บทความนี้พาเที่ยวศูนย์อวกาศ NASA Kennedy Space Center ซึ่งนอกจากสถานที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์อวกาศและฐานปล่อยที่มีกิจกรรมด้านอวกาศเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแล้ว สถานที่แห่งนี้ก็มีมิวเซียมอวกาศที่ดีที่สุดในโลก เรียกว่า NASA Kennedy Space Center Visitor Complex อยู่ด้วยเช่นกัน (หลังจากนี้เราจะเรียกสั้น ๆ ว่า Visitor Complex) ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปก็สามารถซื้อบัตรเข้ามาทัวร์ในพื้นที่ตรงนี้ได้
ต้องบอกก่อนเลยว่าศูนย์อวกาศของ NASA นั้น มีกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ในรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐฯ แต่มีเพียงแค่ 2 ที่เท่านั้น ที่เปิดให้เยี่ยมชมในลักษณะมี Complex ของตัวเอง และเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปได้ ในที่อื่น ๆ จะเป็นในลักษณะของ Private Tour เป็นหลัก (เหมือนที่ก่อนหน้านี้เราเคยพาทุกคนไปเยี่ยมชม NASA Jet Propulsion Laboratory จากห้องควบคุม สู่โรงเก็บโรเวอร์) โดยอีกที่นอกจาก Kennedy Space Center ก็คือ Johnson Space Center ในฮิวส์ตัน เท็กซัส ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปเยี่ยมชมได้เช่นกัน
คอนเทนต์ชุดนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ตอนด้วยกัน ได้แก่
- ตอนแรก จะเป็นการเล่าภาพรวมของ Visitor Complex แห่งนี้ ว่ามีกิจกรรมอะไรให้ทำบ้าง มีอะไรที่ห้ามพลาดในการมาชม และพาชม Rocket Garden, โซนนิทรรศการ Heroes&Legends, Gateway
- ตอนที่สองเราจะพาไปชม กระสวยอวกาศ Atlantis และนิทรรศการในโซนกระสวยอวกาศ พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center EP.2 กระสวย Atlantis และซาก Challenger, Columbia
- ตอนที่สามเราจะพานั่งรถบัสไปยังบริเวณที่เรียกว่า Apollo Center ซึ่งเป็นที่ตั้งของจรวด Saturn V หนึ่งในไม่กี่ลำที่ยังคงหลงเลืออยู่ และชมนิทรรศการโครงการ Apollo โดยเราจะนั่งรถผ่านพื้นที่สำคัญอย่างอาคาร Vehicle Assembly Building หรือ VAB ของ NASA พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center EP.3 ชม Apollo Center และจรวด Saturn V
ซึ่งต้องบอกก่อนว่า ในการเข้ามาเยี่ยมชมที่ Visitor Complex ตรงนี้ แนะนำให้ใช้เวลา 1 วันเต็ม ๆ ในการมาเยี่ยมชม หรือถ้าไม่จุใจก็สามารถซื้อตั๋วแบบ 2 วันได้เช่นกัน โดยตั๋วที่ Visitor Complex ขายจะมีราคาดังนี้
- ตั๋วผู้ใหญ่ (อายุ 12 ปีขึ้นไป) ราคา $75 (ประมาณ 2,500 บาท)
- เด็ก (อายุ 3-11 ปี) ราคา $65 (ประมาณ 2,200 บาท)
โดยตั๋วในลักษณะดังกล่าว จะเป็นตั๋วแบบ 1 วัน สามารถเข้าแล้วออกได้ ส่วนถ้าใครอยากจะชมสองวันเต็ม ๆ ก็สามารถซื้อตั๋วแบบ 2 วันได้ โดยเพิ่มเงินอีก 14 เหรียญสหรัฐฯ ก็จะได้เป็นตั๋วแบบเข้าแล้วออก 2 วัน (เข้ากี่รอบก็ได้ในสองวัน) โดยเราจะเห็นว่า ราคาของตั๋วนั้นค่อนข้างสูงเลยทีเดียว แต่ทาง Visitor Complex ก็จะมีการจัดโปรโมชันที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ๆ อยู่ เช่น บางที อาจจะไม่ต้องซื้อตั๋วเด็ก สามารถติดตามรายละเอียดข่าวสาร หรือซื้อตั๋วล่วงหน้าได้ทาง NASA Kenndy Space Center Visitor Complex
