เพราะขาดความรู้จึงมั่วกันเละเทะ กรณีสหรัฐใช้ดาวเทียมช่วยเด็กติดถ้ำ

เราอาจจะคุ้นชินภาพของอุปกรณ์ช่วยเหลือสุดไฮเทคที่เห็นได้ตามในหนัง แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นมันกลับไม่ได้คล้ายกับสิ่งที่คุณเคยเห็นมาก่อนเลย และล่าสุดจากที่มีการกระจ่ายข่าวในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ #ถ้ำหลวง ขึ้นมาว่าทางสหรัฐนั้นได้ใช้ดาวเทียมระบบ Infrared 3D สแกนบริเวณถ้ำหลวง

โดยเนื้อหาที่ปรากฏก็จะประมาณว่า สหรัฐอเมริกาจะใช้ดาวเทียมซึ่งเป็นดาวเทียมทางการทหารที่มีความสามารถในการมองเห็นความร้อนโดยเทคนิคอินฟาเรด โดยมองเข้าไปเห็นยังวัตถุต่าง ๆ ในถ้ำที่มีความร้อน โดยมีการควบคุมผ่านรีโมท

ทีนี้แล้วจะเกิดคำถามขึ้นมาว่าการมองการทำงานของมันแบบนี้ถูกต้องแล้วหรือไม่ ในโลกนี้จะมีเทคโนโลยีดาวเทียมที่สามารถส่องมองได้เห็นขนาดนั้นเลยเหรอ แล้วถึงมีจะมีเหตุผลอะไรที่สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องนำมาช่วยเราขนาดนั้น

ข่าวนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วใครมั่ว

เมื่อช่วงกลางวันของวันที่ 30 มิถุนายน ได้เริ่มมีสำนักข่าวต่าง ๆ ออกข่าวว่าสหรัฐฯ เตรียมใช้ดาวเทียมด้านการทหารสร้างแผนที่ 3 มิติและใช้อินฟาเรดในการตรวจจับความร้อน อย่างไรก็ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวต่าง ๆ เช่น ดาวเทียม สหรัฐฯ รอเข้าระนาบวงโคจรเหนือ ถ้ำหลวง สแกนหาร่าง 13ชีวิต ยังไงต้องเจอ!! หรือ ทหารสหรัฐฯ นำดาวเทียมสแกนถ้ำหลวง จับสัญญาณความร้อน หา 13 ชีวิต

ก็ไม่ได้ดูเหมือนว่าจะตรงกันซะเท่าไหร่ ต่างฝ่ายต่างเขียน (ฮา) สำนักข่าว Thai PBS กลายเป็นสื่อที่รายงานประเด็นนี้ได้อย่างรัดกุมมากที่สุดและดูมีความเป็นไปได้สูงสุด

Thai PBS  รายงานว่าทหารสหรัฐฯ มีแผนที่จะใช้อุปกรณ์สร้างแผนที่สามมิติแบบอินฟาเรด ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อกับดาวเทียมเพื่อทำการสื่อสาร จะเห็นว่าต่างจากหลายแหล่งข่าวที่บอกว่าความสามารถในการทำ 3D Mapping นั้นมาจากตัวดาวเทียม

แต่กลายเป็นว่าบน Social Media มีการพูดถึงเรื่องนี้กับแบบไม่มีข้อมูลอ้างอิง ไม่มีอะไรเลยเช่นกัน ที่เราเรียนมาวิชาสารสนเทศไม่ได้เอามาใช้กันเลย

รวมถึงเรื่องนี้เป็นกระแสบนทวิตเตอร์และมีการรีทวีตเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็นหลักพันหลักหมื่น กระจายข้อมูลที่ไม่มีการอ้างอิง ไม่มีรายละเอียดอะไรทั้งสิ้น

