กระสวยอวกาศ ประวัติศาสตร์ของการเดินทางสู่ความเท่าเทียมแห่ง เพศ ชาติพันธุ์ และมนุษยชาติ

“จะสอยดาวสาวเดือนที่เกลื่อนฟ้า มาทำอาหารให้คนไร้สิ้น ฟันนภาที่เห็นออกเป็นชิ้น เอามาสินเย็บเป็นเสื้อเพื่อคนจน จับเอาดวงตะวันอันกว้างใหญ่ จัดสรรให้คนพำนักพักอาศัย เที่ยวรวบรวมธาตุมาทั้งสากล แล้วคิดค้นปรุงเป็นยาฆ่าโรคภัย” – วิทยากร เชียงกูล

ปี 1969 – การไปลงจอดบนดวงจันทร์ในโครงการ Apollo นับว่าเป็นการเดินทางที่ไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยทำได้ ระยะห่างกว่าสามแสนกิโลเมตรจากโลก กับผู้ชายสามคนต่อเที่ยวบิน และชาติมหาอำนาจหนึ่งชาติ สิ่งที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เราสามารถทำอะไรก็ได้ หากเรามีกำลังพอ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีเงินสนับสนุน พูดง่าย ๆ ก็คือมีอำนาจนั่นแหละ แม้ว่าโครงการ Apollo จะทำลายข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ทำลายข้อจำกัดด้านความกล้าหาญ ทำลายข้อจำกัดด้านระยะทาง แต่สิ่งหนึ่งที่ Apollo ไม่เคยทำลายได้ ก็คือกำแพงหนาสูงของการเดินทางไปอวกาศ

อ่าน – ทำไมการเมืองถึงพามนุษย์ไปดวงจันทร์​: We came in peace for all mankind?

เราจะตื่นเต้นกับ Apollo ไปทำไม ถ้าการไปเหยียบดวงจันทร์เป็นเรื่องของคนผิวขาว เป็นเรื่องของผู้ชาย เป็นเรื่องของชาติมหาอำนาจ แล้วถ้าสงครามเย็นในฝั่งอวกาศ (Space Race) สิ้นสุดลงแล้ว เราจะชนะใคร จะแข่งกับใคร

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองแรงผลักดันจากแนวคิดความเท่าเทียมของ African American และ Feminism และ Sexual Oreantation ได้สั่นสะเทือนการเมืองสหรัฐฯ แม้กระทั่งในวงการอวกาศ Margaret Hamilton นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานของ Apollo Guidence Computer ได้พิสูจน์แล้วว่าเพศไม่ได้มีผลต่อการทำงาน JoAnn Morgan วิศวกรหญิงหนึ่งเดียวในห้อง Control Room ของภารกิจ Apollo ก็ได้พิสูจน์ว่าโลกนี้ไม่ได้ต้องการแค่เพศใดเพศหนึ่ง และ Katherine Johnson กับทีมของเธอ ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าถ้าพวกเธอได้รับการไว้วางใจ พวกเธอก็สามารถสร้างการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่พนันด้วยชีวิตของคนได้

แผ่นป้าย เรามาอย่างสันติ เพื่อมวลมนุษยชาติ ที่เดินทางไปกับยาน Apollo 11 ที่มา – NASA

โครงการที่ยิ่งใหญ่ต่อมาจาก Apollo นั้น จึงไม่พลาดที่จะนำเอาแนวคิดเรื่อง Inclusive Design หรือการออกแบบที่ผนวกรวมเอาทุกคนเข้ามาเป็นตัวแปร ของการเดินทางไปอวกาศ จนทำให้ “กระสวยอวกาศ” หรือ Space Shuttle กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียมของการเดินทางไปอวกาศ และนับตั้งแต่ปี 1981 จนถึงปี 2011 เวลากว่า 30 ปีนี้ ก็ได้พิสูจน์ได้แล้วว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นเป็นเพศไหน มาจากชาติพันธุ์ไหน อาชีพอะไร มีความเชื่อทางการเมืองอย่างไร หรือจะเป็นแค่เด็ก ๆ ที่นั่งมองการถ่ายทอดสดอยู่ที่บ้าน ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับการสำรวจอวกาศที่ใกล้ตัวพวกเขามากกว่าการนั่งมองนักบินเหยียบดวงจันทร์ที่ห่างออกไปสามแสนกิโลเมตร และอนุญาติให้คนนับล้านทั่วโลกจินตนาการได้ว่า “อวกาศของพวกเขาคืออะไร”

“เพ้อฝันสอยดาวสาวเดือน คนไร้สิ้นต้องการอาหารจริงจริง เพ้อเจ้อฟันนภาออกเป็นชิ้นชิ้น คนจนต้องการเครื่องนุ่งห่มจริงจริง เพ้อจับตะวันเป็นแดนดิน ผู้คนต้องการพำนักที่เป็นจริง ธาตุทั้งสากลที่เพ้อฝัน ก็เป็นยาฆ่าโรคภัยไม่ได้เลย”

