รู้จักกับ Blood Moon , Blue Moon จันทรุปราคาที่จะเกิดขึ้นวันที่ 31 มกรานี้ คืออะไร ดูยังไง

หลายคนคงทราบแล้วว่าในวันที่ 31 มกราคม 2018 นี้จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา ซึ่งคำว่าจันทรุปราคาหรือ Lunar Eclipse นั้นคงไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาวกันมาก เพราะทุกคนก็คงรู้กันแล้วว่าจันทรุปราคาคือปรากฏการที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาในเงามืดของโลกหรือในจุดที่แสงจากดวงอาทิตย์ไม่สามารถสะท้อนให้เห็นดวงจันทร์ได้ ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในคืนพระจันทร์เต็มดวงในโอกาสพิเศษที่โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ มาอยู่ในแนวเดียวกันพอดี (สาเหตุที่เราไม่เห็นจันทรุปราคาทุกเดือนเพราะโอกาสที่ทั่งสามจะเรียงตัวกันพอดี เกิดขึ้นแค่ 1-3 ครังต่อปีเท่านั้น)

แต่สิ่งที่พ่วงมาจากการเกิดจันทรุปราคาครั้งนี้ไม่ได้มีแค่จันทรุปราคา แต่ดันมีคำว่า Blood Moon และ Blue Moon และ Super Moon มาด้วย ? สรุปแล้วคือยังไงกันแน่ แล้ว Blood Moon กับ Blue Moon มันต่างกันยังไง สรุปแล้วพระจันทร์จะสีเลือดหรือสีฟ้า ในบทความนี้ทีมงาน SPACETH.CO จะมาสรุปให้ฟังว่าปรากฏการที่จะเกิดขึ้นนี้คืออะไรกันแน่

สรุปจะ Blood Moon หรือ Blue Moon หรือ Super Moon

อธิบายง่าย ๆ ก่อนจะงง ทั้ง 3 นี้มีความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง และใช้เรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับดวงจันทร์ทั้งนั้น ซึ่งอันนี้ต้องค่อย ๆ เข้าใจกันไปทีละอย่าง

Blue Moon คำหลายคนอาจจะเคยได้ยินสำนวนภาษาอังกฤษ Once in a blue moon ที่แปลว่า โอกาสที่เกิดขึ้นได้ยาก ที่เกิดได้ยากนั้นไม่ใช่เพราะต้องรอให้พระจันทร์เป็นสีฟ้า แต่ เพราะว่า Blue moon ใช้เรียกปรากฏการณ์เมื่อใน 1 เดือน มีพระจันทร์เต็มดวง 2 ครั้ง ซึงเป็น โอกาสที่เกิดขึ้นได้ยากมาก 2-3 ปี ถึงจะเกิดขึ้น 1 ครั้ง และในวันที่ 31 มกราคมนี้ ก็คือการเกิด Blue moon นั่นเอง (ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งแรกของเดือนนี้คือในวันที่ 1 มกราคม)

Super Moon Super Moon เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งมากกว่า Blue moon เพราะ Super Moon คือปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าใกล้โลกกว่าปกติ ทำให้เราเห็น ดวงจันทร์ปรากฏบนท้องฟ้าใหญ่กว่าเดิม 7% ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าไม่เกิดไม่รู้มาก่อนว่าเกิด Super Moon ตาของเราก็แยกไม่ออกอยู่ดี เนื่องจากดวงจันทร์นั้นสว่างมาก ความรู้สึกว่ามันใหญ่ขึ้นจริง ๆ แล้วเรามโนขึ้นมาเอง ถ้าไม่ได้ฟังข่าวหรือมีนักดาราศาสตร์มาบอก เราก็ไม่สังเกตเห็นความแตกต่าง ในวันที่ 31 มกราคมนี้คือวันที่ใกล้กับการเกิด Super moon ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 และ 2 กุมพาพันธ์นี้ (ดังนั้นวันที่ 31 อาจจะยังไม่ใช่ Supermoon 100% แต่ก็ถือว่าเกือบ ๆ)

Super Moon และ Micro Moon ขนาดเปรียบเทียบกัน ที่มา – NASA

Blood Moon ถ้า Blood Moon แปลตรงตัวเลยก็คือ พระจันทร์สีเลือด ฟังแล้วอาจจะดูน่ากลัว แต่ไม่ต้องตกใจปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เมื่อดวงจันทร์ค่อย ๆ เคลื่อนที่เข้าไปในเงามัวของโลกดวงจันทร์จะค่อย ๆ มืดลงและเห็นเป็นแต่เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาในเงามืด (โลกบังดวงจันทร์ 100%) นั้น สิ่งที่เราคาดหวังคือดวงจันทร์จะต้องมืดหมดทั้งดวง แต่จริง ๆ แล้ว ดวงจันทร์จะไม่มืดทั้งดวง เพราะยังมีแสงอาทิตย์บางส่วนส่องผ่านชั้นบรรยากาศของโลกมาเฉพาะแสงช่วงคลื่นสีแดง ทำให้เราเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดง เรียกว่า Blood Moon นั่นเอง (ปรากฏการณ์นี้คล้ายกับตอนที่โลกเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีส้มหรือสีแดงตอนพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตก)

