ประวัติศาสตร์ที่ดินของแหลมคะเนอเวอรัล และทำไม NASA ต้องปล่อยจรวดที่นั่น

บทความนี้เกิดจากการที่ผมมีโอกาสได้เดินทางไปแหลมคะเนอเวอรัลบ่อยขึ้น และมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นสัปดาห์ ทำให้เกิดไอเดียอยากเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่ดินตรงนี้ให้ฟัง ว่าแท้จริงแล้ว พื้นที่ที่เป็นเหมือนกับปลายทางสู่การเดินทางไปยังอวกาศแห่งนี้ มีอะไรบ้างที่จริง ๆ เราอาจจะนึกไม่ถึง หรือชอบเข้าใจผิดเกี่ยวกับมัน และทำไมเมื่อพูดถึงแหลมคะเนอเวอรัล เราถึงได้นึกภาพ NASA เป็นอย่างแรก ซึ่งความเข้าใจตรงนี้ น่าจะช่วยให้เรามองภาพพื้นที่ตรงนี้ออกในเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการมองภาพของ “Spaceport” ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่ง Buzzword ที่ได้ยินกันในวงการอวกาศไทย ว่าแท้จริงแล้ว การเกิดขึ้นของ Spaceport นั้น เกี่ยวข้องและอาศัยบริบททางการเมืองและประวัติศาสตร์แค่ไหน

ผมกับอาคาร VAB อันโด่งดังของ NASA ที่มักจะเป็นภาพจำของ Kennedy Space Cener และฐานปล่อยจรวดฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ

อย่างแรกก่อนเลย ผมอยากให้ทุกคนดูภาพถ่ายดาวเทียมของบริเวณที่เราเรียกกันว่าแหลมคะเนอเวอรัลก่อน โดยผมจะไม่พูดถึงว่ามันอยู่ที่ไหน เนื่องจากทุกคนก็น่าจะพอรู้โดยคร่าว ๆ อยู่แล้ว ทีนี้ผมอยากให้สังเกตว่า เมื่อมองแว๊บแรก เราเห็นอะไรบ้าง ใช่ครับ เราน่าจะเห็นถนนที่เข้าไปยังจุดที่มีต้นไม้เบาบางกว่าบริเวณรอบข้าง เห็นแบบนี้นับได้มากกว่า 20 จุด เราคงเดาไม่ยากว่าพื้นที่แต่ละจุดที่เราเห็นคือ “ฐานปล่อยจรวด” ใช่มั้ยครับ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไรมาก เนื่องจากบริเวณนี้ เป็นที่สำหรับใช้ปล่อยจรวด จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นฐานปล่อยจรวดเรียงกันพรึดแบบนี้

ภาพจาก Google Earth แสดง ฐานปล่อยในแหลมคะเนอเวอรัล ที่มา – Google Earth

ทีนี้ เราลองมาคิดกันต่อนะครับว่า ตอนนี้การปล่อยจรวดที่เกิดขึ้นจากแหลมคะเนอเวอรัล มีกี่บริษัทหรือมีกี่หน่วยงานบ้าง ที่ปล่อยจรวด เอาแบบง่าย ๆ ที่สุดก่อน อันดับแรกที่เราน่าจะนึกกันได้คือ SpaceX ซึ่ง SpaceX นั้น ถ้าใครตามข่าวกัน ก็จะสังเกตว่า จะมีการปล่อยจาก Pad หรือ Space Launch Complex (SLC) หมายเลข SLC-40 และ LC-39A (ซึ่งยังไม่ต้องไปสนใจนะครับว่ามันอยู่ตรงไหน) ลำดับต่อมา เมื่อปี 2022 เราได้เห็นการบินขึ้นของจรวด SLS ที่ NASA จะพามนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์ใช่มั้ยครับ จรวดลำนี้บินขึ้นจาก Pad หมายเลข LC-39B ต่อมา บริษัท United Launch Alliance ปล่อยจรวด Atlas V จากฐานปล่อยหมายเลข SLC-41 และจรวด Delta IV Heavy จาก SLC-37

ฐานปล่อยที่มีการปล่อยอยู่ในปัจจุบัน มีทั้งหมด 5 ฐานด้วยกัน ที่มา – Google Earth

ทีนี้ถ้าเรามาดู 39A, 39B, 40, 41, 37 เราจะพบว่า อ้าว ทำไมฐานปล่อยจรวดจริง ๆ ที่เราเห็นในปัจจุบันมันมีแค่ 5 ฐานเท่านั้น แล้วที่เราเห็นกันว่ามันมีมากกว่า 20 ฐานนั้น มันคืออะไรกันแน่