 จ่าง แซ่ตั้ง

ยิ่งมีอำนาจเยอะก็ยิ่งครองทรัพยากรได้มาก

คำว่าอำนาจหรือ Power นั้นหมายถึงพลังในการชี้นำ ควบคุม แล้ว Power นั้นเกิดจากอะไร ถ้าเป็นสมัยยุคหินเราก็อาจจะตอบว่าใครที่มีกำลังเยอะก็มีอำนาจมาก เป็นหัวหน้าเผ่า เป็นนักรบ หรือในยุคกลางเราก็อาจจะตอบว่า Power ขึ้นอยู่กับความเชื่อทางศาสนา เวลาผ่านมาเราอาจจะตอบว่าอำนาจนั้นขึ้นอยู่กับว่าใครมีเงินมากกว่า จะสังเกตว่าอำนาจนั้นมีที่มาที่ไปแตกต่างกันตามบริบทสังคมและการให้คุณค่าของมนุษย์ และยิ่งเวลาผ่านไป อำนาจจะมาจากสิ่งที่ “จับต้องไม่ได้” มากขึ้น เช่น จากพละกำลัง ก็กลายมาเป็นพระเจ้า จนตอนนี้ กระดาษบาง ๆ เราก็เรียกมันว่าเงินจนมีค่าได้, ตัวเลข 0 และ 1 ในคอมพิวเตอร์ เราก็เรียกมันว่า Cryptocurruncy ได้

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไมได้ว่าสิ่งที่ได้มาพร้อมกับอำนาจนั้นก็คือ “ทรัพยากร” คือเราอาจจะไม่ต้องทำเองก็ได้ แต่เราครอบครองทรัพยากรเราก็สบายแล้ว เรามีแรงเยอะเราก็บังคับคนให้ทำการเกษตรให้เราได้ (ความสัมพันธ์แบบศักดินา), เรามีส่วนเชื่อมต่อกับพระเจ้าเยอะเราก็บอกให้คนมาทำบุญกับเราได้, หรือเรามีเงินเยอะเราก็ซื้อของใช้ได้โดยที่ไม่ต้องลงมือทำเอง พูดง่าย ๆ ก็คือเราอาจจะมองว่าโลกนี้จริง ๆ แล้วมันทำงานด้วยระบบมาเฟียนั่นแหละ เพียงแต่เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่า “กฎบัติสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” และแนวคิดเรื่องมนุษยชาติ (Humankind) ขึ้นมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้มนุษย์เลือกที่จะใช้วิธีการที่ไม่ได้ Hardcore เท่ากับในอดีต แต่สุดท้ายเราก็ไม่วายที่จะหาทางได้มาซึ่งอำนาจอยู่ดี

แล้วถ้าถามว่าการได้ครองทรัพยากรสำคัญอย่างไร ก็ให้เรานึกภาพยุคล่าอาณานิคม ที่โปรตุเกสถูกให้เดินทางไปทางตะวันออก และสเปนถูกให้เดินทางไปทางตะวันออก ซึ่งคำสั่งนี้ก็มาจากพระสันตปาปา (อำนาจทางศาสนา) จนสเปนค้นพบทวีปใหม่ จะสังเกตว่า “อำนาจ” และ “ทรัพยากร” นั้นเป็นของคู่กัน

อ่าน – “บนนี้ไม่มีพระเจ้า” สัญญะสำคัญที่อวกาศถูกใช้เพื่อการเมือง

อำนาจและทรัพยากรในการสำรวจอวกาศ

ย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง – 1945 โลกยังคงร้อนระอุจากสองขั้วอำนาจหลังจากชนะสงคราม ตอนนั้นสหรัฐฯ และโซเวียต หวังว่าบันไดก้าวต่อไปของการขึ้นสู่อำนาจนั้นไม่ใช่แค่การชนะสงครามจากฝั่งสัมพันธมิตร แต่คือการเป็นเจ้าโลก นำมาซึ่งสงครามเย็น และการแข่งขันการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ หรือเทคโนโลยีอะไรก็ได้ อวกาศคือหนึ่งในสนามแข่งขันอันร้อนระอุ เพราะการไปอวกาศเท่ากับการไปอยู่เหนือประเทศฝ่ายตรงข้ามและสามารถโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่มุมมองโลกจากอวกาศ ก็ค่อย ๆ Shape แนวคิดของมนุษย์ จนมาจบลงที่ว่า ยิ่งเราขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงแค่ไหน มนุษย์กลับดูโง่เขลามากขึ้นเท่านั้น

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น วงการอวกาศผ่านอะไรมาเยอะมาก เมื่อก่อนการจะไปอวกาศได้จะต้องเป็นทหาร จะต้องเป็นชาติมหาอำนาจ การแข่งขันไปอวกาศจึงมีโจทย์วนเวียนกับการ “ไปให้ได้ไกลที่สุด” “ไปให้ได้สูงที่สุด” จนหลงลืมการตอบคำถามว่า “ไปเพื่ออะไร”

