Axiom Space พัฒนาการและเบื้องหลังสู่ความพยายามสร้างสถานีอวกาศเอกชน

เรื่องมันมีอยู่ว่ากิจกรรมในอวกาศทั้งการส่งยานอวกาศไร้มนุษย์หรือแม้แต่การจะส่งมนุษย์ซักคนขึ้นสู่อวกาศ ไม่ว่าจะยังไงก็แล้วแต่มันไม่มีทางเลยจริง ๆ ที่จะไม่พูดเรื่องสงครามเย็น สงครามที่เกิดขึ้นจากความไม่ลงรอยกันระหว่างสองชาติมหาอำนาจที่มีมุมมองและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน ซึ่งกิจกรรมในอวกาศในช่วงนั้นหรือสิ่งที่เรียกว่า Space Race มันเป็นผลจากที่ทั้งสองชาติต่างมีความต้องการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาวุธสงครามเพื่อไว้ชิงความได้เปรียบและเป็นอำนาจต่อรองระหว่างชาติ ตัวอย่างง่าย ๆ ที่หลายคนรู้จักกันคือขีปนาวุธข้ามทวีปพิสัยไกลหรือ Intercontinental ballistic missile ซึ่งพื้นฐานมันก็คือจรวดแหละ เห็นได้ว่าในช่วงแรกที่มีความพยายามนำจรวดที่ตอนนั้นยังเป็นแค่อาวุธมาพยายามประยุกต์ใช้กับงานทางด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งต่อมามันได้ถูกต่อยอดเพื่อใช้งานทางด้านอวกาศอย่างจริงจัง

การที่จรวดถูกหยิบขึ้นมาเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักในการศึกษาเพื่อหาทางชิงความได้เปรียบของเทคโนโลยีในยุคนั้นส่งผลให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ดาวเทียม” ขึ้น เรียกได้ว่าดาวเทียมเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของพัฒนาการทางเทคโนโลยี ที่แม้ในช่วงแรกจะถูกใช้งานเพื่องานทางการทหาร แต่ตลอดระยะเวลาเกือบ 70 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ดาวเทียมดวงแรกอย่าง Sputnik 1 ถูกส่งขึ้นในปี 1957 มันก็ได้พิสูจน์ว่ามันเป็นได้มากกว่านั้น การส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศหรือจริง ๆ ต้องเรียกว่าวงโคจร มันได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามใช้ประโยชน์จากฟิสิกส์เพื่อส่งวัตถุที่เป็นมากกว่าแค่การส่งสิ่งของขึ้นสู่อวกาศ หนึ่งในนั้นคือแนวคิดที่จะส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ

หลังจากที่ทั้งสองชาติต่างได้ทดลองส่งสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ ขึ้นสู่อวกาศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีจรวดสำหรับมนุษย์ไปในตัว ในปี 1961 Yuri Gagarin ได้กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ ความตึงเครียดในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศได้ได้เพิ่มความรุนแรงขึ้น ราวหนึ่งปีหลังจากนั้นในช่วงปลายปี 1962 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา John F. Kennedy ได้ออกประกาศสู่สายตาชาวโลกว่า สหรัฐฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะนำมนุษย์ไปลงเยือนดวงจันทร์ให้ได้ก่อนปี 1970 ทำให้ต่อมาทางสหภาพโซเวียตได้เริ่มโครงการพัฒนาจรวดสำหรับไปดวงจันทร์ของตัวเองตาม เป็นหลักฐานว่าโซเวียตยอมเล่นด้วยและเป้าหมายในการชนะ Space Race คือการนำมนุษย์ไปพิชิตดวงจันทร์​

