glenn นักบินอวกาศคนแรกที่เดินทางรอบโลกจากสองฝั่งทั้งสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ซึ่งชุดของพวกเขาทั้งสองนั้นก็ได้แสดงอยู่ที่นี่ด้วย
ชุดนี้แม้จะไม่ใช่ชุดในเที่ยวบินประวัติศาสตร์ของทั้งคู่ แต่ก็เป็นชุดที่ถูกสวมแล้วสำหรับการฝึก ทำให้ขนาดของชุดที่ต่างกัน เราสามารถจินตนาการถึงทั้งคู่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อผู้เขียนมองไปที่ชุดนี้แล้ว มันสัมผัสได้ถึง Spirit ที่ไม่ใช่วิญญาณในความเชื่อทางศาสนา แต่เป็นจิตวิญญาณของความกล้าหาญ ความเป็นนักบินอวกาศ และผู้กล้า ผู้เสียสละ ในแบบที่อธิบายไม่ถูก แต่มันทรงพลังมากจริง ๆ
ถ้ายังจำกันได้ การส่งดาวเทียม Vanguard TV3 นั้นจบลงในกองเพลิงเมื่อจรวดนำส่งเกิดระเบิดขึ้นในปี 1957 แต่ตัวดาวเทียมนั้นกลับรอดมาได้ในรูปแบบของซาก ซึ่งซากนั้นก็ได้ถูกนำมาจัดแสดงไว้ในที่นี่ด้วย
นปี 1954 อเมริกาก็ได้เริ่มต้นโครงการ “Project Orbiter” ที่ต้องการส่งดาวเทียมเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์สู่อวกาศภายในปี โดยใช้จรวดมิสไซล์ Redstone แต่กลับถูกทางสำนักประธานาธิบดีปฏิเสธ แล้วหันไปสนับสนุนโครงการแวนการ์ดแทน ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขาพยายามที่จะหลีกเลี่ยงกิจกรรมของกองทัพและทำให้ดูเป็นกิจการของพลเรือนมากขึ้น ดังนั้น Vanguard จึงเกิดมาพร้อม ๆ กับ NASA เลยทีเดียว
หมดจากยุคสงครามเย็นก็เป็นยุคของกระสวยอวกาศ ซึ่งที่นี่แม้จะไม่ได้มีกระสวยอวกาศให้ดูแต่ก็มีเครื่องยนต์ RS-25D หรือ Shuttle Main Engine ของกระสวยอวกาศมาจัดแสดงด้วย
เครื่องยนต์ตัวนี้เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ในการกิจ STS-30 ของกระสวยอวกาศ Atlantis ที่ใช้ในการส่งยาน Magellan ขึ้นสู่อวกาศในปี 1989 และ STS-34 ในปี 1989 ที่ส่งยาน Galileo เดินทางไปยังดาวพฤหัส และอีกหลาย ๆ ภารกิจสำคัญ ๆ ไม่ต่ำกว่า 6 ภารกิจ
อีกหนึ่งสิ่งที่จัดแสดงที่รู้สึกว่าน่าทึ่งก็คืออุปกรณ์ที่ใช้ในภารกิจ Stardust หรือ “ละอองดาว” ที่เดินทางไปเก็บตัวอย่างละอองดาวหาง Wild 2 ในปี 1999 และส่งกลับมายังโลกในปี 2006 เป็นภารกิจแบบ Sample Return Mission
วิธีการของ Status คือใช้วัสดุที่ชื่อว่า Aerogel เป็นตัวดักจับฝุ่นละอองของดาวหาง จากนั้นเก็บกลับเข้ามาในตัว Capslule ผ่านอุณหภูมิกว่า 2,900 องศาเซลเซียส ร้อนกว่าผิวของดวงอาทิตย์ และตกกลับลงมาด้วยอัตราเร็ว 12.9 กิโลเมตรต่อวินาที เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของการ Reentry วัตถุกลับจากอวกาศ
จริง ๆ แล้วใน National Air and Space Museum นั้นยังมีอะไรอีกหลาย ๆ อย่างที่ให้เราไปค้นหา สลับผัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ดังนั้นไปแต่ละครั้ง เราจะได้ชมอะไรที่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว อย่างเช่นรอบนี้ เราได้ชมไอเทมจากฝั่ง Hubble เยอะหน่อย ในขณะที่ยาน Apollo 11 ถูกเก็บไปเพื่อไปเตรียมจัดแสดงในโอกาสครบรอบ 50 ปี Apollo
ผู้เขียนเองคงพาชมได้ไม่หมด แต่สิ่งที่อยากจะให้รับรู้ไว้ก็คือถ้ามีโอกาสได้เดินทาไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและได้ไปเยือนกรุง Washington DC แล้วละก็ อย่าลืมหาโอกาสไปชม National Air and Space Museum ซักครั้งเพื่อรับพลัง รับแรงบันดาลใจ และมองประวัติศาสตร์ของการสำรวจอวกาศของมนุษย์ผ่านวัตถุและเรื่องราวพวกนี้
อย่าลืมว่าอวกาศนั้นคือพรมแดนสุดท้ายที่มนุษย์ต้องก้าวข้าม เราเดินทางรอบโลก เราสร้างเครื่องบินที่เดินทางข้ามแอตแลนติก และตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่ผ่านมานับจากวันแรกที่จรวดลำแรกถูกส่งขึ้นไป มันไม่ถึง 100 ปีด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับกรอบเวลาใหญ่ของมนุษยชาติที่ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกแล้ว มันแทบจะเป็นแค่เสี้ยววินาที แต่เสี้ยววินาทีนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ การส่งคนไปดวงจันทร์ ส่งยานไปสัมผัสดวงอาทิตย์ ส่งยานออกนอกระบบสุริยะ และถ่ายภาพหลุมดำ
ในชั่วชีวิตนี้ เราได้เห็น ได้สัมผัส และจะได้ร่วมเป็นพยานในอีกหลาย ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้น พูดได้ว่าเป็นยุคที่น่าตื่นเต้นที่สุด และเมื่อมนุษย์ย้อนมองกลับมา นี่จะเป็นยุคที่น่าจดจำไม่แพ้ยุคเรเรซองส์ หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม
การเดินทางครั้งนี้เป็นไปตามพันธกิจของสถานทูตสหรัฐอเมริกาที่ต้องการสร้างเยาชนผู้นำในการแก้ปัญหาระดับภูมิภาค (สหรัฐอเมริกามีโครงการ YSEALI เพื่อสนับสนุนกิจกรรมแนวนี้ ) และเว็บไซต์ Dek-D ที่ต้องการสนับสนุนให้เด็กไทยได้ทำตามฝันและเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัดนอกห้องเรียน
บันทึกการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้
- เล่าประสบการณ์ร่วมงาน Beyond the Cradle ใน MIT Space Week นักบินอวกาศ นักฟิสิกส์มาเพียบ
- พาเดิน National Air and Space Museum ประวัติศาสตร์ เรื่องราว และวัตถุจริง
- คุยกับ ‘เติ้ล’ เด็กปี 1 ที่ได้ร่วมอีเวนต์อวกาศกับวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่ “MIT”
- Podcast – เติ้ลเยือน MIT Media Lab
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co