วิธีถ่ายสุริยุปราคาให้ปลอดภัย Solar Filter มีกี่แบบ ซื้อที่ไหน ทำอย่างไร ราคา

เมื่อพูดถึงการถ่ายภาพ เราคงจะนึกถึงแหล่งกำเนิดแสงในช่วงกลางวัน แต่ดวงอาทิตย์อาจจะไม่ใช่วัตถุที่อยู่ดี ๆ เราก็นึกอยากจะถ่ายภาพเนื่องจากความสว่างของมัน และลักษณะความเป็นก้อนกลมที่ถ้าไม่ใช่นักดาราศาสตร์เราอาจจะนึกไม่ออกว่าถ่ายไปเพื่ออะไร แต่เมื่อเกิดปรากฎการณ์สำคัญ ๆ อย่าง สุริยุปราคา, ดาวพุธหรือดาวศุกร์ตัดหน้าดวงอาทิตย์ การถ่ายภาพดวงอาทิตย์จึงกลับมาเป็นหัวข้อที่น่าสนใจอีกครั้ง

การถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคา เป็นการรวมแสงเข้าตัวเซ็นเซอร์โดยตรงนอกจาก จะทำให้เซ็นเซอร์ของกล้องถ่ายภาพเสียหายแล้ว สเปคของกล้องถ่ายภาพทั่วไป ไม่สามารถลดแสง ของดวงอาทิตย์ให้พอดีได้ จึงจำเป็นต้องใช้ Filter สำหรับติดหน้าเลนส์หรือหน้าเซ็นเซอร์เพื่อลดแสง หรือชนิดที่ออกแบบมาโดยตรงเรียกว่า Solar Filter

เทคนิคถ่ายภาพสุริยุปราคา จากนักดาราศาสตร์ และบรรยากาศการซ้อมถ่าย

พาไปเลือกซื้อ Solar Filter มีกี่แบบ ราคาเท่าไหร่

เนื่องจากอุปกรณ์แนวนี้ เป็นอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์โดยเฉพาะ ทำให้ไม่มีขายในร้านค้าทั่วไป ทีมงานเดินทางมาที่ร้าน O.P. Telescopes Center ซึ่งก็มีหน้าร้านที่เป็นออนไลน์อยู่ที่ Thaiexcite.com/Astronomy เพื่อขอคำปรึกษาจากทางร้านว่าสรุปแล้ว Filter มีกี่แบบ อย่างไรกันแน่ ซึ่งเราก็ได้คำตอบมาว่า Filter ที่ใช้กันนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • Filter ที่ใช้สำหรับการถ่ายภาพ (Photo Film) ซึ่งจะมีการกรองแสงออกไปได้มากพอสมควร แต่จะไม่มากเท่า Filter สำหรับการดูด้วยตาเปล่า เนื่องจากในการถ่ายภาพ เราอาจจะต้องการ Shutter Speed ที่สูง ประเภทนี้ไม่แนะนำให้ใช้ดูด้วยตาเปล่า
  • Filter ที่ใช่สำหรับการดูด้วยตาเปล่า (Safety Film) ซึ่งปลอดภัยสำหรับทั้งการถ่ายภาพและการดูด้วยตาเปล่าหรือนำไปดัดแปลงทำเป็นแว่นตาสำหรับดู มีการกรองแสงที่สูงกว่าแบบที่ใช้ในการถ่ายภาพ

ซึ่งในหัวข้อนี้ เราจะเน้นไปที่สำหรับใช้ในการถ่ายภาพเป็นหลักก่อน โดย Filter สำหรับใช้ในการถ่ายภาพ ก็แบ่งได้เป็น 2 ประเภทอีกได้แก่ แบบสำเร็จรูป (สามารถนำไปใช้ครอบกล้องได้เลย) กับแบบที่เป็น Film มาแล้วเราต้องไปตัดเพื่อสวมเข้ากับกล้องเอง ราคาก็จะแตกต่างกันไป

เนื่องจากในงานนี้ ทีมงานต้องการใช้กับกล้องหลาย ๆ ตัว หลาย ๆ ขนาด จึงเลือกซื้อแบบ Film มาเพื่อความคล่องตัว โดยตัวที่เราเลือกซื้อมานั้นก็คือ Baader AstroSolar Photo Film (สำหรับถ่ายรูป ห้ามนำไปดูด้วยตาเปล่า) ในราคา 3,890 บาท (100 เซนติเมตร * 50 เซนติเมตร) ที่ทางร้านแนะนำมาเนื่องจากเหมาะสำหรับการใช้ถ่ายภาพดวงอาทิตย์เพราะให้สีแบบ White Neutral ซึ่งใกล้เคียงกับสีดวงอาทิตย์ที่แท้จริง

ลักษณะของฟีล์มที่ทีมงานซื้อมาเป็นแบบ Baader AstroSolar Photo Film ขนาดกว้างครึ่งเมตรยาวหนึ่งเมตร ในราคา 3,890 บาท

