ปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนที่พึ่งจะเกิดขึ้นไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2562 นั้นนับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งสำคัญส่งท้ายปี 2019 เลยทีเดียว และอย่างที่หลาย ๆ ท่านคงจะทราบกัน ทางทีมงาน SPACETH.CO ก็ได้รายงานสดเหตุการณ์นี้ส่งตรงมาจากสิงคโปร์ได้ตั้งแต่ดวงจันทร์เริ่มเข้าคราสไปจนถึงวินาทีที่ดวงจันทร์เข้าบดบังดวงอาทิตย์โดยสมบูรณ์ นับเป็นความสำเร็จของภารกิจการถ่ายทอดสดข้ามประเทศครั้งแรกของทางทีมงาน ซึ่งก็แน่นอนแหละครับว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังมาให้เล่ากันแบบเต็มพิกัดแน่ ๆ ติดตามกันได้ในบทความนี้เลย
รวมบทความบันทึกการล่าสุริยุปราคา
- บันทึกการล่าสุริยุปราคาวงแหวนที่สิงคโปร์ EP.1: แผน การเดินทาง ความท้าทาย
- บันทึกการล่าสุริยุปราคาวงแหวนที่สิงคโปร์ EP.2: ซ้อม วางแผน และซ้อมอีก
- บันทึกการล่าสุริยุปราคาวงแหวนที่สิงคโปร์ EP.3: อยู่ใต้เงาวงแหวน
วันที่ 3 – วันจริง
เอาเข้าจริง ทีมงานตื่นกันตั้งแต่ 6 โมงแล้ว แต่โดนความนุ่มของเตียงดูดกลับลงไปซะก็หลายรอบ ยังดีที่แพ็คของกันไว้ตั้งแต่เมื่อคืน พวกเราจึงใช้เวลาไม่มากในการย้ายของออกจากห้องพักไปฝากไว้ที่ห้องรับรอง และทำการเช็คเอาท์กันตั้งแต่ประมาณ 8 โมง ทาง Hostel อนุญาตให้เราฝากกระเป๋าเดินทางและอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นเอาไว้ได้ ซึ่งช่วยได้เยอะมากในการลดน้ำหนักและปริมาณของที่ต้องขนไป เพราะนอกจากการถ่ายทอดสดจะเกิดขึ้นกลางแจ้งทุกอย่างแล้ว ทีมงานยังดำเนินการกันแบบ Mobile Unit ไม่มีกองสนับสนุนอะไรทั้งสิ้น มีคนเท่าไหร่ มีของเท่าไหร่ก็ต้องใช้ให้เต็มที่ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้
สรุปรายการอุปกรณ์ที่ใช้ในการไลฟ์คร่าว ๆ (รายละเอียดด้านกล้องสามารถตามอ่านได้ที่นี่)
- กล้อง Fujifilm XT-3 x2 / XH1 x1
- ชุดเลนส์และอุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องหลัก
- กล้องเสริม (GoPro)
- ชุดไมค์อัดเสียง (ไมค์ Shotgun ทั้งติดบูมและติดกล้อง / ไมค์ Lavalier)
- เครื่องอัดเสียง (ทั้งแบบ Handheld และ Wireless)
- ขาตั้งกล้อง
- กล้องดูดาว
- แบตเตอรี่สำรอง
- สาย HDMI และ Cable
- โน้ตบุ๊ค (ซึ่งมีแต่ Macbook)
- แว่น เลนส์ และฟิล์มกรองแสง
- อื่น ๆ (สมุดจด เครื่องเขียน หนังยาง เชือก และอุปกรณ์เสริมอีกเพียบ ฯลฯ)