การเดินทางไปยัง NASA Kennedy Space Center และที่ตั้ง
NASA Kennedy Space Center นั้นตั้งอยู่บนเกาะที่ชื่อว่า Merrit Island พูดชื่อว่าเป็นเกาะแบบนี้ ไม่ใช่ว่าลอยอยู่กลางทะเล แต่เป็นลักษณะเกาะบนบริเวณทะเลสาบริมทะเล หรือลากูนที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมือง Titusville และทางตอนเหนือของบริเวณที่เรียกว่าแหลมคะเนอเวอรัล (Cape Canaveral) อันเป็นชื่อที่เราคุ้นเคยนั่นเอง โดยพื้นที่ตรงนี้ จะอยู่ติดกับฐานทัพอวกาศ Cape Canaveral Space Force Station ซึ่งก็จะมีการใช้งานพื้นที่บางส่วนร่วมกัน
NASA Kennedy Space Center นั้น เป็นที่ตั้งของฐานปล่อย LC-39A และ LC-39B ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคการส่งนักบินอวกาศเดินทางไปยังดวงจันทร์ มาถึงยุคกระสวยอวกาศ และยุคการสำรวจอวกาศเอกชนในปัจจุบัน ที่ฐานปล่อย LC-39A เป็นฐานปล่อยที่ถูกเช่าโดย SpaceX ในการปล่อยจรวด Falcon 9 และ Falcon Heavy ส่วนฐานปล่อย LC-39B ปัจจุบันใช้สำหรับปล่อยจรวด Space Launch System หรือ SLS ที่ใช้ในการส่งมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์ในโครงการ Artemis
พื้นที่ตรงนี้ยังประกอบไปด้วย อาคารประกอบจรวดขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Vehicle Assembly Building (VAB) และอาคารที่ NASA ใช้เตรียมการยานอวกาศและนักบินอวกาศก่อนภารกิจจะเริ่มต้น ดังนั้น ในการเดินทางมายังบริเวณแห่งนี้ เราอาจจะได้พบกับสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเจอเช่น อาจจะได้ขับรถสวนกับจรวด Falcon 9 หรือฮาร์ดแวร์ขนาดใหญ่ ที่ใช้ในงานอวกาศ และบริเวณโดยรอบพื้นที่ตรงนี้ เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของคนชอบอวกาศเลยก็ว่าได้ (ซึ่งเราจะพูดถึงกันในตอนที่ 3)
หากใครที่ต้องการรู้ประวัติศาสตร์ เพิ่มเติมของแหลมคะเนอเวอรัล สามารถอ่านได้จากบทความ ประวัติศาสตร์ที่ดินของแหลมคะเนอเวอรัล และทำไม NASA ต้องปล่อยจรวดที่นั่น
หากใครที่เดินทางมาจากสนามบิน Orlando (MCO) ก็ให้ขับรถตรงมาบนทางหมายเลข 528 ซึ่งถนนสายนี้เป็น Toll มีเก็บเงิน ใครที่เช่ารถก็อย่าลืมซื้อแพ็คเกจค่าทางด่วนไว้ด้วย หรือใครที่จับรถตัวเองมา วิ่งผ่านระบบอ่านทะเบียนอัตโนมัติได้แล้วรอบิลส่งถึงบ้าน จากนั้นให้ตัดเข้าสู่ถนนหมายเลข 407 วิ่งตรงมาเรื่อย ๆ ตามป้าย NASA Kennedy Space Center ส่วนใครที่เดินทางมาจากเมืองหรือรัฐอื่น ๆ ทางตอนเหนือหรือใต้ ก็ให้ขับบนทางระหว่างรัฐฯ I-95 และเบี่ยงออกบริเวณเมือง Titusville วิ่งตามป้าย NASA Kennedy Space Center ได้เลย
