การป่วยในอวกาศ ประวัติศาสตร์ และวิธีรับมือ

เพราะมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร ปัญหาสุขภาพร่ายกายของผู้ที่ขึ้นไปผจญภัยหรือเดินทางในอวกาศจึงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกจับตามอง โดยเฉพาะเมื่อการป่วยบนอวกาศไม่ใช่เรื่องที่จะรักษาได้โดยง่ายทั้งด้วยเหตุผลว่าไม่มีโรงพยาบาล บุคลากรและอุปกรณ์ที่ครบครันในอวกาศ และถึงสมมติว่าทุกอย่างที่จำเป็นจะมีครบ มีสถานพยาบาลที่ดีที่สุดบนโลกตั้งอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ สภาวะ microgravity ก็สร้างความลำบากอีกไม่น้อย

เมื่อโรคหวัดทำพิษและนักบินเกือบก่อกบฏ (ต่อ ground control) ในภารกิจ Apollo 7

วันที่ 11 ตุลาคม 1968, 21 เดือนหลังจากหายนะของภารกิจ AS-204 หรือที่เราอาจรู้จักกันในชื่อ Apollo 1, ภารกิจ Apollo ที่มีมนุษย์อวกาศก็ได้ถูกปล่อยอีกครั้งจาก Launch Complex 34 ของแหลมแคนาเวอรัล ภารกิจนี้อาจได้รับการรู้จักจากที่มนุษย์ได้ส่งสัญญาณภาพไปออกอากาศทาง tv จากบนอวกาศเป็นครั้งแรก แต่สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนอาจไม่รู้คือ นี่ก็เป็นครั้งแรกในอวกาศที่นักบินอวกาศเกิดการก่อกบฏขึ้นเล็ก ๆ กับ ground control ระหว่างภารกิจ และหนึ่งในสาเหตุหลักของการก่อกบฏก็คือโรคหวัดนี่แหละ

การส่งสัญญาณภาพมา broadcast ทาง tv จากอวกาศครั้งแรกของโลกในภารกิจ Apollo 7 – ที่มา NASA

Walter M. Schirra ผู้บัญชาการของภารกิจเกิดเป็นหวัดขึ้นมาหลังจากขึ้นบินไปได้ซักพัก ก่อนที่จะแพร่เชื้อไปให้นักบินอวกาศอีก 2 คน ถึงแม้การเป็นหวัดบนโลกจะย่ำแย่และอึดอัดเป็นอย่างมากแล้ว ก็ตงยังไม่สามารถเทียบได้กับสิ่งที่ทั้ง 3 ต้องเจอในวันนั้น จากสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงทำให้น้ำมูกไม่ไหลลงออกทางช่องจมูก แต่ไปวนเวียนอยู่ภายในโพรงจมูกแทน ซึ่งก็น่าจะเดาได้ว่าน่าอึดอัดเป็นอย่างมาก “ยานอวกาศเล็ก ๆ ที่แสนสบายของเราได้ถูกเปลี่ยนเป็นภาชนะบรรจุกระดาษทิชชู่ [ใช้แล้ว]” Walter Cunningham ผู้เป็นนักบิน lunar module ได้กล่าวในภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจ ยาแก้คัดจมูก 24 เม็ดถูกรับประทานโดยนักบินอวกาศทั้ง 3 ระหว่าง 10 วันในอวกาศ

การเป็นหวัดมันเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่กระตุ้นความหงุดหงิดของนักบินอวกาศที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนขึ้นบินที่ flight director ตัดสินใจขึ้นบินแม้วันนั้นอากาศจะย่ำแย่ หรือระบบห้องน้ำที่ห่วยแตก (ใครสนใจความแหวะของมันสามารถติดตามได้ในบทความนี้) และปัญหาอีกหลาย ๆ เรื่องจนพวกเขาทะเลาะกับ ground control อยู่บ่อย ๆ ครั้ง

การออกอากาศ tv ครั้งสำคัญ ก็มีเบื้องหลังที่นักบินอวกาศทะเลาะกับ ground control เพื่อขอให้เลื่อนการออกอากาศไปก่อนเป็นภายหลังการทดลองทำ rendezvous เสร็จ “โดยไม่มีการเจรจาไปมากกว่านี้” หรือการที่นักบินอวกาศทั้ง 3 คนยืนยันว่าจะไม่ใส่หมวกอวกาศระหว่างกลับยังโลกเพื่อที่จะได้เคลียร์หูตัวเองระหว่างทางได้ (พวกเขากลัวว่าถ้าไม่ทำมันจะไปทำลายพังหูเค้าให้เจ็บยิ่งไปกว่านี้ – ก็เข้าใจได้ระดับนึงนะ เป็นหวัดอาทิคย์นึงโดยทำอะไรไม่ได้เลยเนี่ย)