เพื่อการขนข้าวของทั้งหมดเป็นไปอย่างรวดเร็ว การเดินทางในวันนี้จึงเป็นการเรียก Grab ทั้งขาไปและขากลับ ทีมงานเดินทางไปถึงห้าง Esplanade ในเวลาประมาณช่วงสายพอดี ทันทานมื้อ Brunch (ควบมื้อเช้า-มื้อเที่ยงนั่นเอง) ก่อนจะค่อย ๆ เริ่มติดตั้งอุปกรณ์ เราตัดสินใจเขยิบออกจากพื้นที่เดิมที่เล็งไว้เมื่อวานไปหน่อยเพื่อหาร่มไม้ไว้บังแดด (ที่กำลังจะหายไป) และฝน หากธรรมชาติจะลงโทษเราจริง ๆ
ทีมงานทั้งหมดนั้นดูแลเรื่องการถ่ายทอดสดด้วยกันอยู่แล้ว แต่เพื่อความสะดวกจึงมีการแบ่งทีมงานออกเป็นกลุ่มตามหน้าที่หลักของแต่ละคน เริ่มต้นกันที่ทีมถ่ายทำ ทีมนี้เปรียบเสมือนดวงตาหลักที่ค่อยเฝ้ามองปรากฏการณ์และบันทึกทุกสิ่งทุกอย่าง ในทีมนั้นประกอบไปด้วยพี่เฟิร์สและพี่มิกที่ควบคุมทั้งกล้องหลักและกล้องเสริม รวมถึงพี่อิ้งที่ช่วยเก็บภาพจากบริเวณเขื่อนที่อยู่ห่างจาก Marina Bay ออกไปด้วย ต่อมาคือทีมควบคุมระบบที่มีพี่เติ้ลเป็นฝ่ายบริหารจัดการ ทีมนี้คือมันสมองในการคุมทุกอย่างที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดสด ด้วย Macbook กับโปรแกรม OBS ธรรมดา ๆ และ Hotspot 4G ทีมงานก็สามารถเนรมิตสถานีถ่ายทอดสัญญาณขึ้นมาได้ภายใต้ร่มอีกเพียง 2 คัน ทีมสุดท้ายนั้นคือทีมคอนเทนท์และสนับสนุน ประกอบไปด้วยพี่กรผู้ดูแลโพสต์บน Facebook พี่วิวผู้ช่วยเสริมในการถ่ายทอดสดผ่าน IG (และดูแลหน้างานให้) น้องกิ๊กผู้ดูแลอุปกรณ์และกล้องดูดาวรวมถึงให้ข้อมูลกับผู้ที่สนใจ และสุดท้ายคือผมที่คอยสนับสนุนด้านเนื้อหาและคอยเช็คสภาพอากาศ ทีมงานนั้นนอกจากจะมีหน้าที่ส่งเหตุการณ์ทั้งหมดสู่โลกอินเตอร์เน็ตแล้ว ยังต้องพร้อมให้ความช่วยเหลือและแนะนำผู้คนทั่วไปที่สนใจมาชมสุริยุปราคากับพวกเราด้วย
ที่น่าดีใจมากคือมีแฟนคลับของเพจเราเดินทางมาเพื่อแจมกับทีมงานด้วยก็หลายคน ทุกคนล้วนเดินทางมาด้วยใจที่รักและชื่นชอบในดาราศาสตร์มาก ๆ นับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งที่ Geek ด้านนี้ได้มารวมตัวกัน (โดยมิได้นัดหมายซักเท่าไหร่) การได้แลกเปลี่ยนความคิดกับผู้คนหลากหลายวัย หลากหลายชาติ แต่มีความสนใจเดียวกันนั้นเป็นอะไรที่ไม่อาจจะบรรยายออกมาเป็นคำพูดเลย มันเป็นสิ่งที่ทั้งอบอุ่นและมีความสุขมากจริง ๆ
ทีมงานจัดแจงตั้งกล้องและอุปกรณ์ทั้งหลายเสร็จในช่วงก่อนเกิดคราสเล็กน้อย กล้องหมายเลขหนึ่งเล็งไปที่ดวงอาทิตย์พร้อมกันกับกล้องดูดาวหลัก กล้องเสริมถ่ายบรรยากาศบริเวณโดยรอบ และกล้อง iPhone ที่ใช้ถ่ายทีมงานและพิธีกร เมื่อทุกอย่างเข้าที่แล้วทุกคนก็ประจำตำแหน่งและทำหน้าที่ของตนเองทันที หลังจากเริ่มกดอัดวิดีโอไม่นานดวงจันทร์ค่อย ๆ เริ่มเข้าบดบังดวงอาทิตย์ทีละนิดและการถ่ายสดก็เริ่มต้นขึ้น
