Artemis การกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง สรุปโดยละเอียด และสิ่งที่ควรรู้ก่อนชมการปล่อย

เป็นเวลา 50 กว่าปีแล้วที่มนุษย์ไม่ได้กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกเลย นับตั้งแต่โครงการอะพอลโล (Apollo) ยุติลงในปี 1972 โดยมีภารกิจอะพอลโล 17 เป็นภารกิจสุดท้าย ซึ่งตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้นำของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ก็มีการพูดถึงการรื้อฟื้นภารกิจสู่ดวงจันทร์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยมีโครงการไหนพาเรากลับไปใกล้ดวงจันทร์อีกครั้งมากที่สุด เท่ากับโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) ของนาซา

โครงการอาร์ทิมิสคือโครงการที่จะพามนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ในระยะยาว ซึ่งไม่ใช่แค่การปักธงแล้วกลับมาเหมือนยุคอะพอลโล ซึ่งเราจะมาร่วมกันทำความรู้จักกับโครงการอาร์ทิมิสไปด้วยกัน

การกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว กล้องหน้ารถโรเวอร์บนดวงจันทร์ได้ถูกตั้งค่าไว้ให้ถ่ายภาพยานอินเตอพริดขณะกำลังพุ่งออกจากพื้นผิวดวงจันทร์ในปี 1972 ซึ่งนับเป็นภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ครั้งสุดท้ายโดยมีมนุษย์เดินทางไปยังพื้นผิวจริง ๆ 

อ่าน – ทำไมการเมืองถึงพามนุษย์ไปดวงจันทร์​

ทั้งนี้ก็เพราะว่าในขณะสหรัฐฯกำลังทุ่มงบประมาณมหาศาลไปในสงครามเวียดนาม ทำให้ต้องมีการลดงบรายปีของนาซาลงจากร้อยละ 4% ของงบรัฐบาลกลางเหลือแค่ราว 0.3% ในปัจจุบัน ซึ่งตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา 
รัฐบาลสหรัฐฯก็ไม่เคยดำเนินการปรับงบกลับขึ้นมาเท่ากับช่วงยุคอะพอลโลเลยแม้แต่น้อย

นักบินอวกาศยูจีน เคอแนน นักบินอวกาศคนสุดท้ายที่เหยียบดวงจันทร์ในภารกิจ Apollo 17 ที่มา – NASA

ดังนั้นนาซาจึงไม่สามารถดำเนินโครงการสำรวจดวงจันทร์โดยมนุษย์ได้อีกต่อไป และเปลี่ยนไปเน้นที่การสร้างสถานีอวกาศอยู่บนวงโคจรของโลกแทน นับตั้งแต่ปลายยุค 70 เป็นต้นมา พร้อมกับยังคงรักษาโครงการส่งยานอวกาศไร้คนขับไปสำรวจดาวเคราะห์ต่าง ๆ ให้คงเหลือไว้อยู่บ้าง

ข้อมูลของงบนาซาปี 2021 อยู่ที่ประมาณ 23,200 ล้านดอลล่าห์สหรัฐฯ หรือราวร้อยละ 0.3% ของงบประมาณรัฐบาลสหรัฐฯทั้งหมด ในขณะที่งบกลาโหมอยู่ที่ 11%

จนกระทั่งในช่วงปลายปี 2008 ยานอวกาศที่มีชื่อว่า “จันทรายาน 1” ของอินเดีย ซึ่งมีเครื่องมือตรวจหาหาสินแร่ของนาซาติดไปด้วย ได้ค้นพบสัญญาณของน้ำแข็งบนดวงจันทร์ในขณะที่ประจำการอยู่บนวงโคจรใกล้กับบริเวณขั้วใต้

การค้นพบน้ำบนดวงจันทร์ที่ทำให้ NASA มองดวงจันทร์เป็นเป้าหมายที่น่าสนใจสำหรับการสำรวจอีกครั้ง ที่มา – NASA/IRSO

ก่อนที่ต่อมายาน LRO ของนาซา ซึ่งประจำการอยู่บนวงโคจรของดวงจันทร์เช่นเดียวกัน ได้ยืนยันว่าดวงจันทร์มีปริมาณน้ำแข็งอยู่อย่างมหาศาลมากกว่าหลายล้านตัน โดยน้ำแข็งเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะรวมตัวกันอยู่ที่ก้นแอ่งหลุมอุกกาบาต ณ บริเวณขั้วเหนือ-ใต้ทั้งสองของดวงจันทร์ เนื่องจากพื้นที่ก้นหลุมไม่เคยมีแสงอาทิตย์ส่องถึงเป็นระยะเวลาหลายร้อยล้านปี น้ำแข็งบนดวงจันทร์จึงไม่สามารถระเหิดออกสู่อวกาศได้