Command Module ของ Apollo 7 ภายหลังการ Splash Down – ที่มา NASA

ภารกิจ Apollo 7 สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายไปได้ด้วยดี ถึงแม้นักบินอวกาศทั้ง 3 จะไม่ได้ขึ้นบินอีกเลย และยังเป็นนักบินอวกาศ Apollo ชุดเดียวที่ไม่ได้เหรียญ Distinguished Service Medal ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของ NASA จากภารกิจนั้น (Schirra เคยได้ไปแล้ว 2 รอบจากภารกิจ Mercury-Atlas 8 และ Gemini 6A) ภายหลังการกลับมาเลยทันที (ถูกพิจารณาให้ในปี 2008)

Apollo in 50 numbers: Medicine and health

Apollo 7: NASA’s first mini-mutiny in space

มาตรการสำคัญ: การกักตัวก่อนขึ้นบิน เพราะกันไว้ดีกว่าแก้

ถึงแม้ภายหลังภารกิจ Apollo 7 ปัญหาเรื่องนักบินอวกาศเป็นป่วยก็ยังถูกพบอีกในภารกิจ Apollo 9 (แต่ครั้งนี้นักบินอวกาศทั้ง 3 เจออาการก่อนขึ้นบนทำให้ NASA ต้องตัดสินใจ reschedule การปล่อยออกไปจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์เป็น 3 มีนาคม ซึ่งทำให้ NASA ต้องเสียเงินจำนวนมหาศาลในการรักษาสภาพของจรวดให้พร้อม) นั่นน่าจะเป็นสาเหตุทำให้ NASA เริ่มออกมาตรการที่จะกักตัวนักบินอวกาศไว้ระยะหนึ่งในสถานที่ปลอดภัยและหลีกเลี่ยงการพบเจอผู้คนจำนวนมากที่อาจเป็นพาหะของโรคหวัดได้

ในปัจจุบัน นักบินอวกาศจะถูกกักตัวเป็นเวลา 2 อาทิตย์ในสถานที่ควบคุม (Johnson กับ Kennedy Space Center ในอเมริกา หรือ Baikonur Cosmodrome ของรัสเซียนในคาซัคสถาน) ในช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่นักบินอวกาศจะเตรียมพร้อมสำหรับการทำภารกิจและเตรียมความพร้อมร่างกายและสภาพจิตใจก่อนขึ้นไปบนอวกาศ ผู้คนที่จะมาพบปะกับนักบินอวกาศในช่วงนี้ได้จะต้องเป็นคนที่ได้รับการตรวจอย่างละเอียดและยืนยันจาก flight surgeon ก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่เป็นพาหะนำโรคไปติดนักบินอวกาศ

Chris Cassidy, Anatoly Ivanishin และ Ivan Vagner นักบินอวกาศแห่งภารกิจ Expedition 63 ที่กำลังจะขึ้นบินไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 9 เมษายนนี้ (2020) – ที่มา NASA

ในวันที่ 9 เมษายนนี้ นักบินอวกาศ 3 คนจะนั่งจรวด Soyuz MS-16/62S ออกจาก Baikonur Cosmodome ในคาซัคสถานเพื่อไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ การระบาดของไวรัส COVID-19 อาจจะไม่ส่งผลต่อนักบินอวกาศทั้ง 3 มากนักเนื่องจากพวกเขาจะถูกกักตัว/ตรวจสุขภาพอย่างเข้มงวดก่อนขึ้น 2 สัปดาห์ตามมาตรฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือภารรยาและลูก ๆ ทั้ง 3 ของคุณ Chris Cassidy นักบินอวกาศชาวอเมริกันคนเดียวในภารกิจนี้ จะไม่ได้อยู่ส่งคุณ Chris Cassidy ที่ฐานปล่อยด้วย เนื่องจากมาตรการการคุมคนเข้า-ออกต่างสัญชาติของคาซัคสถาน รวมถึงกิจกรรมด้านสื่อมวลชนในวันปล่อยจะถูกงดเว้น และก็เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าจะไม่มีประชาชนคอยมารอส่งนักบินอวกาศเหมือนดังที่ผ่านมาในภารกิจเก่า ๆ

