จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไทยร่วมสำรวจดวงจันทร์กับทั้งสหรัฐฯ และจีน

เมื่อช่วงปลางปี 2023 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เซ็นความร่วมมือ International Lunar Research Station หรือ ILRS กับจีน โดยได้มีการจัดพิธีการเซ็น ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งทำให้ไทยมีชื่อเป็นหนึ่งในสมาชิกระดับรัฐ ในโครงการสำรวจอวกาศที่ถูกริเริ่มโดยจีนและรัสเซีย ในขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2024 ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ก็ได้ ประกาศผ่านโซเชียลมีเดีย ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเซ็น Artemis Accord ร่วมกับฝั่งสหรัฐฯ แล้ว แม้จะยังไม่ได้มีการเซ็นอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นการประกาศจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่พูดถึงการเข้าร่วม Artemis Accord

ILRS นั้นมีเนื้อหาว่าด้วยแผน Roadmap การส่งยานอวกาศสำรวจทั้งบนวงโคจรและบนพื้นผิวของดวงจันทร์ โดยปลายทางคือการตั้งสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ ในขณะที่ Artemis Accord มีเนื้อหาว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนดวงจันทร์อย่างสันติ เพื่อวิทยาศาสตร์และการวิจัย รวมถึงการปกป้องแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญ (นั่นก็คือจุดลงจอดโครงการ Apollo) ทั้งสอง แม้จะมีความแตกต่างกันในเชิงเนื้อหา แต่ในทางนโยบายทางการทูตแล้วก็เป็นการแสดงออกในการยอมรับแนวคิด และนโยบายด้านอวกาศของทั้งสองชาติมหาอำนาจ ซึ่งหากการเซ็น Artemis Accord เกิดขึ้นจริง ไทยเราจะกลายเป็นชาติแรกของโลก ที่ได้เซ็นข้อตกลงทั้งสองฉบับคู่ขนานกันไป

พิธีลงนามของประเทศอินเดีย โดยมี Bill Nelson ผู้อำนวยการ NASA และ Taranjit Sandhu เอกอักคราชทูตอินเดียเป็นตัวแทน ในปี 2023 ที่มา – NASA/Bill Ingalls

สามารถดูเนื้อหาของ Artemis Accord ทั้งหมดได้ทาง Artemis Accords Department of State และเนื้อหาแผนโครงการ ILRS ได้ทาง International Lunar Research Station (ILRS)

หากย้อนกลับไปในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ท่าทีของไทยนั้น ได้มีการแสดงออกถึงความสนใจและการเปิดรับนโยบายจากทั้งฝั่ง Artemis Accord และ ILRS เป็นอย่างดี ได้มีการจัดเวิร์คชอป การศึกษา การรับฟังข้อคิดเห็นจากทั้งหน่วยงานภาครัฐฯ เอกชน และบุคคลในแวดวงอวกาศอย่างต่อเนื่อง และการตัดสินใจเขาร่วมกับฝั่งจีนก็ได้มาชัดเจนขึ้นเมื่อทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ประกาศความร่วมมือกับ Deep Space Exploration Lab หรือ DSEL ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยภายใต้องค์การอวกาศจีน China National Space Administration หรือ CNSA ในช่วงปี 2023 และประกาศเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chang’e (ฉางเอ๋อ) ยานสำรวจดวงจันทร์ของจีน จนสุดท้ายในปี 2024 ก็ได้เกิดการเซ็นข้อตกลง ILRS ขึ้น ในระดับรัฐ ทำให้ไทยเป็นชาติที่ 9 เพิ่มเติมจาก จีน รัสเซีย เวเนซูเอลา แอฟริกาใต้ อาเซอร์ไบจาน ปากีสถาน เบรารุส และอิยิป ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีชาติอื่น ๆ เซ็นตามมาอย่าง นิการากัว เซอเบีย คาซักสถาน และเซเนกัล

พิธีลงนามของประเทศสโลวาเกีย ในปี 2024 ที่เกิดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของ NASA ในกรุงวอชิงตันดีซี ที่มา – NASA/Keegan Barber

ในขณะที่ฝั่ง Artemis Accord นั้น ณ วันที่บทความนี้ถูกเผยแพร่ มีชาติร่วมเซ็นแล้วมากกว่า 47 ชาติ ซึ่งนับรวมชาติที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space-Faring Nations) อย่างญี่ปุ่น อินเดีย แคนาดา และชาติสมาชิกองค์การอวกาศยุโรป European Space Agency หรือ ESA ด้วยเช่นกัน โดยสหรัฐฯ ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศที่เรียกว่า Department of State ก็ได้มีการจัดพิธีการเซ็นลงนามอยู่เรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่มีการเปิดเผยข้อตกลงดังกล่าว

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไทยเราเซ็นร่วมกับทั้งสองขั้วมหาอำนาจ

