Space Economy Lifting Off 2021: ทำความเข้าใจ Space Economy คืออะไร

หลังจากที่มีการเปิดตัวโครงการ Thai Space Consortium ซึ่งเป็นการร่วมมือด้านการพัฒนายานอวกาศวิทยาศาสตร์ชุดแรกของไทย เราได้เห็นการตื่นตัวและการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า Space Economy หรือเศรษฐกิจอวกาศ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในภาคีความร่วมมือดังกล่าว และได้จัดโครงการ Space Economy Lifting Off ขึ้นมาเพื่อผลักดันให้เกิดการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศไปพัฒนาประเทศ

ในบทความนี้เราจะชวนทุกคนมาพูดถึงประเด็นสำคัญเพื่อทำความเข้าใจกันก่อนว่า Space Economy จริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่ และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด Space Economy คืออะไร?

โครงการ Lunar Gateway ในความร่วมมือนานาชาติ Artemis ที่จะมีการส่งสถานีอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ ที่มา – NASA

อวกาศคือการผจญภัย สิ่งนี้เป็นแนวคิดแรกเริ่มเมื่ออวกาศเข้ามาอยู่ในสามัญสำนึกของคน แต่ก็เหมือนกับธุรกิจการบิน เมื่อครั้งหนึ่งการบินขึ้นบนท้องฟ้าคือการท้ายทายต่อศักยภาพของมนุษย์ นับตั้งแต่เวลาเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้วที่สองพี่น้องตระกูลไรท์ สามารถสร้างเครื่องบินได้สำเร็จ การเดินทางของการบินก็ไปไกลมาก ให้เราลองนึกภาพตามว่าในช่วงเวลาแค่ร้อยปี จากการบินที่กลายเป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย เป็นการท้าทายต่อศัยภาพของมนุษย์ ทุกวันนี้การบินเป็นสิ่งที่อยู่ในสามัญสำนึกของทุกคน เวลาเราต้องการจะเดินทางเราพูดได้เต็มปากว่าเราเดินทางด้วย “การบิน” เวลาเราสั่งซื้อสินค้า การบินอยู่ในสามัญสำนึกของเราว่าสินค้าที่เราสั่งจากต่างประเทศเดินทางมาโดยเครื่องบิน เกิดธุรกิจมหาศาลที่เกี่ยวข้องกับการบิน ไม่ใช่แค่การสร้างเครื่องบิน แต่การจองตั๋วเครื่องบิน ประกันภัยที่เกี่ยวกับสายการบิน สนามบิน หรือแม้กระทั่งบริการต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดความสะดวกสบายในการบิน การบินแฝงอยู่ในทุกอุตสาหกรรมที่เราปฏิเสธไม่ได้เลย 

Space Economy อาจจะเป็นสิ่งที่ฟังดูไกลตัว แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นไม่ได้ไกลไปกว่าการเดินทางกว่า 100 ปีของการบิน ในช่วงหลังปี  2010 เป็นต้นมา นับว่าได้เกิดการตีความคำว่า “อวกาศ” ใหม่ทั้งหมด ก่อนหน้านี้เราพูดกันถึงเรื่องของตัวแบ่งยุคระหว่างสิ่งที่เรียกว่า Old Space และ New Space ซึ่งเกิดจากการแบ่งทรัพยากรให้เอกชนหรือใครก็ได้สามารถเข้าถึงและต่อยอดเอาไอเดียมาสร้างเป็น Ecosystem อะไรบางอย่าง อวกาศในการตีความรูปแบบใหม่นี้ เน้นไปที่การเกิดขนาดของ Economy ที่มีนัยสำคัญที่จะทำให้การสำรวจอวกาศไม่ได้เป็นแค่เรื่องผจญภัยอีกต่อไป 