จริง ๆ ถ้านับกันในเชิงการใช้พื้นที่ มันก็มีฐานบางส่วนนะครับที่บริษัทเอกชนกำลังเข้าไปปรับปรุงเพื่อใช้เป็นฐานปล่อย เช่น Blue Origin ที่กำลังปรับปรุงฐาน Pad หมายเลข 36 สำหรับการปล่อยจรวด New Glenn หรือ Relative Space ใช้ Pad หมายเลข 16 ในการปล่อยจรวด Terran-1 ของตัวเอง Pad หมายเลข 46 ของบริษัท Astra และก็มี Pad 13 หมายเลข ที่ SpaceX ปรับปรุงให้เป็น Landing Zone 1 และ 2 ให้กับจรวด Falcon 9

พอซูมเข้าไปดูใกล้ ๆ เราจะพบว่าฐานปล่อยเหล่านี้ ถูกทิ้งร้าง มีแค่ถนนที่ถูกตัดผ่าน แต่ไม่มีโครงสร้างใด ๆ ที่มา – Google Earth

แต่ต่อให้นับยังไง เราจะพบว่าในบริเวณนี้ มี Pad ที่ไม่ได้ถูกใช้งานจำนวนมาก และเมื่อซูมเข้าไปดูใกล้ ๆ เราก็จะพบครับว่า Pad เหล่านี้นั้น “ร้างครับ”

ประวัติศาสตร์ที่ดินของแหลมคะเนอเวอรัล

ใช่ครับ ฐานปล่อยจรวดในแหลมคะเนอเวอรัล หนึ่งใน “Spaceport” ที่โด่งดังที่สุดในโลก อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของการเดินทางสู่อวกาศของมนุษยชาตินั้นเต็มไปด้วยฐานปล่อยร้าง ฟังดูไม่ Makesense ใช่มั้ยครับ เหมือนกับเรามีคอนโดที่ ห้องกว่า 80% นั้น ไม่มีคนอยู่ หรือห้างที่มีร้านค้าเพียงแค่ 20% ของพื้นที่ปล่อยเช่าทั้งหมด อาจจะฟังดูหลอน ๆ และดูไม่สมกับความยิ่งใหญ่ของคำว่าแหลมคะเนอเวอรัลกัน ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ นี่คือวัตถุประสงค์ของบทความนี้ที่จะมาเล่าให้ฟังกันครับ

ถ้าผมเปิดบทความมาว่าแหลมคะเนอเวอรัลเกิดขึ้นมาได้ยังไง โดยไม่เปรยด้านบนให้ฟัง เราก็คงจะไม่สงสัยกันใช่มั้ยครับ มันเป็นแบบนี้ครับ พื้นที่ตรงนี้มีประวัติศาสตร์ที่ดินมาตั้งแต่ก่อนจะมี NASA เกิดขึ้นเสียอีก ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นของกองทัพสหรัฐฯ ที่่ใช้ในการทดสอบ “จรวด” สำหรับใช้ในทางการทหาร พูดง่าย ๆ คือ มันคือฐานทัพนั่นแหละครับ อยู่ห่างไกลผู้คน แต่ไม่ไกลจนยากที่จะเดินทาง และอยู่ติดทะเล มีแหล่งน้ำจำนวนมาก

จรวดลำแรกที่มีการนำมาทดสอบที่แหลมคะเนอเวอรัล ก็คือจรวดอันโด่งดังของ Nazi หรือจรวด V-2 นั่นแหละครับ ซึ่งสหรัฐฯ ได้มาพร้อมกับ Wernher Von Braun วิศวกรชาวเยอรมันที่ภายหลังคือบิดาแห่งการพัฒนาจรวดสู่อวกาศของสหรัฐฯ โดยในปี 1950 หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการจัดตั้งแผนกสำหรับวิจัยขีปนาวุธข้ามทวีปขึ้น และ V-2 ก็ได้ถูกพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปตระกูล Titan ที่พร้อมจะบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ที่อาจนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ และสหรัฐฯ ก็ได้ใช้แหลมคะเนอเวอรัล ในการทดสอบอาวุธต่าง ๆ มากมายในช่วงนั้น เราเรียกบริเวณนี้ว่า Cape Canaveral Missile Test Annex

