บทความนี้พาไปชมนิทรรศการ Space Journey Bangkok นิทรรศการอวกาศระดับโลกที่มาจัดที่ประเทศไทยภายใต้การนำเข้ามาของ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ร่วมกับ ภิรัชบุรี กรุ๊ป ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2567 – 16 เมษายน 2568 ณ ไบเทคบุรี ฮอลล์ ES97
โดยทีมงานสเปซทีเอช ได้รับเชิญเข้าไปร่วมพิธีเปิดในวันที่ 16 ธันวาคม 2024 ทำให้เราได้มีโอกาสเก็บภาพและบรรยากาศรวมถึงรายละเอียดสำคัญที่อยากชี้ให้ดูถึงความยิ่งใหญ่ของนิทรรศการนี้
ก่อนอื่นต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า นิทรรศการ Space Journey Bangkok นั้น เป็นการนำเอานิทรรศการในชื่อ Cosmos Discovery Space Exhibition ซึ่งถูก License ไปจัดแสดงในประเทศยุโรปมากแล้วมากกว่า 5 ประเทศ การนำมาจัดที่ไทยของอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ และภิรัชบุรี กรุ๊ป ถือเป็นการดึงเข้ามาจัดแสดงประเทศแรกในเอเชีย นิทรรศการขนาดใหญ่ขนาดนี้ จำเป็นต้องมีการขนอุปกรณ์และวัตถุจัดแสดงจำนวนมาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูง แถมสิ่งของที่จัดแสดงยังเป็นการขอยืม หรือเช่า มาจากหน่วยงานอวกาศต่าง ๆ ระดับโลก ทำให้นิทรรศการ Space Journey Bangkok นี้ถือว่ามีความสำคัญและน่าตื่นเต้นมาก ๆ
ในบทความก่อน ๆ เราเคยได้พาทุกคนไปชม มิวเซียมด้านอวกาศสำคัญ ๆ ของโลก เช่น พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center หรือ พาเที่ยวและส่องประวัติศาสตร์ Griffith Observatory แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสได้เดินทางไป หรือมีค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้นการที่ Space Journey Bangkok หยิบเอาวัตถุชิ้นสำคัญ และวิธีการเล่าเรื่อง ในระดับโลก มาแสดงให้คนไทยได้ดูถึงประเทศไทยของเรา จึงเป็นโอกาสที่มีไม่มากนัก
โดยปกติ เวลาเราไปมิวเซียมหรือชมนิทรรศการต่าง ๆ กัน หากไม่ได้เป็นนิทรรศการถาวร ของที่นำมาจัดแสดงก็อาจเป็นเพียงของที่ทำจำลองขึ้น (Replica) แต่ใน Space Journey Bangkok นั้น วัตถุหลายชิ้น เป็นของจริง ไม่ได้จำลองขึ้นมาที่หาชมได้ยาก

วัตถุสำคัญ ๆ ที่ทาง Space Journey Bangkok ไฮไลต์ไว้นั้น และเป็นของจริงก็เช่น เครื่องยนต์ F-1 Engine ของจรวด Saturn V ที่ได้มีการเก็บกู้มาจากจุดตกในมหาสมุทรแอตแลนติก, ชุดนักบินอวกาศทั้งในยุค Gemini, Apollo และชุดใส่สำหรับขึ้นยาน Soyuz ยุคปัจจุบัน, ชิ้นส่วนทางวิศวกรรมของกระสวยอวกาศ และจรวดในยุคต่าง ๆ และที่พิเศษมาก ๆ เลยก็คือ แผงควบคุม (Console) ของห้องควบคุมภารกิจ Mission Control Center ใน NASA Johnson Space Center ที่เท็กซัส ในยุค Apollo ของจริง มาจัดแสดง รวมถึงวัตถุทางประวัติศาสตร์ เช่น จดหมาย, ภาพถ่าย, แผ่นป้าย อีกมาก ที่เราจะค่อย ๆ ชี้ให้ดูกันไปในบทความนี้
นอกจากนั้น ก็จะยังมีสิ่งของจำลอง เช่น ยานอวกาศ, จรวด ซึ่งแม้จะเป็นเพียงของจำลอง แต่ใช้อัตราส่วนขนาด 1:1 ทำให้เราจินตนาการได้ถึงความยิ่งใหญ่ของการสำรวจอวกาศ และพอนึกออกได้ว่า หากได้เห็นของจริงจะหน้าตาเป็นอย่างไร และมีความละเอียดของชิ้นงานที่สูง สร้างโดยผู้มีความรู้ด้านอวกาศ เช่น ห้องควบคุมกระสวยอวกาศ ที่แผงควบคุมต่าง ๆ นั้นจำลองมาจากกระสวยอวกาศ Columbia ซึ่งเป็นกระสวยอวกาศลำแรกของสหรัฐฯ ที่เดินทางสู่อวกาศ
พาชมนิทรรศการ Space Journey Bangkok
วิธีการเล่าเรื่องของ Space Journey Bangkok นั้น จะใช้วิธีการเล่าแบบจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน (ซึ่งใครที่เดินชมมิวเซียมอวกาศมาก็อาจจะเบื่อวิธีการเล่าแบบนี้แล้ว) แต่ก็ถือว่าทำได้ดีมาก ไม่น่าเบื่อ เพราะเราได้เห็นวัตถุต่าง ๆ ของจริง แถมมีการจัดแสดงที่ไม่ได้เล่าเป็นเส้นตรงมากนักจนน่าเบื่อ แต่ก็เข้าใจง่ายพอที่จะทำให้คนที่ไม่ได้มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศมากนัก ได้ลองทำความเข้าใจและร้อยเรียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นดู
ก่อนที่จะเดินเข้างาน ด้านหน้า ทางนิทรรศการก็จะมีกิมมิกคาเฟ่เล็ก ๆ ชื่อว่า Space Cafe พร้อมกับขนมและเครื่องดื่มธีมอวกาศ ให้เราได้ลองชิมกันด้วย ซึ่งเมนูเครื่องดื่มแนะนำนั้นก็ได้แก่ Mars Slushy และ Moon Slushy ซึ่งทำออกมาได้ดูน่ารักดี

และเมื่อพร้อมกันแล้ว เราก็สามารถเดินเข้าสู่นิทรรศการได้เลย โดยรูปแบบการเดินจะเป็นการเดินชมเป็นรอบ ๆ โดยเมื่อเข้าไปแล้วจะต้องเดินชมต่อจนจบ ไม่สามารถเดินออกมาด้านนอกได้ สำหรับเวลาที่ทีมงานใช้ในการเดินอยู่ด้านในนั้นอยู่ที่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งก็แนะนำว่า ให้เดินเก็บรายละเอียดไปเรื่อย ๆ และใช้เวลาในนิทรรศการไม่ควรต่ำกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง หากต้องการเก็บรายละเอียดจริง ๆ อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นเลยทีเดียว
นิทรรศการต้อนรับจาก GISTDA แสดงพัฒนาการของดาวเทียมในไทย
เนื่องจากหนึ่งในพาร์ทเนอร์สำคัญของงานนี้ก็คือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ทำให้เราได้เห็นการนำเอาแบบจำลองของดาวเทียมสำรวจโลกสัญชาติไทย Thai Earth Observation Sattlite หรือ THEOS รุ่นต่าง ๆ มาจัดแสดง ซึ่งปัจจุบันโครงการ THEOS นั้นก็ได้ดำเนินมาถึง THEOS-2 ซึ่งเพิ่งถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 9 ตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา ส่วน THEOS-2A ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก พัฒนาโดยคนไทย ก็มีกำหนดปล่อยสู่อวกาศในปี 2025 นี้ ทั้งสองดวงใช้งบประมาณในโครงการอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท
THEOS เป็นตระกูลดาวเทียมถ่ายภาพโลกผ่านระบบ Multispectral Imaging ดาวเทียม THEOS ดวงแรกได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2008 นับว่าเป็นดาวเทียมตระกูลสำรวจโลก (Earth Observation) ดวงแรกของไทย ก่อนที่จะมีโครงการพัฒนา THEOS-2 และ 3 ต่อมาตามลำดับ