สำหรับทีมงานสเปซทีเอชแล้ว การเข้าร่วมเซ็นทั้งสองฝั่งนั้นไม่ได้อยู่เหนือไปกว่าความคาดหมาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งจากฝั่งของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้พูดถึงความร่วมมือทั้งสองมาโดยตลอด

และไทยเราก็ได้มีความร่วมมือกับทั้งสองฝั่งขั้วอำนาจมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว แม้สหรัฐฯ เองจะไม่ได้มีนโยบายด้านอวกาศทางตรงกับไทย เพราะมีประเทศพันธมิตรในเอเชียแปซิฟิกอย่างญี่ปุ่น ดูแลความร่วมมือกับโครงการใหญ่ ๆ อย่างโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) หรือการทำงานกันผ่านโครงการอื่น ๆ เช่น United Nations Office for Outer Space Affairs (UNOOSA) หรือถ้าในฝั่งจีนเช่น โครงการ The Asia-Pacific Space Cooperation Organization (APSCO) ทำให้ก่อนหน้านี้นักวิจัยต่าง ๆ สามารถส่งทั้งการทดลอง หรือได้รับอิทธิพลจากนโยบายในการสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาด้านอวกาศ (Space-Emerging Country)

จรวด Space Launch System ที่จะถูกใช้สำหรับการนำส่งมนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง ที่มา – NASA/Michael DeMocker

แท้จริงแล้วหากพูดกันตรง ๆ หากไม่นับการแสดงจุดยืนร่วมกับชาติมหาอำนาจ การเซ็นทั้ง ILRS และ Artemis Accord นั้นเป็นเพียงแค่การลงนามในกระดาษ หากดูจากเนื้อหาก็ไม่ได้มีการระบุว่าชาติร่วมลงนาม จะต้องพัฒนาเทคโนโลยี งานวิจัย หรือสนับสนุนกำลังสมองแต่อย่างใด แค่บอกว่า “จะทำตาม” แต่ไม่ได้บอกว่า “จะทำ” โดยเฉพาะข้อความในฝั่ง Artemis ที่พูดกว้าง ๆ ว่า จะใช้ทรัพยากรอย่างสันติ ซึ่งถ้าเราไม่ได้ไปดวงจันทร์ การไม่ไปดวงจันทร์ก็คือการใช้ทรัพยากรอย่างสันติแล้ว หรือกระทั่งในฝั่ง ILRS ที่เป็นในลักษณะบันทึกความเข้าใจ (MoU) เฉย ๆ ไม่ได้บอกว่าจะต้องทำอะไรต่อ ดังนั้นประโยชน์ที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้นหลังจากการเซ็นคือการที่ชาตินั้นมีผลงานอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจอวกาศของตัวเอง หรือการร่วมสำรวจในโครงการ อย่าง Chang’e หรือ Artemis

การร่วมพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศกับฝั่งจีนและสหรัฐฯ

ในฝั่งจีน อย่างที่เห็นกันว่า ไทยนั้นได้เข้าร่วมโครงการ Chang’e มีการพัฒนาชุดการทดลองด้านอนุภาคพลังงานสูงในอวกาศร่วมส่งไปกับยาน Chang’e 7 เพื่อโคจรรอบดวงจันทร์ และยาน Chang’e 8 ที่จะไปลงจอดบนดวงจันทร์ รวมถึงได้รับความช่วยเหลือจากจีน ในการช่วยนำส่งยานอวกาศขนาดเล็กที่ปัจจุบันทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเรียกว่า Lunar Pathfinder ไปโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งอยู่ในแผน Roadmap ของโครงการ Thai Space Consortium หรือ TSC ที่ตั้งเป้าจะส่งยานอวกาศที่พัฒนาโดยคนไทยไปโคจรรอบดวงจันทร์ ทั้งหมดนี้แสดงว่าไทยเราไม่ได้เซ็นเข้าร่วม ILRS เพื่อให้มีชื่ออย่างเดียว แต่มีการทำงานจริง ๆ ที่เกิดขึ้น ในงาน International Deep Space Exploration Conference ที่จัดขึ้นที่จีนในเดือนกันยายน ตัวแทนจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เข้าร่วมการประชุม ดร.วิภู รุโจปการ ภายหลังการนำเสนอผลงาน ได้ให้สัมภาษณ์กับ CGTN บอกว่า “เรากำลังเดินหน้าสู่ความร่วมมือที่จะพาชุดการทดลองของไทย ไปลงจอดบนผิวดวงจันทร์ นี่เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่ในแง่ของการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยอีกนับไม่ถ้วน”

ภาพแสดงความร่วมมือกับ CNSA ในงาน International Deep Space Exploration Conference ที่มา – CNSA