NASA หรือว่า National Aeronautics and Space Administration จึงถูกตั้งขึ้นแยกมาจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ เพื่อแยกกิจการการสำรวจอวกาศในฝั่งผลเรือนกับการทหาร อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 1960-1980 คนที่จะไปอวกาศยังคงเป็นอดีตทหารหรืออดีตนักบินรบมากกว่า อาชีพอื่นที่ได้ไปอวกาศ และได้ไปดวงจันทร์ก็คือนักธรณีวิทยา โดยคุณ Harrison Schmitt ในเที่ยวบิน Apollo 17

หลังจากยุค Apollo เหตุผลการไปอวกาศก็เริ่มหลากหลายขึ้น เพราะอเมริกาเริ่มเห็นการพัฒนาทางเทคโนโลยี, สังคม, วัฒนธรรม ที่เป็นมรดกจากโครงการ Apollo มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือคำพูดของ นักบินอวกาศ Edgar Mitchell ที่เคยพูดเอาไว้บนวงโคจรของดวงจันทร์ว่า “เมื่อมองจากดวงจันทร์แล้ว การเมืองระหว่างประเทศกลายเป็นเรื่องน่ารักไปเลย คุณจะอยากลากคอพวกนักการเมืองออกมาตรงนี้แล้วบอกว่า ดูนั่นสิ อีพวกเหี้ย” ในขณะเดียวกันคำพูดแนว ๆ นี้ก็ออกมาจากนักบินอวกาศมากมาย และภาพถ่าย Earth Rise หรือภาพโลกกำลังขึ้นจากขอบฟ้าของดวงจันทร์ ก็ทำให้เราเริ่มรู้ว่าจริง ๆ แล้วเรานั้นตัวเล็กแค่ไหน

อวกาศที่เคยเป็นเรื่องของสงคราม กลายเป็นว่ามีอำนาจต่อสิ่งที่มนุษย์ให้ค่า และตรงกับแนวคิดการให้คุณค่า “มนุษยชาติ” อำนาจ Soft Power นี้ จึงมีอิทธิพลไม่แพ้ Hard Power หรือพลังของชาติมหาอำนาจ หรือทหาร ซึ่งภายหลังสองอำนาจนี้จะมาคานกัน และทำให้การสำรวจอวกาศเป็นแบบที่เราเห็นทุกวันนี้

แต่ในตอนนั้น จะดีแค่ไหนถ้าคนที่ได้ไปอวกาศนั้นเยอะขึ้น หลากหลายขึ้น นี่คงเป็นคำถามที่สำคัญที่สุดของยุค และการออกแบบกระสวยอวกาศที่จะพานักบินอวกาศกลับสู่อวกาศในรอบ 7 ปี ของสหรัฐฯ ก็ไม่ลืมที่จะคิดถึงพลังของการได้เห็นโลกจากอวกาศ

กระสวยอวกาศ จุดเปลี่ยนสำคัญของการท่องอวกาศ

แนวคิดจาก Sci-Fi นั้นส่งผลต่อการออกแบบยานอวกาศอย่างมาก จริง ๆ แล้วแนวคิดของ Space Plane หรือเครื่องบินอวกาศนั้นมีมาตั้งแต่ในยุคแรก ๆ ของการออกแบบจรวดแล้ว ซึ่งในช่วงปี 1970s ตอนนั้น NASA เองมีความหวังในการสร้างยานอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะจรวด Saturn V ที่ทำขึ้นมาเพื่อโครงการ Apollo ในตอนนั้น ไม่ได้แคร์ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ แคร์แค่ว่าจะทำอย่างไรให้ส่งคนไปดวงจันทร์ได้ก่อนสิ้นทศวรรษ 60s ตามคำประกาศของ John F. Kenndy และเมื่อโครงการ Apollo จบลงอเมริกาก็มีโครงการ Sky Lab ที่ไม่ได้สร้าง Impact มากและผลาญภาษีประชาชนไปจำนวนมหาศาล เนื่องจากการออกแบบที่ไม่สามารถใช้งานซ้ำได้ และเมื่อ NASA ต้องสร้างยานอวกาศอีกครั้งหนึ่ง การออกแบบยานอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก

อีกอย่างก็คือกระสวยอวกาศนั้น ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไกลถึงดวงจันทร์ ทำให้มันสามารถมีขนาดใหญ่มาก ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็น Capsule เล็ก ๆ เหมือนยาน Apollo ที่อยู่บนจรวด Saturn V และวัตถุประสงค์ของกระสวยอวกาศ ก็เพื่อที่จะเป็นเหมือนกับ “Space Truck” หรือรถบรรทุกที่คอยส่งของระหว่างโลกกับอวกาศ ดังนั้น มันจึงได้รับการออกแบบให้มีขนาดที่ใหญ่มากพอที่จะบรรทุก Payload ขนาดใหญ่ขึ้นไปได้ และสามารถจุเอานักบินอวกาศได้มากถึง 7 คน ซึ่งนับว่ามากที่สุด มากกว่ายาน Soyuz ของรัสเซีย และยาน Apollo ของสหรัฐฯ เอง ที่จุดนักบินได้แค่ 3 คนเท่านั้น ซึ่งประโยชน์ก็คือในการปล่อย 1 ครั้ง มันสามารถพาเอาคนถึง 7 คนให้ไปท่องอวกาศได้ เป็นการเพิ่มจำนวนคนที่เคยไปอวกาศให้กลับมาถ่ายทอดเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนบนโลกได้ด้วย