ส่วนสำหรับกรณีของไฟลท์ SpaceX Demo-2 ในโครงการ Commercial Crew Program ที่จะทดลองส่งนักบินอวกาศ 2 คนขึ้นไปบน ISS ด้วย Dragon 2 ภายในจรวด Falcon 9 ในช่วงเดือนพฤษภาคม นักบินอวกาศทั้ง 2 คนจะยังคงทำการเตรียมพร้อมสำหรับเที่ยวบินอยู่ (วันที่ 23 มีนาคม) พวกเขาจะถูกดูแลสุขภาพอย่างเข้มงวดตามมาตรการ โดย Robert Behnken ผู้เป็นตำแหน่ง Pilot ของภารกิจได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่ากระบวนการเฝ้าระวังสำหรับพวกเขาจะไม่ต่างไปจากนักบินที่ Baikonur Cosmodome มากนัก

Coronavirus restrictions stop astronaut’s family from attending launch

How NASA is preparing to launch humans to space as coronavirus pandemic worsens

Covid-19 restrictions disrupt astronauts’ preparations for ISS

นีล อาร์มสตรองกำลังเล่นอูคูเลเล่ใน Mobile Quarantine Facility ระหว่างช่วงกักตัวหลังกลับถึงโลก – ที่มา NASA

รื่องเล่าเล็ก ๆ หลังจบภารกิจ: การกักตัวนักบินอวกาศหลังกลับจากดวงจันทร์ ในช่วงโครงการ Apollo 11 ถึง 14 นักบินอวกาศทั้ง 3 คนของภารกิจ (ยกเว้น Apollo 13 เพราะไม่ได้ไปลงดวงจันทร์) เมื่อกลับมาถึงโลกจะถูกกักตัวไว้ภายในภายในรถบ้านดัดแปลงที่มีชื่อเรียกเท่ ๆ ว่า Mobile Quarantine Facility หรือ MQF เนื่องจากเพื่อป้องกันผู้คนจะติดเชื้อต่าง ๆ ที่อาจจะมาจากดวงจันทร์ แต่ตั้งแต่ Apollo 15 เป็นต้นมา การกักตัวก็ถูกยกเลิกเพราะเราค่อนข้างมั่นใจระดับนึงแล้วว่าดวงจันทร์น่าจะสะอาดและไม่มีโรคติดต่ออยู่บนนั้น

Space Adaptation Syndrome (SAS) – ปัญหาการปรับตัวของนักบินอวกาศเมื่อขึ้นไปอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก

ถึงแม้นักบินอวกาศจะถูกตรวจอย่างละเอียดว่าไม่ติดโรคที่เป็นปัญหาใด ๆ จากบนโลก แต่สิ่งที่นักบินอวกาศเกินกว่าครึ่งต้องประสบเมื่อขึ้นไปอยู่บนอวกาศในช่วงแรก ๆ คือภาวะที่ร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวจาก microgravity ได้ โดยเราเรียกอาการนี้ว่า Space Adaptation Syndrome หรือ SAS ปัญหา SAS ที่ว่าเป็นผลกระทบจากระบบทรงตัวของมนุษย์ (ภายในหูชั้นใน) ไม่สามารถระบุทิศบนล่างได้เหมือนกับบนโลกที่มีแรงโน้มถ่วงคอยดึงไว้ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงค่า g อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมง จนทำให้เกิด disorientation ของร่างกาย

อาการที่สามารถพบเจอได้จะมีความรุนแรงแตกต่างกันตามสภาวะร่างกายของนักบินแต่ละคน บางคนอาจแค่วิงเวียนศีรษะหรือคลื่นไส้เล็กน้อย ขณะที่บางคนอาจถึงอาเจียนเลยก็ได้

ระบบทรงตัวของมนุษย์อยู่ภายในหูชั้นใน

ร่างกายของนักบินอวกาศจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เพื่อให้คุ้นชินกับสภาวะไร้น้ำหนักจน SAS ลดน้อยลงหรือหายไป

Space Motion Sickness (Space Adaptation)

Nauseating News About Spacesickness

คุณ Chris Hadfield สาธิตการใช้ถุงอาเจียนบนอวกาศ – ที่มา NASA

ถุงอ้วก .. เพราะการที่นักบินอวกาศอาจจะอาเจียนในอวกาศเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บนโลกจึงต้องสร้างถุงอาเจียนที่จะไม่เลอะเทอะในอวกาศแทน คุณ Chris Hadfield ต่างจากบนพาหนะบนโลกที่ถุงอาเจียนมักจะเป็นถุงกระดาษสี่เหลี่ยมธรรมดา ๆ ถุงอาเจียนบนสถานีอวกาศนานาชาติจะทำจากถุง Ziplock คุณภาพดีพร้อมทั้งมีที่เช็ดปากติดมาในตัวด้วย เมื่อนักบินอวกาศอาเจียนเสร็จแล้วก็สามารถใช้ที่เช็ดปากเช็ดปากก่อนที่จะยัดกลับลงถุง ล็อคซิปให้แน่น แล้วเอาไปทิ้งในถังขยะเปียก (ต้องระวังให้ดีในการเก็บ เพราะก็คงไม่มีใครอยากให้เศษอาหารจากกระเพาะอาหารนักบินอวกาศคนไหนลอยละล่องในสถานีอวกาศหรอกนะ)