ที่ตั้งของ Visitor Complex นั้นจะต้องอยู่ “นอกรั้ว” ของพื้นที่ Kennedy Space Center ดังนั้นผู้คนธรรมดาทั่วไปจึงสามารถเข้ามาได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องมีการแลกบัตรนั่นเอง แต่สิ่งที่ควรรู้ไว้อีกอย่างก็คือ แม้ว่าจะมีการเสียค่าบัตรเข้าชมไปแล้ว การนำรถมาจอดยังลานจอดรถก็จะต้องเสียค่าจอดรถอีก 15 เหรียญสหรัฐฯ ด้วย
ที่เก็บทุกเม็ดแบบนี้ ไม่ใช่ว่า NASA งกหรืออะไรหรอกนะครับ แต่จริง ๆ แล้ว Visitor Complex นี้ “ไม่ได้บริหารโดย NASA” และเงินทุกบาทที่เก็บไม่ได้เข้า NASA เลย แต่มีหน่วยงานอิสระเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อแยกไม่ให้เงินภาษีประชาชนถูกนำมาใช้ในการ PR หรือประชาสัมพันธ์งานของรัฐฯ เอง เป็นโยบายสุดเข้มงวดที่ NASA ดำเนินเสมอมา ดังนั้นเงินทุกบาทที่ใช้ในการสร้าง ปรับปรุง และดูแล Visitor Complex นั้น เป็นเงินที่ได้มาจากค่าตั๋วครับ (พูดแบบนี้แล้วอาจจะรู้สึกอยากจ่ายขึ้นมาหรือเปล่านะ)
พาชม NASA Kennedy Space Center Visitor Complex
ไอเทมชิ้นแรกที่ผมอยากจะชี้ให้ดูนั้น เรียกได้ว่ามาตั้งโชว์ตั้งแต่ยังไม่ได้เดินเข้ารั้วเลย ก็คือนาฬิกานับถอยหลัง ซึ่งในปี 2014 นั้น NASA ได้มีการเปลี่ยนนาฬิกานับถอยหลังในบริเวณ Press Site ซึ่งเป็นบริเวณที่นักข่าวจะเข้าไปรายงานข่าว จากแบบเลขดิจิทัล กลายเป็นจอ LED ที่สวยงาม และนาฬิกานับถอยหลังเรือนเก่านี้ก็ได้ถูกเอามาตั้งที่ Visitor Complex แห่งนี้นั่นเอง ดังนั้นนี่เป็นอีกหนึ่งในวัตถุชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้
สิ่งแรกที่เราจะเห็นเมื่อเข้ามาใน Visitor Complex ก็จะเป็นบริเวณประตูรั้ว ที่ลักษณะก็จะมีความเป็นรั้่วทางเข้าสวนสนุกมาก ๆ เหมือนดิสนีย์แลนด์เลย โดยตรงนี้หากใครซื้อตั๋วแบบออนไลน์มา ก็สามารถเอา QR Code แสกนเข้าผ่านเครื่องตรวจได้เลย หรือถ้าใครที่ไม่ได้ซื้อตั๋วมา ก็สามารถซื้อตรงนี้ได้ โดยตู้จะรับบัตรเครดิตด้วยตามสไตล์อเมริกา ที่ทุกอย่างรับบัตรเครดิตอยู่แล้ว
เมื่อเดินผ่านเข้ามาแล้ว สิ่งแรกที่เราจะเจอก็คือบริเวณที่ Visitor Complex เรียกว่า Rocket Garden หรือสวนจรวด ซึ่งจรวดที่เราเห็นอยู่ตรงหน้านั้น ก็คือจรวดจริง ๆ ที่ถูกใช้งานโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ และ NASA เอง ตั้งแต่ในยุค Mercury-Redstone ซึ่งพา Alan Shepard ชายชาวอเมริกันคนแรกขึ้นสู่วงโคจร จรวด Mercury-Atlas ที่พาให้ John Glenn เดินทางรอบโลก ไปจนถึงจรวด Saturn IB (อ่านว่า วัน บี) และจรวดลำล่าสุดที่เพิ่งปลดประจำการในปี 2018 ก็ได้แก่จรวด Delta II
Rocket Garden สวนจรวดที่จรวดทั้งหมดเป็นของจริง
เราเชื่อว่าทุกคน คงจะเห็นจรวดจำลองกันจนเบื่อแล้ว แต่อยากบอกว่าหากมาที่นี่ ทุกคนจะได้ดูจรวดลำสำคัญในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่หาดูได้ยากของจริง (แม้ Payload ด้านบางส่วนจะถูกทำจำลองขึ้นมา) ซึ่งบริเวณตรงนี้ก็จะมี Guide พาอธิบายด้วย ยืนบรรยายเป็นช่วง ๆ ด้วย สามารถเข้าไปยืนร่วมฟังได้