ทางเดินริม Marina Bay นั้นคลาคล่ำไปด้วยตากล้องและผู้คนที่มาชมสุริยุปราคา หลายคนมาพร้อมอุปกรณ์อย่างเลนส์เทเลขนาดยักษ์และที่กรองแสงระดับโปร ที่จริงแล้วนอกจากทีมงาน SPACETH.CO แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่แถวนั้นถ้าไม่ใช่นักท่องเที่ยวก็มาดูสุริยุปราคากันทั้งนั้น ตากล้องมืออาชีพแต่ละคนต่างก็วุ่นอยู่กับการถ่ายภาพกันทั้งนั้น
ในระหว่างการถ่ายทอดสดนั้น ปัญหาใหญ่ที่พวกเราเจอคือ “ไฟหมด” ทีมงานนั้นไม่มีแบตเตอรี่สำรองที่มากพอ และการที่พวกเรามาตั้งกองถ่ายกลางแจ้งนั้นยิ่งเป็นอะไรที่ยากซะยิ่งกว่ายากในการตามหาปลั๊กไฟที่ใช้ได้ (การขโมยไฟหลวงเป็นบาป) ทีมงานต้องตัดสินใจ “เสียสละ” หรือถ้าจะให้พูดให้ถูกคือ “พลีชีพ” Macbook บางเครื่องเป็นที่จ่ยไฟสำรองแทน การถ่ายทอดสดในช่วงแรกจึงขลุกขลักเล็กน้อยด้วยประการฉะนี้ แต่นับว่าโชคยังเข้าข้างพวกเราที่มีเวลาอีกกว่า 2 ชม. ก่อนที่ดวงจันทร์จะบังดวงอาทิตย์มากที่สุด มากพอที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหล่านี้ได้ แต่ยังไม่ทันไร การถ่ายทอดสดก็ดันกระตุกขึ้นมาดื้อ ๆ และแทบไม่ต้องเดาก็น่าจะรู้ได้ว่าปัญหานั้นมาจาก “4G” ที่สปีดเกิดดรอปลงเหวซะเฉย ๆ ต้นเหตุน่าจะมาจากการที่มีคนแย่งสัญญาณมากเกินไปในพื้นที่จำกัด แน่นอนว่าทีมงานแก้ไขอะไรไม่ได้นอกจากสลับ Hotspot ดู และเหมือนปาฏิหารย์ เน็ตช้าเต่าคลานได้อัพเกรดตัวเองขึ้นมาเป็นอะไรที่พอจะ “ทนได้” ซะงั้น นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่การถ่ายทอดสดในช่วงหลังนั้นเป็นไปได้ด้วยดี และไม่ค่อยสะดุด (ซักเท่าไหร่)
เหลือเวลาอีกหนึ่งชั่วโมงกว่า ๆ ก่อนจะเกิดคราสเต็มที่ เมฆเริ่มก่อตัวมากขึ้นและอากาศก็ดูจะย่ำแย่ลง ทุกครั้งที่นิ้วเคาะแป้นพิมพ์ ตัวผมเองก็ได้แต่หวังว่าลมจะเปลี่ยนทิศ หรืออย่างน้อยถ้าเมฆก่อตัวมากขึ้นก็อย่าก่อตัวเป็นเมฆแผ่นเลย แต่แล้วความคาดหวังนี้ก็เกิดขึ้นแบบครึ่ง ๆ กลาง เพราะเมฆก่อตัวมากขึ้นอย่างชัดเจน แต่เป็นเมฆก้อนที่ไม่หนาทึบและเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว จึงมีหลายจังหวะที่ปรากฏการณ์ทั้งหมดถูกบดบัง แต่แสงก็ลอดออกมาให้พอได้เห็นแบบวับ ๆ แวม ๆ ราวกับดวงอาทิตย์จงใจเล่นซ่อนหากับมนุษย์นับร้อยคนในบริเวณนี้ (ช่วงที่เมฆบังนั้นสามารถถอดที่กรองแสงเพื่อถ่ายภาพได้ และก็แน่นอนอีกว่าทีมงานสลับเลนส์กันวุ่นเลยทีเดียว)
