Space Economy เร็วไปหรือเปล่า? หลายคนอาจจะสงสัยเมื่อรู้ว่า NIA ได้จัดทำโครงการ Space Economy Lifting Off 2021 เพื่อปั้นผู้ประกอบการด้านอวกาศรุ่นใหม่ แต่จริง ๆ แล้ว ปัจจุบันในไทยก็มีบริษัทอวกาศต่าง ๆ เกิดขึ้นแล้วมากมายในช่วงปี 2018-2020 ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าพวกเขาเหล่านี้เห็น Weak-signal อะไรบางอย่างในวงการอวกาศโลก และมองเห็นเป้าหมายของภาครัฐว่าซักวันหนึ่งอวกาศจะต้องมา
วันนี้เพื่อเป็นการยกตัวอย่างบริษัทอวกาศในไทย เราจะลองมาดู 3 บริษัทอวกาศที่เป็นที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดตอนนี้ดู เพื่อที่ว่าเราอาจจะได้ไอเดียและเข้าใจภาพรวมของกิจการอวกาศในไทยกันมากขึ้น
NBSpace บริษัทหนึ่งเดียวเจ้าของผลงานดาวเทียม
เมื่อปี 2012 ได้เกิดโครงการสร้างดาวเทียม Cubesat ขนาด 1U ฝีมือคนไทยทั้งหมดขึ้นมาในมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (KMUTB) ในชื่อ KMUTNB Academic Challenge of Knowledge SATellite หรือ KNACKSAT โดยในเวลาต่อมาโครงการ KNACKSAT ก็ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนของ กสทช. ประมาณ 9 ล้านบาท ตัวดาวเทียมได้พัฒนาอย่างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2018 และถูกปล่อยขึ้นจากฐานทัพอากาศ Vandenberg รัฐแคลิฟอร์เนีย ขึ้นไปยัง Sun-synchronous orbit ที่ความสูงประมาณ 600 กิโลเมตรจากพื้นโลก ด้วยจรวด Falcon 9 ในภารกิจ SSO-A SmallSat Express ในวันที่ 3 ธันวาคมปีเดียวกัน
หนึ่งในจุดประสงค์หลักของโครงการ KNACKSAT ก็คือการพัฒนาตัวบุคลากรให้มีความรู้ควาสามารถในการพัฒนาดาวเทียมรวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ ถึงแม้ดาวเทียม KNACKSAT จะถูกปล่อยไปในปี 2018 แต่องค์ความรู้และทรัพยากรทั้งที่ได้จากการพัฒนาดาวเทียม และที่ใช้ในการพัฒนาดาวเทียมก็ยังคงอยู่กับ KMUTNB ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาดาวเทียมก็ยังคงวนเวียนอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัย
จนกระทั่งในปี 2020 ที่ผ่านมา KMUTNB ก็ได้ตั้งบริษัท Spin-off ขึ้นมาในชื่อ NBSpace โดยเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมเป็นหลัก ทำให้ในตอนนี้ NBSpace อาจเป็นบริษัทด้านอวกาศที่ใหม่ที่สุดในไทยในปัจจุบัน
NBSpace ซึ่งเป็น Spin-off จากมหาวิทยาลัยโดยตรง ก็เชื่อได้ว่าจะมีลักษณะการดำเนินงานที่แตกต่างกันออกไปจากอีกสองบริษัทแรก ที่เห็นได้ชัดเจนอย่างแรก คือในสามบริษัทนี้ NBSpace เป็นบริษัทเดียวที่มีบูทตั้งอยู่ภายในงานวันลงนาม Thai Space Consortium ซึ่งก็ไม่ใช่เพราะเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลมากที่สุดหรือประสบความสำเร็จมากที่สุด แต่ก็เป็นเพราะเป็นหน่วยงานที่อาจจะเรียกได้ว่าเกี่ยวข้องกับภาครัฐโดยตรงมากที่สุด
หลังจากนี้ NBSpace มีแผนที่จะทำการพัฒนาดาวเทียมดวงต่อไป ร่วมไปกับการดำเนินการเชิงธุรกิจอย่างการให้บริการและคำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับด้านอวกาศกับหน่วยงานอื่น ก็เป็นที่น่าสนใจว่าสเต็ปต่อไปของ NBSpace ที่เพิ่งก่อตั้งมาไม่นานนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
Space ZAB จาก Space Education สู่หินดวงจันทร์
