สรุป TEDxYouth@Bangkok 2019 ทำไมเด็กไทยเจ็บและเก่งกว่าที่คุณคิด

ต้องขอบอกเลยว่างาน TEDxYOUTH@Bangkok 2019 ในปีนี้รวม Speaker เก่ง ๆ มาเพียบ พร้อมด้วยเนื้อหาที่เป็นเอกลักษณ์และธีมงานสุดเฉียบอันไม่เหมือนใคร โดยพวกเรา SPACETH.CO ก็ได้ถูกรับเชิญเข้ามาเป็นผู้ฟังในงาน Talk สุด Exclusive ครั้งนี้ด้วย เรามาดูกันดีกว่าว่าในงานนี้เหล่า Speaker แต่ละท่านได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจอะไรออกมาบ้าง!

ร่วมกันกด Play ให้กับเสียงของเด็กไทยที่ถูกกด Pause

ธีมงานในรอบนี้มาในรูปแบบของเทปหรือคลิปเสียง (Audio Track) ที่เปรียบเทียบการ Talk เป็น Track และการรับฟัง (Listen) เป็นการกด Play ให้กับ Track เหล่านั้นนั่นเอง นับว่าเป็นธีมงานที่มีเอกลักษณ์มาก ๆ แต่จริง ๆ แล้วยังมีเรื่องราวเบื้องหลังธีมที่ว่านี้อีกด้วย ซึ่งก็คือการให้เด็ก ๆ และเยาวชนได้ออกมาพูด แสดง และเล่าเรื่องราวไปจนถึงประสบการณ์ต่าง ๆ อย่างมีอิสระ ไร้ซึ่งเครื่องพันธนาการใด ๆ ที่สังคมหรือสภาพแวดล้อมจะมาเหนี่ยวรั้งพวกเขาเอาไว้ ในงานนี้การกด Pause จะสิ้นสุดลง พร้อมให้พวกเขาได้ปลดปล่อยเรื่องราวมากมายออกมาให้ผู้ชมได้รับฟังกัน

ในงาน TEDxYOUTH นั้นมีอะไร

เมื่อได้ยินคำว่า TED เมื่อไหร่ ภาพของนักพูดยืนอยู่บนวงกลมสีแดง ค่อย ๆ บรรยายเรื่องราวอันน่าสนใจออกมาให้คนดูได้รับฟังพร้อมการนำเสนออันน่าตื่นตา คงเป็นภาพแรกที่หลาย ๆ คนคิด แต่ในงานนี้นอกจากการ Talk แล้ว ยังมีกิจกรรมพิเศษเสริมเข้ามาในงานด้วย ซึ่งก็คือ Activity ต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้เข้ามาร่วมสนุกกันนั่นเอง

ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดขนาดยักษ์ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ บูธถ่ายภาพสุดพิเศษในธีมโต๊ะนักเรียน ไปจนถึงพื้นที่เล่าเรื่องของเหล่า Intern และยังมีพื้นที่ให้ความรู้อีกมากมายถูกจัดไว้รอบบริเวณงานให้ทุกคนได้เข้าร่วมสนุกกันอีกด้วย หลังจากร่วมกิจกรรมกันอย่างเต็มอิ่มแล้วก็ถึงเวลาเข้าสู่หอประชุมเพื่อร่วมกันกด Play ให้ Track ของ Speaker แต่ละคนกันแล้วล่ะ

น้องแนน – เมื่อการตัดสินใจเปรียบประดุจดั่งอาวุธ

Track แรกของเรา เริ่มต้นกันด้วยเรื่องราวของน้องแนน เธอเดินขึ้นมาบนเวที กล่าวทักทายผู้ชมก่อนจะเริ่มเล่าถึง “การตัดสินใจ” – “คนเราตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา” แนนกล่าว ก่อนจะหยิบพู่กันมาแต้มสีลงบนผ้าใบที่มีภาพวาดของตึกระฟ้าอันโดดเด่น ผลลัพธ์ของการแต้มสีนั้นคือแถบสีขาวที่ขัดแย้งมาก ๆ กับพื้นหลังสีฟ้าอมส้มบนภาพนั้น “ไม่ว่าเราจะตัดสินใจอย่างไรก็ตาม การตัดสินใจนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา และจะคงอยู่เช่นนั้นตลอดไป” แนนกล่าวต่อไปอีก และท่ามกลางการตัดสินใจเป็นหมื่น ๆ ครั้งระหว่างวันของคนคนหนึ่ง แน่นอนว่าต้องมีทั้งการตัดสินใจที่ทั้งถูกและผิดปะปนกันไป และเมื่อคนเราต้องตัดสินใจบ่อยครั้งเข้า บางครั้งเราจะเริ่มปล่อยให้สัญชาติญาณเข้ามาทำงานแทน การตัดสินใจแบบนี้คือสิ่งที่เรียกว่า “Autopilot” มันคือการตัดสินใจที่ไม่ได้รับการใส่ใจ และไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเลย เพราะผลกระทบที่ตามมานั้นอาจจะร้ายแรงกว่าที่เราคิด น้องแนนได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวของเธอที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการตัดสินใจ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอได้มาเล่าเรื่องราวทั้งหมดนี้

การตัดสินใจที่ดีที่สุดคือการตัดสินใจที่เรารับรู้ หรือตระหนักในการตัดสินใจนั้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการใช้กระบวนการคิดและใตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว จริงอยู่ที่เราอาจจะไม่สามารถทำการตัดสินใจแบบนี้ได้ทุกครั้ง แต่การตัดสินใจที่ดีจะเป็นการนำพาเราไปสู่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตัวเราและสังคม

น้องภูมิ – เวทมนตร์และการแก้ปัญหา เมื่อการสร้างเป็นเรื่องของทุกคน

น้องภูมิเริ่มต้น Track ของเขาด้วยเรื่องราวของความชื่นชอบในการอ่านหนังสือ และการแช่ออนเซ็น “ผมเริ่มต้นจากการซื้อแทบเบล็ตสำหรับอ่านหนังสือมาใช้” ภูมิค่อย ๆ เล่าประสบการณ์ส่วนตัวของเขาบนเวทีด้วยน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ ความต้องการของภูมิคือการแช่น้ำร้อนพร้อม ๆ กับดื่มด่ำความรู้ผ่านตัวอักษร แต่เมื่อทางร้านออนเซ็นไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์เข้าไป นี่จึงเป็นอีกครั้งที่เขาต้องเริ่มลงมือแก้ปัญหา

เรื่องราวออนเซ็นของภูมิเป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เขาต้องแก้เท่านั้น ภูมิได้บรรยายถึงปัญหาที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นมาอีก ซึ่งก็คือปัญหาการเล่นโทรศัพท์ของเด็ก ๆ ในเวลาเรียน โดยหลาย ๆ ครั้งผลลัพธ์ที่ตามมาคือการลงโทษหรือตักเตือน “ผมเชื่อว่าเด็ก ๆ เหล่านั้นไม่ได้แค่เล่นโทรศัพท์เฉย ๆ” ภูมิกล่าวก่อนจะแสดงภาพของกราฟขึ้นบนสไลด์ แสดงให้เห็นว่าเด็ก ๆ มีความสนใจส่วนตัว แต่เมื่อเป็นการเรียน ความสนใจที่พวกเขาเคยมีกลับสลายหายไปหมด เพราะการเรียนในระบบการศึกษาไทยนั้นไม่ได้กระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้ใช้ความสนใจของตนเลย เมื่อพบเจอปัญหาแล้ว การแก้ไขที่ต้นเหตุจริง ๆ จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลดีที่สุด พูดง่าย ๆ ก็คือการแก้ที่ต้นเหตุนั่นเอง – ซึ่งการริบโทรศัพท์ไม่สามารถช่วยได้ อีกนัยหนึ่งก็คือไม่ได้เพิ่มความสนใจให้เด็กต่อวิชาเรียนนั้น

เด็กที่ชอบเล่นเกมส์ แต่ไม่เข้าใจว่าควรจะเรียนคณิตศาสตร์ไปทำไม ก็สามารถเข้าใจได้ถึงความสำคัญของวิชานี้ผ่านการโปรแกรมมิ่งและเกมที่เขานั้นชอบเล่น ในขณะที่เด็กซึ่งชื่นชอบการอ่านนิยาย แต่เบื่อหน่ายกับวิชาวรรณคดี ก็สามารถตื่นเต้นไปกับแอปที่เธอสามารถสวมบทบาทและคุยกับตัวละครในวรรณคดีได้ นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังช่วยดึงความสนใจของเธอกลับมายังวิชาที่เธอเคยปฏิเสธได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านความเข้าใจที่แท้จริงต่อปัญหานั้นและความคิด สร้างสรรค์ที่พร้อมจะลองสิ่งใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เริ่มได้แม้จากเรื่องเล็ก ๆ และการหมั่นทดลองไปเรื่อย ๆ เพื่อหา Solution ที่ดีที่สุด ย่อมหมายความว่าทุกคนก็สามารถที่จะแก้ปัญหาได้อย่างชาญฉลาดไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ “การสร้างสรรค์วิธีแก้ปัญหาเป็นเรื่องของทุกคน และเปรียบได้กับเวทมนต์” ภูมิปิดท้ายก่อนจะมอบ “หมวกเวทมนต์” ของเขาให้ผู้ชมทุกคนได้นำไปสวมใส่ต่อไป

และสำหรับปัญหาออนเซ็นนั้น เป็นไปได้ว่าภูมิจะเปิดร้านหนังสือกันน้ำพร้อมอ่างออนเซ็นของตนเองในอนาคต

น้องรัญชน์ – การเหยียด บาดแผลอันร้ายแรงของสังคม

“มีใครในที่นี้เคยถูกเหยียดมั๊ยครับ” น้องรัญชน์เปิดตัวด้วยคำถามที่ทำให้คนแทบทั้งฮอลต้องสะดุ้ง และเมื่อน้องรัญชน์ให้ผู้ชมได้ยกมือแสดงว่าตนนั้นเคยถูกเหยียดมาก่อนหรือไม่ หลาย ๆ คนค่อย ๆ ยกมือขึ้นมาให้เห็น “ แล้วมีใครเคยเหยียดคนอื่นบ้างไหมครับ” คำถามต่อไปของน้องรัญชน์ทำให้หลายคนเอามือลง แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนยกมือขึ้น ปะปนกันไป นี่แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามล้วนเคยประสบพบเจอกับการเหยียดมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำก็ตาม น้องรัญชน์เองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องประสบกับเรื่องเหล่านี้ ตัวอย่างที่น้องได้ยกขึ้นมาคือครั้งหนึ่งที่เขาเล่นเกมและพบเจอกับผู้เล่นชาวต่างชาติ น้องได้คุยกับผู้เล่นคนนั้น และเมื่อเขารู้ว่าน้องมาจากเมืองไทย ประโยคอย่าง “ไต้หวันหรอ” หรือ “คนไทยยังขี่ช้างไปทำงานกันอยู่สินะ” และอีกมากมายก็พรั่งพรูออกมาจากปากผู้เล่นคนนั้น เมื่อฟังประโยคเหล่านี้เป็นครั้งแรก หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องล้อเล่น แต่เมื่อคิดดูดี ๆ สิ่งนี้คือการเหยียดโดยแท้จริง ซึ่งเป็นเหตุให้น้องรัญชน์ได้เริ่มขบคิดถึงการหยุดพฤติกรรมเหล่านี้