ดังนั้นจริง ๆ แล้วแค่การออกแบบตัวกระสวยอวกาศเองจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยเปิดโอกาสให้การเข้าถึงอวกาศง่ายขึ้น

  • ใช้งานซ้ำได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการปล่อยแต่ละครั้ง (ซึ่งภายหลังพบว่าไม่ช่วยเพราะปัญหาจุกจิก – ฮา)
  • สามารถใช้งานได้หลากหลายภารกิจ ไม่ต้องออกแบบยานอวกาศหรือจรวดใหม่ แต่ก็สามารถใช้ได้ตั้งแต่การปล่อยดาวเทียม, การทำการทดลองบน Low-Earth Orbit, การปล่อยยานอวกาศไปดาวอื่น, การไปเชื่อมกับสถานีอวกาศ, การไปขโมยสถานีอวกาศ (ฮา) แถมยังมีแขนกล Canadarm ที่ทำงานคล้ายกับแขนมนุษย์ ช่วยให้การหยิบจับสิ่งของในอวกาศง่ายขึ้นไปอีก
  • สามารถบรรทุกนักบินได้ 7 คน ทำให้นักบินอวกาศ 1 คนไม่ต้องเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว ถ้าตอน Apollo ก็คือแม่งต้องเป็นทั้งตากล้อง ทั้งคนขับยาน ทั้งนักวิทยาศาสตร์ ทั้งหมอ ทั้งโปรแกรมเมอร์ ทำได้ทุกอย่างทรงพระปรีชารอบด้าน แต่พอใน 1 เที่ยวมีนักบิน 7 คน ก็เลยสามารถมีหน้าที่ที่เฉพาะเจาะจงต่อภารกิจนั้น ๆ ได้ และมี Payload Specialist มาดูแลการทำงานของภารกิจนั้น ๆ โดยเฉพาะ
  • มีส่วนเก็บของที่กว้างมาก สามารถนำเอาของที่ไม่จำเป็นต่อภารกิจ แต่จำเป็นต่อการสร้างแรงบันดาลใจขึ้นไปได้ เช่น จดหมายของนักเรียน ตุ๊กตาของเด็ก ๆ เป็นต้น (ในภารกิจ Apollo ก็มี แต่จะเน้นไปที่ของที่มีความสำคัญต่อการทูต เช่น ธงชาติ และหินดวงจันทร์ที่ไทยทำหายไปแล้ว)

ซึ่งทั้งหมดนี้ อยู่ในการออกแบบของกระสวย แต่ในขณะเดียวกัน นักบินในโครงการกระสวยอวกาศก็ถูกทำให้มีความหลากหลายขึ้นด้วย

โครงการการคัดเลือกนักบินอวกาศที่มีความหลากหลายมากที่สุด

ในหนังสือเรื่อง NASA’s First Space Shuttle Astronaut Selection: Redefining the Right Stuff ที่เขียนโดย  David J Shayler และ Colin Burgess ได้รวมรวมเอาเรื่องราวที่น่าสนใจเบื้องหลังการเลือกนักบินอวกาศกลุ่มแรกที่จะขึ้นบินในยุคของกระสวย ทั้ง 35 คน หรือ NASA Astronaut Group 8 ที่มีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า TFNG หรือ Thirty-Five New Guys (ล้อกับศัพท์ทหารอเมริกา ว่า FNG หรือ Fucking New Guy – ไอ้เด็กใหม่)

ไอ้เด็กใหม่ 35 คนนี้ นับว่ามีความหลากหลายมาก หนึ่งในนั้นก็คือ Jeffrey A. Hoffman ซึ่งเราเคยเจอในงาน SpaceCHI 2021 และได้พรีเซนต์ภารกิจ MESSE ให้คุณ Jeff ฟังด้วย ซึ่งเขาก็เป็นนักบินอวกาศยิวคนแรกจากฝั่งสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมี คุณ Sally Ride นักบินอวกาศหญิงคนแรก และหลังจากที่ได้มีการประกาศว่าคุณ Sally เป็น Lesbian ทำให้คุณ Sally เป็นหนึ่งในนักบินอวกาศ LGBT รุ่นแรก ๆ ด้วย (ที่บอกว่ารุ่นแรก ๆ เพราะอาจจะมีหลายคนที่ไม่ได้ประกาศ เนื่องจากค่านิยมทางสังคมในตอนนั้น) แล้วก็ยังมีคุณ Guion Bluford ชายผิวสีคนแรกที่ได้ไปอวกาศ ไม่ใช่แค่นั้น NASA Astronaut Group 8 ยังประกอบไปด้วยความหลากหลายทางอาชีพมาก

Sally Ride, Judy Resnik, Anna Fisher, Kathryn Sullivan และ Rhea Seddon ที่มา – NASA

