บันทึกการล่าสุริยุปราคาวงแหวนที่สิงคโปร์ EP.1: แผน การเดินทาง ความท้าทาย

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนที่พึ่งจะเกิดขึ้นไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2562 นั้นนับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งสำคัญส่งท้ายปี 2019 เลยทีเดียว และอย่างที่หลาย ๆ ท่านคงจะทราบกัน ทางทีมงาน SPACETH.CO ก็ได้รายงานสดเหตุการณ์นี้ส่งตรงมาจากสิงคโปร์ได้ตั้งแต่ดวงจันทร์เริ่มเข้าคราสไปจนถึงวินาทีที่ดวงจันทร์เข้าบดบังดวงอาทิตย์โดยสมบูรณ์ นับเป็นความสำเร็จของภารกิจการถ่ายทอดสดข้ามประเทศครั้งแรกของทางทีมงาน ซึ่งก็แน่นอนแหละครับว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังมาให้เล่ากันแบบเต็มพิกัดแน่ ๆ ติดตามกันได้ในบทความนี้เลย

รวมบทความบันทึกการล่าสุริยุปราคา

Merlion – สัญลักษณ์แห่งสิงคโปร์ (ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจนี้แต่อย่างใด เรามาเพื่อสุริยุปราคาต่างหากล่ะ)

การวางแผน

ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นในวงสนทนาตามปกติ ทีมงาน SPACETH.CO นั้นมีธรรมเนียมในการไปเที่ยวหรือ Outing กันในช่วงปลายปี (หรือระหว่างปี) กันอยู่แล้ว ซึ่งแทบทุกครั้งก็มักจะไปในฐานะการทำงานด้านดาราศาสตร์ไปด้วยแบบกลาย ๆ และก็แน่นอนอีกแหละครับว่าทริปก่อนหน้าทั้งหมดพวกเราก็เคยอยู่แต่ในประเทศกันมาโดยตลอด (และสำหรับผมนั้น การ Outing ครั้งนี้ก็นับเป็นครั้งแรกอีกด้วย เพราะตอน Outing. V4 นั้นดันติดธุระพอดี)

หัวข้อเรื่องสุริยุปราคาวงแหวนนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหมุดหมายในการเดินทางช่วงปลายปีแทบจะในทันที ด้วยเหตุที่เป็นอะไรที่รับชมในไทยไม่ได้ และพื้นที่เกิดก็ดันแจ็กพอตไปลงที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่ได้ไกลอะไร (และทีมงานก็อยากไปเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) บวกกับความที่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นหลังวันคริสต์มาสพอดี อะไร ๆ ก็ดูลงตัวไปหมด จึงเป็นเหตุให้มติการเลือกที่ Outing นี้เป็นเอกฉันท์แทบจะในบัดดล

เริ่มต้นภารกิจ

เมื่อเลือกที่เที่ยว เอ๊ย Outing ได้แล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำก็คงจะหนีไม่พ้นการเลือกคนไปทริป ซึ่งคนทำทริปหลาย ๆ ท่านคงจะเข้าใจกันดีว่าทริปช่วงปลายปีนั้นเรทโดนเทสูงขนาดไหน ซึ่งทีม SPACETH.CO เองก็มิวาย ต้องเผชิญคำสาปนี้เช่นกัน ถึงแม้เราจะมีเวลาเตรียมการกันเกือบ 2 ถึง 3 เดือน แต่การยืนยันรายชื่อทีมงานที่จะไปนั้นเกิดขึ้นในเดือนสุดท้ายจริง ๆ (ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อค่าตั๋วเครื่องบินนะ! ยิ่งเป็นช่วง High Season แบบนี้แล้วด้วย) โดยผู้ร่วมภารกิจครั้งนี้ได้แก่

  • พี่เติ้ล – บรรณาธิการและผู้ร่วมก่อตั้ง
  • พี่กร – บรรณาธิการและผู้ร่วมก่อตั้ง
  • พี่อิ้ง – บรรณาธิการ Podcast อวกาศข้างบ้าน
  • พี่มิก – ทีมธุรกิจและบรรณาธิการ The Peak Foto
  • พี่เฟิร์ส – บรรณาธิการ The Peak Foto
  • พี่วิว – ทีมธุรกิจ – ผู้จัดการ(ทริป)
  • น้องกิ๊ก – Content Creator
  • นานุ (ผมเองแหละ) – Content Creator