แนวคิดหนึ่งก็คือการเหยียดนั้นเปรียบได้กับหลุมบนฟุตบาท มันสร้างปัญหาให้ทุกคน ทุกคนต้องลำบากกับมัน แต่สิ่งที่ทุกคนลำบากคือการพยายามในการเดินหลบหลุมนั้น ซึ่งเป็นการหนีปัญหา การเหยียดก็เช่นกัน หากทุกคนยังเพิกเฉยและหลบเลี่ยงประเด็นเหล่านี้ วงจรอุบาทว์จะยังคงหมุนเวียนต่อไปไม่สิ้นสุด จงเริ่มต้นตัดวงจรเหล่านี้ โดยการคิดถึงใจเขา ใจเรา ช่วยกันหยุดเหยียดและกำจัดเรื่องราวแบบนี้ให้หมดไปจากสังคมสามารถเริ่มได้ที่ตัวเรา

น้องกิ๊ก – เมื่อชีวิตของเราเปรียบได้กับการเดินทาง

เสียงนกร้องและใบไม้สีกันจากสายลมที่พัดผ่านดังก้องไปทั่วฮอล ให้บรรยากาศเหมือนผู้ชมกำลังนั่งปิคนิคอยู่บนกิ่วแม่ปาน ทันใดนั้นน้องกิ๊กก็ได้เดินออกมาจากข้างเวทีพร้อมด้วยชุดเดินป่า หมวกกันแดด และเป้ใบใหญ่ “คนเราก็เหมือนนักเดินทาง” กิ๊กเริ่มต้น “และหนูคือนักเดินทางประเภทที่พกแค่ขวดน้ำขวดเดียวไป” กิ๊กได้เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตของเธอ มันเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก ผ่านเรื่องราวมากมาย ครั้งหนึ่งเธอเคยต้องฝันร้ายเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอ ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดอันสุดจะพรรณนาได้ เธอต้องทนกับปัญหามากมาย ทนกับการเดินทางต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมทั้งปัญหาและสัมภาระนั้น

ครั้งหนึ่งน้องกิ๊กเคยเจอกับปัญหาการคุกคามทางเพศ เธอถูกผู้คนมากมายทำร้ายผ่านทางโลกออนไลน์ แต่ถึงแม้ว่าเธอจะให้อภัยคนเหล่านั้นหรือไม่สนใจสิ่งที่พวกเขาพูด แต่เธอก็ยังรู้สึกเจ็บปวด รู้สึกแย่จนถึงขั้นไม่สามารถข่มตานอนลงได้เลยในแต่ละคืน จนกระทั่งเธอได้ไปพบกับจิตแพทย์ นั่นทำให้เธอได้ระบายเรื่องราวเหล่านี้ให้คนที่พร้อมจะรับฟัง และน้องกิ๊กก็สามารถก้าวข้ามผ่านทุกสิ่งทุกอย่างมาได้เพราะเธอนั้นให้อภัยตนเอง พร้อมกับให้อภัยผู้คนที่ทำร้ายเธอด้วย

หลักการสำคัญที่น้องกิ๊กแนะนำผู้ชมคือการปล่อยวาง หากชีวิตคือการเดินทาง มนุษย์เรามักจะแบกสัมภาระไปด้วยเสมอ หลายครั้งที่สัมภาระนั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลย ซ้ำจะเป็นภาระให้ผู้เดินทางเสียด้วย อย่างเช่นก้อนหินอันหนักอึ้ง ที่เอาไปทำอะไรไม่ได้เลย “เราก็แค่ต้องทิ้งมันไป” กิ๊กกล่าวพร้อมกับหยิบก้อนหินจากเป้ โยนลงไปบนเวที เธอยังกล่าวต่อไปด้วยว่า ถึงแม้เราจะเลือกทิ้งสิ่งใดออกไปจากชีวิตแล้ว เธอก็ยังขอบคุณที่ครั้งหนึ่งสิ่งนั้นได้เคยเป็นเพื่อนร่วมเดินทางมาด้วยกันกับเธอ จงอย่าลืมเข้าใจตัวเอง ทบทวนถึงสัมภาระหรือสิ่งที่เราแบกรับไว้ และยอมรับในการตัดสินใจที่จะปล่อยวาง

น้องป๋อ – เรื่องราวของการยอมรับที่สำคัญที่สุด

น้องป๋อเป็นเด็กที่เติบโตในชุมชนต่างจังหวัด ห่างไกลจากเมืองหลวงและมหานครอันหรูหราฟู่ฟ่า แต่ถึงอย่างนั้นบ้านของป๋อก็อุดมไปด้วยธรรมชาติ ทั้งชายทะเลและป่าชายเลนอันเขียวขจีอันเต็มไปด้วยพรรณไม้มากมาย ป๋อนั้นก็เหมือนเด็กหลาย ๆ คนที่ต้องการการยอมรับ โดยเฉพาะกับความฝันของเขา – นั่นก็คือการสร้างแอนิเมชั่นขึ้นมาเรื่องหนึ่งด้วยฝีมือของเขาเอง แต่ชีวิตของป๋อกลับพลิกผัน เขาเลือกที่จะตามหาการยอมรับที่ง่ายดาย เช่นการเข้าไปพัวพันกับสุราเมรัยและสิ่งต้องห้าม ที่ไม่เหมาะสมกับตัวเขาเองในวัยนั้น ถ้าจะพูดตามตรง มันไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับใครเลยด้วยซ้ำ ป๋อเลือกที่จะทำตามรุ่นพี่ เพียงเพราะว่าเขาได้รับการยอมรับจากคนกลุ่มนี้ก็เท่านั้นเอง

ชีวิตของน้องป๋อกับการกระทำของเขามีอันต้องพลิกผันในที่สุด “ผมตัดสินใจโทรหาแม่” ป๋อกล่าว และเล่าเรื่องราวในบทสนทนาอันสุดแสนจะสำคัญครั้งนั้นให้พวกเราได้ฟัง ป๋ออธิบายทุกสิ่งทุกอย่างให้แม่ฟังเขาคิดว่าสิ่งที่เขาจะได้ยินต่อจากนั้นคงจะเป็นเสียงว่ากล่าวต่อสิ่งที่เขาได้กระทำไป แต่แม่ของน้องป๋อนั้นเข้าใจและปลอบโยนป๋อในสิ่งที่เขาได้พลาดพลั้งไป

บทเรียนในครั้งนี้ของป๋อจะเรียกว่าเป็นบทเรียนชีวิตเลยก็ว่าได้ ป๋อเลิกในสิ่งที่เขาเคยเป็นและเปลี่ยนแปลงตนเองจนกลับมาเป็นเขาในวันนี้ กลับมาไล่ล่าความฝันของเขาอีกครั้ง พร้อมกันการยอมรับที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือการยอมรับจากแม่ของเขานั่นเอง ถึงสังคมจะเคยทำให้เราพลาดพลั้ง แต่มันไม่เคยสายเกินไปที่จะกลับตัวกลับใจ จงเผชิญกับความผิดพลาดนั้นและแก้ไขมันด้วยความกล้าของเราเอง

น้องลิลลี่ – ถึงเวลาที่ต้อง “เปลี่ยน” เพื่อโลกของเรา

คลิปบันทึกการสนทนาเป็นประโยคภาษาอังกฤษอันสดใสดังขึ้นมา เสียงของเด็กสาวโทรไปยังบริษัทยักษ์ใหญ่ด้วยคำถามเรียบง่าย เป้าหมายของเธอคือการช่วยให้พวกเขาลดการใช้พลาสติกลง แต่ถึงกระนั้นเสียงของผู้รับสายกลับเต็มไปด้วยความงุนงง สับสน และออร่าของการดูถูกไปจนถึงปฏิเสธ พวกเขาโยนสายให้กับผู้ที่พูดภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับน้องลิลลี่ต่อไป แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย คำถามเช่น “หนูโทรมาเพราะเป็นการบ้านหรอ” และการพูดว่าการโทรมาของน้องนั้นเป็นการโทรมาเพื่อกลั่นแกล้งก็ยังคงได้ยินอยู่เช่นเดิม จนกระทั่งพวกเขาวางสายใส่

แต่ลิลลี่ไม่เคยยอมแพ้ เธอยังคงโทรกลับไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเสียงของเธอก็ถูกรับฟัง ลิลลี่เป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมาก ๆ คนหนึ่งในประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ทำให้ผลงานล่าสุดของเธอ ซึ่งคือการรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติกอันเป็นเทรนด์ที่กำลังจะมาแรงในปีหน้ากลายเป็นจริงในที่สุด หลังจากบริษัทห้างร้านหลายแห่งได้ลงมติร่วมมือกันในการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกอย่างเด็ดขาด

“ฉันว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยกันรักษาโลกใบนี้ของเรา” ลิลลี่พูดด้วยน้ำเสียงอันจริงจังแต่ยังคงความสดใสและกระตือรือร้นไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยม เธอเชื่อว่าพวกเราทุกคนสามารถช่วยกันได้คนละไม้ คนละมือ ในการช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อนและวิกฤติการณ์ทางสภาพอากาศที่กำลังเข้าทำลายหลาย ๆ ภูมิภาคของดาวดวงนี้ ซึ่งแน่นอนว่าคนรุ่นเธอและเด็ก ๆ อีกมากมายที่เป็นประชากรรุ่นต่อไปจะต้องได้รับผลกระทบแน่ ๆ หากไม่มีการทำอะไรสักอย่างเสียตั้งแต่ตอนนี้

เธอยังได้ฝากวิธีการช่วยโลกไว้ 3 อย่างให้ผู้ชมได้นำไปปรับใช้ชีวิตประจำวัน

  1. อาบน้ำฝักบัวแค่ 5 นาที ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้อย่างมหาศาล
  2. สนับสนุนแบรนด์สินค้าสีเขียว ที่ช่วยอนุรักษ์และรักษาโลกของเรา
  3. ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างชาญฉลาดและประหยัดไฟ

เป็น 3 วิธีการง่าย ๆ ที่เชื่อว่าทุก ๆ คนก็ทำได้ และสามารถช่วยโลกใบนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกคนได้รับผลกระทบ และทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขมัน

น้องเวโรนิก้า – ไม่มีใครอยากอยู่ในโลกหลายใบ

ผู้หญิงแต่งชุดอันสดใสเดินขึ้นมาบนเวที เธอแสดง และโชว์ลวดลายในการเต้นให้ผู้ชมทั้งฮอลได้เห็น ในโลกใบนี้ที่เธอกำลังเต้นรำอยู่บนเวที เธอผู้นี้มีชื่อว่า “เวโรนิก้า” และเธอคือ LGBTQ ที่กล้าที่จะแสดงออกในสิ่งที่เธอเป็น เมื่อการแสดงของเธอจบลงท่ามกลางเสียงปรบมืออันดังสนั่นของผู้ชม เวโรนิก้าก็ค่อย ๆ เดินไปหยิบไดอารี่ของเธอและเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาของเธอให้ทุก ๆ คนได้รับฟัง

เวโรนิก้าเป็นนามแฝงในโลกใบนี้ ในขณะที่โลกอีกใบของเธอ เธอเป็นลูกชายที่ดีของครอบครัว เวโรนิก้าไม่เคยต้องการที่จะสร้างโลกขึ้นมา 2 ใบนี้ตั้งแต่แรก “ทุกคนถ้าเลือกได้ก็อยากที่จะมีโลกแค่ใบเดียว” เวโรนิก้ากล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อย เธอได้พยายามเก็บงำเรื่องราวของโลกที่เวโรนิก้ามีชีวิตอยู่ไว้เป็นความลับมาโดยตลอด แต่ลึก ๆ แล้วเธอเองก็ต้องการจะรวมโลกสองใบนี้ให้เป็นหนึ่งเหมือนกัน นี่เป็นสาเหตุให้เธอเลือกที่จะเปิดเผยเรื่องราวของเวโรนิก้าให้ครอบครัวได้รับรู้ แต่ผลที่ตามมากลับไม่ใช่สิ่งที่เธอคิดเลย

การยอมรับในสิ่งที่ผู้อื่นเป็นนั้นสำคัญมาก เวโรนิก้าจำต้องคงโลกทั้งสองใบไว้ เพียงเพราะครอบครัวไม่สนับสนุนในสิ่งที่เธอเป็น แต่ในขณะเดียวกันเธอก็ไม่ละทิ้งความฝันของเธอเช่นเดียวกัน แน่นอนว่ามันคงไม่มีสิ่งใดมาพรากความชอบไปจากคนคนหนึ่งได้อยู่แล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลที่เธอเลือกที่จะมีชีวิตของเธอเช่นนี้ บางครั้งโลกก็ไม่สวยงามเสมอไป แต่ตัวเรานั้นยังคงมีสิทธิ์ที่จะเลือกชีวิตในแบบที่เราต้องการ

น้องใบเฟิร์น – การศึกษาไทย และความสัมพันธ์ของ Perfectionism

หากจะถามว่าเรื่องราวของใครถูกผูกมัดด้วยระบบการศึกษามากที่สุด หนึ่งในนั้นจะต้องเป็น track ของน้องใบเฟิร์นอย่างแน่แท้ เธอเป็นเด็กหญิงที่เก่งกาจในด้านการศึกษา ทำเกรด 4.00 มาให้ครอบครัวของเธอได้ชื่นชมอยู่เสมอ ๆ แต่เมื่อวันหนึ่ง เกรดของเธอตกต่ำกว่าตัวเลข 4.00 นั้นลงมาเพียงแค่ 0.01 ล่ะ ใช่แล้ว น้องใบเฟิร์นได้เกรด 3.99 เพียงเพราะมีอาจารย์วิชาหนึ่งเลือกที่จะไม่ให้คะแนนเธอมากพอที่จะได้เกรด 4.00 ในวิชานั้น ซึ่งส่งผลให้เมื่อรวมคะแนนออกมาแล้ว เกรดเฉลี่ยของเธอจึงตกลงมาเป็นตัวเลขที่เธอได้เล่าให้เราฟัง

“สำหรับคนทั่วไป อาจจะไม่รู้สึกอะไรกับตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ แต่หนูร้องไห้เป็นสัปดาห์เลยหลังจากที่ผลออก” น้องใบเฟิร์นเล่าความจริงอันเจ็บปวดนี้ให้พวกเราได้รับฟัง เธอเป็นเหมือนนักเรียนหลาย ๆ คน ครอบครัวที่คาดหวังและคนรอบข้างที่ผลักดันเธออยู่ตลอดเปรียบได้กับการผลักดันให้เด็กคนหนึ่งต้องปีนภูเขาอันสุดแสนจะสูงเกินเอื้อม และเมื่อเด็กคนนั้นปีนถึงจุดสูงสุดแล้ว พวกเขากลับโยนภูเขาลูกใหม่มาให้ปีนอย่างไม่หยุดหย่อน สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ หลอมรวมกันจนเกิดเป็น Toxic Relationship ในที่สุด สิ่งที่น้องใบเฟิร์นได้ยินหลังจากนั้นคือคำพูดที่เด็กในวัยเธอไม่ควรที่จะได้ยินเลย มันคือคำพูดที่ดูถูกตัวเธอและยิ่งกดดันให้เธอต้องกลายเป็น Perfectionist จำยอม ผู้โหยหาความสมบูรณ์แบบอย่างไร้ที่สิ้นสุดไปตลอดกาล

