พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center EP.2 กระสวย Atlantis และซาก Challenger, Columbia

จากตอนที่แล้วในบทความเรื่อง พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center EP.1 มิวเซียมอวกาศ ลานจรวด และยานอวกาศของจริง ที่เราได้พาไปชม Rocket Garden และนิทรรศการ Gateway กันไป ซึ่งเหมือนกับเป็นปัจจุบันและอนาคตของการสำรวจอวกาศ ในตอนนี้เราจะพามาย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 1981-2011 ซึ่งเป็นยุคแห่ง “กระสวยอวกาศ” กันบ้าง

ก่อนอื่น ผมต้องบอกก่อนว่าไฮไลต์ในบทความนี้นั้นจะเป็นกระสวยอวกาศ Atlantis ซึ่งเป็น 1 ใน 4 กระสวยอวกาศที่ยังคงอยู่ และจัดแสดงในสหรัฐฯ โดยกระสวยอีก 3 ลำที่เหลือได้แก่ Discovery จัดแสดงอยู่ที่ Udvar-Hazy Center in Chantilly ในรัฐเวอร์จิเนีย, Endavour จัดแสดงอยู่ที่ California Science Center ในแคลิฟอร์เนีย และ Enterprise จัดแสดงอยู่ที่ Intrepid Museum ในนิวยอร์ค อย่างไรก็ดี ใน NASA Kennedy Space Center Visitor Complex จะบอกว่ามีกระสวยอวกาศ Atlantis ลำเดียวก็ไม่เชิง เนื่องจากมีการจัดแสดง “ซากที่ยังเหลือ” ของกระสวยอวกาศ Challenger ที่ระเบิดไปในปี 1986 และกระสวยอวกาศ Columbia ที่ระเบิดขณะเข้าสู่บรรยากาศในปี 2003 ไว้ด้วย

ดังนั้นในบทความนี้อาจจะต้องเตือนกันไว้ก่อนว่า นิทรรศการมีเนื้อหาค่อนข้างสะเทือนใจ และมีของใช้ส่วนตัวของผู้เสียชีวิตมาจัดแสดง และเนื่องจากเราเข้าไปเยี่ยมชมในช่วง “NASA Day of Remembrance” ซึ่งเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์การสูญเสียนักบินอวกาศ ทำให้เราจะยังพบบรรยากาศการวางดอกไม้ และการรำลึกอยู่

สวนจรวดหรือ Rocket Garden ที่เราพาชมไปในตอนแรกของบทความ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ใครที่สนใจเรื่องเหล่านี้ ผมแนะนำเพิ่มเติมว่าให้ฟัง Podcast ที่ผมไปร่วมจัดกับรายการ The Untitled Case ในตอน Space Case เรื่องเล่าชาวอวกาศ with ณัฐนนท์ Spaceth.co ครับ

และที่สำคัญ แนะนำให้อ่านบทความ กระสวยอวกาศ ประวัติศาสตร์ของการเดินทางสู่ความเท่าเทียมแห่ง เพศ ชาติพันธุ์ และมนุษยชาติ จะอินกับกระสวยอวกาศมากขึ้น

พาชมกระสวยอวกาศ Atlantis

Atlantis นั้นเป็นกระสวยอวกาศลำที่ 4 ที่ถูกสร้างขึ้นมา (ตามลำดับ Enterprise, Columbia, Challenger, Discovery, Atlantis, และ Endeavour) บินเที่ยวบินแรกในปี 1985 กับภารกิจ STS-51J และบินเที่ยวบินสุดท้ายในเที่ยว STS-135 ซึ่งก็ถือภารกิจปิดฉากกระสวยอวกาศทั้งปวง ดังนั้นกระสวยลำนี้จึงเป็นหนึ่งในยานอวกาศลำประวัติศาสตร์ที่เป็น “The end of an Era” ให้กับยุคของกระสวยอันรุ่งโรจน์ ซึ่งในปี 2011 นั้น Atlantis ก็ได้สัมผัสพื้นของ Space Shuttle Landing Facilities เพื่อลงจอดกลับยังโลก ณ NASA Kennedy Space Center แห่งนี้เช่นกัน

สำหรับอาคารจัดแสดงของ Atlantis นั้นด้านหน้า จะมีถังเชื้อเพลิง External Tank สีส้ม และจรวดช่วยขับดัน Solid Rocket Booster จัดแสดงอยู่คู่กันในแนวตั้ง ทำให้เราสามารถจินตนาการได้ว่าหากกระสวยอวกาศถูกตั้งขึ้นจะมีความสูงประมาณไหน

เมื่อเดินเข้ามาเราจะพบกับวิดีโอฉายเล่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของกระสวยอวกาศ จากนั้นเมื่อประตูเปิดออกเราจะพบกับกระสวยอวกาศ Atlantis จัดแสดงในลักษณะตะแคงข้าง และเปิด Payload Bay ออกมา คล้ายกับการทำภารกิจตระกูล Service ต่าง ๆ เช่น การเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ, การปล่อยดาวเทียม หรือการซ่อมกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble

กระสวยอวกาศ Atlantis ด้านหน้า จะเห็นแขนกล Canadarm และ Payload Bay ที่เปิดออก ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

มีเกร็ดเล่าให้ฟังว่า ในการจัดแสดงกระสวยอวกาศในที่ต่าง ๆ นั้น จะมีการวางในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น Discovery จะถูกวางกับพื้นแบบกางล้อเหมือนตอนลงจอด, Endavour ถูกจัดแสดงแบบตั้งตรงพร้อมปล่อย และ Atlantis ที่ถูกจัดแสดงแบบเหมือนอยู่ในวงโคจร

Payload Bay Door เปิดออกจะเห็นส่วนที่ใช้ในการบรรทุกดาวเทียม ยานอวกาศ หรือโมดูลของสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ข้อดีของการจัดแสดงแบบนี้คือ เราจะสามารถเห็นตัว Docking Port (หลังห้องนักบิน) ของกระสวยอวกาศได้ชัดเจน ซึ่งระบบ Docking นี้ถูกใช้ในการเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาตินั่นเอง เราเรียกมาตรฐานนี้ว่า NASA Docking System (NDS) ซึ่งภายหลังถูกแทนที่ด้วย IDA หรือ International Docking Adapter ปัจจุบัน

หลังห้องนักบินเราจะเห็น Docking Module ถูกติดตั้งเพื่อใช้ในการเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศฯ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

เดินมาตรงด้านหลัง เราจะเห็นส่วนของเครื่องยนต์ กระสวยอวกาศนั้นมีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่อยู่สองแบบ แบบแรกคือ OMS หรือ Orbital Maneuvering System หรือเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่ใช้สำหรับการปรับวงโคจรในอวกาศ โดยเครื่อง OMS นี้ ใช้เครื่องแบบ AJ10 ผลิตโดยบริษัท Aerojet Rocketdyne (ซึ่งเครื่องนี้ยังถูกนำมาใช้งานกับ European Service Module หรือ ESM ของยาน Orion ในโครงการ Artemis ด้วย) ก้อนตรงนี้ที่เราเห็นนั่นคือบริเวณถังเชื้อเพลิงและปลาย Nozzle ของ OMS นั่นเอง

ส่วน OMS หรือ Orbital Maneuvering System ของกระสวยอวกาศ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ส่วนเครื่องยนต์อีกระบบที่สำคัญ ก็คือ Space Shuttle Main Engine ที่ใช้ในการบินขึ้นของกระสวยอวกาศ ที่เชื้อเพลิงจะมาจาก ET หรือ External Tank สีส้ม ที่ถูกสลัดออกเมื่อใช้เชื้อเพลิงจนหมดแล้ว โดย Main Engine ที่กระสวยอวกาศใช้นั้นก็คือเครื่องยนต์รุ่น RS-25 ที่ปัจจุบันก็ถูกนำมาปรับปรุงใช้กับจรวด Space Launch System หรือ SLS ในโครงการ Artemis เช่นกัน

เครื่องยนต์ RS-25 จำนวน 3 เครื่องที่เป็นเครื่องยนต์หลักที่พากระสวยบินออกจากโลก ด้านซ้ายของภาพจะเห็น Nozzle ของเครื่อง OMS ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

นอกจากเครื่องยนต์ที่จัดแสดงอยู่กับกระสวย Atlantis แล้ว ด้านข้างยังมีโซนที่ Aerojet Rocketdyne นำเอาเครื่อง RS-25 มาจัดแสดงด้วยเช่นกัน ซึ่งในโซนนี้ก็จะพูดถึงจรวด SLS รุ่นใหม่ด้วย ว่าใช้เครื่องรุ่น RS-25 เหมือนกัน

เครื่องยนต์รุ่น RS-25 ที่ถูกจัดแสดงอยู่แยกออกมาจากกระสวยอวกาศ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

บริเวณรอบข้างการจัดแสดงตัว Atlantis ก็จะมีนิทรรศการย่อย ๆ ออกไป พูดถึงภารกิจต่าง ๆ ของกระสวยอวกาศ โดยเราจะเดินลงมาเรื่อย ๆ ผ่านบันได เพื่อมายังชั้นล่างสุด ซึ่งชั้นนี้เมื่อเดินลงมาเราก็จะเห็นกับแผ่นกระเบื้อง (Tile) ที่ใช้กันความร้อนในขณะที่กระสวย Atlantis เข้าสู่บรรยากาศของโลก

กระเบื้องกันความร้อนของกระสวยอวกาศ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

แผ่นกระเบื้องเหล่านี้หากนับรวม ๆ กันจะมากกว่า 24,300 แผ่น และความฉิบหายก็สามารถเกิดขึ้นได้หากแผ่นใดแผ่นหนึ่งเกิดความเสียหาย ซึ่งนี่ก็นำไปสู่การสูญเสียกระสวยอวกาศ Columbia ในปี 2003 ไปแล้ว กระเบื้องทุกใบจะมีเลขกำกับของมันอยู่ ทำให้วิศวกรสามารถเลือกที่จะปรับเปลี่ยนแผ่นกระเบื้องให้ใหม่และปลอดภัยอยู่ตลอดทุกภารกิจ

ปีกของกระสวยอวกาศและ Aerodynamic Surface ที่สำคัญของกระสวยอวกาศ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

และพอเดินมาด้านล่างอีกสิ่งที่เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยก็คือปีก ซึ่งนับว่าเป็น Aerodynamic Surface ชิ้นสำคัญ ซึ่งจริง ๆ ปีกของกระสวยอวกาศนั้นทำหน้าที่ให้มันเป็น “เครื่องร่อน” ขณะบินกลับมาลงจอดได้ เนื่องจากมันไม่มีเครื่องยนต์เหมือนเครื่องบินทั่วไป โดยเราจะสามารถเห็นชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่างชัดเจน ใครเป็นสายเครื่องบิน จะเห็นว่า มันเหมือนกับปีกของเครื่องบินเลย คือมี Ailerons, Flaps และ Spoilers

ของเล่นที่โคตรจะเจ๋ง Space Shuttle Launch Experience

สิ่งหนึ่งที่บอกได้เลยว่าใครเดินทางมาที่นี่แล้วไม่ได้เล่นคือเหมือนมาไม่ถึง ก็คือ Space Shuttle Launch Experience ซึ่งจะเป็นการให้เราเข้าไปนั่งในกระสวยอวกาศ จำลองว่าเราเข้าไปนั่งในส่วน Payload Bay ของกระสวยอวกาศ และปล่อยขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งเครื่องเล่นนี้จะรวมอยู่ในค่าตั๋วที่เราจ่ายกันไปอยู่แล้ว (รายละเอียดเรื่องตั๋วอยู่ในตอนแรก พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center EP.1) ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม อาจจะมีการรอคิวหน่อย แต่แนะนำให้รอเพราะคุ้มมาจริง ๆ

ด้านหน้าทางเข้าเครื่องเล่น Shuttle Launch Experience ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ระหว่างรอคิวก็จะมีนักบินอวกาศ มาเล่าประสบการณ์ในการบินขึ้นกับกระสวยอวกาศว่าจะรู้สึกอย่างไร โดยไฮไลต์สำคัญที่เราอยากให้สังเกตกันก็คือตอนที่ Solid Rocket Booster สลัดออกจากกระสวย ซึ่งในตอนนั้นจากกระสวยอวกาศสั่น ๆ จะกลายเป็นความเร่งแบบนิ่ง ๆ ไปจนถึงวงโคจร และเมื่อ Payload Bay เปิดออก เราก็จะพบกับโลกทั้งใบที่สวยงาม (เนื่องจากเวลากระสวยโคจร มันจะโคจรแบบกลับหัวเพื่อให้เห็นโลก และป้องกันอันตรายจากขยะอวกาศหรือสะเก็ดขนาดเล็กในอวกาศ)

ที่นั่งด้านในเครื่องเล่น ซึ่งเบาะที่เราเห็นมันจะเอียดลงมา และมีแรงกด จำลองว่าเรากำลังเจอกับแรง G อยู่ด้วย ถือว่าเป็นการออกแบบเครื่องเล่นที่ฉลาดมาก ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

อันนี้คงไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ เอาเป็นว่าต้องมาลองเล่นดู จังหวะที่เป็นไฮไลต์ก็คือตอนที่ Solid Rocket Booster ทั้งสองข้างแยกตัวออกจริง ๆ