Blood Moon ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 9 ตุลาคม 2014 จากประเทศออสเตรเลีย โดยช่างภาพ Phil Jackson ที่มา – Flickr/Phil Jackson

ปรากฏการณ์ Blood Moon นี้ จะแดงมากแดงน้อยก็ขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ถ้าเกิดความบังเอิญระยะพอดีที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ เราก็จะเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดง

เพราะเหตุนี้ถึงพิเศษและน่าตื่นเต้น

เมื่อปรากฏการณ์ทั้ง 3 นี้เกิดขึ้นพร้อมกันซึ่งนับว่ายากมาก ทำให้นักดาราศาสตร์และผู้สังเกตการณ์ทั่วไปเกิดความสนใจ และรอชมปรากฏการณ์นี้ในวันที่ 31 มกราคม

ภาพแสดงช่วงของการเกิดจันทรุปราคา ที่มา – NASA

และสำหรับประเทศที่เห็นปรากฏการณ์นี้ก็ได้แก่ประเทศในแถบอเมริกาเหนือ เอเชีย และออสเตรเลีย และแน่นอนว่าประเทศไทยของเราก็สามารถเห็นปรากฏการณ์นีได้ ทุกภูมิภาค ทุกจังหวัด 

 

ดูที่ไหน ดูยังไง

ถ้าเกิดท้องฟ้าเปิด (อันนี้ควบคุมอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ต้องเสี่ยงดวงเอา) เราจะสามารถเห็นปรากฏการณ์นี้ได้อย่างชัดเจน โดยตารางการเกิดของปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้จะมีดังนี้

  • 18:10 ดวงจันทร์อยู่เหนือขอบฟ้าและอยู่ภายใต้เงามัวเรียบร้อย
  • 18:48 ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามืด
  • 19:52 ดวงจันทร์ทั้งดวงเข้าไปในเงามืด เริ่มปรากฏ Blood Moon
  • 21:08 ดวงจันทร์เริ่มออกจากเงามืด
  • 22:11 ดวงจันทร์ทั้งบางส่วนออกจากเงามัว
  • 23:09 ดวงจันทร์ทั้งดวงออกจากเงามัว เป็นการสิ้นสุดปรากฏการณ์

เนื่องจากดวงจันทร์นั้นไม่ได้ดูยากอะไรเลย เราสามารถดูดวงจันทร์ผ่านตาเปล่า หรือกล้องสองตาได้ และถ้าใกล้มีกล้อง DSLR และเลนส์ Tele ประมาณ 200 – 300 ขึ้นไป ก็น่าจะสามารถถ่ายภาพดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน

การชมปรากฏการณ์แบบเป็นกลุ่ม

ในต่างจังหวัด NARIT หรือสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้จัดการชมปรากฏกาณ์นี้ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และ สงขลา สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

และในกรุงเทพมหานคร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้จัด กิจกรรมเสวนาพิเศษ Science Café ตอน จันทรุปราคาและความก้าวหน้าทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ซึ่งประกอบ ไปด้วยหัวข้อการเสวนาต่างๆ เช่น การดูจันทรุปราคาเต็มดวง และแนะนากว้างๆ เรื่องดาราศาสตร์พหุพาหะ (multimessenger astronomy) โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันพุธที่ 31 มกราคม 2560 เวลา 15.00 – 16.30 น. ณ ห้อง N101 คณะวิทยาศาสตร์ พญาไท ก่อนร่วมชมจันทรุปราคาเต็มดวง เวลา 19.30 – 21.00 น. สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล 

ทีมงาน SPACETH.CO ก็ได้รับเกียรติจาก ดร.เดวิด รูฟโฟโล ให้เขาไปร่วมงานและร่วมรับชมในครั้งนี้ด้วย และจะเก็บบรรยากาศการเกิดจันทรุปราคาคาทั้งนี้มาฝากผู้อ่านทุกท่านเช่นกัน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.เดวิด รูฟโฟโล

อ้างอิง

Super Blood Moon | NASA

Super Blue Blood-Moon 2018: When, Where and How to See It | Space.com

 

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.