Junior Science Talent Project หรือ JSTP คือโครงการของสวทช. ที่ร่วมมือกับสกว. ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้มีการจัดค่ายและกิจกรรมหลายรูปแบบขึ้นมา ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้มีกลุ่มของคนที่ได้ทำงานร่วมกันใน JSTP เกิดไอเดียที่จะตั้งแล็บขึ้นมาเพื่อสร้างโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในค่าย JSTP เท่านั้น the futuristic research cluster of Thailand หรือ FREAK Lab จึงได้ถูกก่อตั้งขึ้นที่ KMUTT และในภายหลังก็ได้มีการพัฒนาโครงการขึ้นมากมาย
ส่วน Space ZAB คือบริษัทอวกาศที่ Spin-off มาจาก FREAK Lab อีกที ที่สโคปเน้นไปทางเรื่องที่เกี่ยวกับอากาศโดยตรงเลย โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในเดือนกันยายน ปี 2017 โดยโมเดลของ Space ZAB จะเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ อย่างการวิจัยอาหารในอวกาศ การสร้าง in-house Clinostat เพื่อใช้ในการทดลองเกี่ยวกับสภาวะ microgravity หรือการสร้างหินดวงจันทร์จำลอง ร่วมไปกับการจัดเซสชั่นให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อเป้าหมายในการพัฒนา Space Economy ของไทย
ล่าสุด ดร.วเรศ จันทร์เจริญ หนึ่งในหัวหน้าทีมวิจัยหินดวงจันทร์เล่าให้เราฟังว่า ตัวหินดวงจันทร์ได้มียอดสั่งจองมาทั้งจากในไทยและต่างประเทศเพื่อไปใช้ในการทดลองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจดวงจันทร์ ทำรายได้ให้กับบริษัทจำนวนมาก
เรายังเคยร่วมทำบทความกับ Space Zab ในชื่อว่า ประเทศไทยวันนี้จะวิ่งให้ทัน Space Economy และเทคโนโลยีอวกาศอย่างไร งานวิจัยนี้มีคำตอบ เพื่อเล่ากลยุทธ์การพาประเทศไทยให้ทันการพัฒนาด้านอวกาศ
หากวิเคราะห์กันโดยเนื้อแท้ อาจพูดได้ว่า Space ZAB นั้นแตกต่างจากอีก 2 บริษัทค่อนข้างมาก คือจะเน้นมองตัวงานเป็น Cluster และ spin-off เอาเทคโนโลยีมาเป็น Product ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะ Space Zab นั้นมีพื้นฐานมาจากการทำงานวิจัยเป็นหลัก
mu Space Corp จรวด ยานอวกาศ และดาวเทียม
mu Space and Advanced Technology Co., Ltd. หรือ mu Space Corp ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีอวกาศในพื้นที่เมืองและชนบท
ในแง่ของการทำงานจริงแล้ว ในช่วงเวลาที่ผ่านมาทาง mu Space ก็ได้สร้างความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนในการส่งงานวิจัยและการทดลองต่าง ๆ ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะไร้น้ำหนักและการใช้ประโยชน์จากมัน อย่างในปีที่ผ่านมา mu Space ก็ได้จับมือกับ TOT ส่ง Device ต่าง ๆ ขึ้นไปกับภารกิจ NS-13 ของ Blue Origin เพื่อการวิจัยการพัฒนาดาวเทียมสื่อสารบน Low-Earth Orbit (LEO) ในอนาคต รวมถึงการทดลอง MESSE – Molecular Encoded Storage for Space Exploration ก็ได้เดินทางขึ้นไปกับบริษัท mu Space เช่นกัน
mu Space ได้เน้นเป้าหมายหลักของบริษัทตัวเองไปที่การสร้างระบบ Satellite-based broadband เพื่อทำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งในปี 2018 mu Space ก็ได้ซื้อ service ของ New Glenn ซึ่งจะเป็นจรวดรุ่นต่อไปของ Blue Origin ไว้ปล่อยดาวเทียม Geostationary transfer orbit (GTO) ของตัวบริษัทเองเพื่อริเริ่มพัฒนาระบบ Satellite-based broadband อย่างที่ว่า
วิธีการดำเนินงานของ mu Space จะเป็นในลักษณะของหน่วยงานที่มาจากภาคธุรกิจโดยตรงเลย ที่จะมีลักษณะของความเป็นองค์กรธุรกิจ มีแนวทางการดำเนินธุรกิจและการหารายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมอวกาศอย่างชัดเจน หากเชื่อมโยงกับบทความที่แล้วในชุดที่ได้วิเคราะห์แนวทางของธุรกิจสองรูปแบบที่อยู่ในอุตสาหกรรมอวกาศคือ
- บริษัทที่มีธุรกิจของตัวเองชัดเจนนอก field ด้วยอวกาศอยู่แล้ว และเข้ามาในงานอวกาศเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง
- บริษัทที่มาทำด้านอวกาศตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเน้นไปที่การ specialize ด้านอะไรก็ตาม
mu Space ก็คงจะเป็นอย่างหลัง ที่ริเริ่มคอนเซปต์ของบริษัทมาจากงานด้านอวกาศโดยตรง โดยเน้นไปที่การสื่อสารโทรคมนาคม โดยมี approach ต่าง ๆ ในการบรรลุเป้าหมายของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับภาครัฐหรือเอกชนในการศึกษา วิจัย หรือสร้างโปรเจกต์ ไปจนถึงการพัฒนา in-house technology ของตัวเอง
Space Economy Lifting Off 2021 ที่จะช่วยให้เราเข้าใจก้าวสำคัญเมื่ออวกาศกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตและธุรกิจ
หากต้องการเข้าใจขนาดของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เราอยากชวนผู้ประกอบการ Startup นักวิจัย หรือ ผู้ที่มีเทคโนโลยีแต่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเข้าร่วมในการสำรวจอวกาศได้อย่างไร เข้าร่วมงาน Open House Space Economy : Lifting Off 2021 ในวันพฤหัสที่ 22 เมษายน 2564 เวลา 13:00-15:30 น. ทำความรู้จักโครงการ เข้าใจโจทย์ของอุตสาหกรรมอวกาศ ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี Deep Tech ที่เป็นที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็น Upstream, Downstream และเทคโนโลยีอื่นๆ
โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมผ่าน Zoom ได้ที่ https://forms.gle/5mtDyZ9nsgp2BDoPA
โครงการ Space Economy Lifting Off 2021เป็นโครงการที่สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ริเริ่มร่วมกับโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย และพัฒนาบุคลากรของประเทศให้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงผลักดันให้เกิดการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศไปพัฒนาประเทศ โดยดำเนินการบ่มเพาะ Startup ที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านเศรษฐกิจอวกาศ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของ Startup ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อนำออกสู่ตลาดและสามารถขยายผลธุรกิจในประเทศไทยระดับสากล
สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://nia.or.th/spaceeconomy ซึ่งทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ตั้งแต่
- Startup ผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
- นักวิจัย งานวิจัยวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในการผลักดันและต่อยอดให้เกิดธุรกิจ
- ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีที่มีความสนใจนำเทคโนโลยีมาต่อยอด เพื่อโอกาสทางธุรกิจ
สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคมนี้
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co