เคยสงสัยหรือปล่าวว่าดวงอาทิตย์ที่คุณเห็นในทุก ๆ วันนี้มีพี่น้องร่วมถือกำเนิดด้วย เมื่อเรามองขึ้นไปบนท้องฟ้าในยามค่ำคืนเราอาจจะกำลังมองผ่านพี่น้องร่วมถือกำเนิดของดวงอาทิตย์ที่กระจายตัวอยู่ในกาแลกซี่ทางช้างเผือกที่ไหนสักแห่งหนึ่ง
นักวิทยาศาสตร์ และ นักดาราศาสตร์ ทั่วโลกกำลังพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อค้นหาพี่น้องของดวงอาทิตย์ที่มีเป็นพัน ๆ ดวงแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่แล้วในเดือน พฤษภาคม ปี 2014 นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวดวงหนึ่งที่มีสถานะเป็นน้องของดวงอาทิตย์ดาวแรก และค้นพบอีกดาวในเวลาต่อมา ดาวดวงนั่นคือดาวอะไร?
พี่น้องของดวงอาทิตย์ คือ อะไร?
ดวงอาทิตย์ ศูนย์กลางของระบบสุริยะซึ่งเป็นที่เอื้ออำนวยแก่สิ่งมีชีวิตบนโลก ถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 4.6 พันล้านปีก่อนพร้อม ๆ กับดาวฤกษ์ดวงอื่นอีกนับพันดวง ดาวฤกษ์ที่เกิดพร้อมกับดวงอาทิตย์ และเกิดในกลุ่มเมฆแก๊สเดียวกัน คือ พี่น้องของดวงอาทิตย์ (Solar Sibling)
เมื่อเวลาผ่านไปกระจุกดาว หรือ Cluster ที่ดวงอาทิตย์อยู่ร่วมกับดาวพี่น้องของมันแตกกระจายไปทั่วกาแลกซี่ทางช้างเผือก ในปัจจุบันแม้เทคโนโลยีการสำรวจดาวจะก้าวหน้ามากแต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าพี่น้องของดวงอาทิตย์อยู่ที่ไหนกันแน่ (สงสารดวงอาทิตย์)
การศึกษาดาวพี่น้องของดวงอาทิตย์จะช่วยให้เราสามารถรู้ได้ว่าก่อนหน้านี้ดวงอาทิตย์ถือกำเนิดที่ตำแหน่งไหนในกาแลกซี่ทางช้างเผือก และเรามาอยู่จุด ๆ นี้ของกาแลกซี่ทางช้างเผือกได้อย่างไร แม้ว่าพี่น้องของดวงอาทิตย์นั้นจะกระจายไปทั่วกาแลกซี่แล้ว แต่เรายังทราบว่าพี่น้องของดวงอาทิตย์นั้นจะมีส่วนประกอบภายในตัวมันเองเหมือนกับดวงอาทิตย์ เพราะมันเกิดมากจากกลุ่มเมฆแก๊สเดียวกันในเวลาใกล้เคียงกัน
การค้นหาดาวพี่น้องของดวงอาทิตย์ยังมีส่วนช่วยในการตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก (Extraterrestrial Life) และ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิต (Habitable Exoplanet) เช่น Kepler-186f ที่ถูกจัดให้เป็น Habitable Exoplanet ค้นพบโดยกล้องเคปเลอร์ (สามารถอ่านเรื่องราวของกล้องเคปเลอร์ได้ ที่นี้) เพราะดาวฤกษ์เหล่านั้นอาจมีคุณสมบัติที่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิตเหมือนกับดวงอาทิตย์
ความพยายามในการค้นหาดาวพี่น้องของดวงอาทิตย์
ดาวพี่น้องของดวงอาทิตย์มีส่วนประกอบภายในดาวเหมือนกับดวงอาทิตย์ และเราก็ทราบส่วนประกอบภายในดวงอาทิตย์ ทำให้เราสามารถหาดาวฤกษ์ที่มีลักษณะเหมือนดวงอาทิตย์ได้โดยการเปรียบเทียบส่วนประกอบของดาวกับดวงอาทิตย์
นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ HARPS (High Accuracy Radial Velocity Planet Searcher) ของหอดูดาว ESO ที่มีกล้องโทรทรรศน์ขนาด 3.6 เมตรอยู่ด้วย เพื่อใช้ในการตรวจจับสเปกตรัมหาดาวฤกษ์ที่มีส่วนประกอบภายในดาวเหมือนกับดวงอาทิตย์ แล้วนำมาศึกษาหาอายุ และ การเคลื่อนที่ของดาว แต่ดาวที่ใช้ในการศึกษามีน้อยเกินไปบวกกับขีดจำกัดทางด้านเคมีของกล้อง จึงทำให้วิธีนี้ไม่ค่อยจะได้ผลดีสักเท่าไร
จากความร่วมมือของ ESO (European Southern Observatory) และ OCA (Observatoire de la Cote d’Azur) หอดูดาวของประเทศฝรั่งเศษ ร่วมมือกันสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของสเปกตรัมของแสงจากดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ เพื่อใช้สเปกตรัมที่ตรวจจับได้ศึกษาส่วนประกอบทางเคมีของดาวฤกษ์ โดยฐานข้อมูลนี้มีชื่อว่า AMBRE
AMBRE Database หรือ ฐานข้อมูล AMBRE รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลย่อยต่าง ๆ มากมาย รวมถึงฐานข้อมูลของ ESO ด้วย เช่น ฐานข้อมูลจากกล้อง FEROS (Fiber-fed Extended Range Optical Spectograph) ของ ESO ที่ตรวจจับคลื่นที่มีความยาวคลื่นระหว่าง 350 – 920 นาโนเมตร, กล้อง HARPS (High Accuracy Radial Velocity Planet Searcher) ของ ESO, กล้อง UVES ของ ESO ที่ตรวจจับคลื่นที่มีความยาวระหว่าง 300 – 500 นาโนเมตร และ 420 – 1100 นาโนเมตร, กล้อง FLAMES (Fibre Large Array Multi Element Spectograph) ของ ESO ที่ตรวจจับคลื่นที่มีความยาวระหว่าง 370 – 950 นาโนเมตร
รวม ๆ แล้วฐานข้อมูล AMBRE มีข้อมูลสเปกตรัมของดาวประมาณ 17,000 ดาวเลยทีเดียว และมี 55 ดาวที่ถูกวิเคราะห์โดยละเอียดแล้วพบว่ามีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์จึงนำมาเปรียบเทียบคุณสมบัติความเป็นโลหะของดาวทั้ง 55 ดาวเพื่อตรวจสอบว่าดาวมีคุณสมบัติความเป็นโลหะเหมือนกับดวงอาทิตย์จริงรึปล่าว (วะ) และพบว่ามีแค่ 12 ดาวที่มีคุณสมบัติเหมือนกับดวงอาทิตย์จริง ๆ
นักดาราศาสตร์นำดาว 12 ดาว ไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลภารกิจ Gaia ของ ESO (ESO’s Gaia Mission) ที่สำรวจ และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่ง และการเคลื่อนที่ของดาว
ในเดือน พฤษภาคม ปี 2014 นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวที่มีคุณสมบัติเหมือนกับดวงอาทิตย์ทางกายภาพ และ ถือกำเนิดใน Cluster เดียวกับดวงอาทิตย์ ทำให้ดาวดวงนี้เป็นทั้งดาวพี่น้อง และ ดาวฝาแฝด ของดวงอาทิตย์ ดาวนี้ชื่อว่า HD 186302 และยังมีอีกดาวที่ถูกค้นพบก่อนหน้านึ้ชื่อ HD 162826
ดาว HD 162826
ดาว HD 162826 ถือเป็นดาวพี่น้องของดวงอาทิตย์ดาวแรกที่ถูกค้นพบ ถูกจัดเป็นดาวน้องของดวงอาทิตย์ เป็นดาวในระดับหลักชนิด F (F-type Main sequence star) อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 110 ปีแสง หรือ ประมาณ 34 พาร์เซก ความส่องสว่างปรากฏเท่ากับ 6.46 อยู่ในกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีสใกล้กับดาว Vega มีอุณหภูมิประมาณ 6,210 เคลวิน ซึ่งใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ที่ 5,778 เคลวิน มีอายุราว 4.5 พันล้านปี ซึ่งใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ที่ 4.6 พันล้านปี เช่นกัน มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 15% และมีเหล็กมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 3% ถูกประกาศให้เป็นดาวพี่น้องของดวงอาทิตย์ในเดือน พฤษภาคม ปี 2014
ดาว HD 186302
ดาว HD 186302 ถือเป็นดาวดวงที่สองที่เป็นดาวพี่น้องของดวงอาทิตย์ จัดเป็นดาวน้องของดวงอาทิตย์ดาวที่สอง จัดเป็นดาวในระดับหลักชนิด G (G-type Main sequence star) เหมือนดวงอาทิตย์ อยู่ห่างจากโลกไปประมาน 184 ปีแสง หรือ ประมาณ 56 พาร์เซก มีอุณหภูมิ, ขนาด และ มวล ใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ จึงถูกจัดให้เป็นทั้งดาวพี่น้องของดวงอาทิตย์ และ ดาวฝาแฝดของดวงอาทิตย์
ดาวพี่น้อง กับ ดาวฝาแฝด ไม่เหมือนกันนะ
ดาวพี่น้อง (Solar Sibling) กับ ดาวฝาแฝด (Solar Twin) ไม่ได้มีความหมายเหมือนกัน ดาวพี่น้อง คือ ดาวที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ และเกิดในกลุ่มเมฆแก๊ส และ Cluster เดียวกัน แต่ดาวฝาแฝด คือ ดาวที่มีคุณสมบัติทางกายภาพเหมือนกับดวงอาทิตย์เช่น อุณหภูมิ, แรงโน้มถ่วงพื้นผิว และคุณสมบัติความเป็นโลหะ
ตอนที่ดวงอาทิตย์ของเราเกิดมา มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเดี่ยว ๆ แต่มาพร้อมกับพี่น้องมากมายนักวิทยาศาสตร์กำลังช่วยกันตามหาพี่น้องที่พลัดพรากกันข้ามจักรวาล สุดท้ายนี้ก็อย่าลืมส่งกำลังใจให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกในการค้นหาพี่ของดวงอาทิตย์กันด้วยนะครับ ~
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง
ESOblog | Missing Solar Siblings