และล่าสุดในเดือนกันยายน 2024 เช่นกัน ไทยเรา นำโดย GISTDA และมหาวิทยาลัยมหิดล ก็เพิ่งส่งการทดลองการงอกของเมล็ดข้าว หลังจากการเดินทางในอวกาศ เดินทางไปกับภารกิจ Shijian-19 ที่ยังคงเป็นการดำเนินตามนโยบายฝั่ง APSCO อย่างต่อเนื่อง

ทางฝั่งสหรัฐฯ นั้น อย่างที่เห็นว่าไทยเราไม่ได้มีความร่วมมือทางตรงกับฝั่งสหรัฐฯ และยังไม่ได้มีนโยบายออกมาโดยตรงว่าไทยเราจะร่วมทำอะไรกับฝั่งสหรัฐฯ แต่การร่วมเซ็น Artemis Accord ก็เปิดโอกาสให้ไทยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต แม้ว่าในปัจจุบันเราจะมีผลงานร่วมกับทางฝั่งจีนมากกว่าอยู่

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลกับทีมงานสเปซทีเอชว่า ในการทำงานร่วมกับฝั่งจีนและสหรัฐฯ จำเป็นจะต้องทำอย่างรอบคอบ และรักษาข้อมูลความลับให้แก่ชาติมหาอำนาจ เจ้าหน้าที่จะต้องมีการแบ่งทีมทำงานกันอย่างชัดเจน ทั้งในทางการทำงานและในทางห้องปฏิบัติการ แม้กระทั่งระบบเน็ตเวิร์คที่ใช้ก็จะต้องแยกกันต่างหาก ดังนั้นไทยเรามีความพร้อมในการทำงานกับทั้งสองฝั่งอย่างเต็มรูปแบบ

สิ่งที่ต้องจับตามองและท่าทีในการสำรวจอวกาศของไทย

ยังไม่เป็นที่ระบุชัดว่าพิธีการเซ็น Artemis Accord จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่สเปซทีเอชเชื่อว่า เราน่าจะได้เห็นการเซ็นในโอกาสสำคัญในช่วงปี 2025 นี้ ซึ่งสัญญาณที่จะบ่งบอกนั้นก็เช่น การเดินทางเข้าออกประเทศของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม หรือแม้กระทั้งการเยือนไทยของเจ้าหน้าที่ทางการทูตฝั่งสหรัฐฯ ในตอนที่ไทยเซ็น ILRS นั้น ทางสเปซทีเอชทราบแผนล่วงหน้าในหลักหลายสัปดาห์ แต่ไม่สามารถเปิดเผยออกมาได้ แต่ในกรณีของสหรัฐฯ ที่มีให้ความสำคัญกับ “Free Speech” และ “Free Journalism” มากกว่านั้น ทำให้เราค่อนข้างแน่ใจว่าเราจะได้เห็นท่าทีและสัญญาณของการเซ็นชัดเจนมากกว่าฝั่งจีน

ท้ายที่สุด สิ่งที่น่าจับตามองในมุมของโครงการ Artemis ก็จะเป็นเรื่องว่าไทยเราจะพัฒนาเทคโนโลยีอะไรเพื่อไปร่วมการสำรวจ เพราะชาติที่เซ็นเข้าร่วมอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญ ก็ล้วนแต่เป็นชาติที่เคยทำงานร่วมกับสหรัฐฯ ในโครงการใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือญี่ปุ่น ที่มีทั้งโมดูลบนสถานีอวกาศ Lunar Gateway หรือการพัฒนายานอวกาศเพื่อไปลงจอดบนผิวดวงจันทร์ แต่ที่น่าจับตามองในฝั่งไทยก็คือ โอกาสในการส่งชุดการทดลองผ่านโครงการ Commercial Lunar Payload Services หรือ CLPS ที่เปิดให้มีการซื้อขายเที่ยวบินบนยานอวกาศที่จะมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ ที่ไทยเราก็สามารถเข้าไปจับจองพื้นที่ได้เช่นกัน หรือแม้กระทั่งการส่งการทดลองไปยังสถานีอวกาศ Lunar Gateway ในอนาคต

สาระใจความสำคัญที่สุดที่เราอยากจะสื่อก็คือ ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการทำงานและพัฒนาเทคโนโลยี เพราะหากกล่าวตามความเป็นจริง เราก็เห็นหลายชาติร่วมเซ็นแม้จะยังไม่ได้มีแผนการทำงานที่เป็นรูปธรรม แต่ไทยเราอยู่ในระหว่างการริเริ่มพัฒนาโครงการสำรวจอวกาศอย่าง Thai Space Consortium และการต่อยอดโครงการต่าง ๆ ในอดีต การร่วมเซ็นทั้ง ILRS และ Artemis จึงมองว่าเป็นโอกาสสำคัญอย่างมากของประเทศไทยเรา

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.