จาก ข่าวล่าสุด ที่พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหมได้ออกมาโต้ข่าวลือจาก “ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่รอบรู้ไปเสียทุกเรื่อง” ว่าพวกเขาไม่ได้มีโครงการจะทำดาวเทียมสอดแนม วันนี้ทีมงาน SPACETH.CO ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เชียวชาญด้านกฏหมายแต่เป็นเพียงผู้สนใจและศึกษาด้านอวกาศ จะพาทุกท่านไปดูกันว่าโครงการที่กระทรวงกลาโหมจะทำนั้นคืออะไร เราควรกังวลหรือไม่อย่างไร
หลังจากที่ประวิตร ได้โชว์วิสัยทัศน์ กลาโหมยุค”บิ๊กป้อม”เตรียมออกนอกอวกาศขยับดัน”ดาวเทียมทหาร”อ้างเพื่อความมั่นคง ก็มีข่าวเด็ด ๆ ออกมาไม่เว้นแต่ละวันและที่เป็นที่พูดถึง ณ ตอนนี้ก็คือโครงการดาวเทียมสอดแนม
สรุปแล้วกระทรวงกำลังจะทำอะไร
วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีข่าวออกมาว่า “จะมีการนำเสนอแนวความคิดด้านกิจการอวกาศ ของกระทรวงกลาโหม เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2561-2570 โดยมีเป้าหมายให้ กระทรวงกลาโหม จะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการใช้เทคโนโลยีอวกาศด้านความมั่นคงของประเทศโดยตรง มิใช่เพียงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับหน่วยงานอื่นเท่านั้นทั้งนี้ วิสัยทัศน์กระทรวงกลาโหม เป็นองค์กรหลักด้านกิจการอวกาศ ที่มีศักยภาพใน การเตรียมกำลัง ผนึกกำลัง และพัฒนาด้านกิจการอวกาศ เพื่อการป้องกันประเทศ”
ซึ่งมันประจวบเหมาะกับการที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะทำงานในคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ได้เดินทางไปรับฟังบรรยายจาก THEIA GROUP เกี่ยวกับโครงการ Thailand Satellites Data Information Processing Center ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา และอีกครั้งในเดือนเมษายนที่คุณ Ronald Fogleman ประธานบริษัท THEIA GROUP เดินทางมาไทย ซึ่งเป้าหมายหลักของดาวเทียมนั้นก็คือเสริมสร้างศักยภาพด้านข้อมูลดิจิตัลในทุกมิติให้กับประเทศไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล
และจากข้อมูลล่าสุดที่เรามีอยู่ตอนนี้ ดาวเทียมทั้ง 112 ดวงจะมีสนนราคาอยู่ที่ประมาณ 91.2 พันล้านบาท โดยสำหรับบริษัท THEIA GROUP นั้นพวกเขาเป็นบริษัททำเทคโนโลยี Stealth หรือล่องหนที่ลึกลับจนเราแทบไม่พบข้อมูลเลย (ฮา) นอกจากว่ามันอยู่ในฟิลาเดเฟีย สหรัฐอเมริกา กับชื่อท่านประธานที่ได้มาจากรายงานของไทย
เราสามารถอ่านข่าวที่เกี่ยวข้องได้ที่ รองนายกรัฐมนตรี หารือเรื่องการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม กับหน่วยงานต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา
แล้วสรุป THEIA คือใคร