เมื่อ Payload Bay เปิดออก เราก็จะเห็นโลกที่สวยงาม เบื้องหน้า ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

เมื่อประกอบกับคำพูดที่นักบินอวกาศเล่าให้ฟังก่อนหน้าแล้ว เราจะเห็นภาพมากขึ้นว่าเวลาบินกับกระสวยอวกาศจะเป็นอย่างไร (และทำไมเวลาเราจะส่ง Payload, ดาวเทียม ยานอวกาศต่าง ๆ ทำไมต้องเอาไป Vibration Test ก่อน)

โซนรำลึกถึงการจากไปของลูกเรือ Challenger และ Columbia

นิทรรศการต่อไปนั้นมีชื่อว่า “จดจำตลอดกาล” หรือ “Forever Remembered” เป็นโซนที่พูดถึงการสูญเสียครั้งใหญ่ ได้แก่เหตุการณ์ Challenger ในปี 1986 และเหตุการณ์ Columbia ในปี 2003 ที่กระสวยทั้งสองเกิดระเบิดระหว่างบินขึ้นและกลับเข้าบรรยากาศโลกตามลำดับ นำไปสู่การสูญเสียชีวิตของลูกเรือ 7 คน สองเที่ยวบินนับรวมกันเป็น 14 คน โดยพวกเขาเหล่านี้ยังคงเป็นตัวแทนเตือนใจที่ทำให้การสำรวจอวกาศจะต้องปลอดภัยที่สุด เพราะเราคงไม่อยากเอาชีวิตใครเข้าไปเสี่ยงอีกแล้ว

พวงมาลาที่ถูกวางอยู่ เพื่อรำลึกถึงพวกเขา ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth
ทางเข้านิทรรศการ Forever Remembered ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ใครที่อยากอ่านเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถอ่านได้ในบทความ Christa McAullife คุณครูคนแรกในอวกาศ ผู้เสียชีวิตระหว่างเดินทางสู่อวกาศ หรือ บทพูดของอดีตประธานาธิบดี Reagan หลังโศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์

ในส่วนแรก เมื่อเดินเข้ามาเราก็จะพบกับเรื่องราว ประวัติส่วนตัว และข้าวของเครื่องใช้ของนักบินอวกาศผู้สูญเสีย ซึ่งได้รับอนุญาตจากครอบครัวให้นำมาจัดแสดงบอกเล่าเรื่องราวว่าพวกเขาเป็นคนอย่างไร ชื่นชอบอะไร และแต่ละคนมีความฝันอย่างไร เราเรียกส่วนจัดแสดงนี้ว่า Fallen Friends หรือ “สหายผู้ร่วงโรย”

ข้าวของเครื่องใช้ของลูกเรือสหายผู้ร่วงโรย ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

แน่นอนว่าทุกคนก็อาจจะมีฮีโร่ที่แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับผมและเพื่อน ๆ ในทีมหลาย ๆ คน หัวใจของพวกเรารักและผูกพันธ์กับคุณครูคนหนึ่งที่ชื่อว่า Christa McAuliffe ครูผู้ซึ่งถูกคัดเลือกให้เป็น “ครูคนแรกบนอวกาศ” แต่บทเรียนแรกที่คุณครูสอนนั้น ไม่ใช่วิชาฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด แต่เป็น “วิชาชีวิต” ที่ว่าด้วยการเติบโต ความฝัน แรงบันดาลใจ และการใช้ชีวิตอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับเพื่อนมนุษย์คนอื่น แม้ครูท่านนี้จะเป็นหนึ่งในผู้ร่วงโรย จากหายนะในวันที่ 28 มกราคม 1968 แต่เรื่องราวของครู ก็ยังคงสอนให้เราใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท

ผมได้มาหาคุณครู Christa McAuliffe แล้ว ในบริเวณที่เป็นจุดที่เธอร่วงโรยกลับสู่พื้นดิน ที่มา – Chayapatr Archiwaranguprok/Spaceth

อย่างที่บอกว่าใครที่อยากฟังเรื่องราวแนว ๆ นี้แนะนำให้ฟัง Podcast ตอน กระสวยอวกาศ ความหวังหรือโศกนาฏกรรม บน Starstuff Podcast และ Space Case เรื่องเล่าชาวอวกาศ with ณัฐนนท์ Spaceth.co บน Salmon Podcast