การทดสอบยิงจรวด V2 จากแผ่นดินสหรัฐฯ ครั้งแรก ณ ฐานปล่อย หมายเลข 3 ณ​ Cape Canaveral Missile Test Annex ที่มา – NASA Archive

และช่วงนี้เองก็คือช่วงที่มีการงอกตัวเลขฐานปล่อยต่าง ๆ ขึ้นมา ไล่มาเรื่อย ๆ เรียกว่า Pad 1, Pad 2, Pad 3 … นั่นเอง โดยในช่วงนั้นการทดสอบสำคัญ ๆ ก็เช่น การยิง V-2 ครั้งแรกในแผ่นดินสหรัฐฯ เกิดขึ้นที่ฐานปล่อยหมายเลข 3 หรือ ฐานหมายเลข 4 ที่มีบทบาทสำคัญในการยิงจรวด Bomarc และ Redstone ที่ใช้ในเชิงการทหาร หรือฐานหมายเลข 9 ที่ใช้ทดสอบเครื่องบินกึ่งจรวด Navaho ของกองทัพเรือสหรัฐฯ

การแข่งขันด้านอวกาศเกิดขึ้นเมื่อสหภาพโซเวียตปล่อยดาวเทียม Sputnik ได้ในปี 1957 และความพยายามในการปล่อยดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐฯ นั้นเกิดขึ้นในปี 1958 ด้วยจรวด (และชื่อดาวเทียม) Vanguard จากฐานปล่อย LC-18A นั่นเอง แต่การปล่อยก็ไม่ประสบความสำเร็จ มาสำเร็จคือ Explorer 1 ที่พัฒนาโดย JPL ในปี 1958 ด้วยจรวด Juno 1 จากฐานปล่อย LC-26A

การปล่อยจรวด Juno นำส่งดาวเทียท Explorer 1 จากฐานปล่อย LC-26A ที่มา – NASA/JPL-Caltech

เราจะพบว่าในการปล่อยดาวเทียมยุคแรก ๆ นั้น จะปล่อยโดยทหาร ซึ่งก็ไม่แปลกใจเพราะแหลมคะเนอเวอรัลตอนนั้น 100% เป็นพื้นที่ของทหารในการใช้ทดสอบจรวดนั่นเอง และแม้ในปี 1958 จะมีการก่อตั้ง NASA ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดูแลการสำรวจอวกาศพลเรือนนั้น แต่การปล่อยจรวดของ NASA ก็จะยังเกิดขึ้นที่แหลมคะเนอเวอรัล ภายใต้การดูแลของกองทัพอากาศนั่นเอง

จนกระทั่งเมื่อ NASA เริ่มมีโครงการส่งนักบินอวกาศ หรือโครงการ Mercury นั้น Alan Shepard ชาวอเมริกันคนแรกในอวกาศ ก็ได้เดินทางสู่อวกาศบนจรวด Mercury-Redsone (Redsone ที่เป็นชื่อ Missile นั่นแหละ) จากฐานปล่อย LC-5 จากฐานทัพแห่งนี้ ในปี 1961 หรือ John Glenn ชาวอเมริกันคนแรกที่โคจรรอบโลก ก็บินขึ้นจากฐาน LC-14 ในปี 1962

ในตอนนั้น NASA ได้ตั้งศูนย์วิจัยที่ชื่อว่า Merritt Island Launch Operations Center (Merritt Island เป็นชื่อของเกาะที่เป็นที่ตั้งของ NASA ในแหลมคะเนอเวอรัล) เพื่อ Support กิจกรรมที่เกิดขึ้น แต่ในการปล่อยนั้น NASA เองก็ยังไม่ได้มีฐานปล่อยของตัวเองอยู่ดี

ในปี 1963 หลังจากที่ประธานาธิบดี John F. Kennedy ถูกลอบสังหารเสียชีวิต ประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson ก็ได้มีประกาศให้เปลี่ยนชื่อ NASA’s Merritt Island Launch Operations Center เป็น “John F. Kennedy Space Center” ซึ่ง NASA เองก็ได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ชื่อแหลมคะเนอเวอรัล ก็ได้ถูกเปลี่ยนเป็น “แหลม Kennedy” เช่นเดียวกัน (หลังโครงการ Apollo มีการเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นแหลมคะเนอเวอรัลอีกครั้งเพื่อรักษาประวัติศาสตร์ที่ดิน ในขณะที่ NASA ยังคงใช้ชื่อว่า Kennedy Space Center อยู่)