โดยจรวดแต่ละลำด้านหน้าก็จะมีชื่อและประวัติศาสตร์ของมันเขียนอธิบายอยู่ ใครที่พอมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์จรวดมาดูตรงนี้ก็จะฟินมาก ๆ ไฮไลต์ที่อยากชี้ให้ดูก็คือจรวดที่นอนอยู่นั้น คือจรวด Saturn IB ที่ใช้ในโครงการ Apollo ยุคแรก ๆ ก่อนหน้า Saturn V และใช้ในการส่งนักบินอวกาศเดินทางไปยังสถานีอวกาศ Skylab และภารกิจ Apollo-Soyuz ช่วงหลังยุค Apollo
ผมเอารายชื่อของจรวดที่ตั้งอยู่ ณ Rocket Garden แห่งนี้มาแปะไว้ในบทความด้วยครับ เพื่อให้เราเรียกชื่อกันได้ถูก โดยจะมีจรวดอยู่ทั้งหมด 8 ลำด้วยกัน
- จรวด Juno I เป็นจรวดที่มีบทบาทสำคัญในการส่งดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐฯ หรือ Explorer 1
- จรวด Juno II ใช้สำหรับการส่งยาน Pioneer 3, Pioneer 4, Explorer 7, Explorer 8, และ Explorer 11
- จรวด Delta หรือ Delta I ใช้กับภารกิจ Explorer 14 และ 15
เราจะเห็นว่าจรวดด้านบนนั้น มีความสำคัญในการวางรากการสำรวจอวกาศให้กับสหรัฐฯ อย่างมาก เพราะมันช่วยพาดาวเทียทและยานอวกาศอเมริกันกลุ่มแรก ขึ้นสู่วงโคจร หลังจากนั้นสหรัฐฯ ก็ได้มีโครงการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ โดยใช้จรวดที่อดีตเป็นขีปนาวุธอย่าง
- Mercury-Redstone ที่ใช้ในการส่ง Alan Shepard ชายชาวอเมริกันคนแรกที่ได้เดินทางไปอวกาศ
- Mercury-Atlas ที่ใช้ในการส่ง John Glenn ชายชาวอเมริกันคนแรกที่ได้โคจรรอบโลก
- Atlas-Agena ที่ใช้ในการส่งยาน “Agena” เป็นเป้าหมายทดสอบในการทำ Rendezvous หรือการนัดพบกันในอวกาศ ซึ่งสำคัญมากในการฝึกซ้อมในโครงการ Gemini เตรียมตัวสู่ Apollo
- จรวด Titan II พร้อมยาน Gemini ซึ่งใช้ในการเตรียมตัวสู่ยุค Apollo
หลังจากยุคของ Titan II นั้น NASA ก็หันมาพัฒนาจรวดของตัวเองในตระกูล Saturn และเริ่มใช้งานตั้งแต่นั้นมา
- Saturn 1B เป็นจรวดลำแรกที่พัฒนาขึ้นในโครงการ Apollo ใช้สำหรับเที่ยวบินทดสอบ Apollo 1, 5 และ 7 หลังจากนั้นใช้กับภารกิจตระกูล Skylab 3 เที่ยวบิน และเที่ยวบินสุดท้ายคือภารกิจ Apollo Soyuz โดยจรวดลำที่แสดงอยู่คือจรวดหมายเลข SA-209 ที่เดิมทีเป็นจรวดสำรองฉุกเฉินสำหรับกู้ภัยภารกิจ Skylab 4 และ Apollo-Soyuz
และลำสุดท้าย ที่สูงเด่นที่สุดก็คือ Delta II ซึ่งเป็นจรวดที่มีบทบาทสำคัญในการส่งดาวเทียมตระกูล GPS ให้กับสหรัฐฯ และส่งยานอวกาศสำรวจดาวอังคารหลายลำในช่วงยุค 90 ถึง 2000 โดยจรวดลำนี้ปลดประจำการไปในปี 2018 และจรวดลำสุดท้าย ก็ได้ถูกนำมาตั้งแสดงที่นี่โดยการสนับสนุนจาก United Launch Alliance หรือ ULA บริษัทเจ้าของจรวดตระกูล Delta และ Atlas ในปัจจุบัน
นอกจากจรวดแล้ว ณ บริเวณนี้ก็จะมีการจัดแสดง F-1 Rocket Engine ซึ่งเป็นเครื่องยนต์จรวดของจรวดยักษ์ Saturn V แห่งยุค Apollo ที่จริง ๆ เราก็จะได้ไปเห็นกันที่ Apollo Center อยู่แล้ว แต่ทาง Visitor Complex ก็ได้มีการเอามาจัดแสดงตรงนี้ด้วยเช่นกัน
Heroes & Legends นิทรรศการแสดงที่เชิดชูนักบินอวกาศ และคนทำงานด้านอวกาศ