เมื่อทั้งสองชาติได้ทุ่มเม็ดเงินทรัพยากรเพื่องานทางด้านอวกาศมากขึ้นเพื่อการพิชิตดวงจันทร์ ทำให้ทั้ง NASA และโครงการอวกาศโซเวียตมีอิสระในการทดลองและพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้กว้างขึ้น ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ถูกพัฒนาออกมาแถมทางโครงการอวกาศโซเวียตยังเป็นฝ่ายเริ่มเองคือ “สถานีอวกาศ” โดยเหตุผลที่มันถูกพัฒนาเป็นเพราะความต้องการทำการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์และเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหารในอวกาศ หลังจากนั้นไม่นานสถานีอวกาศ Salyut 1 ตามมาด้วย Skylab ได้กลายเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของทั้งสองฝ่าย ซึ่งสถานีอวกาศในยุคถัดมาถูกสร้างขึ้นเพื่องานทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นแทนที่งานทางการทหาร

สถานีอวกาศ Salyut 1 ที่มา – RKK Energia
สถานีอวกาศ Skylab ที่มา – NASA

จริง ๆ อยากเล่าความเป็นมาของสถานีอวกาศก่อนที่จะมีสถานีอวกาศแบบที่เห็นในปัจจุบันมากกว่านี้ แต่ถ้าเล่ามันจะยาวมากจนจะไม่ใช่บทความที่จะเล่าเกี่ยวกับ Axiom Space แต่ที่เล่ามาก่อนหน้านี้คืออยากให้เห็นว่าสถานีอวกาศเกิดขึ้นเพราะความต้องการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อชิงความได้เปรียบของชาติมหาอำนาจ ซึ่งส่งผลให้ทุกวันนี้มีสถานที่ที่ถูกใช้งานเพื่อการทดลองทางวิทยาศาตร์ในอวกาศและในยุคถัดไปมันกำลังจะเป็นมากกว่าสถานที่เพื่อการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม

การมาถึงของยุค New Space ยุคที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

สถานีอวกาศนานาชาติหรือ International Space Station นับเป็นสถานีอวกาศที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือจากหลายชาติที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศได้ด้วยตัวเองในช่วงราวยุค 80 ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ชาติยุโรปที่เป็นสมาชิก European Space Agency รวมทั้งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นความพยายามขั้นที่สองหลังจากความสำเร็จของโครงการ Shuttle-Mir โครงการสถานีอวกาศที่ทดสอบการทำงานร่วมกันระหว่างชาติ โดยทั้งโครงการ Shuttle-Mir และ ISS ต่างมีกระสวยอวกาศและ Soyuz เป็นยานอวกาศที่นักบินอวกาศใช้เพื่อเดินทางขึ้นสู่สถานี (สำหรับ ISS นับแค่ในช่วงทศวรรษแรก) นับเป็นหนึ่งในสิ่งที่เปิดประตูสู่การสำรวจอวกาศยุคใหม่

ภาพถ่ายกระสวยอวกาศ Atlantis ภารกิจ STS-71 ขณะเชื่อมต่ออยู่กับสถานีอวกาศ Mir โดยลูกเรือภารกิจ Mir-19 บนยาน Soyuz TM-21
ภายถ่ายกระสวยอวกาศ Endervour ภารกิจ STS-134 ขณะเชื่อมต่ออยู่กับสถานีอวกาศนานาชาติ โดยลูกเรือ Expedition 27 บนยาน Soyuz TMA-20 

จนกระทั้งในปี 2004 ช่วงเวลาที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ George W. Bush ได้ประกาศว่าจะทำการปลดประจำการกระสวยอวกาศทุกลำหลังการก่อสร้าง ISS สิ้นสุดลง ซึ่งลากยาวมาถึงปี 2011 กระสวยอวกาศ Atlantis ได้เดินทางสู่ ISS ในภารกิจ STS-135 ซึ่งเป็นภารกิจครั้งสุดท้ายก่อนการปลดประจำการของกระสวยทุกลำในโครงการนี้ เท่ากับว่าสหรัฐฯ จะไม่มียานอวกาศสำหรับส่งนักบินสู่ ISS หลังจากนั้น แต่อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น โดยระหว่างช่วงปี 2004 จนถึง 2011 ทาง NASA ได้พยายามหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ฝั่งสหรัฐฯ ยังสามารถส่งนักบินและทำการเติมเสบียงให้กับ ISS ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งได้มีบริษัทเอกชนหลายแห่งในสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนายานอวกาศรุ่นใหม่ หนึ่งในนั้นคือ Boeing ที่พัฒนายาน Starliner และ SpaceX ที่เริ่มพัฒนายาน Dragon สำหรับเติมเสบียงให้กับ ISS ก่อนที่จะต่อยอดมาเป็นยานสำหรับส่งนักบินอวกาศ