เพื่อความรวดเร็ว ทีมงานได้รวม Filter ประเภทต่าง ๆ มาเพื่อให้เราสามารถเลือกกดเข้าไปดูหรือซื้อกันได้ง่ายขึ้น

  • Baader AstroSolar Photo Film – ใช้สำหรับถ่ายภาพดวงอาทิตย์เท่านั้น ห้ามนำไปส่องด้วยตาเปล่า
  • Baader AstroSolar Safety Film – ใช้สำหรับส่องด้วยตาเปล่าได้ และสามารถใช้ถ่ายรูปได้ด้วย
  • สำหรับใครที่ต้องการนำไปใช้กับกล้องโทรทรรศน์ หรือการถ่ายภาพ แล้วต้องการแบบสำเร็จรูป สามารถเลือกได้ระหว่างแบบ Polymer , แบบกระจก และ แบบ Solarite (และเนื่องจากทั้ง 3 แบบออกแบบมาเพื่อใช้ในการดูด้วยตา ทำให้เทียบเท่ากับ Safety Film คือสามารถนำไปถ่ายภาพได้ แต่ Speed Shutter จะต่ำกว่าแบบ Photo Film)

Disclaimer: ทีมงานรีวิวสินค้าจากร้านตามจริง ไม่ได้รับค่าโฆษณาจากทางร้าน O.P. Telescopes Center หากต้องการชมสินค้า โปรดติดต่อทาง O.P.Telescopes Center ที่ 081-239-3299

ทำ Solar Filter สำหรับสวมกับกล้องด้วยตัวเอง

หลังจากที่ซื้อตัว Photo Film กันมาเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลานักประดิษฐ์ มาทำให้ Film ของเราสามารถใช้งานได้กับกล้องซึ่งทาง Fujifilm ได้ส่งอุปกรณ์ Fujifilm X-T3 ซึ่งเป็นหนึ่งในกล้องระดับเรือธง พร้อมกันเลนส์ Fujinon 100-400 mm f/4.5-5.6 R LM OIS WR ซึ่งเป็นเลนส์ที่ระยะเทียบเท่าบนฟูลเฟรม 150 – 600mm รวมถึงมีกันสั่นภายในตัวเลนส์และคุณสมบัติกันละอองน้ำละอองฝุ่น เหมาะสำหรับช่างภาพสายลุย มาให้เราได้ลองใช้กันในทริปล่าสุริยุปราคาที่สิงคโปร์

อุปกรณ์ที่เราจะใช้กันได้แก่ กระดาษแข็ง, กรรไกรที่คมพอสมควร, กาว และหนังยาง

ขั้นตอนแรก ทีมงานได้นำขนาดของหน้า Hood มาวัดเพื่อดูว่าจะต้องใช้ Film ขนาดเท่าไหร่ (ถ้าวัดดี เราจะเหลือ Film ไว้ใช้งานอื่น ๆ เยอะขึ้น ไม่เปลือง) โดยวัดลงในกระดาษแข็ง

หลังจากที่ได้ขนาดมาแล้ว เราก็จะตัดกระดาษแข็งให้มีขนาดของวงนอกและวงในอยู่ระหว่างขนาดของ Hood ที่เราจะใช้ในการถ่ายภาพ จำนวน 2 ชิ้น จากนั้นตัด Film ที่เราซื้อมาด้วยกรรไกรที่คม (เพราะจริง ๆ แล้ว Film บางมาก) ให้ได้ขนาดที่ใหญ่กว่าวงด้านใน

หลังจากนั้นให้นำ Film ที่เราตัดออกมาซ้อนเข้าไประหว่างกระดาษแข็งชิ้นที่หนึ่งกับชิ้นที่สอง ติดกาวให้เรียบร้อยเพื่อประกอบกระดาษแข็งทั้งสองด้านให้เข้ากัน ใช้กรรไกรตัดแต่งเล็มขอบให้สวยงามเรียบร้อย

เท่านี้เราก็จะได้ตัว Filter สำหรับการส่องแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือเราจะทำให้ตัว Filter ของเรามีส่วนที่จะยึดเข้ากับเลนส์ เพราะเราคงไม่อยากถือ Filter นี้ตลอดการถ่ายภาพแน่ ๆ วิธีการที่ทีมงานใช้ก็คือ เราตัดกระดาษแข็งออกเป็น 4 เส้น ในขนาดที่พอดีกับความยาวของเลนส์หรือกล้องของเรา

จากนั้น ทากาวติดเข้ากับตัว Filter ใน 4 ด้านเท่า ๆ กัน ให้ดูภาพประกอบคือเราใช้วิธีการรัดหนังยางเข้ากับตัวของเลนส์กล้อง วิธีการแบบนี้จะดีตรงที่ว่าเราสามารถถอดไปใช้กับเลนส์ใดก็ได้ที่เราต้องการ จะสะดวกกว่าการทำกระบอกครอบเลนส์ ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่เทคนิคและวิธีการประดิษฐ์ของแต่ละคน

