พาชมด้านในและขึ้นหลังคาอาคาร Vehicle Assembly Building ของ NASA

บทความนี้อยากพาทุกคนไปชมอาคาร Vehicle Assembly Building ของ NASA ซึ่งเมื่อพูดชื่อ NASA แล้ว หลายคนก็อาจจะนึกถึงอาคารขนาดใหญ่ที่มีตราสัญลักษณ์ของ NASA และธงชาติสหรัฐฯ ผืนยักษ์อยู่ ซึ่งเราอาจจะได้เห็นภาพเหล่านี้ผ่านสื่อต่าง ๆ กันมาบ้างแล้ว แต่ในบทความนี้เราอยากพาทุกคนมาบุกเข้าไปข้างในอาคาร VAB แห่งนี้ รวมถึงขึ้นไปบนหลังคาว่าเราจะมองเห็นอะไรบ้าง

สำหรับโอกาสนี้ ต้องบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการได้เดินทางไปถ่ายทำการปล่อยจรวด Falcon Heavy ในช่วงเดือนมิถุนายน 2024 ซึ่งทางทีมงานได้มีโอกาสสุดพิเศษจาก NASA ให้ได้ขึ้นไปถ่ายทำกันถึงบนดาดฟ้าของอาคารแห่งนี้กันเลยทีเดียว

จรวด SLS ขณะถูกเคลื่อนออกมาจากอาคาร VAB ของ NASA พร้อมกับรถ Crawler และ Mobile Launch Tower ที่มา – NASA

ก่อนอื่นอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับอาคาร VAB กันก่อน อาคารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1964-1966 ซึ่งเป็นช่วงที่ NASA กำลังระดมเม็ดเงินมหาศาลสำหรับโครงการ Apollo เดิมทีนั้น NASA จำเป็นต้องใช้ Facility ต่าง ๆ ในส่วนของฐานทัพอากาศ Cape Canaveral Air Force Station รวมถึงฐานปล่อยต่าง ๆ ด้วย เนื่องจาก NASA ยังไม่มีฐานปล่อยเป็นของตัวเอง จนกระทั่ง NASA ต้องพัฒนาฐานปล่อยและระบบการปล่อยสำหรับจรวด Saturn V ยักษ์ที่สูงมากกว่า 100 เมตร เกินประสิทธิภาพของฐานปล่อยในฝั่งกองทัพฯ ในตอนนั้น จนต้องมีการสร้างฐานปล่อย Launch Complex 39 หรือ LC-39 ขึ้นมา เพื่อรองรับการปล่อยโดยเฉพาะ และอาคาร VAB ก็เป็นส่วนหนึ่งของฐานปล่อย LC-39 ด้วยเช่นกัน

สามารถอ่านเรื่องราวนี้ได้ในบทความ ประวัติศาสตร์ที่ดินของแหลมคะเนอเวอรัล และทำไม NASA ต้องปล่อยจรวดที่นั่น

จรวด Saturn V กำลังถูกเคลื่อนที่ออกมาจากอาคาร VAB เพื่อไปยังฐานปล่อย ที่มา – NASA

หลังจากสร้างเสร็จในปี 1966 อาคาร VAB นั้น ตั้งตระหง่านด้วยความสูงกว่า 160 เมตร กว้าง 158 เมตร และยาว 218 และนับว่ามีทั้งหมด 1 ชั้นถ้วน หมายความว่านี่คืออาคารหนึ่งชั้นที่มีปริมาตรมากที่สุดในโลก ภายในมีการแบ่งออกเป็นสองฝั่งได้แก่ Low Bay และ High Bay โดยฝั่งที่เป็น Low Bay นั้น คือส่วนที่ยื่นออกมา และมีความสูงน้อยกว่า อยู่ที่ 60 เมตร

โดยในส่วนของ High Bay นั้น จะมีการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นทั้งหมด 4 บริเวณด้วยกัน ได้แก่ High Bay 1, 2, 3 และ 4 โดยตรงกลาง จะเป็นทางเข้าทั้งสองฝั่ง สามารถลากเอาตัวจรวด (ในแนวนอน) เข้ามาในอาคาร VAB ได้ ในขณะที่แต่ละ High Bay ก็จะมีประตูขนาดใหญ่ ที่สามารถเปิดออกเพื่อให้ตัวจรวดถูกเคลื่อนออกไปยังฐานปล่อยได้