โดยทางพี่เฟิร์สและพี่มิกจากทีม The Peak Foto นั้นเป็นทีม “ขาย” หลักของเราในการตามล่าสปอนเซอร์กล้องมาใช้ในงานนี้โดยเฉพาะ และโชคก็เข้าข้างที่เราได้ Fujifilm Thailand มาเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ (รายละเอียดเพิ่มเติมของกล้องและฟิลเตอร์สามารถติดตามได้ใน บทความแยก )

สรุปแล้วทริปนี้เป็นทริปใหญ่ที่ขนทีมงาน SPACETH กรุงเทพฯ และทีม The Peak Foto ไปสิงคโปร์กันแบบเต็มพิกัด พร้อมด้วยการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทีม SPACETH ภาคต่าง ๆ ในไทยที่ช่วยรายงานสดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนที่สามารถมองเห็นได้ในไทยไปพร้อม ๆ กัน และไม่เพียงเท่านั้น เรายังได้ทีม SPACETH จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE – United Arab Emirates) มาช่วยเก็บภาพปรากฏการณ์นี้จากตะวันออกกลางให้อีกด้วย (ภารกิจระดับโลกเลยจริง ๆ )

ชีวิตในสิงคโปร์

ก่อนจะเข้าสู่การเล่าเรื่องเบื้องหลังในการทำงานในแต่ละวันของเรา ผมคงต้องขอส่วนหนึ่งของบทความในการกล่าวถึงประเทศสิงคโปร์นี้หน่อย เพราะทริปนี้ไม่ใช่แค่ครั้งแรกในการ Outing ของผมกับทางทีมงาน แต่เป็นครั้งแรกในการมาเยือนแดนสิงห์เงือกพ่นวารีแห่งนี้อีกด้วย ซึ่งให้ทั้งประสบการณ์และความประทับใจมากมายมิรู้ลืมจริง ๆ

ที่พัก

ด้วยความที่เวลาในการจองที่พักมีน้อย ทางทีมงานจึงเลือกจอง Hostel ออนไลน์เอา ด้วยความที่ราคานั้นไม่แพงมากรวมถึงทำเลก็เหมาะสมดี ที่สำคัญคือมีจำนวนเตียงพอสำหรับให้ทุกคนเข้าพัก ในด้านการจองที่พักนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะก็จองออนไลน์ผ่านแอปกันนั่นแหละครับ (หัวเราะ) เป็นเครื่องยืนยันที่ว่ายุคนี้การเดินทางท่องเที่ยวนี่สะดวกขึ้นมากมายจริง ๆ โดยเฉพาะการจองตั๋วเครื่องบินและที่พัก ที่ทุกอย่างสามารถจบได้ที่ปลายนิ้ว

ที่พักตลอดสามวันสองคืนของทีมงานคือ The Beat Sports Hostel สาขาย่าน Lavender ไม่ใกล้ไม่ไกลจาก Marina Bay ซักเท่าไหร่นัก (ถ้านั่งรถประจำทางไปก็ใช้เวลาไม่ถึง 20 นาที) ย่านที่ว่านี้เป็นบริเวณ Little India ที่กึ่งธุรกิจหน่อย ๆ ร้านค้าแถวนี้เป็นพวกร้านหลอดไฟกับอุปกรณ์ไฟฟ้าซะเยอะ แต่บริเวณโดยรอบก็นับว่าสะอาดสะอ้านดีทีเดียว

Hostel ของเรานั้นซ่อนตัวอย่างกลมกลืนไปกับตึกแถว ชนิดที่ว่าเป็นแค่ประตูเท่านั้นที่โผล่มาให้เห็น เมื่อเข้าไปแล้วสิ่งแรกที่ต้อนรับเราแบบเต็ม ๆ ก็คือบันไดและก็แน่นอนว่าพื้นที่เพียงเท่านี้ลิฟต์คงไม่สามารถถูกยัดเข้ามาเพิ่มได้ ทีมงานจึงจำเป็นต้องแบกอุปกรณ์และกระเป๋าขึ้นไปกันเอง

ใน Hostel นั้นมีอะไร – มีบันได นั่นไง ใช่เลย! (ด้านซ้ายคือห้องรับรอง)