เราอาจจะรู้จัก Boeing, SpaceX, Space System Lorel, Lockheed Marin ซึ่งเป็นบริษัทด้านอวกาศชื่อก้องโลก ใคร ๆ ก็รู้จัก แต่เมื่อพูดถึง THEIA คำถามเลยก็คือ มันคือบริษัทอะไร จากที่ได้ลองศึกษาข้อมูลจาก cbinsights บริษัท THEIA ไม่มีข้อมูลด้านการนักลงทุน ไม่มีข้อมูลผู้ถือหุ้น รู้แค่ชื่อที่อยู่และก่อตั้งในปี 2015 เท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ THEIA เป็นบริษัททำดาวเทียมที่มีรายชื่ออยู่ร่วมกับบริษัทอื่น ๆ รวมถึง SpaceX ในการยื่นจดทะเบียนเพื่อส่งดาวเทียมแบบ Low Earth Constellation หรือโครงข่ายสื่อสารบนวงโคจรต่ำของโลก ในปี 2016 ที่ผ่านมา จำนวน 112 ดวง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตรงกับที่ออกมาเป๊ะเลย ข้อมูลนี้มาจากเว็บไซต์ Parabolic เว็บด้านการสำรวจอวกาศที่ละเอียดมาก ๆ เว็บนึง
นั่นหมายความว่า THEIA นั้น ณ ปัจจุบันไม่มีประสบการณ์ที่เห็นได้ชัด และยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก FAA ให้ส่งอะไรขึ้นไปบนอวกาศด้วยซ้ำ ยังไม่นับเทคโนโลยีดาวเทียมที่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นดาวเทียมแบบไหน อะไรยังไง งงไปหมดแล้ว และต่อให้ FAA อนุมัติ ถ้านับว่าตอนนี้ THEIA มีดาวเทียมอยู่ 0 ดวง กว่าจะสร้าง Constellation ได้ครบตามที่บอก อาจจะต้องใช้เวลานานตั้งแต่ 3-10 ปี ยังไม่นับประสบการณ์ที่จะต้องตามบริษัทใหญ่ ๆ ระดับโลกให้ทัน
ก็ถามตัวเองดูละกันว่าการเอาเงินเก้าหมื่นล้านไปทุ่มกับบริษัทที่ไม่มีบทบาทและเป็นเด็กหัดเดินในวงการอวกาศที่แข่งกันจะไปดาวอังคารแล้วมันคุ้มค่าหรือไม่
แล้วมันสอดแนมจริงเหรอ
จากสเปคของมันที่ว่าสามารถถ่ายรูปได้ที่ความละเอียด 0.5 เมตรทุก ๆ วินาทีนั้น มันคือนิยามของดาวเทียม Earth observation ที่โคจรอยู่ใน Low Earth Orbit (ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือแบบเดียวกันกับที่ใช้ใน Google Maps นั่นแหละ) ขนาดหน้าเว็บของ THEIA ยังบอกเองว่าดาวเทียมชุด THEIA นั้นเป็นดาวเทียมแบบ Communication ที่สามารถถ่ายรูปโลกได้
Digital Globe บริษัทดาวเทียมยักษ์ใหญ่ หนึ่งในผู้ถ่ายรูปโลกให้กับ Google มีเทคโนโลยีล่าสุดที่เรียกว่า 30cm คือภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดสูงมาก ซึ่งแน่นอนว่าราคาก็แพงมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน แต่ก็นับว่าสุดยอดที่สุดแล้วสำหรับดาวเทียมใช้งานในเชิงพานิชย์ไม่ใช่ด้านการทหาร
สรุปชัด ๆ ตรงนี้ก็คือ เราจะไม่ได้ดาวเทียมสอดแนมมาสอดส่องคนในประเทศกันแน่ เพราะคุณภาพมันยังแอบห่วยกว่าภาพที่ Google เอามาใช้เลยด้วยซ้ำ แม้ว่าอาจจะมีข้ออ้างว่า ก็ถ่ายรูปซ้ำได้ทุก 1 นาทีทำให้ได้ภาพสด ๆ ณ ตอนนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ก็มีบริษัทหลายบริษัทที่ทำภาพถ่ายดาวเทียมแนวนี้อยู่แล้ว