บริเวณด้านข้าง Rocket Garden นั้น จะมีอาคารนิทรรศการสองแห่งด้วยกัน ได้แก่ Heroes&Legends และ Gateway (ที่เพิ่งสร้างใหม่สด ๆ ร้อน ๆ) โดยเราจะพามาชมนิทรรศการ Heroes&Legends กันก่อน ซึ่งธีมของนิทรรศการนี้ก็คือการเชิดชูวีรชนผู้กล้าหาญ และตำนานในการสำรวจอวกาศทั้งนักบินอวกาศและบุคลากรเบื้องหลังอีกมากมาย
นิทรรศการภายในก็จะจัดในลักษณะของ Hall of Fame แสดงรายชื่อของนักบินอวกาศอเมริกัน และประวัติการเดินทางสู่อวกาศของแต่ละคน ตั้งแต่ Alan Shepard นักบินอวกาศคนแรกของสหรัฐฯ เลยทีเดียว ซึ่งใครที่สนใจประวัติของ Alan Shepard เราแนะนำให้ฟังพ็อดคาส์ตตอน Alan Shepard นักสร้างเรือพายสู่ผู้ตีกอล์ฟบนดวงจันทร์
พูดกันตรง ๆ ว่าโซนนี้อาจจะไม่ได้มีไอเทมอะไรที่เป็นของจริงให้ดูมาก แต่ก็อยากชวนให้มาได้รู้จักกับนักบินอวกาศแต่ละคน ซึ่งพอเข้ามาดูเราจะรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วสหรัฐฯ มีนักบินอวกาศเยอะมาก ถ้าตัวเลขปัจจุบันก็คือมากกว่า 360 คนในประวัติศาสตร์ ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นชาติที่มีคนเคยเดินทางไปอวกาศเยอะที่สุดด้วย
Gateway หนทางสู่ดวงจันทร์และดาวอังคาร
นิทรรศการ Gateway: The Deep Space Launch Complex นี้ เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาใหม่เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมานี้เอง เรียกได้ว่าใหม่มาก ๆ และก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลลต์ที่ห้ามพลาดหากมาเยี่ยมชม Visitor Center เพราะด้านใน เต็มไปด้วยยานอวกาศจัดเต็มมาก ๆ และแต่ละลำมีประวัติศาสตร์ที่ไม่ธรรมดา
ก่อนที่จะเดินเข้าไปยังอาคารนิทรรศการ Gateway ผมอยากชี้ให้ทุกคนดูป้ายด้านล่างนี้ครับ คุ้น ๆ กันหรือเปล่าครับ ถ้าใครที่เคยอ่านบทความตอนที่เรา พาชม NASA Jet Propulsion Laboratory ก็จะรู้ว่ามันคืออะไร
ป้ายนี้พัฒนาโดย JPL เป็นงานสไตล์วัฒนธรรม Hacker ก็คือ ไม่รู้ทำไปทำไม แต่มันเท่ มันเจ๋งก็เลยทำ ก็คือป้ายนี้จะชี้ไปยังยานอวกาศหรือดาวจริง ๆ ณ ตำแหน่งที่อยู่ อย่างเช่นในภาพนี้ป้ายก็จะชี้ไปที่ยาน Voyager 2 ที่กำลังเดินทางออกนอกระบบสุริยะ หรือจะเปลี่ยนไปชี้วัตถุอย่างอื่น เช่น ดาวอังคาร, ดวงจันทร์ ตามตำแหน่งปรากฎบนท้องฟ้าจริง ๆ ก็ได้
เมื่อเข้ามาในนิทรรศการ Gateway: The Deep Space Launch Complex ก็จะเจอกับ ยานอวกาศจำนวนมาก (ใช่ครับ ต้องใช้คำว่าจำนวนมาก) เดี๋ยวจะค่อย ๆ ชี้ไฮไลต์ให้ดูว่ายานอวกาศที่นำมาจัดแสงแต่ละลำคืออะไรและมีประวัติศาสตร์ที่มาของมันอย่างไรบ้าง
อย่างแรกภาพล่างก็จะเห็นยานอวกาศ Orion โดยยาน Orion ลำนี้ ไม่ใช่ Orion ที่ทำขึ้นมาจำลอง แต่เป็นยาน Orion ที่เคยผ่านการเดินทางไปอวกาศจริง ๆ พอพูดแบบนี้หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า ภารกิจ Artemis I เพิ่งเปิดขึ้นไปเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมานี่เอง ทำไมถึงมียาน Orion มาจัดแสดงได้ แต่ผมอยากจะบอกว่า ไม่ใช่ครับ เที่ยวบิน Artemis I ไม่ใช่เที่ยวบินแรกของ Orion แต่เป็นเที่ยวบินทดสอบ Exploration Flight Test หรือ EFT-1 ที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2014 หรือเมื่อสิบปีก่อนต่างหาก ซึ่งตอนนั้น Orion ได้บินขึ้นด้วยจรวด Delta IV Heavy และทำการทดสอบบินผ่านบริเวณ Van Allen Belt เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี สำหรับการเดินทางไปดวงจันทร์ และกลับมาลงจอดบนโลกอย่างประสบความสำเร็จ