ยังดีที่ Hostel นี้มีแค่สามชั้น ถึงทางเข้าจะเล็ก แต่ภายในก็นับว่ามีพื้นที่มากพอสมควร ชั้นสองของ Hostel เป็นพื้นที่หลัก มีส่วนต้อนรับและสันทนาการ รวมถึงครัวเล็ก ๆ พร้อมตู้เย็นและไมโครเวฟไว้ให้แขกที่เข้าพักสามารถใช้บริการได้ (ฟีล Hostel เลยก็คือต้องแบ่งกันใช้) ชั้นนี้ยังมีทั้งห้องพักแขกและส่วนห้องน้ำ + ซักล้างไว้ให้ด้วย ใครจะเอาเสื้อผ้ามาซักก็ตามสะดวก ในบริเวณสันทนาการนั้นมีเกมให้เล่น ไม่ว่าจะเป็นปิงปอง เกมกระดาน ไปจนถึงเกมโยนบาสแบบ Arcade จริง ๆ (เล่นแล้วเสียงดังชิบ) แถมด้วยชั้นหนังสือที่ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจนัก เอาเข้าจริงทีมงานแทบไม่ได้ใช้บริการในส่วนนี้เลย นอกจากลงมากินซีเรียลมื้อดึกที่หวานแสบคอกับนั่งปั่นงานก่อนขึ้นเครื่องเพียงเท่านั้น

มาถึงไฮไลต์หลักของเราซึ่งก็คือห้องพักนั่นเอง โดยห้องที่ทีมงานจองไว้นั่นอยู่ที่ชั้นสามของ Hostel ซึ่งนอกจากจะมีโซนห้องพักแล้วก็มีห้องอาบน้ำและบริเวณฟิตเนสเล็ก ๆ (มาก ๆ จริง ๆ นะ) แถมไว้ให้ด้วย ซึ่งก็แน่นอนอีกแหละว่าไม่มีใครในทีมว่างไปใช้หรอก ห้องของทีมงานนั้นมีเตียงแยกไว้ให้อย่างครบครัน ในลักษณะเตียงสองชั้น ที่จริง ๆ ต้องแบ่งกับแขกท่านอื่น แต่เราเลือกจองทั้งห้องไปเลย (ยึดนั่นแหละ) สาเหตุการทำห้องแบบนี้ก็เพื่อเป็นการประหยัดพื้นที่ (จะเห็นได้ว่าห้องพักนั้นเป็นซอกเข้าไปอย่างลึก) ถึงที่นอนทั้งหมดจะอยู่ติดทางเดินแต่ก็ยังดีที่เพดานห้องนั้นสูง และก็มีพื้นที่ให้หายใจหายคอกันได้บ้าง ตัวผู้เขียนนั้นเลือกนอนเตียงชั้นสอง ซึ่งนับว่าเป็นการตัดสินใจที่เย้ยความตายเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากบันไดจะออกแบบให้ปีนได้ยากกว่าเขาเอเวอเรตต์แล้ว ที่กั้นเตียงของผู้เขียนยังสั่นออด ๆ แอด ๆ อีกด้วย แต่การที่คุณผู้อ่านได้เห็นบทความนี้ก็คงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าตัวผมนั้นรอดชีวิตจากการตกเตียงสูง 2 เมตรกว่ามาได้อย่างหวุดหวิด

ภาพของ “เดอะ วอร์คเวย์” หรือทางเดิน ซึ่งนับเป็น 50.2667896 % ของพื้นที่ห้องพัก ในภาพนี้ทีมงานกำลังเตรียมอุปกรณ์กันอยู๋

โดยรวมแล้วสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องนั้นมีไม่มาก โชคยังดีที่มีปลั๊กไฟเพียงพอสำหรับทุกคน (อันนี้เป็นอะไรที่ขาดไม่ได้) ตู้เย็นหรือห้องน้ำนั้นต้องไปใช้ในบริเวณส่วนกลางทั้งหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ดีสำหรับ Hostel นี้คือความเป็นส่วนตัว เนื่องด้วยแต่ละเตียงมีม่านกั้นที่ให้ฟีลแคปซูลหน่อย ๆ และห้องของทีมงานยังมีการแถมระเบียงมาให้ด้วย ซึ่งทำให้เราสามารถแอบถ่ายนกที่บินมาเกาะได้ เป็นการเทสกล้องไปในตัว

ขนาดที่นอนเปรียบเทียบกับขนาดหนึ่งในสมาชิกทีม

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าพื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้เป็นฐานบัญชาการหลักของทีมงาน SPACETH.CO ตลอดสามวันสองคืนเลยจริง ๆ ซึ่งก็พูดได้เต็มปากอีกแหละว่าที่พักแห่งนี้สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์แบบ อ้อ อีกอย่างนึงคือไวไฟที่นี่แรงมาก ๆ ด้วย แค่ข้อนี้ก็นับว่าเป็น Hostel ชั้นดีได้แล้วล่ะครับ

การเดินทาง

เครื่องบิน, รถเมล์, รถไฟฟ้าและ Grab (รถส่วนตัว / แท็กซี่) คือรูปแบบการเดินทางทั้งหมดที่ทีมงานใช้ระหว่างทริป (ไม่นับการเดิน) ทุกอย่างที่ว่ามานี้สะดวกสบายแบบสุด ๆ ชนิดที่ว่าลืมความทุกข์ในการจราจรแบบไทย ๆ ไปเสียหมดสิ้น

เริ่มกันต้นที่เครื่องบิน ทีมงานส่วนใหญ่เลือกบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ (Singapore Airline) ซึ่งก็เป็นครั้งแรกของผมกับสายการบินนี้อีกนั่นแหละ (มันจะครั้งแรกไปไหนหลายรอบเนี่ย) โดยรวมแล้วมาตรฐานและคุณภาพนี่ระดับสายการบินแนวหน้าในเครือพันธมิตรติดดาว (Star Alliance) เลย ขนาดบิน Economy นะ แอร์โฮสเตสเป็นกันเองมาก ๆ และพยายามหาเรื่องคุยด้วยภาษาสิงคโปร์ (อังกฤษ + จีน + ผู้เขียนฟังสำเนียงนี้ไม่ออก) ซึ่งก็พอสื่อสารกันได้ ไม่ถึงขั้นต้องงัดสกิลภาษามือออกมาใช้

อาหารที่เสิร์ฟนั้นคุณภาพและรสชาติกลาง ๆ ไม่ได้อร่อย แต่ก็ไม่ได้แย่ ผู้เขียนเลือกทานของหวานและเครื่องดื่มซะเยอะ ซึ่งคิดผิดจริง ๆ ที่สั่งกาแฟ เพราะขมปี๋ แต่ก็ดีที่ทำให้ตื่นมันเกือบทั้งไฟลท์ ตลอดการเดินทาง 2 ชั่วโมงกว่านั้นผู้เขียนเอาแต่ถ่ายภาพไม่ก็นอน พวกสื่อบันเทิงอะไรจึงไม่สามารถรีวิวให้ได้ เพราะไม่ได้แตะเลยแม้แต่น้อย โดยรวมแล้วเป็นไฟลท์ที่นั่งสบาย และสมฐานะของสายการบินประจำชาติ และที่สำคัญคือเครื่องที่ทีมงานนั่งนั้นก็เป็น Boeing 787 Dreamliner กับหน้าต่างมหัศจรรย์ซะอีก จึงไม่น่าแปลกใจที่เป็นการนั่งเครื่องบินที่ฟีลกู๊ดมาก ๆ อีกครั้งหนึ่ง

ต่อกันที่ขนส่งสาธารณะ ซึ่งขอควบรวมทั้งรถเมล์และรถไฟเลย สำหรับประเภทแรกนั้นทีมงานได้นั่งทั้งรถบัส 2 ชั้นและชั้นเดียว พูดได้คำเดียวว่าสะอาด มีมาตรฐาน ดูดี (ต่างกับบ้านเราลิบลับ) กับรถไฟฟ้าก็เช่นกัน สะอาดและเร็วมาก ทั้งหมดนี้ตรงต่อเวลาสุด ๆ อาจจะไม่เป๊ะระดับวินาทีแบบญี่ปุ่น แต่ก็นับว่าอยู่ในกลุ่มมาตรฐานสูงเลยทีเดียว ที่สำคัญคือใช้บัตรในการจ่ายค่าเดินทางทั้งสิ้น (สำหรับชาวต่างชาติแบบเราก็สามารถใช้บัตรเครดิตจ่ายได้) การแลกเหรียญหรือซื้อตั๋วนั้นจึงเป็นอะไรที่แทบหาดูไม่ได้อีกแล้ว การมีอยู่ของกระเป๋ารถเมล์จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องพูดถึง

รถเมล์สองชั้นที่ทั้งมีเอกลักษณ์และรวดเร็ว รวมถึงสะอาดแบบสุด ๆ ขนาดกระจกยังใสปิ๊ง

ปิดท้ายกันด้วย Grab ที่ทีมงานเรียกใช้อยู่เป็นระยะ ๆ Grab สิงคโปร์นั้นเรียกได้เร็วและมีอยู่ทั่วไปหมด ราคาก็ถูกกว่าที่ไทย เมื่อรวมกับระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพแบบ 300% แล้ว สิงคโปร์เป็นประเทศที่คุณจะวาร์ปไปไหนก็ได้อย่างรวดเร็วประดุจเทเลพอเทชั่น บวกกับความที่รถติดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบไม่ได้ Grab ที่เรานั่งจึงทำความเร็วได้อย่างเต็มสปีดแทบจะตลอดทาง เอาเป็นว่า Grab ที่นี่ดีจริง ๆ ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างทำให้บริการนี้กลายเป็นระบบขนส่งที่นักท่องเที่ยวสามารถใช้ร่วมกับขนส่งมวลชนได้แบบไม่ต้องรู้สึกผิดเลยแม้แต่น้อย (ขนาดแท็กซี่ที่นี่ยัง Professional)

ไลฟสไตล์

“สำเพ็งและเยาวราชแบบอนาคตที่สะอาดแบบญี่ปุ่น ครุกรุ่นไปด้วยกลิ่นอายหลากวัฒนธรรมและพื้นที่สีเขียว” เป็นประโยคสั้น ๆ ที่ผมขอใช้บรรยายสิงคโปร์ ประเทศเล็ก ๆ นี้มีทุกอย่างเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะเรียกร้องได้จากวัฒนธรรมสังคมเมือง ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือนที่ดูดี สวนสวยเขียวขจีที่มีทั่วไปหมด และการสนับสนุนด้านการศึกษา กิจกรรม ไปจนถึงศิลปะวัฒนธรรมก็พบเจอได้ทั่วไปหมด สองสิ่งที่ผมเห็นได้ชัดเจนในไลฟ์สไตล์แบบสิงคโปร์คือความมีวินัยและประสิทธิภาพของสังคม ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการเก็บขยะกันอยู่ตลอดทั้งในสถานที่ท่องเที่ยวและย่านชุมชน ผู้คนเคารพกฎหมายกันอย่างเคร่งครัด จนหลาย ๆ ฟีลทำให้เราฉุกคิดถึงความเป็นญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นระยะ และที่แน่นอนที่สุดคือความรู้สึกปลอดภัยที่ยากจะสัมผัสได้ในประเทศบ้านเกิด การเดินกลับ Hostel หลังสี่ทุ่มเป็นอะไรที่ทำได้โดยไม่ต้องพารานอยด์เลย

ภาพของบ้านเรือนทรงจีนคลาสสิกที่อยู่รวมกันกับสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นและตึกระฟ้าขนาดใหญ่ เป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในสิงคโปร์

ในด้านประสิทธิภาพของสังคมนั้น สิงคโปร์เป็นประเทศที่เคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคม แหล่งท่องเที่ยว ไปจนถึงศูนย์รวมของธุรกิจระดับโลกแล้ว การที่ประเทศนี้ปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมาก ๆ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่ชัดเจน ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน Cashless Society ที่เป็นจริง (แทบทุกคนใช้บัตรชำระเงินหมด) นี่ทำให้สิงคโปร์เป็นที่ที่คุณสามารถสัมผัสได้ถึงความพยายามในการหลอมรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้คน เพื่อให้คุณสามารถเสียเวลาชีวิตน้อยลงกับเรื่องไม่เป็นเรื่องทั้งหลายแหล่นั่นเอง