เมื่อเหลือเวลาอีกเพียงประมาณ 30 นาที ตอนนี้ดวงจันทร์ก็บังดวงอาทิตย์ไปเกินครึ่งแล้ว สภาพโดยรอบเหมือนจะเป็นตอนเย็นที่ฟ้ามืดแบบประหลาด ๆ อุณหภูมิตกฮวบลงเกือบ 5 องศาเซลเซียส เงาใบไม้กลายเป็นเสี้ยวอย่างชัดเจน และฝูงนกเริ่มบินกลับรังเพราะคิดว่าเป็นเวลาโพล้เพล้แล้ว บรรยากาศทั้งหมดดูแปลกและประหลาดมาก มันเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยอ่านมาในหนังสือ เพียงแต่ครั้งนี้เราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งกับมัน เราได้สัมผัสกับวิทยาศาสตร์ที่เราเคยเรียนด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าจริง ๆ คิดถึงช่วงเวลานี้ทีไรผมก็มักจะรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาอีกทุกที เช่นเดียวกันกับทีมงานคนอื่น ๆ ทุกคนทั้งตื่นเต้นและจดจ่อกับงานพร้อม ๆ กับหันขึ้นไปมองท้องฟ้าเป็นระยะ ๆ ทุกวินาทีดูจะผ่านไปเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนโดยรอบเองก็แสดงความรู้สึกแนวนี้ออกมาอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน เพราะทั้งความมืดสลัวลงของท้องฟ้าและสายลมเย็นที่พัดผ่าน แม้แต่แม่ค้าที่ขายน้ำมะพร้าวอยู่ข้าง ๆ ยังถึงขั้นปิดร้านเพื่อมาส่องกล้องดูกับเรา ผู้คนมากหน้าหลายตาเดินมาคุยกับพวกเราเรื่อย ๆ และน้องกิ๊กก็เปิดบทสนทนากับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ต่างกระตือรือร้นอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ณ เวลานี้ ทุกอย่างแลดูเร็วขึ้นและเร็วขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน่าประหลาด
เมื่อถึง 15 นาทีก่อนจะเกิดสุริยุปราคาวงแหวน เสียงบทสนทนาและเสียงหัวเราะยังดังคงก้องอยู่ในอากาศ แต่ลึก ๆ แล้วทีมงานทุกคนตื่นเต้นกันชนิดตัวแทบแตก พี่มิกและพี่เฟิร์สค่อย ๆ เดินเช็คกล้องทีละตัว ในขณะที่พี่เติ้ลยังคงคุมระบบถ่ายทอดสดด้วยใจจดจ่อ ผมกับกรนั่งเตรียมคอนเทนท์สุดท้ายสำหรับลงตอนดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ และคนอื่น ๆ ก็ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ ผู้คนมากมายเริ่มหยุดและแวะส่องกล้อง ไม่ก็นำที่กรองแสงของตัวเองขึ้นมาใช้ดู พลางชี้นิ้วไปยังดวงอาทิตย์