ทีนี้ หลังจากความสำเร็จของ SpaceX ทั้งเรื่องของการส่งยานอวกาศเติมเสบียงให้กับ ISS และการส่ง Payload ขึ้นสู่วงโคจรเชิงพาณิชย์ มันได้นำไปสู่ไอเดียที่จะหาผลประโชยน์จากการทำธุรกิจด้านอวกาศที่เกิดมากมาย ทั้งในเชิงของการส่งจรวดเชิงพาณิชย์แบบที่บริษัทรายใหญ่ ๆ ในตลาดทำ การทำให้อวกาศเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายโดยทำให้ต้นทุนการส่งจรวดถูกลง และไอเดียสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้คือการท่องเที่ยว

ไอเดียของการท่องเที่ยวในอวกาศมีมาค่อนข้างนานเลยทีเดียว เรียกได้ว่า Concept ของมันเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับแนวคิดของการเดินทางในอวกาศในสมัยที่มนุษย์ยังไม่มีจรวดที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการขึ้นสู่อวกาศ (โดยที่เด่น ๆ ในยุคนั้นจะเป็นแนวคิดของ Konstantin Tsiolkovsky นักวิทยาศาสตร์จรวดชาวรัสเซีย อย่างแนวคิดการสร้างแรงโน้มถ่วงเทียมในอวกาศก็มาจาก Tsiolkovsky เช่นกัน)

ภาพถ่ายสมาชิกลูกเรือยาน Soyuz TM-32 โดยมีคุณ Dennis Tito อยู๋ทางซ้ายของภาพ ที่มา – NASA

แต่การท่องเที่ยวในอวกาศครั้งแรกกลับเกิดขึ้นจริงเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 21 นี่เอง โดยไอเดียเกิดขึ้นโดยคุณ Dennis Tito นักธุรกิจชาวอเมริกันและเป็นอดีตวิศวกร JPL ที่มีความต้องการในการเดินทางขึ้นสู่อวกาศ ย้อนกับไปในช่วงปลายยุค 1990 พอดีกับช่วงที่รัสเซียต้องการใช้เงินในการซ่อมบำรุงสถานีอวกาศ Mir ความพยายามในการนำนักท่องเที่ยวขึ้นสู่อวกาศจึงเกิดขึ้น แต่แล้วหลังมีคำสั่งปลดประจำการสถานีอวกาศ Mir โดยให้มัน Deorbit เผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ จึงมีการเปลี่ยนแปลงแผนโดยการพาคุณ Tito ขึ้นสู่ ISS แทนในช่วงเดือนเมษายน 2001 กลายเป็นครั้งแรกที่มีการเดินทางขึ้นสู่อวกาศเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งคุณ Tito ได้จ่ายเงินไปเป็นจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ

Axiom Space บริษัทเอกชนที่ได้รับเลือกโดย NASA ในการสร้างโมดูลสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ชิ้นแรก

กลับไปในช่วงปี 2005 Michael T. Suffredini ได้มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station Program Manager) ของฝั่ง NASA ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทในการดูแลภาพรวม ทั้งการจัดการ การพัฒนาและการปฏิบัติการของ ISS ซึ่งแน่นอนว่าเป็นตำแหน่งงานที่มีความสำคัญต่องานด้านสถานีอวกาศอย่างมาก การได้ดำรงในตำแหน่งนี้ทำให้คุณ Suffredini เรียนรู้ถึงการจัดการภาพรวมของสถานีอวกาศมากขึ้น จนกระทั้งในปี 2015 เขาได้ลาออกจาก NASA