ส่วนฝั่ง Low Bay นั้นจะเป็นพื้นที่ใช้สอยสำหรับทำงานอื่น ๆ นอกจากการประกอบตัวจรวด โดยเราจะเรียกบริเวณนี้ว่า Cell และ Area นั่นเอง

ผังแสดงด้านในอาคาร VAB ซึ่งจะประกอบไปด้วยส่วน High Bay และ Low Bay ที่มา – NASA

หากเราดูจากภาพแล้ว เราจะพบกับความจริงที่ว่า VAB นั้นถูกออกแบบมาสำหรับให้ประกอบจรวดได้ทั้งหมดพร้อมกันถึง 4 ลำเลยทีเดียว โดยในยุค Apollo นั้น NASA เคยประกอบจรวด Saturn V สำหรับภารกิจ Apollo 12 และ Apollo 13 พร้อมกัน แต่ก็ไม่เคยใช้ VAB ได้อย่างเต็มความจุ ต้องมารอลุ้นกันในยุค Artemis ว่า เราจะได้เห็นการประกอบจรวดใน VAB พร้อมกันมากแค่ไหน

พาชมด้านในอาคาร VAB และขึ้นลิฟท์ไปยังดาดฟ้า

สำหรับการเดินทางของเราวันนี้ เราจะเข้าสู่ VAB ผ่านทางประตู ของฝั่ง Low Bay ซึ่งเราเดินทางเข้ามาพร้อมกับนักข่าวจากสำนักอื่น ๆ ที่จะเข้ามาถ่ายทำเช่นกัน โดยปกติ NASA จะสงวนจำนวนสื่อไว้อยู่ที่ประมาณไม่เกิน 20 คนต่อการขึ้นหลังคา VAB ทำให้ถือว่าโชคดีมาก ๆ ในวันนี้

เมื่อเข้ามาเราจะเห็นลานโล่ง ๆ เป็นทางยาวจากประตู VAB ฝั่ง Low Bay ทอดยาวไปยัง High Bay โดยทางนี้จะมีความยาว 218 เมตร ใช้สำหรับการนำจรวดเข้ามาใน VAB เราเรียกบริเวณนี้ว่า Transfer Aisle

ด้านในบริเวณ Transfer Aisle ของอาคาร VAB มองไปยังประตูฝั่ง High Bay ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ในบริเวณ Transfer Aisle นี้ถ้าสังเกตเราจะเห็นเครนสีส้มตรงกลาง 1 ตัว โดยเครนตัวนี้สามารถยกสิ่งของที่มีน้ำหนักได้มากถึง 159 ตัน ซึ่งจะทำหน้าที่เคลื่อนย้ายตัวจรวดในส่วน Transfer Aisle

นอกจากเครนตัวนี้แล้ว ยังมีเครนอีก 4 ตัวที่ใช้ในการยกตัวจรวดจาก Transfer Aisle เข้าไปยัง High Bay 1, 2, 3 และ 4 โดยเครนพวกนี้บางตัวสามารถยกน้ำหนักได้มากถึง 295 ตัน ซึ่งถ้าดูในภาพเราจะสังเกตว่า เราจะไม่เห็นช่องว่างระหว่าง Transfer Aisle กับ High Bay แต่ละแห่ง แต่จะมีโครงเหล็กของอาคารกั้นอยู่ ทำให้เวลาเราจะยกตัวจรวดเข้า High Bay เราจะต้องยกตัวจรวดให้พ้นตัวโครงเหล็กนี้

เวลา NASA ยกตัวจรวด SLS เข้าสู่ High Bay 3 วิธีการคือ เครนของฝั่ง Low Bay จะประคองฐานของจรวด ในขณะที่เครนของ High Bay 3 จะยก SLS ขึ้นจนตั้งตรง ก่อที่จะปลดสลิงของเครน Low Bay ตอนนี้จรวดจะตั้งตรง แล้วค่อยใช้เครน High Bay เลื่อนเอา SLS เข้าไป แล้วหย่อนลงใน High Bay 3

บริเวณ Low Bay นี้ ยังเป็นที่ตั้งของ VAB Operation Control ซึ่งจะเป็นเหมือนกับ อาคารที่คอยควบคุมการทำงานด้านใน VAB ทั้งหมด โดยคำว่า Exploration Ground System (EGS) นี้ก็เป็นชื่อที่ NASA ใช้เรียกระบบการปรับปรุงอาคาร VAB มาสำหรับใช้งานในโครงการ Artemis นั่นเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสามหัวใจสำคัญหลักของโครงการ Artemis ได้แก่ Orion, SLS และ EGS

ห้องควบคุมการทำงานภายในอาคาร VAB ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

โดยพอเดินเข้ามาใน VAB แล้วเราจะไปขึ้นลิฟท์เพื่อไปยังชั้น 37 ซึ่งพอเล่ามาตรงนี้หลายคนอาจจะถามว่า ไหนบอกว่า VAB มีชั้นเดียว คำตอบก็คือใช่ แต่ภายใน VAB จะมีส่วนที่เรียกว่า Tower ซึ่งช่วยให้คนงานด้านในสามารถขึ้นไปที่ระดับความสูงต่าง ๆ เพื่อทำงานกับตัวจรวดได้ โดยใน VAB จะแบ่งออกเป็น Tower A, B, C, D, E และ F ในวันนี้ เราจะขึ้นลิฟท์ของ Tower E ซึ่งอยู่ระหว่าง High Bay 1 และ 3 กัน

Crawler จอดอยู่ด้านใน High Bay 1 ในอาคาร VAB ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

โดยระหว่างที่เดินไปยัง Tower E เราก็จะต้องเดินผ่าน High Bay 1 ซึ่งในวันนี้ มีรถ Crawler สำหรับขนจรวดจอดอยู่ด้านในด้วย โชคดีมาก ๆ ที่เราได้เห็น Cralwer อย่างใกล้ชิด น่าตื่นเต้นมาก ๆ

เมื่อเราเดินมาถึงบริเวณ Tower E ระหว่าง High Bay 1 กับ 3 แล้ว เราก็จะขึ้นลิฟท์ โดยในแต่ละ Tower นั้นก็จะมีลิฟท์ 2 ตัวด้วยกัน ซึ่งลิฟท์ที่เราเห็นนี้ บางตัวก็จะเป็นลิฟท์แก้วด้วย (ว้าว) มองออกไปก็จะเห็นด้านนอก เรียกได้ว่าถ้ามีจรวดถูกประกอบอยู่ใน High Bay เราก็จะเห็นเต็ม ๆ เลย

ลิฟท์สำหรับ Tower E ที่เราจะขึ้นกันในวันนี้ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ทีนี้อยากชี้ให้ทุกคนดูวิธีการกดลิฟท์ใน VAB กัน เราจะเห็นว่ามันถูกแบ่งเป็นแต่ละชั้น ตั้งแต่ชั้น 1 ไปจนถึงชั้น 37 ซึ่งจะขึ้นไปที่ความสูงของ Tower ที่แตกต่างกัน แต่ก็จะมีเลขชั้นแปลก ๆ นั่นก็คือ C, ER, E, B, F, D ตัวอักษรพวกนี้ หมายถึง Platform แต่ละชั้นที่ใช้สำหรับการประกอบจรวด ซึ่งจะเป็นเหมือน Hot Key สำหรับการกดไปยังชั้นนั้น ๆ อีกที เพราะเวลาเขาคุยกัน เขาจะบอกว่าไป Platform ไหน ไม่ได้บอกว่าไปชั้นไหน

ปุ่มกดลิฟท์ใน Tower ของอาคาร VAB ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ภาพด้านล่างเราจะถ่ายให้ดูขนาดลองลิฟท์ ซึ่งเราจะพบว่ามีขนาดใหญ่มากพอสมควร สามารถจุคนได้ประมาณ 10 คน ซึ่งในการใช้งานจริงจะต้องจุทีมช่าง ทีมวิศวกร ที่ขึ้นไปทำงานในแต่ละ Platform ของตัวจรวด ในภาพเราจะเห็นทีมช่างภาพและนักข่าวจากสำนักต่าง ๆ เข้ามาในลิฟท์ได้หลาย ๆ คนแบบสบาย ๆ

บรรยากาศภายในลิฟท์ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

หลังจากที่ขึ้นมาที่ชั้น 37 แล้ว นี่ก็ยังไม่ใช่จุดที่สูงที่สุดของอาคาร VAB อยู่ดี แต่ในบริเวณนี้เราจะมองเห็นตัวโครงเหล็กของ VAB ได้เป็นอย่างดี รวมถึงมองเห็นเครนที่ใช้ในส่วนของ High Bay ได้