ไม่ต้องมีดาวเทียมเองแต่ต้องฉลาด
ยกตัวอย่างบริษัทดาวเทียมที่เน้นการถ่ายภาพบนพื้นโลก ด้วย Low Earth Constellation เช่น Planet Lab มีดาวเทียมขนาดเล็กนับร้อยดวงที่ถูกส่งขึ้นไป สามารถถ่ายภาพโลกได้อย่างชัดเจน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการทำงานในอุตสาหกรรมจะต้องมีดาวเทียมเป็นของตัวเองเสมอไป ยกตัวอย่างบริษัทที่ไม่จำเป็นต้องสร้างและพัฒนาดาวเทียมเอง แต่จะใช้ลักษณะการดีล และซื้อบริการจากบริษัทดาวเทียมอื่นและเน้นทำงานที่เกี่ยวกับภาพถ่ายดาวเทียม เช่น การนำมาทำ Analysis การทำ Data Science อย่าง UretheCast
UretheCast อาศัยการแข่งขันของบรรดา startup ด้านอวกาศ และใช้ตรงนี้ในการเป็นบุคคลกลาง ทำให้บริษัทดาวเทียมด้านเทคโนโลยีได้ไปโฟกัสกับตัวดาวเทียม ทำให้ได้ภาพออกมาดีและสมบูรณ์ที่สุด เรื่องของการขายนั้นเขาจะจัดดีลให้ได้ราคาที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ
ในช่วงยุคแรกเริ่มดาวเทียมที่มีกล้องนั้นถูกนับว่าเป็นดาวเทียมสอดแนม เนื่องจากวัตถุประสงค์มันคือการถ่ายภาพจากอวกาศ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการทหาร น่าจะทราบกันดีว่าเทคโนโลยีอวกาศเกิดขึ้นมาจากสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ไม่ปฏิเสธว่าการมองโลกผ่านอวกาศเป็นสุดยอดแห่งการทำสงคราม เมื่อ 50 ปีที่แล้ว โซเวียตถึงขนาดมีโครงการสถานีอวกาศที่ทำเพื่อสอดแนมโดยเฉพาะ (สามารถไปศึกษาต่อได้ ชื่อโครงการว่า Almaz) แต่ ณ ตอนนี้ อาจจะต้องลองย้อนคิดดูซักนิดว่าทุกวันนี้ เราแข่งกันด้านอวกาศเรากำลังแข่งอะไรกัน ? เหมือน 50 ปีก่อนหรือเปล่า
เรือดำน้ำก็แล้ว ยังจะมีดาวเทียมอีก
ผู้เขียนขอยก 2 ประเด็นหลัก ๆ มาใช้ประกอบการแสดงความเห็นในเรื่องนี้
- ข้อแรก เรือดำน้ำ 3 ลำมีราคา 36 พันล้านบาท ดังนั้นดาวเทียมมีราคาแพงกว่าแน่นอน
- ข้อที่สอง ดาวเทียมพวกนี้จะมีความสามารถเพียงแค่การถ่ายภาพบนโลกเท่านั้น (และสื่อสารนิดหน่อย) ที่สำคัญคือการทำ Constellation จำนวน 112 ดวงนั้นเป็นการลงทุนที่เหมือนขนเงินสดไปเผาทิ้งในอวกาศ แบบไม่ต้องคาดหวังอะไรมาก และก็มีหลายบริษัทที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้วดังเช่นที่กล่าวไปด้านบนว่าทุกวันนี้ นิยามของการครอบครองเทคโนโลยีอวกาศได้เปลี่ยนไป
และที่สำคัญที่สุด THEIA GROUP ณ ตอนนี้ เทียบอะไรไม่ได้เลยกับ Boeing, SpaceX, DigitalGlobe, Planet, SSL, Lockheed Martin และอีกหลาย ๆ เจ้าที่เป็นบริษัททำดาวเทียมระดับโลก ถามว่าถ้าเราทุ่มเงินก้อนนี้เพื่อจะตามหลังชาวบ้านเขา 20-30 ปีแล้วมันจะคุ้มหรือไม่ ?
