ในการแถลงข่าว เลื่อนภารกิจการเหยียบดวงจันทร์ไปเป็นปี 2026 ของ NASA ก็ได้มีการแถลงข่าวใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ Lunar Gateway ว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) จะเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมสำคัญในโครงการ ร่วมกับ NASA, ESA, CSA และ JAXA ในการรับผิดชอบผลิตชิ้นส่วน Airlock สำหรับตัวสถานี
Airlock เป็นโมดูลที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากกับตัวสถานี ทำหน้าที่เป็นส่วนเชื่อมระหว่างตัวสถานีกับอวกาศภายนอก เพื่อให้นักบินอวกาศสามารถออกไปทำ Extravehicular Activity (EVA) หรือการออกไปนอกตัวสถานีในชุดอวกาศได้ ซึ่งตามแผนเดิม ผู้ที่จะสร้าง Airlock ให้กับ Lunar Gateway นั้นจะเป็น Roscosmos หน่วยงานอวกาศรัสเซีย แต่หลังจากที่รัสเซีย ตัดสินใจถอนตัวออกจากโครงการ Artemis และไปร่วมมือกับจีนในโครงการ International Lunar Research Station หรือ ILRS ก็ไม่ได้มีความชัดเจนออกมาว่าใครจะเป็นผู้ทำ Airlock
ในขณะที่โมดูลอื่น ๆ นั้น ได้มีการจัดแจงแบ่งหน้าที่กันเรียบร้อย เช่น ตัวโมดูลหลัก PPE และ HALO จะถูกพัฒนาโดยสหรัฐฯ โดย NASA และบริษัทคู่สัญญาอย่าง Maxar และ Aerojet Rocketdyne ที่รับหน้าที่ทำระบบขับเคลื่อนไอออน และโมดูล HALO ที่ดูแลโดย Northrop Grumman แต่จ้าง Thales Alenia Space ฝรั่งเศส ดำเนินการสร้าง
ในขณะที่ ESA และ JAXA ก็ร่วมกันพัฒนาโมดูล ESPIRIT และ I-HAB ซึ่งเป็นโมดูลสำหรับการสื่อสาร ทดลองวิทยาศาสตร์ และระบบการจัดการโอนถ่ายเชื้อเพลิง ซึ่งถูกพัฒนาโดย Thales Alenia Space เช่นกัน และชิ้นส่วนที่พูดถึงก็รู้ว่าใครเป็นคนทำอย่างแขนกล ก็จะถูกพัฒนาโดย Canadian Space Agency (CSA) ซึ่งมีแผนสร้างแขนกล Canadarm 3 เป็นรุ่นอัพเกรดจาก Canadarm 2 ที่ปัจจุบันถูกใช้งานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ
จะสังเกตว่าในบทความ ที่เราเล่ารายละเอียดของ Lunar Gateway ที่ถูกเขียนในปี 2022 นั้น จะยังไม่ได้พูดถึงว่า ใครจะเป็นผู้สร้าง Airlock จากเดิมที่ขาดหายไปจากการถอนตัวของ Roscosmos ซึ่งวันนี้เราก็น่าจะได้คำตอบแล้วว่า Mohammed Bin Rashid Space Center (MBRSC) แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะมารับหน้าที่เป็นผู้สร้างเอง
MBRSC ได้ให้รายละเอียดแผนการพัฒนา Airlock สำหรับ Lunar Gatway บอกว่า จะมีชิ้นส่วน 2 ชิ้นหลักด้วยกัน ได้แก่ระบบ Crew Airlock และระบบ Scientific Airlock โดยขนาดของตัวโมดูล จะมีความยาว 10 เมตร กว้าง 4 เมตร และหนัก 10 ตัน ซึ่งจะมีขนาดพอ ๆ กับโมดูล Kibo ของญี่ปุ่นบนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่ใหญ่กว่าเพียงเล็กน้อย (Kibo ยาว 11 เมตร หนัก 14 ตัน)
และในการนำเอา Airlock ไปติดตั้งกับตัวโมดูลหลักที่จะถูกส่งไปก่อนล่วงหน้าอย่าง PPE และ HALO นั้น จะถูกทำโดยยานอวกาศ Orion ในภารกิจ Artemis IV ในช่วงปี 2028 ซึ่งจะเป็นช่วงเดียวกับที่มีการส่งโมดูล I-Hab ขึ้นไป เพื่อก่อสร้าง Lunar Gateway
สำหรับสาเหตุที่ MBRSC ตัดสินใจงานใหญ่ครั้งนี้ ก็ได้มีการระบุว่า UAE จะกลายเป็นประเทศที่ได้ตั๋วอย่างเป็นทางการสำหรับการส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศ Lunar Gateway เช่นเดียวกับ NASA, ESA, CSA และ JAXA ซึ่งเป็นสี่พันธมิตรหลักในการก่อสร้าง Lunar Gateway โดยเราจะสังเกตได้ว่า MBRSC มีกลยุทธ์ในการส่งนักบินอวกาศเข้าไปประจำอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเต็มเวลา 6 เดือน ในปี 2023 (อ่าน – เบื้องหลังดีลภารกิจนักบินอวกาศอาหรับ ที่จะอยู่ในอวกาศนานที่สุด จากมุมของเอมิเรตส์) ดังนั้นเป้าหมายต่อไปก็คือการมีส่วนร่วมกับโครงการใหญ่ ในยุคหลังสถานีอวกาศนานชาติ นั่นก็คือ Lunar Gateway นั่นเอง
และอีกหนึ่งความสำคัญก็คือ UAE จะได้ครอบครองเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตโมดูลสำหรับสถานีอวกาศ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ชาติเท่านั้นที่สามารถผลิตได้ เช่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น รัสเซีย และจีน นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของการสร้างสถานีอวกาศเป็นของตัวเอง หรือการสร้างยานอวกาศสำหรับคนนั่ง ซึ่ง UAE เอง ก็มีเป้าหมายระยะยาวว่าต้องสามารถส่งมนุษย์เดินทางไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารให้ได้ ภายในปี 2117
สามารถอ่าน เรื่องราวการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ UAE ในช่วงปี 2010 – 2021 ได้ในบทความ – การท่องอวกาศของ UAE เปลี่ยนโลกอาหรับอย่างไร
การประะกาศดังกล่าวจึงน่าจับตามองเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการยกระดับความร่วมมือในโครงการระดับนานาชาติที่สำคัญของ UAE และแม้จะยังไม่มีรายละเอียดออกมาอย่างชัดเจนว่า การออกแบบ การก่อสร้างจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ใครจะเป็นคนทำ แต่การออกมารับงานนี้ก็คงสะเทือนวงการอยู่ไม่น้อย
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co