ปัจจุบันเท่าที่เราทราบ ยังไม่มีดาวเทียมดวงใดที่สามารถมองทะลุและสร้าง 3D Mapping ของโพรงต่าง ๆ ใต้ดินได้ แม้ว่าเราจะมีดาวเทียมหลากหลายรูปแบบที่ตั้งแต่ วัดความสูงของพื้นที่ด้วยเทคนิคต่าง ๆ (GISTDA ใช้เทคนิคนี้ในการสร้างภาพ 3 มิติ แต่สุดท้ายก็รู้แค่ภาพพื้นผิวเท่านั้นไม่สามารถเจาะลงไปในถ้ำได้) หรือเราสามารถใช้ดาวเทียมในการ วัดสนามโน้มถ่วง บริเวณต่าง ๆ เพื่อบอกว่าบริเวณนั้นมีธาตุหนักอะไรอยู่บ้าง

3D Map ภูมิประเทศบริเวณถ้ำหลวงของ GISTDA ที่มา – GISTDA

แต่เราก็ยังไม่มีดาวเทียมที่ส่องทะลุลงไปได้ถึงใต้ผิวและผ่านชั้นหินต่าง ๆ เนื่องจากมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าหากมีเทคโนโลยีถึงขั้นนั้นก็เรียกได้ว่าไม่ต้องทำอะไรแล้ว ถ้าอเมริกามีเทคโนโลยีขนาดนั้นแล้วทำไมจะต้องส่งโดรนไปบินให้ประเทศนู้นนี้ด่าอีก

โดยเฉพาะในเรื่องของความละเอียด เราอาจจะมีดาวเทียมที่สามารถทำอินฟาเรด Mapping ได้ แต่ปัญหาที่เราใช้งานดาวเทียมในบริเวณกว้างได้เท่านั้นไม่ใช่บริเวณแคบเพราะความละเอียดของดาวเทียม โดยปกติต่อให้เป็นดาวเทียมดี ๆ อย่าง Landsat หรือ ASTER ใช้ยังมีความละเอียระดับ 60-100 เมตรเท่านั้น เห็นบ้านเป็นหลัง ๆ ยังไม่ได้เลย จะมาเห็นคนเป็นคน ๆ ได้ไง (ดูภาพถ่ายและข้อมูลแนวนี้ได้ที่ USGS)

สรุปคือเข้าใจผิดกันเหรอ

จากที่ผู้เขียนได้คาดไว้ ปัญหาน่าจะอยู่ที่การสื่อสารระหว่างทีมของสหรัฐกับนักข่าวของไทย ซึ่งทางสหรัฐน่าจะใช้คำศัพท์ต่าง ๆ ที่เราอาจจะยังไม่มีความรู้เรื่องนี้ดี เช่น Using Sattellite การใช้ดาวเทียมนั้น อาจจะไม่ได้แปลว่าการทำ 3D Mapping เป็นการใช้ดาวเทียม หรือแม้กระทั่งคำว่า Remote ที่สื่อไทยเข้าใจว่าเป็นการ ควบคุมผ่าน Remote แบบกด ๆ ควบคุมโดรน (ซึ่งไม่มีใครเขาควบคุมดาวเทียมแบบนั้น)

ตัวอย่างข้อมูลที่ได้จากการทำ Remote Sensing ผ่านดาวเทียม ที่มา – NOAA

กรณีคำว่า Remote หมายถึงการควบคุม (Control) หรือรับรู้ (Sensing) ดังนั้นเราจะเจอคำสองคำคือ Remote Control ที่เราใช้กันกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งเวลาที่เราล็อกอินเข้าไปใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นผ่านคอมพิวเตอร์ของเราก็เรียกว่า Remote เช่นกัน ส่วน Remote Sensing เป็นลักษณะของการรับรู้ ใครที่เคยเรียนวิชาภูมิศาสตร์ก็คงจะได้เจอคำนี้บ่อย ซึ่งเป็นการรับรู้จากอุปกรณ์ที่อยู่ไกลออกไปเช่นดาวเทียม

แต่สำหรับกรณีนี้ จากภาพที่ปรากฏอุปกรณ์ที่ทหารสหรัฐถือเป็นเครื่องมือสำหรับทำการสื่อสารผ่านดาวเทียม พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นเหมือนวิทยุภาคสนามผ่านดาวเทียมนั่นเอง

