สรุปภาพและบรรยากาศการถ่ายสุริยุปราคาวงแหวนที่สิงคโปร์

26 ธันวาคม 2019 เงาของสุริยุปราคาวงแหวน ได้ตกทอดบนบนมาตุภูมิสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ณ เวลา 12:22-12:24 น. (ตามเวลาประเทศไทย)

ทีมงาน Spaceth.co ได้มาอยู่ภายใต้เงาแสงจันทร์ครั้งนี้ด้วย ที่บริเวณ Marina Bay ของสิงคโปร์ ร่วมกับประชาชนและนักท่องเที่ยวในบริเวณนั้นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งนี่คือภาพถ่ายบางส่วนที่ได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งในครั้งนี้เรามีโอกาสได้ถ่ายภาพสุริยุปราคาแบบวงแหวนเป็นครั้งแรก ( อ่าน – เทคนิคถ่ายภาพสุริยุปราคา จากนักดาราศาสตร์ และบรรยากาศการซ้อมถ่าย )

บรรยากาศการถ่ายสุริยุปราคาที่ Mariana Bay

ทีมงานเดินทางมาถึงบริเวณอ่าวตั้งแต่ช่วงแปดโมงเช้าของประเทศสิงคโปร์ก่อนที่จะเริ่มต้นจัดวางอุปกรณ์และเล็กระยะ โดยเราได้แบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ทำการถ่ายทอดสดกลับไปยังประเทศไทย, กลุ่มที่ถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์ และกลุ่มที่เข้ามามี Engage กับ Public คือเราได้นำกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอย่างง่ายพร้อมติดตั้ง Solar Filter ไปด้วย ทำให้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้นสามารถเข้ามาร่วมชมด้วยได้อย่างปลอดภัย

อุปกรณ์ถ่ายภาพที่เรานำไป ได้แก่ กล้อง Mirrorless จาก Fujifilm ได้แก่ X-T3 และ X-H1 ใช้เลนส์ Fujinon 100-400 mm f/4.5-5.6 R LM OIS WR ซึ่งเป็นเลนส์ที่ระยะเทียบเท่าบนฟูลเฟรม 150 – 600mm รวมถึงมีกันสั่นภายในตัวเลนส์และคุณสมบัติกันละอองน้ำละอองฝุ่นติดตั้ง Solar Filter

สำหรับความน่าสนใจของปรากฎการณ์ในครั้งนี้ สิ่งที่เรารู้สึกได้เลยก็คือ เราได้เห็นแสงในรูปแบบที่แปลกที่สุดตั้งแต่เคยเกิดมา คือแดดยังอยู่กลางหัวเราแต่กลับไม่รู้สึกว่าร้อนเหมือนแดดตอนกลางวันและอุณหภูมิเย็นลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงพฤติกรรมของสัตว์เช่น นกบินกลับรัง

รวมไปถึงสิ่งที่สังเกตได้อีกอย่างหนึ่งก็คือเงาของใบไม้ที่ปรากฏบนพื้นจะเห็นเป็นเสี้ยวตามที่คราสบังดวงอาทิตย์ ซึ่งจะเห็นได้ก็ต่อเมื่อเกิดสุริยุปราคาเท่านั้น

สำหรับการถ่ายภาพนั้นเรียกได้ว่าลุ้นระทึก เพราะแม้ว่าวันนี้จะไม่มีฝนตกตามที่เรากลัวไว้ แต่การเคลื่อนที่ของเมฆที่รวดเร็วมาก ๆ ทำให้เรายังคงต้องพึ่งพาทีมงานในการตะโกนบอกทุกคนว่าอีกกี่วินาทีเมฆถึงจะเคลื่อนเข้ามาบังเพื่อให้เราสามารถถ่ายภาพออกมาได้อย่างสวยงาม

โชคดีก็คือเวลาที่มีเมฆเข้ามาบัง เราสามารถถอด Filter ออกเพื่อให้เห็นสีที่เป็นธรรมชาติขึ้นและสามารถเก็บรายละเอียดอื่น ๆ เช่นนกบินกลับรังได้ด้วย เป็นอีกความโชคดีที่ถ้าเกิดสุริยุปราคาในวันที่ฟ้าโปร่งจะไม่สามารถถ่ายได้

ในแง่ของการมีส่วนร่วมกับประชาชนในบริเวณนั้นก็เป็นสิ่งที่สนุกมาก เนื่องจากเราได้นำกล้องโทรทรรศน์ไปทำให้ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมชมกันได้ แม่ค้าบริเวณนั้นที่ขายของอยู่ยังถึงกับต้องปิดร้านเพื่อมาร่วมชม ซึ่งเราก็ได้พูดคุยกับทั้งคนสิงคโปร์ ชาวต่างชาติ รวมถึงคนไทยด้วยกันเองที่เดินทางมาชม

สรุปความรู้สึกที่เกิดจากการชมในครั้่งนี้ ซึ่งก็นับว่าเป็นการตามล่าวงแหวนครั้งแรกของทีมงาน ซึ่งเป็นโปรเจคร่วมกับทางเว็บ ThePeakFoto และ Fujifilm Thailand อาจจะมีหลายอย่างที่ไม่เป็นไปตามแผน เช่น เมฆบังบ้าง หรือการเลือกมุมถ่ายที่ทำให้ไม่สามารถเห็นดวงอาทิตย์ร่วมกับฉากหลัง (เนื่องจากเกิดในช่วงกลางวัน พระอาทิตย์ตรงหัวพอดี)

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138