ฐานปล่อย LC-34 สถานที่เกิดโศกนาฏกรรม Apollo 1 ที่มา – NASA Archive

จนกระทั่งในโครงการ Gemini เราก็ได้เห็นการใช้งานฐานปล่อย LC-19 กับจรวด Titan II ภายใต้ชื่อ GLV (หรือ Gemini Launch Vehicle) ได้เห็นการเตรียมพร้อมสู่โครงการ Apollo ในอนาคต ซึ่งตอนนี้ NASA ก็ยังคงใช้พื้นที่ของฐานทัพอากาศอยู่ และแน่นอนว่าการสูญเสียนักบินอวกาศ 3 คนในภารกิจ Apollo 1 ก็เกิดขึ้นที่ฐานปล่อย LC-34 นี้เอง

แม้จะเกิด โศกนาฏกรรม ขึ้น แต่ก็ยังมีการใช้ฐานปล่อย LC-34 มาจนถึงภารกิจ Apollo 7 ในปี 1968 เลยทีเดียว สำหรับการปล่อยจรวดตระกูล Saturn 1B

บรรยากาศรอบฐานปล่อย LC-34 ในปัจจุบัน ภาพนี้ถ่ายในปี 2009 จะสังเกตว่าถูกทิ้งร้าง ที่มา – Midnightcomm

มาจนถึงตอนนี้ NASA เองก็ยังไม่มีฐานปล่อย ทีนี้ให้เดาครับว่าเหตุผลอะไรที่ NASA จะต้องมีฐานปล่อยเอง ซึ่งน่าจะเดาไม่ยาก ใช่ครับ มันคือการมาของจรวดขนาดยักษ์ที่ไม่เคยมีการพัฒนามาก่อน ใหญ่กว่าจรวดลำใดที่กองทัพฯ เคยสร้างขึ้นมา นั่นคือจรวด Saturn V นั่นเอง

Saturn V คือสาเหตุว่าทำไม NASA จำเป็นต้องสร้างอาคารขนาดยักษ์เพื่อประกอบตัวจรวดลำนี้ และอาคารนั้นก็คือตึก VAB หรือ Vehicle Assembly Building ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั่นเอง โครงการ Apollo ทำให้ NASA ต้องขยาย Facilities ของตัวเองบนเกาะ Merritt Island ให้มีทั้งศูนย์ควบคุมภารกิจ อาคารสำหรับกักตัวนักบินอวกาศ หรือเตรียมตัว ที่เรียกว่า Operations and Checkout Building (ภายหลังตั้งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติว่า Neil Armstrong Operations and Checkout Building) ซึ่งนี่ก็คือยุคที่คนได้เริ่มรู้จัก John F. Kennedy Space Center นั่นเอง

และสิ่งที่สำคัญคือ NASA จำเป็นจะต้องสร้างฐานปล่อยของตัวเองไว้ใน John F. Kennedy Space Center ด้วยเช่นกัน และเพื่อให้ตัวเลข สอดคล้องกับการนับจำนวนฐานปล่อย ฐานปล่อยแห่งใหม่นี้จึงได้รับหมายเลขว่า Launch Complex 39 ซึ่งเป็น “ฐานปล่อยเดียว” ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ NASA ไม่ใช่กองทัพอากาศ

ภาพแสดงแผนการก่อสร้าง LC-39 ซึ่งเป็นฐานปล่อยขนาดใหญ่แรกของ NASA ที่อยู่ที่แหลมคะเนอเวอรัล ที่มา – Department of Archives/Special Collections

อย่างไรก็ดี เราจะสังเกตว่าการนับชื่อฐานนั้น จะมีการข้าม LC-38 ไป เพราะ 38 นั้นเดิมทีมีกำหนดสร้างต่อจาก 37 เพื่อใช้กับจรวด Atlas-Centaur แต่ภายหลังการก่อสร้างถูกยกเลิก เราจึงเห็นฐานปล่อยหมายเลข 39 แต่ไม่เห็นหมายเลข 38 นั่นเอง

รู้จักกับ Launch Complex 39 ฐานปล่อยหนึ่งเดียวของ NASA

พอมาถึงตรงนี้ ก็อยากใช้เวลาในการอธิบายการก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่อยู่ในบริเวณ Pad 39 แห่งนี้เลยแล้วกันนะครับ อย่างแรกก็คือ เราจะมองว่าบริเวณทั้งหมดนี้ จะเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของ Pad 39 เพราะถ้าดูจากในแผนที่เราจะเห็นว่า Pad 39 นี้ ตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งของ John F. Kennedy Space Center ไปทางเหนือพอสมควร โดยส่วนที่เราจะนับว่าเป็นผลผลิตจากการสร้าง Pad 39 นั้นมีดังนี้ครับ