และที่เรียกว่าใหม่มากสำหรับโครงการ THEOS ก็คือ ทาง GISTDA ได้เปิดเผยแผนอย่างเป็นทางการในการพัฒนาดาวเทียม THEOS-3 ซึ่งจะเป็นดาวเทียมขนาดเล็กที่พัฒนาและสร้างในประเทศไทยดวงแรก มีแผนปล่อยสู่วงโคจรในปี 2027

สำหรับแผนการพัฒนาด้านอวกาศในประเทศไทย รวมถึงโครงการ THEOS ของ GISTDA เราได้สรุปไว้ในบทความ สรุปกิจกรรมในวงการอวกาศไทย 2024 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ที่ GISTDA ได้ร่วมนำเอาเทคโนโลยีอวกาศของคนไทยมาจัดแสดงในงานนี้ด้วยเช่นกัน น่าเสียดายที่ในงานนี้เรายังไม่ได้เห็นการจัดแสดงจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของงานเช่นเดียวกัน
จุดเริ่มต้นของการสำรวจอวกาศ จากการสงคราม
อย่างที่เราทราบกันดีว่าเทคโนโลยีอวกาศนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากเทคโนโลยีที่ใช้ในยุคสงคราม โดยเฉพาะในสงครามโลกครั้งที่สองที่จบลงในปี 1945 จึงไม่แปลกใจที่นิทรรศการ Space Journey Bangkok จะเริ่มต้นด้วยการหยิบยกเอาเทคโนโลยีในยุคนั้น อย่างเช่นระเบิดบินได้ Vergeltungswaffen-1 หรือ V-1 ที่รู้จักกันในชื่อ Flakzielgerät 76 หรือ FZG-76 ซึ่งเป็น Cruise Missile ในยุคแรก

หรือแน่นอนที่ขาดไม่ได้ก็คือจรวด Vergeltungswaffen-2 หรือ V-2 ซึ่งเป็นจรวดที่นาซีเยอรมัน ใช้ยิงถล่มสัมพันธมิตร ซึ่ง V-2 นั้นนับว่าเป็นจรวด Ballistic Missile ระยะไกลลำแรกของโลก แถมยังเป็นวัตถุชิ้นแรกของโลก ที่บินผ่านเส้น Kármán Line ที่ความสูง 100 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบัน เรานิยามจุดนี้ว่าเป็นเส้นแบ่งระหว่างโลกกับอวกาศ

เราไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าวัตถุประสงค์ของห้องนี้คืออะไร แต่ที่เข้าใจคือ นอกจากพูดถึงจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีอวกาศแล้วยังใช้เป็นที่ในการรอในการเข้าไปยังห้องถัดไป ซึ่งจะเป็นห้องที่รับชมวิดีโอเพื่อต้อนรับเข้าสู่งานและอธิบาย Timeline และความรู้พื้นฐานของการสำรวจอวกาศเพื่อปูให้การชมนิทรรศการนั้นเข้าใจง่ายมากขึ้น
โดยเรื่องราวของพัฒนาการจากอาวุธสงครามมาเป็นการสำรวจอวกาศนั้น เราได้เล่าไว้ในบทความ ประวัติศาสตร์จรวด ฉบับสมบูรณ์
หลังจากนั้น เราจะถูกพาให้เดินเข้ามาในห้องที่ด้านหน้ามีจอสำหรับฉายวิดีโอ โดยจะมีการฉายวิดีโอแนะนำเป็นรอบ ๆ เนื้อหาก็จะพูดถึงจุดเริ่มต้น อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการสำรวจอวกาศ

ตัววิดีโอถือว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดี และเป็นภาษาไทย ถือว่าออกแบบมาให้ทุกคนสามารถรับชมได้ และใครที่อาจจะเข้ามาแบบงง ๆ ไม่รู้อะไร อาจจะเริ่มพอเข้าใจว่าทำไมคนเราต้องไปสำรวจอวกาศ หรือการสำรวจอวกาศช่วยเปลี่ยนโลกของเราไปอย่างไร
เมื่อวิดีโอจบ เราจะเดินออกมาที่โซนแรกของนิทรรศการอย่างเป็นทางการ นั่นก็คือโซนที่จัดแสดงการแข่งขันสำรวจอวกาศในยุคแรก เพื่อเป็นเจ้าแรก คนแรก หรือสิ่งของชิ้นแรก หรือ “First Time in Space”
รวมเรื่องราวการแข่งขันสู่อวกาศในยุคแรกเริ่ม
ในส่วนของ “First Time in Space” นั้นเมื่อเปิดมาเราก็จะพบกับโซนที่จัดแสดงเรื่องราวการสำรวจอวกาศในยุคแรก ซึ่งแน่นอนว่าเกิดจากแรงขับในช่วงเริ่มต้นสงครามเย็น ที่เป็นการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ หลังจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ตอนนั้นสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ได้แย่งชิงกันเพื่อเป็นมหาอำนาจของโลก

ตรงจุดนี้ก็จะเริ่มเปิดเล่าตั้งแต่การส่งดาวเทียม Sputnik-1 ในปี 1957 ซึ่งในตอนนั้นได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับสหรัฐฯ อย่างมากว่าสหภาพโซเวียตได้รอบครองเทคโนโลยีอวกาศ ที่สามารถส่งวัตถุขึ้นไปโคจรอยู่เหนือจุดใดก็ได้ของโลก ด้านบนของห้องนี้ ก็จะเป็นการเล่าผ่านแบบจำลองของดาวเทียม Sputnik-1 ขนาดเท่าของจริง อยู่เหนือหัวของเรา

นอกจากนี้ก็จะมีการเล่าเรื่องราวเบื้องต้นของการสำรวจอวกาศในยุคนี้ เช่น การเดินทางสู่อวกาศของนักบินอวกาศ Yuri Gagarin ในปี 1961 รวมถึงตัวละครสำคัญในพัฒนาการด้านอวกาศของโซเวียตก็คือ Sergei Korolev ที่เป็นบิดาแห่งเทคโนโลยีอวกาศของโซเวียต และอยู่เบื้องหลังการออกแบบ พัฒนา และดูแลโครงการอวกาศ จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1966
เลี้ยวถัดไปจากโซนตรงนี้ก็จะเจอกับห้องโถงขนาดใหญ่ จัดแสดงวัตถุที่สำคัญที่สะท้อนเรื่องราวในยุคดังกล่าว โดยมากแล้วจากการประเมินด้วยสายตาเราจะเห็นวัตถุจัดแสดงจากฝั่งสหภาพโซเวียตเป็นหลัก

ในห้องนี้เราจะพาค่อย ๆ ดูรายละเอียดต่าง ๆ และวัตถุที่จัดแสดงอยู่ในตู้กระจก ในโซนนี้การเล่าเรื่องจะไม่ได้มีการเรียงกันมากนัก อาจจะต้องพอเข้าใจ Timeline ของยุคการสำรวจอวกาศบ้าง ไม่เช่นนั้นอาจจะเจอชื่อยาน หรือชื่อบุคคลผุดขึ้นมาโดยไม่เข้าใจได้

