คนสมัยก่อนเชื่อว่าโลกคือศูนย์กลางของจักรวาล สมัยก่อนที่ว่านี้คือสมัยก่อนไหน ย้อนกลับไปในยุคกรีกโบราณ สองร้อยปีก่อนคริสกาล Eratosthenes ถูกจดบันทึกไว้ว่าเป็นนักปราชญ์คนแรกที่สามารถหาเส้นรอบวงของโลกได้ เมื่อพูดว่าเส้นรอบวงของโลก ทำให้การบอกว่าคนสมัยก่อนเชื่อว่าโลกแบนนั้นเป็นเรื่องไร้สาระทันที ถ้าเชื่อว่าโลกแบนแล้วจะไปวัดเส้นรอบวงของโลกไปทำไม ส่วนแนวคิดที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลนั้นเมื่อตั้งคำถามว่าเกิดขึ้นเมื่อใด เราย้อนกลับไปก็พบว่าแนวคิด Heliocentrism หรือดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ แล้วดวงดาวต่าง ๆ โคจรรอบมัน กลับเกิดขึ้นก่อนที่มนุษย์จะสามารถวัดเส้นรอบวงของโลกได้ด้วยซ้ำ จากบันทึก กล่าวไว้ว่าอยู่ในราวเกือบสี่ร้อยปีก่อนคริสตกาล โดยนักปรัชญาที่ชื่อว่า Philolaus
แต่การวัดอัตราส่วนระหว่างโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์นั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยเดียวกับ Eratosthenes จากนักปราชญ์อีกคนที่ชื่อว่า Aristarchus ซึ่งใช้หลักการทางเรขาคณิต บอกว่า ดวงอาทิตย์นั้นกว้างกว่าโลกถึง 6-7 เท่า แม้การคำนวณของ Aristarchus จะไม่เที่ยงตรง แต่แนวคิดเรื่องกฏการโคจรนั้นใกล้เคียงกับที่ Issac Newton และ Kepler สร้างโดยทิ้งช่วงเวลาห่างมานับพันปี
ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าประวัติศาสตร์โลกถูกขั้นไว้ด้วยยุคที่เรียกว่ายุคกลาง ยุคที่เต็มไปด้วย อัศวินในชุดเกราะ ปราสาท เจ้าชาย เจ้าหญิง พระราชา นักบวช และอิทธิพลทางศาสนาที่กินช่วงเวลานานเกือบสหัสวรรษ (หนึ่งพันปี) โลกได้สูญเสียกระบวนการคิด หลักการ เหตุผล และช่วงนี้เองที่ทำให้โลกจากเดิมที่มันโคจรรอบดวงอาทิตย์ กลายเป็นว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามแนวคิดทางศาสนา
เพียงแต่ท้องฟ้าก็ยังคงเป็นท้องฟ้า แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ดาวบนท้องฟ้าก็ยังคงปรากฎเป็นรูปแบบการโคจรแบบเดิม มนุษย์ผู้สังเกตบนโลกล้วนแต่สร้างทำอธิบายต่าง ๆ นานา ขึ้นมา หนึ่งในนั้นก็คือการโคจรย้อนกลับของดาวอังคาร (retrograde motion) ที่สนับสนุนการอธิบายแนวคิด Heliocentrism ว่าเกิดจากการที่โลกโคจรเร็วกว่าดาวอังคารเนื่องจากอยู่ในระบบสุริยะวงในกว่า