  • อาคารประกอบจรวดขนาดใหญ่ ที่เราเรียกกันว่า VAB หรือ Vehicle Assembly Building
  • อาคารสำหรับควบคุมการปล่อย Launch Control Center หรือ LCC
  • รถยักษ์สำหรับบรรทุกจรวด “Crawler” และ “Crawler Way” ทางสำหรับพาจรวดไปยังฐานปล่อย
  • อ่างเก็บน้ำ พร้อมคลองที่ใช้ในการ “ส่งชิ้นส่วนจรวดและวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่” มายังบริเวณตึก VAB
  • จุดสำหรับชมการปล่อย และ Press Site สำหรับนักข่าว และนาฬิกานับถอยหลังอันโด่งดัง
  • ทางรถไฟ “สาย NASA” ที่ใช้ในการลำเลียงชิ้นส่วนจรวด หรือวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ
  • สิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ เช่น หอสำหรับสังเกตการณ์ปล่อย หรือจุด Universal Camera Pad สำหรับตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพจรวด
ภาพขณะก่อสร้างอาคาร VAB ในปี 1964 เพื่อรองรับการปล่อยจวด Saturn V ในโครงการ Apollo ที่มา – NASA Archive

และที่สำคัญคือฐานปล่อย ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นว่า มันมี 39A และ 39B แต่จริง ๆ แล้ว เดิมที NASA ออกแบบไว้ว่าจะมี 4 ฐานปล่อยเลยทีเดียว ได้แก่ 39A, 39B, 39C และ 39D แต่ภายหลังมีการสร้างแค่ 39A และ 39B เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ อย่างที่บอกไปว่า สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการมาของ Saturn V และโครงการ Apollo นั่นเอง

การก่อสร้างฐานปล่อย LC-39A ในปี 1964 ซึ่งยังคงมีการใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน ที่มา – NASA Archive

จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 1967 จรวด Saturn V (หมายเลข 501) ก็ได้บินขึ้นจากฐานปล่อยหมายเลข 39A นับเป็นการประเดิมการใช้งานครั้งแรกของ Launch Complex 39 และก็เป็นเที่ยวบินแรกของ Saturn V ด้วย ในภารกิจ Apollo 4

จรวด Saturn V หมายเลข 504 ในภารกิจ Apollo 4 ถูกเคลื่อนไปยังฐานปล่อย บนรถ Crawler

ในขณะเดียวกัน แม้ NASA จะมี ฐานปล่อยใหม่เอี่ยมคือ LC-39 แต่จริง ๆ แล้ว การปล่อยจาก พื้นที่ของกองทัพอากาศใน Pad อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ 39 ก็ยังเกิดขึ้นควบคู่กันต่อมาเรื่อย ๆ นั่นก็เพราะว่าจริง ๆ Pad 39 นั้น ออกแบบมาให้ยิ่งใหญ่เพื่อรองรับการปล่อยจรวด Saturn V โดยเฉพาะ จรวดอื่น ๆ เช่น Titan, Atlas ที่ปล่อยจาก Pad ฝั่งทหารอยู่แล้ว รวมถึง Saturn IB ก็ยังคงปล่อยจาก Pad 37, 34 และอื่น ๆ อยู่

และ Pad 39 ของ NASA นี้เองก็ได้ถูกใช้งานมาตั้งแต่คุย Apollo มาจนถึงการปรับปรุงต่อให้ใช้งานในยุคกระสวยอวกาศ กระสวยอวกาศทุกลำ มีการปล่อยจาก Pad หมายเลข 39A และ 39B มาตลอด รวมถึงในบริเวณเกาะ Merrit Island นี้ ทางตอนเหนือของตึก VAB เอง NASA ก็ได้มีการสร้าง Space Launch and Landing Facilcites ซึ่งเป็นทางวิ่งยาว 4,500 เมตร เพื่อใช้สำหรับการลงจอดกระสวยอวกาศด้วย โดยโครงสร้างต่าง ๆ ของ Pad 39 นี้ ก็ได้ถูกปรับปรุงให้รองรับการทำงานร่วมกับกระสวยอวกาศ