ยาบนสถานีอวกาศนานาชาติ

ชุดปฐมพยาบาล 2 ชุด (ฟ้า/แดง) และเครื่อง AED (น้ำตาล) บน ISS – ที่มา NASA

ด้วยความที่เราไม่สามารถพกยาทุกตัวบนโลกในปริมาณที่นักบินอวกาศสามารถใช้ได้แบบเหลือ ๆ ขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติได้ ยาที่ถูกนำขึ้นไปจึงต้องเกิดจากการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยนักเทคนิคการแพทย์บนพื้นโลก และใช้อย่างระมัดระวัง แต่ปัญหามันยังไม่ได้จบแค่นั้น เราได้พบว่ายาที่ใช้ในอวกาศจะหมดสมรรถภาพเร็วกว่าบนโลกจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างทั้งจาก radiation, สภาวะ microgravity, การสั่นสะเทือนหรือการจัดเก็บจึงต้องมีการเปลี่ยนยาที่ใช้บนสถานีทุก 6 เดือน

คุณ Windi Compton นักเทคนิคการแพทย์กับกล่องปฐมพยาบาลที่ถูกใช้บนสถานีอวกาศนานาชาติ – ที่มา NASA ภาพโดย Robert Markowitz

ในเดือนธันวาคมปี 2015 เว็บไซต์ governmentattic.org ได้ใช้สิทธิจาก Freedom of Information Act (FOIA) ของประเทศสหรัฐอเมริกาในการขอให้ NASA เปิดเผยข้อมูลด้านการแพทย์บนสถานีอวกาศนานาชาติใน 7 ประเด็นคือ

  1. มาตรการการทำฟันฉุกเฉิน
  2. มาตรการการผ่าตัดไส้ติ่งฉุกเฉิน
  3. มาตรการการผ่านตัดถุงน้ำดีฉุกเฉิน
  4. คู่มือมาตรการทางการแพทย์ฉุกเฉิน
  5. รายชื่ออุปกรณ์ทางการแพทย์บนสถานีอวกาศ
  6. คู่มือการใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์บนสถานีอวกาศ
  7. กระบวนการพิธีการฝังศพในอวกาศ

ในเดือนมีนาคมปีถัดมา หน่วยงาน FOIA ของ Johnson Space Center ได้ตอบรีเควสกลับมาเป็นเอกสาร 62 หน้าในหัวข้อที่ 1,4,5 เนื่องจากไม่พบบันทึกในหัวข้อที่ 2,3,6 และ 7 โดยสามารถเข้าถึงได้ผ่านทาง National Aeronautics and Space Administration (NASA) Emergency Medical Procedures Manual for the International Space Station (ISS) [partial], 2016

Space Medicines for Astronauts Don’t Have the Right Stuff

Here’s What Emergency Medicine Will Look Like for Astronauts in Space

เคส (study) ฉุกเฉิน เมื่อนักบินอวกาศเป็นลิ่มเลือดอุดตัน

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยว่ามีนักบินอวกาศคนหนึ่งบน ISS เกิดลิ่มเลือดที่บริเวณลำคอ (ซึ่งโดยปกติแล้วควรไปพบแพทย์ทันที) ในช่วงเดือนที่ 2 จากระยะภารกิจ 6 เดือน บนสถานีอวกาศนานาชาติ สิ่งที่ NASA ทีเพื่อรับมือกับเรื่องนี้คือการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญถึงวิธีการที่เหมาะสมในการรักษา รวมถึงคำนวนโดสยาที่เหมาะสมที่เพียงพอต่อการ supply ให้นักบินจนกว่า cargo resupply ใหม่จะถูกส่งมา และนักบินอวกาศไม่เป็นอะไรไปซะก่อน