แถมการเปิดรับสมัครนักบินอวกาศกลุ่มนี้ก็นับว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการประกาศอย่างยิ่งใหญ่ ว่าสมัคร สมัครได้เลย มาเลย แถมยังได้รับการสนับสนุนอย่าง Congressional Black Caucus และมีการออกโฆษณาทางทีวี ซึ่งคุณ Nichelle Nichols นักแสดงผิวสี ที่แสดงเป็น Nyota Uhura ใน Startrek ได้มาแสดงในโฆษณานี้ด้วย ทำให้โครงการ Space Shuttle นั้น ไม่ค่อยมีการต่อต้านเท่าไหร่ ไม่มีม็อบที่เล่นประเด็นเรื่อง Supremacy เท่ายุค Apollo

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้ยุค Apollo จะเป็นจุดที่มนุษย์เดินทางไปไกลที่สุด แต่ยุคของกระสวยอวกาศ เป็นยุคที่นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนภาพการสำรวจอวกาศ

12 สิงหาคม 1981 – กระสวยอวกาศ Columbia ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศในเที่ยวบิน STS-1 นับว่าเป็นเที่ยวบินแรกของกระสวยอวกาศ ในตอนนั้นมีนักบินอวกาศเดินทางขึ้นไปด้วย 2 คนได้แก่ John Young ที่เคยขึ้นบินตั้งแต่สมัย Gemini และครองตำแหน่งบินกับ Apollo ถึง 2 ครั้ง ได้แก่ Apollo 10 และ Apollo 16 , กับนักบินอวกาศอีกคนก็คือ Robert Crippen ทั้งคู่ใช้เวลาในอวกาศ 2 วัน บน Low-Earth Orbit และกลับลงมาบนโลกได้สำเร็จ เปิดฉากยุคใหม่ของการท่องอวกาศ หลังจากที่นับตั้งแต่เที่ยวบิน Apollo-Soyuz (รัสเซีย: Soyuz-Apollo) ประสบความสำเร็จในปี 1975 สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ส่งเที่ยวบินใดขึ้นไปอีกเลย

การบินขึ้นครั้งแรกของกระสวยอวกาศ Columbia ในภารกิจ STS-1 พาเอานักบินอวกาศ John Young และ Robert Crippen ไปอวกาศ ในเที่ยวบินทดสอบครั้งแรก วันที่ 12 เมษายน 1981 ที่มา – NASA

หลังจากความสำเร็จของ STS-1 นักบินอวกาศกลุ่ม NASA Astronaut Group 8 ก็ได้เริ่มขึ้นสู่อวกาศ กับ STS เที่ยวถัด ๆ ไป โดยมีสถิติสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายได้แก่

  • Sally Ride กลายเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ในเที่ยวบิน STS-7 ในเดือนมิถุนายนปี 1983
  • Guion Bluford กลายเป็นนักบินอวกาศ African-American คนแรก ในเที่ยวบิน STS-8 ในเดือนสิงหาคม 1983
  • ภารกิจ STS-9 ในปี 1983 เป็นภารกิจแรกที่ NASA พาเอานักบินอวกาศจากฝั่งยุโรป หรือ ESA เดินทางขึ้นสู่อวกาศ คือ Ulf Merbold จากเยอรมนี ประเทศสมาชิก ESA
  • ในเที่ยวบิน STS-41-G ในปี 1984 นับว่าเป็นเที่ยวบินแรกที่มีนักบินหญิงเดินทางถึง สองคน ได้แก่ Sally Ride และ Kathryn Sullivan และ Sullivan ก็ได้เป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกที่ได้ทำ EVA จากฝั่งสหรัฐฯ
  • Jeffrey Hoffman เป็นนักบินอวกาศยิวคนแรกจากฝั่งสหรัฐฯ ในเที่ยวบิน STS-51-D ปี 1985
  • Sultan bin Salman bin Abdulaziz Al Saud  เป็นนักบินอวกาศชาวอาหรับ และชาวมุสลิมคนแรกของโลก ในเที่ยวบิน STS-51-G ปี 1985
  • Rodolfo Neri Vela เป็นชาวแม็กซิกันคนแรกที่ได้เป็นนักบินอวกาศ ในเที่ยวบิน STS-61B ในปี 1985
  • Wubbo Ockels เป็นนักบินอวกาศชาวดัชต์คนแรก ในฐานะชาติสมาชิก ESA และเดินทางไปกับเที่ยวบิน STS-61-A ในปี 1986
  • Ellison Onizuka นักบินอวกาศลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกัน นับว่าเป็นเชื้อสายญี่ปุ่นคนแรกที่ได้ไปอวกาศ ในเที่ยวบิน STS-51-C ในปี 1986
Ulf Merbold นักบินอวกาศคนแรกของ European Space Agency ที่เดินทางขึ้นสู่อวกาศในเที่ยวบิน STS-9 ปี 1983