เสาสำหรับสื่อสารผ่านดาวเทียมของทางทหาร – ที่มา STS Global

ดังนั้นถ้าจะสรุปง่าย ๆ เลยก็คือดาวเทียมของสหรัฐฯ จะมีส่วนช่วยในการติดต่อสื่อสารต่าง ๆ หรือการส่งข้อมูลไปประมวลผล แต่ไม่ได้แปลว่าบนดาวเทียมจะมีอุปกรณ์ที่สามารถทำ 3D Mapping ตามที่หลายสำนักชงข่าวกันขึ้นมาได้

ถ้าลองหาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเราจะพบว่าไม่มีสำนักข่าวไหนที่รายงานเรื่องราวของอุปกรณ์นี้เลย เป็นเพียงคำบอกเล่าจากปากเท่านั้น ไม่มีเอกสารยืนยัน ไม่มีอะไรทั้งสิ้น และบางส่วนก็อาจถูกเขียนโดยคนที่ไม่มีประสบการณ์ด้านดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศเลย

สรุปแล้ว 3D Mapping ที่จะใช้คืออะไรกันแน่

จากรายงานของ Thai PBS (ซึ่งน่าเชื่อถือที่สุดแล้วตอนนี้) บอกว่าสิ่งที่ถูกนำมาใช้นั้นก็คือเครื่องสแกนหาสิ่งมีชีวิตในระบบอินฟราเรด 3D โดยมีการเชื่อมต่อกับดาวเทียมทหารของสหรัฐฯ ซึ่งผลที่ได้ จะปรากฎแบบเรียลไทม์ และปกติจะถูกใช้สำรวจเป้าหมายเพื่อการโจมตี ซึ่งต้องป้อนข้อมูล พิกัด และรัศมี อย่างละเอียด

อุปกรณ์ของ LEICA ที่มา – LEICA Geosystem ผ่าน ResearchGate

LEICA บริษัทที่เราอาจจะรู้จักกันในนามผู้ผลิตกล้องแพง ๆ ได้มีอีกบริษัทย่อยหนึ่งชื่อว่า LEICA Geosystem ที่ทำอุปกรณ์เกี่ยวกับทางภูมิศาสตร์ LEICA มีอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า BLK360 ซึ่งในปี 2017 ได้ถูกนำไปทดสอบในการทำ 3D Mapping ภายในถ้ำ

เทคนิคนี้น่าจะใกล้เคียงกับอุปกรณ์ที่สหรัฐฯ นำมาใช้มากที่สุด เนื่องจากเป็นการใช้เทคนิคคล้ายกับที่หลายสำนักข่าวรายงาน แต่อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ที่นำมาใช้นั้นก็เป็นอุปกรณ์ภาคพื้นธรรมดา ๆ ไม่ใช่การ Remote Sensing (หรือ Remote Control) จากดาวเทียม

ส่วนเรื่องสหรัฐไม่อยากให้เห็นอุปกรณ์นั้นอันนี้ดูเหมือนว่าน่าจะเป็นเรื่องปกติ เพราะปกติของพวกนี้เขาจะไม่เอามาโชว์กันเท่าไหร่โดยเฉพาะอเมริกา แต่กลายเป็นว่าการไม่โชว์ของอเมริกาทำให้คนไทยเอาข่าวมาชงกันมั่วขนาดนี้

สำหรับบทความนี้เราอาจจะยังไม่มาหาคำตอบว่าสรุปแล้วเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ ใช้คืออะไรกันแน่ หรือว่าเด็ก ๆจะออกมาจากถ้ำได้ไหม แต่เรากำลังตั้งคำถามถึงการทำงานของการสื่อข่าวกรณีถ้ำหลวง (และกรณีอื่น ๆ ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคต) ว่าเรารับได้เหรอกับข่าวที่มาจากความรู้สึกและความไม่รู้ เรามีบทเรียนจากกรณีน้ำท่วมแล้วทำไมยังไม่จำ