การใช้งานพื้นที่ฐานปล่อยในปัจจุบัน

และเมื่อโครงการกระสวยอวกาศสิ้นสุดลง เราก็ได้เห็นการใช้ Pad 39B ปล่อยจรวด Ares-1 ในโครงการ Constellation (และโครงการก็ได้ถูกยกเลิกไป) และได้ถูกปล่อยเช่าพื้นที่บางส่วนได้แก่ Pad 39A ให้กับ SpaceX เพื่อใช้ในการส่งจรวด Falcon 9 และ Falcon Heavy ตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน และตอนนี้ SpaceX ก็กำลังก่อสร้างหอคอยสำหรับปล่อยยาน Starship ใกล้ ๆ กับ หอสำหรับปล่อยจรวด Falcon 9 และ Falcon Heavy ซึ่งตั้งอยู่บนโครงสร้างเดิมของฐาน 39A

ในปี 2015 ได้มีการสร้างฐานปล่อยขนาดเล็ก เรียกว่า LC-39C ซึ่งก็เป็นฐานปล่อยขนาดเล็กจริง ๆ อยู่ในโซนของ 39B ตั้งใจจะให้ใช้ปล่อยจรวดขนาดเล็ก เช่น Electron ของ Rocket Lab แต่ภายหลังโครงการก็ไม่ได้มีความคืบหน้าใด ๆ เนื่องจากไปปล่อยที่อื่นดีกว่า คุ้มทุนกว่า

จรวด Falcon 9 ลงจอด ณ Landing Zone 1 ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของ LC-13 ที่มา – SpaceX

และในปี 2022 เราก็ได้เห็นฐานปล่อย LC-39B กลับมามีชีวิตอีกครั้ง จากการปล่อยจรวด Space Launch System หรือ SLS ซึ่งเป็นจรวดลำสำคัญในโครงการ Artemis

ในส่วนของฐานทัพอากาศ Canaveral Air Force Station นั้น ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิมมาก มีการเช่าใช้พื้นที่โดยเอกชน เมื่อเทคโนโลยีจรวดตระกูล Delta และ Atlas ถูกดูแลโดยบริษัทเอกชนอย่าง Boeing และ Lockheed Martin ที่มีการรวมตัวกันเป็น United Launch Alliance นั่นทำให้ การปล่อยยานอวกาศหรือดาวเทียมทั้งหลาย จะเกิดขึ้นจากฝั่ง Cape Canaveral Air Force Station ก็คือฐานปล่อยอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ใช่ 39 นั่นเอง รวมถึงกรณีของ SpaceX ที่มาเช่าให้พื้นที่ SLC-40 ตั้งแต่ปี 2011 และได้ใช้จรวด Falcon 9 ในการส่งยานอวกาศ Dragon เป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่สามารถส่งยานไปเทียบท่าสถานีอวกาศนานาชาติ และได้เริ่มต้นมหากาพย์โคตรจรวดที่นำส่งดาวเทียมและยานอวกาศสู่อวกาศไปมากมหาศาลในยุคปัจจุบัน

จรวด SLS ของ NASA บนฐานปล่อย LC-39B ในภารกิจ Artemis I เมื่อปี 2022 ที่มา – NASA/Joel Kowsky

สำหรับใน Pad อื่น ๆ นั้น ยกตัวอย่างการปล่อยครั้งสำคัญ ๆ เช่น ยานอวกาศ Voyager 1 และ 2, ยาน Viking ถูกปล่อยออกจากฐาน SLC-41 ด้วยจรวด Titan IIIE ดาวเทียมตระกูล GPS ส่วนมาก, ยานโรเวอร์ Spirit และ Opportunity ถูกปล่อยโดยจรวด Delta II จากฐานปล่อย SLC-17 (ที่ตอนนี้ถูกทุบทิ้งไปแล้ว)

