เมื่อชายผู้ไม่ได้เหยียบดวงจันทร์ Michael Collins เป็นพระเอกใน F. Hero Into the New Era

พักหลังนี้เราเห็นเรื่องราวอวกาศ และประวัติศาสตร์ของการสำรวจอวกาศถูกนำมาพูดถึงใน Popular Culture มากขึ้น ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะหนึ่งในเป้าหมายของเราก็คือการทำให้เรื่องราวของอวกาศกลายมาเป็นบทสนทนาทั่ว ๆ ไปที่พบเจอกันได้บนภาพยนตร์ ดนตรี และกลายเป็นบนสนทนาทั่วไปในชีวิตประจำวัน

หลังจากที่ Bodyslam เพิ่งจะออกเพลง 149.6 ระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก ชีวิต Habitable Zone จากนิวตันสู่ Bodyslam เปรียบเทียบระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ที่ทำให้โลกนี้มีสิ่งมีชีวิตหรือ Habitable Zone แล้ว คุณกอล์ฟ F.Hero ก็ได้ออกผลงานใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นอัลบัมแรกแล้ว ยังมีบทเพลงที่เล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของ F.Hero ได้อย่างครบรส รวมถึงเพลงที่ถูกเป็นที่พูดถึงอย่าง Michael Collins ที่ตั้งตามชื่อของนักบินอวกาศในภารกิจ Apollo 11 ซึ่งถูกลืมแม้กระทั่งบน Google

ในแง่ของผลงานเพลงอื่น ๆ สามารถไปอ่านงานเขียนของ Fungjai ได้ที่ F. Hero จารึกประวัติศาสตร์ฮิปฮอป ทั้ง Old School, New School เน้น ๆ 32 เพลงใน ‘Into the New Era’ แต่สำหรับเรื่องราวของ Michael Collins นั้น นับว่าเด็ดจนเราต้องหยิบมาพูดถึงกันบน Spaceth

สำหรับเรื่องราวของเพลงนี้ พี่โอม แห่ง Cocktail ก็ได้โพสต์เล่าเรื่องที่มาที่ไปกับบทสนทนากับพี่กอล์ฟว่า “เพราะแม่งไม่มีใครจำกูแบบที่เป็นกูว่ะโอม เพลงของกูเองไม่มีคนจำ มีแต่คนจำว่ากูไปฟีทใคร จำกูว่าเป็นพ่อของชูใจ (บางทีก็จำสลับกับพี่ป๊อป ปองกูลไปด้วย —อันนี้เสริมเอง) กูคิดว่าถ้าต้องไปขับยานแบบนั้นแล้วกลับมาแบบไม่มีใครจำให้กูตายบนดวงจันทร์ไปเลยแล้วมีคนจำยังดีกว่า กูอยากมีเพลงแบบนั้น”

ฉันมองจันทร์จากยานที่เดินทางมาแสนไกลกว่า 238,900 ไมล์เพียงแค่อยากเหยียบพื้นผิวสัมผัสดวงจันทร์พร้อมจะแลกพร้อมประจัน

เชื่อว่าคุ้มค่ากับมันแต่ในเมื่อเป็นกัปตัน หน้าที่ของฉันคือเฝ้ายานทั้งที่ตัวฉันรอจะถึงวันนี้นานเท่านานดูเพื่อนลงปฏิบัติการแต่ตัวฉันเกาะหน้าต่างมองจันทร์หมุนเคว้งคว้าง

แค่เอื้อมมืออยู่ไม่ห่างและหากนั่นคือจุดหมาย ฉันยอมดับดิ้นดีกว่ามองแล้วกลับโลกทิ้งความฝันให้ดับสิ้นโลกจำนีล อาร์มสตรอง โลกจำบัซซ์ อัลดรินว่าเป็นคนเหยียบดวงจันทร์ แต่ฉันคือ ไมเคิล คอลลินส์

ความน่าสนใจที่แท้จริงก็คือ ทุกอย่างเป็นเช่นนี้จริง ๆ คงไม่มีใครไม่รู้จัก Neil Armstrong ที่เราท่องจำกันมาตั้งแต่ในหนังสือเรียน หรืออย่างชื่อของ Edwin Buzz Aldrin ก็กลายมาเป็นชื่อของ บัซซ์ ไลท์เยียร์ ใน Toy Story เป็นตัวแทนของมนุษย์อวกาศ แต่ถ้าพูดถึง Michael Collins แทบจะไม่มีใครจำเขาได้ ถ้าไม่นับว่าเป็นคนที่มีความสนใจเรื่องอวกาศคงแทบจะไม่มีใครรู้จักเขาเลย

นักบินอวกาศทั้ง 3 ในโครงการ Apollo 11 ที่มา – Apollo Archive

Michael Collins นักบินอวกาศในโครงการ Apollo 11 หน้าที่ของเขาคือ Command Module Pilot หรือนักบินยานควบคุม ทำให้เขาทำหน้าที่รออยู่บนยานแม่ในระหว่างที่เพื่อนของเขาลงไปปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์

หน้าที่ของ Collins นั้นจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่นั่งเหงาอย่างเดียว แต่ก็ต้องทำภารกิจต่าง ๆ เช่นถ่ายภาพ รายงานสถานการจากบนวงโคจร แต่ก็จะมีช่วงเวลาที่ยานโคจรไปอยู่หลังดวงจันทร์ซึ่งจะขาดการติดต่อกับโลก ทำให้ ณ ตอนนั้น Collins ก็ได้รับตำแหน่งมนุษย์โลกที่อยู่ห่างไกลมากที่สุดในตอนนั้น

ทุกภารกิจไปสำรวจดวงจันทร์ จำเป็นต้องมีหน้าที่นี่เพื่อให้ Apollo ตั้งแต่ 11 จนถึง 17 สำเร็จ (ยกเว้น Apollo 13 ที่ไม่ได้ลงจอดทั้ง 3 คน) ซึ่งรายชื่อของ Command Module Pilot ที่ต้องเฝ้ารอเพื่อนปฏิบัติภารกิจก็ได้แก่ Richard Gordon, Jack Swigert, Stuart Roosa, Alfred Worden, Ken Mattingly และ Ronald Evans ตามลำดับ Apollo

ภาพของยาน Eagle กำลังแยกตัวไปลงจอดบนดวงจันทร์ ภาพนี้ มีเพียงแค่ Collins คนเดียวที่ไม่ได้อยู่ในเฟรม ทุกคนที่เคยเกิดขึ้นมาบนโลก อยู่บนโลก ส่วน Buzz กับ Niel ก็อยู่ในยานลำนั้น มีเพียงเขาคนเดียวที่อยู่ข้างหลังภาพถ่ายประวัติศาสตร์ ที่มา – NASA/Apollo archive

ตั้งแต่ตอนที่ยานของ Collins หลบไปอยู่ที่ด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งทำให้เขาขาดการติดต่อกับทุกคนบนโลก และ Armstrong กับ Aldrin บนดวงจันทร์ ซึ่งความอ้างว้างนี้อาจทำให้บางคนรู้สึกไม่ดีได้ แต่นั่นไม่ใช่กับ Collins เลย โดยเขาได้เขียนไว้ในอัตชีวประวัติว่า เขาไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยวในช่วงที่ขาดการติดต่อเลย แต่กลับมีความมั่นใจ ตื่นตัว พึงพอใจ และปลื้มใจ

รวมทั้งสภาพจิตใจของเขาในช่วงหลังภารกิจด้วยเช่นกัน อย่าง Aldrin ที่เผชิญกับความซึมเศร้าและติดเหล้าอย่างหนัก (ก่อนจะต่อสู้และเอาชนะได้ในภายหลัง) ส่วน Armstrong ก็แทบจะถือสันโดษและไม่พบเจอกับผู้คนไปเลย และพวกเขาทั้งสองก็เลิกกับภรรยาไปด้วย ต่างจาก Collins ที่ยึดมั่นในรักเดียวมาตั้งแต่ปี 1958 จนถึงปี 2014 ที่ภรรยาของเขาได้เสียชีวิตลง

Collins คนที่สองนับจากด้านขวา ส่วน Aldrin คือคนที่ใส่ถุงเท้าลายธงชาติอเมริกา จะเห็นว่าท่าทางของ Collins นั้นสุขุมคัมภีรภาพมากกว่าใคร ที่มา – NASA Apollo 50th

ในปัจจุบัน Collins มีอายุ 88 ปี และนี่คือภาพถ่ายล่าสุดของเขากับบรรดานักบินอวกาศสมัยโครงการอพอลโล ที่ได้มารวมตัวกันเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2019 ที่ผ่านมานี้เอง

สามารถอ่านเรื่องราวของ Collins ได้ในบทความ – ไมเคิล คอลลินส์ นักบินอวกาศผู้ถูกลืม ในภารกิจลงดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษยชาติ

Collins เองสำหรับพี่กอล์ฟถ้าดูจากเรื่องราวที่บอกเล่าออกมาแล้ว Collins ก็สามารถเป็นตัวแทนของความเหงาระดับอวกาศ เหงาที่สุด และอยู่ห่างจากทุกคนบนโลก บนเพลงที่ถ่ายทอดออกมานั้นก็เข้าถึงอารมณ์ได้เป็นอย่างดี เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าตอนที่ Collins อยู่บนยานคนเดียวขาดการติดต่อกับทุกคนบนโลกและในจักรวาล ตอนนั้นเขาจะคิดอะไรอยู่

แต่สำหรับเราแล้ว ไม่ว่าจะใครในภารกิจ Apollo เบื้องบนฟ้า หรือเบื้องล่างบนโลก จะตำแหน่งไหน ทุกคนก็คือฟันเฟืองในภารกิจของมวลมนุษยชาติที่ทำหน้าที่ของตัวเอง แม้กระทั่ง อพอลโล 1 ภารกิจที่จบลงในเปลวเพลิง และการเสียสละเพื่อก้าวแรกของมนุษย์บนดวงจันทร์ ก็เช่นกัน

“Ad astra per aspera”

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co


Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.