ซึ่งยาน Orion ลำนี้ ผมมีความผูกพันธ์ส่วนตัวเป็นพิเศษ เนื่องจากมันทำให้ผมได้กลับมาติดตามข่าวอวกาศอีกครั้งอย่างจริงจัง เพราะถือว่าเป็นข่าวใหญ่มากในตอนนั้นที่ NASA ที่เลิกใช้กระสวยอวกาศมาได้ 2 ปี กำลังจะเตรียมยานอวกาศลำใหม่เพื่อการเดินทางสู่ดวงจันทร์ ที่ตอนนั้นชื่อของ Artemis Program ยังไม่ปรากฎด้วยซ้ำ
เมื่อมองขึ้นไปด้านบนเราก็จะพบกับ ยานอวกาศ Dream Cheaser ของบริษัท Sierra Space ซึ่งเป็นเครื่องบินอวกาศ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อหวังจะนำส่งทั้งเสบียง และลูกเรือขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ โดยยานลำที่เห็นนี้เป็น “แบบจำลอง” ยานหมายเลข DC-101 ชื่อว่า “Tenacity” ที่เดิมทีมีกำหนดบินทดสอบกับจรวด Vulcan Centaur ในช่วงปลายปีนี้ แต่ถูกเลื่อนออกไป ซึ่งลำจริงนั้นตอนนี้อยู่ระหว่างการเตรียมตัวบินอยู่ที่ NASA Kennedy Space Center เช่นกัน
แต่ข้าง ๆ Dream Chaser นั้น ก็คือจรวด Falcon 9 หมายเลข B1023 “ลำจริง” ซึ่งจรวด Falcon 9 ลำนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2016 และถูกใช้ในภารกิจการปล่อยดาวเทียม Thaicom-8 ให้กับบริษัทไทยคม ประเทศไทย ซึ่งจรวดลำนี้ก็มีเรื่องราวส่วนตัวกับผมอีกเช่นกัน ในเที่ยวบิน Thaicom-8 นั้นผมได้เขียนข่าวลงบนบล็อกส่วนตัวเจาะลึกภารกิจอย่างละเอียด จนผู้บริหารฝั่งสื่อสารองค์กรของไทยคม ชวนไปทานข้าวด้วย ซึ่งตอนนั้นผมยังอยู่ในช่วงมัธยมเท่านั้น และจรวด Falcon 9 หมายเลข B1023 ซึ่งประสบความสำเร็จในการกลับมาลงจอดบนเรือ Droneship Of Course I Still Love You ก็ได้กลับมาบินอีกครั้งในฐานะ “Side Booster” ของจรวด Falcon Heavy ในเที่ยวบินทดสอบช่วงต้นปี 2018 และได้กลับมาลงจอด ณ Landing Zone 1 ของ SpaceX ณ แหลมคะเนอเวอรัลอย่างสวยงาม
และหลังจากการลงจอด SpaceX ก็ไม่ได้นำ Booster ลำนี้กลับมาใช้งานอีก และถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา ซึ่งคู่ Side Booster ของมัน B1025 ก็ไม่ปรากฎให้เห็นอีกเลย
SpaceX นั้นไม่ได้นำเอา Falcon 9 มาโชว์มากนัก จะมีแสดงอยู่ที่หน้าสำนักงานใหญ่ในแคลิฟอร์เนีย 1 ลำ ก็คือ B1019 เป็นจรวด Falcon 9 ลำแรกที่ลงจอดสำเร็จ และที่ NASA Johnson Space Center ก็มีการจัดแสดงจรวดหมายเลข B1035 และสุดท้าย และที่สุดท้ายที่มีการจัดแสดงก็คือ B1021 ที่จัดแสดงหน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัท Bish Network ในรัฐโคโลราโด