อ่าน – สรุปละเอียด กรณีพบโมเลกุลน้ำ การค้นพบสำคัญก่อนการกลับสู่ดวงจันทร์ 2024

โดยเราสามารถนำน้ำแข็งนี้มาสกัดให้บริสุทธิ์เป็นน้ำเพื่อใช้ในการบริโภคได้ หรือแยกออกซิเจนออกมาเพื่อใช้หายใจ และไฮโดนเจนสำหรับเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ยานอวกาศ ซึ่งหากเราสามารถผลิตเชื้อเพลิงจรวดได้จริงบนดวงจันทร์ เราก็จะสามารถปล่อยจรวดออกจากดวงจันทร์ได้ ในขณะที่ใช้ปริมาณเชื้อเพลิงน้อยกว่าโลกมาก เนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่ต่ำกว่าของดวงจันทร์เพียงแค่ 1 ใน 6 ของโลกเท่านั้น

ภาพจำลองยาน  Lunar Reconnaissance Orbiter ของ NASA ที่มา – NASA

เพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น น้ำหนักของจรวดบนโลกนั้นคิดเป็นของเชื้อเพลิงไปแล้วกว่า 90-95% ส่วน 5% ที่เหลือคือน้ำหนักของสัมภาระจริง ๆ ที่เราขนออกไปนอกโลกได้ แต่ถ้าปล่อยตัวจากดวงจันทร์ อัตราส่วนของน้ำหนักเชื้อเพลิงกับสัมภาระแทบจะกลายเป็น 50:50 เลยทีเดียว ซึ่งอาจทำให้การสำรวจดวงดาวที่ไกลออกไปอย่างดาวอังคาร หรือ ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสฯเป็นไปได้ง่ายขึ้นมากกว่าเดิม

เราจึงกล่าวได้ว่าการค้นพบน้ำแข็งบนดวงจันทร์นั้นแสดงให้เห็นว่าจันทร์นั้นมีคุณสมบัติเพรียบพร้อมในการรองรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน ซึ่งสิ่งนี้นำไปสู่การพัฒนาโครงการอาร์ทิมิสในที่สุด

*นอกจากนี้ก็ยังมีการค้นพบสินแร่ประเภทแรร์เอิร์ธ (Rare Earth Elements) หรือสินแร่หายากอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์อยู่อย่างมากมายอีกด้วย อย่างเช่น พวกไทเทเนียมและอลูมิเนียม ซึ่งแร่เหล่านี้มีความจำเป็นต่ออุตสหกรรมเทคโนโลยีในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

จุดเริ่มต้นของโครงการ Artemis

ในปี 2019 จิม ไบรเดนสไตน์ (Jim Bridenstine) ผู้อำนวยการของนาซาในขณะนั้นได้ออกมาประกาศตัวโครงการอาร์ทิมิสสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกว่า นาซากำลังจะกลับไปเหยียบดวงจันทร์ภายในปี 2024 ให้จงได้ (ตอนนี้เลื่อนไป 2025 แล้ว) เพื่อที่จะตั้งถิ่นฐานระยะยาวบนดวงจันทร์ ในขณะที่ผลักดันขอบเขตองค์ความรู้ของเทคโนโลยีออกไป พร้อมกับสนับสนุนบริษัทเอกชนต่าง ๆ อีกด้วย

Jim Bridenstine ประกาศถึงโครงการ Artemis ในงาน IAC 2019 ณ กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา

โดยนาซาเชื่อว่าเราจะต้องผ่านความท้าทายต่าง ๆ บนดวงจันทร์ไปให้ได้เสียก่อน ถ้าหากเราคิดอยากไปเหยียบดาวอังคารจริง ๆ ทั้งในแง่ของการสร้างที่อยู่อาศัยนอกโลก การนำทรัพยากรจากดาวดวงนั้น ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการฝึกฝนนักบินอวกาศให้อยู่ห่างจากโลกนาน ๆ เป็นต้น