แต่ Retrograde motion ก็ยังถูกเอามาพยายามอธิบายให้เข้ากับ Geocentrism ด้วยการบอกว่า ดาวเคราะห์แต่ละดวงโคจรรอบจุดศูนย์กลางของมันอีกที (แถ) เรียกว่า Epicycle ซึ่งแนวคิดนี้ถูกเสนอโดย Ptolemy ในช่วงเวลาประมาณร้อยปีหลังคริสกาล นั่นหมายความว่าสิ่งนี้เมื่อทำมาเทียบกับแนวคิดของ Kepler ที่เกิดขึ้นนับพันปีให้หลัง มันจะขัดแข้งกันโดยสิ้นเชิง ทำไมดาวแต่ละดวงจะต้องมีกฏการโคจรที่เป็นของตัวเอง ในเมื่อจักรวาลนี้ก็คือจักรวาลเดียวกัน กฎที่ใช้อธิบายการเคลื่อนที่ก็ควรจะเป็นกฎชุดเดียวกัน แต่ด้วยความที่ทุกคนถูกสอนมาให้เชื่อว่ามันเป็นเช่นนั้น ดาวต่าง ๆ เลยโคจรรอบโลกในใจของคนเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา
ยาวนานมาหลายร้อยปี นักวิทยาศาสตร์นามว่า Nicolaus Copernicus ได้เข้าไปแตะต้องดินแดนสวรรค์อันศักดิ์สิทธิ์นี้อีกครั้ง Copernicus ได้นำ Heliocentrism มาอธิบายการสังเกตวัตถุบนฟากฟ้า การโคจรย้อนกลับ (retrograde motion) การทำนายวัตถุบนท้องฟ้าได้อย่างแม่นยำ และเป็นรากฐานของการสร้างกฎชุดเดียวที่อธิบายวัตถุบนท้องฟ้า ไปจนถึงการเกิด Parallax ของดาวพื้นหลังบนท้องฟ้า
การสังเกตและการพิสูจน์ของ Copernicus ได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า Copernican Revolution เป็นจุดปฏิวัติแนวคิดของวัตถุบนท้องฟ้าที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนามานับพันปี โดยถ้านำสิ่งนี้ไปพูดกับ Aristarchus เมื่อพันกว่าปีก่อนนั้น Aristarchus คงจะชื่นชอบ Copernicus เป็นอย่างมาก แต่การถอยหลังทางเหตุผลทำให้ Copernicus ถูกมองว่าเป็นพวกล้ม (พระ) เจ้า เพราะหลังจากที่ Copernicus บอกว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล ก็แปลว่าดวงอาทิตย์อาจจะยังใช่ แต่นักวิทยาศาสตร์ชื่อ Giordano Bruno ก็ได้เสนออีกว่าจริง ๆ แล้ว ดวงอาทิตย์ของเราก็คือหนึ่งในดาวฤกษ์นับหมื่น พัน แสน ล้าน ที่เรามองเห็นในยามค่ำคืน และเรานั้นแทบจะเป็นเพียงฝุ่นผงในจักรวาลอันกว้างใหญ่
แนวคิดนี้พังครืนแนวคิดด้านศาสนา และสอนให้คนรู้จักเหตุผล การสังเกต การนำสิ่งที่เราพบเจอมาแปรความ ตีความ และสร้างภาพของจักรวาลโดยที่เราไม่ต้องรับฟังจากพระเจ้า Giordano Bruno ถูกจับเผาทั้งเป็นหลังจากนั้น
นักวิทยาศาตร์ในยุคนั้น เขียนจดหมายหากันอย่างลับ ๆ พยายามอธิบายธรรมชาติในแบบที่มันเป็นจริง ๆ แนวคิดของ Copernicus เปิดทางให้ Kepler อธิบายกฎการโคจรของดาวเคราะห์ และวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ กฎชุดเดียวที่อธิบายดาวได้ทั้งจักรวาล Kepler บอกว่าวัตถุโคจรเป็นวงรี ไม่ใช่วงกลม ดังนั้นค่าที่เราจะวัดได้มี 2 ค่า คือ Aphelion และ Perihelion จุดทีใกล้ที่สุดและไกลที่สุดจากวัตถุที่มันโคจรรอบ