แต่น้องใบเฟิร์นเลือกที่จะไม่ยอมให้คำพูดเหล่านี้เข้ามาทำร้ายเธอไปมากกว่านี้ เธอตั้งคำถามถึงสิ่งที่ถูกต้องที่นักเรียนคนหนึ่งควรจะได้รับ จะดีกว่าไหมถ้าผู้ปกครองหันมาใส่ใจในสิ่งที่เด็กต้องการจะเป็น มากกว่าตัวเลขที่ไม่ได้พิสูจน์ความสามารถจริง ๆ ของพวกเขา จะดีกว่าไหมที่จะคุยกันด้วยความเข้าใจจริง ๆ แทนที่จะกดดันพวกเขาต่อไป คำถามของน้องใบเฟิร์นดังก้องไปในจิตใจของทุก ๆ คน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเคยผ่านประสบการณ์เช่นเดียวกับใบเฟิร์นมาซักครั้งในชีวิต

น้องเดี่ยว – ประวัติศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องราวของอดีต และความสนุกที่คาดไม่ถึง

น้องเดี่ยวเปิด Track ของเขาด้วยคอนเซ็ปท์ที่ว่า “ประวัติศาสตร์ก็เป็นวิชาที่สนุกได้” เดี่ยวเป็นเด็กที่เติบโตมาพร้อมกับประวัติศาสตร์ แม่ของเขามักจะเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้เขาฟังในรูปแบบของนิทานก่อนนอน ซึ่งทำให้เดี่ยวชื่นชอบในศาสตร์เหล่านี้มาตั้งแต่นั้น แต่เมื่อเขาได้เข้าเรียนในระบบการศึกษา ความจริงที่ว่าวิชาประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องน่าเบื่อก็ดูจะเป็นความจริงขึ้นทุกที เดี่ยวเองผู้เป็นถึงตัวแทนโรงเรียนไปแข่งเพชรยอดมงกุฎประวัติศาสตร์จนได้รางวัลเริ่มกลับมาขบคิดว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง

เขาได้ยกตัวอย่างเรื่องของจักรพรรดิเนโรผู้เผากรุงโรมขึ้นมาจากโปรแกรมเบิร์นแผ่น CD ในชื่อเดียวกัน หลายคนในฮอลต่างร้องว้าวเมื่อได้รู้ความจริงว่าโปรแกรมที่พวกเขา(เคย)ใช้นั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับประวัติศาสตร์โรมัน แต่แล้วน้องเดี่ยวก็ตั้งคำถามขึ้นมาว่าจักรพรรดิเนโรนั้นเป็นผู้เผากรุงโรมจริง ๆ หรือ น้องเดี่ยวได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของเหตุการณ์ทั้งหมดให้พวกเราได้ฟังพร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้ดู บางแหล่งข่อมูลอ้างว่าเนโรเป็นคนเผาและนั่งดูเมืองหลวงของเขาฉิบหายวายวอดในกองเพลิง ในขณะที่อีกแหล่งอ้างว่าเนโรนั้นช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถในการช่วยดับเพลิง น้องเดี่ยวสรุปว่าด้วยความที่เนโรเป็นจักรพรรดิที่ชื่นชอบในศิลปะและดนตรี ตัวเนโรไม่ค่อยสนใจในการทหารซักเท่าไหร่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เหล่าขุนนางใส่ร้ายเขาได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ในยุคนั้น ชนชั้นขุนนางนี่แหละคือผู้จารึกประวัติศาสตร์ เดี่ยวปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะชอบใจของผู้ชมกับข้อมูลใหม่ที่คาดไม่ถึงนี้

ประวัติศาสตร์จะสนุกได้เพราะความเข้าใจและการถ่ายทอด “ประวัติศาสตร์ไม่ควรเป็นวิชาท่องจำ มันควรจะเป็นวิชาที่เปิดกว้าง” เดี่ยวเน้นย้ำอย่างหนักแน่น เราควรได้เสวนาและตั้งคำถามอย่างจริงจังกับผู้สอน เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์คือการตั้งคำถามให้เราได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงรากเหง้าของเราเอง จงอย่าให้ประวัติศาสตร์หลอกลวงเรา แต่จงใช้มันเป็นบทเรียนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า เดี่ยวสรุป ก่อนจะเฉลยว่าแท้จริงแล้วเขาไม่เคยชนะรางวัลเพชรยอดมงกุฎประวัติศาสตร์เลยด้วยซ้ำ แต่เป็นรางวัลจากการประกวดภาษาญี่ปุ่นต่างหากที่เขาได้ “ถ้าพวกคุณไม่ตั้งคำถาม พวกคุณย่อมไม่มีโอกาสรู้ความจริง” เดี่ยวเดินออกจากเวทีไปพร้อมเสียงปรบมือเกรียวกราวจากผู้ชมทั่วทั้งฮอล

น้องฮับ – ไอเดียคือสิ่งที่สมควรสร้างให้เป็นจริง

หากพูดถึงชื่อน้องฮับ เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักเด็กชายผู้อยู่เบื้องหลังสิ่งประดิษฐ์สำหรับช่วยฟังของเขา น้องฮับเป็นเด็กไทยคนเดียวที่ได้เข้ารอบในการแข่งขัน Google Science Fair งานประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ชื่อดังระดับโลก วันนี้น้องฮับมาเล่าเรื่องราวในเส้นทางนักประดิษฐ์ของเขา และหลักการในการสร้างสรรค์โปรเจคให้ประสบความสำเร็จ