พอดีกับคุณ Kam Ghaffarian ชายชาวอิหร่านผู้ที่เติบโตมากับการดูเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างการลงจอดบนดวงจันทร์ของภารกิจ Apollo 11 ทำให้ผู้ชายคนนี้มีความหลงไหลในงานด้านอวกาศ และได้นำมาสู่การเข้าศึกษาและทำงานในอุตสาหกรรมการบินอวกาศบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา คุณ Ghaffarian ได้ผ่านงานด้านที่เกี่ยวข้องมาหลายงานไม่ว่าจะเป็นการได้เข้าทำงานที่บริษัท Lockheed Martin หรือแม้กระทั้งแผนกการบินอวกาศของบริษัท Ford และยังได้ออกมาร่วมตั้งบริษัททางเทคโนโลยีและวิศวกรรมอีกหลายแห่ง ซึ่งในปี 2016 คุณ Ghaffarian ก็ได้ร่วมก่อตั้งบริษัท Axiom Space ร่วมกับคุณ Suffredini ที่เพิ่งลาออกจาก NASA มาได้ไม่นาน

Michael T. Suffredini CEO ของบริษัท
Kam Ghaffarian ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท

เกร็ดที่ควรรู้ – คุณ Kam Ghaffarian ก็เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Intuitive Machines บริษัทเอกชนแห่งแรกที่ได้นำยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ด้วยยาน Nova-C “Odysseus” ในภารกิจ IM-1 และยังเป็นหนึ่งในยานลงจอดที่เข้าใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์มากที่สุดลำหนึ่ง

ดั้งเดิมแล้ว เหตุผลของการก่อตั้ง Axiom Space เกิดขึ้นจากแนวคิดที่อยากจะทำสถานีอวกาศที่ผู้คนต่างสามารถเข้าถึงได้ และความต้องการที่จะทำให้มนุษย์สามารถขึ้นไปอยู่อาศัยกันบนอวกาศ เพื่อให้แนวคิดที่ว่าเป็นจริงทั้ง Suffredini และ Ghaffarian ก็ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ขึ้นมา

นอกจาก Suffredini และ Ghaffarian ที่เป็นหัวหอกให้กับบริษัทแล้ว ทางบริษัทยังได้ตัวอดีตนักบินอวกาศมาทำงานด้วยอีกหลายท่านทั้ง Peggy Whitson ที่ตอนนี้เป็นผู้อำนวยการฝ่าย Human Space Flight ของบริษัทและได้บินไปกับภารกิจ Axiom Mission 2 และได้ได้เป็นผู้บัญชาการในภารกิจ Axiom Mission 4 หรือแม้แต่หัวหน้าฝ่ายนักบินอวกาศอย่าง Michael López-Alegría ที่ได้เป็นบัญชาการภารกิจทั้ง Axiom Mission 1 และ 3 ซึ่งยังมีอดีตนักบินอวกาศอีกหลายท่านที่ได้ไปร่วมทำงานให้กับบริษัท เรียกได้ว่าการก่อตั้งบริษัทในครั้งนี้เป็นการเก็บข้าวของออกจาก NASA เพื่อดึงเอาคนที่มีประสบการณ์กับ NASA มาทำงานด้วยกันอีกที

Michael López-Alegría หัวหน้าฝ่ายนักบินอวกาศ และผู้บัญชาการภารกิจ Ax-1 และ Ax-3
Peggy Whitson ผู้อำนวยการฝ่าย Human Space Flight และผู้บัญชาการภารกิจ Ax-2 และ Ax-4

การเอากลุ่มคนที่เคยทำงานกับ NASA มาร่วมงานกันแบบนี้ แทบจะเป็นการการันตีว่าบริษัทแห่งนี้มีความสามารถในระดับที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งในอีกมุมหนึ่งก็อาจจะมองได้ว่าบริษัทเหมือนมีเส้นสายที่สามารถยื่นประมูลสัญญาทำโครงการอวกกาศร่วมกับ NASA ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ตามที่กล่าวมา เพราะย้อนกลับไปในปี 2020 บริษัท Axiom Space ได้ถูกรับเลือกโดย NASA ภายใต้โครงการ NextSTEP หรือ Next Space Technologies for Exploration Partnerships โดยได้ถูกรับเลือกให้พัฒนาโมดูลสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ชิ้นแรกจากภาคเอกชนที่จะถูกต่อเข้ากับ ISS ในชื่อ “Axiom Orbital Segment” หรือ AxS