ยกตัวอย่างเช่นนี้แล้ว เราก็คงจะพอเห็นภาพว่า Space Economy นั้นเรียบง่าย และสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการง่าย ๆ ว่า เทคโนโลยีใด ๆ ก็ตาม เมื่อมันเดินทางมาถึงจุดจุดหนึ่ง มันจะทำให้เกิด Economy ในตัวมันเอง (นอกจากธุรกิจการบินแล้ว สิ่งนี้ยังเกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์, สื่อ หรือในอนาคตสิ่งต่าง ๆ ที่ดูล้ำยุคก็จะมี Economy ของมันเช่นกัน เช่น เทคโนโลยีควอนตัม, ชีววิทยาสังเคราะห์ หรือ Synthetic Biology) 

โดยในบทความนี้เราจะมาลองพูดถึงเคสที่น่าสนใจและหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจ Space Economy ไปมากกว่าแค่ concept เชิงผิวเผิน 

การปลดล็อกกฎหมาย และนโยบายเพื่อจัดการทรัพยากร 

เราพูดกันไปแล้วว่า Space Economy นั้นเกิดจากการปลดล็อกการเข้าถึงทรัพยากรที่ครั้งหนึ่งถูกกุมด้วยอำนาจรัฐหรือทหาร (อำนาจผูกขาด) การเกิดขึ้นของ Space Economy นั้นเกิดจากว่ารัฐฯ ต้องการขยายขนาดของเศรษฐกิจด้วยการเปิดให้เอกชนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการขนาดใหญ่อย่างการสำรวจอวกาศได้ 

ยาน Blue Moon ของ Blue Origin หนึ่งในบริษัทอวกาศที่พัฒนาขึ้นมาอันเป็นผลพวงจากการเข้ามาของ Space Commercialization ที่มา – Blue Origin

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็เช่นโครงการ Commercial Lunar Payload Service ที่รัฐบาลอเมริกาทำขึ้นมา Serve โครงการ Artemis สาเหตุที่เรายกโครงการ CLPS ขึ้นมาก็เพราะว่า CLPS นั้นมีความโดดเด่นกว่าโครงการแนว Space Commercialization อื่น ๆ อย่าง Commercial Resupply Program และ Commercial Crew ที่ช่วยให้ SpaceX กลายมาเป็นบริษัทอวกาศเอกชนที่ประสบความสำเร็จได้ ความแตกต่างที่ว่านั้น อยู่ที่ว่า CLPS นั้นมีความปลายเปิดสูงมาก มันเป็นโครงการที่ NASA จะให้ทุนแก่บริษัทที่สามารถนำ “Payload ของ NASA และพันธมิตร” ไปอยู่บนผิวดวงจันทร์ได้ แต่เนื่องจากดวงจันทร์นั้นไม่เหมือนกับสถานีอวกาศนานาชาติที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของอวกาศยุคเก่า (Old Space) ดวงจันทร์นั้นไม่ได้เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง และเป็นไปตาม Artemis Accord ระบุเอาไว้ว่าการสำรวจดวงจันทร์จะต้องเกิดประโยชน์กับมนุษยชาติ ทำให้การตีความสามารถเป็นไปได้กว้างมาก ๆ ถ้าเกิดบริษัทอวกาศสามาถนำ Payload ไปลงบนดวงจันทร์ได้ ก็หมายความว่านอกจากงานของ NASA แล้ว บริษัทอวกาศ สามารถนำ Payload ของใครก็ได้ไปอยู่บนผิวของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นการทำให้เกิดตลาดใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ ขายพื้นที่บนตัวยาน, การขายพื้นที่บน Payload ที่จะนำไปลงบนดวงจันทร์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางการค้าในรูปแบบใหม่ขึ้น