ในช่วง 10 นาทีสุดท้าย ผมวาง iPad Pro ลงพร้อมกับมองขึ้นไปบนท้องฟ้า ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ไปเกือบจะ 90% แล้ว เช่นเดียวกันกับเมฆที่ขวางพวกเรากับปรากฏการณ์นี้เอาไว้ ถึงลมจะพัดเรื่อย ๆ แต่ปริมาณเมฆที่สะสมตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้นก็เป็นเรื่องที่แย่มากจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ทีมงานได้ประชุมกันไว้แล้วว่าถึงเมฆจะบังจนมิด การถ่ายทอดสดก็จะดำเนินต่อไป…
5 นาทีสุดท้ายกับโชคที่พลิกกลับมาเข้าข้างพวกเรา ผมสังเกตเห็นช่องว่างในหมู่มวลเมฆเช่นเดียวกันกับคนอื่น ๆ และเมื่อลองคำนวณคร่าว ๆ แล้ว ช่องว่างที่ว่านี้น่าจะเคลื่อนมาทันและตรงจุดในช่วงที่พวกเราต้องการพอดี ผมมองนาฬิกาซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบจนเกือบลืมโพสต์ข้อความอัพเดทสถานการณ์ เวลาดูจะผ่านไปเร็วมากขึ้น มากขึ้น จนในที่สุด…
สุริยุปราคาวงแหวน
…”มาดูนี่เร็ว ที่จอ” เสียงตะโกนของพี่เติ้ลเหมือนจะปลุกทุกคนออกจากภวังค์ สิ่งที่ตาเราไม่สามารถเห็นได้ บัดนี้ปรากฏหราอยู่บนจอมอนิเตอร์อย่างชัดเจนทุกรายละเอียด ถึงแม้ว่าเมฆจะบังไปบ้างแต่พลังของกล้อง (และที่กรองแสง) ก็ทำให้เราได้เห็น ‘สุริยุปราคาวงแหวน” นี้ด้วยสายตาของพวกเราเอง เสียงปรบมือและตะโกนเชียร์ดังตามมาหลังจากนั้นแทบจะในทันที ดวงอาทิตย์กลม ๆ ที่เราเคยเห็นเป็นเหมือนเสี้ยวเมื่อซักครู่ที่แล้ว ได้กลายเป็นวงแหวนของแสงอันเจิดจ้าอยู่ท่ามกลางท้องนภา พี่วิวตะโกนยินดีกับความสำเร็จนี้ ผมกดโพสต์อัพเดทตามกรก่อนจะวางทุกอย่างลงและคว้าที่กรองแสงมาส่องดู แต่แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าไม่จำเป็นต้องใช้แล้วก็ได้ เพราะช่วงเวลาเพียงหนึ่งนาทีนิด ๆ นี้ เราสามารถมองดาวฤกษ์เพียงหนึ่งเดียวของพวกเราได้ด้วยตาเปล่าอย่างเต็มที่
ไม่ต้องบอก ก็รู้ว่าผู้คนแถวนั้นตื่นเต้นกันมาก เสียงชัตเตอร์ดังก้องไปทั่ว และไม่ว่าจะมองไปทางไหนทุกคนล้วนพร้อมใจกันถ่ายสุริยุปราคาครั้งนี้กันด้วยความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกล้องแบบมืออาชีพหรือ Smartphone ธรรมดาก็ตาม
น่าเสียดายหนึ่งนาทีก็คือหนึ่งนาทีเช่นเดิมและเวลานั้นผ่านไปไวเหมือนโกหกเสมอ ถึงแม้ว่าในตอนนั้นทุกคนจะรู้สึกถึงความไร้กาลเวลาแบบสุด ๆ ก็ตาม ทีมงานรีบจัดการรัวชัตเตอร์เก็บภาพไว้ให้มากที่สุดภายใต้เวลาอันจำกัดเพียงแค่นาทีนิด ๆ และในช่วงที่ดวงจันทร์แตะ “ขอบ” อีกด้านของดวงอาทิตย์นั้น กล้องของเราก็สามารถจับภาพปรากฏการณ์ Baily’s beads ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย ภารกิจล่าสุริยุปราคานี้จึงจบลงด้วยความสำเร็จ สมหวังตามที่ทุกคนต้องการ ถึงแม้จะมีปัญหาถาโถมเข้ามาใส่ทีมงานอยู่เป็นระยะก็ตาม แต่เพราะทุกคนช่วยเหลือกันและทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถ จึงทำให้ภารกิจนี้เปลี่ยนจากความฝันเป็นความจริงได้ในที่สุด