เงินเกือบแสนล้าน ทุ่มงบอวกาศได้มากแค่ไหน
สมมติถ้ากระทรวงเอาเงิน 91.2 พันล้านบาท (2.85 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ไปจ่ายค่าโครงการสำรวจอวกาศ พวกเขาจะได้โครงการเหล่านี้
- ค่าใช้จ่ายยาน New Horizons ที่ไปสำรวจดาวพลูโตและวัตถุ 2014 MU69 ตลอดทั้งภารกิจ (700 ล้านเหรียญสหรัฐ)
- ค่าใช้จ่ายยาน Juno ที่สำรวจดาวพฤหัสตลอดทั้งภารกิจ (1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
- ค่าใช้จ่ายโครงการมารีเนอร์ทั้ง 10 ลำตลอดทั้งภารกิจ (554 ล้านเหรียญสหรัฐ)
นอกจากจะได้ทั้งสามภารกิจข้างต้นแล้ว ถ้าคุณเพิ่มงบไปอีกประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะได้งบค่าใช้จ่ายโครงการวอยาเจอร์ตลอด 46 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 865 ล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งนั่นก็คือเราสามารถส่งยานไปสำรวจดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะได้ด้วยงบที่ใช้ซื้อ THEIA นี้ด้วยซ้ำ และการคำนวณงบข้างต้นนี้รวมค่าวิจัย ค่าดำเนินการ ค่าจัดส่งและทุกค่าใช้จ่ายตลอดภารกิจแล้ว (อย่าลืมว่า THEIA ไม่รวมค่าจัดส่ง)
สรุปแล้วเราจะได้อะไร โดนสอดแนมไหม
กระทรวงกลาโหมไม่ได้จะทำดาวเทียมสอดแนมหรือดาวเทียมทหารหรอก เพราะรุ่นที่เขาซื้อมันไม่ใช่ไง มันคือการเอาเงินไปเผากับของที่เราเชื่อว่าคนซื้อไม่ได้ศึกษา คนศึกษาไม่ได้ซื้อ
และสำหรับ THEIA กับดาวเทียม 112 นี้ แน่นอนว่าสิทธิทุกอย่างมันก็เป็นของ THEIA โดยในตอนนี้เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าเงินหลักแสนล้านนั้นจะเอาไปใช้จ่ายกับบริการดาวเทียมโดย THEIA หรือไปซื้อดาวเทียมแบบ THEIA เป๊ะ ๆ THEIA ดวงมากันแน่ ถ้าท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายมาอ่านบทวิเคราะห์นี้อยากให้ช่วยตอบคำถามให้แน่ชัดด้วย สรุปแล้วมันคือการซื้อ Service หรือ Product ?
ถ้ามันไม่ใช่ดาวเทียมสอดแนม กระทรวงต้องสามารถออกมาให้คำตอบเรื่องดาวเทียมได้ การเอางบหลักแสนล้านไปลงทุนนี้พวกเราคิดว่าประชาชนควรที่จะได้รายละเอียดที่ชัดเจนและเพียงพอต่อการตัดสินใจ ไม่งั้นก็คงห้ามไม่ให้ประชาชนคิดไม่ได้ว่า รัฐบาลรัฐประหารนี้ทำอะไรไม่คิดและไม่เคยทำอะไรที่ดูชาญฉลาดหรือมีกลยุทธ์อะไรเลย
ถ้าผู้เขียนเป็นรัฐบาล ผู้เขียนจะพยายามตอบคำถามเหล่านี้
- ได้ศึกษาโครงการดีหรือยัง และได้ศึกษาแนวโน้มพัฒนาการด้านอวกาศในโลกปัจจุบันหรือไม่
- ทำไมเลือกบริษัทโนเนม ที่ไม่มีแม้กระทั่งใบอนุญาต และไม่มีประสบการณ์กับดาวเทียมซักดวง
- สรุปแล้ว เป็นการซื้อขาด หรือ เช่า แล้วเราจะได้อะไรบ้าง หรือรู้ไหมว่าราคานี้เขาไม่ได้ขายให้นะ
- คิดว่าประเทศอื่นโดยเฉพาะที่รวยกว่าไทยอยากได้โครงการนี้ไหม และประเทศอื่นมีไหม ถ้าไม่มีทำไมเขาถึงไม่มีหรือไม่อยากได้
- เมื่อไหร่จะออกไปซักที
Disclaimer : บทความนี้ไม่ใช่ข่าว และเว็บสเปซทดอทซีโอ เป็น Media ที่เน้นใช้ความเห็นของตัวเองเข้าร่วมในการนำเสนอเนื้อหา ทั้งนี้ข้อมูลต่าง ๆ ประกอบสามารถอ้างอิงได้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เว็บไซต์มีนโนบายไม่จำเป็นต้องวางตัวเป็นกลางเมื่อไม่มีการบิดเบือนข้อมูลที่นำเสนอ
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO