Starliner กับปัญหาแก๊สรั่วบนสถานีอวกาศ ทำไมยังไม่กลับบ้าน

หลังจากการเลื่อนการปล่อยมาอย่างยาวนานจากหลากหลายปัญหา ในที่สุด ยาน Starliner ก็ได้พา Butch และ Suni เดินทางสู่อวกาศสำเร็จ ในวันที่ 5 มิถุนายน 2024 สำเร็จ ตามมาด้วยการเดินทางเทียบท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติใน Docking Port ฝั่งหน้าสุดของสถานีฯ เมื่อเวลา 17:34 UTC ของวันที่ 6 มิถุนายน 2024 ซึ่งแต่เดิม NASA มีกำหนดให้ยาน Starliner อยู่บนสถานีอวกาศเป็นเวลาประมาณ 8 วัน ก่อนที่จะกลับมาลงจอดยังบริเวณ White Sands Missile Range พา Butch Wilmore และ Suni Williams เดินทางกลับบ้าน

ในการเลื่อนการปล่อยครั้งแรกนั้น ทีมงานสเปซทีเอช ก็ได้เดินทางไปรายงานสด ณ ฐานปล่อย และเก็บบรรยากาศมาฝากในบทความ สรุปบรรยากาศทดสอบ CFT-1 ยาน Starliner และการเลื่อนปล่อย

นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติปัจจุบัน ถ่ายภาพร่วมกัน ที่มา – NASA Johnson Space Center

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน NASA ได้ออกมาประกาศว่า ภารกิจ Crew Flight Test ของ Starliner จะถูกเลื่อนกำหนดกลับบ้านออกไป เพื่อทำความเข้าใจปัญหาฮีเลียมรั่วไหล ซึ่งเกิดขึ้นกับยาน Starliner ตั้งแต่ Starliner ยังไม่ถูกปล่อยออกจากพื้นโลก โดยการเลื่อนนั้นดำเนินมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่วันที่ 18, 22 และ 26 มิถุนายน ตามลำดับ จนท้ายที่สุด ทั้ง NASA และ Boeing ได้ประกาศออกมาว่า การกลับบ้านของ Starliner ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกระทั่งเกิดกระแสด้านลบว่า ทั้ง Butch และ Suni ติดอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ไปจนถึงประเด็นคำถามว่า NASA มีแผนที่จะใช้ยาน Dragon เป็นยานกู้ภัยที่จะพา Butch และ Suni เดินทางกลับโลกแทนหรือไม่ ซึ่ง Steve Stich หัวหน้าโครงการ Commercial Crew ของ NASA ก็ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีแผนกู้ภัยดังกล่าว และยืนยันว่า Starliner จะพานักบินทั้งสองกลับบ้านได้ และการอยู่บนสถานีอวกาศนานขึ้นก็อยู่ในแผนเพื่อให้มีระยะเวลาในการทำความเข้าใจปัญหาบน Starliner มากขึ้น เนื่องจากภารกิจนี้จริง ๆ มันก็คือภารกิจ “ทดสอบ” นั่นเอง

Starliner ถ่ายจากยาน Dragon บนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – NASA Johnson Space Center

การแถลงข่าวของ NASA แต่ละครั้งนั้น ล้วนเป็นการตอกย้ำความมั่นใจว่า NASA และ Boeing จะทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยตัวละครหลักที่เราจะเห็นในการแถลงข่าว ก็คือ Steve Stich จาก NASA และ Mark Nappi หัวหน้าโครงการจากฝั่ง Boeing

วันที่ 28 มิถุนายน NASA ได้แถลงออกมาว่า การทดสอบอาจกิจระยะเวลายาวนานถึง 45 วัน ใน NASA, Boeing Discuss Ground Testing, Starliner Timeline

ใน การแถลงข่าวครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2024 (32 วัน หลังจากการเชื่อมต่อกับสถานี) ย้ำว่า ยังไม่มีเหตุผลใดที่จะนำเอา Butch และ Suni กลับลงมากับยานลำอื่น และตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ Thruster ของยาน

Starliner เจอปัญหาอะไรกันแน่ ทำไมยังไม่ได้กลับบ้าน

ก่อนอื่น เราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า Starliner นั้นเกิดปัญหาอะไรกันแน่ อย่างแรกก็คือเรามาทำความเข้าใจโครงสร้างของ Starliner กันก่อน Starliner ประกอบไปด้วยสองส่วนหลัก ๆ ได้แก่ Crew Capsule ที่เป็นที่อยู่ของนักบินอวกาศและ Service Module ซึ่งเป็นบริเวณของถังเชื้อเพลิง ระบบขับดัน เครื่องยนต์ต่าง ๆ ซึ่ง Crew Capsule นั้น สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ Starliner ที่ใช้ในภารกิจ Crew Flight Test ก็เป็นการรียูสจากภารกิจ Orbital Flight Test 1 ในปี 2019 ซึ่ง Capsule ลำนี้ถูกตั้งชื่อว่า Calypso ในขณะที่ Service Module จะไม่ได้มีการนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะจะถูกดีดออก (Jettison) และทิ้งให้เผาไหม้ในบรรยากาศของโลก

Boeing นั้น พบปัญหาในทำนองเดียวกันใน Service Module ตั้งแต่ภารกิจ OFT-1 ในปี 2019 และ OFT-2 ในปี 2022 ซึ่งตอนนั้นเราได้เล่ารายละเอียดไว้ในบทความ Starliner ยานอวกาศลำใหม่ความหวังของ Boeing และโลกทุนนิยม ในเที่ยวบินแรก และ OTF-2 ภารกิจทดสอบ CST-100 Starliner ของแมวเก้าชีวิตอย่าง Boeing โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น จะเกี่ยวกับระบบ Thruster หรือเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่ใช้ในการพายานเดินทางในวงโคจรของโลกหลังจากปลดออกจากจรวด Centaur ท่อนที่สอง ในครั้งแรก Starliner หลงทางในอวกาศจนทำให้ Orbital Maneuvering Engine Thruster สั่งติดเครื่องเกินกว่าความจำเป็น จนไม่สามารถเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานชาติได้ ในขณะที่การทดสอบครั้งที่สอง Starliner เดินทางไปถึงสถานีฯ ได้ก็จริง แต่เครื่องยนต์ก็ดันพังไปถึง 2 ตัว จนต้องใช้เครื่องยนต์สำรองในการลากเอาตัว Starliner ไปจนถึงสถานีจนได้

ระบบเครื่องยนต์ของ Starliner นั้นมีทั้งหมด 4 แบบ แต่ละแบบได้แก่ Crew Module Engine สำหรับใช้ในการบังคับตัวยานให้ทรงตัวได้ขณะกลับสู่บรรยากาศ, Orbital Manuvering Engine เอาไว้ใช้สำหรับเดินทาง เพิ่มลดวงโคจร มีทั้งหมด 20 ตัว, Reaction Control SYstem ไว้ใช้สำหรับการบังคับทิศทางการหันของยาน และการทำ Docking และสุดท้ายคือเครื่องยนต์ 4 ตัวที่ใหญ่ที่สุด เอาไว้ใช้สำหรับการทำ Launch Abort (ดีดตัวฉุกเฉินจากจรวด) เท่านั้น จะเห็นว่าจำนวนเครื่องยนต์ โคตรเยอะ ไม่แปลกใจที่ระบบภายในของ Service Module ของ Starliner จะซับซ้อนมาก

ภาพแสดงเครื่องยนต์แต่ละหน้าที่ของยาน Starliner ที่มา – L3Harris Technologies

พอเป็นแบบนี้ ปัญหาที่เกิดกับ Starliner ในเที่ยวบิน CFT-1 เราก็เลยต้องไปโฟกัสกับตัว Service Module แทนที่ตัว Capsule เนืองจากที่ผ่านมา Capsule เองก็ยังไม่ได้มีปัญหาอะไร การนำกลับมาใช้ซ้ำจึงยังไม่เป็นปัญหาสำหรับ Boeing

ในการทดสอบ Crew Flight Test นั้นวิศวกรได้ตรวจพบปัญหาเกี่ยวกับวาล์วฮีเลียม ซึ่งเกิดการรั่วไหล แต่ยังคงดำเนินการปล่อยต่อไปเนื่องจากได้ประเมินออกมาแล้วพบว่าฮีเลียมที่รั่วไหล ไม่ได้ส่งผลต่อตัวยาน Starliner และความปลอดภัยของนักบินอวกาศ แม้จะมีการเลื่อนการปล่อยถึง 2 ครั้ง แต่การเลื่อนนั้นก็เกิดจากตัวจรวด ไม่ได้จากตัวยานอวกาศ​ (แม้ Boeing จะใช้เวลาบางส่วน ศึกษาปัญหาฮีเลียมรั่วไหลด้วยเช่นกัน)

จนกระทั้ง Starliner บินขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 5 มิถุนายน ได้มีการตรวจสอบอีกครั้งพบว่า Starliner มีการรั่วไหลของฮีเลียมเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการแก้ปัญหาด้วยการ ปิดทางเดินของระบบฮีเลียม ที่ใช้กับระบบ Reaction Control System หรือ RCS ซึ่งส่งผลให้เครื่องยนต์​ 6 ตัวจาก 28 ตัว ไม่สามารถใช้งานได้ (แต่ไม่ส่งผลต่อภารกิจ) และเปิดใช้งานทางเดินดังกล่าวในขณะ Docking และปิดกลับไปเหมือนเดิม เพื่อลดอัตราการรั่วไหล

Butch และ Suni ติดสติกเกอร์ลงบนผนังสถานีฯ เป็นธรรมเนียม ที่มา – NASA Johnson Space Center

Starliner เจอปัญหาอีกเล็กน้อยระหว่างการ Docking จนทำให้เชื่อมต่อกับตัวสถานีล่าช้าไปประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ก็สามารถเชื่อมต่อได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี หลังจากการเชื่อมต่อ Starliner ก็เจอจุดรั่วไหลของฮีเลียมจุดใหม่ ซึ่งทำให้ NASA และ Boeing ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม

NASA นั้นคอยรายงานความเป็นไปของ Starliner อยู่เรื่อย ๆ ในเว็บไซต์ NASA Crew Flight Test Mission Blog

คำถามที่หลายคนอาจจะสงสัยก็คือ แล้ว Butch กับ Suni จะรู้สึกยังไง เมื่อต้องอยู่บนอวกาศนานขึ้นกว่าเดิม อันนี้ก็ต้องบอกว่า ในภารกิจลักษณะนี้ นักบินอวกาศและ NASA จะมีการเตรียมพร้อมสำหรับการอยู่ยาวอยู่แล้ว ทั้งเรื่องของอาหาร, เครื่องใช้ ดังนั้น ในทางภารกิจก็ไม่ได้กระทบมาก ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าทั้งงสอง “ติดอยู่” บนสถานีอวกาศนานาชาติ อาจจะแค่ยังไม่ได้กลับบ้านเท่านั้น (ฮา) เพราะถ้า Starliner จะ Undock กลับมาเลย NASA ในการแถลงข่าวก็ได้พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าสามารถทำได้

โดยในระหว่างที่ Butch และ Suni อยู่บนสถานี ทั้งสองก็ได้ทำทั้งการทดสอบยาน ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และคอนเทนต์ต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะ คลิปพาทัวร์ยาน Starliner ที่อัพขึ้นบน YouTube ที่ให้ได้ชมกันเพียงไม่กี่วันหลังจากการเชื่อมต่อ และที่สำคัญก็คือ ตอนที่ NASA แจ้งข่าวขยะอวกาศที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา จนทำให้นักบินอวกาศบนสถานี ต้องเข้าหลบภัยในยานอวกาศที่พร้อมจะเดินทางกลับโลก Starliner ก็เป็นหนึ่งในยานหลบภัยในตอนนั้นเช่นกัน และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ Starliner นั้นเป็นฮีโร่ ในการนำเอาอะไหล่สำหรับปั๊มน้ำที่ใช้ในระบบกรองน้ำเสียของตัวสถานี ขึ้นไปแทนชิ้นส่วนเดิมที่เสียได้อย่างทันเวลาพอดีด้วย

Butch และ Suni ขณะช่วยซ่อมระบบกรองน้ำของห้องน้ำตัวสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – NASA Johnson Space Center

แม้ ณ วันนี้เราจะยังตอบไม่ได้ว่า Starliner จะกลับมาเมื่อไหร่ ก็ยังไงก็ไม่น่าจะเกิดกำหนดการบินของภารกิจ Crew-9 ของ SpaceX ที่จะส่งนักบินอวกาศเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ซึ่งก็จะต้องใช้ Port เชื่อมต่อกับสถานี ดังนั้น Starliner เองก็น่าจะต้อง Undock ออกมา เพื่อให้ยาน Dragon เชื่อมต่อได้

อนาคตของ Starliner และการเลื่อนจะมีหรือไม่

การทดสอบทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ยาน CST-100 Starliner นั้น ได้รับ Certificate สำหรับการบินส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่ง NASA ก็ได้วางแผนสำหรับเที่ยวบิน Starliner 1 ไว้แล้วว่าน่าจะอยู่ในช่วงต้นปี 2025 และจะนำส่งนักบินอวกาศ Scott Tingle, Michael Fincke จาก NASA, Joshua Kutryk จาก CSA และ Kimiya Yui จาก JAXA เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ

ก็ต้องมารอดูว่าจากการตรวจสอบและประเมินทั้งหมด Starliner จะได้รับ Certificate จาก NASA หรือไม่ หากไม่ Boeing ก็จำเป็นที่จะทำทำ Crew Flight Test อีกครั้ง เหมือนกับที่ Orbital Flight Test ต้องเกิดขึ้นสองครั้ง เนื่องจากครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.