ภาพ Render สถานีส่วน Axiom Orbital Segment ในปี 2020 ที่มา – Axiom Space

โครงการ NextSTEP นับเป็นหนึ่งในโครงการของ NASA ที่มีมาเพื่อส่องหาความเป็นไปได้ต่าง ๆ ของการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการเดินทางและการอยู่อาศัยในอวกาศโดยมนุษย์ ซึ่งได้อาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน มีบริษัทหลายแห่งที่ได้เข้าไปศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับรองรับการอยู่อาศัยในอวกาศของมนุษย์

จริง ๆ แล้วก่อนหน้า Axiom Space เองก็มีบริษัทเอกชนอีกแห่งที่เคยมีความพยายามในการทำโมดูลสถานีอวกาศอย่าง Bigelow Aerospace ซึ่งมีผลงานขนาดส่งโมดูลสถานีอวกาศขึ้นไปเชื่อมต่อกับ ISS มาแล้วหนึ่งชิ้นอย่าง BEAM หรือ Bigelow Expandable Activity Module และมีสถานีอวกาศรุ่นต้นแบบมาแล้วถึง 2 สถานีอย่าง Genesis I และ Genesis II แต่ในปี 2019 ทางบริษัทกลับไม่ได้ยื่น Proposal สำหรับของบพัฒนาโมดูลสถานีต่อ ทำให้มีเพียงแค่ Axiom Space เท่านั้นที่ได้เซ็นสัญญากับ NASA ภายใต้โครงการ NextSTEP ไปในปี 2020 ด้วยงบประมาณ 140 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับในปีเดียวกันโลกได้เข้าสู่ภาวะการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ทางบรืษัทต้องการ Lay off พนักงานออกและปิดบริษัทไป

ภาพแสดงแผนการก่อสร้างสถานีอวกาศของ Axiom ที่มา – Axiom Space

หลังจากได้เซ็นสัญญากับ NASA ในการพัฒนาและสร้างโมดูลสำหรับ Axiom Orbital Segment ซึ่งในสัญญาระบุว่าตั้องสร้างโมดูลขึ้นมาอย่างน้อยหนึ่งชิ้นเพื่อที่จะไปติดตั้งเข้ากับฝั่งด้านหน้า (Forward port) ของโมดูล Harmony ซึ่งเป็นหนึ่งในโมดูลของฝั่ง US Orbital Segment โดยจำเป็นต้องย้าย Pressurized Mating Adapter PMA-2 ไปติดตั้งเข้ากับฝั่งจุดจอมดิน (Nadir port) แทน ซึ่งในแผนการของทาง Axiom Space มีโมดูลอย่างน้อยสี่ชิ้นที่ถูกวางแผนไว้ว่าจะต้องถูกส่งขึ้นไปเชื่อมต่อเข้ากับ ISS และรวมแล้วจะมีถึงเจ็ดชิ้นเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น ประกอบด้วย

