จีนเสร็จสิ้นการทดสอบยานเสบียงไร้คนขับ Tianzhou

ภารกิจ Tianzhou 1 ได้เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยหลังจากที่ CNSA หรือ China National Space Administration ได้ประกาศว่ายาน Tianzhou ได้ทำการ undock ออกจากสถานีอวกาศ Tiangong-2 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2017 หลังจากที่ถูกส่งขึ้นไปแสดงความสามารถในการเชื่อต่ออัตโนมัติในช่วงเดือนเมษายน 2017 โดยตัวยานจะลดระดับวงโคจรลงและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ

ยานอวกาศ Tianzhou เป็นยานอวกาศไร้ขนขับของจีนที่จีนออกแบบมาเพื่อใช้ในการส่งเสบียงชึ้นไปยังสถานีอวกาศ และได้มีการทดสอบเป็นครั้งแรกในปีนี้ ลักษณะการทำงานของยานจะเป็นรูปแบบเดียวกับยาน Progress ของรัสเซียที่ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่ส่งเสบียง เชื้อเพลิง และสิ่งของต่าง ๆ ให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ ยานพวกนี้จะเป็นการเดินทางแบบเที่ยวเดียวคือหลังจากที่ส่งขึ้นไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศแล้ว จะไม่สามารถกลับลงมายังโลกได้และต้องถูกเผาไหม้ไปในชั้นบรรยากาศ

ยาน Tianzhou ในขณะกำลังสร้างในห้องประกอบยานอวกาศของจีน ที่มา – ChinaSpaceflight.com

เพราะจีนไม่ได้มีความร่วมมือในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ ทำให้จีนต้องสร้างสถานีอวกาศของตัวเองขึ้นมาโดยสถานีอวกาศปัจจุบันของจีนตอนนี้คือ Tiangong 2 ที่ถูกปล่อยขึ้นไปเมื่อเดือนกันยายน 2016 และได้ทำการต้อนรับการไปเยือนของยานอวกาศแบบมีคนขับ Shenzhou 11 ที่พานักบินอวกาศจีน 2 คนขึ้นไปสู่สถานีเป็นเวลาถึง 1 เดือน

ความสำเร็จในการทดสอบยาน Tianzhou นี้เป็นการบ่งบอกว่าในอนาคตจีนจะมีความสามารถในการสร้าง ดูแล และส่งเสบียง ให้กับโครงการสถานีอวกาศขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่จีนกำลังมีแผนในอนาคต สำหรับขนาดของสถานีอวกาศรุ่นถัดไปของจีนอาจจะมีขนาดเทียบเท่ากับสถานีอวกาศ Mir ของรัสเซียที่ปัจจุบันตกลงสู่ชั้นบรรยากาศเรียบร้อยแล้ว

ยาน Tianzhou นั้นมีความสามารถในการเดินทางไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศด้วยตัวเอง ซึ่งปัจจุบันมียานเพียงไม่กี่ลำเท่านั้นที่มีความแม่นยำสูงในระดับที่เชื่อมต่อกับสถานีเองได้ ได้แก่ Soyuz และ Progress ของรัสเซีย, ATV ขององค์กรอวกาศยุโรป, Tianzhou และ Shenzhou ของจีน จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจีนนั้นมีความพร้อมในการดูแลสถานีอวกาศขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ตามที่ตนได้วางเป้าหมายไว้จริง ๆ ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบในการทำงานดังนี้

  • สามารถส่งเสบียงให้กับสถานีอวกาศได้ พร้อมระบบเชื่อมต่ออัตโนมัติ
  • สามารถโอนถ่ายของเหลวหรือก๊าซระหว่างตัวยานกับสถานีได้ เช่น เชื้อเพลิง และออกซิเจน
  • สามารถทำ Orbital Boost หรือการเพิ่มความเร็วโคจรให้กับสถานี เพราะสถานีอวกาศเมื่อโคจรไปในระยะเวลาหนึ่งจะมีแรงเสียดทานจากชั้นบรรยากาศทำให้ความเร็วลดลงและวงโคจรต่ำลง การทำ Orbital Boost จึงมีความจำเป็น

หลังจากความสำเร็จ สำนักข่าว Xinhua ได้รายงานว่า ยาน Tianzhou ได้ทำการถอนตัวออกจากสถานี จากนั้นทำการจุดเครื่องยนต์ลดความเร็วเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อทำลายตัวเองบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเป็นบริเวณที่ยานอวกาศที่ใช้งานแล้วจะมาเข้าสู่ชั้นบรรยากาศบริเวณนี้เพราะห่างจากแหล่งอาศัยของคน

สถานีอวกาศของจีนในอนาคต ที่จะมีการสร้างในปี 2018-2022 ที่มา – Adrian Mann / www.bisbos.com

ในโอกาสต่อไป จีนจะทำการทดสอบและโชว์ความสามารถด้านการประกอบสถานีด้วยการเชื่อมต่อ Module ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งจะมีการปล่อย core module ชื่อว่า Tianhe ในปี 2019 พร้อมกับ module ย่อยอีก 2 ตัวคือ Wentian และ Mengtian ที่จะทำให้จีนเข้าใกล้จุดที่ตัวเองจะสามารถสร้างสถานีอวกาศขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ได้ในอนาคตอันใกล้

อ้างอิง

Chinese Cargo Resupply Craft Removed from Orbit after Successful Pathfinder Mission

China Space Report

 

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.