แนวคิดเหล่านี้เกิดจากการสังเกตและจนบันทึก ไม่มีใครเคยเห็นมันจริง ๆ จนชายที่ชื่อว่า Galileo ได้นำกล้องโทรทรรศน์มาสังเกตวัตถุบนท้องฟ้า Galileo กับดวงตาที่ใหญ่โตของเขาทำให้เราได้เห็นธรรมชาติของดาวบนท้องฟ้าตามแบบที่มันเป็น เขาส่องดวงจันทร์ก็พบกับภูเขาที่บอกว่าดวงจันทร์ไม่ได้ราบเรียบ และไม่ใช่ดินแดนสวรรค์เหมือนที่ใครกล่าวถึง แต่ดวงจันทร์ก็คือโลกอีกโลกหนึ่งที่เรายังไม่ค้นพบเท่านั้น นั่นหมายความว่าวัตถุบนท้องฟ้าก็คือโลกคือดินแดนของมันเอง ไม่ใช่เครื่องประดับที่ส่องประกายให้โลกในยามราตรีเหมือนที่พวกมนุษย์คิดว่าตัวเองมีอภิสิทธิ์เหนืออื่นใดในจักรวาล
กล้องของ Galileo เป็นตาดวงใหญ่ เขาใช้มันสังเกตวัตถุบนท้องฟ้า ตั้งแต่ดวงจันทร์ไปจนถึงดาวบริวารของดาวพฤหัสบดี ทั้งหมดล้วนแต่สนับสนุนแนวคิดว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาลทั้งสิ้น นั่นทำให้ Galileo ถูกจับตาจากศาสนจักร และสุดท้ายเขาก็ถูกสั่งให้เลิกทำงานวิทยาศาสตร์อีก และต้องพูดความจริงว่า “โลกนั้นคือศูนย์กลางของจักรวาล” และยอมรับว่าสิ่งที่เขาพูดมาทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี
แต่ในหนังสือ On the Shoulder of Giants ของ Stephen Hawkins ก็ได้มีการพูดถึงแนวคิดที่เล่ากันว่า แม้ว่า Galileo จะถูกบังคับให้พูดสิ่งนั้น สุดท้ายเขาก็กระซิบเบา ๆ ว่า “Eppur si muove” มัน (โลก) ก็ยังโคจรเช่นนั้นเรื่อยไป
Galileo เสียชีวิตในปี 1642 ปัจจุบันเขาได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” แม้ว่าเขาจะถูกสั่งให้พูดว่าโลกคือศูนย์กลางของจักรวาล แต่คนก็จดจำสิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาคิด มากกว่าคำพูดที่ถูกบังคับ เสียงกระซิบเบา ๆ ของ Galileo ว่า “Eppur si muove” กลับดังกว่าสิ่งที่ศาสนจักรบังคับเขาให้พูดต่อหน้าสาธรณชน
ในปีเดียวกับที่ Galileo เสียชีวิต ในค่ำคืนก่อนวันคริตสมาส Issac Netwon ชายที่สร้างกฎชุดเดียวที่อธิบายแรงหนึ่งในสี่แรงของจักรวาล คือแรงดึงดูดระหว่างมวล ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น คงไม่ต้องบอกว่า Newton สร้างกฎและทฤษฏีอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ Newton ยอมรับมาตลอดก็คือ ที่เขามองเห็นได้ไกล ก็เพราะเขายืนอยู่บนบ่าของยักษ์ใหญ่ ซึ่งก็คือนักวิทยาศาสตร์ก่อนหน้านี้
Eppur si muove อาจจะเป็นเพียงเรื่องเล่าที่แต่งขึ้นเพื่อกระตุ้นคุณค่าของการพูดความจริงของ Galileo และนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกจับเผาในยุคนั้น แต่สุดท้าย ไม่มีใครจำชื่อของเหล่าศาสนจักรได้ ชื่อที่ถูกจดจำกลายเป็นชื่อของคนที่พูดความจริง และวิธีการคิดของพวกเขากลับอยู่ในหนังสือของพวกเรามาจนถึงทุกวันนี้ หรือนี่อาจจะเป็นความหมายและนัยที่แท้จริงของ “Eppur si muove” ก็มันเป็นเช่นนั้นแล
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co