ภารกิจเสร็จสิ้น
นาฬิกาบอกเวลาบ่ายสอง ทีมงานจัดแจงเก็บอุปกรณ์และข้าวของลงกระเป๋า ถึงแม้ดวงจันทร์จะยังบังดวงอาทิตย์อยู่ แต่พวกเราก็ต้องแข่งกับเวลาในการปั่นคอนเทนท์ต่อให้เสร็จรวมถึงเดินทางให้ถึงสนามบินทันไฟลท์กลับประเทศไทยตอนหกโมงด้วย พวกเราใช้เวลาช่วงสุดท้ายในการพูดคุยกับพี่ ๆ น้อง ๆ ลูกเพจ รวมถึงคุณลุงชาวไทยที่มาดูสุริยุปราคาพร้อมแว่นกรองแสงที่อายุเหยียบเลขสิบ ทีมงานเชื่อว่าความสนใจในดาราศาสตร์นั้นมีอยู่ในตัวทุก ๆ คน ไม่ว่าจะมากหรือน้อย และมันจะคงอยู่กับเราตลอดไปอย่างแน่นอน ก่อนแยกย้ายกันกลับเรายังแลกเปลี่ยนของที่ระลึกกับพี่แฟนคลับอีกด้วย
เมื่อเช็คว่าไม่หลงลืมอะไรไว้แล้ว (และแวะซื้อน้ำมะพร้าวจากร้านข้าง ๆ ด้วย) ทีมงานจึงทยอยอำลาทุกคจะแพ็คกระเป๋าและหิ้วเป้กลับ ยังคงมีช่างภาพหลายคนที่อยู่ต่อ แต่ผู้คนก็ซาลงอย่างชัดเจน ดวงจันทร์เคลื่อนผ่านออกไปเช่นเดียวกันกับผู้คน…
หลังจากรอรับพี่อิ้งกลับ พวกเราก็แยกทีมกันนั่ง Grab เหมือนเดิม ถึงจะเร่งกันขนาดไหนก็กลับมาถึง Hostel กันตอนบ่ายสาม เหลือเวลาอีกแค่ชั่วโมงในการทำทุกอย่าง (ไม่มีใครอยากตกเครื่องกันแน่ ๆ โดยเฉพาะน้องกิ๊กของเรา) ทุกคนยึดห้องรับรองของ Hostel เป็นฐานปฏิบัติการณ์สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นการชาร์จแบต ปั่นบทความ แต่งรูป ย้ายไฟล์ เก็บกระเป๋า รวมถึงทานมื้อเย็น ล้วนเกิดขึ้นในห้องนี้ทั้งสิ้น สกิลปั่นงานทุกคนดูจะร้อนแรงกว่าตอนอยู่ที่ Marina Bay ซะอีก
ในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายผมลงไปรับ Burger King ที่สั่งไว้จาก Grab ขึ้นมาให้ทุกคน (กองทัพต้องเดินด้วยท้อง) และก็ต้องประทับใจที่ Grab นั้นปั่นจักรยานมา (ถ้ามองไม่ผิดเหมือนจะปั่นเสือหมอบ) และก็ต้องฉุกคิดอีกแหละว่า Grab ประเทศนี้นี่โคตรสะดวกจริง ๆ
อิ่มอร่อย (และทำงานต่อไปได้ไม่นาน) ก็หมดเวลาแล้วจริง ๆ เมื่อนาฬิกาบอกเวลา 4 โมง ทีมงานรีบออกเดินทางจาก Hostel เพื่อไปยังสนามบิน งานที่ยังไม่เสร็จถูกนำขึ้นไปปั่นต่อบนเครื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไฟลท์ขากลับนั้นเราแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือทีมสิงคโปร์แอร์ไลน์ซึ่งกลับก่อน และทีมสายการบินอื่นที่ต้องรอไฟลท์ที่ชางงี