พูดถึง SpaceX แล้ว ในนิทรรศการแห่งนี้ ก็จะมีฮาร์ดแวร์สำคัญของ SpaceX อีกชิ้นนึง ก็คือยานอวกาศ Drago ซึ่งเป็นยาน Dragon รุ่นแรกที่เป็น Cargo Dragon ที่ใช้ในภารกิจตระกูล Commercial Resupply Services หรือ CRS ในช่วงปี 2012-2020 ตั้งแต่ภารกิจ Demo ภารกิจ CRS-1 จนถึง CRS-20 ก่อนที่ในภารกิจ CRS-21 SpaceX จะเปลี่ยนมาใช้ยาน Cargo Dragon ที่มีดีไซน์เหมือนกับยาน Crew Dragon มาจนถึงปัจจุบัน รู้จักกับยาน Dragon 2 รุ่น Cargo และกลยุทธ์ลดค่าใช้จ่ายฉบับ SpaceX
ยาน Dragon ลำที่จัดแสดงนี้ เป็นยาน Dragon ในภารกิจ COTS (Commercial Orbital Transportation Services) Demo Flight 2 ที่เดินทางสู่อวกาศในวันที่ 22 พฤษภาคม 2012 และประสบความสำเร็จในการเทียบท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 31 พฤษภาคม 2012 ทำให้ยาน Dragon ลำที่เห็นอยู่นี้ “คือยานอวกาศเอกชนลำแรก” ที่เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติสำเร็จ 11 ปีผ่านไป SpaceX นำพา Commercial Resupply Service ไปในทิศทางไหน
โดยยานลำประวัติศาสตร์ลำนี้หลังจากลงจอด ก็ได้ถูกนำไปเก็บไว้ที่โรงงานของ SpaceX ในแคลิฟอร์เนีย ก่อนที่จะถูกนำมาจัดแสดงที่ Visitor Center แห่งนี้ และที่สำคัญก็คือ พี่แท้ ๆ ของเธอ ยาน Dragon หมายเลข C101 ซึ่งทำภารกิจ Demo-1 ในปี 2010 ก็คือลำที่ถูกจัดแสดงอยู่ที่ สำนักงานใหญ่ของ SpaceX ในแคลิฟอร์เนียนั่นเอง
นอกจากยาน Dragon แล้ว เราก็จะเห็นด้านข้างมียาน New Shepard ของ Blue Origin ยานอวกาศแบบ Sub-Orbital สำหรับการท่องเที่ยวอวกาศ และการทำการทดลองในสภาวะไร้น้ำหนักอยู่ ซึ่งแม้ว่ายานลำนี้จะไม่ใช่ยานของจริงเป็นแบบจำลองเฉย ๆ แต่ความสนุกก็คือ New Shepeard จำลองลำนี้เราเข้าไปได้ และไม่ใช่แค่เข้าไปถ่ายรูป เพราะด้านในจะมีที่นั่งจริง ๆ ให้เราเข้าไปนั่งแล้วใส่แว่น Virtual Reality (VR) เข้าสู่ความจริงเสมือน จำลองว่าเรากำลังนั่งยาน New Shepard เดินทางขึ้นไปแตะขอบอวกาศกับจรวด New Shepard จริง ๆ
ซึ่งอันนี้ต้องบอกว่า ทั้งผมและคุณปั๊บ ตื่นเต้นกันเป็นพิเศษครับ เพราะว่าเราเคยร่วมส่งการทดลอง เดินทางไปกับยาน New Shepard ในปี 2020 ไปแล้วนั่นเอง ซึ่งเราก็อยากลองขึ้นยาน New Shepard บ้าง ดังนั้นมาลองในรูปแบบ VR กันก่อนแล้วกันครับ
โดยประสบการณ์แบบนี้เล่าผ่านตัวอักษรไม่ได้ครับ ต้องมาลองเล่นด้วยตัวเอง เปรียบเสมือนเป็นการ “ซ้อมรวย” ว่าถ้าวันนึงรวยขึ้นมาแล้วได้ซื้อเที่ยวบิน New Shepard จริง ๆ จะได้ไม่ตื่นเต้น โดย VR ในนี้ฟรีครับ ไม่มีค่าใช่จ่ายเพิ่มเติมจากค่าตั๋ว แต่ถ้าอยากไปนั่ง New Shepard จริง ๆ ตอนนี้ Blue Origin ขายตั๋วอยู่ที่ที่นั่งละ 200,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7 ล้านบาทเท่านั้นเอง (ซึ่งก็ต้องไปแย่งชิงกับคิวที่ยาวมากตอนนี้ด้วยนะครับ)
นอกจากยานอวกาศแล้ว ในโซนนี้ก็จะยังมีการพูดถึงจรวดด้วยเล็กน้อยในลักษณะที่เป็นโมเดลจรวด โดยเราจะเห็นโมเดลจำลองจรวด Space Launch System หรือ SLS ของ NASA ในรูปแบบที่ใช้กับโครงการ Artemis มาจัดแสดงอยู่ ซึ่งผมบอกได้เลยว่า อันนี้หากใครไป NASA Kennedy Space Center ในช่วงการปล่อย Artemis ล่ะก็ ไปชมของจริงดีกว่าครับ