ทำให้เราอาจสรุปได้ว่านาซากำลังใช้ดวงจันทร์เป็นกะบะทราย (Sandbox) ในการทดสอบเทคโลยีอวกาศที่จำเป็นต่าง ๆ ในอนาคตนั่นเอง 

สาเหตุที่ในตอนนี้นาซากลับมาสำรวจดวงจันทร์ได้ถึงแม้จะไม่ได้มีงบประมาณเทียบเท่ากับสมัยก่อนก็เพราะว่า ราคาการผลิตจรวดและเทคโนยีต่าง ๆ นั้นมีราคาถูกลง อีกทั้งยังรวมไปถึงมีบริษัทเอกชนต่าง ๆ และองค์กรอวกาศจากนานาชาติเข้ามาร่วมด้วยโครงการอีกทีหนึ่งด้วย ภาระจึงไม่ได้ตกไปอยู่ที่นาซาอยู่เพียงฝ่ายเดียว

อ่าน – NASA เตรียมหาบริษัทผลิตรถ Lunar Terrain Vehicle สำหรับโครงการ Artemis

ด้วยเหตุนี้เองโครงการอาร์ทิมิสของนาซาจึงมีความแตกต่างจากอดีตโครงการอะพอลโลอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเราสามารถใช้เกณฑ์การตั้งอาณานิคม 3 ระดับมาเปรียบเทียบทั้งสองโครงการให้เห็นภาพรวมได้ดีขึ้น ดังนี้

  • พิสูจน์ว่าดินแดนนั้นสามารถไปเยือนและกลับมาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งก็คือเป้าหมายของโครงการอะพอลโลเหมือนกับที่โคลัมบัสแล่นเรือไปสำรวจทวีปอเมริกาได้สำเร็จ
  • เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานส่งคนไปอยู่เป็นระยะเวลานาน แต่ยังคงต้องการความช่วยเหลือจากโลกอยู่ ในโครงการอาร์ทิมิส 
  • กลายสภาพเป็นอาณานิคมโดยสมบูรณ์และไม่ต้องการทรัพยากรจากบนโลกอีกต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นบนดวงจันทร์ภายในศตวรรตถัดไป

จากโครงการสหรัฐฯ สู่ ความร่วมมือนานาชาติ

นอกจากตัวจรวดแล้วนาซาก็ยังได้ผลิตแคปซูลโดยสารรุ่นใหม่ลำล่าสุดสำหรับการเดินทางในอวกาศห้วงลึกที่มีชื่อว่า “โอไรออน” มาอีกด้วย โดยมีองค์กรอวกาศสหภาพยุโรป (ESA) เข้ามาร่วมดำเนินการผลิตในส่วนยานบริการอีกด้วย ในขณะที่นาซาจะรับผิดชอบตัวห้องโดยสารหลัก

ซึ่งนาซาได้มีการส่งยานโอไรออนขึ้นไปในอวกาศจริง ๆ กับจรวด Delta IV Heavy มาแล้วในปี 2014 ทำให้โอไรออนเป็นหนึ่งในแคปซูลโดยสารที่นาซารองรับว่าปลอดภัยเพียงพอที่จะนักบินใช้ยานเดินทางออกไปนอกอวกาศ และกลับมายังโลกอย่างปลอดภัยได้

โดยยานโอไรออนนั้นจะถูกติดตั้งไว้บนส่วนยอดบนสุดของจรวด SLS ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าตัวยานโดยสารเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ เท่านั้นจากตัวจรวดทั้งหมดที่มีแต่ถังเชื้อเพลิงและเครื่องยนต์ 

ส่วนชิ้นส่วนของจรวดอีกส่วนหนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือตัวบูสเตอร์สีขาวจากเชื้อเพลิงแข็งที่ขนาบอยู่ทั้งสองข้าง ซึ่งจะสร้างแรงขับดันมากกว่า 75% ของตัวจรวดทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันเชื้อเพลิงแข็งก็มีข้อเสียอยู่ที่ว่า หากจุดชนวนไปแล้วจะไม่สามารถดับเครื่องลงได้ ไม่เหมือนกับเครื่องยนต์หลักส่วนกลางของ SLS ที่ใช้เชื้อเพลิงเคมีเหลว

ทีนี้เมื่อเรารู้จักกับพาหนะนำส่งกันไปแล้ว ก็มาทำความรู้จักกับตำแหน่งบนดวงจันทร์ที่นาซาเลือกไว้คร่าว ๆ ว่าจะไปตั้งสถานีวิจัยอยู่บริเวณนั้นกันบ้าง ซึ่งอยู่ใกล้กับหลุมอุกกาบาตแชคเกอตัน ณ บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์