นับตั่งแต่ปี 1981 จนถึง 1986 นั้น ตลอด 5 ปี มีการปล่อยเที่ยวบินกระสวยอวกาศมากถึง 24 เที่ยวบิน รวมทั้งหมด 125 ที่นั่ง (นับคนซ้ำ) อย่าลืมว่าตัวเลขนี้เกิดขึ้นในเวลา 5 ปีเท่านั้น กับกระสวยอวกาศแค่ 4 ลำ คือ Columbia, Challenger, Discovery, และ Atlantis

คนเดินทางมารอชมการลงจอดของกระสวยอวกาศ STS-4 ในแคลิฟอร์เนีย ที่มา – NASA

ถ้าเปรียบเทียบกับโครงการ Apollo ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 1968 (Apollo 7) – 1972 (Apollo 17) นั้น มีการบินทั้งหมด 10 เที่ยวบิน เที่ยวบินละ 3 คน รวมทั้งหมด 30 ที่นั่ง (นับคนซ้ำ) นับว่า กระสวยอวกาศนั้นมีอัตราการพาคนไปอวกาศที่สูงกว่า Apollo มาก

นักบินอวกาศทำ Space Walk กับแขนกล Canadarm ในเที่ยวบิน STS-64 ปี 1984

อย่างไรก็ตาม ข่าวร้ายที่สุดในยุคแรกเริ่มของกระสวยอวกาศก็คงหนีไม่พ้นโศกนาฏกรรมยาน Challenger ในเที่ยวบิน STS-51-L วันที่ 28 มกราคม 1986 ในเที่ยวบินนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังของการสำรวจอวกาศ เพราะจะเป็นเที่ยวบินแรกที่จะมีคนธรรมดาทั่วไป อาชีพอื่น ที่ไม่ใช่นักบินอวกาศหรือนักวิทยาศาสตร์ ขึ้นไปบนอวกาศ ซึ่งอาชีพนั้นก็คือ “ครู”

ในตอนนั้น NASA ได้ออกโปรแกรม คัดเลือกครูวิทยาศาสตร์จากทั่วประเทศ ทั้งในระดับประถมและมัธยม เพื่อมาเป็นครูคนแรกที่ได้ไปอวกาศ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ และคุณครูที่ได้รับคัดเลือกให้ไปก็คือครู Christa McAuliffe จาก Concord High School ในมลรัฐ New Hampshire เธอผ่านการฝึกและหวังจะบันทึกเรื่องราวการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นมาเล่าให้เด็กฟัง อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสะเทือนใจที่สุดคือการที่เธอไม่ได้มีโอกาสกลับมา STS-51-L ระเบิดขณะปล่อย ต่อหน้าเด็ก ๆ ที่มาชมการปล่อยที่แหลมเคอเนอเวอรัล

คุณครู Christa McAuliffe ขณะกำลังฝึกกับเครื่องบิน T-38 ของ NASA

Christa McAuliffe มีแผนจะ “ทำการเรียนการสอนทางไกลจากอวกาศครั้งแรก” ซึ่งคุณครูเคยให้สัมภาษณ์ว่า นี่นับว่าเป็นการเตรียมการสอนที่เธอตั้งใจมากที่สุดในชีวิต อย่างไรก็ตาม น้องสาวของคุณครู Lisa Bristol ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2016 ว่า แม้เหตุการณ์ความสูญเสียจะผ่านมากว่า 30 ปี แต่ เธอยังเชื่อว่า ครู Christa ยังคงสอนเราอยู่จนถึงทุกวันนี้

หลังจากความสูญเสียนั้น NASA ต้องใช้เวลากว่า 2 ในการพากระสวยอวกาศกลับมาขึ้นบินอีกครั้ง แต่ไม่ใช่แค่ความยากในทางวิศวกรรม ในทางการเมือง สังคม NASA ยังต้องเผชิญกับความกดดันอย่างมาก อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์ The New York Times ได้ลงบทความชื่อว่า Future in Space After the Challenger (16 มีนาคม 1986) ได้ลงสรุปเหตุการณ์และมุมมองต่าง ๆ เราจะพบว่า บทความพูดถึงด้านบวก และความหวังมากกว่าการโจมตีความเสี่ยงของการสำรวจอวกาศ หนึ่งในตอนท้ายสรุปไว้ว่า “With the loss of the Challenger and its crew of seven, we learned, to our surprise, how much these adventures into space, into the future, mean to us as a people.”

การระเบิดของกระสวยอวกาศ Challenger ที่มา – NASA

กระสวยอวกาศกลับมาขึ้นบินอีกครั้ง ในเดือน กันยายนปี 1988 ในรอบนี้กระสวยอวกาศ Discovery เป็นการกลับสู่อวกาศอย่างสวยงามสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวอเมริกัน และในเที่ยวบิน STS-19 ของกระสวยอวกาศ ก็ได้มีการนำกล้อง IMAX ขึ้นไปบันทึกความสวยงามของอวกาศ และนำมาทำเป็นภาพยนตร์และสื่อต่าง ๆ สร้างความมีส่วนร่วมให้กับภาคประชาชน ทำให้อวกาศสามารถเข้าถึงได้ง่าย และเป็นการผจญภัยที่สวยงาม