อย่างเช่นในตู้นี้ ด้านล่างขวานั้นค่อนข้างน่าสนใจก็คือข้อความโทรเลขที่ส่งหา Sergei Korolev บิดาแห่งอวกาศโซเวียตที่ตอนนั้นได้รับคำสั่งให้เข้ามาดูแลโครงการสำรวจอวกาศในยุคแรกภายใต้ OKB-1 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเทคโนโลยีอวกาศในยุคนั้น ข้อความที่เห็นมาจากในปี 1963 ผู้ส่งก็คือ Gleb Maximov วิศวกรใน OKB-1 บริบทในช่วงนี้ก็คือ โซเวียตเริ่มต้นโครงการ Vostok 3 และ Vostok 4 รวมถึงมีการเตรียมตัวส่งยานอวกาศไปดาวอังคารในโครงการ Mars
ความน่าตื่นเต้นก็คือลายมือที่เราเห็นตรงหน้า เป็นลายมือจริง ๆ ของ Sergei Korolev บิดาแห่งโครงการอวกาศโซเวียต ที่เราไม่ได้เห็นกันบ่อย ๆ แน่ ๆ

ในตู้ถัดไปก็จะมีการจัดแสดงหนังสือพิมพ์ เรื่องราวภารกิจ Voskhod-2 ในปี 1965 ที่พาให้ Alexey Leonov เป็นนักบินอวกาศคนแรกที่ออกไปนอกยานอวกาศด้วยการทำ Space Walk หรือ Extravehicular activity ครั้งแรก
ต่อมาที่เราอยากพามาดูก็คือฝา (Hatch) ของยาน Vostok ซึ่งโครงการ Vostok ก็เป็นยานอวกาศคนนั่งลำแรกของสหภาพโซเวียต เป็นยานรุ่นเดียวกับที่พา Yuri Gagarin เดินทางสู่อวกาศ แต่ฝาที่เห็นอยู่ในนิทรรศการนี้เป็นฝาของยาน Vostok ที่ถูกดัดแปลงให้เป็นดาวเทียมสอดแนมที่ชื่อว่า Zenit ในภารกิจ Kosmos 1978 ที่เดินทางสู่อวกาศในวันที่ 27 ตุลาคม 1988 และกลับลงมายังโลกในวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน

สาเหตุที่ดาวเทียมต้องเดินทางกลับโลกก็เพราะว่าเมื่อก่อน เรายังไม่มีเทคโนโลยีถ่ายภาพดิจิทัล (ก็คือไม่มีเซนเซอร์กล้อง) ดังนั้นเวลาถ่ายภาพต้องถ่ายลงฟีล์ม ซึ่งวิธีการสงกลับโลกก็มีสองทาง แบบแรกคือส่งกลับโลกมาตรง ๆ ผ่าน Reentry Capsule หรือแบบที่สองก็คือ ใช้การแสกนแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัลหรืออนาล็อกแล้วส่งกลับโลก หรือไม่ก็ใช้กล้องแบบ Line-Scan Camera ซึ่งจะเป็นการแสกนภาพแบบอนาล็อก ซึ่งภาพจะไม่ได้คมชัดมากเท่าการใช้ฟีล์ม
และชิ้นสุดท้ายที่เราอยากชี้ให้ดูก็คือ สิ่งที่ในนิทรรศการเรียกว่าเป็นแผงควบคุมของยาน Vostok ในส่วนที่อ้างอิงว่า SKS-2-3 KV อย่างไรก็ดี ชิ้นส่วนนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าเป็นของจริงหรือแบบจำลอง

ต่อมาจะเป็นวัตถุจากในฝั่งสหรัฐฯ บ้าง ในตอนช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ ก็ได้มีการนำเอาขีปนาวุธข้ามทวีป มาดัดแปลงเพื่อใช้ในการส่งทั้งดาวเทียม และนักบินอวกาศเดินทางสู่อวกาศ โดยเฉพาะสองจรวดสำคัญอย่าง Redstone และ Atlas ที่เราได้ยินชื่อกันในโครงการ Mercury-Redstone และ Mercury-Atlas (Mercury เป็นชื่อของยานอวกาศ)
ภาพด้านล่างนี้ก็คือ โมเดลจรวดรุ่นต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ที่มีรากฐานมาจากการพัฒนาขีปนาวุธ (ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าอันนี้เรียงจากอะไร เพราะไม่ได้เรียงจาก Timeline) แต่อยากจะชี้ให้ดูลำที่เล็กที่สุด นั่นคือ Mercury-Restone ซึ่งเป็นจรวด Restone ที่บรรทุกยานอวกาศ Mercury พาเอา Alan Shepard นักบินอวกาศสหรัฐฯ คนแรกเดินทางสู่อวกาศในภารกิจ Mercury-Redstone 3 ในปี 1961
ต่อมาสหรัฐฯ ก็ได้มีแผนเอาจรวด Atlas ซึ่งใหญ่กว่า (ลำที่สามจากด้านซ้าย) มาใช้งานกับโครงการ Mercury เช่นกัน เพราะ Redstone นั้น ไม่แรงพอที่จะพาให้ยาน Mercury โคจรรอบโลกได้ และนั่นก็นำไปสู่ภารกิจ Mercury-Atlas 6 ของนักบินอวกาศ John Glenn ในปี 1962 ซึ่งเขาเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่ได้โคจรรอบโลก (เราจะได้เห็นจำลองแคปซูลภารกิจนี้ต่อด้านล่าง)

ส่วนโมเดลลำขวาสุดจะเห็นว่ามันคือ Atlas เหมือนกัน แต่ด้านบนมีจรวดท่อนที่สาม จรวดท่อนนั้นคือ Agena ซึ่งใช้เป็น Test Target ในการทดสอบเชื่อมต่อในยุค Gemini ซึ่งเตรียมพร้อมการเดินทางสู่ดวงจันทร์ช่วงปี 1965 หลังจากนั้นเราก็ได้เห็นการนำเอาจรวด Atlas มาใช้กับการนำส่งดาวเทียมและยานอวกาศต่าง ๆ และชื่อของ Atlas ก็ยังคงเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ Atlas V ซึ่งเป็นจรวด Atlas รุ่นสุดท้ายนั่นเอง
ส่วนจรวดลำที่สองจากด้านซ้าย นั่นคือ Titan เป็นจรวดที่มาจากขีปนาวุธข้ามทวีปเช่นกัน โดยด้านบนจะติดตั้งยานอวกาศ Gemini ที่เรียกว่าโครงการ Gemini-Titan ซึ่งใช้ในการส่งยานอวกาศที่หนักขึ้นไปโคจรรอบโลก อย่างที่บอกไปว่า Gemini นั้นเป็นเหมือนกับการเตรียมพร้อมสู่ Apollo
อย่างไรก็ตาม โครงการสุดท้ายที่เราได้เห็นมนุษย์ไปนั่งบนขีปนาวุธข้ามทวีปก็คือ Gemini นั่นแหละ เพราะหลังจากนั้น NASA ก็ได้พัฒนาจรวด Apollo เพื่อใช้สำหรับการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ (เราเคยพูดถึงไปในบทความ ประวัติศาสตร์ที่ดินของแหลมคะเนอเวอรัล)
สิ่งที่เห็นตรงหน้านี้ก็คือ Vernier Thruster ของจรวด Mercury-Atlas ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ในการปรับทิศทางแบบละเอียด (Fine Adjustment) ให้กับจรวดในยุคแรก ๆ เนื่องจากจรวดสมัยก่อนนั้น ไม่ได้มีระบบที่ซับซ้อนในการปรับ Thrust หรือ Gibal เหมือนกับในปัจจุบัน จึงต้องใช้จรวดขนาดเล็กช่วยแทน เครื่องในภาพคือเครื่องรุ่น LR-101 ผลิตโดยบริษัท Rocketdyne ใช้เชื้อเพลิงแบบ Kerosene RP-1 และ Liquid Oxygen

ชื่อของ Vernier Thruster นั้นก็เพราะว่าวิธีคิดมันเหมือนกับ Vernier Scale ที่จำเป็นต้องใช้สองค่าในการวัดเพื่อให้ได้ผลที่ละเอียดที่สุด (แบบที่เราเรียนการใช้ Vernier Calipers กันนั่นแหละ)

ต่อมาด้านบนที่เห็นนี้ก็คือถังเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ Vernier Thruster ด้านบน ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นถัง Kerosene RP-1 หรือ Liquid Oxygen
และพูดถึงโครงการ Mercury ไปแล้ว ต่อมาที่เราจะได้เห็นก็คือโมเดลจำลองของยาน Mercury-Atlas 6 ในชื่อ Friendship 7 ที่ได้พาให้ John Glenn เป็นชาวอเมริกันคนแรกที่ได้โคจรรอบโลกปี 1962 อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ตอนพูดถึงประวัติศาสตร์จรวด

เล่าให้ฟังเป็นเกร็ดความรู้ก็คือ Mercury Friend 7 ลำจริงนั้นถูกจัดแสดงอยู่ที่ National Air and Space Museum ในกรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราเคยพาไปชมในบทความ พาเดิน National Air and Space Museum ประวัติศาสตร์ เรื่องราว และวัตถุจริง
ต่อมาที่เราอยากชี้ให้ดูที่เป็นวัตถุจริงก็คือ ชิ้นส่วนชั้นในของชุดนักบินอวกาศในยุค Gemini ซึ่งอย่างที่บอกไปว่าเป็นการเตรียมพร้อมสู่โครงการ Apollo ทำให้เทคโนโลยีในยุคนั้นเริ่มซับซ้อนขึ้นมา จากชุดสีเงิน ๆ ก็เริ่มกลายมาเป็นชุดสีขาวใกล้เคียงที่เราเห็นกันในปัจจุบัน และได้เปิดโอกาสให้สหรัฐฯ สามารถทำภารกิจ EVA หรือการออกไปนอกยานได้ครั้งแรกในภารกิจ Gemini 4 โดยนักบินอวกาศ Ed White ในปี 1965

ที่เราเห็นตรงหน้านี้คือชิ้นส่วนไส้ในของชุด ในส่วนที่เป็น Restraint Layer หรือ Link Net ที่ช่วยรักษาความแตกต่างของความดันด้านในกับด้านนอกชุด แต่ยังมีความยืดหยุ่นทำให้นักบินอวกาศเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ
และจบจากโครงการ Gemini ต่อมา ว่าเราก็ต้องไปต่อกันที่โครงการ Apollo ซึ่งก็จะอยู่ในโซนจัดแสดงในส่วนถัดไปของนิทรรศการ Space Journey Bangkok
โครงการ Apollo และการเดินทางสู่ดวงจันทร์
เราเดินต่อเข้ามาในส่วนที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์โครงการ Apollo ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดี John F. Kennedy ได้ตั้งเป้าหมายว่าสหรัฐฯ ต้องพามนุษย์เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้ก่อนจบทศวรรษ 1960 ซึ่งหลังจากที่เขาประกาศไปในปี 1962 ตอนนั้น NASA ก็ได้เริ่มต้นผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มรูปแบบ (และจึงเกิด Gemini ขึ้นมาเพื่อทดสอบความพร้อม) และภารกิจ Apollo ภารกิจแรกก็ได้เกิดขึ้นในปี 1967 ก็คือภารกิจ Apollo 1

และอย่างที่เราทราบกันดี ภารกิจ Apollo 1 นั้นจบสิ้นลงด้วยโศกนาฏกรรม จากการเสียชีวิตของสามลูกเรือได้แก่ Gus Grissom, Edward White และ Roger Chaffee จากอุบัติเหตุไฟไหม้ในยานในการทดสอบเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1967 โดยรายละเอียดนั้นเราได้เล่าไว้ในบทความ ภารกิจที่จบลงในเปลวเพลิง และการเสียสละเพื่อก้าวแรกของมนุษย์บนดวงจันทร์ รวมถึงได้ มีโอกาสพาทุกคนไปชมฝายานจริงที่นำไปสู่การเสียชีวิตของลูกเรือทั้งสามใน พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center ตอนที่ 3 ที่เราพาไปที่ Apollo Center

เมื่อเดินผ่านจากการปูพื้นให้เข้าใจประวัติศาสตร์เบื้องต้นของโครงการ Apollo แล้วนั้นเราก็จะเจอกับอีกห้องโถงขนาดใหญ่ที่จัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ทั้งของจริงและของจำลองเหมือนเช่นเคย โดยสิ่งที่ใหญ่โดดเด่นที่สุดในห้องก็มีสองชิ้น ได้แก่ จรวด Saturn V จำลอง ที่อยู่ริมสุดของฝาผนัง และยาน Apollo จำลองในส่วนของ Command Module ที่มีอัตราส่วน 1:1 นำมาจัดแสดงให้ได้ชมกัน

แต่วัตถุชิ้นแรกที่เราบอกได้เลยว่า ต้องรีบพุ่งตรงเข้ามาดูก่อนเพราะหาชมได้ยากมาก และน่าจะเป็นโอกาสเดียวในชีวิตที่เราจะได้เห็น ก็คือชิ้นส่วนจริง ๆ ของเครื่องยนต์ F-1 ของจรวด Saturn V จรวดยักษ์ที่พามนุษย์เดินทางสู่ดวงจันทร์ ซึ่งชิ้นส่วนนี้เป็นชิ้นส่วนจริงและจัดว่าเป็น “Flown Hardware” หรือใช้ในการบินจริง ๆ มาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าจรวด Saturn V จรวดท่อนแรกหลังจากขึ้นบินก็จะตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้การนำเอาชิ้นส่วนนี้มาจัดแสดง จำเป็นต้องเอาเรือไปเก็บกู้ชิ้นส่วนดังกล่าวมาจากใต้ทะเล ลึกกว่า 4,200 เมตร

ซึ่งโครงการที่ฟังดูบ้าบอนี้ก็ได้ถูกริเริ่มโดย Jeff Bezos มหาเศรษฐีเจ้าของ Amazon และบริษัท Blue Origin ที่ลงทุนออกเรือพร้อมทีมเก็บกู้ไปนำกลับมาในปี 2013 โดยชิ้นส่วนที่นำกลับมาได้นั้นเป็นชิ้นส่วนจากภารกิจ Apollo 12 และ Apollo 16 และได้ถูกแบ่งไปจัดแสดงยัง Museum of Flight ในเมือง Seattle รัฐวอชิงตัน เป็นนิทรรศการถาวร บางส่วนได้ถูกนำไปจัดแสดงที่ National Air and Space Museum และส่วนหนึ่งก็ถูกนำมาแสดงกับ Cosmos Discovery Space Exhibition หรือ Space Journey Bangkok ให้เราได้ชม

ชิ้นส่วนที่เราเห็นนี้ก็เป็นส่วน Thrust Chamber ซึ่งเป็นส่วนที่ Liquid Oxygen กับ RP-1 Kerosene จะเข้ามาผสมกันก่อนที่จะเดินทางออกมายังตัว Nozzle ของจรวด เราเคยอธิบายหลักการทำงานของเครื่องยนต์จรวดอย่างละเอียดไว้ในบทความ ออกแบบ Rocket Nozzle อย่างไร ทำไมเครื่องยนต์จรวดถึงหน้าตาแบบที่มันเป็น
เครื่องยนต์ F-1 Engine นั้นเป็นเครื่องยนต์จรวดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบัน โดยปกติเราจะหาชมการจัดแสดง F-1 Engine ได้ตามมิวเซียมอวกาศต่าง ๆ ในสหรัฐฯ รวมถึงที่เราเคยพาไปใน NASA Kennedy Space Center ที่มี Saturn V ลำจริงจัดแสดงอยู่ แต่บอกได้เลยว่า โอกาสที่เราจะได้เห็น F-1 Engine ที่ผ่านการใช้งานแล้วนั้นมีไม่มากเลย โชคดีมาก ๆ ที่ Space Journey Bangkok ได้โอกาสนำมาจัดแสดงที่ประเทศไทย
ต่อมาเราจะพามาดูข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในยุค Apollo กันบ้าง ซึ่งตู้ตรงกลางนี้ก็ได้จัดแสดงอาหารที่ใช้ในยุค Apollo อุปกรณ์การใช้ชีวิต

แต่อาหารก็ดูธรรมดาไป หลายคนอาจจะเคยเห็นกันจนเบื่อแล้ว มาดูนี่ดีกว่า สิ่งที่เราเคยเล่าให้ฟังไปในบทความ การขี้ในอวกาศ บทความในตำนานของเรา ซึ่งก็ได้มีการนำเอาถุงขี้มาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ด้วย พร้อมกับ “Skin Cleaning Towel” หรือผ้าเช็ดตูดนั่นเอง

ต่อมาสิ่งที่เห็นเด่นชัดมาก ๆ ก็คือ Command Module ของยาน Apollo ที่เป็นบ้านให้กับนักบินอวกาศในระยะเวลาการเดินทางสู่ดวงจันทร์ ซึ่งชิ้นส่วนจำลองที่เราเห็นนี่ก็มีอัตราส่วน 1:1 น่าจะพอเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าจริง ๆ แล้วขนาดของยาน Apollo นั้นไม่ได้ใหญ่เลย

และที่อาจจะเห็นแว๊บ ๆ กันไปแล้ว แต่อยากชี้ให้ดูและให้รายละเอียดก็คือด้านหลังของโซนนี้จะมีการจัดแสดงผื้นผิวดวงจันทร์จำลองพร้อมกับยานอวกาศต่าง ๆ โดยด้านซ้ายสุดเราจะเห็นโมเดลจำลองรถ Lunar Roving Vehicle รถที่ NASA นำขึ้นไปกับภารกิจ Apollo 15 เป็นต้นไป เพื่อให้นักบินอวกาศขับบนผิวดวงจันทร์เพื่อเพิ่มระยะการสำรวจ ซึ่งเห็นหน้าตาออกมาโง่ ๆ แบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วทำความเร็วได้ถึง 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนผิวดวงจันทร์ในภารกิจ Apollo 17 โดยนักบินอวกาศ Gene Cernan เลยทีเดียว

ต่อมาด้านขวา เป็นชิ้นส่วน (ไม่มีป้ายบอกและน่าจะจำลอง) ของ Ascent Propulsion System หรือเครื่องยนต์ที่ยานอวกาศส่วน Lunar Module หรือ LM ใช้ในการเดินทางออกจากผิวดวงจันทร์เพื่อให้ตัว LM ขึ้นสู่วงโคจรของดวงจันทร์และไปเชื่อมกับ Command Module โดนถ่ายลูกเรือเดินทางกลับโลก โดยเครื่องยนต์ตัวนี้เป็นรุ่น Bell 8247 พัฒนาโดยบริษัท Bell Aerosystems
ต่อมาด้านขวาเราจะเห็นยานอวกาศอีกสองลำ ซึ่งเป็นยานจำลองขนาดของจริงจากฝั่งโซเวียตบ้าง ลำแรกที่เห็นคือยานสำรวจดวงจันทร์ตระกูล Luna และโรเวอร์สำรวจดวงจันทร์ Lunokhod ที่ถูกส่งไปลงจอดบนดวงจันทร์ในปี 1971 โดยตัวโรเวอร์มีน้ำหนักมากกว่า 756 กิโลกรัม และเป็นโรเวอร์ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยถูกส่งไปยังดวงจันทร์

และแน่นอนว่าเนื่องจากสหภาพโซเวียตล้มเหลวในความพยายามการส่งมนุษย์เดินทางสู่ดวงจันทร์ ทำให้โซนดวงจันทร์นี้แทบจะกลายเป็นโซน Apollo ล้วน ๆ มีการพูดถึงโครงการสำรวจดวงจันทร์ในอดีตของโซเวียตเพียงเล็กน้อย
เกิดอะไรขึ้นกับภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ของสหภาพโซเวียต
ต่อมาเราก็จะพบกับเรื่องราวของภารกิจ Apollo ที่น่าจะโด่งดังที่สุดพอ ๆ กับ Apollo 11 นั่นก็คือ Apollo 13 ปี 1970 ที่เป็นเหตุการณ์ระทึกที่เกิดขึ้นไกลโลกมากที่สุดเมื่อตัวยาน Service Module ของ Apollo ดันเกิดระเบิดในขณะที่ตัวยานเดินทางสู่ดวงจันทร์ จนต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและพาลูกเรือทั้งสามได้แก่ Jim Lovell, Jack Swigert และ Fred Haise เดินทางกลับโลก จนพวกเขาก็ได้เป็นผู้รอดชีวิตในอุบัติเหตุครั้งนั้น

ในโซนนี้ก็จะมีข้าวของเครื่องใช้และแผ่นป้ายชื่อของลูกเรือทั้งสาม แต่สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือกล้อง Hasselblad ที่ใช้จริง ๆ ในการบันทึกภาพต่าง ๆ ในภารกิจ Apollo 13 ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ถูกนำไปใช้ถ่ายบนพื้นผิวดวงจันทร์เพราะไม่มีการลงจอด แต่นี่คือกล้องที่เสี่ยงตายมาพร้อมกับลูกเรือทั้งสาม ถือว่าหาชมไม่ง่ายนัก

และที่เป็นไฮไลต์อีกชิ้นของโซนนี้เลยก็คือ ชุดนักบินอวกาศของ Jim Lovell ซึ่งเป็นชุดที่ใส่ในขณะขึ้นยาน Apollo เพื่อเดินทางออกจากโลก พร้อมกับหมวกใสอันเป็นเอกลักษณ์ของยุค Apollo ที่ใช้เฉพาะตอนบินออกจากโลก (บนดวงจันทร์จะใช้หมวกอีกแบบ) โดยชุดนี้นั้นมีชื่อเรียกว่า A7L แน่นอนว่าชุดนี้ไม่ได้ถูกใส่บนผิวดวงจันทร์แต่อย่างใด เนื่องจากการลงจอดไม่ได้เกิดขึ้น

ต่อมานอกเหนือจากเรื่องเล่าในภารกิจ Apollo 13 แล้ว ก็จะยังมีการเก็บตกยุค Apollo ต่อเล็กน้อย ซึ่งเป็นชุดของนักบินอวกาศเหมือนกัน ชุดที่เห็นนี้เป็นชุดของนักบินอวกาศ Charlie Duke แห่ง Apollo 16 (ซึ่งเกร็ดก็คือเขาเคยเดินทางมาไทยในงาน NASA A Human Adventure ซึ่งเป็นนิทรรศการใกล้เคียงกันที่มาจัดแสดงที่ไทยปี 2014) ชุดที่เห็นนี้เป็นชุดที่ใส่ในยานขณะเดินทางไปยังดวงจันทร์เรียกว่า Inflight Coverall Garment หรือ ICG

จบแล้วสำหรับโซน Apollo สำหรับโซนถัดไปก็จะเป็นกานพูดถึงโครงการฝั่งโซเวียตและเปลี่ยนผ่านมาเป็นยุคของรัสเซีย ผ่านยานอวกาศที่เรียกได้ว่าเป็นยานที่อยู่คู่กับวงการอวกาศมาอย่างยาวนานอย่างยาน Soyuz ที่ ณ ปัจจุบัน ก็ยังคงทำหน้าที่ในการรับส่งลูกเรือ เดินทางขึ้นและลงสถานีอวกาศนานาชาติ
ยาน Soyuz และสถานีอวกาศ Mir จำลอง
มาถึงภาพที่พวกเราคุ้นเคยและใกล้เคียงกับการสำรวจอวกาศยุคปัจจุบันขึ้นมาบ้าง เดินต่อมาเราก็จะพบกับชุดนักบินอวกาศที่ชื่อว่า Sokol ซึ่งเป็นชุดที่ปัจจุบันรัสเซียใช้งานกับลูกเรือยาน Soyuz ในการเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งชุดรุ่นนี้ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ปี 1973 ซึ่งในตอนนั้น จุดเปลี่ยนที่ทำให้โซเวียตหันมาลงทุนกับชุดนักบินอวกาศขณะเดินทางขึ้นหรือลงยานอวกาศก็มาจากเหตุการณ์ Soyuz 11 ในปี 1971 ที่นักบินอวกาศทั้ง 3 คนได้แก่ Georgy Dobrovolsky, Vladislav Volkov และ Viktor Patsayev เสียชีวิตขณะเดินทางกลับโลกเนื่องจากตัวยาน Soyuz ดันเกิดสูญเสียความดันขณะเข้าสู่บรรยากาศ

ด้านข้างของโซนนี้ก็มีการจัดแสดงร่มชูชีพที่ใช้ในการลงจอดของยาน Soyuz (และน่าเสียดายอีกแล้วที่ไม่ได้บอกว่าเป็นของ Soyuz ในภารกิจใด – เป็นอีกหนึ่งข้อปรับปรุงจากตลอดที่เราชมมา) อยู่ด้วย โดยร่มของยาน Soyuz นี้เมื่อกางออกจะมีขนาดมากกว่า 1,000 ตารางเมตร (ตัวเลขอ้างอิงจาก Russian Space Web)

พาย้อนกลับมาดูรายละเอียดของชุด Sokol นี้ ซึ่งเราก็คงคุ้นชินกันเป็นอย่างดีกับภาพนักบินอวกาศ ใส่ชุดนี้เดินทางขึ้นยาน Soyuz ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ แต่จะเห็นว่าด้านหน้าเป็นตราของสถานีอวกาศ Mir และด้านขวาเป็นธงชาติของรัสเซีย แปลว่าชุดนี้ถูกทำขึ้นในปี 1991 จนถึง 2001 เพื่อใช้งานในการเดินทางขึ้นลงสถานีอวกาศ Mir นั่นเอง

โซนนี้จริง ๆ แล้วจะเล่าเรื่องสถานีอวกาศ Mir ของโซเวียต ที่เปลี่ยนถ่ายมาสู่ยุคของรัสเซีย โดย Mir นั้นเป็นสถานีอวกาศที่ถูกส่งขึ้นไปในปี 1986 และถูกก่อสร้างจนใหญ่โต เป็นสถานีอวกาศที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้น ผ่านมาจนถึงยุคของสหภาพโซเวียตล่มสลาย โอนถ่ายมาเป็นรัสเซีย และเกิดความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการนำส่งลูกเรือด้วยการเอากระสวยอวกาศไปเชื่อมต่อ จนสุดท้ายสิ้นสุดการใช้งานในปี 2001 และถูกบังคับให้ตกกลับสู่โลก เพื่อเปิดทางให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ
และมาถึงของจำลองกันต่อ นี่ก็คือแบบจำลองสถานีอวกาศ Mir ขนาดเท่าของจริงในส่วนของโมดูลหลักหรือ Core Module ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเป็นชิ้นแรกในปี 1986 มีความยาวกว่า 13 เมตร และเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เมตรกับอีก 150 เซนติเมตร

ความมีลูกเล่นของโมเดลจำลองนี้คือ ตัวสถานีฯ จะถูกจัดให้อยู่เอียง ๆ ทำให้พอเข้าไปเราจะรู้สึกมึน ๆ นิดหน่อย (Disorientation) เหมือนเรากำลังอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักในอวกาศ ซึ่งเป็นอะไรที่ต้องเข้าไปสัมผัสด้วยตัวเอง ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาผ่านบทความได้
ตู้กระจกโดยรอบก็จะยังมีการจัดแสดงอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในการสำรวจอวกาศของรัสเซียในช่วงนั้น หรือกับสถานีอวกาศ Mir

อันที่น่าสนใจและอยากชี้ให้ดูเลยก็คือ Orlan Hammer ซึ่งเป็นค้อนที่เวลาเราเห็นการทำ EVA จากฝั่งรัสเซีย โดยใช้ชุดนักบินอวกาศ Orlan (ที่ปัจจุบันก็ยังใช้อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ) เราจะเห็นนักบินอวกาศต้องห้อยค้อนแบบนี้ออกไปด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยเฉพาะการงัดแงะเพื่อซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของสถานีฯ จากภายนอก

หรือชุดสำหรับใส่ในสถานีฯ ก็มาจัดแสดงให้เราได้เห็นเช่นกัน ในภาพด้านล่างนี้คือชุดสำหรับใส่ในสถานีฯ ของนักบินอวกาศ Aleksandr Poleshchuk ลูกเรือภารกิจ Soyuz TM-16 เดินทางไปยังสถานีอวกาศ Mir ในวันที่ 24 มิถุนายน 1993 พร้อมกับ Gennadi Manakov สองคน และเดินทางกลับมายังโลก โดยรับเอาลูกเรือฝรั่งเศส Jean-Pierre Haigneré เดินทางกลับมาด้วย (และเราเคยสัมภาษณ์ Haigneré ในบทความ บทสนทนานักบินอวกาศ Jean-Pierre Haigneré ความหลังสถานี Mir )

โซนของ Mir นี้ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี และมีวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่งง ไม่กระโดดไปมา โดยเฉพาะการจัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งเราอาจจะไม่ได้หยิบยกมาให้ดูทั้งหมด เพราะถ้าหากมาดูเองก็จะได้รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย ซึ่งของอื่น ๆ ที่มาจัดแสดงก็ได้แก่ข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกิน การทดลองทางวิทยาศาสตร์

และในโซนนี้ก็จะจบลงด้วยการกลับสู่บรรยากาศโลกของสถานีอวกาศ Mir ในปี 2001 ปิดฉากการเป็นสถานีอวกาศที่รับใช้ทั้งโซเวียต รัสเซีย และพันธมิตรชาวโลก มามากกว่า 15 ปี
โซนต่อไป ก็จะเป็นโซนที่เป็นอีกหนึ่งจุดขายของนิทรรศการ Space Journey Bangkok เลยก็ว่าได้ นั่นก็คือการยกเอา Console ของ Mission Control Center ของแท้ ๆ มาจัดแสดง
Mission Control Center ของจริง
สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้ก็คือ Console ของทีม Mission Control ในช่วงยุค Apollo โดยถูกใช้งานจนถึงประมาณปี 1975 จนถึงยุคที่ NASA ยกเลิกโครงการ Apollo โดยชุด Console เหล่านี้ถูกทอดมาจาก NASA Johnson Space Center ในเมือง Houston รัฐเท็กซัส ซึ่งก็แน่นอนว่านั่นคือที่มาของชื่อขานทางวิทยุ (Callsign) ว่า “Houston” ที่เราคุ้นเคยกัน โดยใน Mission Control Center ของ NASA Johnson Space Center นั้นก็ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน และก็ยังเป็นศูนย์ควบคุมของสถานีอวกาศนานาชาติในฝั่งสหรัฐฯ

ในโครงการ Apollo นั้น เช่นเดียวกับในภารกิจการสำรวจอวกาศอื่น ๆ เมื่อจรวดบินขึ้น การควบคุมจะถูกโอนถ่ายจาก Launch Control Center หรือ LCC ใน NASA Kennedy Space Center ในฟลอริดา มายัง MCC หรือ Mission Control Center ใน NASA Johnson Space Center

เป็นอีกสิ่งที่ไม่น่าได้เห็นกันบ่อย ๆ และถือว่าเป็นวัตถุชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ น่าเสียดายที่ในโซนนี้ ด้านหน้าจัดแสดงไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการ Apollo ซักเท่าไหร่ เพราะเป็น Setup ของ Mission Control ของสถานีอวกาศนานาชาติ (ปัจจุบันส่วนหน้าจอก็เปิดภารกิจกระสวยอวกาศ) แต่ก็สามารถปูทางไปสู่โซนนิทรรศการถัดไปที่พูดถึงเรื่องกระสวยอวกาศเต็ม ๆ ได้

สิ่งที่เด็ดมากและต้องเอ่ยปากชมเลยก็คือโลโก้ของ Mission Operations ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในภารกิจตระกูล Manned Spaceflight หรือภารกิจการสำรวจอวกาศโดยมีมนุษย์ ซึ่งเราเคยเล่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของ Mission Operations ไว้ในบทความ การติดต่อสื่อสาร และจัดการงานกับลูกเรือบนสถานีอวกาศนานาชาติ
นิทรรศการส่วนกระสวยอวกาศ จำลองห้องควบคุมกระสวย
ต่อมาก็จะเป็นโซนที่อาจจะไม่ได้มีของจริงมาจัดแสดงเยอะ แต่เรียกว่าเก็บดีเทลรายะเอียดได้ดีสุด ๆ นั่นก็คือแบบจำลองห้องควบคุมกระสวยอวกาศ ซึ่งจำลองแบบ 1:1 มาจากกระสวยอวกาศ Columbia กระสวยอวกาศลำแรกของสหรัฐฯ ที่ขึ้นบินในภารกิจแรก STS-1 ในปี 1981 ซึ่งการเข้ามาของกระสวยอวกาศนี้เอง ที่ทำให้ NASA เพิ่มจำนวนของคนที่เคยไปอวกาศอย่างก้าวกระโดด
เราเคยเล่าเรื่องความสำคัญของกระสวยอวกาศไว้ในบทความ กระสวยอวกาศ ประวัติศาสตร์ของการเดินทางสู่ความเท่าเทียมแห่ง เพศ ชาติพันธุ์ และมนุษยชาติ

โดยหลัก ๆ แล้วกระสวยอวกาศ จะนั่งได้ทั้งหมด 7 คนประกอบไปด้วย ที่นั่งชั้นบน (Upperdeck) จำนวน 4 ที่นั่ง และที่นั่งชั้นล่าง (Lowerdeck) จำนวน 3 ที่นั่ง ในส่วนด้านหลังนั้นจะยังเป็นที่ตั้งของทางควบคุมที่ส่องมองไปยัง Payload Bay เพื่อให้ลูกเรือสามารถใช้แขนกล Canadarm ในการหยิบจับเอาสิ่งของเข้าและออกจากส่วนบรรทุกของกระสวย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในการก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ

ในโซนนี้ความเจ๋งก็คือ เราลองเปรียบเทียบรายละเอียดระบบควบคุมต่าง ๆ กับตัวกระสวยอวกาศจริง ๆ พบว่าทำออกมาเก็บรายละเอียดได้ดีมาก เรียกได้ว่าสามารถเอาคู่มือการบินกระสวยมายืนศึกษาตรงนี้ได้เลย
ต่อมาในโซนนี้ก็จะจัดแสดงสิ่งของเครื่อใช้ที่เกี่ยวข้องกับกระสวยอวกาศเช่นเคย เปิดด้วยชุดของนักบินอวกาศอีกแล้ว นี่คือชุดสำหรับสวมใส่ในกระสวยฯ สำหรับลูกเรือภารกิจ STS-61-C ของกระสวยอวกาศ Columbia ซึ่งเดินทางขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 12 มกราคม 1986 และเดินทางกลับลงมาในวันที่ 18 มกราคม ในปีเดียวกัน และเห็นปีก็น่าจะรู้กันเลย ว่านี่คือภารกิจกระสวยอวกาศภารกิจสุดท้ายก่อนโศกนาฏกรรม กระสวยอวกาศ Challenger ระเบิดในเที่ยวบิน ในวันที่ 28 มกราคม 1986 ในภารกิจ STS-51-L จนกระสวยอวกาศถูกสั่งพักการบินยาว

ของโชว์ในตู้กระจกโซนนี้ก็จะเป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบคอมพิวเตอร์ของตัวกระสวย อย่างในภาพด้านล่างจะเป็นแผงควบคุมระบบ APU หรือ Auxiliary Power Unit ของตัวกระสวย และน่าเสียดายเช่นเคย ที่ไม่ได้บอกว่าเป็นแบบ Flown Hardware หรือไม่ หรือเป็นแบบจำลองหรือเป็นชิ้นส่วนจริง

อีกสิ่งหนึ่งที่เวลามีนิทรรศการที่พูดถึงกระสวยอวกาศและต้องมีสิ่งนี้ (และตั้งเอาไว้ให้คนมาลองสัมผัสดูด้วย) ก็คือยางของกระสวยอวกาศ ซึ่งผลิตโดยบริษัท Michelin ให้กับ NASA โดยเฉพาะ โดยยางนี้เราจะเติมลมอยู่ที่ 300-340 psi (ปกติเราเติมลมยางรถยนต์กันก็ประมาณ 30-35 psi หรือเครื่องบิน ก็จะเติมที่ 200-300 psi แต่กระสวยอวกาศอัดโหดกันมาก) โดยจะใช้แก๊สที่อัดเป็นไนโตรเจนด้วย

ยางของกระสวยอวกาศนั้นจะต้องวิ่งจากความเร็วจาก 0 เป็น 340 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในจังหวะที่ล้อกระสวยแตะพื้น ซึ่งมากกว่าความเร็วลงจอดของเครื่องบินปกติ (ที่ประมาณ 250-270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ดังนั้นความแข็งแรงของมันจึงขึ้นชื่อมาก ๆ
อย่างไรก็ดีเล่าให้ฟังสนุก ๆ ว่าแข็งแรงขนาดนี้ก็ยังเคยมีเหตุการณ์กระสวยอวกาศยางแตกขณะลงจอดในภารกิจ STS-51D ในปี 1985 ด้วย แต่ลูกเรือทุกคนปลอดภัยเนื่องจากในตอนนั้นกระสวยอวกาศลดความเร็วอย่างมากแล้ว และเบรกของตัวกระสวยก็ยังทำงานได้เป็นอย่างดี นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่กระสวยอวกาศยางแตก
และแม้จะเป็นโซนที่จะเหมือนกับฝั่งอเมริกา แต่เนื้อหาจากฝั่งรัสเซียหรือโซเวียตก็ไม่ได้หายไปไหน โดยเฉพาะเมื่อเราเจอกับโมดเดลและอธิบายกระสวยอวกาศ Buran จากฝั่งโซเวียตที่ก็โผล่มาให้ความรู้ในโซนนี้ด้วยเช่นกัน
โซนดาวอังคาร โมเดลจำลอง Mars Exploration Rover และการสำรวจอวกาศปัจจุบัน
ต่อมาพามาชมโซนที่พูดถึงการสำรวจดาวอังคารกันบ้าง ไฮไลต์ของโซนนี้เลยก็คือโมเดลจำลองยานโรเวอร์ Mars Exploration Rover ที่เป็นยานแฝดสองลำถูกส่งไปยังดาวอังคารในปี 2003 ได้แก่ Spirit และ Opportunity ซึ่งลำในภาพเขาบอกว่าคือ Opportunity ดังนั้นเราจะบอกว่าเป็น Opportunity แล้วกัน ขนาดเท่ากับของจริงให้ได้ชมกัน
เห็น Opportunity แล้วก็แอบนึกถึงช่วงปี 2019 ที่พายุทรายบนดาวอังคารได้พรากเอาชีวิตของน้องจากเราไป ยาน Opportunity หลับใหลตลอดกาลบนดาวอังคาร ปิดตำนานยานอวกาศ 15 ปีลงอย่างเป็นทางการ

ในโซนนี้ก็จะเน้นพูดถึงภารกิจการสำรวจดาวอังคารต่าง ๆ ซึ่งเป็นความหวังว่าจะเป็นบ้านหลังถัดไปของมนุษย์ และมีการนำเอาสะเก็ดอุกกาบาตที่กระเด็นมาจากดาวอังคารมาจัดแสดงเป็นคอเล็กชันด้วย โดยหินพวกนี้โดยมากจะเกิดจากการพุ่งชนของวัตถุขนาดใหญ่ในอดีตก่อนที่หินเหล่านี้จะโคจรมาในอวกาศและตกลงมายังโลก ฟังดูอาจจะเหมือนเวอร์แต่มันเกิดขึ้นจริง และก็มีหินหลายชิ้นบนโลกที่สันนิษฐานได้ว่าน่าจะมาจากดาวอังคาร และก็ไม่ได้หายากมากนัก สามารถหาซื้อกันได้ตามเว็บไซต์

และนอกจากหินจากดาวอังคารแล้วก็ยังมีคอเล็กชันของหินอุกกาบาตจากแหล่งต่าง ๆ มาจัดแสดงให้ได้เห็นกันด้วย ซึ่งเราก็สามารถมาลองดูได้
และหลังจากนิทรรศการทั้งหมดนี้ก็จะเดินทางมาถึงโซนสุดท้ายนั่นก็คือการพูดถึงภารกิจสำรวจอวกาศปัจจุบันว่ามีอะไรกำลังเกิดขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของบริษัทอวกาศ อย่างเช่น SpaceX จรวดที่สามารถนำกลับมาลงจอดได้อย่าง Falcon 9 หรือเครื่องบินท่องเที่ยวอวกาศของบริษัท Virgin Galactic หรือโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการ Artemis หรือกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb

สำหรับโซนนี้อาจจะดูเหมือนไม่ได้มีอะไรมาก แต่ต้องชื่นชมเลยว่าเนื้อหาค่อนข้างสดใหม่ อัพเดท และมีภาพการทดสอบ ความคืบหน้าของภารกิจต่าง ๆ ให้ได้ชมกัน ถือว่าตั้งใจให้คนเดินออกไปจากนิทรรศการแล้วอยากไปศึกษาต่อ ซึ่งถ้าไม่รู้จะไปศึกษาที่ไหนต่อเราแนะนำให้อ่านบทความ สรุปกิจกรรมด้านการบินอวกาศ 2024 หรือบทความอื่น ๆ บนเว็บไซต์เราได้

และแล้วนี่ก็คือจุดสิ้นสุดของนิทรรศการ Space Journey Bangkok ที่อย่างที่บอกไปว่าหากมีเวลา เราอยากให้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการค่อย ๆ เดินดูและเก็บรายละเอียด พยายามอ่านให้ครบทุกป้าย หรือลอง Search หาข้อมูลจากชื่อ ภาพ ที่เราเห็น ซึ่งจะทำให้เราปะติดปะต่อเรื่องราวของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญคือ หากพาเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก หรือเด็กที่รู้เรื่องแล้วมาดู ก็จะช่วยให้มีภาพจำเกี่ยวกับอวกาศได้ว่าครั้งหนึ่งเคยได้เห็นทั้งของจริง และแบบจำลอง
จริง ๆ ต้องบอกว่านิทรรศการในลักษณะนี้นั้น ไม่ได้มีจัดบ่อย ๆ ในประเทศไทย อย่างที่บอกไปว่าล่าสุดที่มีคล้าย ๆ กันก็คือในปี 2014 และเราก็ไม่รู้ว่าจะมีนิทรรศการอวกาศขนาดใหญ่แบบนี้มาจัดที่ประเทศไทยอีกเมื่อไหร่ นี่ก็เลยเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงได้ห้ามพลาดที่จะมาชม
สรุปสิ่งที่เราสังเกตได้จากนิทรรศการ Space Journey Bangkok และอยากบอกทุกคนก็คือ
- นิทรรศการคุ้มค่ามากกับค่าบัตรราคา 650 บาท (บัตรแบบกลุ่ม 4 คนเหลือคนละ 600 บาท) ได้ชมสิ่งของมากขนาดนี้ ที่เดินทางมาให้เราได้ชมกันถึงประเทศไทย
- การเล่าเรื่องในงานค่อนข้างเข้าใจง่าย และเป็นการเรียง Timeline แบบตรง ๆ ใครพอมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ น่าจะเอ็นจอยกับเนื้อหาได้ไม่ยากนัก
- การจัดแสดงค่อนข้างดี ถ่ายรูปออกมาแล้วสวย มีจุดถ่ายรูปหลายจุด
- ผู้จัดถือว่ามีความใจกว้าง (Generous) มาก และพูดได้ว่าทำเพื่อสังคมจริง ๆ ที่ยอมลงทุนขนาดนี้ และเราไม่มีทางรู้เลยว่าเด็ก ๆ เยาวชนที่ได้มาชมนิทรรศการนี้ ในอนาคตเขาอาจจะเติบโตขึ้นมาและมาช่วยผลักดันวงการอวกาศบ้านเราก็ได้
ในขณะที่ข้อติชม ซึ่งหลัก ๆ ก็น่าจะเน้นไปที่การจัดการเนื้อหาจากฝั่งของบริษัทเจ้าของ License มากกว่า ก็จะเป็นเรื่องป้ายการจัดแสดง ที่มีรายละเอียดน้อยไปถึงที่มาที่ไปของวัตถุต่าง ๆ ว่าชิ้นไหนเป็นของจริง และยืมมาจากไหน เช่ามาจากไหน (ใครเดินมิวเซียมบ่อย น่าจะพอเห็นว่าป้ายจะบอกที่มา และมีทะเบียนชัดเจน) ทำให้เดิน ๆ ดูไปอาจจะสับสนว่าอะไรคืออะไร และเป็นของจริงหรือของจำลองกันแน่
ส่วนคำแปลภาษาไทย ถือว่าแปลได้ค่อนข้างดีและไม่หลุดออกจากบริบทมากนักขอชื่นชมในทีมทำคอนเทนต์ฝั่งไทยว่าตั้งใจทำและทำได้ถึงจริง ๆ
สามารถซื้อบัตรเข้าชมงานได้ที่ ICV Ticket และ Ticket Melon และเข้าชมได้ ตั้งแต่วันนี้ – 16 เมษายน 2568 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ฮอลล์ ES97 BITECT BURI
สุดท้ายก็อยากจะขอเป็นกำลังใจให้กับผู้จัด ที่เลือกที่จะดึงเอานิทรรศการระดับนี้มาจัดแสดง และถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกคนจะได้ไปชมกัน ดังนั้นเราในฐานะสื่ออวกาศที่ตั้งใจให้เนื้อหาอวกาศระดับโลกเข้าใกล้กับคนไทยมากที่สุด ขอแนะนำว่าใครที่อ่านบทความนี้จบ งานนี้พลาดไม่ได้