อ่าน – Old Space กับ New Space คืออะไร

แล้วทำไมธุรกิจถึงต้องสนใจการเกิดขึ้นของ Space Economy 

ย้อนกลับไปในสมัย Apollo มนุษย์มีความจำเป็นต้องก้าวข้ามขีดจำกัดของการคำนวณทางคณิตศาสตร์ สมัยนั้นคอมพิวเตอร์มีขนาดใหญ่มากและกินพื้นที่ขนาดเท่าห้องห้องหนึ่ง แต่การลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอวกาศในโครงการ Apollo นั้นจะต้องเกิดขึ้นผ่านการคำนวณของคอมพิวเตอร์ เพื่อความแม่นยำและลดข้อผิดพลาดของมนุษย์ โจทย์ใหญ่ในตอนนั้นคือการทำอย่างไรก็ได้ให้คอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลงจนสามารถที่จะเข้าไปอยู่ในยานอวกาศได้ เมื่อมีโจทย์ท้าทายเช่นนี้ นักวิจัยก็ต้องช่วยกันผลิตคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งก็นำมาซึ่งการออกแบบสิ่งที่เรียกว่า Microchip ซึ่งอยู่เบื้องหลังการลงจอดของโครงการ Apollo ได้สำเร็จ แต่เรื่องราวของ Microchip เดินทางไปได้ไกลกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ต่างนำความรู้และเทคโนโลยีเหล่านั้นไปทำให้เกิดการค้า บริษัทผลิต Microchip เริ่มเกิดขึ้น เกิดสิ่งที่เรียกว่า Personal Computer พูดง่าย ๆ ก็คือ Silicon Valley ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของนวัตกรรมต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นได้เพราะมีโครงการ Apollo เราพูดถึงเรื่องนี้ไปในบทความ Apollo Guidance Computer ในวันที่โลกยังไม่รู้จักคอมพิวเตอร์

อ่าน – How NASA gave birth to modern computing—and gets no credit for it

ให้เราลองนึกภาพว่า Apollo นั้นมีความเป็น Old Space สูงมาก แต่ก็ยังทำให้เกิด Economy ของ Microchip ตามมาได้ การสำรวจอวกาศยุคใหม่ที่อำนาจการตัดสินใจไม่ได้อยู่แค่กับ NASA จะทำให้เทคโนโลยี ความรู้ถูกส่งต่อไปให้กับเอกชนและทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาแค่ไหน ? 

พอรู้แบบนี้แล้ว ถ้าเราลองไปดูบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก จะพบว่าพวกเขาหันมาให้ความสนใจในเรื่องการสำรวจอวกาศยุคใหม่ เพราะพวกเขานั้นคงจะรู้ดีว่า การรู้ก่อนย่อมช่วยให้พวกเขาจับทางและมอง Trend ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ 

Space Economy Lifting Off 2021 ที่จะช่วยให้เราเข้าใจก้าวสำคัญเมื่ออวกาศกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตและธุรกิจ

หากต้องการเข้าใจขนาดของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เราอยากชวนผู้ประกอบการ Startup นักวิจัย หรือ ผู้ที่มีเทคโนโลยีแต่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเข้าร่วมในการสำรวจอวกาศได้อย่างไร เข้าร่วมงาน Open House Space Economy : Lifting Off 2021 ในวันพฤหัสที่ 22 เมษายน 2564 เวลา 13:00-15:30 น. ทำความรู้จักโครงการ เข้าใจโจทย์ของอุตสาหกรรมอวกาศ ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี Deep Tech ที่เป็นที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็น Upstream, Downstream และเทคโนโลยีอื่นๆ


โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมผ่าน Zoom ได้ที่  https://forms.gle/5mtDyZ9nsgp2BDoPA

โครงการ Space Economy Lifting Off 2021เป็นโครงการที่สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ริเริ่ม ร่วมกับโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย และพัฒนาบุคลากรของประเทศให้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงผลักดันให้เกิดการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศไปพัฒนาประเทศ โดยดำเนินการบ่มเพาะ Startup ที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านเศรษฐกิจอวกาศ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของ Startup ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อนำออกสู่ตลาดและสามารถขยายผลธุรกิจในประเทศไทยระดับสากล

สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://nia.or.th/spaceeconomy ซึ่งทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ตั้งแต่

  • Startup ผู้ประกอบการต่าง ๆ ทั้งที่มีเทคโนโลยีและมีไอเดีย
  • นักวิจัย งานวิจัยวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในการผลักดันและต่อยอดให้เกิดธุรกิจ
  • ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีที่มีความสนใจนำเทคโนโลยีมาต่อยอด เพื่อโอกาสทางธุรกิจ

สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคมนี้

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.