อ่าน – ทำไมกระสวยอวกาศถึงเรียงลำดับตัวเลขภารกิจกันแปลก ๆ

หลังจากนั้นในเที่ยวบิน STS-31 ในปี 1990 กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ก็ได้ ถูกนำสิ่งขึ้นไป และกลายเป็นเครื่องมือที่นอกจากจะช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาจักรวาลแล้ว ยังช่วยให้คนทั่วไปได้เห็นภาพถ่ายทางดาราศาสตร์มากมาย ในปี 1992 NASA ได้สร้างกระสวยอีกลำขึ้นมาทดแทน Challenger ที่ชื่อว่า Endeavour นอกจากนี้ในปี 1998 เป็นต้นมา กระสวยอวกาศยังมีบทบาทสำคัญในการสร้าง “สถานีอวกาศนานาชาติ” ด้วยการบรรทุกโครงสร้างของสถานี ขึ้นไปกับส่วนบรรทุกของยาน และเชื่อมต่อมันเข้าด้วยกันด้วยแขนกล Canadaarm ในช่วงนั้น เราจะได้เห็นภาพของกระสวยอวกาศปรากฎตามสื่อมากมาย ตั้งแต่สารคดี ภาพยนตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะ Armageddon (1998), Space Cowboys (2000) และ The Core (2003)

กล้อง IMAX ถูกนำขึ้นไปกับกระสวยอวกาศ และบันทึกภาพมาสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดี

อีกหลายสิ่งที่ต้องกล่าวถึงก็เช่น การเชื่อมต่อของกระสวยอวกาศเข้ากับสถานีอวกาศ Mir ของรัสเซีย เปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือการวิจัยนานาชาติ หรือการใช้งานกระสวยอวกาศเพื่อขึ้นไปซ่อมกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ที่ว่าว ก็ได้ช่วยชีวิตกล้อง Hubble ไว้ ทำให้ NASA ไม่ต้องเปลืองงบในการส่งกล้องตัวใหม่ขึ้นไป แถมการร่วมงานกับ ESA ในการทำ Spacelab ที่เป็นโมดูลทดลองในกระสวย ก็ช่วยให้สหรัฐฯ เหมือนกับมีสถานีอวกาศเป็นของตัวเองที่ใช้ทำการทดลองต่าง ๆ ในอวกาศได้

STS-31 ในปี 1990 กับภารกิจการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ขึ้นสู่วงโคจร ที่มา – NASA

อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียก็ได้เกิดขึ้นอีกในปี 2003 เมื่อเกิดการสูญเสียของกระสวยอวกาศ Columbia ในขณะกลับสู่โลก โดยนักบินอวกาศ ทั้ง 7 คน เสียชีวิต หนึ่งในนั้นคือ Ilan Ramon ชาวอิสราเอลแท้ ๆ คนแรกที่จะได้ขึ้นไปบนอวกาศ เสียชีวิต

กระสวยอวกาศกลับมาขึ้นบินอีกครั้งในปี 2005 เที่ยวบิน STS-114 อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 1998 ที่เริ่มการก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ เที่ยวบินกระสวยอวกาศส่วนมากก็ถูกใช้งานเป็นอุปกรณ์สำคัญในการก่อสร้างตัวสถานีอวกาศนานาชาติมาตลอด ยกเว้นเที่ยวบิน STS-125 ในปี 2009 ที่เป็นการขึ้นไปซ่อมกล้อง Hubble ครั้งสุดท้าย และเมื่อสถานีอวกาศนานาชาติสร้างเสร็จในปี 2011 NASA ก็ตัดสินใจปลดระวางกระสวยอวกาศ โดยเที่ยวบินสุดท้ายเกิดขึ้นกับกระสวย Atlantis ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2011 ปิดฉากการเดินทางนาน 30 ปี ของกระสวยอวกาศ

อ่าน – ประกอบโมดูลใหม่ ISS อย่างไร ในยุคที่ไร้กระสวยอวกาศ เบื้องหลังการต่อ Nauka เข้ากับ ISS

กระสวยอวกาศ Atlantis ลงจอดหลังภารกิจ STS-135 เสร็จสิ้น เป็นการปิดฉากการเดินทางของกระสวยอวกาศ ที่มา – NASA

สรุปสถิติของกระสวยอวกาศทั้ง 5 กับเที่ยวบินทั้งหมด 135 เที่ยวบิน รวมทั้งหมด 833 ที่นั่ง (นับคนซ้ำ) และ 355 คน หากไม่นับคนซ้ำ รวมเป็นนักบินอวกาศจาก 16 ประเทศ ชาย 306 คน หญิง 49 คน (และ 14 คน เสียชีวิต) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลา 30 ปี นับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีคนเดินทางไปอวกาศมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และห่างจากการไปอวกาศครั้งแรกของมนุษย์ไม่ถึง 50 ปี รวมเงินที่ใช้ไปกับโครงการทั้งสิ้น สองแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (6.6 ล้านล้านบาท)

