รีวิวหนังสือ ดาราศาสตร์ฟิสิกส์สำหรับคนเร่งรีบ แบบรีบ ๆ กลางแยกอโศก

ในที่สุด Astrophysics for People in a Hurry ของ Neil deGrasse Tyson ก็มีแปลเป็นภาษาไทยโดย อ.ปิยบุตร บุรีคำ แล้ว นับว่าเป็นหนังสือที่คนชอบฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ จักรวาล ควรไปหามาอ่าน หลังจากที่หนังสือเปิดตัวมาได้ไม่กี่วันเราก็ได้มารีวิวหนังสือเล่มนี้ และเพื่อให้ตรงกับคอนเซปของชื่อหนังสือ วันนี้ทีมงาน SPACETH.CO เดินทางมาที่แยกอโศกหนึ่งในแยกที่รถติดมากที่สุดในประเทศไทยเพื่อมาทำการรีวิวหนังสือเล่มนี้กัน

Astrophysics for People in a Hurry เป็นหนังสือที่เขียนโดย Neil deGrasse Tyson ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมานี้เอง ทำให้เนื้อหามีความทันสมัยมาก ๆ และเป็นการรวมรวมเอาเนื้อหาฟิสิกส์ดาราศาสตร์สำคัญ ๆ ที่เคยปรากฏอยู่ในหนังสือหลาย ๆ เล่มและผลงานจากนักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ คนมาย่อยรวมให้อยู่ในหนังสือฉบับเดียว

โดยหนังสือฉบับนี้นั้นถูกตั้งชื่อมาว่าเป็นหนังสือสำหรับคนเร่งรีบ ซึ่งวิธีการสื่อความแบบนี้อาจจะไม่ได้แปลว่าให้คุณเอาไปอ่านกลางแยกอโศกเหมือนที่ทีมงานเราทำ เนื่องจากเราพบว่าการทำแบบนี้นั้นไม่ได้ช่วยให้คุณอ่านหนังสือเล่มนี้รู้เรื่องมากขึ้น

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าผู้รีวิวเคยอ่าน Astrophysics for People in a Hurry ฉบับภาษาอังกฤษมาผ่าน ๆ บ้างแล้ว แต่ไม่ได้อ่านแบบตั้งใจจบเล่ม จึงสามารถนับได้ว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรก การรีวิวจึงเขียนได้เหมือนกับ Astrophysics for People in a Hurry ฉบับภาษาไทยนี้เป็นเล่มแรกที่อ่าน

สำหรับคนเร่งรีบจริงเหรอ

ไม่จริงหรอกครับ เขาตั้งชื่อให้มันน่าสนใจไปงั้นแหละ ถ้ารีบมากก็อ่านไม่รู้เรื่องครับ แต่ความน่าสนใจมันอยู่ตรงที่เล่มนี้เขียนเล่าเรื่องฟิสิกส์ดาราศาสตร์ได้ค่อนข้างครบทุกมุม ตั้งแต่ กำเนิดเอกภพ ไปจนถึงเรื่องราวของชีวิต และการสำรวจอวกาศต่าง ๆ

ดังนั้นหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างเป็นที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากปูพื้นด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ก่อนที่จะไปอ่านหนังสือที่โหดสัสขึ้น อย่าง A Brief History of Time (ที่วันนี้ก็ยังอ่านไม่รู้เรื่องเท่าไหร่) หรือ The Grand Design ของ Stephen Hawking

เหมือนจะเบสิก แต่อ่านไปอ่านมาสนุกมาก

อาจจะหมั่นไส้ผมก็ได้ที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ยากมาก แต่เอาเข้าจริง ๆ มันอ่านง่ายกว่าเล่มอื่น ๆ จริง ๆ นะ คือการเข้าถึงมันง่ายและไม่มีสมการเลย หลีกเลี่ยงการใช้คำยาก ๆ