  • Axiom’s Hab One หรือ AxH1 โมดูลอวกาศชิ้นแรกที่จะถูกส่งขึ้นไปเชื่อมต่อเข้ากับฝั่งด้านหน้าของโมดูล Harmony ซึ่งในขั้นต้นมันจะกลายเป็นส่วนต่อขยายของ ISS ที่รองลูกเรือได้ถึง 4 คน รวมทั้งรองรับงานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่จะตามมาอีกในอนาคต โดยมีกำหนดการส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงครึ่งหลังของปี 2026 โดยในปัจจุบันทาง Thales Alenia Space (บริษัทที่ผ่านงานด้านการสร้างโมดูลสถานีอวกาศที่สำคัญหลายชิ้นของ ISS) เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างโมดูลชิ้นนี้
  • Axiom’s Hab Two หรือ AxH2 โมดูลอวกาศอีกชิ้นที่ได้รับการดูแลการสร้างโดย Thales Alenia Space จะเป็นโมดูลอีกชิ้นที่มีความสามารถในการรองรับลูกเรือเพิ่มขึ้นอีก 4 คนเหมือนกับ AxH1 ซึ่งจะสามารถเพิ่มขอบเขตของการทำงานด้านวิยาศาสตร์ขึ้นไปอีก โดยเมื่อเชื่อมต่อเข้ากับโมดูล AxH1 แล้วจะมีช่องเทียบท่า (Docking port) รวมแล้ว 8 ตำแหน่งเพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับยานอวกาศและโมดูลอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต โดยโมดูลชิ้นนี้มีแผนส่งขึ้นในช่วงปี 2027
  • Axiom’s Research & Manufacturing Facility หรือ AxRMF จะเป็นโมดูลที่มีไว้เพื่อศึกษาและพัฒนาสำหรับงานด้านการผลิต โดยเฉพาะกับการผลิตที่สามารถอาศัยประโชยน์ของสภาวะไร้น้ำหนัก (Microgravity) ได้ โดยจะเชื่อมต่อเข้ากับโมดูล AxH2 ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2020
  • Axiom’s Earth Observatory หรือ AxEO โมดูลที่จะมีบานหน้าต่างอยู่รอบโมดูลเพื่อให้นักบินอวกาศหรือนักท่องเที่ยวที่จะมีโอกาสได้ใช้งานในอนาคตต่างสามารถชิมวิวโลกและอวกาศได้เหมือนกับโมดูล Cupola ที่ถูกติดตั้งอยู่บน ISS ซึ่งยังได้รับการเคลมว่าจะเป็นส่งก่อสร้างที่มีหน้าต่างที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างมา ซึ่งถูกวางแผนส่งขึ้นไปพร้อมกับโมดูล AxRMF
  • Axiom’s Power Thermal หรือ AxPT เป็นโมดูลที่จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยแผง Solar Array ในตัวร่วมกับระบบจัดการอุณหภูมิของสถานี ซึ่งหากมีโมดูลนี้ จะสามารถทำให้สถานีฝั่ง Axiom Orbital Segment สามารถแยกตัวออกมาจาก ISS ได้ซึ่งวางแผนแยกตัวออกมาก่อนการปลดประจำการของ ISS ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2020 โดยโมดูลนี้ยังเพิ่มความสามารถในการทำ Extravehicular activity หรือ EVA ได้
  • AxSEE-1 เป็นโมดูลแบบพองตัว (Inflatable habitat) ที่พัฒนาร่วมกับ Space Entertainment Enterprise บริษัทด้านความบันเทิงสัญชาติอังกฤษ โดยมันเป็นโมดูลที่ออกแบบมาเพื่อเป็นสตูดิโอผลิตผลงานด้านความบันเทิงในอวกาศ ซึ่งทางบริษัทได้คาดหวังในการปล่อยขึ้นสู่อวกาศหลังความสำเร็จของการเชื่อมต่อของโมดูล AxH1 (เพราะว่าจริง ๆ แล้วทาง Space Entertainment Enterprise เองก็ได้ดีลพิเศษในการถ่ายทำภาพยนตร์ในอวกาศร่วมกับ Tom Cruise)
  • AxPLM เป็นการนำหนึ่งใน Multi-Purpose Logistic Module หรือ MPLM อย่าง Raffaello ที่หลังจากได้เดินทางไปกับกระสวยอวกาศ Atlantis ในภารกิจ STS-135 ปี 2011 ก็ไม่ได้ถูกนำมาขึ้นบินอีกเลย มาดัดแปลงเป็นอีกหนึ่งโมดูลสำหรับสถานีอวกาศของ Axiom โดยถูกวางแผนให้ส่งขึ้นไปเชื่อมต่อกับสถานีของ Axiom หลังจากการปลดประจำการของ ISS (ซึ่งอาจจะราว ๆ ช่วงต้นทศวรรษที่ 2030)