และข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ ก็จะนำเรามาสู่หนึ่งในชิ้นส่วนจัดแสดงที่สำคัญมากที่สุดใน NASA Kenndy Space Center Visitor Complex นั่นก็คือ “ซาก” ของกระสวยอวกาศ Challenger และ Columbia ซึ่งซากนี้ เป็นเพียงชิ้นส่วนไม่กี่ชิ้นส่วน ที่เก็บไว้เพื่อจัดแสดง ชิ้นส่วนที่เหลือของ Challenger ได้ถูกฝังไว้ให้พักผ่อนอย่างสงบ ณ  Launch Complex 31 ใน Cape Canaveral Space Force Station ในขณะที่ชิ้นส่วนของ Columbia (เชื่อว่า – แต่เคย) ปัจจุบันยังคงถูกเก็บเอาไว้ในอาคาร VAB หรือ Vehicle Assembly Building ในชั้น 16 ซึ่ง ข้อมูลนี้ผมเองก็เพิ่งทราบจากเว็บไซต์ Collect Space และด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้หากเราเข้าไปในอาคาร VAB เรามองขึ้นไปด้านบนจะเห็นตราสัญลักษณ์ของภารกิจ STS-107 แปะเอาไว้อยู่ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เอง

คุณปั๊บ ชยภัทร กำลังมองชิ้นส่วนกระจกห้องนักบิน ของกระสวย Columbia ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

โดยชิ้นส่วนของ Columbia ที่ถูกจัดแสดง ก็คือส่วนโครงของหน้าต่างด้านหน้าของตัวกระสวย ซึ่งชิ้นส่วนนี้ ก็ได้นำมาจากห้องเก็บชิ้นส่วนของ Columbia ที่เคยอยู่ในอาคาร VAB นั่นเอง

ในขณะที่กระสวยอวกาศ Challenger ชิ้นส่วนที่นำมาจัดแสดงคือ ตัวยานบริเวณที่มีธงชาติสหรัฐฯ ติดอยู่ ซึ่งตัวลายธงชาตินี้ไม่ได้ถูกฉีกขาดไป แต่ยังคงอยู่เต็มผืน ลักษณะการจัดแสดงจึงเป็นการนำเอาธงอเมริกา ชี้ขึ้นฟ้า ซึ่งเป็นทิศทางของการเดินทางสู่อวกาศ บ่งบอกว่าสหรัฐฯ นั้นยังคงมีเป้าหมายอยู่บนนั้น

ชิ้นส่วนของกระสวยอวกาศ Challenger ที่เป็นส่วนลายธงชาติสหรัฐฯ Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

เราเคยเล่าเรื่องสัญญะการชี้ธงชาติสหรัฐฯ ขึ้นฟ้าไปในบทความ สัญญะของการหันธงชาติสหรัฐฯ ชี้ขึ้นฟ้าในงานอวกาศ และนี่ก็คือสองชิ้นส่วนสำคัญ ที่จริง ๆ แล้ว NASA เพิ่งนำมาจัดแสดงให้กับสาธารณะไม่นานมานี้เอง โดย Space.com รายงานว่า ชิ้นส่วนสองชิ้นนี้ถูกนำมาจัดแสดงในปี 2015 เป็นครั้งแรก

ในการสำรวจอวกาศแน่นอนว่า ความสูญเสียอาจเกิดขึ้นได้ เหมือนสำนวนที่ว่า “Ad Astra Per Aspera” หรือเส้นทางสู่ดวงดาวนั้นไม่ง่ายนัก การเรียนรู้ผ่านเรื่องราวในอดีตจึงเป็นเสมือนการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับการสำรวจอวกาศในอนาคต โซน Forever Remember จึงน่าจะเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ผมแนะนำว่าอยากให้ทุกคนได้มาลองเรียนรู้ และสัมผัสกับเรื่องราวของคนพวกนี้ ที่จริง ๆ แล้วพวกเขาอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดนะครับ

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและนิทรรศการโดยรอบ

นอกจากสองส่วนที่เป็นไฮไลต์หลักได้แก่ตัวกระสวยอวกาศ Atlantis และโซน Forever Remember แล้ว โดยรอบเราจะยังพับกันส่วนจัดแสดงอื่น ๆ ที่ก็จะมีเรื่องราวแตกต่างกันออกไป สิ่งหนึ่งที่อยากชี้ให้ดูก็คือมีโซนที่เขียไว้ว่าเป็น Time Capsule ซึ่งทีมกระสวยอวกาศได้จัดเก็บอะไรซักอย่างไว้ รอให้ถึงปี 2061 ซึ่งเป็นช่วงเวลาครบรอบ 50 ปี ภารกิจสุดท้ายของกระสวยอวกาศ STS-135 จะมีการเปิดผนึกกำแพงนี้ออกมาดู (น่าน! ยังกับจดหมายปรีดี) เดี๋ยวไว้ปี 2061 ผมจะมารีวิวให้ดูครับว่าเบื้องหลังกำแพงนี้มีอะไร

จอเจอกันอีกที ปี 2061 หวังว่าโลกจะยังไม่แตกไปก่อนนะครับ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

หรือขั้นบันไดที่พาเราจากชั้นบนลงมาชั้นล่าง ก็ยังมีกิมมิก ทำเป็นรายชื่อภารกิจของกระสวยอวกาศต่าง ๆ ตั้งแต่ STS-1 จนถึง STS-135 เล่าว่ามีใครบินเที่ยวบินไหน ทำภารกิจอะไร และตราภารกิจหน้าตาเป็นยังไง โซนนี้มาลองเดินดูเพลิน ๆ กันได้เช่นกัน

บันไดวนที่แสดงภารกิจกระสวยอวกาศต่าง ๆ ตั้งแต่ STS-1 จนถึง STS-135 ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

กระสวยอวกาศนั้นหลายคนอาจจะมองว่าเป็นความล้มเหลวของ NASA จากความพยายามในการสร้างเครื่องบินอวกาศที่ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สุดท้ายกลายเป็นว่าในที่สุดก็เกิดหายนะถึงสองครั้ง และเกิดภารกิจขึ้นจริง ๆ เพียงแค่ 135 ภารกิจ ตลอดระยะเวลา 30 ปี แต่อย่างไรก็ดี กระสวยอวกาศนั้นก็ได้พาให้เกิดนักบินอวกาศที่มีความหลากหลาย ได้พาคนธรรมดาไปอวกาศ ได้มีส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ และได้เป็นสัญลักษณ์แห่ง “อวกาศ” ให้กับคนทั้งโลกตลอดเวลากว่า 30 ปี เราได้เห็นเด็กวาดรูปกระสวยอวกาศ ได้เห็นเด็ก ๆ บอกว่าอยากเป็นนักบินอวกาศ เราเติบโตมากับกระสวยอวกาศ และกระสวยอวกาศก็เกิดขึ้นได้เพราะการวางรากจากคนยุค Apollo

รถ Astrovan ที่พานักบินอวกาศไปยังฐานปล่อย ก็ได้มาถูกจัดแสดงในนี้ด้วย ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมองว่ากระสวยอวกาศประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่เราก็คงฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้จะยังคงจารึกไว้ในใจของพวกเรา เพราะไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เบื้องหลังของมันก็คือคนที่ทำงานอย่างหนักหลายชีวิต ที่พาให้เรามาจนถึงทุกวันนี้

“The final liftoff of Atlantis. On the shoulders of the space shuttle, America will continue the dream.” บทบรรยายการปล่อยครั้งสุดท้ายของกระสวยอวกาศ Atlantis ในภารกิจ STS-135

ตอนต่อไปพาชมมรดกที่ยิ่งใหญ่ของโครงการ Apollo

ในตอนต่อไปบอกได้เลยว่าห้ามพลาด เนื่องจากเราจะพาทุกคนนั่งรถไปยังบริเวณที่เรียกว่า Apollo Center ข้ามรั้วของ NASA เข้าไปในบริเวณหวงห้าม ผ่านอาคาร VAB เข้าไปในบริเวณที่ไม่ได้เข้ากันมาง่าย ๆ (แต่ทุกคนเข้าได้เพราะซื้อตั๋วแล้ว – ฮา) และพาไปดูจรวด Saturn V ลำจริง ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ไม่กี่ลำบนโลกใบนี้

จรวดยักษ์ Saturn V ที่เหมือนมังกรที่นอนหลับอยู่ เพราะนี่คือจรวดลำจริง ที่มา – Chayapatr Archiwaranguprok/Spaceth

รอรับชมกันได้ในตอนหน้าของบทความพาเที่ยว NASA Kennedy Space Center Visitor Complex แห่งนี้ครับ ใครที่ยังไม่ได้อ่านตอนแรก กลับไปอ่านกันได้ในบทความ พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center EP.1 มิวเซียมอวกาศ ลานจรวด และยานอวกาศของจริง

อ่านตอนที่ 3 พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center EP.3 ชม Apollo Center และจรวด Saturn V

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.