เพียงเท่านี้เราก็จะได้อุปกรณ์สำหรับทำการถ่ายภาพดวงอาทิตย์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเราสามารถนำอุปกรณ์ที่เราประดิษฐ์นี้ไปถ่ายภาพดวงอาทิตย์ได้เลย ซึ่งในแง่ของการซ้อม เราสามารถถ่ายภาพดวงอาทิตย์ได้ทุกวันอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นวัตถุที่ปรากฏให้เห็นได้ชัดที่สุดในช่วงกลางวัน

แม้ในช่วงเวลาปกติจะไม่ได้เกิดการบดบังหรือสุริยุปราคาใด ๆ แต่หนึ่งในสิ่งที่เราสามารถสังเกตได้ในการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ก็คือ จุดดับ หรือ Sun Spot ซึ่งเป็นจุดสีดำ ๆ ปรากฏบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ เป็นจุดที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณรอบข้าง ซึ่งด้วยอุปกรณ์ของเรา เลนส์ Fujinon 100-400 mm สามารถถ่ายภาพ Sun Spot ได้อย่างสบาย ๆ

แต่ Sun Spot ก็ใช่ว่าจะมีให้เห็นได้ทุกเมื่อ เพราะ cycle การเกิดก็จะแตกต่างกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเราสามารถเช็คหน้าตาของดวงอาทิตย์ ณ เวลาปัจจุบันได้จากยานอวกาศของทาง NASA ชื่อว่ายาน SDO หรือ Solar Dynamics Observatory ซึ่งจะทำการอัพโหลดภาพถ่ายดวงอาทิตย์ว่าตอนนี้หน้าตาของดวงอาทิตย์เป็นอย่างไรบ้าง เราสามารถเข้าไปเช็คได้ที่ Solar Dynamics Observatory – The Sun Now โดยให้ดูจากรูป HMI Intensitygram – colored ซึ่งจะใกล้เคียงกับที่เราใช้ Solar Filter ถ่าย

ใช้ Neutral Density Filter หรือ ND Filter ได้ไหม

คำตอบก็คือได้ แต่ต้องปรับให้มืดที่สุดก่อนแล้วค่อย ๆ ลดหลั่นความสว่างลงมาให้เหมาะสม การถ่ายภาพด้วย ND Filter กับวัตถุที่มีแสงในตัวเองสว่างอย่างดวงอาทิตย์นั้นจำเป็นต้องทำด้วยความระมัดระวางมาก ๆ และที่สำคัญควรระวังในการมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าโดยอุบัติเหตุ และให้ใส่ Filter บังหน้ากล้องไว้ตลอดเวลา

ตัวอย่างการถ่ายสุริยุปราคา 26 ธันวาคม 2019

อุปกรณ์ถ่ายภาพที่เรานำไป ได้แก่ กล้อง Mirrorless จาก Fujifilm ได้แก่ X-T3 และ X-H1 ใช้เลนส์ Fujinon 100-400 mm f/4.5-5.6 R LM OIS WR ซึ่งเป็นเลนส์ที่ระยะเทียบเท่าบนฟูลเฟรม 150 – 600mm รวมถึงมีกันสั่นภายในตัวเลนส์และคุณสมบัติกันละอองน้ำละอองฝุ่นติดตั้ง Solar Filter

หัวใจหลักของการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคา ให้เห็นการบดบังของดวงอาทิตย์อย่างชัดเจน นั้นก็คือ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสที่ยาว (Telephoto) หรือ มากกว่า 200mm รวมไปถึงหากต้องการถ่ายให้เห็นทิวทัศน์ของสถานที่ ก็จำเป็นต้องใช้ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสที่สั้น (Wide) หรือ น้อยกว่า 35mm 

สามารถดูเรื่องราวในวันนั้นได้ที่

ที่สำคัญคืออย่ายึดติดกับสถานที่ที่เราวางแผนไว้ บางทีเราอาจจะต้องเปลี่ยนที่ ขับรถตาม ย้ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามโอกาส เช่น เมฆบัง หรือวิวไม่เหมาะสมที่จะถ่าย การรู้จักกับสถานที่ อากาศ เวลา และมุมขององศาที่เราจะถ่ายจึงสำคัญมาก ๆ 

และที่สำคัญที่สุด ที่สำคัญทีสุดในการสังเกตการณ์คือความปลอดภัย ไม่ควรดูด้วยตาเปล่า และแม้จะมองผ่านตัวกรองก็ไม่ควรจ้องมองนานเกินไป ควรพักดวงตาเป็นระยะ

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co
สนับสนุนอุปกรณ์ Fujifilm Thailand

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.