นอกจากนี้แล้ว มีความเป็นไปได้ว่าทาง Axiom ได้วางแผนไว้เผื่อความเป็นไปได้ในการต่อเติมตัวสถานี ทำให้อาจจะไม่ได้มีแค่โมดูล 7 ชิ้นสำหรับสถานีอวกาศเอกชนแห่งนี้ ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดใด ๆ ถูกเปิดเผยออกมา

เมื่อจะสร้างสถานีอวกาศ จึงหันมาลองเป็นนายหน้าขายตั๋วขึ้น ISS

แน่นอนว่าหากทำสถานีอวกาศไปแล้วไม่มีคนมาใช้บริการ สิ่งที่ทำไปมันก็สูญเปล่า ระหว่างการสร้างโมดูลสถานีอวกาศของตัวเอง ในช่วงปี 2021 ทาง Axiom เลยได้ติดต่อไปหา SpaceX และ NASA เพื่อขอเข้าซื้อเที่ยวบินยาน Crew Dragon และขอสิทธิ์ใช้งานสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อภารกิจที่นำโดยเอกชน (ต้องอธิบายว่าภารกิจแบบเอกชนของ Axiom จะเป็นการที่ทางบริษัทออกเงินซื้อเที่ยวบินเอง ซึ่งต่างจากการส่งนักบินอวกาศของ SpaceX ที่ได้รับงบประมาณจากทาง NASA ในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่ ISS) เพื่อนำมาสร้างโอกาสให้หน่วยงานอวกาศของชาติอื่น ๆ ในการส่งนักบินอวกาศของตัวเองขึ้นสู่ ISS ซึ่งตรงนี้จะแสดงให้เห็นว่าทางบริษัทเองมีความตั้งใจในการหยิบยื่นโอกาสเพื่อให้อวกาศสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งสรุปออกมาได้ดีลกับ SpaceX ในการส่งยาน Crew Dragon ถึงสี่เที่ยวบิน

ยาน Crew Dragon สำหรับภารกิจ Axiom Mission 1 ที่มา – SpaceX

นอกจากจะได้ดีลส่งนักบินอวกาศด้วยยาน Crew Dragon ภายใต้ชื่อของ Axiom แล้ว ยังมีอีกหนึ่งภารกิจที่แม้จะเป็นภารกิจภายใต้โครงการ Crew Commercial Program ของ NASA แต่ก็ยังมีหนึ่งในนักบินที่ได้ร่วมบินไปกับโครงการนี้ภายใต้ดีลของ Axiom เช่นกัน อย่างคุณ Al Mansouri นักบินอวกาศชาวเอมิเรตส์ที่ได้ร่วมบินไปกับภารกิจ Crew-6

โดยสำหรับภารกิจ Axiom Mission ในแต่ภารกิจจะมีนักบินอวกาศของบริษัทร่วมเดินทางไปด้วยเป็นผู้บัญชาการภารกิจอย่างคุณ Michael López-Alegría และ Peggy Whitson โดยจะยังมีที่นั่งว่างอีก 3 ที่ในแต่ละภารกิจ ซึ่งตรงนี้จะเป็นพื้นที่ให้ชาติอื่น ๆ สามารถส่งนักบินอวกาศของตัวเองได้ และแน่นอนว่าจากภารกิจ Axiom Mission 1 จนถึง Axiom Mission 3 เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าอย่างน้อย ๆ ทุกภารกิจเราจะเห็นนักบินชนชาติอาหรับร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งในมุมหนึ่งก็อาจเป็นการสะท้อนถึงความเป็นตัวตนของผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอย่างคุณ Kam Ghaffarian

แต่โดยรวมแล้วสาเหตุจริง ๆ อาจจะเป็นเรื่องความความยุ่งยากในการประสานงานระหว่างประเทศที่ต้องมีการเข้าพบพูดคุย เซ็นเอกสารมากมายเพื่อที่จะส่งนักบินอวกาศของตัวเองผ่านหน่วยงานรัฐอย่าง NASA หรือ Roscosmos ซึ่งมันอาจถูกหยิบมาใช้เป็นประเด็นทางการเมืองในภายหลังได้อีก การมีบริษัทเอกชนเข้ามาหยิบยื่นโอกาสให้จึงอาจฟังดูเป็นเรื่องที่ลื่นหูกว่า ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับกลุ่มประเทศอาหรับและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