โดยหลุมอุกกาบาตแชคเกอตันนี้ มีความกว้างประมาณ 21 กิโลเมตร และลึกมากกว่า 4 กิโลเมตรด้วยกัน ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะสมสำหรับการขุดเจาะนำน้ำแข็งใต้ก้นหลุมออกมาใช้งานเป็นอย่างมาก 

เนื่องจากตำแหน่งขั้วใต้ของดวงจันทร์นั้นสามารถรับแสงอาทิตย์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งนี้ แถมอุณหภูมิจะไม่เปลี่ยนไปมาอย่างผันผวนเหมือนกับแถบเส้นศูนย์สูตรอีกด้วย ซึ่งทางนาซามีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างฐานวิจัยอาร์ทิมิสช่วงปี 2028

แต่ถึงกระนั้นการส่งสัมภาระและนักบินฯไปยังขั้วใต้ของดวงจันทร์ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และมีขั้นตอนการปรับยานเข้าสู่วงโคจรที่ซับซ้อน ดังนั้นนาซาจึงคิดที่จะสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ขึ้นมาซะเลย เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างการปฏิบัติหน้าที่บนพื้นผิวดวงจันทร์กับโลก ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ลูนาร์เกตเวย์”

โดยในตอนนี้นั้นทางนาซาก็ได้ไปไล่ต้อนองค์การอวกาศสหภาพยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น มาร่วมเซ็นต์สัญญาการผลิตโมดูลแต่ละส่วนเอาไว้แล้ว พร้อมกับมอบหมายให้ใช้จรวด Falcon Heavy ของ SpaceX ในการขนส่งชิ้นส่วนของสถานีขึ้นไปอีกด้วย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการส่งชิ้นส่วนแรกไปในปี 2024 ในฐานะภารกิจสนับสนุนโครงการอาร์ทิมิสอีกทีหนึ่ง ส่วนทางข้อมูลเบื้องต้นของลูนาร์เกตเวย์ในเฟสแรกนั้น จะมีขนาดประมาณ 1 ใน 6 ของสถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS ในปัจจุบัน

ทีนี้มาถึงเรื่องของยานลงจอดบนดวงจันทร์กันบ้าง ซึ่งทางนาซาได้คัดเลือกให้ยานอวกาศสตาร์ชิปของ SpaceX เป็นผู้ชนะโครงการการออกแบบยานลงจอดดวงจันทร์ในปี 2021 

SpaceX จึงต้องเร่งทดสอบยานให้มีความพร้อมใช้งาน และปลอดภัยสำหรับมนุษย์เพียงพอก่อนปี 2025 สำหรับภารกิจที่จะพามนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ

โดยวิธีการก็คือ SpaceX จะนำยานสตาร์ชิปไปรอยานอวกาศโอไรออนของนาซาบนวงโคจรของดวงจันทร์ ก่อนที่นักบินจะนำยานทั้งสองมาเชื่อมกันอีกทีหนึ่ง แล้วค่อยเปลี่ยนไปใช้ยานสตาร์ชิปในการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์แทน

ซึ่งจะเห็นได้ว่าถึงแม้สตาร์ชิปของ SpaceX จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าและแรงขับดันสูงกว่าจรวด SLS กับยานอวกาศโอไรออนมารวมกัน แต่นาซาก็ยังคงไม่ไว้ใจจรวดของ SpaceX อยู่ดี ที่จะนำพานักบินอวกาศออกจากโลกและกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยได้ สตาร์ชิปจึงเป็นได้แค่ยานลงจอดบนดวงจันทร์ไปโดยปริยายในโครงการอาร์ทิมิสช่วงแรก ทั้งนี้ก็เพราะว่านาซาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอย่างมาก