โดยสรุปแล้ว นักบินอวกาศได้ใช้ยา Enoxaparin ที่มีคุณสมบัติในการเจือจางเลือด ผ่านการฉีดเข้าผิวหนังเป็นเวลา 40 วัน ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้ยา Apixaban ที่ส่งมาถึงในวันที่ 43 ไปเรื่อย ๆ จนถึง 4 วันก่อนกลับมายังโลก โดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษาต่อ การรักษานี้ทำไปพร้อมกับการวินิจฉัยโดยให้นักบินอวกาศ ultrasound คอตัวเองอยู่เรื่อย ๆ โดยได้รับคำแนะนำจากทีมนักรังสีวิทยาบนโลก และเป็นโชคดีที่ไม่เจอผลกระทบตีกลับมาจากการรักษา

Venous Thrombosis during Spaceflight

An Astronaut Got a Blood Clot in Space. Here’s How Doctors on Earth Fixed It

Next Step

ตั้งแต่ในอดีต มนุษย์ได้พยายามหาวิธีแก้ปัญหาและเอาชนะความเจ็บป่วยของมนุษย์ในการสำรวจอวกาศมาตลอด ในปัจจุบัน หน่วยงานด้านอวกาศได้พยายามอย่างหนักเพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวนักบินอวกาศด้วยมาตรการต่าง ๆ มากมายอย่างการกักตัว การมีที่ปรึกษาด้านการแพทย์ที่พร้อมสแตนบายอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ก่อนเริ่มภารกิจจนจบ หรือ policy สำหรับนักบินอวกาศในกรณีฉุกเฉิน (อย่างที่แนบไว้ข้างต้น) แต่มันดีพอแล้วหรือยัง?

การฝึกการทำ CPR บนอวกาศ แบบ Hand-stand technique ของนักบินอวกาศอันเป็นการฝึกรับมือกับความเจ็บป่วยของมนุษย์ที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลร้ายแรงตามมาได้ – ที่มา NASA

ในอนาคตหากเราตั้งเป้าหมายจะเดินทางไปยังที่ ๆ ไกลขึ้นหล่ะ ในปริมาณผู้โดยสารที่มากกว่าเดิมหล่ะ ? อย่างที่เราได้เคยเขียนไว้ในบทความที่ผู้อ่านอาจเคยเห็นผ่าน ๆ ตามาบ้าง ว่าการอยู่ในอวกาศส่งผลกระทบกับมนุษย์แค่ไหน (คำตอบ: อย่างมาก) สภาวะ microgravity ทำให้กล้ามเนื้อลีบลง, มวลกระดูกลดลง, การทำงานของของเหลวในร่างกายผิดปกติ radiation ทำให้ dna ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งระยะเวลานานขึ้นเท่าไหร่ผลกระทบก็จะยิ่งมากขึ้นแค่นั้น แล้วถ้าเกิดประเด็นที่ใหญ่กว่านี้หล่ะ ? ถ้ามีคนเกิดหัวใจล้มเหลวต้องผ่าตัดด่วนในอวกาศเราจะทำได้อย่างไร ปัญหาที่มากมายอย่างความสะอาดของอากาศ หรือเลือดที่จะไม่ติดอยู่กับร่างกายแต่รวมกันเป็นก้อน blob กลม ๆ จะตามมา ในปัจจุบันองค์การต่าง ๆ ได้พยายามศึกษาหากุญแจถึงวิธีแก้ปัญหาในประเด็นเหล่านี้อย่างไม่หยุดผ่านการวิจัยต่าง ๆ มากมายทั้งบนโลกและบนอวกาศ

เราก้าวออกจากพื้นโลกที่เป็นแผ่นดินเกิดของเรา ไปยังอวกาศซึ่งเป็นพรมแดนอย่างสุดท้ายที่เราจะเข้าใจ เราเรียนรู้ถึงความยากลำบากที่จะเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นชิน พบเจอกับสภาวะอันแปลกประหลาด แต่เราก็เลือกที่จะยอมรับความเสี่ยงนั้นเพื่อตอบคำถามและความอยากของตัวเอง มีเรื่องอีกมากที่ยังต้องเรียนรู้และทดลองกันต่อไปอย่างรอบคอบระมัดระวัง มนุษย์ได้ท้าทายกฎของธรรมชาติมานักต่อนัก สร้างสิ่งมหัศจรรย์ (และเลวร้าย) หลายอย่างขึ้นมาหลายสิ่งหลายอย่าง และก็คงจะเป็นอย่างนั้นต่อไปตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่และมนุษย์ยังคงมีไฟที่จะสงสัยและเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด

How to deal with a medical emergency on the Space Station

Surgery in Space: Medicine’s Final Frontier

แมว วาราบิโมจิ ปิศาจสปาเกตตี้บินได้