มีเวลาเดินเล่นแค่นิดเดียวหลังจากผ่านด่านตรวจกระเป๋า เราก็ต้องรีบขึ้นเครื่องทันที ไม่น่าเชื่อว่าเวลาสามวันสองคืนจะกลายเป็นอดีตไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ทั้งที่เมื่อครู่ที่แล้วพวกเราทุกคนยังอยู่ภายใต้เงาของบริวารเพียงหนึ่งเดียวของดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ แต่ในตอนนี้เรากลับทะยานขึ้นสู่ท้องนภาท่ามกลางความมืดมิดและกลับมาอยู่ภายใต้แสงสะท้อนของบริวารดวงเดิมแทนเสียนี่ ไฟลท์ 2 ชั่วโมงนี้นำพาทีมงานกลับสู่สุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพ พร้อมด้วยประสบการณ์อันแสนวิเศษที่ยากจะลืมเลือน
ผมเชื่อว่าการเดินทางไปสิงคโปร์ครั้งนี้ได้ให้อะไรหลาย ๆ อย่างไว้กับทุกคนในทีม จริงอยู่ที่ทริปนี้อาจจะเป็นครั้งที่สองหรือมากกว่านั้นสำหรับบางคน แต่ทุกคนล้วนอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าในครั้งแรก – ครั้งแรกของภารกิจถ่ายทอดสดข้ามประเทศโดย SPACETH.CO และครั้งแรกกับเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ซึ่งก็คือสุริยุปราคาครั้งสุดท้ายแห่งทศวรรษนี้ ทีมงานได้เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและพบปะผู้คนมากมายที่หลงไหลในศาสตร์แห่งดวงดาวไปจนถึงการถ่ายทำปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้ ที่สำคัญที่สุดคือประสบการณ์จากภารกิจนี้ล้วนเป็นความรู้ที่สำคัญสำหรับภารกิจต่อไปของพวกเราอย่างประเมินค่ามิได้
นอกจากจะได้ไปทำงานแล้ว ทริปนี้ยังเป็นทั้งทริปเที่ยว ทริปพักผ่อน ทริปความรู้และอื่น ๆ อีกเพียบ (บอกแล้วไงว่าเป็น Business Trip เนียน) 3 วัน 2 คืนนี้คือช่วงเวลาที่ผมขอบอกเลยว่ามีความสุข ตื่นเต้น ดีใจ ไปจนถึงประทับใจกับแทบทุกอย่างเลยจริง ๆ
หวังว่าเราจะได้เจอกันใหม่กับ Outing V.6 นะ!
รวมบทความบันทึกการล่าสุริยุปราคา
- บันทึกการล่าสุริยุปราคาวงแหวนที่สิงคโปร์ EP.1: แผน การเดินทาง ความท้าทาย
- บันทึกการล่าสุริยุปราคาวงแหวนที่สิงคโปร์ EP.2: ซ้อม วางแผน และซ้อมอีก
- บันทึกการล่าสุริยุปราคาวงแหวนที่สิงคโปร์ EP.3: อยู่ใต้เงาวงแหวน
สุริยุปราคา 2019 ซีรีส์
- ข้อมูลสุริยุปราคา 2019
- วิธีถ่ายสุริยุปราคาให้ปลอดภัย Solar Filter มีกี่แบบ ซื้อที่ไหน ทำอย่างไร ราคา
- เทคนิคถ่ายภาพสุริยุปราคา จากนักดาราศาสตร์ และบรรยากาศการซ้อมถ่าย
- สรุปภาพและบรรยากาศการถ่ายสุริยุปราคาวงแหวนที่สิงคโปร์