ไทยพร้อมสำหรับยุคอวกาศแล้วเหรอ

คงจะเป็นที่ทราบกับแล้วเรื่อง กรณีดาวเทียม THEIA ที่เราได้เคยทำบทวิเคราะห์ออกมา กรณีนี้ไม่ต่างกับกรณีอื่น ๆ ที่เราต้องเสียค่าโง่อย่าง GT-200 หรือรถถัง เรือดำน้ำอะไรอีกมากมาย ในขณะที่เรากำลังจะมีดาวเทียม THEOS-2 หรือกำลังมีแผนจะซื้อดาวเทียม หรือแม้กระทั่งมีบริษัทอวกาศเอกชนเกิดขึ้นในประเทศไทน แต่กลายเป็นว่าเรายังขาดความรู้ด้านอวกาศกันแบบนี้เราก็คงโดนหลอกกันอยู่เรื่อย ๆ

คุณไม่เข้าใจมันจริง ๆ หรือคุณแค่ขี้เกียจที่จะเข้าใจ ถ้าคุณขี้เกียจที่จะเข้าใจก็ยอมรับไว้เลยว่าก็คงคุยกับใครไม่ได้และโอกาสการเรียนรู้ต่าง ๆ ก็จะหายไป แล้วถ้าพูดหรือสื่อสารออกมาโดยที่ไม่เข้าใจผลที่ออกมาก็ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปในสังคมไทย ดังนั้นสิ่งสำคัญเลยก็คือ ก่อนที่จะสื่อสารหรือตัดสินอะไร ควรมีความรู้ด้านนั้นให้ดีเสียก่อน เพราะความไม่รู้นั้นมีพลังมากกว่าที่คิด (ผู้เขียนเคยเขียนบทความเรื่อง พลังแห่งความไม่รู้ไว้ใน Blog ส่วนตัว)

ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะไปเยือน Airbus ที่ฝรั่งเศส บริษัททำดาวเทียม ที่มา – Archive สำนักนายกฯ

ดังนั้นสรุปประเด็นบทความนี้ต้องการจะตั้งคำถามก็คือ สรุปแล้วเทคนิคนี้เป็นการใช้อุปกรณ์จากภาคพื้นดินหรือจากดาวเทียม หรือใช้ดาวเทียมในการสื่อสาร หรือใช้ดาวเทียมทำอะไรกันแน่ แค่พูดผิดความหมายก็เปลี่ยนไปเยอะมากเป็นคนละความหมายเลย

ขอดักไว้ก่อน ณ ตรงนี้เลยว่า คนอาจจะมองว่า SPACETH.CO ทำตัวมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ เขียนบทความ วิจารณ์ไม่ดูเวลา แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่เราทำก็คือเราต้องการจะชี้จุดว่าการขาดความรู้แล้วการเอาความรู้สึกมาตัดสินสุดท้ายแล้วมันก็ทำให้เกิดปัญหาอยู่ดี รวมถึงปัญหาที่อยู่ดี ๆ ก็เข้าไปในถ้ำที่ปิดป้ายว่าอันตราย ไม่เช่นนั้นพลังแห่งความไม่รู้ก็จะทำให้เรามีนิสัยมักง่ายแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ

แม้ว่ากรณีนี้อาจจะเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาด แต่ก็ไม่สามารถนำมาอ้างได้ว่าไม่มีความผิด เพราะคิดง่าย ๆ เลยก็คือถ้าไม่รู้ก็แค่หาข้อมูลแค่นั้น ทุกวันนี้เราติดสินสิ่งต่าง ๆ จากความรู้หรือแค่ความรู้สึกกันแน่ ทุกคนรู้ปัญหาของประเทศนี้ดี แต่อย่าแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

สื่อออนไลน์ คอนเทนต์ด้านอวกาศ การสํารวจอวกาศ และการค้นพบใหม่ ๆ โดยเน้นสร้างสรรค์เนื้อหาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย และสนุกไปกับความรู้ที่ได้รับ