ที่บอกว่าหลีกเลี่ยงการใช้คำยาก ๆ อาจจะไม่ได้หมายความว่าเล่มนี้ไม่มีคำยากเลย แต่หมายความว่าผู้เขียนคิดอยู่เสมอว่าผู้อ่านอาจจะไม่คุ้นชินคำพวกนี้ จึงพยายามใช้วิธี สำนวน การอธิบายต่าง ๆ ที่ทำให้เราเข้าใจง่ายขึ้นกว่าเดิม ไม่ได้อยู่ดี ๆ เข้ามามีศัพท์แปลก ๆ โบซอน, กราวิตรอน, พัลซาร์, ห้าซิกม่า อะไรแบบนี้ แต่จะเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ให้เราเข้าใจก่อนที่จะบอกว่าสิ่งนี้เรียกว่าอะไร

เป็นหนังสือที่เหมาะกับการเก็บแต้มบุญครับ ถ้าอ่านเล่มนี้แล้วชอบ จะสามารถขยับไปเล่มที่ยากกว่านี้ได้สบาย ๆ เพราะเล่มนี้เหมาะสำหรับทุกเลเวลจริง ๆ ถ้าเลเวลระดับอ่านพวก Grand Design มาแล้วจะอ่านอันนี้เพลินมาก ถ้าไม่เคยอ่านแนวนี้มาก่อนแล้วมาเก็บแต้มก็จะพบว่าเข้าใจง่าย ทำให้คุณอัพเวลไวขึ้น

สรุปแล้วดียังไง

สรุปแล้วเนื้อหาในเล่มนี้มีครบมาก เหมาะสำหรับการเก็บเลเวลจริง ๆ อธิบายมันตั้งแต่ กำเนิดเอกภพ แรงพื้นฐาน อนุภาคมูลฐาน โครงสร้างของจักรวาล ชีวิต ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ การสำรวจอวกาศ เทคโนโลยีและการค้นพบต่าง ๆ ที่สำคัญ

  • เวลาที่ใช้  อ่าน 1-2 วันจบ มีแค่ประมาณ 200 หน้า
  • ความสนุก เพลินมาก อ่านแล้ววางไม่ลง เพราะอ่านรู้เรื่อง เลยอ่านได้เรื่อย ๆ อ่านไปกินข้าวไปก็ได้ แอบอ่านในที่ทำงานก็ได้ แอบอ่านตอนเรียนก็ได้
  • ความรู้ที่ได้  อยู่ในระดับเก็บแต้ม แต่อ่านแล้วสนุกจริง ๆ เป็นการทบทวน

คะแนนที่ให้ 8.5 เต็ม 10 ไปเลย จัดว่าบันเทิงดี อ่านเพลิน เอาไปเล่าต่อได้ อันที่จริงเนื่องจากหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษนั่นหมายความว่าการแปลเป็นภาษาไทยโดยที่ให้เนื้อหาใจความต่าง ๆ ยังคงสนุกเหมือนต้นฉบับถือว่ายากมาก ๆ โดยเฉพาะกับหนังสือเกี่ยวกับฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับในสำนวนการแปลของ อ.ปิยบุตร มาก ๆ ที่สามารถแปล Astrophysics for People in a Hurry ออกมาได้อย่างสวยงามไม่แพ้ต้นฉบับ

สำหรับหนังสือ Astrophysics for People in a Hurry สามารถสั่งซื้อได้ที่ Godaypoets.com ในราคาเพียงแค่ 275 บาท (แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงลดราคาเหลือแค่ 248 บาทเท่านั้น) เรียกได้ว่าเป็นหนังสือคุณภาพที่ราคาจับต้องได้จริง ๆ

สำหรับการรีวิวในครั้งนี้ก็ต้องขอขอบคุณ A Book ที่ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้เราได้ทำการรีวิวกัน เป็นอีกหนึ่งหนังสือระดับโลกที่ถูกแปลมาให้คนไทยได้อ่านกันแบบสบาย ๆ ไม่ต้องอ่านเป็นภาษาอังกฤษ

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

Disclaimer ภาพประกอบถ่ายช่วงไฟแดง ใช่เวลาในการถ่าย 30 วินาที ไม่เป็นการรบกวนการจราจรแต่อย่างใด

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.