Axiom กับบทบาทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมอวกาศ

สถานีอวกาศมันก็เรื่องหนึ่งและถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญและตัวตนของบริษัทแห่งนี้ แต่ภายในบริษัทเองก็มีกลุ่มคนที่อดีตเคยได้ร่วมงานกับ NASA อยู่มาก การจะสร้างเพียงแค่สถานีอวกาศมันจึงเป็นอะไรที่ดูเป็นการกำหนดทิศทางของบริษัทที่ออกจะตายตัวไปหน่อย การเข้าไปมีบทบาทในงานด้านอื่นจึงมีความสำคัญเช่นกัน

พอดีกับในช่วงหลายปีมานี้ โครงการ Artemis ถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือในการสำรวจอวกาศระหว่างประเทศร่วมกับความร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จึงมีพื้นที่มากมายที่ว่างพอให้เหล่ากลุ่มบริษัทเอกชนสามารถเข้าไปคว้าโอกาสในการสร้างความก้าวหน้าให้เทคโนโลยีอวกาศ โดยหนึ่งในบริษัทเหล่านั้นก็มี Axiom Space อยู่ด้วยเช่นกัน

Axiom Extravehicular Mobility Unit หรือ AxEMU ถือเป็นหนึ่งในผลงานของบริษัทที่จะมีบทบานที่สำคัญต่อโครงการ Artemis อย่างมาก เพราะมันจะช่วยให้การทำภารกิจบนดวงจันทร์มีความหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยทางบริษัทได้รับเลือกโดย NASA ในการสารต่อการพัฒนาเทคโนโลยีชุดอวกาศรุ่นใหม่ที่จะเอาไปใช้ทำ EVA บนพื้นผิวของดวงจันทร์ โดยตัวชุดถูกวางแผนจะใช้งานตั้งแต่ภารกิจ Artemis III (จริง ๆ แล้วมันเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาโดย NASA ตั้งแต่แรก ก่อนที่จะมีการเลือก Axiom ให้มาสานงานต่อ)

ชุด AxEMU
รถ LTV “FLEX” ของ Astrolab

นอกจากนี้แล้วทางบริษัทยังได้ร่วมมือกับ Astrolab หนึ่งในบริษัทที่ยื่น Propasal ผ่านในการพัฒนาและผลิตรถสำหรับใช้งานบนดวงจันทร์อย่าง FLEX ซึ่งเป็นหนึ่งใน Lunar Terrain Vehicle หรือ LTV (คล้ายกับรถ Lunar Roving Vehicle สมัยโครงการ Apollo) โดยทางบริษัทได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อยอด FLEX ให้สามารถใช้งานร่วมกับชุดอวกาศ AxEMU ได้ ซึ่งจะมีบทบาทที่สำคัญตั้งแต่ภารกิจ Artemis V เป็นต้นไป (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถ LTV ได้ที่ – Intuitive Machines, Lunar Outpost และ Venturi Astrolab ถูกเลือกให้ผลิตรถวิ่งบนดวงจันทร์)

จะเห็นได้ว่า Axiom Space จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่ออุตาหกรรมอวกาศที่ในอนาคตจะมีความสำคัญยิ่งกว่าบริษัท SpaceX หรือบริษัทจรวดแห่งอื่น ๆ ในอุตสหกรรมนี้ เพราะการทำเทคโนโลยีที่รองรับการใช้ชีวิตและการปฏิบัติภารกิจในอวกาศของมนุษย์ค่อนข้างถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ไม่แพ้การพัฒนาจรวดไว้ส่งของสู่อวกาศ

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

19 y/o Just mechanical engineering student, hobbyist illustrator || เด็กวิศวะหัดเขียนเรื่องราวในโลกของวิศวกรรมการบินอวกาศ