กระสวยอวกาศเปิดทางสู่การสำรวจอวกาศโดยเอกชน

จากที่อ่านมา เราจะเห็นว่ากระสวยอวกาศนั้นเปิดทางสู่ความร่วมมือกับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการทำแขนกลร่วมกับ CSA หรือ Candada Space Agency, หรือการทำโมดูลและ Cargo ร่วมกับ ESA หรือแม้กระทั่งการนำกระสวยไป Dock กับสถานี Mir ยังไม่รวมว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิด International Space Station อีก แต่นอกจากความรวมมือกับหน่วยงานรัฐแล้ว กระสวยอวกาศยังได้เปิดโอกาสให้กับเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วม เริ่มต้นจาก Commercial Space Launch Act of 1984 ซึ่งเป็น Act แรกที่พูดถึงเรื่องการใช้งานอวกาศเพื่อการค้า, หลังจากนั้น NASA ก็ได้ใช้กระสวยอวกาศในการรับจ้างปล่อยดาวเทียมด้วยเช่นกัน หนึ่งในภาพที่โด่งดังก็คือภาพของนักบินอวกาศ Dale Gardner ชูป้าย For Sale กับดาวเทียม Palapa B-2 และ Westar 6 ในภารกิจที่พวกเขาต้องไปเอาดาวเทียมที่พังแล้วกลับมาซ่อมแล้วปล่อยใหม่

และที่สำคัญก็คือ โครงการ Commercial Resupply Program ที่ NASA ประกาศให้ทุนบริษัทเอกชนในการสร้างยานอวกาศเพื่อมาทดแทนกระสวยอวกาศ ซึ่งสองบริษัทที่ได้ทุนไปก็คือ SpaceX และ Orbital ATK (Orbital Science ในตอนนั้น) และได้พัฒนายาน Dragon และ Cygnus มาแทน

ทุุกวันนี้เราสามารถส่งการทดลองขึ้นไปสู่อวกาศได้ง่าย ๆ โดยติดต่อกับบริษัทที่เป็น Provider เช่น Nanorack หรือมีโครงการต่าง ๆ มากมายที่เปิดให้เราสามารถส่งการทดลองไปอวกาศได้ เช่น Bartolomeo Platform บน ISS ที่ให้ประเทศกำลังพัฒนา ทดลองงานอวกาศ ในราคาแค่หลักสิบล้าน แต่ถ้าจะให้นับจุดแรกเริ่มของการเปิดโอกาสให้นักวิจัยสามารถส่ง Commercial Payload ขึ้นไปบนอวกาศได้อย่างอิสระจริง ๆ ก็น่าจะต้องย้อนกลับไปพูดถึงโครงการ ISS National Lab ที่ก่อตั้งในปี 2005 หลังจากที่กระสวยอวกาศได้นำโมดูล Destiny ขึ้นไปติดตั้ง (ปัจจุบัน Nanorack ก็เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการ ISS National Lab) และปัจจุบันโครงการ ISS National Lab ก็ยังถูกใช้งานเพื่อทำการวิจัยต่าง ๆ โดยจากทั้งหน่วยงานรัฐและหน่วยงานเอกชนอยู่

สรุปแล้วกระสวยอวกาศคือจุดเปลี่ยนของการสำรวจอวกาศ ในเวลาแค่ 30 ปี

ถ้าโครงการ Apollo นับว่าเป็นการทำลายขีดจำกัดด้านเทคโนโลยี (ก่อให้เกิดคอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบัน, เทคโนโลยีต่าง ๆ ) กระสวยอวกาศ ก็คือการทำลายขีดจำกัดด้านการเข้าถึงอวกาศ ในระยะเวลา 30 ปี มันได้พาคนไปอวกาศมากถึง 833 ที่นั่ง ด้วยยานอวกาศเพียงแค่ 5 ลำ ปล่อยดาวเทียมไปเป็นร้อย แถมยังมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานโครงการ Commercial Space Exploration ในปัจจุบัน ยังไม่นับร่วมภาพที่ออกมาผ่านทางสื่อต่าง ๆ ตลอดกว่า 30 ปี ที่อาจจะนับได้ว่า กระสวยอวกาศ คือยานอวกาศที่คนรู้จักมากที่สุดก็ได้

อนาคนหลังจากนี้ นับว่าเป็นยุคใหม่ เมื่อยาน Dragon ได้เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติครั้งแรกในปี 2012 ก็นับว่าเป็นจุดจบแห่งยุค (The end of an era) ที่หลังจากนี้ เราจะก้าวเข้าสู่ยุคการสำรวจอวกาศโดยเอกชน และการเปิดโอกาสให้คนนับล้านได้เข้าถึง ได้สัมผัส ได้มองโลกจากอวกาศ และช่วยให้เราทุกคนสามารถครอบครองอวกาศได้จริง ๆ ไม่จำกัดอยู่แค่ชาติมหาอำนาจ หรืออำนาจฝั่ง Hard Power เพียงอย่างเดียว

 “Earth is the cradle of humanity, but one cannot remain in the cradle forever.” – Konstantin Tsiolkovsky

อ่าน – Democratizing Access to Space อวกาศเป็นของราษฎรและมนุษยชาติ

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.