บนชั้น 34 ของ Tower E อาคาร VAB ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ภาพด้านล่าง เราจะมองไปยัง High Bay 2 และ Tower B ซึ่งด้านบนเราจะเห็นเครนสีเหลือง ๆ นั่นคือเครนที่ใช้สำหรับยกของเข้าสู่ High Bay 2 นั่นเอง และจะมีทางเดินข้ามระหว่าง Tower E ไปยัง Tower B ซึ่งเราจะเรียกว่า Cat Walk

เครนสีเหลืองและด้านหลังคือ High Bay 2 – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ชั้น 37 นี้จะถือว่าเป็นชั้นบนสุดแล้วของ Tower มองขึ้นไปด้านบนเราจะเห็นเป็นโครงสร้างโครงเหล็กเท่านั้น หลังจากที่ขึ้นมาบนชั้น 37 แล้ว เราจะต้องขึ้นลิฟท์ขนาดเล็กต่อไปยังดาดฟ้าของอาคาร VAB โดยลิฟท์ตัวนี้จะมีขนาดเล็กกว่าลิฟท์ตัวแรกที่เราขึ้นมาตอนแรก

ชั้นที่ 37 เป็นชั้นที่สูงที่สุดที่เราจะขึ้นลิฟท์ของ Tower มาได้ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ลิฟท์ตัวที่สองจะพาเราขึ้นไปยังดาดฟ้าของ VAB เสียดายที่เราลืมถ่ายภาพลิฟท์ตัวที่ 2 มาให้ แต่จะสามารถรับชม (ในภายหลัง) ได้ในวิดีโอชุดพาชมการปล่อยจรวด Falcon Heavy

บรรยากาศบนดาดฟ้าของอาคาร VAB

พอขึ้นมาบนดาดฟ้าของอาคาร VAB เราจะมองเห็นความกว้างใหญ่ของบริเวณแหลมคะเนอเวอรัล รวมถึงมองเห็นทุกฐานปล่อยทั้งในบริเวณ NASA Kennedy Space Center และ Cape Canavaral Space Force Station ไปได้ไกลจนถึงบริเวณท่าเรือ Port Canaveral เห็นเรือสำราญที่กำลังจอดอยู่เลย

บริเวณหลังคาดาดฟ้าของ VAB นี้จะเป็นบริเวณที่ NASA ใช้ในการตั้งกล้องถ่ายทอดสดภารกิจต่าง ๆ ด้วย โดยเราจะมีชื่อเรียกกันเทคนิคว่า “VAB Roof” ดังนั้น หากเราเจอ Label วิดีโอ หรือภาพถ่ายต่าง ๆ ว่า VAB Roof ก็ให้จินตนาการว่าถูกถ่ายจากบนดาดฟ้าของ VAB นี้แหละ

ช่างภาพจากสำนักต่าง ๆ กำลังเตรียมถ่ายภาพจรวดจากบนดาดฟ้าของอาคาร ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

โดยถ้าเรามองไปด้านหน้า เราจะมองเห็นฐานปล่อย LC-39A และมีฉากหลังเป็นมหาสมุทรแอตแลนติกได้อย่างชัดเจน รวมถึงจะเห็นเส้นทาง Crawler Way หรือทางที่ NASA ใช้พาจรวดที่นำขึ้นบน Mobile Launcher เรียบร้อยแล้ว ไปยังฐานปล่อย LC39-A หรือ LC-39B โดยจรวดที่เราชมวันนี้คือจรวด Falcon Heavy ที่ตั้งอยู่บนฐานปล่อย LC-39A

มองไปยังฐานปล่อย LC-39A ของ SpaceX ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

หากมองจากตรงนี้เราจะสามารถมองเห็นแทบจะทุกฐานปล่อย ซึ่งเราได้เห็นบรรยากาศมาให้ดู ตั้งแต่ฐานปล่อย LC-39A, LC-39B ใน Kennedy Space Center และ SLC-40, SLC-41, SLC-37, SLC-36 ในฝั่ง Cape Canaveral Space Force Station ดังนั้นเราจะเห็นเลยว่าบนหลังคา VAB นี้เป็นจุดที่ดีที่สุดที่จะมาชมการปล่อยเลยก็ว่าได้

Launch Complex 39A

ฐานปล่อยสำคัญของ SpaceX ที่วันนี้เรามาดูจรวด Falcon Heavy กัน จะสังเกตเห็นฐานปล่อย Starship ด้วย