มี Orion แล้ว มี Dragon แล้ว มี New Shepard แล้ว อีกหนึ่งยานอวกาศที่เป็นแบบจำลองจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการนี้เช่นกันก็คือยาน Starliner จำลอง ซึ่งเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอันปวดร้าวของ Boeing ที่ทดสอบทีไรก็เจอแต่ปัญหา อย่างในวันที่บทความนี้ถูกเขียนลงก็อยู่ระหว่างบรรยากาศการทดสอบ Crew Flight Test ที่สามารถพาลูกเรือขึ้นสู่อวกาศได้ แต่ NASA ก็ตัดสินใจส่งยานเปล่ากลับมาแทน เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัย
ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2024 ผมก็ได้เขียนบทความ สรุปบรรยากาศทดสอบ CFT-1 ยาน Starliner และการเลื่อนปล่อย พาไปชมบรรยากาศการปล่อยยาน Starliner ในรั้ว NASA ในฐานะนักข่าวอย่างใกล้ชิด ใครที่สนใจสามารถไปติดตามและอ่านบรรยากาศกันได้ครับ
และไอเทมชิ้นสุดท้ายที่ผมอยากพาดูในนิทรรศการ Gateway นี้ก็คือแบบจำลองเครื่องยนต์ตระกูล RL10 ของบริษัท Aerojet Rocketdyne ที่ใช้เป็น Second Stage ของจรวด Space Launch System หรือ SLS ที่เรียกว่า Interim Cryogenic Propulsion Stage (ICPS) และยังถูกใช้งานกับ Second Stage ของจรวดอื่น ๆ เช่น Centaur Upperstage
ในโซน Gateway นี้จริง ๆ ก็จะมีการจัดแสดงหรือมีเครื่องเล่นในรูปแบบ Interactive อื่น ๆ ให้เราได้ลองเล่น โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่จะสามารถกดลองเล่นอะไรได้เยอะมาก ๆ และศึกษาการทำงานของยานอวกาศ เครื่องยนต์จรวดได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงจะมีเกม Simulation ต่าง ๆ เช่น การเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติให้ได้ลองเล่นกันด้วย
ติดตามบริเวณอื่น ๆ ได้ในตอนถัดไป
ตอนนี้ ผมต้องขอพักไว้ที่นิทรรศการ Gateway ก่อน จะเห็นว่าแค่นิทรรศการเดียวก็มีอะไรให้ดูเยอะมากแล้ว ในตอนต่อไปเราจะมาจัดเต็มกับ โซนนิทรรศการกระสวยอวกาศ Atlantis ที่เรียกได้ว่า มีการจัดแสดงกระสวยอวกาศ Atlantis ลำจริงอยู่ที่นี่ พร้อมกับ External Tank และ Solid Rocket Booster และที่สำคัญคือ เราอยากให้ปรับอารมณ์กันให้ดี ๆ เพราะในนิทรรศการถัดไปนั้น จะมีการพูดถึงการสูญเสียกระสวยอวกาศ Challenger และ Columbia ด้วย เป็นโซนที่อุทิศให้แด่ 14 นักบินอวกาศผู้ล่วงลับ
แต่ก่อนที่จะไปถึงบทความนั้น ผมก็อยากแนะนำเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากบริเวณที่ผมพูดถึงในบทความ จริง ๆ แล้วก็จะยังมีโซนอื่น ๆ ให้เราได้ลอง Explore กันอีกเยอะมาก ๆ ถึงได้บอกว่าให้เตรียมตัวไว้หลาย ๆ วันในการเดินทางมา ทำการบ้านให้ดี เผื่อเวลาให้เยอะ พอมาชมของจริง จะได้สนุกและได้ความรู้กันครับ
พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center EP.2 กระสวย Atlantis และซาก Challenger, Columbia
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co