เครื่องช่วยฟังของน้องฮับมีที่มาจากไอเดียในระหว่างที่น้องนั้นเล่นกีตาร์อยู่ น้องฮับได้ค้นพบปรากฎการณ์ที่เสียงเพลงที่เขาเล่นนั้นดังขึ้นกว่าเดิมด้วยการสัมผัสไปที่ตัวกีตาร์ น้องฮับได้ตั้งทฤษฎีขึ้นมาจากปรากฎการณ์นี้ คิดค้นไอเดีย และเริ่มลงมือทำในทันที และด้วยความสนับสนุนของครอบครัว น้องฮับก็สามารถสร้าง Prototype ชิ้นแรกได้สำเร็จ

“การทดลองใช้งานครั้งแรกของผมนั้นล้มเหลว” น้องฮับกล่าว และอีกหลาย ๆ ครั้งต่อมาก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ท้าทายน้องฮับเป็นอย่างมาก แต่เขาไม่เลือกที่จะยอมแพ้ให้กับความล้มเหลว ฮับได้พัฒนาและปรับปรุงแบบจนกระทั่งสิ่งประดิษฐ์ของเขาใช้งานได้ และเมื่อนำไปทดสอบกับผู้พิการทางการได้ยิน ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นก็เป็นน่าพึงพอใจ ฮับมีความฝันที่จะผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ให้กับผู้พิการสามารถนำไปใช้ได้ เขาจึงเดินหน้าขอทุนเพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ แต่เมื่อถูกปฏิเสธเพียงเพราะเครื่องมือชิ้นนี้นับเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ความท้าทายเดิมก็เหมือนจะกลับมาทำลาย Passion ของน้องฮับอีกครั้ง

แต่ด้วยครอบครัวที่เข้าใจฮับเป็นอย่างดีและกำลังใจอันท่วมท้น ผู้ปกครองของฮับแนะนำให้ส่งสิ่งประดิษฐ์นี้ไปเข้าร่วมงาน Google Science Fair ซึ่งแน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งที่ฮับทำทันที สิ่งประดิษฐ์ของฮับได้รับเลือกและฮับก็ได้บินไปยังอเมริกาเพื่อนำเสนองานของเขา ในวันตัดสินผล ถึงแม้งานของฮับจะไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่สิ่งที่ฮับจดจำได้อย่างไม่มีวันลืมคือวันที่ผู้พิการทางการได้ยินเดินเข้ามาหาเขาและให้กำลังใจ ร่วมถึงผลักดันให้ฮับพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นี้ต่อไป เพียงเท่านี้ฮับก็รู้สึกว่างานของเขาได้ช่วยเหลือคนแล้ว นับเป็นความสำเร็จก้าวหนึ่งของโครงการนี้

บทเรียนที่น้องฮับนำมาแชร์ให้เรานั้นเป็นการสรุปทุกอย่างจากหลาย ๆ งานที่น้องได้ทำ สิ่งสำคัญที่สุดคือ Passion ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นในการทำงาน ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเลวร้ายเพียงใดหรือสังคมจะพยายามทำร้ายเราแค่ไหน (น้องเองก็เคยโดนโจมตีบนโลกออนไลน์เช่นกันในช่วงที่เป็นข่าว) ฮับเลือกที่จะสู้และหล่อเลี้ยง Passion นั้นไว้เพื่อเป้าหมายสูงสุดของงาน ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของทุกโปรเจค เราต้องพร้อมที่จะก้าวข้ามมันไป และที่สำคัญที่สุด: ทุก ๆ ไอเดียที่เราคิด ควรค่าแก่การลงมือทำเสมอ

น้องอู๊ด – เมื่อเราไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กรอบของสังคม

น้องอู๊ดขึ้นมาบนเวทีพร้อมท่วงทำนองเพลงแรป สมกับธีม play the track ในการ Talk ครั้งนี้เป็นอย่างมาก อู๊ดเป็นแรปเปอร์ที่มีฝีมือแบบหาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง แต่ตัวเขาเองนั้นเป็นผู้พิการทางสายตา ถึงกระนั้น อู๊ดไม่เคยให้ความพิการมาหยุดยั้งตัวเขาไว้ ความชอบในดนตรีของเขาก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่เด็ก อู๊ดถึงขั้นแต่งเพลงรักไว้จีบสาวด้วยตัวเองเลยด้วยซ้ำ เจ้าตัวกล่าวขึ้นก่อนจะร้องเพลงที่ว่านี้ให้ผู้ชมทุกคนได้ฟัง

แต่เรื่องราวอีกด้านหนึ่งของอู๊ดคือความพยายามของเขานั้นมักจะโดนสังคมกดดันอยู่ตลอด หลาย ๆ ครั้งที่เขาได้ยินประโยคที่ว่า คนตาบอดจะเล่นดนตรีไปทำไม หรือการอยู่เฉย ๆ ของเขาน่าจะเป็นการดีเสียมากกว่า เพราะคนพิการก็ได้รับเงินบริจาคกันอยู่ทุกวันอยู่แล้ว

แต่อู๊ดไม่เคยมีแนวคิดแบบนั้น ท่อนแรปของเขาสื่อความคิดของตัวเขาต่อการกระทำออกมาได้ดีที่สุด อู๊ดไม่เคยต้องการที่จะอยู่ใต้กรอบที่สังคมวางให้เขา ความพิการไม่ใช่สิ่งที่จะมาหยุดยั้งเขาได้ เขาต้องการจะเป็นแรปเปอร์เหมือนที่เขาใฝ่ฝัน ไม่สิ เขาต้องการเป็นตัวของตัวเองต่างหาก น้องอู๊ด Breakthrough กรอบเหล่านั้นและเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด

สุดท้ายนี้สังคมไม่ควรจะเป็นสิ่งที่กำหนดตัวเรา ตัวเราเองเท่านั้นที่รู้ดีที่สุดว่าเราต้องการอะไร ทุกคนล้วนมีความแตกต่างและเอกลักษณ์เป็นของตนเอง จงอย่าทิ้งสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ไปเพียงเพราะสังคมมองว่าเราไม่คู่ควรกับมัน

อู๊ดโยนไม้เท้านำทางของเขาลงบนเวที และเดินออกไปอย่างมั่นคง ท่ามกลางเสียงปรบมือที่ดังสนั่นไปทั่วทั้งฮอล เป็นการปิด Talk ในครั้งนี้อย่างสมบูรณ์

เรื่องราวของ TEDxYOUTH

ที่มาของงาน TEDxYOUTH @Bangkok 2019 ในปีนี้ ถูกจัดขึ้นโดยความร่วมมือ ของ TEDxBangkok ผู้ถือลิขสิทธิ์ของ TED ในประเทศไทย โดยในงานนี้ยังมีทีมงานจาก TED Club มาเสริมด้วย โดย TED Club เป็นโครงการของ TEDx ในโรงเรียน สำหรับนักเรียนและคณาจารย์ ซึ่งงาน Talk ครั้งนี้เองก็มีเด็ก ๆ จาก TED Club มาพูดด้วยกันหลายคน

งาน TEDxYOUTH เป็นเหมือนสถานที่ให้เด็กและเยาวชนไทยได้ออกมาพูดและแสดงออกถึงเรื่องราวต่าง ๆ เป้าหมายเดิมของ TEDx ที่เคยเน้นไปที่เนื้อหาถูกเปลี่ยนแปลงมาเป็นการสร้างพื้นที่สำหรับการสร้างเนื้อหาแทน วงกลมสีแดงบนเวทีได้กลายมาเป็น Safe Zone ให้เด็กไทยได้ปล่อยของกันอย่างเต็มที่ และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

งานครั้งนี้ยังถูกจัดขึ้นโดยทีมงานที่เป็นเยาวชน (ศึกษาอยู่ในระดับไม่เกินอุดมศึกษา) ทั้งหมดด้วยเช่นกัน ซึ่ง TEDxYOUTH ครั้งนี้นับได้ว่าถูกจัดขึ้นเป็นอย่างดีและจบลงอย่างสวยงาม สมกับดีกรี TEDx เลยจริง ๆ

บทส่งท้าย

ท่ามกลางเสียงปรบมือของผู้ชมหลังจากพิธีปิดงานและ Track ทั้ง 11 Track ได้ถูกกด Play ไปเรียบร้อยแล้ว เรื่องราวที่เราได้ยินนั้นมีทั้งความสุขและความเศร้า ปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมถึงข้อคิดและประสบการณ์มากมาย เด็ก ๆ ทั้ง 11 คนได้พูดสิ่งต่าง ๆ ให้เราได้ฟัง เรื่องเล่าของเหล่าเด็กอายุน้อยผู้เป็นอนาคตของชาติ บัดนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำของผู้ใหญ่หลาย ๆ คน แต่เมื่อคิดดูแล้ว ยังมีเด็กไทยอีกมากมาย ที่ไม่มีแม้โอกาสที่จะได้กด Play เสียงของพวกเขาเลย บางคนอาจจะถูกกด Pause เสียงของพวกเขาไว้เช่นนั้นจนกระทั่งพวกเขาเติบโตและจากไปโดยมิได้ฝากความในใจไว้ให้ใครได้รับรู้เลยก็เป็นได้ นี่เป็นเรื่องที่น่าคิดมาก เราจะทำอย่างไรให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราวของตนเองออกมา สังคมควรจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและให้โอกาสพวกเขามากกว่านี้มิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนี้ เรื่องเล่าจากหลาย ๆ คนในงานก็เริ่มจะดูใกล้ตัวมากขึ้นทุกที…

สุดท้ายนี้ ข้อคิดและบทเรียนที่เหล่า Speaker ได้ฝากเอาไว้นั้น เป็นเหมือนของขวัญที่เราควรจะนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน การลงมือทำยังคงเป็นสิ่งที่ขาดไปเสียมิได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว หากเราไม่ทำ การรับฟังเรื่องราวทั้งหมดนี้ก็เปรียบเสมือนการหลับฝัน ที่พอตื่นเช้ามา เราก็คงจะหลงลืมมันไปเสียสิ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อคิดที่น้องแนน น้องภูมิ น้องรัญชน์ น้องกิ๊ก น้องป๋อ น้องลิลลี่ น้องเวโรนิก้า น้องใบเฟิร์น น้องเดี่ยว น้องฮับ น้องอู๊ดและทีมงาน TEDx ได้ฝากเอาไว้ เราควรจะคิดและลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ให้ดียิ่งขึ้นและเหมาะสมสำหรับทุกคน

ที่มาภาพ – TEDxBangkok

เรียบเรียงโดย – ทีมงาน Spaceth.co

นานุ | ชายผู้หลอมรวมความชอบในด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกัน | นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ (ไส้แห้ง) ที่ชื่นชอบในการวาดรูป, แอนิเมชั่น, 3D Modeling และกราฟฟิกดีไซน์ ไปจนถึงการถ่ายทำภาพยนตร์สั้น