ทีนี้ย้อนกลับไปว่า ทำไมฐานปล่อยส่วนมาก ณ แหลมคะเนอเวอรัลตอนนี้ ถึงได้เป็นฐานร้าง ถ้าพิจารณาจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่เล่ากันมาแล้ว เราจะพบว่าจริง ๆ มันเกิดจากการที่ เรามีรุ่นจรวดให้ใช้น้อยลง ประกอบกับตอนนี้กองทัพอวกาศสหรัฐฯ ไม่ได้พัฒนาจรวดสำหรับส่งยานอวกาศเองอีกแล้ว แต่ใช้วิธีจ้างบริษัทเอกชนแทน ถ้าคิดกันตามความคุ้มทุน เราจะมีฐานปล่อยเยอะ ๆ ไปทำไมให้เปลืองเงิน เปลืองค่าใช้จ่ายในการดูแลทั้งโครงสร้างราคาแพงต่าง ๆ ไปจนถึงจ้างคนมาถอนหญ้า ตัดหญ้าที่ฐานปล่อย ทำให้การปล่อยหลัก ๆ ในปัจจุบันจึงเกิดขึ้นเพียงแค่ไม่กี่ฐาน ที่มีการใช้งานจริง ๆ ส่วนฐานอื่น ๆ ที่เป็นมรดกจากอดีต ก็ปล่อยให้หญ้าขึ้นรกไปแบบนั้นนั่นแหละ ใครว่าง ๆ ไม่รู้จะทำอะไรก็ลองอาสาไปตัดหญ้าให้กองทัพอากาศ (ที่มีการแยกมาเป็นกองทัพอวกาศในปัจจุบัน) แล้วกันครับ

แล้วอนาคตของแหลมคะเนอเวอรัลจะเกิดอะไรขึ้น

พูดถึงอดีตกันไปแล้ว มาดูถึงอนาคตบ้าง พอเห็นแบบนี้แล้วเราน่าจะมีคำถามหลัก ๆ คือ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับบริเวณแหลมคะเนอเวอรัลโดยรวม ทั้งในฝั่งของ NASA Kennedy Space Center และฝั่งของ Cape Canaveral Space Force Station

ถ้าในฝั่งของ NASA Kennedy Space Center เราก็จะได้เห็นการพัฒนาพื้นที่สำหรับ SpaceX บนฐานปล่อย LC-39A ต่อไป ทั้งการใช้ปล่อยยาน Starship ที่ SpaceX ตอนนี้ สร้างหอสูงเสร็จแล้ว และในโครงการ Artemis เราก็จะได้เห็น Starship บินขึ้นไปดวงจันทร์จาก LC-39A นี้แหละ ในขณะที่ LC-39B แน่นอนว่า NASA จะยังคงใช้สำหรับการปล่อย SLS ในโครงการ Artemis ต่อไป เล่าย้อนกลับไปในช่วงก่อนหน้านี้ NASA เพิ่งลงทุนงบมหาศาลในการปรับปรุงระบบฐานปล่อยเพื่อให้รองรับกับ Artemis เรียกว่าโครงการ EGS หรือ Exploration Ground Systems

ฐานปล่อยของ Astra บริษัทอวกาศเอกชน ที่ใช้พื้นที่ของ LC-46 ซึ่งเคยเป็นฐานปล่อยจรวด Minotaur IV, Athena ที่มา – Astra

ในขณะที่ฝั่งของ Cape Canaveral Space Force Station นั้น ก็จะมีการปล่อยพื้นที่ให้กับเอกชนแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะดูเหมือนว่า กองทัพฯ จะไม่ได้มีการใช้พื้นที่ตรงนี้ในการยิงจรวดในลักษณะจรวดโจมตีอีกแล้ว (ยกเว้นว่าจะอยู่ในช่วงสงครามนะครับ) เพราะจริง ๆ ฐานยิงนิวเคลียร์ “ลับ” ก็กระจายอยู่ในจุดต่าง ๆ ในสหรัฐฯ อยู่แล้ว ไม่รู้จะเอานิวเคลียร์มายิงที่แหลมคะเนอเวอรัลทำไม ในการปล่อยเช่าพื้นที่นั้น มีโครงการที่น่าสนใจอยู่เช่น

  • การใช้งานฐานปล่อย LC-36 ของ Blue Origin (เซ็นสัญญาเช่าไว้ในช่วงปี 2015)
  • การใช้งานฐานปล่อย LC-46 ของบริษัท Astra ที่เราได้เห็นการทดสอบเที่ยวบินของจรวด Rocket 3 ซึ่งจรวดก็ได้โชว์ศักยภาพ แทนที่จะพุ่งขึ้นฟ้าแต่ดริฟท์ออกไปด้านข้างแทน
จรวด New Glenn ของ Blue Origin บนฐานปล่อย LC-36 ที่มา – Blue Origin

ที่เหลือก็ต้องรอดูว่า จะมีบริษัทเอกชนเจ้าใดมาเช่าพื้นที่สำหรับดำเนินการอีก ซึ่ง SpaceX เองก็น่าจะมีความต้องการฐานปล่อยเพิ่มขึ้นในเร็ววันนี้ หากดูจากสถิติการปล่อยจรวดแทบจะทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละหลาย ๆ รอบ