Launch Complex 39B

ฐานปล่อยสำคัญสำหรับจรวด SLS ในโครงการ Artemis โดยเราจะเห็น Mobile Launcher Tower อยู่บนตัวฐาน

Space Launch Complex 40

ฐานปล่อยของ SpaceX ในโซน Cape Canaveral Space Force Station สำหรับการปล่อยจรวด Falcon ในภาพจะเห็นอาคารประกอบจรวดแนวนอนของ SpaceX เราเคยพาไปดู Falcon 9 ปล่อยจากฐานนี้ในบทความ – เล่าประสบการณ์การทำข่าวปล่อย Falcon 9

Space Launch Complex 41

ฐานสำหรับปล่อยจรวด Atlas V ของ United Launch Alliance จะเห็นอาคารประกอบจรวดแนวตั้ง Vertical Integration Facility ซึ่งฐานนี้เพิ่งปล่อย Starliner ไปสด ๆ ร้อน ๆ อ่าน – สรุปบรรยากาศทดสอบ CFT-1 ยาน Starliner และการเลื่อนปล่อย

Space Launch Complex 37

ฐานปล่อยสำหรับจรวด Delta IV Heavy ของ United Launch Alliance โดยอาคารในภาพตรงกลางคือ Mobile Service Tower ที่จะเลื่อนออกมาเมื่อจรวดกำลังจะถูกปล่อย

Space Launch Complex 36

ไกล ๆ นั่นคือฐานปล่อยแห่งใหม่ของ Blue Origin ที่ได้มาจากการปรับปรุงฐานปล่อย Atlas-Centaur เดิม ถ้าดูในภาพ จะเห็นว่ามีการนำเอาจรวด New Glenn มาทดสอบด้วย

ทั้งหมดนี้คือบรรยากาศที่เราเก็บมา ข้อที่ควรรู้อีกอย่างก็คือเวลาที่เราดูการปล่อยจรวดบนอาคาร VAB นี้เราจะพบว่าตัวอาคารมันสั่นได้ด้วยเป็นประสบการณ์การชมการปล่อยที่น่าตื่นเต้นที่สุดรูปแบบหนึ่งก็ว่าได้

และนี่ก็คือภาพที่เห็น เมื่อจรวด Falcon Heavy บนขึ้นเมื่อถ่ายจากหลังคาของอาคาร VAB ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

หลังจากที่เก็บภาพกันอย่าจุใจแล้ว ก็ได้เวลาลงจากอาคาร VAB ซึ่งวิธีการลงเราก็จะใช้วิธีลงลิฟท์แบบเดิม จากบนดาดฟ้าไปชั้น 37 และลงจากชั้น 37 ไปยังชั้น 1 หรือพื้นดินนั่นเอง และเวลาออกเราก็จะออกทางเดิม ซึ่งเราก็ไม่ลืมที่จะเก็บบรรยากาศและถ่ายภาพกับ Crawler คันประวัติศาสตร์อีกครั้ง

ทีมงาน ถ่ายภาพกับ Crawler ยักษ์ของ NASA ใน High Bay 1 ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

สุดท้าย ก็ต้องสรุปให้ฟังว่าอาคาร VAB นี้ เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของการสำรวจอวกาศ เรียกได้ว่าโครงการสำรวจอวกาศของ NASA ตั้งแต่ Apollo กระสวยอวกาศ และยุค Artemis จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มีอาคาร VAB แห่งนี้ อยากให้ลองนึกภาพดูว่าอาคารแห่งนี้นั้นเป็นอาคารเดียวกับที่ประกอบจรวด Saturn V ลำที่พามนุษย์เดินทางสู่ดวงจันทร์ครั้งแรก บุคคลสำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์ ต่างเคยเข้ามาอยู่ในนี้ รวมถึง Wernher von Braun บิดาแห่งเทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐฯ

โอกาสนี้จึงนับว่าพิเศษมาก ๆ จริง ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่านี่จะเป็นครั้งเดียว เพราะในอนาคตหากมีโอกาส เราก็อาจได้ขึ้นมาถ่ายทำบรรยากาศการปล่อยบนอาคาร VAB นี้อีกครั้ง รอบหน้าจะเป็นภารกิจอะไรก็ต้องติดตามกันต่อไป

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.