การเก็บขยะเกิดขึ้นได้ทุกที่แม้แต่ในน้ำ ในภาพคือเรือเก็บกวาดขยะบริเวณ Marina Bay ที่คอยทำให้แหล่งท่องเที่ยวนี้สะอาดสะอ้านอยู่เสมอ

เกริ่นกันมาซะยาว ในที่สุดก็ได้เวลาเข้าสู่หัวข้อหลักของบทความนี้กันแล้ว นั่นก็คือ 3 วันกับภารกิจตามล่าสุริยุปราคาวงแหวนนี้ ทีมงาน SPACETH.CO ทำอะไรกันบ้างนั่นเอง

วันที่ 1 – เตรียมการ

ตอนที่ผมขึ้นไปบน ARL เพื่อพุ่งตรงสู่สนามบินสุวรรณภูมินั้น แทบทุกคนก็ถึงเกตขึ้นเครื่องกันแล้ว พอรถจอดที่สถานีปลายทางผมก็รีบพุ่งไปที่เคาเตอร์เช็คอินทันที แต่ด้วยความที่สายพานกระเป๋าจะปิดแล้ว จึงต้องแบกกระเป๋าเดินทางคู่ใจที่เจ้าหน้าที่บอกว่าเกินน้ำหนักไปส่งเองที่จุดส่งกระเป๋าแบบงง ๆ หลังจากจัดการเรื่องสัมภาระแล้วผมก็รีบเดินต่อไปยังจุดตรวจทันที เสียเวลาไปพักหนึ่งกับการเอกซเรย์กระเป๋า แต่ในที่สุดก็ไปถึงเกตขึ้นเครื่องได้แบบเฉียดฉิว

Boeing 787 Dreamliner

ทีมงานที่จะเดินทางไปกับสิงคโปร์แอร์ไลน์ไฟลท์ SQ973 นี้มีผม พี่เติ้ล พี่วิว พี่กร และน้องกิ๊ก โดยทีมพี่มิกและพี่อิ้งได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ส่วนพี่เฟิร์สแห่ง The Peak Foto นั้นจะตามไปทีหลัง อย่างไรก็ตามด้วยเหตุสุดวิสัยทำให้น้องกิ๊กของเราเดินทางมาไม่ทันเวลาเกตปิด จึงจำเป็นต้องรอเที่ยวบินต่อไป

การนั่งเครื่อง 787 ครั้งแรกเป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก ด้วยความที่ได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของอากาศยานปีกโค้งทรงเพรียวแบบนกนางนวลลำนี้มามาก (787 เป็นเครื่องบินพาณิชย์รุ่นแรก ๆ ที่ใช้วัสดุผสมในการสร้าง) สิ่งหนึ่งที่รู้สึกทึ่งเมื่อขึ้นเครื่องไปแล้วคือหน้าต่างขนาดใหญ่ที่ไม่มีบานเลื่อนพลาสติก แต่ใช้ระบบ Smartglass ในการควบคุมความทึบแสงแทน เป็นโชคดีของผมที่มีผู้โดยสารข้าง ๆ ขอย้ายที่นั่งทำให้ได้มาสัมผัสนวัตกรรมกระจกล้ำยุคนี้รวมถึงถ่ายทำทัศนียภาพภายนอกได้อย่างเต็มที่

กองเรือบรรทุกสินค้ามากมาย เหมือนเครื่องประดับหลากชนิดบนผืนผ้าสีเทอร์ควอยส์

ใช้เวลาเดินทางเพียงประมาณ 2 ชั่วโมง เครื่องก็ร่อนลงแตะพื้น ณ สนามบินชางงี หลังจากเดินลงมายัง Terminal 3 แล้ว สิ่งแรกที่ต้อนรับเราเลยคือความสวยงามของสถาปัตยกรรมสนามบิน ที่เขาว่ากันว่าสนามบินคือหน้าตาของชาตินั้น สิงคโปร์คงยึดหลักนี้เอาไว้แบบเต็ม ๆ ที่น่าสนใจอีกอย่างคือมีการปลูกต้นไม้ไว้ทั่วไปภายในอาคารอย่างเข้ากัน แลดูร่มรื่นแบบสุด ๆ

นอกจากตึกรามบ้านช่องและผู้คนแล้ว ต้นไม้นับเป็นประชากรอันดับสองของสิงคโปร์เช่นกัน

หลังจากรวมพลกันเรียบร้อย ทีมงานก็มุ่งหน้าเข้าสู่ด่าน ตม. ทันที เวลาเป็นเงินเป็นทองมาก (ตอนเราลงเครื่อง เวลาสิงคโปร์คือบ่ายสองแล้ว) แถมตัวผมเองก็ห่วงกระเป๋าแบบสุด ๆ เพราะครั้งนี้โหลดแบบไม่เหมือนชาวบ้านเขา แต่ถึงแม้ทีมงานจะเตรียมตัวมาดีขนาดไหน และถึงแม้จะมีช่อง ASEAN ให้ ความดุของ ตม. ก็กินเวลาเราไปพอสมควรทีเดียว

เสร็จสิ้นกระบวนการเข้าประเทศแล้ว ทุกคนก็พุ่งตรงไปยังสายพานทันที และในที่สุดก็โล่งอกที่ได้เห็นกระเป๋าของตัวเองค่อย ๆ ไหลเอื่อย ๆ มาตามทาง เมื่อทุกคนได้สัมภาระกันครบก็ถึงเวลาเดินทางสู่ที่พัก พี่เติ้ลแจกบัตรมาให้ผมใบหนึ่งไว้ใช้เดินทางโดยเฉพาะ (ทริปนี้ไม่ได้แลกเงินไว้เลย) พี่กรแวะซื้อซิมอินเตอร์เน็ตซึ่งจะเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของทุกคน แพ็กเกจที่ซื้อมานั้นขอบอกเลยว่าเยอะมาก หายห่วงเรื่องการถ่ายทอดสดได้แน่นอน

การเดินทางของทีมงานกลุ่มนี้เริ่มต้นที่ MRT หรือรถไฟฟ้าของสิงคโปร์นั่นเอง ตามที่ได้รีวิวไปแล้ว รถไฟฟ้ามาเร็ว (และเร่งเครื่องเร็วมากด้วยเช่นกัน) หลังจากแวะเปลี่ยนสถานีกันแบบขลุกขลักนิดหน่อยเราก็เดินทางมาถึงสถานี Lavender ในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่แล้วธรรมชาติก็แสดงลางร้ายให้เราได้เห็นแบบจัง ๆ เมื่อเม็ดฝนค่อย ๆ สาดลงมากระทบพื้นถนน ทุกคนในทีมได้แต่ภาวนากันตั้งแต่วันแรกเลยว่าขอให้สภาพอากาศไม่เป็นแบบนี้ในวันที่เกิดปรากฏการณ์จริง ฝนที่เทลงมายังทำให้เราจำเป็นต้องเรียก Grab ไปยัง Hostel ถึงแม้ว่าระยะทางจะสามารถเดินไปได้แบบชิล ๆ ก็ตาม (พี่คนขับ Grab เป็นกันเองมาก ๆ)

กระเป๋าตังค์ของแทบทุกคนในทริป สำหรับใช้ชีวิตใน Cashless Society แห่งนี้

ใช้เวลาแค่ครู่เดียวทีมงานก็เดินทางถึง Hostel พี่มิกและพี่อิ้งคือผู้ตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรกที่ลงมาต้อนรับเราและดำเนินการเช็คอินให้ ตอนนี้ก็เป็นเวลาประมาณบ่ายสามกว่าแล้ว ทีมงานมีเวลาให้พักผ่อนและเก็บของจนถึงสี่โมงเท่านั้นก่อนจะเริ่มการประชุมรอบแรก ผมเตรียมกระเป๋าและจัดแจงแยกอุปกรณ์การถ่ายทำออกมา รวมไปถึงจัด Private Space ในที่นอนของตัวเองเอาไว้เช่นเดียวกับทีมงานคนอื่น ๆ แน่นอนว่าทุกคนจัดการสร้าง Work Station ของตัวเองเสร็จเรียบร้อยแทบจะทันทีที่ถึงเตียง ทีม SPACETH นั้น เอาเข้าจริงขอแค่มีคอมพ์ เน็ตและไฟฟ้า (อ่อ อาหารด้วย) ก็สามารถทำงานได้แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