สิ่งที่คุณอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับฐานปล่อยในแหลมคะเนอเวอรัล

บทสุดท้ายนี้ อยากเล่าให้ฟังถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่ารู้เกี่ยวกับพื้นที่ในบริเวณนี้กันบ้างครับ

NASA Kennedy Space Center นั้นตั้งอยู่บนพื้นที่ของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า Merritt Island National Wildlife Refuge ทำให้ NASA เองต้องมีมาตรการในการดูแลพื้นที่บริเวณนี้ให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของสัตว์ มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด ทั้งในการพัฒนาพื้นที่ และในการปล่อยจรวด ดังนั้น ไม่แปลกใจถ้าเราจะเห็นสัตว์ต่าง ๆ ในพื้นที่ของ NASA ราวกับสวนสัตว์ ซึ่งผมเองก็เคยเจอทั้งจระเข้ (สัตว์ประจำถิ่นของฟลอริดา) เต่า หมูป่า กระต่าย งู ชะนี นกขนาดใหญ่นานาพันธุ์ เรียกได้ว่าพนักงาน NASA อาจตอบได้ว่ากูเป็นพนักงานสวนสัตว์

พิธีการฝังชิ้นส่วนที่เหลือของกระสวยอวกาศ Challenger ลงในไซโลใต้ดินของ LC-31 ที่มา – NASA Archive

อีกอันจะเป็นเรื่องเศร้าหน่อย ๆ คือในการสูญเสียกระสวยอวกาศ Challenger ในปี 1986 นั้น ได้มีการเก็บรวบรวมซากของตัวกระสวยอวกาศมาเพื่อทำการวิเคราะห์หาสาเหตุ ซึ่งเราน่าจะจำได้ว่ามีการเอามาวางเรียงกันในลักษณะรูปร่างของกระสวย คล้ายกับการนำเอาเถ้ากระดูกมาเรียงเป็นรูปคนหลังการเผาศพเพื่อทำพิธีพรมน้ำมนต์ หลังจากนั้น ได้มีการนำเอาชิ้นส่วน 1 ชิ้นของกระสวยอวกาศ Challenger มาจัดแสดงที่ Kennedy Space Center Visitor Center ซึ่งก็คือชิ้นที่มีธงสหรัฐฯ อยู่ครบผืน ที่เราเคยพาไปชมในบทความ สัญญะของการหันธงชาติสหรัฐฯ ชี้ขึ้นฟ้าในงานอวกาศ ส่วนชิ้นอื่น ๆ ได้ถูกนำมาฝังไว้ที่ฐาน LC-31 นี้เอง เป็นที่พักสุดท้ายของกระสวยอวกาศ Challenger

และสุดท้ายก่อนจะจบ หากใครมีโอกาสได้เดินทางไปในบริเวณของแหลมคะเนอเวอรัล นอกจาก NASA Kennedy Space Center Visitor Center ที่โด่งดังแล้ว เราก็แนะนำให้เดินทางไปยัง Sands Space History Center ซึ่งอยู่บริเวณ Port Canaveral ใกล้กับทางเข้า Space Force Station ซึ่งมีการจัดแสดงประวัติศาสตร์ของฐานปล่อยแต่ละฐาน แบบที่ผมเล่ามาในบทความนี้ แต่ก็จะได้พูดคุยกับคนเก่าคนแก่ที่ทำงานในนั้น คอยเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ให้เราฟัง

ผมทำแผนที่แสดงการแบ่งโซนระหว่าง NASA กับ Space Force จะพบว่า พื้นที่ของ NASA นั้นจะอยู่ที่ Merrit Island คือเกาะตรงกลาง ในขณะที่ Space Force จะอยู่ตรงแหลมจริง ๆ ที่มา – Google Earth

และบทความนี้ ก็ต้องการที่จะบอกเราว่าในการทำความเข้าใจปัจจุบัน สิ่งแรกที่เราต้องทำคือการย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ที่มาว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จะช่วยให้เราเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว Spaceport นั้นเกิดจากบริบทสำคัญทางประวัติศาสตร์

ในบทความหน้า ๆ ผมก็อยากพาทุกคนไปทำความเข้าใจการเกิดขึ้นของฐานปล่อยต่าง ๆ ทั่วโลกบ้างครับ โดยจะขอเริ่มจากแหลมคะเนอเวอรัล ซึ่งเป็นเหมือนประตูสู่อวกาศของสหรัฐอเมริกา

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.