อ่าน – NASA เลื่อนเหยียบดวงจันทร์ภารกิจ Artemis เป็นปี 2025 ผลพวงจากข้อพิพาท HLS

Timeline ของโครงการ Artemis

ในปัจจุบันนาซาได้ออกมาประกาศรายละเอียดของโครงการอาร์ทิมิสถึง 6 ภารกิจด้วยกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • อาร์ทิมิส 1 (วันที่ 29 สิงหาคม ปี 2022) ทดสอบจรวด SLS แล้วส่งยานอวกาศโอรออนแบบไร้คนขับไปโคจรรอบดวงจันทร์
  • อาร์ทิมิส 2 (ปี 2024) ส่งนักบินอวกาศ 3 คนไปโคจรรอบดวงจันทร์กับยานอวกาศโอไรออน
  • อาร์ทิมิส 3 (ปี 2025-2026) ส่งนักบินอวกาศไปบนวงโคจรของดวงจันทร์ 4 คน โดยมี 2 คนที่จะได้ลงไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในรอบ 50 กว่าปี ซึ่งคนแรกนั้นถูกกำหนดไว้ให้เป็นผู้หญิงอีกด้วย
  • อาร์ทิมิส 4 (ปี 2027) ส่งนักบินอวกาศ 4 คนไปยังวงโคจรของดวงจันทร์ พร้อมกับนำโมดูลที่อยู่อาศัย I-HAB ของลูนาร์เกตเวย์ไปติดตั้ง
  • อาร์ทิมิส 5 (ปี 2027) กลับสู่พื้นผิวดวงจันทร์พร้อมกับนำโรเวอร์ไปขับเล่น ในขณะที่ติดตั้งส่วนการสื่อสาร ESPIRIT บนลูนาร์เกตเวย์
  • อาร์ทิมิส 6 (ปี 2028) ลงจอดดวงจันทร์ครั้งที่ 3 ของโครงการและนำแอร์ล็อคไปติดบนลูนาร์เกตเวย์สำหรับไว้ซ่อมแซมสถานีและทำการทดลองต่าง ๆ

ส่วนภารกิจที่รอการรับรองได้แก่ 

  • อาร์ทิมิส 7 (ปี 2029) เริ่มก่อสร้างฐานที่อยู่อาศัยบริเวณขอบหลุมอุกกาบาตแชคเกอตัน บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์
  • อาร์ทิมิส 8 (ปี 2030) นำส่งระบบสาธาณูปโภคต่าง ๆ ไปยังฐานวิจัยบนพื้นผิว
  • อาร์ทิมิส 9 (ปี 2031) ดำเนินการขึ้นโครงสร้างบนพื้นผิวอย่างเป็นรูปแบบ
  • อาร์ทิมิส 10 (ปี 2032) นำส่งอุปกรณ์สนับสนุน
  • อาร์ทิมิส 11 (ปี 2033) นำส่งอุปกรณ์สนับสนุน

ส่วนตัวแอดคิดว่าโครงการอาร์ทิมิสนี่เราต้องคอยดูกันยาว ๆ ไม่ต่างอะไรไปจากการดูภาพยนตร์จักรวาลมาร์เวลเลยทีเดียว (ฮา)

อย่างไรก็ตามโครงการสร้างลูนาร์เกตเวย์จะผัวพันอยู่กับอาร์ทิมิสในบางภารกิจ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการสนับสนุนที่แยกออกไปอีกหลายสิบโครงการด้วยกัน

Artemis Accord

นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯได้ริเริ่มโครงการอาร์ทิมิสมาตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลรัฐสหรัฐฯก็ได้มีการร่างสนธิสัญญาอาร์ทิมิสขึ้นมา เพื่อให้ประเทศที่สนใจทั่วโลกสามารถร่วมสำรวจดวงจันทร์ไปกับโครงการอาร์ทิมิสได้ 

ซึ่งนักวิจัยจากประเทศนั้นจะสามารถเข้าถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้ทั้งหมด พร้อมกับร่วมส่งอุปกรณ์ ยานอวกาศ นักบิน ฯลฯ ไปกับนาซาได้โดยไม่มีเรื่องของด้านการทหารเข้ามาเกี่ยวข้องตามสนธิสัญญาอวกาศรอบนอกในปี 1967

พิธีการเซ็น Artemis Accord ระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์กับ NASA ในเดือนมีนาคม 2022 ที่มา – NASA

ตอนนี้จึงมีประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก อย่างในเอเชียเอง ญี่ปุ่นและเกาหลีได้ก็ได้เข้าไปร่วมเรือลำเดียวในโครงการอาร์ทิมิสแล้ว

สรุปรายชื่อของประเทศที่เซ็นสนธิสัญญานี้ (สิงหาคม 2022) ก็ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, บาเรน, บราซิล, แคนาดา, โคลัมเบีย, ฝรังเศส, อิสราเอล, อิตาลี, ญี่ปุ่น, ลักเซมเบิร์ก, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, โปแลนด์, เกาหลีใต้, โรมาเนีย, สิงคโปร์, ซาอุดิอาราเบีย, ยูเครน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สหราชอาณาจักร, และไอล์ออฟแมน (ไม่มีไทย)

ในขณะเดียวกันทางการจีนและรัสเซียก็มีสนธิสัญญาและโครงการอวกาศในลักษณะที่คล้ายกับอาร์ทิมิสเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลประกาศออกมาโดยละเอียดมากนัก

อ่านเพิ่มเติม – 2022 จะเป็นปีที่มียานไปลงดวงจันทร์มากที่สุด หลังเว้นว่างมากว่า 45 ปี , PRIME-1 ระบบเจาะดิน สาธิตการบริหารทรัพยากร ISRU บนดวงจันทร์ จาก Apollo สู่ Artemis

ก้าวใหม่ของการสื่อสารระหว่างดาว

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าโครงการอาร์ทิมิสจะเป็นโครงการที่จะทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้วิธีการอยู่อาศัยบนดาวดวงอื่นได้ ก่อนที่เราจะเดินทางไปดาวอังคารซึ่งเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 4 ในระบบสุริยะของเรา ซึ่งหนึ่งในความท้าทายที่เราต้องแก้ให้ได้นั้น ก็คือปัญหาเรื่องการสื่อสาร

โดยการสื่อสารในอวกาศที่ดีที่สุดในตอนนี้ของเรานั้นคือการใช้สัญญาณวิทยุ ซึ่งเดินทางด้วยความเร็วแสงที่เร็วมากกว่า 300,000 กิโลเมตรในสุญญากาศ แต่ก็ยังคงใช้เวลาราว 4 ถึง 20 นาที ตามแต่ตำแหน่งของดาวอังคารในแต่ละปีในการสื่อสารเพียงทางเดียว 

ดังนั้นจึงหมายความว่าเราจะไม่สามารถสื่อสารกับนักบินอวกาศที่อยู่บนดาวอังคารแบบเรียลไทม์ได้เลย เนื่องจากข้อกำจัดทางกฎฟิสิกส์ของจักรวาล ดังนั้นนักบินอวกาศจะต้องอยู่รอดบนดาวอังคารเองให้ได้หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาจริง ๆ เพราะฉะนั้นการฝึกฝนนักบินที่ดวงจันทร์ก่อนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ

เรากำลังเดินทาง

 ถ้าทุกคนอ่านมาถึงตอนนี้แล้วก็จงอย่าลืมว่า เราไปไม่ได้ไปอวกาศเพื่อทอดทิ้งโลกแต่เพื่อทำให้โลกนั้นดีขึ้นต่างหาก เพราะเทคโนยีในปัจจุบันที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันนั้นล้วนเป็นผลพลอยได้จากเทคโนโลยีอวกาศทั้งนั้น อย่างเช่น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เครื่องกรองน้ำ เครื่องกรองอากาศ เครื่องดูดฝุ่น เทคโนโลยีอาหารแช่แข็งอบแห้ง (Freeze Dried) และอื่น ๆ อีกมากมาย

การไปสำรวจอวกาศคือการผลักดันขอบเขตและข้อกัดของเทคโนโลยีของมนุษย์ออกไปอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งหากเราสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดนอกโลกมาใช้ได้ เราก็ไม่ต้องมาฆ่าฟันกันเองเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่จำกัดอีกต่อไป ไม่ต้องแย่งพื้นที่อยู่อาศัย แล้วทำให้โลกเป็นสรวงสวรรค์ในฐานะดาวเคราะห์บ้านเกิดของมนุษยชาติอย่างแท้จริง 

อ่านเพิ่มเติม – NASA ชวนนักเรียนและครูเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Artemis I , Apollo Guidance Computer ในวันที่โลกยังไม่รู้จักคอมพิวเตอร์ ,

ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อถึงเวลาตะวันลับขอบฟ้าไป เราก็อาจได้เห็นแสงไฟระยิบระยับจากมหานครบบนดวงจันทร์ ซึ่งเชิญชวนให้เราตื่นเต้นกับอนาคตข้างหน้าอยู่เสมอ 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Mostly being a space-nerd who dreamt to work at NASA, but now a 21 years old Film Student dedicating to generalize space communication.