การประชุมรอบสี่โมงนั้นเป็นการบรีฟสั้น ๆ ถึงสิ่งที่จะดำเนินการกันในคืนนี้ ซึ่งหลัก ๆ แล้วก็เป็นการวางแผนพื้นที่ที่จะไปสำรวจและตั้งกล้อง กับตรวจความพร้อมของอุปกรณ์สำหรับถ่ายทำ หลังจากบรีฟงานกันเสร็จน้องกิ๊กเดินทางมาถึงสนามบินพอดีในช่วงเย็น ทีมงานจึงตัดสินใจยกแก๊งกันไปประชุมต่อกันที่ The Jewel ห้างสรรพสินค้าสุดหรูชื่อดังกลางสนามบินชางงี เพื่อที่จะไปรับน้องกิ๊กกลับมา Hostel ด้วย

ใน The Jewel นั้นมีทุกอย่างจริง ๆ ทั้ง Apple Store และร้านแบรนด์เนมมากมาย (เช่น Muji) หลังจากรับน้องกิ๊กแล้ว ทีมงานก็เดินวนหาร้านอาหารอยู่ซักพักใหญ่ ก่อนจะจบที่ร้านอาหารสไตล์ฮาวายที่ชั้นบนสุด การประชุมอย่างจริงจังเริ่มขึ้นอีกครั้ง พี่เติ้ลทำการแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนในระหว่างที่พี่วิวบันทึกรายละเอียดลงบนกระดาษ แต่ละคนรับฟังหน้าที่ของตนกันอย่างคล่องแคล่ว เพราะเคยผ่านงานแนวนี้มาแล้วหลายครั้ง เมื่อการประชุมจบลงกับการเลือกพื้นที่ถ่ายทำหลักที่ Marina Bay เวลาที่เหลืออยู่จึงเป็นฟรีไทม์ ให้ทีมงานเดินเล่นกันใน The Jewel ต่อ

ขากลับนั้น การเดินทางยังคงเป็นการนั่ง MRT ตามเดิม แต่เราเลือกที่จะเดินต่อไปยัง Hostel เพื่อแวะตุนเสบียงกันก่อนเล็กน้อยตามร้านสะดวกซื้อ และเมื่อถึงที่พักแล้วแต่ละคนก็เริ่มงานกันทันที ผมเริ่มเปิดแผนที่อากาศมาเช็คสภาพท้องฟ้าในวันพรุ่งนี้ในขณะที่พี่กร พี่เติ้ล พี่วิวและน้องกิ๊ก ปั่นคอนเทนท์เตรียมไว้ล่วงหน้า ส่วนพี่มิกกับพี่อิ้งช่วยกันจัดการอุปกรณ์ถ่ายภาพ ทุกคนทำหน้าที่ของตนกันได้อย่างคล่องแคล่วเลยทีเดียว นอกจากนั้นในคืนนี้ทางทีมงานยังได้รับเกียรติจากพี่แจ็คแห่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติที่วิดีโอคอลมาช่วยแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการถ่ายสุริยุปราคาให้อีกด้วย

ทริปถ่ายภาพกับอาจารย์แจ็ค ผู้แนะนำและให้ข้อมูลอันมีค่ามากมายกับทีมงาน

ทีมงานทั้งหมดทำงานกันยันเที่ยงคืน ก่อนจะผลัดเวรกันไปทำธุระส่วนตัว และปล่อยฟรีไทม์กันอีกครั้ง Hostel เวลานี้แทบไม่มีสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่เลย เพราะแขกส่วนใหญ่นั้นพักผ่อนกันไปหมดแล้ว ทางทีมงานจึงทำการครอบครองห้องน้ำได้อย่างง่ายดาย

จะเห็นได้ว่าแค่วันแรกก็พิสูจน์แล้วว่าทริปทำงานนี้เป็นทริปเที่ยวที่ปลอมตัวมาแบบเนียน ๆ ชัด ๆ

รวมบทความบันทึกการล่าสุริยุปราคา

สุริยุปราคา 2019 ซีรีส์

ผู้สนับสนุน (และร่วมผจญภัยในภารกิจนี้)

Fujifilm Thailand
The Peak Foto

นานุ | ชายผู้หลอมรวมความชอบในด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกัน | นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ (ไส้แห้ง) ที่ชื่นชอบในการวาดรูป, แอนิเมชั่น, 3D Modeling และกราฟฟิกดีไซน์ ไปจนถึงการถ่ายทำภาพยนตร์สั้น